Life


Life

Nikon D3s, 14-24/2.8, 14mm, f/4, 1/800s, ISO 200. (click for bigger size)

ชีวิตเกิดขึ้นได้ทุกที่บนโลกนี้ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นยังไง ถ้ามีความเหมาะสมต่อการเกิดได้แม้เพียงนิดเดียว ชีวิตก็เกิดขึ้นมาได้เสมอ

ผมถ่ายรูปนี้ด้วยความรู้สึกแบบนั้น รู้สึก amazing มากที่เห็นต้นไม้ที่มีลักษณะเป็นต้นไม้ยืนต้น โตขึ้นมาในบริเวณวัดจมน้ำ-เมืองบาดาล ที่สังขละบุรี ซึ่งปกติจะจมน้ำอยู่ และโผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพียงปีละไม่นานเท่านั้น

ธรรมชาติยืนยาว อารยธรรมมนุษย์แสนสั้น สิ่งที่เราสร้างขึ้น ก็เหลือเพียงซากปรักหักพังไปตามกาลเวลา แม้มนุษย์จะสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมาเท่าไหร่ หรืออยู่นานค่ไหน จากสายตาของธรรมชาติแล้ว อารยธรรมมนุษย์ทั้งอารยธรรม ก็คงไม่ต่างอะไรจากประกายไฟแว๊บเดียว แล้วก็หายไป

เราเหนื่อยไหม กับการพยายามสร้าง? ไม่ว่าจะสร้างงาน สร้างเพื่อน สร้างความดี สร้าง ฯลฯ ลองดูธรรมชาติบ้าง ที่สร้างทุกอย่างขึ้นมาเรื่อยๆ อย่างไม่มีเหน็ดมีเหนื่อย ไม่ใช่แค่บนโลกนี้ แต่ทั้งจักรวาลที่กว้างใหญ่ไพศาล แม้ว่าเราจะทำลายธรรมชาติไปเท่าไหร่แล้วก็ตาม

เอ… หรือว่าที่ธรรมชาติไม่เหนื่อยที่จะสร้าง ก็เพราะว่าทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงประกายไฟแว๊บเดียวเท่านั้น เค้าไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรด้วย ไม่ว่าเราจะทำลายเท่าไหร่ …​หรือว่าสิ่งที่ธรรมชาติสร้างแล้วไม่กลับมาทำร้ายเค้า ในที่อื่นๆ มันเยอะเสียจนเศษเสี้ยวเดียวบนโลกใบนี้มันเล็กน้อยจนไม่มีความหมายอะไรก็ไม่รู้

ป.ล. ตอนที่ผมถ่ายรูปนี้ น้ำยังค่อนข้างจะเยอะอยู่ ไม่น้อยจนน่ากลัว/น่าเป็นห่วงเหมือนที่เราดูข่าวกันทุกวันนี้ ไม่รู้ว่าต้นไม้ต้นนี้จะเป็นยังไงบ้างแล้ว ถ้าน้ำจะเริ่มท่วมเขื่อนอีกทีเมื่อไหร่ คิดแล้วก็สงสารเหมือนกันนะ อุตส่าห์เกิดและโตขึ้นมาได้ทั้งที

เล่นกับไฟ


เล่นกับไฟ

Nikon D3s, Sigma 50/1.4, 50mm, f/2, 1/80s, ISO 2200. (click for bigger size)

เป็นภาพจากการแสดงที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดให้กับผู้เข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระดับชาติ (ทั้งอาจารย์ ครู นักเรียน และกรรมการที่เกี่ยวข้อง) ที่ ม.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

ตอนแรกว่าจะโพสท์แค่รูปเดียว แต่คิดไปคิดมาขอสัก 3 รูปก็แล้วกัน เนื่องจากมีการแสดงอยู่หลายชุด แต่ผมก็ไม่ได้จดบันทึกมา ว่าแต่ชุดมีชื่ออะไรบ้าง น่าเสียดาย น่าเสียดาย

ทั้ง 3 รูปนี้ อยู่ในข่ายเดียวกันทั้งหมด คือ “เล่นกับไฟ” ครับ


DSC_4265.jpg

Nikon D3s, Sigma 50/1.4, 50mm, f/1.8, 1/80s, ISO 3200. (click for bigger size)

ขอปิด blog นี้ด้วยรูปนี้ครับ


DSC_42931.jpg

Nikon D3s, Sigma 50/1.4, 50mm, f/2, 1/100s, ISO 200. (click for bigger size)

ป.ล. นี่เป็นครั้งแรกเลยนะเนี่ย ที่เอารูปลงที่ Blog ก่อนที่จะไปลง Flickr หรือ Twitpic :-D คิดว่าควรจะให้ priority ที่นี่ก่อนบ้างแล้ว แล้วค่อยเอาทั้งชุดไปลงที่ Flickr ทีหลัง ส่วน Twitpic น่ะเหรอ เอาไว้ใช้ casual photography กับ iPhone อย่างเดียวแล้วล่ะ

Between Red and Yellow


Between Yellow and Red

Nikon D3s, 24-70/2.8N, 56mm, f/8, 1/200s, ISO 320. (click for bigger size)

เป็นภาพจากทริปไปตลาดน้ำอัมพวา ระหว่างที่ผมกำลังเดินเล่นอย่างสบายใจ และถ่ายรูปบ้างตามสนุกนั้น สายตาผมก็สังเกตเห็นภาพนี้

สิ่งที่ผมเห็น ทำให้ผมสลดใจมากทีเดียว ซึ่งผมเข้าใจนะ ว่าภาพนี้เค้าไม่ได้จัดฉากหรือว่าจัดอะไรให้ผมคิดแบบนี้หรอก แต่ว่าผมเห็น “หมวก” สองใบคนละสีกัน ใบหนึ่งสีเหลือง ใบหนึ่งสีแดง ขนาบ “ธงชาติไทย” ที่ยับ บิดเบี้ยว อยู่ตรงกลาง

“หมวก” สิ่งที่เราใช้แทนบทบาทหน้าที่ (เช่น วันนี้ผมใส่หมวกผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือว่าวันนี้ผมจะต้องถอดหมวกความเป็นอาจารย์จากศิลปากร เป็นต้น) ที่เราอาจมีเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ทำงานอะไรบางอย่างในบางบทบาท และเมื่อเราเอาหมวกครอบหัวเอาไว้ บางทีเราจะถูกความคิด ทัศนคติ ที่มากับบทบาทนั้น ครอบหัว ครอบความคิด ครอบงำ ฯลฯ จนบางทีเราอาจจะถอดมันไม่ออกอีกแล้วก็เป็นได้

“ธงชาติ” ก็เป็นสัญลักษณ์ของชาติ ชาติใครก็ชาติมัน ความหมายดีทั้งนั้นกับแต่ละองค์ประกอบดีทั้งนั้นที่เราใส่ลงไปในธงชาติ

อยากให้สังเกตนิดหน่อย … ลองดูสิครับ ว่า “หมวก” มันสีอะไร? (จริงๆ ก็เขียนตั้งแต่ต้น) และภาพนี้ทำให้ท่านคิดอะไร เห็นอะไร สะท้อนใจอะไร

ผมกำลังคิดว่า เราใส่หมวกสีอะไรกันทุกวันนี้ และทำหน้าที่อะไรกันอยู่กันแน่ ……. และมีใครสนใจสิ่งที่อยู่ตรงกลางกันบ้างไหม? หรือว่าแค่ทิ้งมันไว้อย่างนั้น และใส่หมวกกันต่อไป

บางทีถึงเวลาถอดหมวกกันให้หมด และคิดในฐานะที่เป็นตัวตนของเราเองจริงๆ นั่นคือ “คนไทย” หรือยัง?

Eye Contact


Eye Contact

Leica M8, Voigtlander 50/1.1 Nokton, f/8, 1/90s, ISO 160. (click for bigger size)

ตลาดน้ำอัมพวา เป็นที่หนึ่งที่ถ่ายรูปสนุกครับ และถ่ายรูปได้อย่างไม่เคอะเขิน เพราะว่าหลายต่อหลายคนพกกล้องไปถ่ายรูปทั้งนั้น ถ้าอยากจะหัดถ่ายรูป street หรือว่าตลาด แต่ไม่กล้าลองกับตลาดแถวบ้านตัวเอง ผมแนะนำว่าไปฝึกวิชาแถวตลาดน้ำที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเลยครับ รับรองว่าวิชาแก่กล้าขึ้นแน่ๆ

กลับมาที่รูปนี้ รูปนี้ผมอยู่บนสะพาน แล้วก็เล็งลงมาที่ชีวิตหลากหลายริมน้ำ ซึ่งมีทั้งกำลังจับจ่ายซื้อของ ประกอบอาหาร นั่งรออาหาร และกำลังรับประทานกันอย่างมีความสุข ผมเล็งรูปนี้อยู่ประมาณเกือบครึ่งนาที หวังว่าจะมีใครสักคนในกลุ่มนี้ที่จะเงยหน้าขึ้นมาให้มี Eye-contact บ้าง และแล้วก็มีหญิงสาวนักท่องเที่ยวที่เห็นในรูปนี้แหละครับ เงยหน้าขึ้นมา ก็เลยกดชัตเตอร์ ณ บัดดนั้น ซึ่งสายตาคู่นั้น ก็เป็น Eye-contact เดียวของรูปนี้

ผม post-process รูปนี้นิดหน่อยครับ คือ crop ให้ Eye-contact ที่ว่านี่ อยู่ตรงจุดตัด 9 ช่องพอดิบพอดี และใช้ Creative – Aged Photo preset ใน Lightroom 2 แล้วก็ปรับๆ ดึงๆ ตบๆ ค่าต่างๆ อีกเล็กน้อย

เป็นภาพที่ผมชอบมากๆ และแสดงข้อดีมากๆ อย่างหนึ่งของกล้อง Rangefinder แบบ Leica เพราะว่า viewfinder มันไม่มี black-out ในจังหวะที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือ “จังหวะที่กดชัตเตอร์” ครับ ทริปนั้นผมเอาไปทั้ง D3s และ M8 และสารภาพเลยครับ ว่าชอบภาพจาก M8 มากกว่ามากๆ (ทั้งๆ ที่ปกติจะรู้สึกกลับกัน)

Panasonic GF1: RAW vs. JPEG

ค้างเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน เขียนซะหน่อย (ช่วงนี้กำลังทำให้ blog นี้กลับมามีชีวิต และเปลี่ยนมันเป็น Photographer’s blog อยู่)

อย่างที่เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง RAW vs JPEG น่ะแหละครับ ว่าปกติผมเป็นคนที่ถ่าย JPEG เป็นหลัก ยกเว้นแต่ 1. จะถ่ายมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก RAW จริงๆ หรือไม่ก็ 2. รับ JPEG ที่ออกจากกล้องมาไม่ได้ เท่านั้น เลยเป็นประเด็นของบทความนี้ครับ มาดูกันจะๆ เลยดีกว่า ว่าทำไมผมรับ JPEG ของ Panasonic GF1 (ซึ่งเป็นกล้องสุดที่รักเลยนะตอนนี้) ไม่ได้

จริงๆ ก็สั้นๆ แหละครับ คือมัน “Over-processed” มากไป ค่อนข้างมีความเพี้ยนของอะไรหลายๆ อย่างสูงพอควร คือ กล้องมันคิดแทนเรามากไป ว่าอะไรควรจะสวยไม่สวยยังไง ซึ่งจริงอยู่ บางทีมันก็ work แต่ว่าหลายครั้งมันก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่

ดูตัวอย่างนะครับ (Click บนรูปเพื่อดูภาพใหญ่นะครับ; รูปแรก convert จาก RAW ดิบๆ ส่วนรูปหลังเป็น JPEG จากกล้อง)


P1000774.jpg

P1000774-2.jpg

สิ่งที่อยากให้สังเกตเป็นพิเศษ คือ โทนสีและแสงเงาครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Skin tone ที่ค่อนข้างจะเพี้ยน และเมื่อเทียบกับข้อมูลดิบจาก RAW แล้วยิ่งเห็นชัดว่า JPEG engine มัน over-processed ค่อนข้างชัดเจน ทั้งๆ ที่ตั้ง mode เป็น standard เอาไว้ ลองดูเทียบกันอีก 2 รูปครับ (เช่นกันครับ รูปแรกจาก RAW)


P1000765.jpg

P1000765-2.jpg

รูปนี้อาจจะชัดกว่าเมื่อกี้นิดหน่อยในบางอย่าง เช่น ความมืดของบริเวณที่อยู่ในที่มืด และสีแดงของป้ายที่อยู่ในที่มืด ซึ่งจริงๆ แล้วสีของ RAW นั้นค่อนข้างจะสวยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่สีมัน Over-saturate หรือไม่ก็ Hue เพี้ยน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าทีมที่ทำ JPEG engine ใน Panasonic ต้องมีปัญหาเรื่องสีแหงๆ

เรื่อง JPEG จากกล้องที่ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ของ GF1 นี่ไม่ใช่ผมรู้สึกไปเองคนเดียวนะครับ มีเขียนถึงกันหลายที่ ในหนังสือวารสารหลายเล่ม แล้วก็เว็บไซต์หลายที่ ที่ชอบเทียบ GF1 กับ EP1 ….. ซึ่งว่ากันว่า JPEG จากกล้องของ Olympus นั้นสวยกว่ามาก แต่ผมยังไม่ได้ลองเทียบกันจะๆ ดังนั้นผมเลยขอ No-comment ดีกว่า

แต่มันก็ต้องมีจุดแข็งบ้างล่ะน่า … ใช่ครับ มันมีจริงๆ และเจ๋งมากด้วย เพราะว่าจุดแข็งของ JPEG engine ของ GF1 คือ “ขาวดำ” ครับ …. ใช้แล้วจะลืมอะไรหลายๆ อย่างไปเลย แทบจะใช้ได้เลยจากกล้องไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วทั้งนั้น


P1000644.jpg


บทความที่เกี่ยวข้อง

Relaxing at Evening Sea


Relaxing at Evening Sea

Nikon D3, 70-300/4.5-5.6 VR, 102mm, f/4.5, 1/3200s, ISO 200 (click for bigger size)

ทะเลเป็นที่ถ่ายรูปที่เยี่ยมมาก มีรูปให้ถ่ายตลอด มีแทบทุกแนว และถ่ายได้แทบทุกเวลา เรียกว่าไปเวลาไหนก็ถ่ายได้ทั้งนั้น

วันนั้นไปนั่งเล่นตอนเย็นๆ ที่ริมทะเลบางแสน จ.ชลบุรี นั่งเล่นไปเรื่อย ก็ยกกล้องมาถ่ายไปเรื่อยๆ ตั้งแต่บ่ายแก่ๆ จริงๆ ก็กะจะนั่งจนมันเย็นพอ เพราะว่าชายฝั่งทะเลตะวันออกนี่ จะเห็นพระอาทิตย์ตก และคิดว่าน่าจะได้รูปสวยๆ ตอนพระอาทิตย์เกือบตกบ้าง

และแล้วก็ไม่ผิดหวัง จากจุดที่นั่งอยู่ ไปทางที่พระอาทิตย์ตก เห็นชายคนหนึ่ง กำลังยืนสบายอารมณ์อยู่ระหว่างแนวร่ม และดวงอาทิตย์ที่อยู่ได้ตำแหน่งพอดี ตอนนั้นคิดในใจเลยว่าจะได้รูป Silhouette ที่น่าพอใจแน่ๆ ก็เลยวัดแสงฟ้า แล้วก็กดไป ที่มาทำเพิ่มในคอมพิวเตอร์ ก็ปรับให้มันเป็น Silhouette มากขึ้น แค่นั้นเอง

อ่อ รูปนี้เป็นรูปบอกลา Nikon D3 ตัวเก่งที่ใช้มาปีนึงเต็มๆ ด้วยครับ

จริงเหรอ?


จริงเหรอ?

Nikon D3s, 180/2.8, f/3.5, 1/200s, ISO 2000 (click for bigger size)

นานๆ จะได้ถ่ายรูปหลาน (ตอนนี้อายุ 4 เดือน) เล่นสักที จริงๆ ก็ถ่ายไว้เยอะเหมือนกันตามประสาคนชอบถ่ายรูป แต่ว่าชอบรูปนี้เป็นพิเศษ ทำไมน่ะเหรอ

ก็มันให้ sense of wonder ซึ่งเป็น expression หนึ่งของเด็กที่ผมชอบนะ เด็กๆ นี่เห็นอะไรก็ตื่นตาตื่นใจไปหมด สนุกไปหมด จะว่าไปแล้วจริงๆ ผมใช้รูปนี้หากินใน presentation ได้อีกนานโขเลยนะเนี่ย เป็นรูปที่ให้ expression ว่า “จริงเหรอ” ได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว ลองคิดดูสิ ว่าเวลาพูดถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้เรื่อยเปื่อย แล้วกดเปลี่ยน slide มาเป็นรูปนี้ แล้วบอกว่า “ไอ้ที่พูดมาทั้งหมดนี่น่ะ มันจริงเหรอ?” หรือว่าใช้ก่อนจะนำเสนอก็ได้ ว่า “มันจะทำได้ยังไงอ่ะ” ก็คงเข้ากันได้ดีพอสมควร

RAW vs JPEG

ครั้งที่แล้วสัญญาไว้ว่าจะเขียนเรื่องอะไรสนุกๆ กับเรื่อง Number Marketing: MP vs. Lens vs. Sensor Size แต่จำไม่ได้แล้วว่าจะเขียนอะไร พูดง่ายๆ ว่า “ลืม” เพราะไม่ได้ shortlist ไว้ –‘

งั้นเอางี้ วันนี้ขอเขียนอีกเรื่อง ที่เป็น Myth มานานแล้ว เรื่อง RAW กับ JPEG แทนก็แล้วกัน ขออภัยที่ผิดสัญญา แต่รับรองว่าสนุกไม่แพ้กันแน่นอน โดยก่อนอื่น ผมขอเคลียร์ก่อนว่า Myth ที่ว่านี้ คืออะไร

  1. ต้องถ่าย RAW ถึงจะสวย
  2. ไฟล์ RAW สวยกว่า JPEG
  3. อยากได้คุณภาพ ต้องถ่าย RAW เท่านั้น
  4. โปรเค้าใช้ RAW กันทั้งนั้น

ว่าแต่ไฟล์ RAW กับ JPEG คืออะไร?

RAW คือ “ข้อมูลแสงดิบๆ” ครับ ดิบๆ อย่างที่เซ็นเซอร์ (ตัวรับภาพ) ของกล้องรับภาพไว้ได้ ดังนั้นไฟล์ RAW จึง “ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด” และแต่ละกล้องจะมีวิธีบันทึกของตัวเอง แม้ว่าทาง Adobe จะพยายามสร้างมาตรฐานอย่าง DNG (Digital Negative) ขึ้นมาโดยหวังว่าจะเป็นมาตรฐานกลางของ RAW ที่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมในวงกว้างเท่าไหร่นัก มีใช้อยู่ไม่กี่ยี่ห้อ (Leica เป็นหนึ่งในนั้น)

พูดง่ายๆ ผมถือว่า RAW เป็น “ฟิล์ม” สำหรับกล้องดิจิทัลครับ โดย concept มันเหมือนกับฟิล์ม negative มากๆ (ไม่งั้น Adobe คงไม่ตั้งชื่อ DNG)

สำหรับ JPEG นั้นแทบจะตรงข้ามกับ RAW เลยครับ JPEG คือ “รูปแต่งสำเร็จ” โดยตัวประมวลผลภายในกล้องเอง

ซึ่งถ้าจะเปรียบเทียบกับฟิล์มแล้ว JPEG ก็เหมือนกับรูปที่ “ล้างและอัดเสร็จแล้ว” (Processed) หรือว่าคิดว่ามันเหมือนกับกล้องโพลารอยด์ก็ได้ครับ ที่ถ่ายแล้วได้รูปสำเร็จเลย

ดังนั้น ในขณะที่ RAW จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเสนส์และเซนเซอร์รับภาพ และการแปลงเป็นดิจิทัลเท่านั้น JPEG จะขึ้นกับ image processer อีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะทำให้ข้อมูลดิบดีขึ้น มีสีสันมากขึ้น แก้ข้อผิดพลาดต่างๆ ของเลนส์และเซนเซอร์ให้หายไป ก็ได้

ดังนั้นบางครั้ง รูป JPEG จากกล้อง สวยกว่า RAW ครับ สวยกว่ามากด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นกับกล้องครับ ว่าจะประมวลผลมันอย่างไร สำหรับหลายกรณี เช่น Leica M8 นั้น มี JPEG engine ที่ “ห่วยจัด” ก็อาจจะถ่าย RAW แล้วมาล้าง/อัดเองในโปรแกรมประมวลผลภาพ แต่สำหรับอีกหลายกรณี ภาพ JPEG จะดีกว่า RAW อย่างชัดเจนครับ เพราะว่าหน่วยประมวลผลภาพในกล้อง ได้แก้ไขข้อจำกัดเฉพาะกล้องให้เราเรียบร้อยแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เนื่องจาก RAW มันเก็บข้อมูลแสงดิบๆ ไว้ให้เราอย่างครบถ้วน ดังนั้นเราก็เลยมีข้อมูลเท่าที่กล้องจะเก็บได้ เอาไว้ให้ process เองต่อ ซึ่งเราอาจจะตั้ง White Balance ใหม่ หรือเราจะดึงโน่นแต่งนี่ ได้มากกว่า เพราะว่าข้อมูลแสงมันยังอยู่เท่าที่เซนเซอร์จะเก็บได้

ดังนั้น ในขณะที่ “จากกล้อง” JPEG มีโอกาสจะสวยกว่า/ห่วยกว่า/เทียบเท่า RAW ขึ้นอยู่กับว่าหน่วยประมวลผลภาพในกล้อง มันประมวลอะไรให้บ้าง ถ้าพูดถึงโอกาสนำมาแก้ไขและ process รูปต่อในภาพหลังแล้ว RAW มีมากกว่าเยอะมาก

แต่ว่า JPEG เดี๋ยวนี้เจ๋งนะครับ จากกล้องใหญ่ๆ หลายๆ ตัวนี่ เก็บข้อมูลเอาไว้ได้ดีแบบไม่น่าเชื่อเลย แต่ว่ากับกล้องหลายตัว มันค่อนข้างจะ over-processed อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการพยายามดึง detail มากเกินไป หรือ over-sharpen ซึ่งตัวอย่างนี้มีให้เห็นเยอะมากพอสมควร

มืออาชีพหลายๆ คนที่ผมรู้จัก ก็ไม่ใช่ว่าจะถ่าย RAW นะครับ ขึ้นอยู่กับว่าลักษณะการใช้งานภายหลังของเขา จะนำไฟล์นั้นไปใช้อย่างไร มองภาพที่ได้ เป็นข้อมูลตั้งต้น เอาไปแต่งต่อ ประมวลผลต่อ หรือมองเป็นภาพสำเร็จ จะมีแก้ไขก็ไม่มากแล้ว ซึ่ง JPEG ก็เก็บข้อมูลไว้ได้มากพอ ประกอบกับ JPEG processing ที่เก่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายคนเลือกใช้ RAW น้อยลง

สำหรับตัวผมเอง ผมเลือกแบบน้ีครับ

  1. Nikon D3, D3s ผมเลือกตั้ง JPEG ครับ เพราะถึงผมจะแต่งรูปหลังจากนั้น ส่วนมากก็เป็นการดึง contrast, saturation, fill light, black adjust เล็กๆ น้อยๆ ที่ JPEG ยังมีข้อมูลเหลือเฟือ แต่ถ้าเป็นรูปที่ผมตั้งใจจะทรมานมันต่อเยอะๆ (เช่น จะเอาไปทำ single RAW HDR) หรือคิดว่าจะเอาไปดึงมากหน่อย เห็นเป็นข้อมูลดิบมากกว่ารูปสำเร็จ ผมจะถ่าย RAW แน่นอน
  2. Leica M8 ถ่าย RAW ครับ เพราะว่าผมรับ JPEG มันไม่ได้เลย ตัวประมวลผล JPEG มันห่วยจัด ลองดูได้จาก DPReview ก็ได้ครับ
  3. Panasonic GF1 ทั่วไปจะถ่าย RAW เพราะ Default JPEG มัน over-processed พอสมควร นอกจากรูปที่ผมอยากจะได้ effect บางอย่างจาก film mode หรือ my color mode ต่างๆ แต่ถ้าจะถ่าย B&W ล่ะก็ จะตั้ง JPEG และใช้ Dynamic B&W แน่นอน
  4. Panasonic LX3 ตั้ง JPEG ครับ ทั้งที่ถ่าย RAW ได้ เพราะว่า JPEG กล้องตัวนี้จะแก้ไขข้อมูลเลนส์ของกล้องพอควร (เลนส์มี distortion ค่อนข้างเยอะ ในช่วง wide) ซึ่งผมขี้เกียจเอามาแก้เอง และ JPEG ของกล้องค่อนข้างจะได้คุณภาพดีอยู่แล้ว

ขอสรุปหน่อย จาก Myth ด้านบน คือ RAW ไม่ใช่รูปที่ “สวยที่สุด” หรือ “มีคุณภาพที่สุด” (ในแง่ของภาพ) แต่เป็นรูปที่ “มีข้อมูลดิบเยอะที่สุด ผ่านการประมวลผลน้อยที่สุด” ดังนั้น ถ้าคิดจะ process ต่อ RAW จะมีโอกาสทำอะไรต่ออะไรได้มากกว่า JPEG เยอะมากๆ นั่นแปลว่า “มีโอกาสจะสวยกว่า มีคุณภาพกว่า JPEG จากกล้อง” และ JPEG จากกล้อง อาจจะสวยกว่า RAW ก็ได้ ในหลายๆ กรณี ขึ้นอยู่กับตัวประมวลผล JPEG ในกล้อง

[update 1]: มีอีกเรื่องหนึ่งที่ RAW มีประโยชน์กว่าอย่างเห็นได้ชัด คือ “ถ้ากล้องมี White Balance (WB) ที่ไม่แม่นยำ หรือเชื่อถือไม่ค่อยได้” ครับ เพราะว่า RAW จะเก็บค่าของแสงแบบดิบๆ เอาไว้ นั่นหมายถึง อุณหภมิแสง (temparature & tint) ด้วย ทำให้เราปรับ WB ทีหลังได้ง่ายกว่า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในกรณีถ่ายที่ๆ แสงยาก หรือแสงที่หลอก WB ของกล้องได้ง่าย

ตรงนี้สำคัญนะครับ เพราะว่า WB (โดยเฉพาะ​ AWB) กล้องหลายตัวไม่แม่นเอาเสียเลย การถ่าย RAW เปิดโอกาสให้เราปรับตรงนี้เองในภายหลังได้มากขึ้นครับ

สำหรับผมเอง เจอแสงยากๆ เมื่อไหร่ ไม่ว่าจะเป็นกล้องตัวไหน ก็ถ่าย RAW ไว้ก่อนล่ะครับ (แต่ว่าถ้าแสงมันไม่ยากเกินไป หาจุดขาวอ้างอิงได้ ก็อาจจะใช้ Preset แล้วถ่าย JPEG ครับ สำหรับกล้องที่ปกติผมถ่าย JPEG อยู่แล้ว)

Megapixel vs. Sensor Size vs. Lens

Number marketing เป็นเรื่องที่ “สร้างง่าย หายยาก” และจากประสบการณ์ คงไม่หายไปไหนง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ พบได้บ่อยๆ ก็ตั้งแต่สมัย Megahertz Myth และอีกเรื่องที่ยังคงพบอยู่ในปัจจุบัน คือ “กี่ Megapixels” และ “ซูมกี่เท่า” ซึ่ง “ความเชื่อสาธารณะ” มักจะถูกสร้างว่า เมื่อตัวเลขเหล่านี้สูงกว่า นั่นหมายถึงดีกว่า

จริงๆ ก็ไม่ถึงกับผิดซะทีเดียวนัก เพราะว่าหากปัจจัยทั้งหมดเหมือนกัน ในบางบริบท มันก็ดีกว่าจริงๆ … แต่ว่าหากปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ฯลฯ อื่นๆ มันต่างกันล่ะก็ มันก็บอกไม่ได้ซะทีเดียว เช่น จริงหรือ ที่ CPU ความเร็ว 2 GHz เร็วกว่า 1.6 GHz คำตอบคือ ถ้าปัจจัยอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นฐาน โครงสร้างอื่นๆ ที่มีผลต่อความเร็ว ทุกอย่างมันเท่ากัน แล้วล่ะก็ “จริง” ครับ แต่ว่าถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว “สรุปไม่ได้” ครับ

สรุปไม่ได้ ยังดี แต่ว่าในบางกรณีมัน “ตรงข้าม” ครับ โดยปริยาย และนั่นก็เป็นเรื่องที่จะคุยกันวันนี้ครับ คือ เรื่อง Megapixel ซึ่งเรื่องนี้เคยเขียนอย่างละเอียดไปครั้งหนึ่งแล้ว ในบทความ “กี่ล้านดีคะ” ที่ Blog นี้ … และวันนี้อยากจะเขียน “ภาคต่อ” สักหน่อย

ถึงสัญญาณเรื่องนี้ในตลาดจะดีขึ้นมาบ้าง เพราะว่าค่ายกล้องหลายค่าย เริ่มหันไปผลิตกล้องที่ “MP ต่ำลง แต่ขนาดตัวรับภาพ (Image sensor) ใหญ่ขึ้น” ในระดับ High-end compact กันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ Panasonic LX3 ซึ่งจะว่าไป 10MP, และเซนเซอร์ขนาด 1/1.63″ นิ้ว เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกตัวนี้ แทนที่จะเลือก Canon G10 (14.7MP) Nikon P6000 (13.5MP) และหลังจากนั้นในระดับ High-end compact ก็มีกล้องทำนองนี้ออกมาเรีื่อยๆ เช่น Canon G11, Canon S90 ซึ่งลด MP ลงไปเกือบ 1/3 ของ G10 และเพิ่มขนาดเซนเซอร์อีกด้วย และ Ricoh อีกหลายรุ่น โดยเฉพาะ GR-Digital 3, GXR และรวมถึง Micro 4/3 อย่าง E-P1, 2, GF1

แต่ว่าสัญญาณดังกล่าว ยังคงส่งไปไม่ถึงในระดับตลาดกลางและตลาดล่าง สังเกตได้จาก Nikon ที่เพิ่งจะออก Coolpix รุ่นใหม่ออกมาอีกหลายตัว ซึ่งมี MP ที่สูงขึ้น แต่ว่าในทางตรงข้าม มีขนาดเซนเซอร์ที่ลดลง! ผมจำได้ว่า เคยบ่น Coolpix S710 ว่ามี 14.5MP และ 1/1.72″ ซึ่งรุ่นใหม่ที่ออกมา S8000 นั้น ก็มี MP เกือบจะเท่าเดิมน่ะแหละ แต่ว่ามีเซนเซอร์ขนาด 1/2.33″!

และเมื่อมองกว้างๆ ไปอีกหน่อย ก็ยังคงพบว่า Megapixel War ยังคงไม่จบง่ายๆ แน่นอน

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยปฏิเสธเรื่อง MP ว่ามีมาก มันก็มีประโยชน์ เพราะว่ามันทำให้เรา crop ภาพเฉพาะบางส่วนได้มากขึ้น หรือว่าพิมพ์ภาพได้ใหญ่ขึ้น แต่ว่าจริงๆ แล้วมีกี่คนกัน ที่ต้องการพิมพ์ภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก 12MP เต็มที่? และมันก็มีคนที่ต้องการ MP มากๆ อยู่จริงๆ ไม่งั้นกล้องพวก Leica S2, Nikon D3X อะไรพวกนี้คงไม่ทำออกมา และคงขายไม่ออกกับคนที่รู้เรื่องพวกนี้แน่ๆ แต่ว่าถามว่า แล้วมันจำเป็นมั้ย กับพวกเราทั่วๆ ไป? เราคงอยากจะได้แค่ภาพดีๆ เยอะๆ ซึ่งหลายภาพอาจจะถ่ายในที่ๆ แสงไม่ค่อยจะอำนวย (มืด) ซึ่งจำเป็นต้องให้แสงเข้ามาเซนเซอร์เยอะๆ หน่อย หรือว่าถ่ายรูปลูกหลานที่กำลังซน กำลังเล่น ที่จะต้องไวหน่อย อัดรูปอย่างมากก็ 4×6 ก็แค่นั้น ซึ่งการมี MP สูง และเซนเซอร์เล็ก ไม่ช่วยอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว และเป็นโทษซะด้วยซ้ำ

กล้องดิจิทัล มันก็มีหลักการประมวลผลเหมือนกับการประมวลผลดิจิทัลธรรมดาน่ะแหละครับ ที่มีกระบวนการ Input-Process-Output ซึ่งกรณีนี้ “Input” มันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

  1. เลนส์ ซึ่งใช้รับแสง (Analog data)
  2. ตัวรับภาพดิจิทัล (เซนเซอร์) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการบันทึกแสง และแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล

ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ Digital Processing ที่ Image Processing Engine ที่ชื่อประหลาดๆ ทั้งหลายทั้งแหล่ เช่น Venus, Digic, Expeed ฯลฯ

เคยได้ยินไหมครับ “Garbage In, Garbage Out” ถ้าขยะเข้า ก็ขยะออก คือ ถ้าหากข้อมูลเข้ามามันไม่ดีแล้วล่ะก็ จะประมวลผลมันยังไง ผลลัพธ์ออกไป ก็ไม่ดีหรอกครับ สู้ข้อมูลเข้าที่ดีไม่มีทางได้เลย

ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ กล้องค่ายเดียวกัน 2 ตัว ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพเหมือนกัน แต่ทำไมภาพที่ได้จาก D700+24-70/2.8 N มันช่างแตกต่างจาก Coolpix S710 มากมายขนาดไม่ต้องเอามาเทียบ ทั้งๆ ที่ทั้งสองตัวนี้ ก็มี Expeed processing engine เหมือนกัน คำตอบคือ เลนส์ และ เซนเซอร์ครับ

ก็เลยนำมาซึ่งเรื่องต่อมา ก็คือ แล้วคุณภาพของเลนส์ในบรรดากล้อง compact ทั้งหลายล่ะ ดีแค่ไหน? ผมไม่ได้ต้องการคุณภาพระดับที่บ้านเราชอบกัดกันว่า “เทพ” แต่อย่างใด เพราะว่าเข้าใจดีกว่า ซื้อกล้องตัวเล็กๆ กันไปทำไม แต่ว่าเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ กับเลนส์ที่มีรูรับแสงที่แคบมาก คือ 6.6 หรือ 6.7 ที่ช่วงปลายของซูม! รูรับแสงที่เล็ก ก็ไวแสงน้อยเป็นธรรมดา ทำให้ต้องเปิดชัตเตอร์นานขึ้น หรือเร่งสัญญาณแสง (เร่ง ​ISO) ให้สูงขึ้น ซึ่งการเร่ง ISO จริงๆ แล้วก็คือการขยายสัญญาณเสียง เหมือนกับเร่งเสียงลำโพงน่ะแหละครับ ถ้าลำโพงไม่ดี หรือเพลงอัดมาไม่ดี มันก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ หากเปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างกว่านั้น เช่น F4 จะใช้ ISO ได้ต่ำลงกว่าเท่าตัว

แล้วมันแลกมากับอะไร? แน่นอนครับ เซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น เลนส์ที่ดี รูรับแสงกว้างๆ มันแลกมากับ “ขนาด” ที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเซนเซอร์มากนัก หรือเปลี่ยนเลนส์ ก็คือ “การลด Megapixel” ครับ เพราะว่าจะทำให้มีข้อมูลต่อหนึ่ง Pixel เพิ่มขึ้นโดยปริยาย (ถ้างง รบกวนอ่านบทความที่แล้วของผมนะครับ)

บทความต่อไป ผมจะเขียนการเปรียบเทียบอะไรสนุก เกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง

ทำภาพ High Dynamic Range เทียม (#2)

คราวนี้ลอง RAW ของ D3 (NEF บ้าง) ด้วยเทคนิคเดียวกัน ขั้นตอนเดียวกัน

  1. ภาพต้นฉบับ ลองสังเกตบริเวณที่แสงจ้า (ภายนอกหน้าต่าง) และบริเวณที่เป็นมืด (ขอบหน้าต่าง, ข้างตูสีแดง, ผนังใต้หน้าต่าง ฯลฯ) นะครับ

    nef_hdr_001.jpg

  2. ภาพ +1, +2 EV จะเห็นบริเวณที่มืดชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_002.jpg

    nef_hdr_003.jpg

  3. ภาพ -1, -2 EV จะเห็นบริเวณนอกหน้าต่างชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_004.jpg

    nef_hdr_005.jpg

  4. ภาพที่ทำ HDR เทียมเรียบร้อยแล้ว ลองเทียบกับภาพต้นฉบับดูครับ

    nef_hdr_006.jpg

คิดว่าเทคนิคนี้คงจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนนะครับ ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ได้ดีกับกรณีที่ต้องการจะถ่ายฟ้าให้ฟ้าสวยๆ และยังคงรายละเอียดอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ไว้ไม่ให้มืดไปด้วยครับ