MacBook air 11″

ได้ของเล่นใหม่อีกแล้ว คราวนี้เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบล้วนๆ เลย

มีอยู่วันหนึ่ง ผมต้องไปสอนหนังสือที่ ม.กรุงเทพ แล้วปรากฏว่ารถติดมาก ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ ตอนนั้นอยู่ในอารมณ์อยากจะเขียนหนังสือต่อมากๆ หรือไม่ก็เขียน app เล่น (ถ้าออกมาดีก็ขาย)

ตอนนั้นมี iPad อยู่นะ แต่ว่าปัญหาคือ iPad มันทำทั้งสองอย่างที่ว่าไม่ได้เนี่ยสิ จะเขียนหนังสือบน iPad ก็ลองแล้วไม่เวิร์กเท่าไหร่ (แถม iPhone มัน tethering เอาไฟล์หนังสือที่โยนไว้บน cloud ไม่ได้อีก จะซื้อ iPad 3G ก็กระไรอยู่) และยังไงมันก็คงเขียน app ไม่ได้แน่ ก็เลยสบถไปว่า “ถ้างาน Back to Mac มี 11″ ออกมานะ จะสั่งเป็นคนแรกเลย”

และมันก็ออกมาจริงๆ ด้วยสิ –‘ อย่างกับศาสดาได้ยิน และผมก็สั่งไปแทบจะทันทีโดยไม่คิดอะไรมาก สั่งจาก apple store online ครับ โดยสั่ง BTO เล็กน้อย คือผมอยากได้ keyboard อังกฤษ ไม่มี screen ไทยน่ะครับ นอกจากนั้นมาตรฐานหมด (บ้าไหมล่ะ) ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าจากเหตุผลที่ผมจะซื้อมันมาใช้ spec มาตรฐานรุ่นต่ำสุดน่ะ เพียงพอแล้ว

ผมขอ review มันสั้นๆ นะครับ ไม่ขอยืดเยื้อเวิ่นเว้อล่ะ และคงไม่มีรูปด้วย เพราะว่าคงจะเห็นกันมาเยอะแล้ว

  • กล่องใหญ่กว่าที่คิดไว้แฮะ คิดว่าด้วยขนาดของเครื่องแล้ว กล่องมันจะเล็กกว่านี้ซะอีก
  • เปิดมาดูก็พบเหตุผลว่าทำไม มันหนาและยาวกว่าที่คิด เพราะว่าที่ชาร์จและสายไฟ ส่วนตัวเครื่องน่ะ เล็กอยู่
  • สิ่งแรกที่ผมทำเลย ก็คือ “พิมพ์” ครับ เพราะว่าซื้อมันมาใช้กับงานที่ต้องพิมพ์เป็นหลัก และถ้าจะใช้เวลารถติดด้วยแล้ว ถ้าพิมพ์ไม่มีความสุขล่ะก็ คงมีปัญหาแน่ๆ และผมก็พบว่า ด้วยความที่เป็น full-size keyboard นั้นทำให้ผมพิมพ์ได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างได แต่ว่าเนื่องจากคีย์มันจะแบนกว่า MacBook Pro เล็กน้อย ดังนั้นอาจจะพิมพ์ได้ไม่มันส์เท่า การตอบสนองของคีย์จะน้อยกว่า
  • ข้อสรุปเรื่องแรก คือ ยังไงซะ MacBook Pro ก็เป็น laptop ที่มี keyboard ที่ดีที่สุดที่ผมเคยใช้มาอยู่ดี แต่ว่าต้องขอบคุณที่ยัด full-size มาให้กับ MacBook air ตัวนี้ เพราะว่าผมเคยใช้ netbook มาบางรุ่น และยืนลองแทบทุกรุ่น และผมมีปัญหากับการพิมพ์บน keyboard พวกนั้นอย่างรุนแรง
  • แต่ว่า keyboard มันไม่ backlit นะ ถึงจะพิมพ์ไม่ดูอยู่แล้วก็เถอะ บางครั้งมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน
  • ขนาดจอ 11″ ที่มี proportion ที่ “กว้าง” กว่าปกติเล็กน้อย ก็ทำให้ผมอึดอัดบ้างเหมือนกัน เพราะว่าจอมันเตี้ยกว่าที่คุ้นเคย ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่าต้องการทำให้เครื่องเล็ก แต่ว่ายังคงมี full-size keyboard อยู่ ก็เลยต้องกว้างตาม keyboard
  • ก็ไม่เป็นไร แต่ว่าต้องปรับตัวนิดนึง จะแย่หน่อยก็ตรงที่ว่า งานที่ต้องการจะทำบนนี้ จะต้องการจอที่สูงมากกว่าจอที่กว้างซะด้วย
  • แต่ว่าจอกว้างๆ เตี้ยๆ มันก็ดีอย่างนะ มัน low profile กว่า และมันหยิบขึ้นมาทำงานในที่แคบๆ (เช่นเบาะที่นั่งในรถยนต์) ได้ดีกว่า
  • SSD ทำงานเร็วมาก! เรียกได้ว่าไม่อยากกลับไปใช้แบบจานหมุนเลยแฮะ ทั้งเร็วทั้งเงียบ
  • การใช้งานทั่วไป …. ผมยังคงอึดอัดกับมันอยู่นะ อาจจะเพราะว่าใช้ 17″ มาซะเคยตัว ต้องให้เวลากับมันอีกนิดหน่อย
  • แต่ว่ามันเบาดี สบายดี พกง่ายดี …​เพียงแต่ตอนนี้ยังหาซอง/กระเป๋า/อะไรพวกนี้ ที่ขนาดพอดีตัว มาใส่มันไม่ได้ ก็เท่านั้นเอง

เอาแค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะ ไว้ใช้มากกว่านี้ก่อน จะกลับมารีวิวใหม่

เล่าประสบการณ์ “iPad”: #3 ทำงาน

ต่อจากตอนที่ 1 (Background) และตอนที่ 2 (อ่านหนังสือ) ก็มาถึงเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมอยากเล่าถึงเจ้า iPad ซึ่งก็คือเรื่อง “การทำงานแบบ casual แทนคอมพิวเตอร์ได้บ้าง” ซึ่งจริงๆ ก็เขียน requirement นี้ไว้ตั้งแต่ตอนที่ 1 แล้ว แต่ว่าทิ้งช่วงไปพักใหญ่ๆ เพราะว่าไม่ค่อยว่างจะเขียน

สำหรับการทำงานนั้น เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า Apple เองนั้นก็ได้วางตำแหน่งของ iPad ในลักษณะ casual work ด้วยเช่นกัน ด้วยการออกชุดโปรแกรม iWork สำหรับ iPad ซึ่งประกอบด้วยโปรแกรมมาตรฐานสำหรับชุดนี้ นั่นก็คือ Pages, Keynote, Numbers แต่ว่าสามารถซื้อแยกกันได้

อ่อ ลืมไป สำหรับคนที่ไม่มี account ที่ใช้ iTunes Store USA ได้ ก็เสียใจด้วย เพราะว่าจะซื้อ/โหลดโปรแกรมไม่ได้ (รวมถึง iBooks ด้วย) ซึ่งปัญหานี้แก้ได้โดยซื้อ iTunes Gift Card ตาม e-Bay ซึ่งมีคนซื้อมาขายเรื่อยๆ กินกำไรเล็กๆ น้อยๆ ราคาค่อนข้างดีพอสมควร ก็ซื้อพวกนี้มา redeem สร้าง account เอา

ผมคิดเอาไว้ว่า นอกจากโปรแกรมในชุด iWork แล้ว จะต้องมีโปรแกรมอีก 4-5 ตัวเป็นอย่างน้อย ถึงจะใช้ทำงานได้ เช่น โปรแกรมบันทึกรายรับรายจ่าย และวางแผนการเงินเบื้องต้น โปรแกรม Mindmapping โปรแกรมสมุดโน๊ต (Journaling) ที่ค่อนข้างเฉพาะทาง และใช้งานไม่ยาก โปรแกรมฐานข้อมูลง่ายๆ และโปรแกรมเชื่อมต่อกับ Google Doc ก็น่าจะครบในระดับหนึ่งแล้ว

โปรแกรมเหล่านี้ หาไม่ยากแต่อย่างใด เพราะว่ามีคนทำขายค่อนข้างเยอะอยู่ ราคาก็ถือว่า OK โดยทั่วไปจะสูงกว่าโปรแกรมบน iPhone อยู่นิดหน่อยถึงปานกลาง (แต่ว่าที่แพงๆ หน่อย เทียบกับราคามาตรฐาน เช่น ​Papers ก็มีเช่นกัน แต่ว่ายังไงๆ ตัวนี้ผมก็ซื้อนะ เอามาอ่าน papers ซึ่งก็ทำงานได้ดีพอสมควร)

สำหรับโปรแกรมในชุด iWork นี่ตอนนี้ซื้อมาแค่ Numbers และ Keynote เพราะว่าตราบใดก็ตามที่ยังไม่มีคียร์บอร์ดภาษาไทยแบบดีๆ ผมก็ยังทำงานกับเอกสารภาษาไทยไม่ได้อยู่ดี ดังนั้นมี Pages ไปก็ค่อนข้างจะเท่านั้น และเท่าที่ลองๆ ดู ก็พบว่าทั้งสองตัวทำงานได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะเมื่อมีคนส่งไฟล์มาให้ผมแก้ หรือว่าเพิ่มข้อมูลอะไรบางอย่าง (ซึ่งส่วนมากจะเป็นไฟล์ Excel)

สำหรับโปรแกรมอื่นๆ นอกนั้นก็ทำงานได้อย่างที่คาดหวังไว้ ด้วยขนาดของหน้าจอที่ใหญ่พอให้ทำงานได้จริง เมื่อเทียบกับ iPhone ซึ่งผมคิดมาตลอดว่า มีข้อจำกัดด้าน Physical มากเกินไปสำหรับการทำงาน Productivity จริงจัง โดยสำหรับ iPad แล้ว การตอบเมล์ที่ยาวขึ้น การเขียนอะไรที่ยาวขึ้น รวมถึงการใช้งาน Productivity Apps ต่างๆ ในการกรอกข้อมูล หรือบริหารจัดการข้อมูลที่กรอกไปแล้ว ค่อนข้างจะทำได้ดี ทำให้ผมมีมั่นใจที่จะพกมันไปไหนมาไหนในโหมด “อ่านเป็นหลัก เล่นเน็ตบ้าง และเผื่อทำงานถ้าจำเป็น” มากขึ้นเยอะ

ตอนนี้สิ่งที่ขาดที่สุดสำหรับ iPad คือ Mind Mapping ที่ดีและใช้งานง่าย ไม่เน้นฟีเจอร์ แต่เน้นสร้าง Mind Map โง่ๆ ได้แบบด่วนๆ และไม่ขัดกับธรรมชาติการใช้งาน (และ compatible กับโปรแกรมที่ผมใช้อยู่บน Desktop .. อย่างน้อยๆ ก็ให้เปิดไฟล์กันได้) นอกจากนี้อาจจะขาดพวก Personal Wiki หรือ Information Organizer ที่ยืดหยุ่นสักหน่อย ใช้งานในลักษณะ Wiki ส่วนตัวได้ ก็น่าจะจบแล้ว (ระบบเชื่อมด้วย Tag ของโปรแกรม Journaling บางตัวก็ดีนะ แต่ว่ามันยังไม่พอ อยากจะเชื่อมด้วย Wiki Word ไปเลยจะหมดเรื่องหมดราวมาก)

สำหรับเรื่อง Personal Wiki นี่กำลังจะลอง WikiPad ว่าเป็นยังไง ถ้ามันโยน Text File ออกมา sync กับโฟลเดอร์ในเครื่องได้จะ Work มาก เพราะว่าในเครื่องนี่ใช้ Plain Text Wiki สำหรับ TextMate อยู่

โปรแกรมเชื่อมต่อกับ Google Doc ตอนนี้ใช้งานได้ในลักษณะ Viewer อย่างเดียวล่ะมั้ง ตัวที่แก้ไขได้ยังไม่เจอเลย (หรือว่าผมใช้ไม่เป็นเองหว่า) แต่ว่าแค่ Download ได้นี่ก็พอแล้ว เพราะว่าเราให้คนส่งข้อมูลหลายอย่างใน Google Spreedsheet นี่นะ แค่ดูได้ ผมก็ค่อนข้างจะ happy แล้ว แล้วมันก็ sync เป็นเวอร์ชันปัจจุบันกับ Google Doc ให้เรื่อยๆ ก็ดีระดับหนึ่ง

มีอะไรจะอัพเดทเพิ่มเติมนะครับ และตอนต่อไปก็คงจะเขียนเรื่อง “เล่นเกม” ซะหน่อย

เล่าประสบการณ์ “iPad”: #2 อ่านหนังสือ

หากท่านยังไม่ได้อ่าน “ตอนที่ 1: Background” กรุณาอ่านก่อนนะครับ เพราะมันต่อกัน

ผมยอมรับอย่างหนึ่ง ว่าผมไม่ได้ดู Keynote งานเปิดตัว iPad เพราะว่าผมไม่ค่อยสนใจเรื่องอื่นๆ มากนัก ทุกวันนี้ผมอ่านหนังสือกับ iPhone ผ่านโปรแกรม Stanza บ้างอยู่แล้ว และก็ค่อนข้างพอใจกับมัน แต่มันก็ยังไม่เหมือนกับอ่านหนังสือจริงๆ เนื่องจาก form factor ของมันทำให้อุปกรณ์ต้องอยู่ใกล้กับตัว (ตา) มากกว่าที่ผมชอบ (ถ้าอ่านหนังสือจะวางมันไกลกว่านั้น อาจจะเป็นบนตักหรือบนโต๊ะ)

แต่ผมกลับทำใจอ่านหนังสือ (PDF, Kindle) บน Laptop เป็นหลักไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าเหนื่อยสายตาหรอกครับ (ทุกวันนี้ดูจอคอมพ์ตลอดก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว) แต่เพราะเหตุผลเดียวกับ iPhone และท่าทางการอ่านมันยิ่งผิดธรรมชาติมากขึ้นไปอีก เพราะคอมพิวเตอร์ทุกวันนี้มันถูกออกแบบมาสำหรับ “นำข้อมูลเข้า” มากกว่า “บริโภคข้อมูล” ทำให้เมื่อผมใช้งานมัน dominant mode คือ “พิมพ์”

เอาล่ะ เสียเวลากันมากไปแล้ว ลองดูกันสักที ว่าถ้าผมมี requriement ตั้งต้นแบบนี้แล้ว เจ้า iPad จะตอบผมได้ดีแค่ไหน

อย่างแรกที่ผมทำ นั่นคือ ตรวจสอบว่ามีโปรแกรมอ่านหนังสือมากแค่ไหน และมีหนังสือเป็นดิจิทัลแค่ไหนแล้ว ซึ่งก็พบว่า มีมากพอสมควร และไม่ได้ lock อยู่ในรูปแบบเดียว โปรแกรมที่อ่านหนังสือได้ก็มีอยู่หลายตัว เช่น iBooks ของ Apple เอง ที่รองรับรูปแบบ ePub, Kindle ของ Amazon ที่เอาไว้อ่าน Kindle format (mobi) ที่ซื้อจาก Amazon (ในขณะที่ Kindle for Desktop ใช้ได้ แต่ว่า sync มาลงไม่ได้ นอกจากจะหาวิธีงัดแงะเอา) Zinio สำหรับอ่านวารสารนิตยสารที่ซื้อผ่าน Zinio เอาแค่นี้ก่อน

ทำไมต้อง check ขนาดนี้ … ไม่งั้นมันก็เข้าทำนอง “มีดโกนฟรี อาจราคาถูกไม่ถูกนัก ตราบใดก็ตามที่มีที่ซื้อใบมีดโกนที่เดียว” น่ะสิ นอกจากนี้ก็ต้องดูหน่อย ว่ามีโปรแกรมที่แปลงรูปแบบกันไปมาได้หรือเปล่า และผมก็พบว่า โปรแกรม Stanza บน Desktop นั้นสามารถแปลงรูปแบบได้ดีพอสมควร แต่ถ้าต้นทางเป็น PDF ก็ลองใช้ calibre ก็ได้ แต่อย่าคาดหวังมากนัก เนื่องจาก “รูปแบบของการจัดหน้า” ของ PDF ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะกับการพิมพ์ printed version และอาจเน้นการจัดหน้าเป็นหลัก เช่นวารสารทั่วไป หรือหนังสือแนวออกแบบ กับรูปแบบของ ePub, mobi ที่เน้นการจัดให้เรียบง่ายสุดๆ มันทำให้แปลงกันยาก

เมื่อตรวจสอบทั้งหมด จนแน่ใจว่าถ้าซื้อมา อย่างน้อยๆ ก็ซื้อหนังสืออ่านได้แน่ๆ และมีหนังสือที่อยากอ่านอยู่ใน Amazon store เป็นอย่างน้อยที่สุด และเอา Stanza แปลงเป็น ePub เพื่อโยน iBooks ได้ด้วยเนี่ย ผมก็โทรไปบอกคุณลิฟท์ @L77 ทันที โดยไม่สนใจว่าราคามันจะถูกหรือมันจะแพง เพราะว่าน่าจะเป็นอุปกรณ์ที่รอมานานแล้ว และก็เข้าไปเอาเครื่อง เมื่อเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา (วันที่ 9)

และเมื่อได้เครื่องมาอยู่ในมือแล้ว Step ถัดมา คือ การทำให้ตัว iPad เอง มีลักษณะคล้ายกับ “หนังสือที่พกไปมา” มากที่สุด …. ซึ่งตรงนี้ ผมเดินเข้า B2S ครับ เพื่อหา “แฟ้มเอกสาร” เอามาดัดแปลง ซึ่งรูปแบบแฟ้มเอกสารที่ผมต้องการคือ ไม่มี binder และมีที่ให้เสียบกระดาษประมาณ 50 แผ่น และมีขนาดประมาณ A5 ซึ่งจะพอดีกับขนาดของ iPad ก็มีให้เลือกหลายแบบหลายสีหลายราคา เลือกหากันตามสะดวกเลยครับ โดยอันที่ผมซื้อมานี่เป็นหนัง ราคาประมาณ 7xx บาท จากนั้นก็เอาคัตเตอร์มาเจาะรูด้านบน สำหรับหูฟัง และปุ่ม lock และด้านล่าง เพื่อเสียบสายขาร์จ และหน้าตาของมันก็ออกมาแบบนี้


P1010768.jpg


และพอเปิดออกมาแล้ว ก็จะเป็นแบบนี้


P1010771.jpg


อืมมม ไม่เลว ทีนี้ก็ลองมาดูสิว่าเวลาอ่านหนังสือมันจะหน้าตาและความรู้สึกยังไง

Untitled.001.jpg

จากซ้ายบน ตามเข็มนาฬิกา: iBooks+Bookmarks (highlight), Kindle+highlight+notes, Zinio, Zinio

ขอไล่ไปเป็นข้อๆ เลยละกันนะครับ โดยอันนี้จะอ้างอิงจาก requirement พิ้นฐานที่เขียนถึงไปแล้วในตอนที่ 1 เป็นหลักนะ

  • Form factor ต้องบอกว่า “ใช่เลย” ถึงน้ำหนักมันจะหนักไปสักนิดในการใช้งานจริง แต่ว่าถ้าวางไว้บนตักก็จะไม่รู้สึกอะไรเลย
  • วิธีการอ่านหนังสือ โดยใช้นิ้วเขี่ยในการเปลี่ยนหน้าหนังสือ ก็ต้องบอกว่า “ใช่” มากๆ โดยจะมี animation ของการเปลี่ยนหน้าหรือไม่มีก็แล้วแต่ (แต่ยอมรับแต่โดยดีครับ ว่ามี animation การเปลี่ยนหน้าให้ feel ดีกว่าเยอะมากๆ)
  • iBooks ทำงานลื่นไหลดีมาก ส่วน Kindle จะออกอาการอืดนิดๆ ถ้าให้มี animation …​ไม่เป็นไร ยอมได้นิดหน่อย ถ้าคิดว่ามันอืดก็ปิดซะ เรียกว่า iBooks เรื่อง feel และความเร็ว เหมือนอ่านหนังสือจริงๆ มาก ส่วน Kindle ถ้าจะเอา feel ในแง่ของรูปลักษณ์และความรู้สึกของการเปิดหน้ากระดาษ ก็จะเสีย feel ในแง่ของการตอบสนองนิดหน่อย
  • เรื่องการขนตู้หนังสือไปด้วยทั้งตู้ นี่ใช่เลย ถ้าหนังสือเป็น ePub อยู่แล้ว ให้โยนลง iBloat เอ๊ย iTunes เลยครับ มันจะจัดการเอง เหมือนกับเราใช้ iPod น่ะแหละ แต่ว่าถ้าเป็น Kindle เราต้องเข้าไปจัดการให้มัน deliver มาที่ iPad เราก่อน ซึ่งคนใช้ Kindle น่าจะคุ้นเคยกับ process นี้อยู่แล้ว (อีกครั้งนะครับ มัน sync กันโดยตรงระหว่าง Desktop และ iPad ไม่ได้ ต้องผ่าน services ของ Amazon เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ก็ดีไปอีกแบบ)
  • การ highlight ทำได้ค่อนข้างดีและเป็นธรรมชาติค่อนข้างมาก ทั้งสองตัว
  • แต่ว่าทำไมหนอ … สิ่งที่ผมให้อภัยไม่ได้เลย ก็คือ ทำไม iBooks มัน annotate ไม่ได้? หมายถึงว่า ทำไมเราถึงเขียน note อะไรเพิ่มเติมไปไม่ได้เลย เพราะว่านี่เป็นสิ่งที่ผมทำบ่อยมาก (และผมเชื่อว่าหลายท่านทำบ่อยเหมือนกัน) คือ อ่านไปเขียนไป เวลาคิดอะไรออก ก็เขียนมันลงตรง margin หน้าน่ะแหละ ซึ่งตรงนี้เสียดายเป็นอย่างยิ่ง ถ้าทำระบบ note ดีๆ หน่อย ว่าตรงที่เรา annotate เนี่ย มันอยู่ตรงไหน หน้าไหน ย่อหน้าไหน ข้อความไหน กับ bookmark ไหน มันจะสุดยอดมากๆ และถ้ามัน search ได้ด้วยจะเป็นพระคุณมากๆ
  • ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าเรา export ข้อความจากหนังสือที่เรา highlight พร้อมกับ note ที่เราเขียนเพิ่มเข้าไป ออกมาเป็นไฟล์หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และเชื่อมกับ Pages หรือ Keynote ใน iPad ได้เลย จะเป็นอุปกรณ์ทำงานที่เยี่ยมมาก เพราะว่าอ่านหนังสือจบเล่ม เราก็จะได้หนังสือเล่มเล็กๆ ของตัวเองเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “My Hightlights and Annotated Thoughts in Reading (ชื่อหนังสือ .. อะไรก็ว่าไป)” ออกมาเลย นี่คงจะดีไม่น้อย (ผมทำอยู่บ่อยๆ แต่ว่ามันต้องพิมพ์ซ้ำไปซ้ำมา)
  • เลยยิ่งนึกยิ่งเสียดาย เพราะว่าคีย์บอร์ดที่มีมาให้ด้วย นี่ “ดีมาก” โดยเฉพาะใน Landscape mode ที่ผมพิมพ์ได้ความเร็วสูงพอสมควร คิดว่าสูงกว่า 45 WPM สบายๆ แต่ว่าถ้าเป็น Portrait mode นี่จะพิมพ์ลำบากกว่ามาก คือ สรุปว่า สำหรับตัวผมเอง ผมพิมพ์บน iPad ด้วยคีย์บอร์ดใน Landscape mode เร็วกว่าบน NetBook ของ Acer ที่เคยใช้อยู่แป๊บนึง … ถ้ามัน annotate ได้นะ คงอ่านหนังสือสนุกมากๆๆๆๆๆ เลย
  • ก็ได้แต่หวังว่า iBooks รุุ่นต่อไปจะแก้ปัญหาตรงนี้มานะ
  • อีกโปรแกรมที่ลงไว้ คือ Zinio ก็ถือว่าทำงานได้ดีเลย รู้สึกได้ชัดมาก ตอนที่จะนั่งอ่านอะไรที่มัน casual หน่อย เข่น เข้าห้องน้ำ แล้วเกิดอยากอ่านวารสาร เมื่อก่อนก็ต้องคุ้ยตู้หนังสือเพื่อหาวารสารเข้าไปอ่าน ก็มีแต่อ่านแล้ว อ่านแล้ว และอ่านแล้ว ก็เลยพกคอมพิวเตอร์เข้าไปนั่งเล่นเน็ตแทน อย่างน้อยก็มีอะไรใหม่ๆ ให้อ่าน หรือไม่ก็พก iPhone เข้าไป ซึ่งก็อ่านไม่สนุกอีก เนื่องจากจอมันเล็กไปนิด (แต่ว่าจริงๆ แล้ว iPhone ทำให้ผมอ่านเยอะขึ้นกว่าตอนใช้แต่คอมพ์เพียวๆ นะ เพราะว่ามัน consume ง่ายกว่า input/create) …​คราวนี้ก็เลย “ซื้อวารสารใหม่” มาอ่านมันซะตรงนั้นเลย เยี่ยมมาก
  • ถ้าเป็นวารสารที่มีรูป … เนื่องจากจอมันเจ๋งครับ แสดงผลได้สวยงามมาก (จากรูปด้านบน เป็น National Geographics)
  • นิดนึง ในกรณีที่อ่านด้วย Kindle ก็คงจะทราบกันแล้ว ว่ามัน deliver ให้กับอุปกรณ์ทุกตัวที่เราสั่งไป และ sync ให้หมด ดังนั้นถ้าผมอ่านอะไรค้างๆ อยู่บน iPad จะมาอ่านต่อบน iPhone หรือว่า Kindle ของ Amazon เองเลย ก็ไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด
  • ถามว่าเมื่อยตามั้ย …. ไม่เมื่อยนะ เพราะว่าสิบปีผ่านไปกับการนั่งดูแต่ LCD ทำให้สายตามันคงจะชินแล้วล่ะ
  • ยังไม่ได้ลองอ่าน PDF ด้วย Goodreader แต่ว่าซื้อมาแล้วล่ะ เดี๋ยวจะจัดการต่อว่าเป็นไง แต่ทำไมมันไม่ทำให้ iBooks อ่านได้ด้วยก็ไม่รู้

สามวันผ่านไป ผมอ่านหนังสือจบไป 2 เล่ม ซึ่งเล่มหนึ่งเป็นหนังสือที่จริงๆ ซื้อ printed version มาดองไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่าน …. ส่วนอีกเล่ม ซื้อมาและอ่านได้ส่วนหนึ่งใน Stanza แต่ว่าไม่ได้ไปถึงไหนมาก เพราะว่ามันอ่านไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ แต่ว่าพอมาใช้ iPad นี่อ่านสนุกมาก

แค่นี้ก็คุ้มมากแล้วในความรู้สึกผม …. สรุปสั้นๆ ว่า

“iPad เป็นอุปกรณ์ที่ผมรอมานานมาก นับสิบปีแล้วที่อยากให้มีของแบบนี้”


เพราะว่ามันจะทำให้ผมอ่านหนังสือได้เยอะกว่านี้ เสียเงินซื้อหนังสือ (ต่อเล่ม) น้อยกว่านี้ ลำบากในการขนส่งหนังสือน้อยกว่านี้มาก (ตอนซื้อ Amazon นี่ ค่าหนังสือและค่าขนส่งนี่หนักเหมือนกัน เคยคิดกับพ่อเล่นๆ ว่าผมซื้อหนังสือไปเท่าไหร่แล้ว …. ก็เอาเรื่องอยู่เยอะ) และพอหนังสือมันเป็นดิจิทัลแล้ว เวลามีอัพเดทก็สามารถ download ใหม่ได้ (ถ้า publisher ทำให้) เฮ้อ แต่เสียดายมากๆ ที่ “ทำไม iBooks มัน annotate ไม่ได้วะ” (อันนี้โคตรแค้นฝังหุ่น) … เดี๋ยวตอนหน้าจะเล่าประสบการณ์เรื่องที่เหลือนะครับ เรื่องการใช้มัน “ทำงานแบบ casual”

เล่าประสบการณ์ “iPad”: #1 Background

ไหนๆ ก็ซื้อมาแล้ว ลองใช้งานก็หลายวันแล้ว ก็ขอเขียนถึงมันซะหน่อยก็แล้วกัน ผมไม่อยากจะถือว่านี่เป็นการรีวิวนะ ถ้าเรื่องรีวิวมีคนเขียนไว้ดีมากอยู่หลายที่แล้ว สำหรับที่เป็นภาษาไทยก็มีที่ Siampod นะ ที่แนะนำ (เขียนดีมาก) อยากให้อ่านกันดู

สำหรับที่นี่ ผมขอเขียนในลักษณะแชร์ประสบการณ์ก็แล้วกัน

ก่อนอื่น ขอบอก profile ของตัวเองก่อน … จะได้เข้าใจว่าผมมีความคาดหวังอย่างไรกับอุปกรณ์ตัวนี้ และทำไมผมถึงสนใจมัน

ผมเป็นพวกอ่านหนังสือเยอะ แต่ส่วนมากจะหนักไปทางพวก non-fiction, popular science, technical, software philosophy ฯลฯ กับพวกวารสารนิตยสารซะเป็นส่วนมาก นอกจากนั้นก็มีพวกบทความวิชาการ (academic paper) ที่ต้องอ่านอยู่เป็นประจำ เมื่อก่อนไปไหนมาไหนขนหนังสือไปหลายเล่ม จนคนหมั่นไส้ก็มี ว่าขนมาสร้างภาพ –‘ (ซึ่งเป็นเรื่องตลก — บังเอิญที่บ้านเลี้ยงด้วยหนังสือตั้งแต่เด็ก) ในช่วงที่อ่านหนังสือมากที่สุดในชีวิต ผมอ่านหนังสือพวก popular science เฉลี่ยแล้ว 1-2 วัน/เล่มเห็นจะได้ นอกจากนั้นก็จะมีพวกวารสารนิตยสาร พวก Time, Economist, Discovery, National Geographcis และอีกหลายๆ เล่ม ที่รับและซื้อตลอด

ผมมาพบว่า ตัวเองอ่านหนังสือน้อยลงมากในช่วงเวลา 3 ปีหลัง รวมทั้งวารสารด้วย (อ่าน Time ไม่จบทุกเล่มเหมือนที่เคย บางเล่มยังไม่ได้แกะเลย) เพราะสาเหตุหลายอย่าง เช่น

  • ความไม่สะดวกในการพกหนังสือไปหลายๆ เล่มอีกต่อไป
  • หนังสือเล่มที่เราอยากจะอ่าน มักไม่อยู่กับเราเวลาที่เราอยากจะอ่านมันเสมอๆ
  • การพิมพ์ note หรือ quote ลงในคอมพิวเตอร์เป็นอะไรที่ขัดธรรมชาติ (แต่จำเป็นเวลาต้องใช้อ้างอิง) ซึ่งใครเคยมาห้องทำงานผมจะทราบดี ว่าผมมักเดินไปหยิบหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ที่เคยอ่าน มาชี้ให้ดูประเด็นตรงนั้นตรงนี้เสมอ (เคยมีคนถาม ว่าจำทั้งหมดได้ยังไง … อันนั้นมันเป็นความสามารถของสมองส่วน R-mode)
  • ตัวเองอ่านอะไรในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมี iPhone
  • (ต่อจากข้อที่แล้ว) สิ่งที่ “อ่านได้” มันอยู่ในอินเตอร์เน็ทมากขึ้น และมันเหมาะกับ casual reading มากกว่า มัน bookmark ง่ายกว่า มัน “พกติดตัว” ง่ายกว่า (ก็แค่ต่อเน็ต ก็อ่านต่อได้แล้ว)

เมื่อเอาทั้งหมดมาประกอบร่างกัน จะพบว่าสิ่งที่ผมต้องการคือ “iPod สำหรับตู้หนังสือ” ในรูปแบบเดียวกับที่ iPod ที่ผ่านมา มันเป็นตู้เพลงเคลื่อนที่ทั้งตู้ โดยที่ Requirement พื้นฐานของผม สำหรับ “iPod สำหรับตู้หนังสือ” ที่ว่านี้ก็คือ

  • มี form factor ที่กำลังพอดี ไม่เล็กไม่ใหญ่ไม่หนักเกินไป และมีความสว่างของหน้าจอพอให้อ่านสบาย
  • ลักษณะการใช้งาน มันต้อง intuitive เหมือนกับการอ่านหนังสือจริงๆ ไอ้กดปุ่มเพื่อไปหน้าถัดไป นี่ไม่เอาด้วย
  • มันต้องขนหนังสือไปด้วยได้ทั้งตู้ และต้องอ่านหนังสือได้ทุกรูปแบบที่ผมมี (หมายถึงหนังสือดิจิทัลเท่านั้นนะ)
  • ต้องมีระบบ bookmark และการเขียน note (annotation) ที่ดีพอ และนั่นก็หมายถึงว่าต้องมีคียร์บอร์ดหรือส่วนของ input ที่ดี
  • ต้องทำงานในลักษณะ rich media/content ได้ นั่นคือเล่นภาพและเสียง เนื่องจากหนังสือหลายเล่มที่ผมมี มันเป็นมีเนื้อหาหลักเป็นภาพที่เล่าเรื่อง ไม่ต้องคิดไกล คิดแค่ National Geographics ก็พอแล้ว

และไหนๆ ก็ไหนๆ ในเมื่อโดยพื้นฐานแล้วมันก็ต้องเป็นคอมพิวเตอร์ด้วยอยู่แล้ว (เนื่องจากขนาดมันก็คงไม่เล็กเท่าไหร่ จาก requirement สองข้อแรก) ดังนั้นก็เลยพ่วงพวกนี้เข้ามาหน่อยก็แล้วกัน

  • เอาไว้ทำงานแบบ casual แทนคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ไม่ต้องมากหรอก แค่ทำได้ดีกว่า iPhone นิดหน่อยผมก็พอใจแล้ว พวกตอบ e-Mail ดูตารางนัดหมาย ปฏิทิน ที่เหลือก็ต่อเน็ทใช้ web browser ได้ ก็ทำได้เกือบหมดแล้ว (ตราบใดก็ตามที่มี Google Doc) แต่ถ้ามีโปรแกรมเฉพาะทางโน่นนี่ให้หน่อย ก็จะดีไม่น้อย
  • ซื้อหนังสือเพิ่มเติมได้ ไม่งั้นคงเซ็งแย่
  • มีเกมเล่นบ้างตามสมควร

ทำไมผมต้องเล่าอะไรไม่รู้ยืดยาวด้วย แค่รีวิวๆ มันให้จบๆ เรื่องไม่ได้หรือ? อย่างที่บอกล่ะครับ ว่าผมไม่ได้จะรีวิว แต่จะแชร์ประสบการณ์ในฐานะที่เขียนไว้ด้านบน และด้วยความคาดหวังเบื้องต้นอย่างที่เพิ่งบอกไป …. แต่ว่ามันชักจะยาวไปแล้ว ขอเล่าต่อในตอนต่อไป (จะเขียนต่อเลย)

Panasonic GF1: RAW vs. JPEG

ค้างเรื่องนี้มานานแล้วเหมือนกัน เขียนซะหน่อย (ช่วงนี้กำลังทำให้ blog นี้กลับมามีชีวิต และเปลี่ยนมันเป็น Photographer’s blog อยู่)

อย่างที่เขียนไว้ในบทความก่อนหน้านี้เรื่อง RAW vs JPEG น่ะแหละครับ ว่าปกติผมเป็นคนที่ถ่าย JPEG เป็นหลัก ยกเว้นแต่ 1. จะถ่ายมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก RAW จริงๆ หรือไม่ก็ 2. รับ JPEG ที่ออกจากกล้องมาไม่ได้ เท่านั้น เลยเป็นประเด็นของบทความนี้ครับ มาดูกันจะๆ เลยดีกว่า ว่าทำไมผมรับ JPEG ของ Panasonic GF1 (ซึ่งเป็นกล้องสุดที่รักเลยนะตอนนี้) ไม่ได้

จริงๆ ก็สั้นๆ แหละครับ คือมัน “Over-processed” มากไป ค่อนข้างมีความเพี้ยนของอะไรหลายๆ อย่างสูงพอควร คือ กล้องมันคิดแทนเรามากไป ว่าอะไรควรจะสวยไม่สวยยังไง ซึ่งจริงอยู่ บางทีมันก็ work แต่ว่าหลายครั้งมันก็ไม่ค่อยจะได้เรื่องเท่าไหร่

ดูตัวอย่างนะครับ (Click บนรูปเพื่อดูภาพใหญ่นะครับ; รูปแรก convert จาก RAW ดิบๆ ส่วนรูปหลังเป็น JPEG จากกล้อง)


P1000774.jpg

P1000774-2.jpg

สิ่งที่อยากให้สังเกตเป็นพิเศษ คือ โทนสีและแสงเงาครับ โดยเฉพาะเรื่องของ Skin tone ที่ค่อนข้างจะเพี้ยน และเมื่อเทียบกับข้อมูลดิบจาก RAW แล้วยิ่งเห็นชัดว่า JPEG engine มัน over-processed ค่อนข้างชัดเจน ทั้งๆ ที่ตั้ง mode เป็น standard เอาไว้ ลองดูเทียบกันอีก 2 รูปครับ (เช่นกันครับ รูปแรกจาก RAW)


P1000765.jpg

P1000765-2.jpg

รูปนี้อาจจะชัดกว่าเมื่อกี้นิดหน่อยในบางอย่าง เช่น ความมืดของบริเวณที่อยู่ในที่มืด และสีแดงของป้ายที่อยู่ในที่มืด ซึ่งจริงๆ แล้วสีของ RAW นั้นค่อนข้างจะสวยดีอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่สีมัน Over-saturate หรือไม่ก็ Hue เพี้ยน ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่าทีมที่ทำ JPEG engine ใน Panasonic ต้องมีปัญหาเรื่องสีแหงๆ

เรื่อง JPEG จากกล้องที่ไม่ค่อยสวย ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ของ GF1 นี่ไม่ใช่ผมรู้สึกไปเองคนเดียวนะครับ มีเขียนถึงกันหลายที่ ในหนังสือวารสารหลายเล่ม แล้วก็เว็บไซต์หลายที่ ที่ชอบเทียบ GF1 กับ EP1 ….. ซึ่งว่ากันว่า JPEG จากกล้องของ Olympus นั้นสวยกว่ามาก แต่ผมยังไม่ได้ลองเทียบกันจะๆ ดังนั้นผมเลยขอ No-comment ดีกว่า

แต่มันก็ต้องมีจุดแข็งบ้างล่ะน่า … ใช่ครับ มันมีจริงๆ และเจ๋งมากด้วย เพราะว่าจุดแข็งของ JPEG engine ของ GF1 คือ “ขาวดำ” ครับ …. ใช้แล้วจะลืมอะไรหลายๆ อย่างไปเลย แทบจะใช้ได้เลยจากกล้องไม่ต้องไปทำอะไรกับมันแล้วทั้งนั้น


P1000644.jpg


บทความที่เกี่ยวข้อง

2009

ไม่ได้เขียน Blog มานาน และคิดว่าคงไม่ได้เขียนอีกนาน ไหนๆ เขียนแล้ว ก็ขอเขียน Year in Review ของตัวเองหน่อยก็แล้วกัน แบบไม่เรียงลำดับนะ คิดอะไรออกก็เขียน และจะให้เวลาตัวเองในการเขียน Blog นี้แค่ 20 นาที เป็นอย่างมาก

  • ปรับตัวเข้ากับการบริหารงานแบบราชการๆ ได้มากขึ้น (แปลว่า ปลงตกมากขึ้น) การปรับแนวคิดให้เป็นแบบ Project-based มากกว่า Function-based หรือ Department-based คงเป็นได้แค่แนวคิด เพราะอย่างไรก็ตาม คนยังคิดแยกฝักแยกฝ่าย มากกว่าการช่วยกันทำงาน
  • งานองค์กร หลายอย่างคิด เริ่ม แต่ไม่เดินหน้า เพราะติดปัจจัยหลายอย่างที่คงไม่เหมาะที่จะเขียนลง Blog และเป็นปัจจัยนอกการควบคุม แต่ส่วนหนึ่งก็เพราะ ความคิดที่ไม่เป็น Project-based หรือ Project-oriented ที่พูดเมื่อกี้น่ะแหละ
  • งานหลายอย่าง ที่เราเคยวาง priority ไว้ลำดับแรกๆ พอทำไปทำมา และหารือไปมากับหลายๆ ฝ่าย (ภายนอกองค์กร) กลับกลายเป็นว่า มีอย่างอื่นที่สำคัญกว่า และผมเห็นด้วย ว่าสำคัญกว่าจริงๆ แต่ตอนแรกเรายังมองไม่เห็นงานพวกนี้มากพอ เข้าใจมันดีพอ ไปๆ มาๆ ก็เลยกลายเป็นว่าต้องจัดลำดับความสำคัญของงานใหม่ งานบางตัวที่เริ่มไว้ ก็ต้องถูกลดความสำคัญลงไป
  • ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะทำงาน 10 ตัวพร้อมกัน โดยทุกตัวเป็น Top-priority ไม่ได้หรอกครับ ยังไงๆ ก็ต้องตัดให้มันเหลือแค่ 2 ตัว และตัวนึงเป็น A-Must และอีกตัวเป็น Nice-to-have ถึงจะทำงานได้ ถ้าทุกตัว Top-priority หมด แบบนี้ยังไงก็ทำงานไม่ได้ครับ
  • สุดท้ายก็ต้องเรียนรู้ที่จะพบกันระหว่างทางครับ และผมเองก็กำลังหาจุดที่อยู่ “ระหว่างทาง” นั้นอยู่ ว่าเรื่องไหน จุดไหนถึงจะเหมาะสม ซึ่งก็คงไม่มีจุดตายตัว จุดที่เหมาะสมที่สุด ฯลฯ อะไรทำนองนั้นแน่นอน
  • แต่คนในองค์กรหลายคนดีครับ ทำให้ยังมีใจทำงานให้มหาวิทยาลัยอยู่ได้ (ย้ำนะครับ ทำงานให้มหาวิทยาลัย)
  • เป็นปีที่ซวยพอสมควร มีเรื่อง Drama เกิดขึ้นเยอะหน่อย ไหนเลยจะโดนทุบรถ และอื่นๆ อีกพอควร จะสิ้นปีอยู่แล้ว ก็ยังไม่จบเรื่องจบราว
  • ถ่ายรูปน้อยลงมากๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง พอคอมพิวเตอร์หายไป รูปที่ชอบๆ ที่คิดว่าถ่ายได้ดีๆ สวยๆ มันหายไปหมดเลย (เพราะว่าไม่ได้ Backup รูปไว้) เลยหมดกำลังใจไปพักนึง และก็ไม่สามารถหาเวลาถ่ายรูปได้เหมือนเดิม (และไม่ค่อยกล้าพกกล้องไว้ในรถ “เผื่อมีโอกาสถ่าย” เหมือนเดิม)
  • แต่ก็ยังดี ที่งานที่ทำเล่นๆ ขำๆ เกิดพอจะได้เรื่องได้ราว ถ้าใครยังไม่ทราบ รบกวนดูที่ i sure, i cheer, i hear, i am petdo!
  • จากข้อเมื่อกี้ ขอบคุณน้องๆ ทีมงาน Urchin Image นะ ที่ทำให้โลกมันน่าอยู่ขึ้นบ้าง สำหรับพี่ ไว้หมดวาระ หมดเวรหมดกรรมในปัจจุบันเมื่อไหร่ พี่จะไปช่วยงานที่บริษัทเต็มตัวนะ หวังว่าคงจะอยู่กันถึงวันนั้น
  • ปลงตกมากขึ้นกับนักศึกษา การศึกษา และการเรียนการสอน
  • แต่อย่างน้อยๆ งานหลายๆ อย่างที่เคยคิดว่าจะเริ่มทำ ก็ได้เริ่มทำแล้ว และก็ทำเรื่อยๆ น่ะแหละ ไม่ได้คิดว่าจะเสร็จเมืิ่อไหร่ ตอนนี้ก็มีหนังสือ Rails ที่สุดท้ายก็คงปล่อยฟรี ไม่เขียนขาย เพราะว่าตัวเองก็อ่านโน่นนี่ฟรีๆ บนเน็ตมาเยอะ ไม่ได้กะจะรวยอะไรกับเรื่องนี้อยู่แล้ว และไม่ชอบ ไม่ถนัด กับการเขียนอะไรแบบเป็นทางการมากเกินไป
  • อ่อ iPhone Developer Camp ที่กรุงเทพ ก็ยังไม่ได้ทำสักที หวังว่าคงจะได้ทำบ้าง หลังปีใหม่ เพราะว่าอยากจะให้มันต่างจาก iPhone Training ที่ไปทำที่ Software Park ภูเก็ตบ้าง
  • มีไอเดียทำ iPhone App เยอะแยะเลย แต่ไม่ทำ ไม่่ใช่ไม่มีเวลา แต่เพราะเครียดจากเรื่องอื่น และหมดแรงจะไปลงกับมัน ตอนนี้อยากกลับไปเป็นเหมือนเมื่อตอนปี 2001-2004 มากๆ ที่ตอนนั้น เวลามีเรื่องเครียด จะเขียน code แก้เครียด … เป็นช่วงที่ productivity สูงที่สุดในชีวิต
  • แต่ว่า Cocoa Touch เป็นเฟรมเวิร์กที่สวยมากนะ ถ้าอยู่กับมันทั้งวันได้โดยไม่ต้องยุ่งกับอย่างอื่นเลยก็ดี อิจฉาหลายๆ คนที่สามารถใช้ชีวิตแบบนั้นได้
  • ดูหนังน้อยลงมากๆ และไม่ได้เขียนรีวิวหนังเลย มีหลายเรื่อง ที่จริงๆ ก็อยากจะเขียนถึง ถึงจะเป็นหนังที่เก่าหน่อย (เช่น Batman: Dark Knight) แต่ว่าไปๆ มาๆ ก็ไม่เขียน ขี้เกียจมั้ง
  • กลับมาเรื่องเรียนเรื่องสอน ปีนี้ภาษาที่ใช้ หวยออกที่ Scheme เป็นหลักและ Ruby (เล็กน้อย) ก็คงจะแทรกๆ พวก Linux อะไรพวกนี้ลงไปบ้าง ตามสมควร คงไม่มีภาษาอะไรที่ syntax มันไม่ยุ่งยาก และ uniform ทั้งภาษา ได้เท่ากับ ​Scheme แล้วมั้ง
  • เรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนเหรอ? ย้ำอีกครั้ง ว่าปลงแล้วล่ะครับ
  • Archievement เล็กน้อยส่วนตัว …​ ในที่สุด ก็หาวิธีอธิบาย Higher-Order Function ได้แบบเนียนๆ และเป็นธรรมชาติมากๆ ได้แล้ว
  • โปรเจคเรื่องเกี่ยวกับการถ่ายรูปหลายโปรเจค มีสถานะเป็น “ยังไม่มีการดำเนินการ” หรือ “หยุดกลางคัน” หรือ “ล้มเลิก” เช่น คนเล่นกล้อง วันละรูป ซึ่งตอนแรกจะทำเป็นเว็บแอพพลิเคชัน ส่วน Photographic Project ที่ทำอยู่หลายตัว ก็ค้างไปเฉยๆ เพราะว่ารูปหาย หมดแรงถ่ายใหม่ แต่ตอนนี้ก็เริ่มๆ กลับมาถ่ายบ้างแล้ว ได้รูปถูกใจบ้าง แต่ยังไม่มี Keeper หรือรูปแบบโคตรๆ ได้อารมณ์ หรือ Decisive Moment เท่าไหร่
  • นั่นสิะ Blog ก็แทบไม่ได้เขียน
  • แก่ลงเยอะนะเนี่ย ขับรถเยอะๆ เดินทางไกลๆ แล้วร่างกายงอแง
  • เวลาอากาศเปลี่ยน ก็จะชิงไม่สบายเป็นคนแรกๆ ขององค์กรเลยซะด้วยซ้ำ
  • บ่นน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรถติด เน็ตช้า บริการห่วย ฯลฯ เรื่องต่างๆ ที่เคยบ่นเวลาไปที่โน่นที่นี่ ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่าปลง อีกส่วนหนึ่งก็คงเพราะเข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องธรรมชาติของคน เรื่องฯลฯ
  • กินข้าวน้อยลงเยอะ …. ส่วนมากตอนนี้เหลือแค่วันละมื้อ คือ มื้อเย็น ไม่รู้อยู่ได้ยังไงเหมือนกัน แต่มันเกิดอาการเบื่ออาหาร และไม่ค่อยอยากจะกินอะไรเท่าไหร่ ใน 5 วันทำงาน จะกินข้าวเที่ยงกับเค้าอยู่ประมาณวันสองวันเท่านั้นแหละ
  • เรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกับผมก็คือ …. เดี๋ยวนี้ผมเริ่มต้นสัปดาห์ ด้วยการถามหาวันศุกร์ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็นแบบนี้เลยในชีวิต เคยแต่อาทิตย์นึงมี 7 วัน ก็ทำงานมันซะเต็มๆ และไม่เคยคิดว่าเหนื่อย ไม่เคยคิดว่าอะไรทั้งนั้น คิดแต่ว่า “สนุก”
  • ถ้ากลับไปเป็นนายตัวเอง เต็มๆ ตัวอีกครั้ง … จะดีขึ้นหรือเปล่านะ?

เฮ้อ … ทำไมมีความรู้สึกว่า 30 ปีผ่านไป ชีวิตมันเพิ่งจะเริ่มต้นใหม่ ยังไงก็ไม่รู้ … entry นี้คงเขียนแค่นี้แหละครับ พบกันใหม่ สวัสดีครับ


(ภาพจาก iampetdo.com ตอน “ขอ report”)

Review: X-Men Triology

ก่อนที่จะเขียนรีวิว X-Men Origins: Wolverine ขอเอารีวิวของไตรภาคแรกของ X-Men มาโพสท์ใหม่นะครับ ซึ่งจริงๆ เป็นรีวิวที่เขียนไว้นานแล้ว และโพสท์ไว้นานแล้ว ใน Blog ในเว็บไซต์ที่ภาควิชา ซึ่งไม่ได้อัพเดทมานานมากแล้ว (และปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นเว็บที่ตายไปแล้วด้วยซ้ำไป)

รีวิวนี้ถูกโพสท์ไว้ที่ http://www.cp.su.ac.th/~rawitat/weblog/files/x_men.html เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2006 ซึ่งนานโขแล้ว … เอาเป็นว่าผมขอเอามาโพสท์ไว้อีกครั้งที่นี่ โดยไม่แก้ไขเนื้อความใดๆ ทั้งสิ้น ก็แล้วกันนะครับ

***อาจจะ spoil นะ ใจไม่ด้านพออย่าอ่านต่อ อย่าหาว่าไม่เตือนด้วย***

ไม่ได้เขียน review หรือว่าวิเคราะห์วิจารณ์หนังนานแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้อดไม่ได้จริงๆ เพราะว่ามันตีความสวยๆ ได้เยอะเลย ตั้งแต่เริ่มภาคแรกน่ะแหละ อีกอย่าง บอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้สนใจความ “เหมือน” ในเนื้อเรื่องระหว่างหนังกับการ์ตูน หรือว่าการเพิ่ม/ลด/เปลี่ยนบทบาทตัวละครบางตัวนะ

ผมอยากจะมองในแง่การตีความเชิงปรัชญากับชีวิตมากกว่า

ผมอยากจะมองแค่ว่า ถ้าบรรดา X-Men หรือว่าพวกมนุษย์กลายพันธุ์ เป็นคนธรรมดาที่แตกต่างไปจากคนทั่วๆ ไป คนที่ไม่ใช่ mainstream คนที่คิดแตกต่าง ทำแตกต่าง มีแนวคิดและความสามารถที่แตกต่างออกไปจากคนทั่วไปล่ะ …. สิ่งที่คนพวกนี้พบจากสังคมก็มักจะเป็นสิ่งเดียวกันน่ะแหละ คือ ความกลัว ที่มักจะแฝงอยู่ในรูปของความโน่นความนี่

หลายคนอาจจะมองคนที่แตกต่างเหล่านี้ ว่าเป็นผู้มีปัญหาทางจิต มีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาเพราะว่าไม่เหมือนคนหมู่มาก ฯลฯ และพยายามแก้ ด้วยการบังคับ (โดยการใช้กฏของสังคม) ให้พวกที่แตกต่างเหล่านี้เป็นไปตามคนหมู่มาก อ้างโน่นอ้างนี่ และสุดท้ายก็อ้างประชาธิปไตย (เหมือนในหนัง X-3 น่ะแหละ ที่มีการเอาตรงนี้มาแดกดันเล่นด้วย) …. แต่ว่าคนทั่วไปมันเข้าใจประชาธิปไตยซะที่ไหนเล่า ว่ามันต่างจากพวกมากลากไปตรงไหน

ผมมองว่าบรรดามนุษย์กลายพันธุ์ทั้งหลายนี่ เป็น exaggerated version ของคนธรรมดาๆ ที่มีความสามารถพิเศษอะไรบางอย่างน่ะแหละ ลองแทนความสามารถทางร่างกายด้วยคำว่า จิตใจ สิ เช่น คนที่มีใจแบบความสามารถของ Wolverine ก็เป็นพวกใจแข็งเป็นเหล็ก กล้าหักกล้าทะลวงกล้าแหก รักษาอาการบาดเจ็บทางจิตใจ (อาการท้อแท้ ฯลฯ) ได้เร็ว .. คนที่มีใจแบบ Iceman ก็เป็นพวกที่ทำให้ทุกคนใจเย็นลงได้ หรือว่าเย็นใจได้เมื่ออยู่ใกล้ๆ ผมว่าจริงๆ ลองแปลๆ ตีความเล่นๆ แบบนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน

ที่ผมชอบที่สุด (แต่ว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบไปด้วย) ในเรื่อง X-3 ก็คือ Angel ที่หลายคนบอกว่า ไม่เห็นมีบทอะไรเลย ออกมาเท่ห์แค่ไม่กี่ฉาก พลังพิเศษอะไรก็ไม่มี นอกจากบินได้

แต่ว่า Angel เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า อิสรภาพ ซึ่งอาจหมายถึงคนที่มีใจรักอิสะเสรีด้วย คนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่มีอะไรพิเศษนี่แหละ คนพวกนี้เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในสังคมที่พวกเราๆ สร้างมันขึ้นมา ผมเชื่อว่า คนเราทุกคน เกิดมาพร้อมกับสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกเด็ดทิ้งไปโดยระบบโลกที่พวกเราสร้างมันขึ้นมาเอง … นั่นก็คือ ปีกแห่งเสรีภาพ (Wings of Freedom)

ใน X-3 ภาพของ Angel จะเป็นการโบยบินบนท้องฟ้า ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา เราใช้แทนสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ และ Angel ก็คือคนที่จะถูก รักษา เป็นคนแรกของเรื่อง นั่นก็คือ การเด็ดปีก หรือทำลายเสรีภาพทิ้งนั่นเอง

คนที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่ถูกระบบของโลกเรา อ้างความเป็นคนหมู่มาก อ้างความเหมือนความเท่าเทียม ไม่ให้ความสำคัญหรือแม้แต่ยอมรับความต่าง … ทำลายลงไป … คนที่บทจะดีก็ดีใจหาย บทจะร้ายก็ร้ายน่ากลัว มีพลังมหาศาลที่สามารถเอาไปใช้สร้างสรรค์ทุกอย่างได้ หรือว่าจะทำลายอะไรก็ได้ อย่าง Phoenix … ก็มีหลายคนในความเป็นจริง แต่ว่าน่าเสียดายที่คนพวกนี้หลายคนต้องจบชีวิตตัวเอง หรือไม่ก็ดำเนินชีวิตไปในทางเลวร้ายทำลายล้าง เพราะว่าเมื่อทำดี หรือพยายามทำดี แล้วต้องอยู่ภายใต้กรอบมากไป เหมือนกับถูกกักขัง และไม่ได้รับการยอมรับในความสามารถตัวเองอย่างแท้จริง .. หรือว่าคนที่เป็นอย่างมนุษย์กลายคนพันธุ์คนอื่นๆ

ผมไม่ค่อยเชื่อหรอก ที่มีคนบอกว่า ความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของคนเรา คือ ความรัก ผมว่ามันคือ การยอมรับ ในทางที่ตัวเองเป็น และการยอมรับและยินดี ในสิ่งที่ตัวเองทำ จากความปรารถนาและเจตนาที่ดีอย่างจริงใจ ต่างหากล่ะ

อยากจะ quote อะไรบางอย่างจากหนังแฮะ แต่ว่าไม่รู้จะ quote อะไรดี ก็เอานี่ละกัน

“Do we look like we need your help (cure)?”

และพบกันในรีวิว X-Men Origins: Wolverine เร็วๆ นี้ครับ …. (ไม่ได้เขียนรีวิวหนังมานานมาก สนิมเกาะหมดแล้ว)

กล้องแนะนำ 10 ตัว (จาก The Online Photographer)

เมื่อกี้โพสท์ 10 อันดับจาก Serious Compacts ไปแล้ว คราวนี้เพิ่งเห็นว่า The Online Photographer (http://theonlinephotographer.typepad.com/) ก็เพิ่งจะโพสท์ “อันดับสุดท้าย (อันดับ 1)” ของการจัดอันดับคล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าไม่จำกัดแค่กล้องคอมแพค ก็เลยเอามาโพสท์ซะเลย

เพื่อไม่ให้เสียเวลา ก็มาดูอันดับกันเลยดีกว่าครับ

  1. Nikon D700
  2. แปลกมะ … เค้าบอกว่ายังตัดสินใจไม่ได้ … ขอเวลาอีกเดือน
  3. Nikon D90, Olympus E-30, Canon 50D, Pentax K20D, Sony Alpha 700 (เอ่อ.. เลือกไม่ถูกเหรอ?)
  4. Panasonic Lumix DMC-LX3 (surprise นิดๆ นะเนี่ย)
  5. Sony Alpha 900
  6. Olympus E-420
  7. Panasonic Lumix DMC-G1
  8. Zeiss Ikon (film rangefinder)
  9. Canon Powershot G10
  10. Canon Powershot SD880 IS (บ้านเราจะรู้จักตัวนี้ในชื่อ IXUS 870)

ดูลิสท์นี้แล้วรู้สึกแปลกๆ กว่าที่ Serious Compact แฮะ ยังตัดสินรองชนะเลิศไม่ได้ แต่ว่าดันได้ผู้ชนะแล้ว ไม่พอ อันดับสามนี่ กล้องคลาสเดียวกันเสมอกันยกแผงเลย ที่แอบเซอไพรส์นิดๆ ก็มี LX3 ที่ทำอันดับได้สูงมาก (และก็ยังเหนือกว่า G10 ซึ่งสอดคล้องกับของ Serious Compact เพราะว่าถ้านับตามลิสท์นี้ก็พบว่า G10 เป็นกล้องคอมแพคอันดับสอง)

อันดับ 1 จะเป็น D700 ก็ไม่แปลกเลย เคยใช้ตัวนี้มาพักนึง บอกได้เลยว่าเป็นกล้องที่ price/performance เยี่ยมมากๆ แต่อดงงไม่ได้นิดๆ ว่ามี Sony a900 แต่ Canon 5D MkII หายไปไหนล่ะนี่ … ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นความเห็นของเว็บนี้นะครับ

กล้องคอมแพคแนะนำ 10 ตัว (จาก seriouscompacts.com)

Serious Compacts (www.seriouscompacts.com) เป็นเว็บไซต์หนึ่ง ที่ตามอ่านประจำ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพวกกล้องคอมแพค (กล้องขนาดเล็ก กล้องขนาดพกพาง่าย) ทั้งหลายทั้งแหล่ และเร็วๆ นี้ได้ทำบทความขึ้นมาซีรียส์หนึ่ง คือ Ten Recommended Compacts หรือ กล้องคอมแพคที่แนะนำ 10 ตัว ซึ่งจะแยกไปเป็น 10 บทความ และค่อยๆ อัพเดทขึ้นมาเรื่อยๆ ไล่จากตัวที่ 10 มาถึงตัวที่ 1 (แบบเดียวกับประกาศผลประกวดนางงามเลยเนอะ)

และตอนนี้ ทาง Serious Compacts ก็ได้อัพเดทครับทั้ง 10 ตัวแล้ว ผมเลยขอสรุปลำดับไว้ดังนี้ (Link ไปหาบทความต้นฉบับที่ Serious Compacts นะครับ)

  1. Leica D-Lux 4, Panasonic Lumix DMC-LX3
  2. Canon Powershot G10
  3. Sigma DP1
  4. Ricoh GX200
  5. Olympux XA (กล้องฟิล์ม)
  6. Canon Rebel XS (1000D) (D-SLR)
  7. Ricoh GR Digital II
  8. Fujifilm FinePix F200EXR
  9. Canon Powershot A590 IS
  10. Canon Canonet QL17 GIII (ฟิล์ม Rangefinder)

บางตัวก็ไม่เห็นด้วยแฮะ บางตัวก็เห็นแล้วตกใจ เช่น Canon 1000D เพราะคิดว่าถ้าอยากจะให้ D-SLR ตัวเล็กอยู่ใน list จริงๆ ก็น่าจะมองไปที่ Olympus e-420 หรือแม้แต่ e-620 มากกว่า และแปลกใจที่ทำไมไม่มี Panasonic G1 (Micro 4/3) แต่ว่ารายหลังนี่พอจะเข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วเราก็หวังว่า m4/3 มันจะ “เล็กกว่านี้” ก็คงต้องรอ Olympus ทำออกมาล่ะ (เพราะว่าขายไอเดียตัว concept ไว้ดีมาก ใน Photokina)

ก็คิดเหมือนกันนะ ว่าขนาด Sigma DP1 ยังติดอันดับสาม (เหตุผลเพราะ “คุณภาพของภาพ” เทียบกับคอมแพคขนาดเท่าๆ กันอย่างเดียวเลยแหงๆ) แล้ว Sigma DP2 จะติดอันดับไหน (เลนส์ไวแสงขึ้น ระยะใช้ง่ายขึ้น การทำงานว่ากันว่าเร็วขึ้น ตอบสนองดีขึ้น ใหญ่กว่าเดิมนิดหน่อย)

แต่ยังไงก็คงจะเป็นข้อมูลสำหรับหลายคนที่เลือกระหว่าง GX200, G10, LX3 ได้เหมือนกันแฮะ (คำถามยอดฮิตในเว็บกล้องเมืองไทยทั่วไป) … อ่อ ส่วน Fujifilm F200EXR คงได้เพราะนวัตกรรมของเซนเซอร์ แต่แปลกที่ไม่ยักกะมี Ricoh CX1 (แต่สองตัวนี้ผมก็ชอบไอเดียของ F200EXR มากกว่าล่ะนะ)

ปล. ……. Nikon Compact ไม่มีใน list เลยแฮะ ค่ายนี้ทำคอมแพคไม่ขึ้นนะเนี่ย (จะว่าไปก็จริง สู้ชาวบ้านในช่วงราคาเดียวกัน และกลุ่มเป้าหมายเดียวกันไม่ค่อยได้)

D700 vs. LX3 ภาพต่อภาพ จากคนธรรมดาๆ หลังกล้อง

อันนี้เป็นรีวิวเปรียบเทียบกับ D700 ครับ แบบภาพต่อภาพ เชิญชมที่ Multiply ผมครับ

rawitat: my digital memories – D700 vs. LX3 ที่วังสนามจันทร์ (10/19/51)

ข้อความจากที่ผมเขียนไว้ใน Multiply

สืบเนื่องจากบทความรีวิว Panasonic Lumix LX3 #2 ที่ผมได้เขียนไว้ที่เว็บไซต์ส่วนตัว และได้โพสท์ลิงค์ไว้ที่นี่ และมีเพื่อนคนหนึ่งใน twitter เข้ามาถาม และได้สนทนากันใน twitter ดังนี้

plynoi @rawitat http://www.rawitat.com/wp-content/uploads/2008/12/dsc-1441.jpg รูปนี้ LX 3 หรือ D700 อ่ะครับ
rawitat @plynoi D700 ครับ ยิ่งดูรูปใหญ่จะยิ่งเห็นชัดครับ ว่าต่างกันเยอะมากๆ…
plynoi @rawitat i think lx3 is more beatiful 4 small pic – -”

ก็เลยเอามาลงที่นี่หน่อยนึง จะได้เห็นกันภาพต่อภาพ ก็ยังไม่ใช่ภาพใหญ่เท่าไหร่อยู่ดี แต่ว่าเป็น 800×800 (ใหญ่กว่าปกติที่ผมลงที่นี่หน่อยนึง) ภาพทุกภาพไม่ได้ sharpen เพื่อความแฟร์ระหว่างกัน resize แล้วลงเลย

ไม่ได้ถ่ายเพื่อเน้นมุมมองหรือว่าเพื่อเอาสวยงามนะครับ เอาแค่เปรียบเทียบอุปกรณ์ในสภาพการปกติๆ ธรรมดาๆ ทั่วไป และเข้าใจว่าภาพที่เอามาโพสท์นี้ไม่ได้รีดศักยภาพของอุปกรณ์ ในสถานการณ์ที่ยากลำบากแต่อย่างใด มันก็แค่ตอนเย็นๆ แดดเกือบหมด ฟ้าไม่ค่อยสวย ธรรมดาๆ นี่เอง

เพราะว่านี่คือ หนึ่งใน “สถานการณ์ใช้งานจริง” ที่จะเจอกันครับ … วันนั้นวัตถุประสงค์ของผมก็คือ “ทดสอบว่า LX3 จะใช้งานแทน D700 กับเลนส์ที่ดีที่สุดที่ผมมี ในสถานการณ์ทั่วไป ชาวบ้านๆ ธรรมดาๆ ได้ดีแค่ไหน” ครับ

  • เลือก mode เป็น standard ทั้งคู่ (หรือเทียบเท่า)
  • ใช้ base ISO ทั้งคู่ (D700 = 200, LX3 = 80) แต่ว่าจะมีรูปสองรูปที่ผมลองปรับ ISO ของ LX3 เล่นเป็น 125 นะครับ แต่ว่าไม่มีใช้เกินนี้
  • ไม่มีการแต่งภาพ
  • ไม่มีความตั้งใจให้อะไรดูดีกว่าอะไร
  • พยายามถ่ายแบบ “มุมบ้านๆ” ที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ปกติก็ไม่ใช่คนมุมมองเจ๋งอะไรอยู่แล้ว)
  • ไม่ได้ถ่าย RAW ครับ ถ่าย JPEG โดย D700 เป็น M, JPEG Normal แต่จำไม่ได้แล้วว่าของ LX3 เป็นอะไร … ทั้งนี้เพราะว่านี่คือโหมดปกติที่ผมใช้งานจริง

ขอบอกอีกครั้ง …. วัตถุประสงค์ของการเทียบ ไม่ใช่เทียบว่าเจ๋งกว่ากันแค่ไหน เพราะว่ามันไม่มีทางเจ๋งเท่าอยู่แล้ว เหมือนกับเอา BMW ไปแข่งกับ Honda City … คำถามของผมในการทดสอบครั้งนี้คือ แล้ว City ขับไล่กวด BMW ได้ดีแค่ไหน ในสถานการณ์ปกติๆ (ไม่ใช่ถนนที่เตรียมไว้ให้แข่ง)

คำตอบที่ได้คือ “พก LX3 และใช้ D700 เมื่อต้องถ่ายจริงจังที่เกินกำลังของ LX3”

ตอนท้ายจะแถมรูป crop 100 ตรงฐานรูปปั้นย่าเหลให้นะครับ ….. (แต่เป็น PNG นะ เพราะ capture จากหน้าจอเอา)

ปล. รูปทั้งหมด จะเป็น D700+14-24mm f/2.8 (ถ่ายที่ 24mm เท่านั้น) ขึ้นก่อนนะครับ ตามด้วย LX3 ซูมที่ 5.1mm (เทียบเท่ากับ 24mm เท่ากัน)