กระจกหน้าต่างแค่บานเดียว … ที่ไร้การเหลียวแล

เรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” ที่ส่งผลใหญ่โตระยะยาว หรือที่เรียกว่า Butterfly Effect อันโด่งดังจาก Chaos Theory นั้น มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะมากมาย และหนึ่งตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างก็คือ “ทฤษฎีกระจกหน้าต่างแตก”

เรื่องมันมีอยู่ว่า ย่านที่อยู่อาศัย อาคารต่างๆ จากที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย กลายเป็นที่รกร้างไร้การเหลียวแลได้อย่างไร .. คำตอบง่ายๆ มันมีอยู่แค่ว่า “กระจกหน้าต่างแตกหนึ่งบาน ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมซ่อม”

คำอธิบายก็ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน ก็แค่กระจกหน้าที่แตก แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลนั้น เป็นการส่งสัญญาณ และทำให้เกิดความรู้สึก “ไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนเหลียวแล” ให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา และคนที่อยู่อาศัย และก็อาจจะมีบางคนที่ผ่านไปผ่านมา ปาหินให้มันแตกมากขึ้น ทำให้สัญญาณนั้นชัดเจนรุนแรงมากขึ้นทุกที

จากกระจกบานหนึ่งไปอีกบานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งก็จะลามไปอีกบ้านหนึ่ง จนมากขึ้นๆ เหมือนกับมะเร็งที่ลุกลามในอวัยวะ ที่หากปล่อยไว้จนลุกลาม ก็ยากจะรักษาเยียวยาได้

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือ little bits ที่ส่งผลใหญ่โตในระยะยาว เพราะผลของมันจะลามจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง มากขึ้นๆ ทุกที

เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง?

เยอะแยะครับ ที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตผม ที่เป็น “กระจกบานนั้น” ที่แตกเล็กน้อย แต่เราเลือกที่จะไม่ดูแลมันแต่เนิ่นๆ หรือดูแลมันให้ดีพอ จนสุดท้ายกลายเป็นเซลล์มะร็งที่กัดกินทำลายสิ่งที่มันอยู่

  • พฤติกรรมที่ไม่ดีเล็กน้อยในที่ทำงาน เช่น มีพนักงานบางคนเล่น chat ทั้งวัน (ไม่ใช่แค่เท่าที่เหมาะสม) ก็เป็นกระจกบานหนึ่ง ที่สุดท้ายจะมีคนทำตาม และคนที่อยากทำงานก็จะรู้สึก irritated และอาจจะรำคาญจนเลิกทำงานไป
  • คนไม่สนใจเรียนคนหนึ่งในห้อง อาจจะนั่งหลับ (แบบตั้งใจหลับ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ฟังเพลินๆ แล้วเคลิ้ม) หรือตั้งใจป่วนห้องเรียน ที่ไม่ได้รับการดูแลให้เหมาะสม (เช่น ให้ออกไปข้างนอก) ก็เป็นกระจกบานหนึ่ง เช่นเดียวกัน
  • โค้ดห่วยๆ ในไฟล์แค่ไฟล์เดียว ในโปรเจคแอพ ที่ไม่ได้รับการดูแล ไม่รีบ refactor ไม่รีบจัดการ ก็จะทำให้ความห่วยมันกระจายไป ปะผุไป และดึงดูดโค้ดห่วยๆ มามากขึ้น กระจายไปหลายไฟล์มากขึ้น จนมันไม่สามารถดูแลได้
  • เรื่องระหว่างคน ที่ไม่ปรับเข้าหากันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่คุยกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วปล่อยให้มันลุกลามใหญ่โต จนคุยกันยากขึ้นเรื่อยๆ มองหน้ากันยากขึ้นเรื่อยๆ จาก ego เรื่องเล็กๆ แค่เรื่องเดียว
  • ยังคงเป็นเรื่องระหว่างคน ที่การไม่คุยกันในเรื่องเล็กน้อยบางเรื่อง ส่งผลไปยังการไม่คุยกันในเรื่องอื่นๆ .. และกลายเป็นความห่างเหิน จนไม่อาจเยียวยาได้ ในที่สุด
  • ปัญหาสังคมต่างๆ นานา มากมายที่เข้าประเด็นนี้แบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการโบกรถเมล์นอกป้าย ขึ้นลงรถเมล์ตรงไหนก็ได้ การแซงคิวเข้าห้องน้ำ การแย่งกันซื้อของ มักจะเกิดจากพฤติกรรมเล็กน้อย ที่ไม่ได้รับการดูแลและปล่อยให้มันฝังรากลงไป ฯลฯ

ก็ใช่สิ … มันก็แค่กระจกบานเดียว จะไปมีผลอะไรมากมาย

แต่เชื่อผมสิ ว่า a little bit goes a long way … ผีเสื้อกระพือปีกในอเมริกา อาจส่งผลให้เกิดพายุถล่มญี่ปุ่นก็ได้ … ถ้าผลของมันมีโอกาสกระทบต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

ทวนเข็มนาฬิกา

หมายเหตุ: บทความในตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายหลายต่อหลายครั้งของผม

เมื่อนานมาแล้ว ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเรื่อง The Information Master ของ John McKean ซึ่งมีผลการสำรวจถึงเรื่องการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งตัวเลขที่ลงทุนจริง และตัวเลขที่ทาง McKean แนะนำว่าควรจะเป็น ดังนี้


mckean.006.jpg

ซึ่งแสดงให้เห็นว่า องค์กรทั้งหลายมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สูงเกินไป และมีการลงทุนด้านอื่นๆ ที่ต่ำเกินจากความเป็นจริงมาก

ผมลองอ่านแล้วพยายามสะท้อนกลับมาที่ประเทศไทย เรื่องนี้ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่ เรามีการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่สูงไป ในขณะที่ด้านอื่นต่ำไปหรือไม่ หรือมันสามารถเอาไปตีความสะท้อนด้านอื่นๆ (โดยไม่อิงตัวเลข) ได้หรือไม่ ซึ่งผมก็คิดเล่นเพลินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผมลองเอาตัวเลขทั้งหมดมาใส่ลงไปในแผนภูมิวงกลม (Pie Chart) ซึ่งทำให้ผมเห็นอะไรดีๆ บางอย่าง

ผลที่ได้ทำให้ผมขนลุกทันที เพราะนี่คือสิ่งที่ผมแสวงหามานาน

ลองดู “สิ่งที่ควรเป็น” ดูก่อนนะครับ


mckean.005.jpg

อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้สนใจอะไรมากมายนักกับตัวเลข แต่สนใจมากกว่าจะมีอะไรที่สะท้อนภาพสิ่งที่ผมคิดว่า “เป็นจริง” กับบ้านเราได้บ้าง และนี่ก็คือสิ่งนั้นครับ และภาพที่สิ่งนี้สะท้อนให้เราได้เห็นกันก็คือ “การพัฒนา” อะไรก็แล้วแต่ที่เราจะนึกออก ไม่ว่าจะเป็นระบบฐานข้อมูล ระบบสื่อสิ่งพิมพ์ดิจิทัล ระบบการศึกษา ระบบ ฯลฯ

เมื่อเราลองมอง “ภาพที่ควรเป็น” นี้ ภาพวงกลมที่เราเห็น ก็เหมือนกับ “หน้าปัดนาฬิกา” ที่เริ่มต้นเดิน ณ เวลา 0 คือเริ่มจากสีฟ้าอ่อน ซึ่งก็คือ “คน” ซึ่งจะเห็นว่า ต้องใช้ “ทรัพยากร” (เงิน เวลา ความพยายาม ฯลฯ) ประมาณ 20% และต้องเริ่มต้นจากจุดนี้ จากนี้เมื่อมี “คน” แล้ว ก็ต้องมีพัฒนา “กระบวนการ” เพื่อให้คนเหล่านี้ทำงานด้วยกัน สิ่งนี้จะต้องใช้ทรัพยากรอีกประมาณ 15% และเมื่อมี “คนที่ทำงานเป็นขั้นตอนกระบวนการ” เป็นแล้ว ก็ต้องจัดระบบระเบียบการทำงาน การประสานงานอื่นๆ หรือ “ระบบการทำงาน” (Organization) อีก 10% ต่อด้วยการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานของระบบการทำงานอีก 20% และเมื่อได้สิ่งเหล่านี้แล้ว ความรับผิดชอบเฉพาะทางที่เกิดจากความเชี่ยวชาญที่ได้ทำงานมา ซึ่งก็จะเกิดขึ้น และจะต้องพัฒนาจนกลายเป็น Leadership ในด้านนั้นๆ อีก 10% และเมื่อได้ถึงจุดนี้แล้ว กระบวนการทั้งหมดก็จะเริ่มสร้าง (Create/Generate) องค์ความรู้ ข้อมูล ฯลฯ ต่างๆ ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรูปของกระดาษ หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งจะต้องพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 15% สุดท้ายของวัฏจักรก็คือ การพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือขึ้นมาเพื่อรองรับกระบวนการทั้งหมด อีกเพียง 10%

นั่นคือ เทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่จะมีนั้น เป็น “ผล” ที่ “ปลายเหตุ” ที่มีหน้าที่ “ช่วย” ให้ “คน” ซึ่งทำงานด้วย “กระบวนการบางอย่าง” ใน “ระบบงาน” ที่มี “วัฒนธรรมการทำงาน” และมี “หน้าที่ความรับผิดชอบอันเกิดจากความเชี่ยวชาญ” และต้องสร้างและใช้ “สารสนเทศ” ทำงานได้ดีขึ้น เท่านั้นเอง

แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อถึงกรณี “บ้านเรา” คืออะไร?

บ่อยครั้งมาก ที่เราต้องการการพัฒนาอย่างเร่งด่วนฉาบฉวย ซึ่งมักจะหมายถึงการ “เร่งมีอย่างที่คนอื่นมี” ไม่ว่าจะเป็นการเร่งมีระบบฐานข้อมูลเหมือนที่คนอื่นมี การเร่งมีสิ่งพิมพ์ดิจิทัลบน iPad เหมือนกับที่คนอื่นมี การเร่งจะมีเว็บขายของเหมือนที่คนอ่ืนมี ใช่ไหมล่ะครับ?

ความต้อง “มีอย่างที่คนอื่นมี” แสดงให้เห็นว่า เราจะต้องเคยเห็นมาก่อนว่าคนอื่นมีอะไร นั่นคือ เราจะต้องเห็น “ผล” ที่​ “ปลายเหตุ” ซึ่งก่อให้เกิดความอยากได้เหมือนเขาบ้าง เราอาจจะศึกษากระบวนการของเขาทั้งหมด ย้อนกลับไปว่ามาได้อย่างไร ส่งคนไปศึกษาดูงาน อ่านหนังสือ ฯลฯ ก็แล้วแต่

ลองดูกราฟของ “สิ่งที่เกิดขึ้น” บ้างครับ


mckean.006.jpg

ความน่ากลัวที่น่าสนใจก็คือ “การเดินย้อนทวนเข็มนาฬิกา” ซึ่งจะมุ่งเน้นไปที่ “การมีเครื่องมือสุดท้ายเหมือนกับเขา” โดยที่ไม่ได้สร้างคน กระบวนการทำงาน ระบบงาน วัฒนธรรมการทำงาน ฯลฯ อะไรไว้รองรับเลย และเมื่อมีเครื่องมือตามที่ต้องการแล้ว ก็ค่อยหาข้อมูลมาใส่ระบบอย่างลวกๆ จากนั้นก็กำหนดหน้าที่การทำงานในระบบอย่างลวกๆ (อาจจะตามตำรา หรือตามที่ได้ดูงานมา) ในวัฒนธรรมการทำงานที่ถือได้ว่า Non-Existing จากนั้นอาจจะตั้งระบบ แผนก หรือองค์กรขึ้นมาทำงานหน้าที่นั้นอยากลวกๆ และสุดท้ายก็คือ หาคนมาใส่ให้เต็มงาน โดยที่คนเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับอะไรแบบนี้เลย

หมายเหตุที่สำคัญ 100% ของทั้งสองก้อนนี้อาจไม่เท่ากันก็ได้ 20% ของเวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนาตัวเครื่องมือหรือเทคโนโลยีของกลุ่มแรก (ที่ควรเป็น) อาจจะมากกว่าหรือพอๆ กับ 82% ของก้อนที่สองก็เป็นไปได้ ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นจะเห็นว่า เวลาและทรัพยากรที่ใช้ในการพัฒนาส่วนอื่นๆ นั้นยิ่งน้อยลงไปอีก

==================

ลองดูกรณีศึกษากันหลายๆ กรณีนะครับ

  • หลายบริษัท/องค์กรเร่งไปที่การมีมาตรฐาน ISO, CMMI ตามกระบวนการประกันคุณภาพ (Quality Assurance; QA)​ โดยไม่ได้สนใจที่มาที่ไป รากฐานของมันเลย และยังทุ่มทรัพยากรไปกับการทำสิ่งเหล่านี้โดยใช่เหตุ และถือว่าเมื่อมีการใช้เครื่องมือเหล่านี้เหมือนชาวบ้านเค้า ก็ถือว่าเรามีคุณภาพแล้ว
  • หลายองคก์กรที่พัฒนาโปรแกรม เร่งไปที่การมี “เครื่องมือ” ต่างๆ ในการพัฒนาองค์กร เช่นสารพัดวิธีในการทำ Agile หรือสารพัดวิธีในการจัดการซอฟต์แวร์ เช่น Personal Software Process โดยที่เมื่อมีการทำพวกนี้แต่เปลือก ก็ถือว่ามีแล้ว โดยทั้งที่จริงๆ แล้ว “คน” ยังเขียนโปรแกรมกันแทบไม่เป็นเอาซะเลยด้วยซ้ำ กระบวนการทำงานของแต่ละคนเองก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างอะไรเลย ยังทำงานร่วมกันไม่ได้เลย ฯลฯ
  • ผมพบบ่อยๆ ว่าเวลาเราไปดูงานที่ประสบความสำเร็จ เราจะเห็นภาพสุดท้าย โครงสร้างองค์กร หน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ ว่ามีแผนกอะไร ใครต้องทำอะไร ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยในบ้านเรา คือ การลอกแบบจากปลายเหตุ ตั้งองค์กรตาม แบ่งแผนกตาม หาคนมาทำงานตาม โดยไม่ได้เริ่มจากการสร้างอะไรเองเลย ดังนั้นก็จะมีอะไรหลายอย่างที่มันไม่ function ตามที่มันควรจะเป็น
  • ระบบฐานข้อมูล เป็นอะไรที่ว่ากันยาวมาก หลายคนต้องการ “ระบบ” ขึ้นอย่างรวดเร็ว และเวลาที่เราบอกว่า มันต้องเริ่มจาก “คนใช้ข้อมูลอะไรในการทำงานอยู่ในปัจจุบันบ้าง” และข้อมูลอะไรจะต้องเชื่อมโยงกับอะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง คนมักไม่ค่อยสนใจ คิดว่าจะต้องเริ่มด้วยการพัฒนาระบบเลย หรือดีกว่านั้น ซื้อระบบสำเร็จรูปมาใช้เลย ทั้งๆ ที่ระบบที่มันใช้งานได้ดี ส่วนมากจะใช้เวลานับปี วางรากฐานเรื่องข้อมูล และระบบข้อมูล ว่าใครใช้อะไรอยู่แล้วบ้างในการทำอะไร และข้อมูลนั้นเอามาจากไหน จากนั้นวางความเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีอยู่แล้ว และค่อยพัฒนาระบบ ซึ่งจะใช้เวลาอีกหลายปี เป็นต้น
  • เว็บไซต์หรือเว็บแอพพลิเคชั่นก็เช่นเดียวกัน ที่เริ่มจากการ “อยากมีเว็บเหมือนคนนั้นคนนี้” โดยที่ไม่ได้สนใจ “การเริ่ม” ที่เหมือนกับเขาเลยแม้แต่น้อย จะเอาแต่ปลายเหตุอย่างเดียว
  • เรื่องเดียวกันก็เกิดขึ้นกับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นทั่วไป การพัฒนา Digital Publishing ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ที่จะเริ่มจากการเห็นคนอื่นมีกัน แล้วจะเร่งรัดไปที่ปลายเหตุอย่างฉาบฉวย ไม่ได้สร้าง “คนที่เข้าใจกระบวนการ มีความสามารถในการทำงานจริงจัง” ขึ้นมาเลย
  • เรื่องที่เห็นชัดเจนมากที่สุดเรื่องหนึ่งคือ Knowledge Management หรือ KM ที่ผมเห็นหลายที่บ้ากันจังเลย กับเครื่องมือสารพัด ไม่ว่าจะเป็นแผนภูมิก้างปลา กับการมี Blog ภายในองค์กร ที่แต่ละคนสามารถมาแชร์ความรู้กันได้ แล้วก็มีคนเขียนแค่ไม่กี่คน เขียนเรื่องอะไรก็ไม่รู้ พอมี Blog และมีคนเขียนคนสองคน ก็ถือว่า “องค์กรได้ทำ KM แล้ว” ซึ่งเป็นเรื่องโง่บัดซบ องค์กรในฐานะ “สิ่งมีชีวิต” จะดำรงอยู่ได้ด้วยอะไรในฐานะ “สภาพแวดล้อมและอาหาร” ยังไม่รู้เลย ดังนั้นตัวองค์กรเอง ต้องเรียนรู้อะไรเพื่อให้มันอยู่รอดได้ พัฒนาได้ อันนี้ก็ตอบไม่ได้ ในเมื่อไม่เป็น Learning Organization แล้วจะทำ Knowledge Management ไปเพื่ออะไร … ที่น่าเศร้า คือคนมันโดนล้างสมองไปแล้วว่า การทำ KM คือการมี Blog
  • เรื่องการศึกษาที่เน้นไปที่ผลลัพธ์ก็ไม่ใช่ยกเว้น เพราะสิ่งที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก็คือ “เครื่องมือ” ไม่ว่าจะเป็นสูตรคำนวน หรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นหลายครั้งเราจะเริ่มที่ปลายเหตุ คือ สอนการใช้เครื่องมือให้ได้ผลลัพธ์ โดยไม่สนใจสิ่งต่างๆ ก่อนหน้านั้นทั้งหมด และหลายคนก็สับสนไปว่า การใช้เครื่องมือเป็น คือการเข้าใจ ด้วยซ้ำ
  • ฯลฯ ฯลฯ และ ฯลฯ
  • (อัพเดท 2021): เรื่อง Agile, DevOps และสารพัดก็เช่นกัน

==================

ผมขอปิดบทความนี้ด้วยภาพนี้ภาพเดียวครับ ซึ่งคือสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องช่วยกันทำ


transforming.jpg

เปลี่ยนจากวงกลมซ้าย ที่เดินย้อนทิศทางเข็มนาฬิกา ที่ทำให้เรามีอะไรหลายอย่างที่มันฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน ไม่มีประโยชน์จริง แต่เป็นภาพลวงตาที่หลอกเราไปวันๆ ว่า “เรามีแล้ว” ไปเป็นวงกลมขวา ที่เดินตามเข็มนาฬิกา ที่จะทำให้เรามีอะไรเป็นของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับใคร ใช้งานได้จริง มีประโยชน์กับตัวเราเอง องค์กรเราเอง และไม่ใช่ภาพลวงตา

สิ่งที่เราเห็นว่าคนนั้นคนนี้มี และหลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นแล้วเผลอคิดไปว่า “เพราะเค้ามีสิ่งนั้น เค้าเลยดีกว่าเรา” มันเป็นเพียงแค่ “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” เท่านั้นเอง


iceberg.018.jpg

ซึ่ง “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่ว่านี้ หมายถึงสิ่งที่เราเห็นลอยพ้นจากน้ำ ซึ่งจะมีเพียงแค่ 10-20% ของภูเขาน้ำแข็งทั้งก้อนเท่านั้น และการที่เราเข้าใจรูปร่างมันผิด และไปประมาทมัน เรือที่ไม่มีวันจมอย่างไทเทนิค ยังอับปางมาแล้วเลย …​. แต่นี่คือสิ่งที่หลายต่อหลายคนอาจจะมองเห็น แต่เพียงเท่านี้ ….

เพิ่มเติมกับบทสัมภาษณ์ผมในกรุงเทพธุรกิจ

ขอเขียนอะไรเพิ่มเติมให้กับบทสัมภาษณ์ผมที่ลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม (วันนี้แหละ) สักนิดหน่อย

Link: “รวิทัต ภู่หลำ” เผยเคล็ด สร้างซอฟต์แวร์ต้องลงมือ “ทำ” (กรุงเทพธุรกิจ)

ก่อนอื่นต้องขอชมคนเขียนเลยครับ ว่าเก่งมากๆ วันนั้นนั่งคุยกันยาวมากถึง 3-4 ชั่วโมง และยังสามารถเขียนลงในพื้นที่เท่าที่เห็นในหนังสือพิมพ์อย่างได้ใจความมากๆ

แต่มีประเด็นสุดท้าย ที่เกี่ยวข้องกับ Silicon Valley ที่ผมคงต้องขอขยายความเพิ่มอีกนิด ว่าทำไมผมถึงต้องพูดถึงมันในการสัมภาษณ์นั้นด้วย

เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ผมขอย้อนกลับไปตอนที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ออกรายการ “แบไต๋” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ว่าจริงๆ แล้วในวงการพัฒนาโปรแกรมที่โตได้และยั่งยืนนั้น มันมีองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 4 อย่าง คือ

  1. Skill ซึ่งถ้าไม่มีแล้วมันก็ทำอะไรได้ไม่ได้ ต่อให้ฝันได้เก่งแค่ไหน เปลี่ยนมันให้เป็นความจริงไม่ได้ ก็เท่านั้น และอย่าคิดว่าไม่เห็นจำเป็นเลย แค่คิดๆ ว่าอยากได้อะไร แล้วก็ไปจ้างคนอื่นทำๆ ก็หมดเรื่อง … ถ้ากรณีแบบนี้จะเกิดเรื่องเพ็ดโด้ๆ ขึ้นมากมาย (คิดว่าต้นตอหลักๆ ของเรื่องการ์ตูนเพ็ดโด้มันมาจากไหนล่ะครับ มันเริ่มต้นมาจากคนที่อยากได้ แต่ประเมินอะไรไม่เป็นเลย ทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย ความยากง่าย ฯลฯ ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยมีคนต้องการจะจ้างผมทำเว็บแบบเฟสบุ๊ค ในเวลา 3 เดือน และราคาแค่ครึ่งแสน มาแล้ว)
  2. Budget ยังไงเราก็ยังต้องกินอะไรบ้าง ต้องมีความเป็นอยู่ที่พออยู่ได้บ้างตามอัตภาพ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องรวย แต่แค่ไม่ต้องจนถึงขนาดอยากจะกินมาม่ารสอื่นนอกจากรสที่มันถูกๆ ยังต้องคิด หรือไม่กล้าเดินเข้าร้านอาหารตามห้าง ทั้งๆ ที่เด็กมหาวิทยาลัยที่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่เดินเข้ากันเยอะแยะ เท่านั้นไม่พอ ค่าหนังสือ ค่า Video Screencast ดีๆ ค่าอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทดสอบโปรแกรม ค่าการ “ขยายทีม” (สำคัญนะครับ … พูดง่ายๆ ก็เงินเดือนเพื่อนร่วมงาน)
  3. Marketing ต่อให้ทำโปรแกรมเจ๋งๆ มาเยอะแค่ไหน โปรแกรมที่คนไม่รู้จัก ก็คือโปรแกรมที่คนไม่ซื้อ ผมพูดถูกมั้ยล่ะ ดังนั้นจะให้คนรู้จักได้ยังไง การทำ Marketing เป็นเรื่องสำคัญ และจริงๆ แล้วมันก็เกี่ยวข้องกับเรื่อง Budget ด้วยน่ะแหละ ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าผมยังว่าจะต้องจ้างทำการตลาดให้กับ App บางตัวของผมบ้างแล้วเลย สิ่งนี้จะส่งผลโดยตรงกับเรื่อง Budget ด้วย
  4. Community (และ Environment) เรื่องนี้ “สำคัญที่สุด” ในบรรดาทั้ง 4 เรื่อง ในการจะทำอะไร “สภาพแวดล้อม” ที่เอื้ออำนวยในการทำสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น พวกลูกหมอ หรือเด็กที่เกิดและโตในโรงพยาบาล จะมีความต้องการเป็นหมอเฉลี่ยแล้วมากกว่าเด็กอื่นๆ เป็นต้น อันนี้ผมพูดได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ว่าสภาพแวดล้อมที่มีการสร้างนวัตกรรมตลอดเวลา เป็น Open & Friendly competition คือ แต่ละคนบอกกันตลอดว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่แต่ละคนทำ มันเสริมกัน มันคล้ายกัน มันต่างกัน อะไรใช้ด้วยกันได้ อะไรที่เปิด source ให้ช่วยกันพัฒนา อะไรที่ ฯลฯ และเมื่อต่างคนต่างทำได้ ต่างคนต่างเรียนรู้ ก็นัดกันมาทำ Conference ปล่อยของ และสร้าง Partnership ใหม่ ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผม “คุ้นเคยมาก ที่ญี่ปุ่น” และเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่เลย ในบ้านเรา

Link: คลิปรายการแบไต๋ ผมออกตั้งแต่นาทีที่ 1:08:00​ โดยประมาณ เป็นต้นไป

บ้านเราสนใจแต่เรื่อง Skill ของคนเป็นหลัก “มากเกินไป” คิดว่าคนเก่ง จะอยู่ได้ สร้างสรรค์งานได้ แต่ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสุดท้าย คือเรื่อง Environment และ Community ซึ่งเมื่อผมพูดถึงคำว่า Community นี่ผมไม่ได้หมายถึง การที่เราแค่รู้จักกัน หรือมีรายชื่อ และมีการพบปะกันนานๆ ครั้ง หรือเกาะกันแบบหลวมๆ แบบบ้านเรา และปกติก็ต่างคนต่างอยู่กันอยู่ดี แต่ผมกำลังพูดถึง Virtual Learning Organization ของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน ใน Environment ที่เอื้อการสร้างสรรค์ แบบ Open & Friendly.

ผมพูดถึง Silicon Valley เพราะมันเป็นตัวอย่างในการมีสิ่งเหล่านี้ครบ ตั้งใจพูดถึงปัจจัยอีก 3 ตัว (เรื่อง Budget จะเป็นเรื่องของ Venture Capital) ว่าบ้านเราขาดอะไรไปบ้าง และคงเป็นความฝันของคนทำงานด้านนี้ ที่จะไปสัมผัส Community & Environment ที่นั่นสักครั้ง …​ เหมือนกับคนทำงานด้านแฟชั่น คงจะไม่ได้อะไร หากจะเป็นแต่คนเก่งอยู่ใน “กรุงเทพเมืองแฟชั่น” (ตั้งใจประชด) แต่ไม่เคยสัมผัสงานในมิลานเลยสักครั้ง อะไรทำนองนี้แหละครับ

ลูกค้าคือพระเจ้า (จากมุมมองของ​ “การศึกษา”)

ได้ยินกันมานาน ได้ยินกันมากมาย ใครๆ ก็พูดกันว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” (ถึงบางคนจะพูดเพี้ยนนิดๆ ว่าลูกข้าคือพระเจ้าก็เถอะนะ) หลายต่อหลายคนชอบนำคำนี้มาอ้างและใช้เป็นประกาศิตเวลาต้องการอะไร ว่าลูกค้าถูกเสมอ ต้องการอะไรต้องทำให้เสมอ ยิ่งในยุคของอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่นปัจจุบัน

เรื่องนี้รู้กันดีอยู่แล้ว แล้วผมจะเขียนทำไม?

ผมอยากจะมองเรื่องนี้ในด้าน “การศึกษา” เท่านั้นครับ ด้านอื่น เรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองมี authority อะไรด้วยเลย ผมขอไม่มองก็แล้วกัน

ผมถามคำถามนี้มานาน ว่า “ถ้า” ข้อความว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ไม่ผิด และใช้ได้กับวงการศึกษา “แล้ว” ลูกค้าของสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย “คือใคร”?

คำตอบที่ต่างกันในจุดนี้ จะทำให้ทุกอย่างต่างกันราวฟ้ากับเหวแน่นอน และผมมีคำตอบให้เลือก 2 คำตอบ คือ

  1. ผู้เข้ามาเรียน หรือผู้ที่กำลังจะเข้ามาเรียน
  2. สังคมที่อยู่รอบตัวสถาบันการศึกษา หรือสังคมที่ใหญ่กว่านั้น เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ประเทศชาติ

แน่นอนว่า ในความเป็นจริง เราต้องคำนึงถึงตัวเลือก 2 ตัวนี้ควบคู่กัน แต่ว่าอะไรล่ะ ที่เป็น “ตัวเลือกหลัก” ที่สำคัญกว่าอีกตัวหนึ่ง?

ถ้าเราเลือกข้อ 1. ซึ่งเป็นมุมมองที่เรียกได้ว่า “มุมมองสาธารณะ” ที่มาจากแนวคิดง่ายๆ ที่เป็นปลายเหตุว่า “ใครจ่ายเงิน คนนั้นคือลูกค้า” แล้วล่ะก็ เราจะมองเห็น “หลักสูตร” (รวมถึงโครงการอบรม หลักสูตรระยะสั้นต่างๆ) เป็นโปรดักท์ และบรรดาผู้เข้าเรียนก็จะจ่ายเงินมาเพื่อซื้อโปรดักท์นั้นๆ และทางผู้สร้างโปรดักท์ (สถาบันการศึกษา) ก็จะ PR โปรดักท์ตัวนี้แบบขายฝันกันไป มีวิชาเป็นสิบเป็นร้อย ที่ใส่ในหลักสูตรเพื่อให้ดูน่าเรียน แต่ไม่มีการเรียนการสอน รวมถึงการสร้างภาพขายฝันว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผ่านหลักสูตรไปแล้ว จะทำงานอะไรได้บ้าง ฯลฯ

ถ้าเราเลือกข้อ 2. จากมุมมองที่ว่า “ใครได้รับประโยชน์/บริการ คนนั้นคือลูกค้า” จะต่างกันมาก เพราะถ้าลูกค้าของสถาบันการศึกษาคือ “สังคม” โดยที่สังคมเป็นผู้จ่ายสิ่งที่แพงกว่าเงิน นั่นคือ ศักยภาพในการพัฒนาโดยรวมของสังคมและสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก แล้วล่ะก็โปรดักท์ของสถาบันการศึกษาก็คือ คนที่สร้างขึ้นมา งานวิชาการ งานต้นแบบ งานวิจัย งานให้คำปรึกษา ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมา และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในสังคม (ไม่ใช่แค่ทำเอาผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ที่ชอบมีการวัดผล) ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าจะการพูดถึงแนวคิดลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถูกสื่อสารอย่างชัดเจน และไม่ใช่มุมมองที่แชร์ร่วมกันในหลายสถาบันการศึกษา และผู้เข้ารับการศึกษาแน่นอน

แต่ถ้าเราเลือกข้อ 2. แล้ว “ผู้ที่จ่ายเงินเข้ามาเรียน” ล่ะ? ไม่ใช่ลูกค้ากระนั้นหรือ?

อันที่จริงแล้ว มันมีคนอีกจำพวกหนึ่งครับ ที่ต้องจ่ายเงินเหมือนกัน นั่นคือ “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้ประกอบการ” ที่ต้องจ่ายเงินให้กับต้นทุนในการสร้างโปรดักท์ เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากลงทุนแล้ว ยังต้องลงแรง ทางแรงกายแรงใจแรงสมอง ในการสร้างโปรดักท์จริงๆ อีกด้วย (ลงทุนอย่างเดียว สร้างไม่ได้) แล้วในกรณีนี้ ผมอยากมองว่า ผู้เข้ารับการศึกษานั้น “จ่ายเงิน” เพื่อ “ลงทุน” และต้องลงแรงทั้งหลายทั้งปวง อัดหลับอดนอนศึกษา ทดลองทำงานทดลองสร้างสารพัด ในการ “สร้างตัวเอง ให้เป็นโปรดักท์” ครับ เป็นโปรดักท์เพื่ออะไร เพื่อช่วยกันตอบโจทย์ข้อ 2. น่ะแหละ เพื่อสังคมรอบตัว เพื่ออุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้สังคมเล็กๆ รอบตัวนั้นๆ หรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ช่วยกันสร้างประเทศชาติต่อไป

ทุกวันนี้ ในวันที่การศึกษากลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว ผู้เข้ามาเรียน (สังเกตว่าตั้งแต่ต้น ผมใช้คำนี้ แทนคำว่า “นักเรียน” หรือ “นักศึกษา”) มีทัศนคติว่าตัวเองเป็น “ลูกค้า” มากขึ้นทุกวัน เพราะว่าพวกเขาคือผู้จ่ายเงิน จ่ายแล้วต้องได้อย่างที่ตัวเองอยากจะได้ จ่ายแล้วจะเรียกร้องเอาอะไรก็ได้ ด้วยความที่ว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”

แต่น้อยคนนักที่จะมองว่าตัวเองเป็นผู้สร้าง เป็นนักลงทุน เป็นผู้ประกอบการ และต้องลงแรงอีกมากมาย สร้างตัวเองให้เป็นโปรดักท์ เพื่อให้ผู้รับประโยชน์ หรือ “ลูกค้า” ของตัวเอง ซึ่งก็คือ “สังคม” ได้อะไรบ้าง ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ….. ครับ “ลูกค้าคือพระเจ้า” เช่นเดียวกัน แต่สำหรับผม อะไรก็ตามที่เป็น “การศึกษา” ลูกค้า ไม่ใช่ผู้เข้าเรียน ผู้เข้ารับการอบรม คนซื้อหนังสือ ฯลฯ ที่จ่ายเงินผมครับ

ไม่ผิดครับ “ลูกค้าคือพระเจ้า”

ป.ล. คงได้มีโอกาสเขียนเรื่อง Consumer & Creator หรือ “ผู้เสพ & ผู้สร้าง” ที่ผมพูดถึงบ่อยๆ ในทุกการบรรยาย ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือบรรยายสาธารณะ และเขียนถึงในบางส่วนใน Facebook ในโอกาสถัดไป

Prisoner’s Dilemma

ทางสองแพร่งของนักโทษ หรือ Prisoner’s Dilemma เป็นทฤษฎีหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษตั้งแต่อ่านครั้งแรกๆ ในหนังสือพวก Mathematical Models in Economics เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรี และยิ่งเห็นโลกมากขึ้น ผมยิ่งชอบที่จะตีความมันมากขึ้น จนถึงวันนี้กลายเป็นปรัชญาชีวิตตัวหนึ่งที่ผมนึกถึงเสมอเวลาทำอะไรก็ตาม

เรื่องมันมีอยู่ง่ายๆ ว่า คนสองคน ไปลักเล็กขโมยน้อยของจากร้านค้าเล็กๆ แล้วก็ถูกแยกสอบสวน ซึ่งตำรวจก็ถามทั้งสองคน (แยกกันถาม) ว่าอีกคนมีความผิดหรือไม่ ถ้าสารภาพ (ด้วยการบอกว่าเพื่อนผิดจริง และยินดีเป็นพยานให้) ก็จะปล่อยให้พ้นผิด นักโทษทั้งสองคนก็จะมีตัวเลือกเหมือนๆ กันคือ จะเงียบ หรือว่าจะบอก

ผลลัพธ์: ถ้าทั้งสองคนต่างเห็นแก่เพื่อน เงียบทั้งคู่ ก็จะโดนขังกันไปคนละ 1 เดือน ถ้าทั้งสองคนต่างก็เห็นแก่ตัวเอง บอกทั้งคู่ ก็โดนกันไปคนละ 3 เดือน แต่ถ้ามีคนหนึ่งพูด อีกคนไม่พูด (คนหนึ่งเห็นแก่เพื่อน อีกคนเห็นแก่ตัว) คนที่พูดจะได้เป็นอิสระ แต่คนที่เงียบจะโดน 12 เดือน

ลองเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นรูปแบบของการได้คะแนน แทนการเข้าคุก เราจะได้ตารางแบบนี้


prisonerdilemma.png

โดยมีคนสองคน P1 และ P2 แต่ละคนมีทางเลือกคือ “Cooperate” (ร่วมมือกัน) หรือ “Defect” (หักหลังกัน) … ซึ่งแม้ตามตำราจะใช้คำนี้ แต่นับวันผมยิ่งมีความรู้สึกว่ามันคือ “เพื่อคนอื่น” (เห็นแก่คนอื่น) และ “เพื่อตัวเอง” (เห็นแก่ตัว) มากกว่า แต่ผมขอใช้ตัวย่อตัวเดิม คือ C และ D ตามลำดับ

ถ้าทั้ง 2 คนต่างคิดเพื่ออีกฝ่าย จะได้คนละ 3 คะแนน รวมแล้ว 6 คะแนน ถ้าคนหนึ่งเห็นแก่ตัว ฝ่ายเห็นแก่ตัวจะได้ 5 และอีกฝ่ายจะไม่ได้อะไรเลย 0 รวมแล้ว 5 คะแนน แต่ถ้าเห็นแก่ตัวทั้งคู่ (จะเอาทั้งคู่) ก็จะได้คนละ 1 คะแนน รวมแล้ว 2 คะแนน

เรื่องที่น่าสนใจคือ

  • ถ้าเราจะต้องตัดสินใจเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด เราจะเลือก D หรือทางเลือกแบบเห็นแก่ตัว เสมอ เพราะว่าคะแนนที่เรามีโอกาสได้คือ 5, 1 (Max: 5, Min:1) ในขณะที่ถ้าเราคิดเผื่ออีกฝ่าย จะได้ 3, 0 (Max: 3, Min 0)
  • แต่ถ้าเรามองทั้งระบบเป็นหลัก เราจะเห็นว่าทางเลือกแบบเห็นแก่ตัว ที่ทำให้เราได้คะแนนส่วนตัวสูงสุดที่เป็นไปได้ มันจะทำให้ระบบมีโอกาสได้คะแนน Max: 5, Min: 2 แต่ถ้าเรายอมเสียประโยชน์ส่วนตัว จะได้ Max: 6, Min: 5
  • ถ้าทุกคนคิดเพื่อคนอื่น ทุกคนจะได้มากกว่าที่คิดเห็นแก่ตัว (คนละ 3 vs. คนละ 1) และระบบได้สูงสุด (6)
  • ถ้าทุกคนคิดเห็นแก่ตัวกันหมด แต่ละคนจะได้น้อยกว่าที่ตัวเองหวังไว้ (หวัง 5 vs. ได้ 1) และระบบแทบจะไปไม่ได้ (2)

ตัวอย่างที่เห็นกันเกลื่อนกลาด ก็เช่นเรื่องตั้งงบประมาณ เรื่องขออัตรากำลังคน เรื่องขอทุนวิจัย เรื่องขอเปิดหลักสูตร เรื่อง ฯลฯ ที่มีหลักคิดจากการ Maximize by Part ของตัวเอง ว่าถ้าฉันมีนี่นั่นโน่น แล้วจะทำหน้าที่ตัวเองได้ดีที่สุด แล้วเมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ก็ต้องมานั่งเกลี่ยกันตรงกลาง หารกันไป ถัวกันไป ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้แบบเบี้่ยหัวแตก น้อยกว่าที่ตัวเองคาดหวังและอยากได้ และทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายระบบแย่ที่สุด

อีกตัวอย่างที่ผมชอบมาก คือ “การจราจร” ที่ถ้าแต่ละคนเห็นแก่ตัว ฉันต้องได้ไปก่อน ฉันต้องได้ไปเร็วที่สุด ฉันไม่ต้องดูรถคันอื่น คนอื่นต้องระวังอย่าชนฉัน หรือเลนของฉันจะให้หรือไม่ก็ได้ ฯลฯ พวกนี้ จะทำให้เกิดถนนที่แย่มากๆ ขึ้นมา การจราจรจะติดขัดล่าช้าไปเสียหมด แต่ละคนจะได้ไปช้ากว่าที่ตัวเองอยากจะไป แต่ถ้าขับรถเพื่อคนอื่น เช่น ใครขอเลนเราให้ ใครขับเร็วกว่าเรา เราหลบให้ ฯลฯ ทุกคนจะได้ไปเร็วกว่าที่ตัวเองคิด นั่นคือ ถนนทั้งเส้นได้มากที่สุด

ผมขอจบ Entry นี้ ด้วย Statement ที่ว่า

ระบบที่ห่วยที่แย่ที่สุด บางครั้งมันเกิดจากการที่แต่ละคนแต่ละส่วน พยายามทำดีที่สุด “เพื่อตัวเอง”

(โดยบางครั้ง การทำเพื่อตัวเองนั้นๆ อาจไม่ได้มาจากเจตนาที่เลวร้าย เพียงแต่เห็นประโยชน์ตัวเองเป็นหลักก่อน ก็เท่านั้น)

ดังนั้น เพื่อสังคมที่ดีขึ้นเล็กน้อย มันไม่ต้องเริ่มจากใครหรอกครับ เริ่มจากตัวเราเองนี่แหละ เริ่มคิดเพื่อคนอื่น (แต่ไม่ใช่คิดแทนคนอื่น) สักนิด ทำเพื่อคนอื่น (แต่ไม่ใช่ทำแทนคนอื่น เช่นกัน — ผมเห็นไอ้สองกรณีที่ผมขีดเส้นใต้ไว้เยอะจนเบื่อมาก) แล้วทุกคนจะได้มากกว่าที่ตัวเองคิดไว้ครับ

[update 1:] เพิ่มเติมอีก Statement หนึ่ง

The Whole is greater than sum of its Parts

จะเขียนถึงเรื่องนี้เต็มๆ ในโอกาสหน้าครับ ตอนนี้เอาแค่ว่า ระบบทั้งระบบ เป็นอะไรที่มากกว่าการรวมกันของแต่ละองค์ประกอบ ดังนั้น ความต้องการ (อย่างเห็นแก่ตัว) ของแต่ละคนรวมๆ กัน ไม่ใช่ความต้องการของระบบ (หรือเพื่อระบบ) ครับ

iOS หรือ Android?

เร็วๆ นี้ผมไปบรรยายเรื่อง Mobile Application Development ให้กับแลบ MSCIM ซึ่งก็มีคำถามน่าสนใจ ว่าจะทำบน iOS หรือ Android ดี

ส่วนหนึ่งก็มาจากความเห็นส่วนตัวของผมเอง ว่าอย่าไปสนใจข้อมูลเชิงการตลาด หรือสถิติทั้งหลาย ว่าใครขายดีกว่ากัน แพลตฟอร์มไหนโตเร็วกว่ากัน มากมายนัก อย่าไปสนใจ commom sense เบื้องต้นจะบอกให้เราพัฒนาโปรแกรมสำหรับแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากกว่า แต่ให้คิดพัฒนาบนแพลตฟอร์มที่เราเป็นผู้ใช้ซะเอง นั่นคือ ถ้าเรายังไม่มี ก็เริ่มต้นด้วยการให้เรามีก่อน หรือว่าหาทางทำให้ตัวเองเป็น user ก่อน

มันก็เลยมีคำถามน่าสนใจตามมาว่า “งั้นจะซื้อ iOS หรือ Android แพลตฟอร์มดี?” เพื่อให้ตัวเองได้เริ่มต้นเป็น “ผู้ใช้” และ “เพื่อทำความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนา app ต่อ” ได้

ผมมีข้อคิดแบบนี้ก็แล้วกัน

  • เขียน app ลง iOS จริงๆ มันต้องทำบน Mac ด้วย ดังนั้นถ้าไม่มี Mac หรือไม่ได้วางแผนจะซื้อ Mac ภาษีสำหรับการคิดจะซื้อ iOS แพลตฟอร์มมาเพื่อพัฒนาโปรแกรม ก็ลดน้อยลงไปด้วย (แต่ใช้ VMWare ก็ได้นะ แต่ผมเองก็ไม่เคยใช้ Xcode บน OS X บน VMWare สำหรับการพัฒนาลงเครื่องเหมือนกัน)
  • เช่นเดียวกัน (แต่ตรงกันข้าม) เท่าที่ผมทราบนะ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับพัฒนา Android บน Mac มันค่อนข้างจะสู้แพลตฟอร์มอื่น (เช่น Windows) ไม่ได้นะ
  • จะเอา app ลงเครื่องจริง สำหรับ iOS ต้องเสียตังค์ $99 ให้กับ Apple นะ นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีคอร์สสอน iOS Development และ register กับ Apple (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ก็จะให้ น.ศ. เอา app ลงเครื่องได้ แต่ขายไม่ได้ ถ้าจะขาย ก็ต้องเสียเงินเอง
  • ผมไม่มีข้อมูลเรื่องนี้สำหรับ Android
  • iOS vs Android ถ้ามองในมุมมองนักพัฒนาแล้ว มันมีข้อดีข้อเสียต่างกันนะ ในแง่ของ Hardware Diversity แล้ว iOS เหนือกว่าเยอะ เพราะว่ามันแทบไม่มี diversity … ซึ่งสำหรับนักพัฒนาที่ต้องเขียนโปรแกรม support อะไรต่ออะไรแล้ว diversity เยอะเป็นเรื่องไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ แค่ iPhone 3Gs กับ iPhone 4 ที่มีความละเอียดหน้าจอต่างกัน ต้องเตรียมภาพ 2 resolution ไหนละจะ iPad อีก แค่นี้ก็รำคาญแย่แล้ว
  • แต่สุดท้าย มันต้องเริ่มด้วยการเป็น “ผู้ใช้” ก่อน แล้วจะเริ่มจากการใช้อะไรดี?
  • ข้อแนะนำง่ายๆ คือ หน้าด้านไปยืนเล่นเรื่อยๆ ว่าชอบอะไรมากกว่ากัน ต่อให้มันดีแค่ไหน ถ้าใช้แล้วไม่ชอบ มันก็แค่นั้นแหละ ความชอบมันวัดแทนกันไม่ได้เสียด้วยสิ ไปยืนเล่นเลย ถ้าร้านเริ่มมองหน้า ก็เปลี่ยนร้าน
  • ลองใช้โปรแกรมพื้นฐานทั้งหลายทั้งแหล่ โทรเข้าโทรออกทำไง ดูปฏิทินทำไง เล่นเน็ตทำไง download โปรแกรมเพิ่มทำไง พอใจความเร็วมั้ย ฯลฯ เอาแค่นี้แหละ ลองสัก 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะรู้แล้ว ว่าชอบอะไร
  • อย่าลืมเรื่อง form factor ด้วยนะ เอาให้เหมาะมือ เอาให้ถือสบาย เพราะว่ายังไงเราก็ต้อง “ถือ” มันเวลาใช้งาน หยิบขึ้นมา ถือไว้นิ่งๆ สัก 5 นาทีเป็นอย่างน้อย ถ้ารำคาญ ก็ไม่ต้องเอา จากนั้นลองเอานิ้วโป้งลูบให้ทั่วหน้าจอ ถ้ามีส่วนไหนลูบไม่ถึง หรือว่าฝืนมือ ก็ไม่ต้องเอา เพราะว่านี่คือการใช้งานพื้นฐาน ว่างั้น
  • อย่าลืมคิดถึงเรื่องคุณภาพของ app ไว้ด้วยนะ จิตใต้สำนึกของผมมันบอกว่า iOS app บน AppStore จะมีคุณภาพ “โดยเฉลี่ย” และมีความ consistency ในเรื่องการใช้งานมากกว่า Android app บน Market ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความเปิด” ของการให้นำ app ขึ้น store ดังนั้นมองจากมุมของ “คนที่ต้องเรียนรู้ลักษณะของ app” (ย้ำนะ จากมุมนี้เท่านั้น ไม่ใช่จากมุมมองของ consumer ทั่วไป) แล้ว iOS มีภาษีดีกว่ามาก
  • อย่ารอรุ่นใหม่มากนัก เพราะว่าต้องรอต่อไปเรื่อยๆ เล่นก่อนก็ได้เรียนรู้ก่อน

ประมาณนี้แหละ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

ป.ล. บรรยายโคตรสนุก สนุกมากๆ

Update 1: ที่สำคัญนะครับ อย่ามัวแต่เถียงกัน หรือก่อสงครามว่าอะไรดีกว่ากัน มือถือที่ดีที่สุด คือมือถือที่เราชอบที่สุด ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อย่าเอา spec มาเถียงกัน อย่าฉะกันว่าไอ้นั่นไม่มีนี่ ไอ้นี่ไม่มีนั่น ตัวเองคิดว่าอะไรดี ก็ไม่ต้องไปบอกให้คนที่ไม่เห็นด้วยเขาเห็นด้วย ถึงจะเถียงชนะ คุณก็ไม่ได้เงินหรือว่าเครดิตอะไรจากทั้ง Apple ทั้ง Google อยู่ดี ทำประโยชน์อะไรให้ชาวโลกก็ไม่ได้ เสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาทำแบบนั้น ไปนั่งหัดเล่น หัดเขียน app ดีกว่า อาจจะได้เงินใช้บ้าง ได้ทำประโยชน์จริงๆ ให้คนที่อยากใช้ app เราบ้าง

แปลหนังสือ/เขียนหนังสือ

ตอนนี้มีงานหนึ่งที่ผมกำลังทำอยู่ และไม่เสร็จง่ายๆ ก็คืองานบรรณาธิการหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ที่จริงๆ แล้วก็ล่าช้ากว่ากำหนดมาพักหนึ่งแล้ว ก็บอกตามตรงว่า งานนี้ยากกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกมากเลยทีเดียว และได้คติที่อยากจะเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ เผื่อจะมีประโยชน์กับนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการ/สำนักพิมพ์ ในอนาตต

ด้วยจรรยาบรรณ ผมขอสงวนชื่อทั้งหมด ทั้งหนังสือ ผู้แปล และสำนักพิมพ์เอาไว้นะครับ

ผมพบว่าผู้แปลหนังสือ “แปลไม่รู้เรื่อง” เป็นอย่างมาก ซึ่งขอสรุปเป็นเรื่องๆ อย่างคร่าวๆ ดังนี้

  • ใช้ภาษายากเกินความจำเป็นมาก หนังสือต้นฉบับเขียนด้วยภาษาอังกฤษพื้นๆ พื้นมากๆ เรียกได้ว่าเหมือนกับภาษาพูดธรรมดา แต่ว่าทำไมเวลาแปลแล้ว กลายเป็นภาษาไทยที่ไม่ธรรมดามาก ต้องปีนบันไดอ่าน ขึ้นไปสามสี่ชั้นก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง (แล้วจะปีนทำบ้าอะไร) ต้องแปลไทยเป็นไทย เรียบเรียงใหม่ในหัวตั้งหลายต่อหลายครั้ง
  • อิงกับตัวหนังสือ/ตัวอักษรมากไป จนสื่อเจตนา “ผิด” จากภาษาอังกฤษอย่างมาก แบบไม่น่าให้อภัย ถ้าดูทีละคำในประโยคว่าแปลว่าอะไร ก็อาจจะแปลถูกต้อง แต่ว่าถ้าดูพร้อมกันทั้งประโยค และยิ่งทั้งย่อหน้า ทั้งหน้า จะเห็นได้ว่าผิดแบบชัดเจน
  • เน้นภาษาสวย (อีกครั้ง) แต่อ่านแล้วไม่อินเลย ส่อให้เห็นชัดเจนว่าผู้แปลเป็นนักภาษา แต่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความชำนาญอะไรเลยในเรื่องที่เค้ากำลังแปลอยู่ (พูดง่ายๆ ว่าไม่มี Domain Knowledge ในเรื่องนั้นๆ เลย)
  • โครงสร้างทุกอย่างที่ออกมา เป็น “ภาษาอังกฤษ” มากกว่าเป็นภาษาไทย มันขัดธรรมชาติของภาษาเรา ผิดจริตหลายอย่างมาก (แต่ว่าถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเข้าท่ากว่า) เช่น มีการใช้ “-” แสดงประโยคขยาย/เสริม ในระหว่างประโยค ซึ่งภาษาเราไม่ใช้กัน เป็นต้น

สิ่งที่ผมอยากจะฝาก อยากจะเขียนถึง ไม่ใช่การด่าว่าใคร แต่อยากจะเอาความจริงที่ตัวเองพบมา ทั้งจากประสบการณ์เขียน แปล และบรรณาธิการหลายต่อหลายอย่าง ฝากให้คนที่มาอ่าน Blog ผมดังนี้

  • งานแปลหนังสือ จริงๆ แล้วมันคือ “งานเขียนหนังสือ” โดยอาศัยเค้าโครง โครงสร้าง การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง จากหนังสือเล่มอื่นที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเอง
  • ดังนั้นมันจะดีกว่า ถ้าเราคิดว่า ก่อนอื่น เราต้องการคนแปลหนังสือ แบบเดียวกับที่เราต้องการคนเขียนหนังสือ นั่นคือ ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่เป็นคนที่มี Domain Knowledge ในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้ดีเป็นหลัก และพอจะอ่านภาษาต่างประเทศ (ภาษาต้นทาง) ออก เท่านั้นเอง
  • ทำไมน่ะหรือ เพราะว่าการแปลที่ดี ไม่ใช่แปลตัวอักษรออกมาให้ครบทุกตัว ทุกคำพูด ทุกบรรทัด ให้เหมือนต้นฉบับทุกวรรคทุกตอน แต่ว่าต้องเป็นการสื่อสาร “วิญญาณ” ของมันออกมาในอีกภาษาหนึ่งต่างหาก ดังนั้นหากผู้แปลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อะไรเลย พูดง่ายๆ ว่า “ไม่อิน” กับเรื่องที่ตัวเองแปล มันจะออกมาแย่มาก เพราะว่านักภาษาหลายคน (จากประสบการณ์ที่พบ) มีแนวโน้มจะแต่งภาษาให้สละสลวย มากกว่าสื่อวิญญาณของมันให้ได้อย่างดิบๆ ตรงไปตรงมา
  • อย่าคิดว่า “ก็ให้นักภาษาแปลก่อน จะได้แปลถูกหลักภาษา แล้วค่อยให้คนมี Domain Knowledge แก้ไขทีหลัง” ให้คิดกลับกันว่า “ให้คนมี Domain Knowledge เขียนจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศก่อน แล้วค่อยให้นักภาษาเกลาทีหลัง” จะดีกว่ามาก

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ยังคงใช้ได้เสมอกับกรณีเช่นนี้ หลายคนกลัวกับการ “เสียคำบางคำ” หรือว่า “เสียความถูกต้องของประโยคบางประโยค” ไป ก็จะพยายามมากมายก่ายกอง เพื่อรักษาตรงนี้เอาไว้ แต่ว่าลงเอยด้วยหนังสือทั้งเล่มที่มันอ่านไม่รู้เรื่อง ผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้แต่งหนังสือ ไม่สามารถสื่อวิญญาณของมันออกมาได้ … และที่สำคัญ เมื่อมองไม่ภาพรวม ภาษาที่แปลถูกต้องเป็นคำๆ นั้น รวมกันแล้วอาจไม่ใช่เนื้อความที่ถูกต้องก็ได้

ปิดท้ายละกัน ผมเจอประโยคนี้ “It takes all you’ve got to keep safe” …. ซึ่งในบริบทของเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น มันหมายถึงว่า “เราต้องทำทุกวิถีทางให้รอดจากอันตรายทั้งหลายแหล่” ….​ ดันไปแปลว่า “มันจะเอาทุกอย่างที่เราได้มา ไปเก็บไว้ในตู้เซฟ”

สุดตรีนมากครัฟ

The Flying Ducthman

ในหนังเรื่อง Pirates of Caribbean มีเรือลำหนึ่งที่ผมชอบมาก ยิ่งกว่า The Black Pearl นั่นคือ The Flying Dutchman ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผมเคยได้ยินตำนานของเรือลำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

ยอมรับว่าในตอนแรกที่ผมดูเรื่องนี้ ผมไม่ได้คิดอะไรมากเลย กับการออกแบบ The Flying Ducthman และลูกเรือ ออกจะผิดหวังเสียด้วยซ้ำ ที่ออกแบบมาเป็นสัตว์ประหลาดที่ผสมคนกับสัตว์ทะเล มากกว่าที่จะเป็น “เรือผี” แบบ The Black Pearl ในภาคแรก (อาจจะด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าไม่อยากจะออกแบบซ้ำ)

แต่ว่ายิ่งเวลาผ่านไป ผมมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ใหม่ทั้งสามภาคแบบรวดเดียวอีกรอบ และมีโอกาสนั่งคิดอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก จากการทำงานบริหารหน่วยงานราชการ (ศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากร) มาสองปีเต็มๆ …. ก็เห็นอะไรบางอย่าง ที่ “เฮ้ย เจ๋งว่ะ”

  • ก่อนอื่นขอเล่าว่า ผมมักจะเปรียบเทียบการทำงาน กับการเดินเรือในมหาสมุทรอยู่แล้ว
  • เรือทุกลำที่เดินทางในมหาสมุทร ย่อมต้องมีเป้าหมาย ไม่เช่นนั้นจะหลงทาง เรือหลายลำมีเป้าหมายที่เรียบง่าย เช่น เดินทางจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง และ Flying Dutchman ก็เช่นเดียวกัน
  • Flying Dutchman เป็นเรือที่ “เคย” มีเป้าหมาย และเป้าหมายที่ว่านั้น คือ การส่งวิญญาณจากภพหนึ่ง ไปยังอีกภพหนึ่ง
  • แต่สิ่งที่เราเห็นในภาพยนต์นั้น Flying Dutchman คือ “องค์กรที่ไร้เป้าหมาย” ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุผลอะไรก็แล้วแต่
  • ทีนี้พอเป็นองค์กรไร้เป้าหมาย ผลเป็นอย่างไร ผลคือ “การเสื่อมสลายขององค์กร” องค์กรที่ไม่ได้รับการดูแล เหลียวแล มีสภาพกลืนไปกับสภาพแวดล้อมอะไรก็ได้ที่มันเป็นอยู่ กลายเป็นแหล่งหา “ผลประโยชน์” ของลูกเรือในองค์กร ที่อ้างองค์กรเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง กลายเป็นแหล่งพักพิง “ถาวร” ของบรรดาลูกเรือ
  • การล่าผลประโยชน์ในคราบขององค์กรมันช่างน่าสะพรึงกลัวนัก หลายคนอยู่ไปนานๆ เข้า ก็ปรับตัว “ฝัง” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ไร้เป้าหมาย ล่องลอยอยู่ในทะเลเรื่อยๆ ลืมตัวตนของตัวเอง ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใคร ตัวเองเคยอยากทำอะไร ตัวเองต้องการอะไร ตัวเอง ฯลฯ อะไร จนวันหนึ่งความเป็นตัวเองก็สูญสิ้นไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาผลประโยชน์ในคราบของ “องค์กร” อย่างสนิท
  • อย่างหนึ่งที่ผมโคตรชอบเลยว่ะ ก็คือ Flying Dutchman ไม่สามารถเทียบฝั่งได้ ถ้าโดยทั่วไปแล้ว เรามักเทียบฝั่งเป็นเป้าหมาย และการ “ถึงฝั่ง” คือ การไปถึงเป้าหมาย ก็จะพบว่า องค์กรแบบ Flying Dutchman รวมถึงคนในองค์กร ไม่มีวันนั้นแน่นอน
  • การเปลี่ยนกัปตันเรือ (= การเปลี่ยนผู้บริหาร) อาจจะนำมาซึ่ง “เป้าหมาย” ให้กับองค์กร (เหมือนที่ลูกเรือคนหนึ่งบอกว่า “เรือลำนี้มีเป้าหมายอีกครั้ง”)
  • ซึ่งเมื่อองค์กรมีเป้าหมาย เราอาจจะได้เห็นความเป็นตัวเองของลูกเรือแต่ละคนอีกครั้ง เป็นลูกเรือที่ช่วยกันเพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย (และตัวเองก็ไปถึงเป้าหมายร่วมกับองค์กร) โดยยังคงเป็นตัวเองอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับสมัยที่ยังไร้เป้าหมาย ที่ “เหมือนจะทำงาน” แต่ว่าไปไม่ถึงไหน หาประโยชน์อะไรบางอย่างไปวันๆ
  • แต่ว่าไอ้พวกองค์กรไร้เป้าหมายพวกนี้อ่ะนะ ว่าไป ก็ชอบเป็นมาเฟียน่านน้ำ ใช่มั้ยล่ะ ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่ เป็นที่หวาดกลัวของบรรดานักเดินเรือที่มีเป้าหมายทั้งหลาย

ตัดกลับมาที่องค์กรของเราๆ ทั้งหลายนะครับ ลองถามเล่นๆ ว่า “องค์กรของเรามีเป้าหมายหรือเปล่า” ไม่ใช่เป้าหมายเชิงผลประโยชน์ หรือว่าการหาผลประโยชน์นะครับ ไอ้พวกนั้นเซ็ตง่าย และถ้าเซ็ตเป็นเป้าหมายหลักเมื่อไหร่ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Flying Ducthman ตั้งแต่ต้น (คือเป็นเรือที่เกิดมาเป็น Flying Dutchman เลย)

หากองค์กรของเรามีเป้าหมายไม่ชัดเจน วัดไม่ได้ว่าไปถึงไหนหรือเปล่า เราสังเกตดีๆ ว่ามันจะเป็นเหมือนกับ Flying Dutchman น่ะแหละ คือเป็นแหล่งรวมคนที่ต้องการประโยชน์ในคราบองค์กร ที่อาศัยองค์กรเป็นแหล่งฝังตัวอย่างเหนียวแน่น สับสนระหว่างผลประโยชน์ตัวเอง พวกตัวเอง และผลประโยชน์ขององค์กร ฯลฯ

อย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ในองค์กรหลายองค์กร มีการพูดถึง “หน้าที่” ก่อน “เป้าหมาย” ซึ่งผมบอกได้เลยว่า “งี่เง่า” ครับ บนเรือ Flying Dutchman มีลูกเรือทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย แต่พาองค์กรไปไหนกัน? เพราะว่า Flying Dutchman ในฐานะขององค์กรมันไม่ได้มีเป้าหมายอะไร (ใน timeline ของหนัง) พูดอีกแบบคือ มันกลายเป็นเครื่องมือในการทำอะไรก็ไม่รู้ของใครบางคน (หรือของกลุ่มบุคคล) ผิดวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ตั้งมาตั้งแต่ต้น

ในองค์กรที่มีแต่ “หน้าที่” แต่ไม่มี “เป้าหมาย” ความอันตรายของมันก็คือ ทุกคนจะคิดว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” แต่ว่ามันอาจจะ pointless ไม่ได้พาอะไรไปไหนเลย ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากภาพลวงตาว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” อย่างหนักหนา ตาม “หน้าที่” ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ที่น่ากลัวคือ หลายองค์กรมี “หน้าที่” แต่กลับไม่มี “เป้าหมาย” จริงจัง มีเพียง “เป้าหมาย” ที่ลอยไปลอยมา เอาไว้พูดติดปากให้เท่ๆ เก๋ไก๋ เวลามีใครถามเท่านั้นเอง .. ก็มักจะลงเอยด้วยการอ้าง “หน้าที่” นั้นแหละ มาทำลายความเจริญหรือความคืบหน้าอันควรจะเป็น “เป้าหมาย” ขององค์กรตามที่มันถูกตั้งมาแต่ต้น อย่างแน่เสียดาย

update 1 : มีอะไรเพิ่มเติมนิดหน่อย … สังเกตมั้ยว่ากัปตันเรือจะต้องเริ่มด้วย “ให้หัวใจกับเรือ” … ครับ ถ้าไม่สามารถให้ “ใจ” กับองค์กรได้แล้ว อย่าริไปเป็นกัปตันเรือลำไหนเด็ดขาด มีเวิร์กหรอก

Tron Legacy

เพิ่งออกจากโรงหนังหมาดๆ เลย กับเรื่องที่หลายคนรอมานาน และผมกะว่าจะดัดนิสัยตัวเอง ให้กลับมาเป็น “พอดูหนังจบ ก็ blog ทันที” อีกครั้ง เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ก็เลยเขียนซะหน่อย

เรื่อง Tron ภาคแรก เป็นหนังที่ผมชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมดูเรื่องนี้มานานพอดูแล้ว (ประมาณ 10 ปี) แต่ว่าผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนักกับภาคนี้ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น

  1. ผมยังไม่เคยชอบหนังแนว Remake หรือว่าภาคต่อ ที่ขาดหายไปจากภาคก่อนๆ นานสักเรื่อง (Star Wars ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ผมเคยเขียน Review EP1 ไว้แบบเสียหายมากมาย แต่ว่า EP2, EP3 นี่ผมถือว่ามันเป็นภาคต่อจาก EP1 นะ)
  2. Plot เรื่อง ที่ต่อให้วางต่อจากภาคเก่ายังไง ก็เดากันได้หมด ยิ่งดู Trailer ด้วยแล้ว ยิ่งเดาได้ไม่ยากเลย ไม่พ้นพวก Artificial Life แหงๆ … ยิ่งถ้าเคยดู The Matrix, 13th Floor ด้วยแล้วนี่ ยิ่งเดาโคตรไม่ยาก ว่ามันไม่มีอะไรแหวกแนวไปจากนี้แน่นอน
  3. จุดขายอย่างหนึ่งของภาคเก่า คือ Visual ทั้งหลายแหล่ แต่ว่าภาคนี้จะทำให้มัน Revolution ขนาดภาคเก่า เทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ในตลาดหรืออุตสาหกรรมตอนนี้ บอกได้เลยว่า “ยากส์”
  4. เพืิ่อนสนิทมิตรสหาย คอเดียวกันทั้งหลาย ไม่ค่อยจะชอบเท่าไหร่

แต่ว่าผมกลับเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึก “ผมชอบมันว่ะ” ทำไมน่ะเหรอ

อาจจะเป็นเพราะผมโตขึ้น (แก่ขึ้น) มั้ง เลยเห็นอะไรต่างๆ ไปเยอะ ยิ่งมีความคาดหวังแบบ 4 ข้อด้านบนด้วยแล้ว ยิ่งไม่ได้คิดจะดูเพื่ออรรถรสแบบดูหนัง คือ ดู Visual ดูเนื้อเรื่องให้สนุกตื่นเต้น/อินไปกับเนื้อเรื่อง/รอเซอร์ไพรส์แบบหักหลังคนดู/ฯลฯ ดูการแสดง อะไรพวกนี้ แต่ว่าผมเข้าไปดูเพื่อหา “Hidden Message” หรือว่าข้อความซ่อนเร้นต่างๆ ที่ผมสามารถตีความได้ (โดยผู้สร้างหนังจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) จะสังเกตว่าพักหลังๆ ผมรีวิวหนังออกแนวตีความเยอะมาก ตั้งแต่ Spider Man, X-Men แล้ว (ที่ยังไม่ได้เขียน แต่เล่าให้น้องๆ ที่ทำงานด้วยฟัง มีอีกเยอะ) ที่ไปออก MCOT.NET เรื่อง Avatar ก็เช่นกัน

แล้วเรื่องนี้มันเป็นยังไง? … เอาเป็นข้อๆ เลยละกันนะ อ่านง่ายดี มีไม่เยอะหรอก แต่ “แรง” … และสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดู อาจจะมี Spoiler นะ แต่ไม่ตั้งใจจะ Spoil หรอก ถ้ากลัวก็หยุดอ่านมันซะตรงนี้ละกัน

  • ในภาพใหญ่ที่สุด นี่เป็นเรื่องของ Digital World และ Physical World โดยสิ่งที่อยู่ในโลก Digital นั้น เป็น “โปรแกรม” ทั้งหมด
  • เราต้อง “โหลด” ตัวเองเข้าสู่โลก Digital … แล้วเราโหลดอะไร? เราโหลด Data ของเรา ความทรงจำของเรา เรื่องราวต่างๆ ของเรา เข้าไปในโลก Digital เรื่องนี้สังเกตได้จาก Symbol หลักของเรื่องเลย ว่าเมื่อพระเอก (Sam) เข้าไปในโลก Digital แล้ว สิ่งแรกที่โดนทำก็คือ สวมชุดที่เป็น Data Suit และมี Disk เก็บความทรงจำอยู่ นั่นคือ ตัวตนของเราในโลก Digital ก็คือ Data และความทรงจำของเรา ที่เราโหลดมันขึ้นไปน่ะแหละ (นึกถึงพวก Facebook, Hi5 อะไรพวกนี้แล้วจะนึกออก)
  • พวกเราหลายต่อหลายคน ยินดี “หันหลัง” ให้กับชีวิตของพวกเราเอง และเลือกที่จะ “หมกมุ่น” อยู่กับโลก Digital ที่เราสร้างมันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Social Network หรือว่ากลุ่มเพื่อน หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เราคิดเราฝัน ว่านี่คือโลกที่เราฝันใฝ่ และจะสร้างมันให้เป็นแบบนั้นแบบนี้
  • แต่ว่าหลายครั้งเราก็ลืมไปว่า ชีวิตของเราจริงๆ มันอยู่ข้างนอก เราอาจกลายเป็นคนอื่นสำหรับคนใกล้ตัวเรา
  • และนั่นคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อ “ตัวตน Digital” (ในเรื่องคือ Clu) มีอิทธิพลเหนือชีวิตเรา กลายมาเป็นตัวเราแทนเรา และทำให้เราไม่สามารถกลับออกมาได้อีก .. สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา กลายเป็นศัตรูกับชีวิตจริงของเราไปซะงั้น
  • น่าคิด ว่าการที่ Clu เป็นตัวการในการดึง Sam (หรือคนอื่นที่ได้รับเพจ) ให้เข้ามาในโลก Digital ก็เหมือนกับเวลาที่ตัวตนในโลก Digital ของเรา มีอิทธิพลเหนือเราเมื่อไหร่ เราก็มักจะชวนเพื่อนคนโน้นคนนี้ เข้ามาในโลกเดียวกับเราด้วย … เช่น ติด Twitter ก็ชวนคนอื่นมามี Twitter ด้วยกันหมด .. ไปๆ มาๆ ขนาดนั่งอยู่ใกล้ๆ กันแท้ๆ แทนที่จะคุยกัน ดัน Tweet, WhatsApp, อะไรก็ช่าง คุยกัน
  • น่าสนใจ ที่กุญแจที่ใช้ในการออกจากโลก Digital ก็คือ Disk ที่เก็บความจำนั่นเอง … ใช่สิ ลองนึกถึงว่า มันมีอะไรบ้าง ที่เราใส่เข้าไปในโลกออนไลน์ไม่ได้ เรามีความทรงจำ มีสังคม มีอะไรนอกโลกออนไลน์บ้างมั้ย …. สิ่งเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่จะทำให้เราออกมาจากโลก Digital ที่เราสร้างขึ้นได้(บ้าง)
  • แล้วทำไม Clu ต้องการออกมาข้างนอก? บางคนตัวตนในโลก Digital ดีจัดมั้ง ก็เลยอยากจะให้ตัวตนแบบนั้นของตัวเอง พร้อมทั้ง “กองทัพ” (ถ้าภาษา Twitter คงเรียกว่า “Followers” หรือว่าภาษาแขวะกัน ก็ “สาวก”) ที่ตัวเองสร้างขึ้น ออกมาในโลกความเป็นจริงด้วย
  • หลายคนนะ ที่เป็นเซเลปในโลก Digital แต่ว่าเป็น Looser ในโลกความเป็นจริงนอกสังคมออนไลน์ ลองดูสิว่า Kevin Flynn และ Clu คือใคร รอบๆ ตัวเรา ซึ่งถ้า Clu พร้อมกองทัพของเขาออกมาได้ นี่จาก Looser จะกลายเป็นเซเลปจริงๆ ได้เลยนะ
  • วิธีสร้างกองทัพก็ไม่ยาก แค่ Re-program ใหม่เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเราทำอะไรกับตัวตนในโลก Digital ได้ มันจะส่งผลถึงตัวตนในโลกความเป็นจริงด้วยน่ะสิ (ดูสิ ถ้าเราก่อดราม่าสร้างเรื่องด่าใครที่แรงพอจะเป็นกระแส ตัวจริงเค้ากระเทือนมั้ย หรือว่าถ้าเราสร้างภาพในโลกออนไลน์พอ พวกสาวกก็มองเราดี โดยไม่สนใจตัวจริงเรา ใช่มั้ย)
  • (ขำๆ นะ) แต่ว่าตัวตนในโลก Digital ของเรานี่ เราจะหยุดอายุเอาไว้ที่เมื่อไหร่ก็ได้นะ (เช่น คน 35 จะบอกว่า 18 ก็ย่อมได้) ฮ่าๆ
  • (ขำๆ ต่อ) เรื่องดีๆ จากเรื่องนี้ก็มีเหมือนกันนะ คือ พระเอก (Sam) พบรักในโลก Digital นะ แถมลากออกมาเป็นคู่ในชีวิตจริงได้ซะด้วย .. จริงๆ ก็มีหลายคู่นะ ที่พบรักกันในโลกออนไลน์ แต่ว่าคีย์มันคือ “ต้องออกมาสู่โลกจริง”
  • เรื่องนี้เอาไป Mix กับข้อความแรงๆ จาก Avatar และ Inception แล้วสยองพิลึก เพราะว่าสองเรื่องนั้นข้อความแรงๆ ของมันคือ “เราจะเลือกโลกจริงจากสิ่งที่เราคิดว่าจริง” ซึ่งไอ้ความ “จริง” นั้นนิยามง่ายๆ คือ มันให้เราได้อย่างที่เราต้องการ .. ถ้าในโลก Digital นั้น เราได้เป็นสิ่งที่เราอยากจะเป็นมากกว่า (เช่นเป็นจุดสนใจ) เราก็จะเลือกว่ามัน “จริง” ไปโดยปริยาย .. นั่นคือ Clu ของเราก็จะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยปริยาย
  • (ต่อ) ดังนั้น อย่าทำร้ายคนในโลกความเป็นจริง จนเค้าต้องหนีไปพึ่งโลกออนไลน์หรือโลก Digital มากขึ้นๆ จะดีที่สุด
  • ฉากจบ เป็นอะไรที่สะเทือนใจผมมากเอาเรื่อง (ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย) เมื่อ Sam ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนโลกความเป็นจริงด้วยกำลังที่เขาทำได้ (ขึ้นมาจัดการ ENCOM) ไม่ใช่แค่ใช้ความสามารถป่วน ด่า แขวะ ชาวบ้านชาวช่องไปเรื่อยๆ (ป่วนการออก OS ใหม่ พร้อมข้อความเสียดสี ฯลฯ) ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีกำลัง (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) …. นี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็นในบ้านเมืองเรา คือ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกความเป็นจริง แค่ในขอบเขตที่เราเปลี่ยนมันได้ และไม่ต้องไปป่วนสิ่งที่คนอื่นทำ “ถ้าเราไม่ชอบมัน ก็เข้ามาทำเอง ไม่ใช่ด่าและหวังว่าคนอื่นจะทำอย่างใจเรา”
  • (นอกเรื่อง) อีกอย่าง หนังเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงสมัยทำวิจัยเรื่อง Artificilal Life (Cellular Automata, Artificial Evolution, AVIDA ฯลฯ) สมัยเรียนที่ญี่ปุ่นมากๆ …..

ผมดูเรื่องนี้จบ แล้วรู้สึกอยากจะเลิกเล่น Social Network ทุกอย่างที่เล่นอยู่ตอนนี้ไปเลยทีเดียว หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องไม่อยู่ในอิทธิพลของมันขนาดนี้ จากที่เราคิดตอนแรกๆ แค่ “เอาไว้เป็นช่องทางในการติดต่อ” แต่ว่าไปๆ มาๆ มันกลับกลายเป็นตัวตนของเรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ

มองรอบๆ ตัว เวลาไปไหนมาไหน ผมเห็นแต่คนหยิบมือถือขึ้นมาแชท ขึ้นมาทวีต ขึ้นมาเฟสบุ๊ค … ราวกับถูกโหลดเข้าไปอยู่ในโลก Digital แล้ว ไม่สนใจคนรอบๆ ตัว ในโลก Physical เท่าไหร่ (นึกถึงโฆษณาของ Dtac ขึ้นมาตะหงิดๆ) …….

ผมคงต้อง “ถอยจากตรงนี้สักก้าวหนึ่ง” เสียที

โดยรวมแล้ว ถ้าดูเป็นหนังก็คงไม่มีอะไรมาก เดาเรื่องทั้งหมดได้ตั้งแต่ต้นจนจบ การแสดงงั้นๆ กราฟิกส์ก็ไม่ได้อลังการขนาดจะ Revolution อะไร ที่ดีหน่อยคงจะเป็น OST (กดซื้อจาก iTunes Store ไปเรียบร้อย) ที่ชอบอยู่บ้างก็ไอ้พวก Visual ที่มัน Nostalgia ทั้งหลาย เช่นเพลง 8-bit ภาพโบราณๆ ฯลฯ แต่ว่าถ้าเอาสิ่งที่คิดได้จากการได้ดูเข้ามาประกอบด้วย ผมต้องบอกว่า

“ผมชอบเรื่องนี้ว่ะ”

หมายเหตุ ระหว่างเขียนเหมือนๆ จะมีอะไรอีกสักอย่างในหัว … แต่ว่านึกไม่ออกแล้ว ถ้านึกออกจะอัพเดทมันอีกที

อัพเดท #1: นึกออกล่ะ …ฉากที่ Sam พยายามอธิบายเรื่องพระอาทิตย์ขึ้น….

มันมีหลายเรื่องแค่ไหนนะ ที่เรา take for a grant มากๆ จากความเคยชินทั้งหลายที่เรามีอยู่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องสุดวิเศษและน่ามหัศจรรย์ กะอีแค่สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน จนเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ เช่น พระอาทิตย์ขึ้น แสงตอนพลบค่ำ ดาวตก ทะเลหมอก ฯลฯ …. เราจะอธิบายพวกนี้ให้ “คอมพิวเตอร์โปรแกรม” ที่ต้องการเหตุต้องการผล ทำอะไรตามกฏตามเกณฑ์ เถรตรง รู้เรื่องได้อย่างไร

ถอยออกมาสักนิด อย่าพยายาม “สร้าง” อะไรมากมายจนเกินไป จนลืมที่จะเรียนรู้ที่จะเห็น ที่จะยินดี ชื่นชม และมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่รอบๆ ตัวเรา

ผมเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้ว จักรวาลและธรรมชาติมันเป็นคอมพิวเตอร์นะ (ลองศึกษาพวก quantum computation ก็ได้นะ) ดังนั้นโลก Digital ก็เหมือนกับเรากำลังทำตัวเป็นพระเจ้า สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเองอีกที (computation theory อนุญาตให้มี universal turing machine (UTM) ใน UTM ได้) …. อย่าหมกมุ่น หลงไหลกับสิ่งเหล่านี้มากไป จนลืมดูสิ่งที่พระเจ้าได้ให้กับเราไว้แล้วซะล่ะ

ดูบอล สะท้อนงาน

ว่าจะเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนฝรั่งเศสแข่งนัดสุดท้ายแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสักที ขอเขียนสักหน่อย ไหนๆ ช่วงนี้ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศอัฟริกาใต้ ก็ใกล้จะถึงจุดไคลแมกส์แล้ว พร้อมกับหน้าตา 4 ทีมสุดท้าย คือ อุรุกวัย เยอรมัน สเปน และเนเธอแลนด์ ส่วนทีมที่ตกรอบไปแล้ว ก็นอกจากนี้ทั้งหมด รวมถึงทีมเต็ง ไม่ว่าจะด้วยชื่อชั้นของประเทศ หรือผู้เล่น อย่างบราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี

ผมไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ฟุตบอล หรือการทำงานของผู้จัดการทีมคนไหนในฟุตบอลโลกนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำเท่าที่เค้าจะทำได้แล้ว แต่ผมอยากจะมองมัน แล้วนำกลับมามองสะท้อนข้อคิด ข้อสังเกต ลงไปที่การทำงานสักหน่อย โดยผมอยากจะมองในลักษณะของ System Thinking ซึ่ง The Whole is greater than sum of its part โดยก่อนอื่นผมขอเอาทวีตที่ผมทวีตในสัปดาห์ก่อนมาใส่ตรงนี้ก่อนละกันนะครับ ใส่แบบไม่ดัดแปลงใดๆ ไม่เพิ่มไม่ลด และตามลำดับการทวีตครับ

  • ฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่ดีของการมี 11 parts ที่สุดยอด แต่ whole (team) ที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยปัญหาภายใน และไร้ซึ่ง team spirit
  • องค์กรทั้งหลายดูไว้ และคิดให้ดี ว่าเหมือนกับองค์กรท่านหรือเปล่า ที่มีแต่อยากได้สุดยอดบุคลากร แต่อย่างอื่นๆ เหมือนทีมชาติฝรั่งเศส
  • อย่าแก้ปัญหาที่เกิดจากการไร้ระบบการเล่น ไร้การประสานงาน ไร้ทีมสปิริต ด้วยการเอาผู้เล่นเก่งๆ เข้าทีม
  • เพราะเค้าจะเก่งแค่ไหน ทำได้อย่างมากก็แค่ประคองทีม แบกทีมไว้บนบ่า ใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่ มีแต่ปัญหา และสุดท้ายเค้าก็ไป
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหลัง จะเสียคนเพราะกองกลางเกียร์ว่าง ปล่อยให้หลุดมาทุกอย่าง วิ่งสะกัดแค่ไหน ก็ไม่อยู่ ขึ้นไปทำประตู เพื่อนด่า
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองกลาง วิ่งพล่านเชื่อมเกม แต่คนอื่นๆ ไม่สนใจ ก็แค่ยืนๆ ตำแหน่งตัวเองไป จ่ายบอลไม่วิ่ง ถวายบอลให้ไม่ยิง ก็แย่
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหน้า จะเอาบอลจากไหนมายิง เพราะไม่มีคนส่งให้ ไม่มีคนทำเกม ลงมาล้วงบอลเอง เหนื่อย
  • ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นประตู รับรองว่ารับเละ ตะโกนสั่งกองหลังก็เฉย แถมเป็นแพะรับบาปที่ง่ายที่สุด ไม่เสียคนก็ดีแล้ว

ลักษณะผู้เล่นแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเก่งในการเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์ ซึ่งโดยลักษณะแล้วไม่ควรต้องลงมาล้วงลูกเองตั้งแต่ในแดนตัวเอง เพื่อทำเกม บางคนเป็นตัวเชื่อมเกม ระหว่างกองหลังกับกองหน้า บางคนเป็นตัวจ่าย มี Killer Pass สวยๆ ทีเดียวหลุดไปถึงประตู บางคนเป็นปีกที่มีความเร็วสูง ซิกแซกได้ทุกช่อง ก่อนจะเปิดให้กองหน้าจบสกอร์

ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของ 1 ทีม ไม่ใช่ผลงานของ 11 ผู้เล่น”

มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง

  • อาร์เจนติน่า เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ในการมี 11 parts ที่ดีมาก และทีมที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
  • การไม่เลือกตัวผู้เล่นบางตัวเข้ามาในทีม เพื่อให้เป็น 11 parts ที่สุดยอด อาจเป็นผลบวกกับทีมของอาร์เจนติน่า เนื่องจากการมี part บาง part อยู่ใน whole มันทำให้ whole เสีย เพราะว่ามันเป็น incompatible parts เป็น part ที่ทำให้ whole เสีย กลายเป็น part หรือ sub-whole หลายๆ ส่วนอย่างสมบูรณ์
  • อาร์เจนติน่า มีทีมสปิริตที่ดีมาก (จากที่เห็น และรับข่าวสารมา)
  • แต่ …. แต่ …. อาร์เจนติน่าเป็นทีมที่ไร้ซึ่งระบบการเล่น ระบบการทำงานประสานกันอย่างชัดเจน เป็นทีมที่เล่นด้วยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นไม่กี่คน ที่ต้องแบกรับภาระของการพาทีมไปข้างหน้า และคนที่ยิ่งเก่ง ยิ่งต้องแบกภาระหนัก เป็นธรรมดา ซึ่งในกรณีของอาร์เจนติน่านี้ก็คือ Lionel Messi ที่ค่อนข้างจะแบกทีมไว้ทั้งทีม

มันพูดง่ายนะ ว่าแพ้ก็แพ้ทั้งทีม ชนะก็ชนะทั้งทีม เล่นเพื่อทีม แต่วิธีการเล่นก็ยังเล่นกันแบบส่วนตั๊วส่วนตัว การประสานงานแบบเป็นรูปธรรมไม่ค่อยมี มีแต่ลุยกันไปเอง จ่ายให้คนอื่นเฉพาะเวลาที่ตัวเองตัน และไม่ค่อยไปช่วยกันเล่นต่อ ให้อีกคนไปตายเอาดาบหน้าเอง

ในกรณีที่โจทย์ง่ายพอ (นั่นคือทีมที่ค่อนข้างห่างชั้นกับอาร์เจนติน่า) การเล่นแบบนี้จะใช้ได้ผลค่อนข้างจะโอเคในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากผู้เล่นแต่ละคนเก่งมาก ดังนั้นก็จะหาทางเอาตัวรอดเองไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่าง Messi ที่หลายทีเอาตัวรอดได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าโจทย์มันยากขึ้นมา จะเจอปัญหาทางตันหลายอย่าง ซึ่งวิธีการแบบนี้จะลำบากขึ้นมา ถึงจะมีโอกาสยิง โอกาสจบสกอร์ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะมาเรื่อยๆ เหมือนกับมีระบบสายพานผลิตโอกาส โดยเฉพาะในกรณีโดนกดดัน ยิ่งความกดดันยิ่งสูง ยิ่งกรณีใกล้ล้มเหลว จะเห็นข้อเสียของทีมที่เล่นแบบชายเดี่ยว 11 คน ที่ “เล่นเพื่อทีม ด้วยวิธีการของตัวเอง” มากขึ้น

ซึ่งเห็นได้ชัดในนัดที่เจอกันเยอรมัน เมื่ออาร์เจนติน่าเสียประตูก่อน และเสียประตูเร็ว ทำให้อาร์เจนติน่าต้องอยู่ในภาวะกดดันที่ว่านี้ และการทำลายอาร์เจนติน่าด้วยวิธีง่ายๆ คือ “การไม่ให้ Messi เล่นบอลได้” พอกำลังจะทำอะไร ก็เข้าไปกวนเข้าไป กวนเข้าไป ให้หันหลังให้กับประตู (Goal; เป้าหมาย) ซะ ก็หมดเรื่อง ต่อให้เก่งเหนือมนุษย์แค่ไหน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ยิ่งคนที่มารุม เป็นคนที่ “รุมตามแผน ตามกระบวนการ และมีวินัยในการรุม” ด้วยแล้ว ยิ่งไปใหญ่ เมื่อผู้เล่นได้บอล การส่งบอลขึ้นหน้าแต่ละครั้ง เป็นการส่งให้ผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งแม้ความสามารถเฉพาะตัว และจินตนาการในการเล่น จะสูง ก็เหมือนส่งไปเจอทางตัน และไม่ลงท้ายที่เป้าหมาย (Goal; ประตู)

อย่างน้อยกรณีของอาร์เจนติน่า ก็ยังดีกว่ากรณีของฝรั่งเศส ที่ความเชื่อมั่นกันเองในทีมมีสูงกว่า ผู้เล่นทุกคนเชื่อใน Maradona และ Messi และเล่นเพื่อทีม ดังนั้นผลมันก็เลยออกมาดีระดับหนึ่ง แผนการเล่นเดียวของอาร์เจนติน่าที่ผมเห็น คือ จ่ายบอลให้อีกคน ด้วยความเชื่อว่าเค้าจะเอาตัวรอดได้ และบรรลุเป้าหมายได้ โดยที่ไอ้ “อีกคน” ที่ว่าเนี่ย มักจะเป็นคนที่พิสูจน์แล้วว่า “เก่งที่สุดในโลก” คนหนึ่ง …. ดังนั้นกรณีที่คนอื่นไม่อยากให้ทีมนี้ประสบความสำเร็จ ก็ง่ายครับ หาทางขวางคนเหล่านี้ให้ได้ เป็นอันจบ

ข้อคิดแรงๆ ที่ได้จากเรื่องนี้ทั้งหมดก็คือ กระบวนการทำงาน การซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการ การเล่นตามกระบวนการ และการมีวินัยในกระบวนการ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งเมื่อได้ผู้เล่นที่ดีมาก มาเล่นในกระบวนการที่สุดยอด จะเอาชนะคู่แข่ง ที่มีผู้เล่นระดับสุดยอด แต่ไร้ซึ่งกระบวนการได้ไม่ยาก แม้ว่าสุดยอดผู่เล่นเหล่านั้น จะเล่นเพื่อผลของทีมก็ตาม มันสู้ทีมที่สร้างระบบเพื่อผลสำเร็จสูงสุดตั้งแต่ต้นไม่ได้หรอก

ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของทีม ไม่ใช่แม้แต่ 11 ผู้เล่นที่เล่นเพื่อทีม แต่เล่นตามใจ” ครับ

ทีมจากเอเซียหลายทีม เข้าข่ายนี้ครับ คือ มีระบบทีมที่ดี มีวินัยที่ดีในการเล่นตามกระบวนการ ตามระบบที่สร้างและวางไว้ ดังนั้นถึงความสามารถเฉพาะตัวจะสู้ไม่ได้ แต่ทีมทั้งทีมมันสู้ได้ สูสี แพ้ชนะไม่น่าเกลียด

วันนี้พอแค่นี้ก่อน จบบอลโลกจะเขียนต่อนะครับ

ฝากไว้ครับ ลองอ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องใน Positive Thinking in Petsitive World ด้วยนะครับ