ทำภาพ High Dynamic Range เทียม (#2)

คราวนี้ลอง RAW ของ D3 (NEF บ้าง) ด้วยเทคนิคเดียวกัน ขั้นตอนเดียวกัน

  1. ภาพต้นฉบับ ลองสังเกตบริเวณที่แสงจ้า (ภายนอกหน้าต่าง) และบริเวณที่เป็นมืด (ขอบหน้าต่าง, ข้างตูสีแดง, ผนังใต้หน้าต่าง ฯลฯ) นะครับ

    nef_hdr_001.jpg

  2. ภาพ +1, +2 EV จะเห็นบริเวณที่มืดชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_002.jpg

    nef_hdr_003.jpg

  3. ภาพ -1, -2 EV จะเห็นบริเวณนอกหน้าต่างชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_004.jpg

    nef_hdr_005.jpg

  4. ภาพที่ทำ HDR เทียมเรียบร้อยแล้ว ลองเทียบกับภาพต้นฉบับดูครับ

    nef_hdr_006.jpg

คิดว่าเทคนิคนี้คงจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนนะครับ ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ได้ดีกับกรณีที่ต้องการจะถ่ายฟ้าให้ฟ้าสวยๆ และยังคงรายละเอียดอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ไว้ไม่ให้มืดไปด้วยครับ

ทำภาพ High Dynamic Range เทียมแบบขำๆ

สำหรับคนถ่ายรูป คงจะรู้จักภาพแบบ High Dynamic Range (HDR) แน่ๆ โดยหลักการคร่าวๆ แล้ว HDR จะมีจากแนวความคิดที่ว่า “มันมีอะไรเสมอ ในที่แสงจ้า และที่มืด” และความจริงที่ว่า เซนเซอร์รับภาพ และหน่วยประมวลผลภาพของกล้องดิจิทัล ไม่สามารถเห็นช่วงของแสงได้กว้างเท่ากับที่ตาเราเห็น

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับ เวลาเรามองไปที่หน้าต่างที่เปิดอยู่ เราจะเห็นวิวทิวทัศน์ข้างนอก ได้พร้อมกับเห็นรายละเอียดของขอบหน้าต่าง (หรือลายของผ้าม่าน) ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราถ่ายรูปล่ะ เรามักจะเห็นว่า ถ้าเราต้องการให้เห็นวิวข้างนอก ขอบหน้าต่างและม่านจะมืด แต่ถ้าเราต้องการให้เห็นขอบหน้าต่างชัด วิวข้างนอกก็จะสว่างไปจนมองไม่เห็นอะไร

เลยเป็นที่มาของเทคนิคการทำ HDR ครับ โดยปกติการทำ HDR เราจะต้องถ่ายภาพเดียวกัน ที่หลายๆ exposure เป็นลำดับ (เช่นถ่าย 5 ภาพ ต่างกันภาพละ 1 EV ซึ่งจะได้ที่ -2 EV, -1 EV, 0 EV, 1 EV, 2 EV) เพราะในขณะที่ -EV จะทำให้ภาพมืด แต่ก็จะรักษารายละเอียดในส่วนที่สว่างของภาพไว้ได้ ซึ่งตรงข้ามกับ +EV ที่จะทำให้เห็นรายละเอียดในส่วนที่มืดชัดขึ้น ซึ่งการถ่ายลักษณธนี้เราเรียกว่า exposure bracketing

ทีนี้ ถ้าเราไม่ได้ถ่าย exposure bracketing เอาไว้ล่ะครับ ทำอย่างไรดี? ซึ่งเราก็ยังคงโชคดีอยู่บ้าง ถ้าเราถ่าย RAW เอาไว้ เพราะว่า RAW จะเก็บข้อมูลของเรื่องแสงที่เซนเซอร์บันทึกไว้ได้ เอาไว้พอสมควร ซึ่งทำให้เรายังพอจะปรับ exposure value เพื่อดึงเอารายละเอียดในส่วนที่มืดและสว่างกลับมาได้บ้าง ก็เลยเป็นที่มาของ “HDR เทียม” ที่เราจะคุยกันในวันนี้ครับ

ปกติผมไม่เคยได้ลองเทคนิคพวกนี้หรอกนะ เพราะว่าไม่ได้ถ่าย RAW จนกระทั่งมาเล่น Leica M8 ซึ่งมี JPEG engine ที่ห่วยมากๆ จนต้องถ่าย RAW แบบไม่มีทางเลือก (และ RAW ของ M8 ก็ใช่ว่าจะดีนะครับ .. นอกจากเป็น DNG แล้วผมยังหาข้อดีของ M8 RAW ไม่ค่อยจะได้เลย และ M8 ยังมี DR ที่งั้นๆ เทียบกับกล้องอีกลายๆ ตัวอีกด้วย … แต่ไม่ขอพูดถึงมากล่ะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นรีวิว M8 ไป)

ลองทำตามนี้ครับ

  1. หา RAW มาสักภาพหนึี่ง สมมติว่าเป็นภาพด้านล่างนี้ละกัน จะเห็นว่ารายละเอียดตรงเหล็กขึงสะพาน (สีเหลือง) มืดไป ในขณะที่รายละเอียดบนเมฆบางส่วนก็หายไป (ขาวจ๋อง)

    test_fake_hdr_005.jpg

  2. จากนั้นปรับ exposure value ให้ไปทาง + EV เพื่อดึงเอารายละเอียดในที่มืดคืนมา ในตัวอย่างนี้ผมดึงไป +1 EV, +2 EV ตามลำดับ

    test_fake_hdr_001.jpg

    test_fake_hdr_002.jpg

  3. จากนั้นทำอย่างเดียวกัน ไปทาง – EV เพื่อดึงเอารายละเอียดบนเมฆกลับมาบ้าง ซึ่งผมทำเท่ากันคือ -1 EV, -2 EV

    test_fake_hdr_003.jpg

    test_fake_hdr_004.jpg

  4. จากนั้นก็ให้เอาโปรแกรมที่ทำพวก HDR (เช่น Photomatix Pro) มารวมกัน และทำ Tone Mapping (วิธีการใช้โปรแกรมพวกนี้ผมไม่ขอพูดถึง เพราะหาได้ทั่วไป …. และผมเองก็ “เล่นไม่เป็น” ด้วย) ซึ่งผลที่ได้จะเป็นแบบนี้

    test_fake_hdr_001_2_3_4_5_tonemapped.jpg

ก็ … ถึงจะสู้ทำ HDR แท้ไม่ได้ แต่ว่าก็ยังดีกว่าทำไม่ได้ล่ะนะ … ภาพนี้ถ่ายขณะรถติดบนสะพานพระราม 8 คงไม่มีเวลาจะตั้งขาตั้งและถ่าย bracket แบบจริงๆ จังๆ ล่ะครับ

แต่ว่ายังงั้นยังงี้ … กล้อง DSLR หลายตัวในปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีฉลาดๆ มากมาย (เช่น Automatic/Adaptive High Dynamic Range ในชื่อต่างๆ กัน .. เช่น Active D-Lighting ของ Nikon เป็นต้น) และเซนเซอร์ที่ดี มี DR กว้างเอาเรื่อง … ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมใช้ D3 ถ่ายทั่วไป ผมก็ยังถ่าย JPEG เหมือนเดิมน่ะแหละ