RAW Converter นั้นสำคัญไฉน?

เหตุที่ผมมักจะแนะนำให้พวกบรรดามือใหม่ หรือบรรดาคนที่ถ่ายภาพแบบ “แค่ต้องการได้รูปสวยๆ เป็นที่ระลึก” ว่า “อย่าไปยุ่งกับ RAW ไฟล์ ให้ถ่ายแค่ JPEG” มีมากมายหลายประการ ซึ่งผมเคยเขียนถึงไว้ครั้งหนึ่งแล้วที่นี่ (RAW vs JPEG เมื่อ 21 มีนาคม 2010)

แต่สาเหตุหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ก็คือ “RAW มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ (ขึ้นกับ RAW Converter)” ซึ่งอันนี้ผมยังไม่ได้เขียนถึงแต่อย่างใด

โดยเชิงเทคนิคแล้ว เราไม่สามารถมองเห็นภาพจากไฟล์ RAW ได้ตรงๆ เลย เพราะ RAW มันก็ตามชื่อครับ มันไม่ใช่ภาพ มันเป็น “ข้อมูลดิบๆ” จากเซนเซอร์ของกล้อง ที่ไม่ผ่านอะไรมาเลยทั้งสิ้น กล้องเก็บอะไรมาให้ได้แค่ไหน ยัดลงมาทั้งหมดแค่นั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ภาพ แต่เป็นข้อมูลดิบๆ

ตรงนี้หลายคนจะงงล่ะ .. ว่าแล้วที่เราเห็นเวลาเอาภาพ RAW ลงเครื่องล่ะ มันคืออะไร?

อันที่จริงที่เราเห็นคือ JPEG ซึี่งถูกโปรแกรมอ่าน RAW แต่ละตัวแปลงขึ้นมาจากการอ่านและตีความข้อมูลดิบใน RAW ครับ ซึ่งตรงนี้แหละเป็นปัญหาล่ะ เพราะว่าโปรแกรมอ่าน RAW แต่ละตัวมันไม่เหมือนกันซะทีเดียวน่ะสิ เชื่อป่ะล่ะ

ไม่เชื่อลองดู 2 รูปต่อไปนี้นะครับ ทั้ง 2 รูปเป็น JPEG ที่ถูกสร้างจากไฟล์ RAW ไฟล์เดียวกัน (ไฟล์ NEF จาก D800) รูปแรกโหลดเข้า Lightroom 4 แล้ว Export เป็น JPEG เลย กับรูปหลังโหลดเข้า Capture NX 2 แล้ว Export เลยเช่นเดียวกัน ทั้งสองรูปสามารถ Click เพื่อดูรูปใหญ่ได้ทั้งคู่ครับ


D800_LR4_Export.jpg



D800_CNX2_Export.jpg

เห็นชัดพอสมควร ว่าต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน ที่ Capture NX 2 จะแม่นกว่าในการอ่านสีออกจาก RAW ของ Nikon (อันนี้เพราะว่าตอนที่ถ่าย ผมใช้ Standard Picture Control แต่มี +1 Saturation ไปในกล้องนิดหน่อย ดังนั้นจะเห็นว่า JPEG ที่แปลงจาก Capture NX 2 จะสีสันสดใสกว่านิดหน่อย เพราะมันอ่านตรงนี้ออกมาได้ด้วย) หรือรายละเอียดในที่แสงจ้าและในที่มืด (Highlight & Shadow)

ทีนี้ลองมาจัดการรูปกันต่อนิดหน่อย ซึ่งผมจะทำแค่ “ดึงข้อมูลในที่สว่างจ้า และที่มืด คืนมา เท่าที่จะทำได้” ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรมากกว่าการเลื่อน Slider ไปให้สุดเท่าที่มันจะมีให้เลื่อน ทั้งสองตัว


highlight_shawdow_sliders.png

ลองมาดูผลกันบ้าง ว่าเป็นยังไง เหมือนเดิมนะครับ รูปแรกคือ JPEG ที่ Export จาก LR4 และรูปหลังคือ JPEG ที่ Export จาก Capture NX 2


D800_LR4_DRP_Export.jpg



D800_CNX2_DRP_Export.jpg

จะเห็นได้ชัดขึ้นอีกว่า RAW Converter หรือโปรแกรมจัดการแปลง RAW แต่ละตัวนั้น ให้ผลไม่มีเหมือนกันตั้งแต่อ่าน RAW แล้วการนำมาใช้ต่อแล้ว ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ยังไม่เหมือนกันอีก คราวนี้ลองมา “ทรมาน RAW” กันเล่นนะครับ ด้วยการดันทุกอย่างแบบสุดโต่ง ว่าจะออกมาเป็นยังไง สิ่งที่ทำก็เหมือนๆ กัน คือ เร่งความต่างสี (Contrast) และความอิ่มสี (Saturation) ให้สุด พยายามดึงข้อมูลในที่มืด และตบเอาข้อมูลในที่สว่างให้ได้มากที่สุด และลดแสง (Exposure) ลงไป 1 Stop (พูดง่ายๆ คือให้แสงในภาพน้อยลงเท่าตัวหนึ่ง)


lr4_cnx2_sliders.png

ผลที่ได้ (รูปแรกจาก LR4 รูปที่สองจาก Capture NX 2 เช่นเดิม) ยิ่งต่างกันไปอีกมากมายมหาศาล


D800_LR4_EXT_Export.jpg



D800_CNX2_EXT_Export.jpg

จะเห็นว่า การเลือก RAW Converter ก็มีผลมากพอควรเลยทีเดียวกับผลลัพธ์ที่จะได้จากรูปดิบๆ ของเรา


ตรงนี้ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ กันสักนิด ว่าไอ้เจ้า “RAW” นี่มันคืออะไรกันแน่

RAW ก็เหมือนกับ “ฟิล์มดิจิทัล … ที่ยังไม่ได้ล้าง ยังไม่ได้อัด” น่ะแหละครับ เมื่อก่อนเคยรู้สึกหรือเปล่าครับว่า เราเอาฟิล์มไปล้าง ไปอัดรูปแต่ละที่ สีสันของรูปที่ได้มันไม่เหมือนกันเลย เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน “Dark Room” ซึ่งก็คือ “การล้าง” และ “การแต่งฟิล์ม” น่ะแหละครับ แต่ละที่ใช้น้ำยาไม่เหมือนกัน สิ่งที่กระทำโน่นนี่ไม่เหมือนกัน (ผมไม่ลงรายละเอียดนะ เกินไป) จนกระทั่งอัดรูปลงกระดาษมาให้เรา

ในขณะที่ JPEG ก็คือ “รูปที่อัดเสร็จแล้ว” ยังไงมันก็ไม่หน้าตาเปลี่ยนไปจากนั้น แต่ในกรณีของการถ่าย JPEG จากกล้อง เราจะเชื่อใจให้ “ร้านอัดรูปในกล้อง” หรือ Image Processing Engine ในกล้อง ทำหน้าที่แปลงข้อมูลดิบจากเซนเซอร์กล้องให้เราทันทีเมื่อถ่ายรูป ผลที่ได้ก็คือ รูปจะหน้าตาเหมือนเดิมไม่ว่าจะเปิดที่โปรแกรมไหน เปิดเครื่องใคร (เมื่อไม่มี “ความต่างของจอภาพแต่ละเครื่อง” นะ เพราะแน่นอนว่าคนละจอกัน มีการแสดงผลหรือค่าของสีต่างๆ ไม่เท่ากัน ตามอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ภาพที่เห็นมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา … มันก็มีเหตุผลของมันว่าทำไมจอบางจอมันแพงกว่าจออื่น)

ดังนั้น การถ่าย RAW ก็คือ เราต้องมา “ล้างรูปเอง” และ “อัดรูปเอง” ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ถ้ามี RAW แต่เปิดมาแล้ว Convert เป็น JPEG เลยก็ต้องบอกว่าพลาดการได้รูปสวยๆ ไปอีกเยอะมาก แต่ถ้าคิดว่าจะไม่ทำแบบนั้น (คือถ่ายมาแล้วถ่ายเลย จะไม่มานั่งบรรจงทำอะไรทีละรูป) ก็ถ่าย JPEG เถอะ เพราะอย่างน้อยๆ การให้ Image Processing Engine ในกล้อง จัดการล้างรูปให้เรา ก็จะได้ “รูปที่เหมือนกับหลังกล้อง” ไม่ขึ้นกับความดีหรือความห่วยแตกของ RAW Converter ในเครื่องคอมพิวเตอร์เรา

ทั้งนี้ กล้องแต่ละตัว มี Image Processing Engine ที่เก่งไม่เท่ากันนะ กล้องหลายตัวของ Nikon นี่ผมไว้ใจ Image Processing Engine มันมากๆ จนแทบจะไม่ถ่าย RAW เลยนอกจากเจอที่แสงยากจริงๆ หรือที่ๆ อยากจะเก็บ “ฟิล์ม” ไว้ล้างเองจริงๆ ไม่ก็สำหรับงานสำคัญๆ ที่มันมีครั้งเดียวหรือถ่ายใหม่ไม่ได้แล้วจริงๆ เท่านั้น … แต่ในกรณี Panasonic หรือ Leica M8 นี่ถ่าย RAW ตลอด เพราะรับ JPEG จากกล้องมันไม่ได้เลย

ป.ล. แถมท้าย … ให้ดูว่า RAW มันทำอะไรได้บ้าง ในกรณีที่ “แสงยาก” และ “เป็นงานสำคัญ” … เป็นรูปจากงานแต่งงานผมเอง โดยฝีมือน้องชายและลูกศิษย์สุดที่รักคนหนึ่ง ถ่าย RAW จาก Nikon D3s และใช้ Capture NX 2 ในการล้างฟิล์ม


d3sraw.png

Nikon V1 + FT-1: “นี่มันโคตร Telephoto!”

เคยเขียน สองวันกับ Nikon V1 ไปเมื่อนานมาแล้ว ตอนนั้นเขียนไปกับการใช้งานเลนส์ที่ติดมา 2 ตัว ในฐานะ “กล้องเซ็นเซอร์เล็ก ที่บังเอิญเซ็นเซอร์ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย และเปลี่ยนเลนส์ได้” ไม่ใช่ “กล้องคอมแพคเซ็นเซอร์ใหญ่” เหมือนที่ใครๆ ปรารถนาให้มันเป็น

วันนี้เกมมันเปลี่ยนไปเป็นอีกเกมนึงเลยครับ และทำให้ผมเข้าใจ Nikon มากขึ้นเยอะ ก็เพราะเจ้า FT-1 Adapter เนี่ยแหละ ที่ทำให้ผมสามารถจะมีเลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ระดับ 800mm ได้ในขนาดและราคาที่เอื้อมถึงได้ .. ทำไมน่ะหรือครับ ก็เพราะว่าเจ้า FT-1 นี่จะทำให้เราใช้เลนส์ F-Mount ปกติกับระบบ Nikon 1 ได้ … ทีนี้ถามว่า แล้วมันไม่ใหญ่ไปหรือ


IMG_1617.jpg
Nikon V1, FT-1 Adapter, 70-300 f/4.5-5.6 VR

ก็บอกตามตรงว่านี่เป็นครั้งแรกที่ผมรู้สึกว่าเลนส์ระดับ 70-300 VR เป็นเลนส์ที่ใหญ่และหนัก ทั้งๆ ที่ปกติไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย เนื่องจากปกติจะใช้กับ D3s ซึ่งมีบอดี้ที่ใหญ่และหนักกว่าตัวเลนส์ ทำให้ไม่รู้สึกอะไร (และใช้กับเลนส์ที่หนักกว่านั้นซะเคยตัว) … แต่ว่าพอเอา 70-300 ตัวนี้มาใช้กับ V1 นี่รู้สึกได้เลยว่า “บอดี้มันไม่มีน้ำหนักอะไรเลย” … และที่แย่กว่านั้นเล็กน้อย ก็คือตัว 70-300 เองก็ดัน “เบาไป” (หนักไม่พอ) ที่จะทำให้ถือได้แบบมั่นๆ นิ่งๆ เท่าไหร่ ก็โชคดีที่มี VR มาช่วยเอาไว้ ไม่งั้นเน่าได้เหมือนกัน

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับชื่อหัวเรื่องล่ะนี่? … ไม่ยากครับ เพราะ Nikon 1 เป็นระบบที่ใช้ crop factor 2.7x ดังนั้นทางยาวโฟกัสก็จะคูณไปเท่านั้น ทำให้ 300mm กลายเป็นเลนส์ 810mm ซึ่งมันคือระดับ “โคตรเทเลโฟโต้” ตัวละหลายแสน หนักหลายกิโล ขนาดเป็นบาซูก้า … แต่นี่มันอะไรกัน โคตรเทเลโฟโต้ในราคาที่เอื้อมแตะได้เลยนะนั่น .. แล้วมันทำอะไรได้บ้างล่ะ

ลองดูตัวอย่างแรกนะครับ รูปแรกเพื่อเป็นการเปรียบเทียบ จะเป็นรูปที่ผมถ่ายจาก iPhone 4s ซึ่งมีทางยาวโฟกัสเทียบเท่าที่ประมาณ 35mm ซึ่งเป็นระยะ wide-normal ไม่ได้กว้างมากขนาดที่จะเตะอะไรออกไปให้ดูไกลขึ้น (กล้อง iPhone 4s จะแคบกว่า iPhone 4 ซึ่งอันนัั้นจะประมาณ 28mm ถ้าผมจำไม่ผิด) โดยอยากให้ลองสังเกตดูตรงที่ผมวงไว้นะครับ (กดเพื่อดูรูปใหญ่ได้ จะได้เห็นง่ายๆ หน่อย)


IMG_1672.jpg

ทีนี้ …​ ลองมาดูอานุภาพของ “810mm f/5.6” (เทียบเท่า จริงๆ แล้วคือ 300mm x 2.7 f/5.6) กันบ้างนะครับ ว่าจะเป็นยังไง … จากจุดเมื่อกี้น่ะแหละครับ มันกลายเป็นรูปนี้


DSC_4053.jpg

ต้องบอกว่า “นี่มัน!!!!!” ได้เท่านั้นครับ … มันทำให้ผมรู้สึกว่า Nikon 1 เป็น “ระบบ” ที่น่าใช้ขึ้นมาอีกเยอะ เพราะมันเพิ่มโอกาสได้ภาพแบบมหาศาล กับภาพที่ปกติเราจะไม่มีโอกาสได้เลย (นอกจากจะใช้ Superzoom Bridge Camera หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า DSLR-Like อะไรแบบนั้น .. ซึ่งก็จะยิ่งได้เซ็นเซอร์เล็กจัดไปอีก เลนส์ก็คุณภาพไม่ค่อยดีเท่าไหร่อีก) … และยังไม่นับกับการใช้กับ Primes ตัวอื่นๆ เช่น 50/1.8 ซึ่งทำให้กลายเป็น 135 f/1.8 นะครับ (แต่เนื่องจาก sensor มันเล็ก มันจะได้ DoF เท่ากับเลนส์ 135 เปิดประมาณ f/4 บน Full Frame นะ)

เพื่อความชัดเจน เอาไปอีกคู่นะครับ รูปแรกถ่ายด้วย iPhone 4s เหมือนเดิม โดยให้สังเกตคนที่ทำหน้าที่หยิบดอกไม้นะครับ (เนื่องจากเป็นวัด ไม่ได้ซื้อ ดังนั้นจึงไม่เรียกแม่ค้า)


IMG_1671.jpg

เมื่อใช้กับ “810mm f/5.6” ตัวนี้ ก็จะได้ภาพต่อไปนี้ครับ


DSC_4047.jpg

ประเด็นอื่นๆ นอกจากนั้นก็คือ โฟกัส ผมพบว่าความเร็วในการโฟกัสไม่ใช่ปัญหาเลย โฟกัสได้เร็วมาก แต่จะมีปัญหาว่ามันมีอาการ Focus Hunting พอสมควร ซึ่งปกติแล้วไม่เคยเจอเลนส์ตัวนี้เป็นบน FX เลย ซึ่งตอนนี้ผมกำลังพยายามเรียนรู้นิสัยมันอยู่ว่ามันจะ Hunt ในกรณีไหนบ้าง แล้วจะแก้ปัญหาหรือมี workaround อย่างไรได้บ้าง … ส่วนเมื่อผมลองเอามาใช้กับ Continuous Mode นี่สนุกมากเลยทีเดียวครับ เพราะมันทำให้มีโอกาสได้ภาพมากขึ้นอีกเยอะมากเลย

ทดสอบ Dynamic Range ของ Fuji X-Pro1 JPEG

ครั้งก่อนเคย ทดสอบ Dynamic Range กับ X100 JPEG ไปแล้ว และก็เคยลองเล่นๆ ขำๆ กับไฟล์ JPEG จาก Nikon V1 ใน สองวันกับ Nikon V1 รีวิว .. ช่วงวันหยุดสงกรานต์นี้เพิ่งจะมีโอกาสเอา Fujifilm X-Pro1 ไปทดสอบภาคสนามจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก (หลังจากถ่ายเล่นๆ รอบๆ บ้านมาพักหนึ่ง) … ยังไม่เขียนรีวิวนะ แต่ตอนนี้เห็น DR ของ JPEG มันแล้ว​ “ว้าว” จนทำใจไม่เขียนเฉพาะเรื่องนี้แบบลัดคิวไม่ได้

เริ่มก่อนเลยก็แล้วกัน นี่ JPEG ดิบๆ จากกล้อง ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษทั้งสิ้น (กดดูรูปใหญ่ขึ้นได้นะ)


DSCF7535.jpg
X-Pro1, 18/2, 1/60s, f/5.6, ISO 200, Film Mode: Velvia

ไม่ต้องพูดพร่ามทำเพลงมาก เปิด Lightroom 4 อาวุธคู่ใจคนถ่ายรูปหลายคน ปรับแบบไม่คิดอะไรเลย ตบ Highlight ดึง Shadow … เอาแบบสุดๆ ไปเลยทั้งคู่ แค่นี้จริงๆ สาบานได้ (สิ้นคิดที่สุด)


lr_dr_adj.png

จากนั้นดูผลลัพธ์ … แม่จ้าว แทบจะกรี๊ดสลบ เดี๋ยวนี้ JPEG มันเก็บข้อมูลในไฟล์แบบเหลือเฟือเหลือใช้ขนาดนี้ นี่ขนาดผมถ่ายแค่ JPEG Normal นะ ไม่ใช่ JPEG Fine (ซึ่งไฟล์ใหญ่กว่า มีข้อมูลมากกว่า บีบอัดน้อยกว่า)


DSCF7535-2.jpg

ภาพที่ได้นี่มันอารมณ์ทำ HDR กลายๆ เลยนะเนี่ย (ถึงมันจะมีขอบม่วงชัดเจนมากตรงหลังคาก็เถอะ) มีข้อมูลเก็บไว้ให้เล่นเยอะขนาดนี้ … เหตุผลที่จะถ่าย RAW ก็น้อยลงไปอีกข้อนึงล่ะนะ … จริงๆ แล้วตอนนี้ถ้าไม่นับเรื่อง White Balance กับ Simulate Multiple Exposure นี่ก็ไม่รู้จะถ่าย RAW ไปทำอะไรแล้ว (สำหรับผมนะ เหตุผลของท่านก็เป็นเหตุผลของท่านครับ ผมเคารพเหตุผลที่คนอื่นถ่าย RAW เสมอ)

ทดสอบ Dynamic Range กับ X100 JPEG

เห็นคุณ RBJ ทดสอบ Dynamic Range (DR) จาก RAW ของ D7000 แล้วรู้สึกว่ากล้องสมัยนี้มันเก็บ Dynamic Range ได้ดีน่าใจหายมากๆ เมื่อเทียบกับแค่ไม่กี่ปีที่แล้ว … ก็เลยนึกสนุกลองดูบ้าง ว่า JPEG จากน้องเล็ก X100 มันจะทำได้ดีแค่ไหน

ว่าแล้วก็เอากล้องไปเดินเล่นแถวสยามตอนเย็นๆ แล้วก็กดรูปนี้มาซะ


DSCF1250.jpg

เป็นรูปที่ตั้งใจให้มี contrast ของแสงค่อนข้างมาก จะเห็นว่าฟ้า (Highlight) ค่อนข้างหายและจืด ส่วนด้านล่าง (Shadow) ค่อนข้างมืดมองอะไรไม่เห็นเท่าไหร่ และนี่เป็น “JPEG” จากกล้อง ไม่ใช่ RAW ดังนั้นโอกาสที่จะมีข้อมูลเหลือๆ เก็บอยู่ในไฟล์ให้เอามาทำอะไรได้ก็น้อยลงไปเยอะ

เอาล่ะ ก็ถึงเวลาทดสอบซะทีว่ามันเก็บไว้ได้แค่ไหน ว่าแล้วก็เปิด Lightroom แล้วก็ปรับแบบไม่คิดอะไรมาก ลาก Recovery กับ Fill Light ให้สุด จากนั้นก็ปรับๆ นี่นั่นโน่นนิดๆ หน่อย พวก +/- Contrast, Saturation, Brightness, Exposure ให้มันพอดูได้บ้างอะไรบ้าง

ใช้เวลาลวกประมาณ 2-3 นาที ผลลัพธ์นี่อยากจะกรี๊ดสลบเลยทีเดียว …. ไม่ใช่กรี๊ดเพราะรูปสวยนะ แต่กรี๊ดเพราะ “DR มันมีให้เล่นเยอะขนาดนี้เลยหรือนี่?”


DSCF1250-2.jpg

อีกครั้งนะครับ นี่เป็นการ “ตบและดึง” ดื้อๆ จากไฟล์ JPEG ธรรมดาๆ จากกล้อง ไม่ได้ถ่าย RAW ไม่ได้ทำ HDR

(ป.ล. รูปนี้ดูบนจอ MacBook Pro แล้วสีมันสวยกว่า Samsung ที่ใช้เป็นจอ 2 อยู่มากมายเลยแฮะ สงสัยได้เวลา Calibrate ใหม่)

A Week with Fujifilm X100

Fujifilm X100 เป็นกล้องที่หลายคนตามหา หลายคนอยากได้ หลายคนซื้อมาแล้วไม่ถูกใจรีบขายต่อ …..

ผมสนใจกล้องตัวนี้ตั้งแต่ประกาศออกมาในงาน Photokina ปีก่อน ด้วยความที่ตัวเองชอบกล้องสไตล์โบราณ และต้องการกล้องคอมแพคที่มีขนาดเซนเซอร์ใหญ่อยู่แล้ว (จะสังเกตว่าผมมีกล้องแนวนี้หลายตัวพอควร ทั้ง Leica M8 และ Panasonic GF1 ซึ่งจริงๆ แล้วหัวใจมันอยากจะได้ Olympus E-Pen มากกว่า .. มันเป็นการต่อสู้กันระหว่างสมองและหัวใจ ที่สุดท้ายแม้ผมจะตัดสินใจซื้อ GF1 แต่ก็ยังอยากได้ E-P2 หรือ E-PL2 อยู่ดี; อาจจะขาย GF1 ด้วยซ้ำ)

ครั้งนี้ผมตัดสิน “รอไปก่อน”


X100_1_DSCF1159.jpg

วันหนึ่ง ผมมีโอกาสเจอเพื่อนสนิทที่เคยทำ dualGeek Podcast ด้วยกัน (ก็ยังไม่ได้เลิก เพียงแต่ไม่มีเวลาเท่านั้น) ที่ Siam Paragon และมีโอกาสลองเล่น X100 ตัวเป็นๆ ของเพื่อนผมคนนี้อยู่แป๊บนึง (ซึ่งเจ้าตัวได้เขียนเล่าประสบการณ์กึ่งรีวิว X100 ไว้ที่นี่: Wee Viraporn | Fujifilm FinePix X100) ซึ่งก็ทำให้ความอยากได้ X100 ของผมพุ่งกระฉูด ด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น

  • มันเบากว่าที่คิด เบามากเมื่อเทียบกับ Leica M8
  • เลนส์มันดีกว่าที่คิด โดยเฉพาะ Bokeh ที่สวยมาก มาแนว Leica เลย ภาพ Fade ออกอย่างเนียนสวย ไม่มีอะไรที่รู้สึกว่า “ยุ่ง” หรือว่า “แรง” หรือว่า “รก” อยู่ในส่วนที่ควรจะ “เบลอและเนียน” เลย
  • ความรู้สึกตอนสัมผัสดีมาก ยิ่งถ้าเทียบกับ GF1 ด้วยแล้ว เอ่อ … อย่าให้เทียบเลย
  • ความรู้สึกว่ามัน Well-Built มากๆ
  • ความรู้สึกที่สนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ตายโหง … ดูไปดูมา นี่มันความรู้สึกทั้งนั้นเลยนี่หว่า เอาล่ะสิ จะเป็นการทะเลาะกันระหว่างสมองกับหัวใจอีกหรือเปล่าหนอ (เพราะสมองผมมันบอกว่าให้เก็บเงินไว้ก่อน) แต่จากบทเรียนครั้งก่อน ทำให้ครั้งนี้ผมไม่ลังเลที่จะให้สมองมายุ่งกับความอยากของหัวใจอีกต่อไปแล้ว (สมองชนะทีไร หัวใจมันไม่ยอมปล่อยวางทุกที)


X100_2_DSCF1164.jpg

แต่ว่า … มันหายากมากเลย ไปถามร้านไหนมีแต่ของหมดทั้งนั้น บางร้านก็ไม่เคยมีเข้ามาเลย ก็เลยต้องลุ้นกับคนที่โชคดีซื้อได้แต่ไม่ชอบ แต่ถ้า X100 โผล่มาบนเว็บบอร์ดซื้อขายแลกเปลี่ยนกล้องไม่ว่าจะเป็นเว็บไหนก็ตามเมื่อไหร่ ไม่เกิน 5-10 นาทีมีคนสอยต่อแน่นอน มีอยู่ 2-3 ครั้งที่ผมโทรช้าไปนิดหน่อย (ไม่เกิน 30 นาทีหลังจากมีคนโพสท์กระทู้) ก็กลายเป็นคิวที่ 4-5 ทันที

และแล้ว วันหนึ่งโชคดีก็มาเป็นของผมบ้าง จังหวะที่ผมนั่ง Refresh กระทู้ในห้องขายกล้องของเว็บดังแห่งหนึ่ง ก็มีคนโพสท์ขายกล้องตัวนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าซื้อไปลองเล่นแล้วไม่ชอบ และเจ้าตัวกำลังจะเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้นจึงอยากขายก่อน … แต่ว่าด้วยความที่เขาเป็นคนชลบุรี และตัวผมเองอยู่นนทบุรี จะเอาไงดี (ระหว่างที่คุย ก็มีคนโทรมา 2-3 สาย) สุดท้ายก็เลยนัดเจอกันที่ Central บางนา โดยเขาฝากเพื่อนมาให้อีกทีหนึ่ง …. โชคดีเป็นบ้าเลย

อารัมภบทมาเยอะแล้ว คงจะต้องเข้าเรื่องกันเสียที ว่ากล้องตัวนี้ใช้แล้วเป็นอย่างไรบ้าง


X100_3_DSCF1162.jpg

หลังจากที่ได้ X100 มา และทดลองถ่ายนี่นั่นโน่นเล่นในบ้านสักพัก ผมก็ตัดสินใจ “ทดสอบ” จริงจังนิดหน่อย ซึ่งการทดสอบจริงจังของผม ก็ไม่ได้ทดสอบกับ Test Chart อะไรหรอกครับ เพราะว่ามันไม่ได้มีสาระอะไรในความรู้สึกผมซึ่งเป็นเพียงผู้ถ่ายภาพเล่นๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่ผมเลือกที่จะทดสอบกับกล้องที่ผมมีอยู่แล้ว ว่าถ้าถ่ายมุมเดียวกันแบบไม่ค่อยคิดอะไร ภาพที่ได้จะออกมาอย่างไร ซึี่งผมได้โพสท์ภาพจากการทดสอบเหล่านี้ไว้บน Flickr ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว

การตั้งกล้องทุกตัวนั้น ผมตั้ง JPEG หมด เพราะว่าโดยปกติผมเป็นคนถ่ายภาพ JPEG มากกว่า RAW ยกเว้นเสียแต่ว่าผมจะรับ JPEG Engine ของกล้องไม่ได้จริงๆ จึงจะถ่าย RAW ซึ่งจากภาพทั้งหมดที่ได้ออกมา ผมพบว่า GF1 กับ M8 นั้นมีโทนภาพของ JPEG ใกล้เคียงกัน และ “ไม่สวย” ทั้งคู่ (คือ ผมรับ JPEG จากกล้องสองตัวนี้ไม่ได้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นแค่สองตัวในบ้านที่ผมถ่าย RAW เป็นหลัก) แต่ X100 ให้ JPEG ที่สวยกว่าและเป็นธรรมชาติกว่าแบบเห็นได้ชัด รวมถึง Skin Tone ที่สวยกว่ามากๆ


X100_4_DSCF1042.jpg

ยิ่งเมื่อทดสอบเทียบกับ D3s ก็ยิ่งทำให้ตกใจ เพราะว่าโทนสีของภาพออกมาใกล้เคียงกันมาก มากจนเรียกได้ว่าถ้าเอารูปหลายๆ รูปมาคละกันแล้วถามผมว่ารูปไหนจาก D3s รูปไหนจาก X100 นี่ผมแยกไม่ออกง่ายๆ แน่นอน และที่สำคัญคือ Bokeh ของ X100 นั้นสวยกว่า Bokeh ที่ได้จากเลนส์ Nikkor 35 f/2 เยอะมาก (ผมไม่ได้เทียบกับ 24-70 f/2.8 นะครับ ถ้าเทียบก็น่าสนุก เพราะว่า 24-70 f/2.8 นี่ก็ Bokeh สวย)

นี่จะเป็นกล้องคอมแพคเซนเซอร์ใหญ่ที่ผมฝันไว้หรือเปล่า? ถ้าใครอ่านจากรีวิว Nikon P7000 (และ P7000: On the trip) ของผมจะทราบว่า ผมชอบ คุ้นเคย และ “ติด” สี JPEG จาก Nikon มากๆ … มากจนผมใช้งาน LX3, G1, GF1 รวมถึง M8 ไม่มีความสุขเท่าที่ควร (ถึงขนาดต้องสร้าง LR Preset และถ่าย RAW มาปรับกับ Preset เอาเอง)

ว่าแล้วก็ต้องลองเอาออกจากบ้านไปถ่ายรูปตามสถานการณ์จริงซะหน่อย


X100_5_DSCF0985.jpg

จากการถือไปใช้งานจริงที่นั่นที่นี่ ผมพบว่าผมใช้งานมันได้แบบค่อนข้างมีความสุขพอสมควร และพอใจกับผลที่ได้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายคน หรือว่าถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว โดยรวมๆ แล้วพอใจมาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักที่เบาจนไม่รู้สึกว่ารำคาญหรือเป็นภาระกับไหล่และคอ Texture ที่ให้ความรู้สึกดีเวลาที่หยิบขึ้นมาถ่าย View Finder หรือช่องมองภาพที่ดีมาก โดยตัว EVF นั้นเป็น EVF ที่ดีที่สุดที่ผมเคยใช้มา (หมายเหตุ: ผมไม่เคยใช้ EVF ของ Olympus) และถ้าไม่ชอบ EVF จริงๆ หรืออยู่ในบางสภาพแวดล้อมที่ EVF ไม่เหมาะเท่าไหร่ ก็เปลี่ยนไปใช้ OVF ได้เสมอ และ OVF ก็ค่อนข้างทำได้ดี ถึงตอนแรกผมคิดว่ามันจะสว่างกว่านี้สักนิดก็เถอะ แต่มันก็ไม่ได้มืดกว่า OVF ของ M8 นะ


X100_8_DSCF1204.jpg

พูดถึงเรื่อง OVF ตอนแรกก็งงเหมือนกัน ว่าในเมื่อ OVF มันไม่ใช่ TTL และมันไม่ใช่ Rangefinder แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามันโฟกัสโดนหรือเปล่า แต่ว่าพอมาลองใช้จริงๆ ถึงจะเห็นว่ามันมีขีดบอกระยะโฟกัสให้เราด้วย พร้อมกับกรอบสี่เหลี่ยมแสดงว่ากำลังโฟกัสอะไรอยู่ ซึ่งถ้าเราเคยใช้พวก Zone Focusing หรือ Hyper Focal กับพวก Rangefinder อยู่แล้วก็จะคุ้นกับการประมาณระยะสิ่งที่อยากถ่ายอยู่แล้ว ดังนั้นเห็นตัวเลขก็พอจะประมาณได้ว่าโฟกัสโดนหรือไม่

การควบคุมที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ผมให้คะแนนดีกับเรื่องที่เอาการปรับขนาดรูรับแสงไปอยู่บนเลนส์ แต่ว่าหักคะแนนนิดหน่อยตรงที่ไม่ทำให้มันหมุนปรับง่ายๆ เหมือนกับเลนส์ Leica เพราะอันนี้มันอยู่ติดตัวกล้องไปหน่อย ปรับขนาดรูรับแสงตอนจะถ่ายรูป (ดู View Finder อยู่) ยากกว่าที่ควรจะเป็น แต่ว่าแค่นี้ก็เจ๋งแล้ว Leica ยังไม่ทำแบบนี้กับ X1 เลย (ไม่รู้ทำไม) ส่วนที่หมุนปรับชดเชยแสงก็อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงง่าย (ตำแหน่งเดียวกับ P7000)


X100_9_DSCF1178.jpg

ส่วนเรื่องความเร็วชัตเตอร์ ถึงบนที่หมุนปรับความเร็วชัตเตอร์จะเขียนไว้ถึง 1/4000s ก็เถอะ แต่ถ้ารูรับแสงกว้างๆ ก็จะได้น้อยกว่านั้น (ที่รูรับแสงกว้างที่สุด f/2 นั้นจะได้แค่ 1/1000s) ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะว่าชัตเตอร์เป็นแบบ Leaf Shutter ที่อยู่ที่ตัวเลนส์ ไม่ใช่ Focal Plane Shutter ที่อยู่ที่ตัวรับภาพ ดังนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่รูรับแสงแคบเลยได้มากกว่ารูรับแสงกว้าง (ระยะทางที่ตัวชัตเตอร์ต้องเคลื่อนที่มีน้อยกว่า) ซึ่งทำให้เกิดปัญหานิดหน่อยในการใช้รูรับแสงกว้างถ่ายภาพตอนกลางวัน

แต่ว่า X100 ก็มี ND Filter ซึ่งจะทำให้กล้องรับแสงได้น้อยลง Built-in มาให้ด้วย แต่การจะเปิดใช้งาน ND Filter นั้นต้องเข้าไปใน Menu ซึ่งก็ไม่ได้เป็นระเบียบอะไรเท่าไหร่ และระบบ Menu เองก็ไม่ได้ทำงานเร็วด้วย (เข้าขั้นช้าเลยล่ะ) ดังนั้นก็อาจจะหงุดหงิดพอสมควร แต่ก็ยังดีที่มีปุ่ม Fn ซึ่งตั้งค่าได้ว่าจะให้ทำอะไรอยู่ปุ่มหนึ่งอยู่แถวๆ ชัตเตอร์ ก็เลยตั้งไว้ให้เข้าถึง ND Filter ซะเลย


X100_10_DSCF1187.jpg

ส่วนข้อเสียที่เจอน่ะเหรอ บอกได้คำเดียวว่า “เพียบ”

เรื่องแรกคือความเร็วของการโฟกัสอัตโนมัติ ซึ่งถ้าเคยชินกับ DSLR มาก่อน (โดยเฉพาะพวก Speed Demon เช่น D3s) จะรู้สึกว่าช้าจนรำคาญ ถ้าเทียบกับ GF1 ก็ยังช้ากว่าอย่างรู้สึกได้ (ก็ GF1 มันโฟกัสไวแบบไม่น่าเชื่อสำหรับกล้องที่ใช้ Contrast Detection) ซึ่งถ้าจะเอาไปถ่ายภาพเคลื่อนไหวเยอะๆ ล่ะก็ บอกได้คำเดียวเลยว่า “หมดสิทธิ์” (ไม่ต้องถึงขนาดถ่าย Street Action หรอก แค่พยายามถ่ายหมาเดินไปเดินมาในบ้าน ยังโฟกัสไม่ทันเลย)


X100_11_DSCF1226.jpg

ถัดมาก็คงเป็นเรื่องความไม่เสถียรของ Firmware ที่ไม่เสถียรเอาซะเลย ใช้ไปใช้มาค้าง และไม่ใช่เจอครั้งเดียวหรือเป็นอยู่คนเดียวซะด้วย อ่านๆ จากเว็บเมืองนอกเจอกันเยอะแยะ ก็หวังว่า Fujifilm จะรีบอัพเดท Firmware แก้ปัญหานี้นะ บางคนบอกว่าใช้ SD Card ที่เร็วที่สุดเท่าที่จะหาได้ อาจจะแก้อาการนี้ได้บ้าง อืมมมม ยังไม่ได้ลองวิธีนี้ดังนั้นผมคอนเฟิร์มไม่ได้ แต่ว่าจริงๆ แล้วค้างไม่ค้าง ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรเลยกับความเร็วของ SD Card แฮะ ถ้าเรื่องการเขียนอ่านไฟล์ก็อีกเรื่อง แต่ผมไม่ได้ถ่าย RAW อยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้อง “รอ”

เรื่องของโฟกัสยังไม่จบ แต่คราวนี้เป็นเรื่อง Manual Focus ที่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทำแบบ Electronic (หรือแบบ Fly-by-Wire) มาให้ ทำไมไม่ทำแบบ Mechanical แบบเลนส์เก่าๆ หมุนเท่าไหร่ได้เท่านั้น และการตอบสนองจะไวกว่า แบบนี้ก็เรียกว่า 2 เด้งเลย เพราะว่า Auto Focus ไม่เร็ว แถม Manual Focus ก็ดันเป็นแบบนี้อีก ….


X100_12_DSCF1220.jpg

แล้วก็เรื่องเล็กน้อย แต่กวนใจไม่แพ้กัน ก็คือปุ่มต่างๆ ที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ ปุ่มที่ควรมีก็ดันไม่มี (ต้องเข้าไปใน Menu ซึ่งก็ทำงานช้า) ปุ่ม Fn ที่ตั้งค่าได้ว่าจะเอาไว้ทำอะไรก็มีปุ่มเดียว และการวางตำแหน่งของตัวเลือกต่างๆ ใน Menu นั้นก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่ … แต่อันนี้ใช้ๆ ไปคงจะชิน

กล้องที่ผมเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของ Menu ก็คือ Leica M8 ซึ่งไม่มีตัวเลือกอะไรให้เลือกมากนัก กดขึ้นลงแป๊บเดียวก็หมดแล้ว แต่ละตัวเลือกก็สำคัญทั้งนั้น และกล้องที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องการวางปุ่มควบคุมภายนอก ก็พวกตระกูล Nikon … หรือว่าผมแค่ชินกับมัน ก็เลยคิดว่ามันดีก็ไม่รู้เหมือนกัน


X100_13_DSCF1214.jpg

สรุปๆ กล้องที่เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ซูมไม่ได้ ทำงานค่อนข้างช้า โฟกัสอัตโนมัติไม่ค่อยไว ไม่มีระบบตรวจจับหน้า ฯลฯ แบบนี้ไม่เหมาะกับหลายๆ คนแน่ๆ และหลายคนก็ไม่ชอบระยะเลนส์ที่เทียบเท่ากับ 35mm เท่าไหร่ เพราะว่าไม่ค่อยกว้าง ถ่ายรูปหมู่หรือว่าหันกล้องถ่ายตัวเองลำบาก ถ่ายอาคารสถานที่หรือว่าถ่ายวิวที่อยากจะเก็บทั้งหมดก็ไม่สะดวก และเนื่องจากซูมไม่ได้ เปลี่ยนเลนส์ไม่ได้ ก็ถ่ายเจาะเน้นเฉพาะจุด หรือถ่ายสิ่งที่อยู่ไกลๆ ไม่ได้


X100_6_DSCF1161.jpg

แต่ผมกลับเห็นว่า ระยะ 35mm นี้เป็นระยะที่เหมาะมาก สำหรับการถ่ายภาพเพื่อจดจำชีวิตที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา และการที่ไม่ต้องคิดถึงเลนส์ คิดถึงซูม คิดมากว่าจะใช้อะไรดี ฯลฯ ทำให้เราสนุกและมีอิสระมากขึ้นกับการถ่ายรูป และถ้าเราชินแล้ว กล้องก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่เป็นผู้ช่วยของตา (ตาเห็น มือถ่าย) มากกว่าที่จะเป็นภาระของสายตาและสมอง (ตาเห็น สมองคิดปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องระยะ เรื่องนี่นั่นโน่น ตาเล็งมุมกว้าง เล็งมุมเจาะ ฯลฯ)


X100_7_DSCF1169.jpg

ก็ได้แต่ว่าหวังว่า Fujifilm จะอัพเดท Firmware เพื่อแก้ปัญหาบางอย่างที่น่าจะแก้ได้ในระดับ Firmware ในเร็ววันนี้ และก็ได้แต่หวังว่า X100 คงจะส่งสัญญาณแรงๆ ไปยังอีกหลายเจ้า โดยเฉพาะ Leica ที่วันหนึ่งก็ต้องออก X2 ออกมา หรือ Nikon/Canon ที่หลายคนก็ยังหวังว่าจะทำกล้องคอมแพคเซนเซอร์ใหญ่ออกมาบ้าง

ลึกๆ แล้ว ผมก็ยังหวังว่าจะได้เห็น Nikon SP กลับมาเกิดใหม่เป็นกล้องคอมแพคเซนเซอร์ใหญ่ แบบ X100 สักวัน

Nikon P7000: On the Trip Review

ตามสัญญาเมื่อสายันต์ (จากตอน Nikon P7000 Review) ว่าจะเขียนรีวิวกล้องตัวนี้แบบ On the Trip ตามการใช้งานจริง เดี๋ยวจะทิ้งช่วงนานเกินไป เขียนซะหน่อย


DSCN0655.jpg

ขวดน้ำหวาน

เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ผมได้ขึ้นไปเที่ยวเหนืออีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเป็นแม่ฮ่องสอน (เช่นเดียวกับเมื่อปีก่อน) ตามประสาคนกรุงไขว่คว้าความหนาวบ้าง ออกต่างจังหวัดไปที่ๆ ธรรมชาติยังเป็นธรรมชาติบ้าง โดยครั้งนี้ผมได้เอาเจ้า Nikon P7000 ไปด้วย ในฐานะ “กล้องสำรอง” และ “กล้องเดินเที่ยว” เมื่อผมไม่ต้องการที่จะใช้ Nikon D3s (ซึ่งเป็นกล้องซีเรียส ใช้เมื่อหวังผลภาพ) หรือ Leica M8 (ที่ผมชอบใช้เวลาเดินเล่นในเมืองหรือหมู่บ้าน)


DSCN0639.jpg

อุ้มบาตร

จากการใช้งานจริงผมพบว่าโดยทั่วไปแล้ว P7000 ตอบสนองการใช้งานได้ค่อนข้างดี ทำให้หลายๆ ครั้ง ผมไม่ได้หยิบเอากล้องหลักออกจากกระเป๋าด้วยซ้ำไป และทริปนี้ก็ได้ confirm ถึงสิ่งที่ผมเขียนไว้ใน Review ก่อนหน้านี้หลายเรื่อง


เรื่องแรกคือเรื่องระยะซูม ซึ่งเทียบเท่ากับ 28-200mm บน 35mm format ซึ่งใช้งานได้ค่อนข้างสะดวก และภาพที่ได้จากระยะปลายซูมก็ถือว่าดีทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รูปรังผึ้งขนาดใหญ่ ที่เกาะอยู่บนพระพุทธรูปนอนกลางแจ้ง ซึ่งจากจุดที่ผมยืนอยู่นั้น มองเห็นไม่ถนัดว่าคืออะไร และตำแหน่งที่ผมยืนนั้นเป็นตำแหน่งย้อนแสง แต่ระบบวัดแสงของกล้องก็ยังทำงานได้ดีทีเดียว (ก็เล่นจัดองค์ประกอบแบบนี้นี่นะ ถ้าลองเห็นฟ้าก็มืดแน่นอน)


DSCN0635.jpg

รังผึ้งบนพระพุทธรูป

Dynamic Range จากไฟล์ JPEG ที่ได้ ก็ถือว่าค่อนข้างดี และยังคงเก็บรายละเอียดในเงาได้มากพอสมควร เช่นรูปต่อไปนี้ ถือว่าแสงค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงที่แดดแรง ทำให้ Contrast ของแสงค่อนข้างมาก ในส่วนที่จ้าและส่วนที่มืด ซึ่งรูปนี้ผมดึงส่วนที่มืดขึ้นมา (ด้านซ้ายของรูป ซึ่งรูปที่ได้มานั้นมืดมากทีเดียว) และพยายามตบส่วนที่เป็นแสงจ้าลงไป


DSCN0715.jpg

ปางอุ๋ง

ดูกันอีกรูป สำหรับ Dynamic Range ของภาพ JPEG จากกล้อง (ซึ่งแน่นอนว่าผ่านการดึงและตบมาแล้ว)


DSCN0649.jpg

ดูแล้วนึกถึง Chronicle of Narnia ยังไงไม่รู้แฮะ

อย่างที่บอกไว้ในรีวิวก่อน ว่าสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้ผมเลือก P7000 ก็คือ “Nikon Color” ที่ผมคุ้นเคยจากกล้องใหญ่ ภาพจาก P7000 ก็ให้ผมแบบนั้นน่ะแหละ ดูจากหลังกล้องแล้วความรู้สึกมัน “ใช่” กว่าตอนดูรูปจาก LX3 เยอะมาก ยิ่งถ้าตั้ง Vivid ไว้นะ จัดได้ใจ ทั้งความอิ่มของสี และคอนทราสต์


DSCN0798.jpg

ดอกไม้สีแดง


DSCN0678.jpg

ดอกบัวบานริมนา … บัวเหล่าที่หนึ่งมีอยู่ได้ในทุกที่

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของเลนส์ช่วงซูมยาวๆ กับกล้องคอมแพคเซนเซอร์เล็ก ก็คือ มันยังพอจะโยนฉากหลังให้เบลอเล่นได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ถึง f ช่วงปลายซูม มันจะ 5.6 ก็เถอะ ถ้าเลือกฉากหลังไกลๆ และซูมให้ของที่อยากถ่ายมันเต็มๆ ก็พอจะช่วยได้บ้าง (แต่แน่นอนว่าอย่าเอาไปเทียบกับ DSLR นะ เทียบไม่ได้หรอก)


DSCN0663.jpg

กระบอกส่งน้ำ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเหมือนชาวบ้านเค้าน่ะ ดูเป็นมิตรกว่าพวกถือ DSLR เยอะ ถึงตอนนี้ใครๆ ก็ถือ DSLR กันเต็มไปหมดก็เถอะ เวลาหยิบมาถ่ายรูปชาวบ้านมันก็ยังดูเกะกะและไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ หลายคนก็บ่ายเบี่ยง หลายคนชี้นิ้วมาทำเหมือนกับจะโดนยิงหรือว่าจับผิด หรือว่าอะไรสักอย่าง ฯลฯ แต่ว่าพอหยิบคอมแพคมาถ่าย นี่เป็นมิตรกว่ากันเยอะ กล้องพวกนี้จริงๆ เอาไว้ถ่ายพวกชีวิตทั่วไปเวลาไปเที่ยวนี่ดีนักแล


DSCN0754.jpg

แม่ค้าสาวน้อยที่ปางอุ๋ง

สรุปว่า ผมค่อนข้างพอใจกับมันแฮะ มากกว่าที่คิดไว้ตอนแรก (หรือว่าผมหวังน้อยอยู่แล้วกับคอมแพคของ Nikon ก็ไม่รู้เหมือนกัน) กล้องคอมแพคเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก จนเรียกได้ว่าไม่ต้องเอา DSLR ก็พอจะได้แล้ว (แต่ว่า DSLR มันก็ถูกลงมามาก จนไม่ต้องซื้อคอมแพคก็ได้แล้วเหมือนกันนะ — ก็แล้วแต่ความต้องการใช้งานแล้วล่ะ)


DSCN0732.jpg

รอแสงยามเช้า

ใช่ๆๆ ลืมไปเรื่อง คือเรื่อง Battery .. ต้องขอบคุณ Nikon ที่กลับมามีสติอีกครั้ง หลังจากทำอะไรบ้าๆ กับ P6000 เยอะมากมาย เช่น มีที่เสียบสาย LAN .. แต่ที่บ้าที่สุดของ P6000 คือ “การชาร์จแบต” จะชาร์จกับกล้องโดยตรง ซึ่งเสี่ยงมากมีการทำตก หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และมีข้อเสียมากมาย (นึกถึงเวลามีแบต 2 ก้อน เราจะไม่สามารถชาร์จแบตก้อนหนึ่ง และใส่อีกก้อนหนึ่งเพื่อถ่ายรูปไปก่อนได้) … P7000 ใช้ “ที่ชาร์จแยก” ครับ ค่อยยังชั่ว และแบตก็ใช้ได้ค่อนข้างทนดีทีเดียวครับ (อย่าเอาไปเทียบกับพวก DSLR นะ) แต่ว่าทำไมก็ไม่รู้ ก็ยังไม่แสดงสถานะของแบตตลอดเวลาอยู่ดี แสดงเอาอีตอนกำลังจะหมดอีกล่ะ แบบนี้คนใช้งานค่อนข้างจะพารานอยด์นะ เพราะว่าแยกไม่ออกเลยว่า แบตเกือบเต็ม หรือว่าเกือบจะเกือบหมด (ถ้าเกือบหมดถึงจะแสดงสถานะ)


DSCN0797.jpg

Raft rowing

ไหนๆ ก็พูดเทียบกับ P6000 แล้ว ก็บอกซะหน่อยว่า Nikon มีสติขึ้นมาเยอะครับ กลับมาทำกล้องให้เป็นกล้องอีกครั้ง หลังจาก P6000 นั้น เน้นการใส่ของเล่น ใส่เทคโนโลยี เสียจนความสามารถในการเป็นกล้องถ่ายรูปของมันไม่ได้รับการเหลียวแลสักเท่าไหร่ หลายต่อหลายอย่างก็ไม่รู้จะใส่มาทำอะไร (รวมถึง GPS ที่อาจจะมีประโยชน์นะ แต่ว่ากินแบตมากมาย) ตัวนี้ No-Nonsense กว่าเยอะมาก


DSCN0823.jpg

เทือกเขาริมชายแดนไทย-พม่า (เส้นแม่สะเรียง-แม่สอด)

สุดท้ายนะครับ ขอหน่อย … ไปเที่ยวที่ไหน ผมต้องเห็นภาพพวกนี้เสียชินตา ทั้งๆ ที่ถังขยะก็อยู่ไม่ห่างจากตรงนั้นมากเท่าไหร่เลย


DSCN0782.jpg

เช่นเดียวกัน …. มีคนเที่ยวที่ไหน มีไอ้พวกนี้ที่นั่น ให้ได้งี้สิ


DSCN0781.jpg

รูปนี้ห่างจากถังขยะ (ที่ยังว่างๆ อยู่) ไม่เกิน 15 เมตร


DSCN0647.jpg

ยัดกันเข้าไป หมกกันเข้าไป

ไว้วันนึงเถอะ จะเอารูปถ่ายขยะที่ถูกขยะทิ้งไว้แบบนี้ มาจัดแสดงสักที่ ถ่ายไว้ได้เยอะมากแล้ว

ทำภาพ High Dynamic Range เทียม (#2)

คราวนี้ลอง RAW ของ D3 (NEF บ้าง) ด้วยเทคนิคเดียวกัน ขั้นตอนเดียวกัน

  1. ภาพต้นฉบับ ลองสังเกตบริเวณที่แสงจ้า (ภายนอกหน้าต่าง) และบริเวณที่เป็นมืด (ขอบหน้าต่าง, ข้างตูสีแดง, ผนังใต้หน้าต่าง ฯลฯ) นะครับ

    nef_hdr_001.jpg

  2. ภาพ +1, +2 EV จะเห็นบริเวณที่มืดชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_002.jpg

    nef_hdr_003.jpg

  3. ภาพ -1, -2 EV จะเห็นบริเวณนอกหน้าต่างชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_004.jpg

    nef_hdr_005.jpg

  4. ภาพที่ทำ HDR เทียมเรียบร้อยแล้ว ลองเทียบกับภาพต้นฉบับดูครับ

    nef_hdr_006.jpg

คิดว่าเทคนิคนี้คงจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนนะครับ ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ได้ดีกับกรณีที่ต้องการจะถ่ายฟ้าให้ฟ้าสวยๆ และยังคงรายละเอียดอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ไว้ไม่ให้มืดไปด้วยครับ

ทำภาพ High Dynamic Range เทียมแบบขำๆ

สำหรับคนถ่ายรูป คงจะรู้จักภาพแบบ High Dynamic Range (HDR) แน่ๆ โดยหลักการคร่าวๆ แล้ว HDR จะมีจากแนวความคิดที่ว่า “มันมีอะไรเสมอ ในที่แสงจ้า และที่มืด” และความจริงที่ว่า เซนเซอร์รับภาพ และหน่วยประมวลผลภาพของกล้องดิจิทัล ไม่สามารถเห็นช่วงของแสงได้กว้างเท่ากับที่ตาเราเห็น

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับ เวลาเรามองไปที่หน้าต่างที่เปิดอยู่ เราจะเห็นวิวทิวทัศน์ข้างนอก ได้พร้อมกับเห็นรายละเอียดของขอบหน้าต่าง (หรือลายของผ้าม่าน) ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราถ่ายรูปล่ะ เรามักจะเห็นว่า ถ้าเราต้องการให้เห็นวิวข้างนอก ขอบหน้าต่างและม่านจะมืด แต่ถ้าเราต้องการให้เห็นขอบหน้าต่างชัด วิวข้างนอกก็จะสว่างไปจนมองไม่เห็นอะไร

เลยเป็นที่มาของเทคนิคการทำ HDR ครับ โดยปกติการทำ HDR เราจะต้องถ่ายภาพเดียวกัน ที่หลายๆ exposure เป็นลำดับ (เช่นถ่าย 5 ภาพ ต่างกันภาพละ 1 EV ซึ่งจะได้ที่ -2 EV, -1 EV, 0 EV, 1 EV, 2 EV) เพราะในขณะที่ -EV จะทำให้ภาพมืด แต่ก็จะรักษารายละเอียดในส่วนที่สว่างของภาพไว้ได้ ซึ่งตรงข้ามกับ +EV ที่จะทำให้เห็นรายละเอียดในส่วนที่มืดชัดขึ้น ซึ่งการถ่ายลักษณธนี้เราเรียกว่า exposure bracketing

ทีนี้ ถ้าเราไม่ได้ถ่าย exposure bracketing เอาไว้ล่ะครับ ทำอย่างไรดี? ซึ่งเราก็ยังคงโชคดีอยู่บ้าง ถ้าเราถ่าย RAW เอาไว้ เพราะว่า RAW จะเก็บข้อมูลของเรื่องแสงที่เซนเซอร์บันทึกไว้ได้ เอาไว้พอสมควร ซึ่งทำให้เรายังพอจะปรับ exposure value เพื่อดึงเอารายละเอียดในส่วนที่มืดและสว่างกลับมาได้บ้าง ก็เลยเป็นที่มาของ “HDR เทียม” ที่เราจะคุยกันในวันนี้ครับ

ปกติผมไม่เคยได้ลองเทคนิคพวกนี้หรอกนะ เพราะว่าไม่ได้ถ่าย RAW จนกระทั่งมาเล่น Leica M8 ซึ่งมี JPEG engine ที่ห่วยมากๆ จนต้องถ่าย RAW แบบไม่มีทางเลือก (และ RAW ของ M8 ก็ใช่ว่าจะดีนะครับ .. นอกจากเป็น DNG แล้วผมยังหาข้อดีของ M8 RAW ไม่ค่อยจะได้เลย และ M8 ยังมี DR ที่งั้นๆ เทียบกับกล้องอีกลายๆ ตัวอีกด้วย … แต่ไม่ขอพูดถึงมากล่ะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นรีวิว M8 ไป)

ลองทำตามนี้ครับ

  1. หา RAW มาสักภาพหนึี่ง สมมติว่าเป็นภาพด้านล่างนี้ละกัน จะเห็นว่ารายละเอียดตรงเหล็กขึงสะพาน (สีเหลือง) มืดไป ในขณะที่รายละเอียดบนเมฆบางส่วนก็หายไป (ขาวจ๋อง)

    test_fake_hdr_005.jpg

  2. จากนั้นปรับ exposure value ให้ไปทาง + EV เพื่อดึงเอารายละเอียดในที่มืดคืนมา ในตัวอย่างนี้ผมดึงไป +1 EV, +2 EV ตามลำดับ

    test_fake_hdr_001.jpg

    test_fake_hdr_002.jpg

  3. จากนั้นทำอย่างเดียวกัน ไปทาง – EV เพื่อดึงเอารายละเอียดบนเมฆกลับมาบ้าง ซึ่งผมทำเท่ากันคือ -1 EV, -2 EV

    test_fake_hdr_003.jpg

    test_fake_hdr_004.jpg

  4. จากนั้นก็ให้เอาโปรแกรมที่ทำพวก HDR (เช่น Photomatix Pro) มารวมกัน และทำ Tone Mapping (วิธีการใช้โปรแกรมพวกนี้ผมไม่ขอพูดถึง เพราะหาได้ทั่วไป …. และผมเองก็ “เล่นไม่เป็น” ด้วย) ซึ่งผลที่ได้จะเป็นแบบนี้

    test_fake_hdr_001_2_3_4_5_tonemapped.jpg

ก็ … ถึงจะสู้ทำ HDR แท้ไม่ได้ แต่ว่าก็ยังดีกว่าทำไม่ได้ล่ะนะ … ภาพนี้ถ่ายขณะรถติดบนสะพานพระราม 8 คงไม่มีเวลาจะตั้งขาตั้งและถ่าย bracket แบบจริงๆ จังๆ ล่ะครับ

แต่ว่ายังงั้นยังงี้ … กล้อง DSLR หลายตัวในปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีฉลาดๆ มากมาย (เช่น Automatic/Adaptive High Dynamic Range ในชื่อต่างๆ กัน .. เช่น Active D-Lighting ของ Nikon เป็นต้น) และเซนเซอร์ที่ดี มี DR กว้างเอาเรื่อง … ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมใช้ D3 ถ่ายทั่วไป ผมก็ยังถ่าย JPEG เหมือนเดิมน่ะแหละ

ปรับปรุงซ่อมแซม multiply ตัวเอง

ปรับ concept ใหม่น่ะครับ จาก “ถ่ายรูปแฟน แทนบันทึกการเดินทาง” ไปเป็น “กดชัตเตอร์ ตามใจ ไปเรื่อยเปื่อย” คราวนี้จะเป็น trip-centric มากขึ้น รวมถึงอัลบั้มเฉพาะกิจ ที่มีรูปเพิ่มไปเรื่อยๆ เช่น ภาพม้านั่งตามที่ต่างๆ เป็นต้น (อันนี้เก็บไว้เยอะพอควร) ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าจริงๆ ตัวเองเป็นคนชอบถ่ายรูปทั่วๆ ไป หรือว่าถ่าย street photography, life candid, life portrait มากกว่า portrait อยู่แล้ว แต่ว่า landscape หรือว่า architecture นี่ยังต้องหัดอีกเยอะครับ (ไอ้ที่บอกๆ มาก่อนอันนี้ก็ใช่ว่าเก่งหรอกนะ)

แก้แล้วก็ประเดิมใหม่ด้วยสองอัลบั้มจากการลองจับ D700 เป็นวันแรกในชีวิต

  1. ลอง D700 ที่งานสัปดาห์วิทย์ มศก. (8/20/51)
  2. ลอง D700 ที่วัดพระแก้ว (8/20/51)

ก็ฝากบ้านที่ซ่อมใหม่ ทาสีใหม่ด้วยก็แล้วกันครับ