Pencast วิชา​ Visual Simulation ครั้งที่ 4

ก่อนอื่นต้องขอชมน้องๆ หลายคนก่อนว่า ทำการบ้านครั้งที่แล้วได้ดีมากเลยครับ

เนื้อหาคราวนี้หลักๆ เป็นการเชื่อมโยงเนื้อหาคราวที่แล้ว (1D Dynamical System; Logistic Equation) กับเรื่องที่นักศึกษาสาขา animation คุ้นเคย นั่นก็คือ การกำหนดค่าการเคลื่อนไหวต่างๆ ให้กับ animation ก็หวังว่าจะทำให้หลายๆ คนเข้าใจบทบาทของ Dynamical system simulation กับการประยุกต์ใช้งานในเรื่อง animation มากขึ้นบ้าง

  1. ตอนที่ 1: Simple Dynamical System & Animation Control ขนาด 7.8 MB

  2. ตอนที่ 2: Simple Dynamical System & Animation Control (ต่อ) ขนาด 5.3 MB

  3. ตอนที่ 3: 2D Rule-based Dynamical System ขนาด 2.3 MB

  4. ตอนที่ 4: การบ้าน (นิดๆ หน่อยๆ) ขนาด 639 KB
    7.01 VS: Homework
    brought to you by Livescribe

ไฟล์เอกสาร (PDF) : VS_4_1.pdf, VS_4_2.pdf

หลังจากนั้น เนื่องจากน้องๆ หลายคนยังไม่เข้าใจการบ้านเท่าไหร่ ว่าจะต้องส่งอย่างไร ทำอะไร ต้องใส่อะไรบ้าง ฯลฯ (ถึงแม้ว่าผมจะให้ keyword “Cellular Automata” ในการ search google, wikipedia ซึ่งผมบอกว่า จะเอารูปจากเค้ามาเลยก็ได้ ไม่ผิด ก็ตาม) ซึ่งก็พอจะเข้าใจนักศึกษานะครับ ก็เลยต้องเปิด “เฉลย” การบ้านให้ดูก่อน ว่าให้น้องๆ ทำตามนี้แหละ เขียนส่งมาแค่นี้แหละ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บันทึกไว้ เพราะว่าเป็นการเปิดจากไฟล์ presentation ในเครื่อง (ผมไม่สามารถเขียนภาพผลการรัน Cellular Automata กฏ 110 ด้วยมือได้ครับ เกินความสามารถ) ก็เลยเอาภาพและ animation บางส่วน ที่สร้างจากการประยุกต์ใช้ Cellular Automata ดังๆ อย่าง Conway’s Game of Life ให้น้องๆ ดูไปด้วย

ก็ต้องขออภัยนะครับ ที่ในส่วนนั้นไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้

Pencast วิชา Visual Simulation ครั้งที่ 3

เริ่มใช้ pencast กับวิชาอื่นที่สอน นอกจาก User Interface บ้าง วิชานี้เป็นวิชา Visual Simulation สอนให้กับคณะ ICT ซึ่งเนื้อหาหลักเป็น “การสร้างแบบจำลอง” ที่เหมือนจริง ซึ่งผมอยากจะโฟกัสแค่การสร้าง Texture ของลวดลายต่างๆ ทั้งที่เป็นลวดลายธรรมชาติและไม่ธรรมชาติ และการจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่บางทีอาจจะไม่ใช่ Direct simulation แต่แค่ให้ได้ความรู้สึกเหมือนจริง ซึ่งก่อนอื่นจะต้องศึกษาเรื่อง Procedural Texture Generation และ “ธรรมชาติของ Patterns” เสียก่อน ทำให้วิชานี้อาจจะมี nature แปลกๆ หน่อยสำหรับสาขา animation เนื่องจากจะมีคณิตศาสตร์ปนๆ อยู่บ้่าง (แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะว่าการสร้าง texture หรือการศึกษา CGI; computer generated imaginary นี่ แทบจะเป็น math กันล้วนๆ ในเบื้องหลัง) ก่อนที่จะไปถึงเรื่อง Fractals ซึ่งเป็น “พระเอก” ของวิชา ต่อไป

สำหรับ Pencast ครั้งนี้จะ ตะกุกตะกักเล็กน้อย (เนื่องจากตัวเองก็ไม่ได้พูดเรื่องทำนองนี้มานานพอควร แล้วปกติจะพูดเรื่องทำนองนี้แต่กับพวกที่มี background เป็น math) และมีบางส่วนที่ไม่ได้ลงตรงนี้ เนื่องจากเปิดหน้าหนังสือลงใน visualizer และตัว pencast ไม่ได้บันทึกตรงนั้นไว้ให้ และการสนทนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างพักจะถูกตัดหมด และ 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ไม่มีการบันทึกไว้ ดังนั้นหลายท่านที่มาฟัง อาจจะรู้สึกไม่ต่อเนื่อง หรือช่วงการ “Intro” มันหายไป ขออภัยด้วยครับ

ป.ล. สำหรับน้องคณะ ICT ที่ใช้งานครั้งแรกนะครับ ช่วย รอหน่อย นะครับ เพราะว่ามันต้องทำการ download ไฟล์เสียงทั้งหมดก่อน ไม่งั้นเสียงไม่มา ก็ขนาดไฟล์ตามที่ผมระบุนะครับ

  1. ตอนที่ 1: Procedural Generation Introduction ขนาด 7.5 MB

  2. ตอนที่ 2: Patterns & Textures ขนาด 8.9 MB

  3. ตอนที่ 3: 1D Texture generation with simple Dynamical Equation (& Glimpse of Fractals) ขนาด 4.3 MB

ไฟล์เอกสาร (PDF) ครับ: VS3_1.pdf, VS3_2.pdf, VS3_3.pdf

Pencast จากวิชา UI วันที่ 6/21

วันนี้มี 4 ตอนครับ โดยไอเดียเป็นการเกริ่นเรื่อง Application Design ในโลกที่เต็มไปด้วย Data และแนวคิดที่ว่าโปรแกรมควรออกแบบเพื่อ maximize ความสามารถในการบริหารจัดการข้อมูล/สารสนเทศ … อ่อ แล้วครั้งนี้เสียงอาจจะแปลกๆ หน่อยนะครับ เพราะว่าใช้ไมโครโฟนครับ ปกติจะพูดดังๆ เอา แต่วันนี้ไม่ไหว เสียงค่อนข้างพัง พูดดังไม่ได้ เลยใช้ไมค์

  1. ตอนที่ 1: Data and UI Design (ไฟล์เสียง 6.1 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_1.pdf)

  2. ตอนที่ 2: Metadata (ไฟล์เสียง 4.4 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_2.pdf) เป็นเรื่อง surprise ผมมากพอสมควรเลยนะ ที่น้องๆ ปีสาม ไม่รู้จัก Metadata กัน หลายคนไม่เคยได้ยิน ไม่เป็นไร ก็สอนซะหน่อย เพราะว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เราเล่นกับข้อมูลได้หลากหลายและสนุกเลย

  3. ตอนที่ 3: Applications and Data (ไฟล์เสียง 5.6 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_3.pdf)

  4. ตอนที่ 4: Application and Data (QA) (ไฟล์เสียง 2.9 MB และไฟล์ PDF UI_6_21_4.pdf) พอดีมีน้องคนนึงถามว่า “แล้วการเปลี่ยนจาก Application แบบเปล่าๆ เป็น Application+Data ต้องทำไงบ้าง” คิดว่ามีประเด็นดีะน ก็เลยพูดยาวหน่อย

น้องๆ ที่ลงวิชานี้อย่าลืมการบ้านนะครับ keyword ในการตั้ง subject ของ e-mail คือ app+data ครับ และช่วยๆ รบกวนทำการบ้านให้เหมือนกับว่าอยากจะผ่านวิชาหน่อยนะครับ

Pencast จากที่สอนวิชา UI วันที่ 6/14

Pencast ข้างล่าง 3 อันนี้ เป็นการบันทึกสดจากการสอนวิชา User Interface Design และ Human-Computer Interaction ครั้งที่ 3 (สองครั้งแรก ไม่มีการบันทึก เพราะยังไม่มีของเล่น แต่ว่าเนื้อหาจะยังคงไม่มีอะไรมากมายนัก และส่วนหนึ่งก็ได้พูดถึงซ้ำในวันนี้)

เนื้อหาคร่าวๆ ในวิชานี้ ผมไม่ได้ต้องการเพียงแค่ว่าหลักการในการออกแบบ User Interface เท่านั้น แต่จะรวมถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบ ตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บ requirement เพื่อให้ได้มาซึ่ง User Experience (UX​) ที่ดี และการนำความรู้เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักการ 80:20 หลักการทำงานของสมองเพื่อให้ได้มาซึ่ง creativity การสร้าง innovation การศึกษาและระบุตลาดของซอฟต์แวร์ และความสร้างความสามารถในการแข่งขันโดยให้ User Interface, User Experience ที่เหนือกว่า เรื่องต่างๆ จาก Game Theory (เช่น Prisoner’s Dilemma) เป็นต้น

เนื้อหาด้านล่างนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน ตามที่ผม lecture ซึ่งในส่วนที่ 2 เป็นส่วนที่ผมนึกออกระหว่างสอน ว่าน่าจะพูดถึง น.ศ. จะได้ทราบบ้าง ว่าสมองทำงานอย่างไร ไอเดียต่างๆ ซึ่งเป็นนวัตกรรมได้ มันจะมาจากไหน ก็เลยสอนสดๆ เลย โดยแต่ละส่วนนั้น ขั้นด้วย discussion ที่ไม่ได้บันทึกไว้ ซึ่ง น.ศ. ที่ไม่ได้มาเรียน ก็น่าเสียดายแทนด้วย แต่ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เพราะว่าส่วนมากก็เป็นเกร็ดเล็กน้อยเสียมากกว่า

ป.ล. เสียงอาจจะมาช้านะครับ อาจจะต้องรอมัน stream เสียงนิดนึง ส่วนภาพคงไม่มีปัญหา เพราะจากที่สังเกต ทาง Livescribe ใช้วิธีการสร้างจาก coordinate data (x, y, t) ส่วนเสียงนี่เป็น audio streaming ธรรมดา

หมายเหตุ มีการแจ้งว่า กด play บนนี้แล้วเล่นไม่ได้ ไปเล่นบนหน้าเว็บของ livescribe เองก็ไม่มีเสียง …​ ผมเข้าใจว่าพอกด play ไปแล้ว มันจะเริ่ม download ไฟล์เสียงครับ ซึ่งจะใช้เวลาหน่อย ในกรณีที่ไฟล์เสียงมันใหญ่ การ streaming ของเสียงอาจจะไม่ดีพอครับ คิดว่าใช้การ download ทั้งไฟล์ ขออภัยในความไม่สะดวกครับ จะติดต่อกับทาง livescribe เพื่อบอกปัญหานี้ต่อไปครับ …. กด play แล้วรบกวน “อดทนรอ” หน่อยนะครับ

ส่วนนี่คือ PDF ที่ export มาจากที่เขียนครับครับ

หวังว่าคงเป็นประโยชน์นะครับ ฟังเล่นเพลินๆ ละกันนะครับ

You *ARE* “The Presenter”

เป็นเรื่องที่ผมอยากจะเขียนถึงเป็นที่สุด ใน blog ก่อนหน้านี้ (สอน Presentation โครงการ SSME Fast Track) แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จนน่าจะเขียนแยกออกมาสักตอนมากกว่า และนี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่า “ผู้นำเสนอหลายคนลืมไปอย่างน่าเสียดาย” นั่นก็คือ

“You *ARE* The Presenter”


presenter.004.png

ใช่ครับ ในการนำเสนอ *คุณ* คือ ผู้นำเสนอ คุณคือสตาร์ของงาน การลืมเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่ผมถือว่าเป็น The #0 Common Mistake เลยทีเดียว (มันยิ่งกว่า #1 หรือ all words on slide ซะอีก) ทำไมหรือ?

  • หลายคนยอมให้ slide ของ presentation ต่างๆ เป็นดาวเด่นของงาน สายตาและความสนใจของผู้ฟัง อยู่บน slide ที่คุณใช้ (อ่าน) ไม่ได้สนใจคุณเลย หลายอย่างที่พูด ซึ่งอาจจะมีเกร็ดอะไรนอก slide อยู่บ้าง หรืออยู่มาก มันจะหายไป ซึ่งทางแก้ก็คือ ใช้ All-Words-on-Slide และ Lots-of-Bullets
  • แต่พอทำเช่นนั้น คุณก็จะไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ จะถูกจำกัดมากเกินไปกับการพูดตามสิ่งที่อยู่บน slide และผู้ฟังของคุณก็ไม่รู้จะโฟกัสที่ไหนดี ระหว่างฟังคุณ กับอ่านตาม ซึ่งทางแก้ก็คือ คุณก็ต้องพูดตาม slide ไปเรื่อยๆ คนฟังจะได้ไม่หลงหรือสับสน
  • แต่พอทำแบบนั้น ก็เท่ากับไม่โฟกัสกับความเป็นตัวของตัวเอง คิดแต่เอาเนื้อหาจากหนังสือ เนื้อหาวิชาการจากตำรา จากเว็บ หรืออะไรต่อมิอะไรมานำเสนอ มาใส่ไป แล้วมันจะเป็น Story ที่ Simple, Convincing, Concrete, Credible ได้ยังไง? แล้วคุณจะมีอารมณ์ร่วมกับมันมั้ย?
  • ที่สำคัญ คุณไม่มีทางมี eye-contact หรือ expressive expression ต่างๆ ได้อย่างมากพอ

เอาแค่นี้ ก็จบแล้ว


presenter2.020.png

สอน Presentation โครงการ SSME Fast Track

วันที่ 24/3 ที่ผ่านมา ผมไปสอนเรื่อง Presentation Techniques ให้กับโครงการ SSME (Service Science & Management Engineering) ที่ SIPA แล้วก็สัญญากับคนที่ไปอบรม ว่าจะเขียน blog เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้สักหน่อย แต่พอเอาเข้าจริงก็มานั่งคิด แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะเนี่ย ก็ขอเขียนถึงเนื้อหานิดๆ หน่อยๆ และเขียนถึงประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ ที่ได้ไปสอนก็แล้วกัน

ผมแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

  1. How *NOT* to Present ซึ่งพูดถึง Presentation Mistakes ที่นับเป็น common มากๆ ทั้งหลายทั้งแหล่ จริงๆ มันก็มีไม่กี่ตัวหรอกที่พบกันบ่อยๆ มากๆ


    SSME_Present1.png

    และใช่ครับ อย่างที่เห็นน่ะแหละ slide ของทั้ง 9 mistakes นี้ “แดกดัน” แรงๆ เลย เอาสิ่งที่พบบ่อยจนเกินงาม มาทำให้มันสุดโต่ง แล้วก็พยายามนำเสนอในแบบที่ยึดติดกับ slide (เช่นยืนอ่านตาม slide เป็นต้น) ใครที่เคยฟังผมพูดสาธารณะบ้าง คงจะจำได้ว่าปกติ slide ผมนี่ไม่ต้องพยายามอ่านมัน หรือว่าเอาไปอ่านโดยปราศจาก “ผม” เพราะว่ามันมีแต่รูปเป็นหลัก มี text บ้างไว้ประกอบรูป เอาไปนั่งเพ่งอย่างเดียวคงไม่รู้เรื่องเด็ดขาด

  2. วิธีการ Present ซึ่งตรงนี้รูปใน slide และเนื้อหานั้น ผมได้ส่วนหนึ่งมาจาก Presentation Zen (http://www.presentationzen.com/) และเล่าประสบการณ์ตัวเองและวิธีปฏิบัติบางอย่างในฐานะผู้นำเสนอ


    SSME_Present2.png

    ใจความสำคัญส่วนนี้คือ ผมคิดว่า Presentation ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มันคือ “การเล่าเรื่อง” ที่จะต้องเล่าให้ได้ “โง่ & ง่าย” แต่ในขณะเดียวกัน “หนักแน่น & น่าเชื่อถือ” และต้อง “ดึงอารมณ์ร่วมจากผู้ฟัง” สุดท้ายต้องมีอะไรที่เซอร์ไพรส์บ้าง แต่อย่ามากเกินไป ตรงนี้ผมได้พูดถึงเรื่อง “ผู้ล่ากับเหยื่อ” ไว้นิดหน่อย แต่ทำให้หลายคนสนใจพอสมควร

    ผมได้แนวคิดเรื่องนี้จากพระป่ารูปหนึ่ง ที่ผมพบเมื่อนานแล้ว ท่านไม่กลัวสัตว์ป่า เช่น เสือ และผมเคยถามท่านว่า ทำไมท่านถึงไม่กลัวสัตว์เหล่านี้ ซึ่งท่านได้ตอบมาแบบ “โง่ ง่าย หนักแน่น น่าเชื่อถือ เห็นภาพ” แค่ว่า “ลูกเอ๊ย มีแต่เหยื่อของเสือเท่านั้นแหละ ที่กลัวเสือ”

    สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม บทบาทง่ายๆ ตามธรรมชาติของห่วงโซ่อาหารมันจะมีแค่ “ผู้ล่า” กับ “เหยื่อ” เท่านั้น หากเราแสดงความเป็นเหยื่อ (โดยการกลัวผู้ล่า) อีกฝ่ายหนึ่งก็จะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ล่าของเราโดยธรรมชาติ และในฐานะผู้นำเสนอ บางทีเราโชคดีที่ได้เลือกบทบาทก่อน หากเราเลือกบทบาทของเหยื่อ เราจะมีปัญหาทันทีกับการนำเสนอให้มี Convincing performance และก็ให้ทำใจได้เลยว่า ผู้ฟังการนำเสนอ อาจมีคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ล่าโดยปริยาย ดังนั้น มันเป็นทริคง่ายๆ ในการเลือกบทบาทก่อน

    สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่หลายต่อหลายคนลืมไปอย่างน่าเสียดายในจุดนี้ คือ “อารมณ์ร่วม” โดยเฉพาะการนำเสนอทางวิชาการ ที่มักจะแห้งและน่าเบื่อ ถามว่าจะดึงอารมณ์ร่วมของคนได้ยังไง ก็ให้นึกถึง “เดี่ยวไมโครโฟน” ของคุณโน๊ต อุดม ซึ่งดึงอารมณ์คนด้วยวิธีง่ายๆ คือ “เจอปัญหาเดียวกับผู้ฟัง” ดังนั้นวิธีหนึ่งก็คือ ตัวเราเองต้องเจอปัญหาเดียวกับผู้ฟังเสียก่อน และเล่าให้ฟังว่าทำไมมันถึงเป็นปัญหา พอเริ่มเห็นตรงกันแล้ว ทีนี้การจะนำเสนอวิธีแก้มันไม่ใช่เรื่องยากเย็น

    นี่แหละ ผมเลยเสนอ “How NOT to Present” ก่อน เพราะแน่ใจได้เลยว่า หลายคนเคยเจอพวกนี้มา และเห็นว่ามันเป็นปัญหาแน่นอน พอเบรคแรก ก็พบว่ามีหลายคนเริ่มอิน ว่าเจอบ่อย เป็นปัญหา น่าเบื่อ ฯลฯ

  3. สอนแต่ทฤษฎี ยืนพูดมันไปก็เท่านั้นแหละ มันไม่เห็นของจริงใช่มั้ย เหมือนกับ Quote ใน slide นี้ ที่ว่าไม่ต้องโชว์มากนัก ไอ้ตัวโน๊ตน่ะ เปิดเพลงให้ฟังเลยดีกว่า หรือว่าเล่นเพลงให้ฟังและดูจะๆ เลยดีกว่า ในช่วงที่ 3 ก็เลยเป็นการ “แก้” Presentation ที่ห่วยให้มันดีขึ้น และทำด้วยกันทั้งห้อง


    SSME_Present3.png

  4. ช่วงสุดท้ายเป็น Workshop ทำจริง ซึ่งประเด็นหลักๆ อยู่ที่ว่า “อย่าเริ่มทำ presentation ด้วยการเปิดโปรแกรม ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักหรอก ให้เริ่มทำด้วยการเลือก Story และเปิด Mind Map มา storm idea ลงไปให้มันเคลียร์ๆ ซะก่อน (แต่ว่าวันนั้นยังไม่ได้ Mind Map นะ เพราะว่าเนื้อหาของหลักสูตรยังไปไม่ถึง) แล้วค่อยออกแบบการนำเสนอ” จากนั้นก็ใช้ลูกไม้ก้นหีบให้อย่างหนึ่งในการออกแบบ Presentation นั่นคือวิธีการที่ผมเรียกว่า Back-of-Business Card method (หรือ Business Card method)


    card_method.085.png

    design_to_implement.003.png

    หน้าจอโปรแกรมมันมักจะใหญ่เกินไปจนทำให้เรามีพื้นที่มากเกินงามในการออกแบบ Presentation จนเราโยนอะไรก็ได้ลงไป รกแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา แต่เวลาเรานำเสนอจริงเนี่ย คนฟังอาจนั่งอยู่ไกลขนาดที่มองไม่เห็นก็ได้ หลักการมันก็เลยง่ายนิดเดียว มีนามบัตรหรือกระดาษขนาดนามบัตร ก็ให้ใช้ดินสอที่ไม่ต้องเหลา (ไม่ต้องคมมาก) เขียน Presentation ที่ต้องการจะนำเสนอลงไปเลย ถ้าใช้ iPhone ผมแนะนำโปรแกรม SketchPad หรืออะไรทำนองนั้น ใช้นิ้วใหญ่ๆ ของเราเนี่ยแหละ ลากๆ ลงไปเลย คราวนี้ตัวอักษร เนื้อหา และภาพมันต้องใหญ่และชัดระดับหนึ่ง ให้สลับการ์ดพวกนี้จนพอใจ แล้วสุดท้ายค่อยเปิดโปรแกรมขึ้นมาทำตามแบบที่ออกไว้ และตรวจสอบเนื้อหากับ Mind Map


    mindmap_present.png

นั่นคือ ส่วนหนึ่งของเนื้อหา ทีนี้ขอพูดถึงประสบการณ์และบรรยากาศของวันนั้นหน่อย ขอสั้นๆ ชัดๆ โง่ๆ ง่ายๆ เลยละกันนะ

คลาสนี้เป็นคลาสที่ผมสอนได้อย่างมีความสุขและสนุกที่สุดในรอบ 3-4 ปีเลย ต้องขอบคุณผู้เรียนทุกคนมาก ที่หัวเราะ เฮฮา ด้วยกันตั้งแต่นาทีแรก จนถึงนาทีสุดท้าย มีกัดกันบ้างมีอะไรบ้าง แต่ละคนไม่อายในการถาม ในการเสนอความคิดต่างๆ

ภาพข้างล่างนี้เป็น Slide ที่ผมใช้ orientation วิชาบางวิชาที่ผมสอนที่ศิลปากร


hci_orientation2.png

ผมไม่ต้องพูดอย่างนี้เลยกับผู้เข้าเรียนทุกคนที่ SSME Fast Track ปีนี้ เพราะว่าในแต่ละเร่ืองที่ผมสอนและพูดถึงนั้น จะมีคนพยายามถาม พยายามแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ตลอดเวลาที่มีโอกาส ถึงช่วงแรกๆ จะเงียบๆ บ้าง เพราะว่ายังไม่ค่อยรู้จักกันก็ตาม และช่วงสุดท้ายของการทำ Workshop ที่ให้มีการนำเสนอจริงด้วย ทุกคนก็ช่วยกันเป็น commentator อย่างดี (แถมด้วยการกัดกันอย่างสนุกสนานทั้งระหว่างกันเอง และระหว่างวิทยากรกับผู้เรียน เป็นบางครั้งตามสมควร)

สนุกมากครับ และขอบคุณทุกคนมากครับ

History of the Internet & the Web

เทอมนี้สอนวิชา Programming on the World Wide Web และคิดจะใช้วิธี collaborative knowledge development กับวิชานี้ (และอาจจะวิชาอื่นๆ ที่สอนในเทอมนี้ด้วย) ก็คือ ผมจะรวบรวมบทความหรือว่าเร่ืองน่าสนใจต่างๆ มาเป็น reading list และนักศึกษาจะต้องเข้าไปอ่าน​ (ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด) และต้องมีความคิดอะไรบางอย่างกับสิ่งที่ตัวเองอ่านไป ว่าให้ข้อคิดอะไรบ้าง ส่งให้เกิดผลอย่างไรบ้าง หรือว่าทำให้เข้าใจโลกที่เป็นอยู่อย่างไรบ้าง และนักศึกษาจะต้องเขียนเป็นบทความสั้นๆ แล้ว submit กลับเข้าไปในระบบ โดยที่ผมจะเป็น editor ให้ เพื่อคัดเลือกบทความที่ดี (interesting, insightful ตามภาษา slashdot) ให้อยู่ในระบบ และการนับคะแนนจะนับตาม contribution ในการร่วมกันสร้าง knowledge

สำหรับ reading list แรกของวิขานี้ คือเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ นั่นคือ history of internet & the web ซึ่งผมเห็นว่าจริงๆ ก็น่าสนใจดี ก็เลยเอามา post ไว้ที่นี่อีกที่หนึ่ง

517312 Programming on the World Wide Web: Reading: History of Internet & the Web

ซึ่งก็คงต้องขออภัยอย่างสูงด้วยอีกเรื่องหนึ่งคือ ใน website นั้น ไม่ให้คนนอกสมัครเข้ามาเขียน content ได้แต่อย่างใด (เนื่องจากกำลังอยู่ในระหว่างการทดลอง model นี้ในการศึกษา)

IDS 110 จาก UC Berkeley

พักหลังๆ ตอนขับรถจะชอบฟัง podcast มาก เพราะว่าเวลานั้นมันทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากขับรถ เสียเวลาไปเปล่าๆ (ปกติก็ฟังเพลงซ้ำๆ ซากๆ กับที่เคยฟังไปแล้ว ให้มันเสียเวลาชีวิตเล่นไปงั้น หรือไม่บางทีก็คุยงานทางโทรศัพท์)

ตอนนี้มี podcast ที่ฟังติดมากเลยอันนึง คือ podcast ของวิชา IDS 110: Introduction to Computers โดยอาจารย์ Americ Azevedo (รู้สึกตอนนี้จะเปลี่ยนรหัสเป็น E 110 แล้ว ชื่อวิชาเหมือนเดิม) ที่ผมไป subscribe มาจาก iTunes-U

เนื้อหาในวิชาก็ไม่ได้มีอะไรที่ผมยังไม่รู้มากมายนักหรอก แต่ว่าผมรู้เป็นแบบ tacit knowledge มากไป คือ พูดออกมาเป็นประเด็นๆ ให้เห็นชัดเจน และหนักแน่นไม่ได้แบบอาจารย์ Azevedo และส่วนมากผมจะเป็นคนเริ่มพูดไม่ได้ คือ ต้องเห็นอะไรบางอย่าง ต้องมีคนทำอะไรบางอย่าง แล้วพอดีมันไปตรงกับสิ่งที่เรารู้เป็น tacit knowledge ถึงจะพูดออกมาได้ …

เนื้อหาก็เป็นเรื่องของ networks, information, society และมีเรื่องของการศึกษา เรื่องประเด็นต่างๆ ที่เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และสารสนเทศได้เปลี่ยนโลกไป มีการเชิญคนหลายคนที่น่าสนใจมาพูด topics ของวิชาค่อนข้างกว้างและได้ overview ที่ broad เอาเรื่อง

ผมฟังของตั้งแต่ Spring 06, Fall 06, Spring 07 เห็นว่าเนื้อหาไม่ค่อยจะซ้ำกัน ซึ่งเป็นเรื่องดี ส่วน topics ที่ฟังแล้วคิดว่าได้อะไรเป็นพิเศษก็คงจะเป็น

  • Re-engineering Education via Socratic Cultureware อันนี้ใครที่เคยฟัง/อ่าน/ดูผมพูดเรื่องการศึกษาน่าจะชอบมาก เพราะว่ามีหลายประเด็นที่จี้ใจดำ
  • Ivan Tam – Open Source Production in Non-Software Environment
  • Time, Technology, and Disappearing Students
  • Life in the Media Caves
  • We Are the Media; They Are the Media
  • Jaron Lanier – Computers and Culture ชอบเรื่องนี้มากเหมือนกัน
  • Existential Crisis of the Internet: Dangers and Opportunities
  • Pervasive Digital Media and the Postmodern World
  • Time, Money, and Love in the Age of Technology
  • Seth M. Andrzejewski: Principles of Usability
  • Plato’s Cave & Nature of Data, Information, Knowledge, and Wisdom

จริงๆ ก็ชอบเกือบหมดน่ะแหละ เนื้อหา overview ดีและไม่ได้ลงไปใน details มาก แต่ว่าฟังแล้วต้องคิด คิด คิด และคิดตามจริงๆ อ่อ จรริงๆ แล้วมันมี webcast ด้วย แต่ว่าไม่เคยเข้าไปดู เพราะว่า net ที่ ม. ในส่วนที่ใช้มันค่อนข้างห่วย แล้วก็การดู video มันไม่ค่อยจะ passive เหมือนกับฟัง podcast/เพลง น่ะ

ฟัง podcast วิชานี้แล้วชักอยากจะกลับไปนั่งเรียนแฮะ ……. อยากกลับไปเรียน ป.ตรี ใหม่ด้วยซ้ำไป

[update 1]: เพิ่ม topic เข้าไปอีกอัน

Slide งาน Blognone Tech Day 3.0

เหมือนจะมี request พอสมควร ว่าอยากได้ slide ของวิทยากรจากงาน Blognone Tech Day 3.0 เก็บไว้ เราก็เลยจัดให้

ทำเป็น PDF นะครับ (2.3 MB) หน้าละ 2 slides เพราะว่า slide ผมมันไม่มีตัวหนังสือมากอยู่แล้ว มีแต่รูป คิดว่าขนาดนี้ก็ยังเห็นชัดอยู่แหละ

Lecture ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

โดนเชิญมาพูดแบบกระชั้่นมาก ฉุกละหุกมาก แต่ว่าก็ทำให้เรามีโอกาสได้ทำ 2 อย่าง คือ

  • มาภูเก็ต ถึงจะไม่มีเวลาเที่ยวก็เถอะ ได้เห็นบ้านเมืองบ้าง ได้เห็นโน่นนี่บ้าง เห็นการ recover เมืองจากภาพที่เราเคยเห็นจาก Tsunami tragedy แล้วก็ดูความเป็นไปได้ที่จะมาเที่ยวในอนาคต
  • ได้บินสายการบิน low-cost ภายในประเทศครั้งแรก อยากรู้มานานแล้วว่ามันเป็นยังไง

สรุปว่า อืมมม บ้านเมืองเขาสวยดีนะ แถวหาดป่าตองถึงจะแออัดยัดเยียดไปหน่อย แต่ว่าก็ยังดีกว่าพัทยาเยอะ ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่า แต่ว่่าอย่างน้อยก็ยังสะอาดกว่าน่ะแหละ ส่วนแถวมหาวิทยาลัยราชภัฏ นี่ยังกะเป็นคนละโลกกันเลย แถวนั้นเงียบและมืดมากพอควรเลย

ส่วนเรื่องที่ถูกเชิญมาพูดน่ะ พอดีเค้าให้รายละเอียดมาค่อนข้างน้อย หัวข้อมีแค่ “Macintosh” เท่านั้นเอง เราเลยต้องเล่นเกมเดาใจว่าเค้าอยากให้เราพูดเรื่องอะไร สรุปก็เลยพูดหัวข้อที่ว่า “Me, My work, My life, My Mac” ที่เป็นมุมมองของผม ในฐานะ Academic lecturer, Research scientist, และ Software developer ที่บังเอิญ พอดีเป็นผู้ใช้ Mac

รู้สึกว่าเด็กๆ ค่อนข้างจะชอบกันนะ ฮากันตรึม พวกอาจารย์เค้าก็ชอบกันนะ ถามกันหลายคน ว่าถ้าเราพูดเรื่องวิชาการซีเรียสๆ เนี่ย จะสนุกแบบนี้ได้หรือเปล่า อืมมม ก็คงต้องลองเชิญผมมาพูดเรื่องงานวิจัยล่ะนะ ไม่งั้นก็ไม่รู้เหมือนกัน

เท่าที่คุยกับอาจารย์เค้า รู้สึกว่าจะมีอาจารย์คนหนึ่งจบมาจาก MIT เสียด้วยสิ เห็นบอกว่าทำเรื่องเอา remote sensing ไปตรวจวัดค่าต่างๆ ในอากาศ เพื่อเอามาพยากรณ์อากาศ และได้ model ที่แม่นมาก ชักอยากจะรู้เหมือนกันว่าเค้าใช้ model อะไร เพราะว่าเราสนใจเรื่อง Mathematical models ของเรื่องพวกนี้มานานแล้ว และ Weather forecasting นี่ถือเป็น chaotic system ตัวหนึ่งที่น่าสนใจและ classic มากๆ ด้วย

สงสัยคงต้อง e-mail ไปคุยด้วยแฮะ อ่อ แล้วใครอยากจะเชิญผมไปพูด ติดต่อมาได้นะแต่ว่าพักหลังๆ อาจจะยุ่งนิดหน่อย