ซื้อ software แท้ vs. crack/เถื่อน

Dilemma (ทางสองแพร่ง) ที่มีมาช้านานในบ้านเรา ว่าซอฟต์แวร์ที่เราใช้เนี่ย จะซื้อของแท้ หรือว่าหาใช้ของเถื่อนตามศูนย์ซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือว่าดาวน์โหลดจากเน็ต ซึ่งคำตอบของทางเลือกมันก็ขึ้นกับหลากหลายปัจจัยด้วยกันล่ะนะ

  • หลายคน (ความเชื่อสาธารณะ) ยังคงมองซอฟต์แวร์ ว่าเป็นสิ่งที่แถมมากับเครื่องอยู่ พอจะซื้อเครื่องใหม่ ก็มักมีค่านิยมให้ร้าน load โปรแกรมให้เยอะๆ จะใช้ไม่ใช้อีกเรื่องนึง load ไว้ก่อน ซึ่งก็เลยกลายเป็นงูกินหางกับทางร้าน เพราะว่าการ load ซอฟต์แวร์ที่ลูกค้าต้องการให้ได้ กลายเป็น competing feature หนึ่งไปซะงั้น
  • Trialware/Shareware หลายตัวที่มีให้ download ใช้เพื่อทดลองจากเน็ต พอหมดอายุหรือว่าหมด feature เราก็มักจะนิยมทำการ “หา crack” หรือ “หา serial” ที่มันก็ไม่ได้หายากหาเย็นเท่าไหร่ เป็นอันดับแรกๆ ในความพยายามที่จะทำให้เราได้ใช้ซอฟต์แวร์ตัวนั้นๆ ต่อไป
  • ราคา อันนี้เรื่องใหญ่และเป็นปัญหาโลกแตก … จ่ายแพงกว่าทำไม ในเมื่อจ่ายร้อยเดียวได้ (หลายโปรแกรมด้วย) ทำไมต้องจ่ายเป็นพันด้วย? (ไม่ใช่แค่พันหรอก ซอฟต์แวร์บางตัวแพงกว่าเครื่องอีก อย่าง Mathematica เงี้ย ซื้อ laptop ได้สองเครื่องสบายๆ)
  • Availability อันนี้อาจจะเป็นเรื่องใหญ่กว่าด้วย … โปรแกรมหลายตัวอยากใช้ด่วนน่ะ แต่ว่ามันไม่มีขาย ติดต่อตัวแทนจำหน่ายก็เรื่องมาก ท่าเยอะ ต้องมีกระบวนการมากมายวุ่นวาย ทั้งเรื่องการเงิน ฯลฯ เฮ้อ ขับรถไปศูนย์ซอฟต์แวร์แป๊บเดียว ดีกว่ากันเยอะ
  • Support เราหลายคนก็ไม่ได้ต้องการ support อะไรมากมายกับโปรแกรมที่เราซื้อมาซะด้วย เพราะว่าส่วนมากก็ไม่ได้ใช้งานมากอะไรถึงขนาดที่ทำให้ support มัน crucial ขึ้นมา ใช้งานงูๆ ปลาๆ ไม่กี่ feature ไม่กี่อย่าง คลำๆ เอาเอง หรือว่าถ้ามันไม่ work จริงๆ ก็ไปเรียนเอา หรือว่าหาคนสอนแถวๆ ไหนก็ได้เอา

เอาเป็นว่า จะเหตุผลใดก็แล้วแต่ ทำให้การใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนยังคงเป็นทางเลือกหลักของการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในบ้านเราอยู่ดี

แล้วผมเขียนถึงเรื่องนี้ทำไม …​ พอดีวันนี้ iWork 08 หมดอายุ trial 30 วันแล้ว ก็เลยไปซื้อของแท้แบบมีกล่องมาซะหน่อย (จริงๆ ซื้อ license/serial ผ่าน net ก็ได้ แต่ว่าไหนๆ มันก็ราคาพอกัน ได้กล่องด้วยดีกว่า .. พวกบ้าวัตถุก็เงี้ย) …​ แล้วผมทำงั้นไปทำไมล่ะเนี่ย ก็ในเมื่อ iWork มันก็หา serial เถื่อนได้นี่ (จริงๆ ผมก็มี serial เถื่อนอยู่ในมือเรียบร้อยแล้วล่ะ)

ผมยืดถือธรรมเนียมปฏิบัติส่วนตัวอยู่ไม่กี่ข้อในการใช้ซอฟต์แวร์นะ

  1. Freeware/Free Software/Open Source มาก่อนเสมอ ถ้าทำได้ จ่ายแพงกว่าทำไมถ้ามีของฟรี (จริงๆ ไม่ใช่ละเมิดเค้ามา) หลายตัวมันไม่ feature-complete แต่ว่าถ้าเราต้องการใช้มากกว่านั้นและบังเอิญมันมีใน commercial software ก็จ่ายตังค์ซื้อ feature พวกนั้นไปสิ ถ้าเราไม่มีปัญญาจ่ายก็ถือว่าเราไม่ได้ต้องการมันจริง (รักจริงต้องสู้สินสอดได้) และใช้ๆ ไปเถอะ เราจะพบว่าหลายครั้งเราหลอกตัวเองว่าเราต้องการโน่นนี่ จริงๆ ไม่มีไม่ตายหรอก พวก Freeware/FS/OS พวกนี้หลายต่อหลายตัว “เจ๋ง” กว่าที่หลายคนคิดเยอะ
  2. ถ้าจำเป็นจริงๆๆๆๆ ก็ใช้มันไปเถอะ ไอ้ซอฟต์แวร์เถื่อนน่ะ แต่ว่านี่หมายถึงต้องหา Freeware/FS/OS ที่ทำงานแทนได้แบบสุดความสามารถแล้วนะ ห้ามเอามาเป็นข้ออ้างเด็ดขาดด้วย และต้องใช้ในการทำมาหากิน “เท่านั้น” และ
  3. “ถ้า” เราทำเงินจากมัน ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ได้มากกว่าราคาซอฟต์แวร์ตัวนั้นเมื่อไหร่ เราจะต้องซื้อมันแบบถูกต้อง ไม่มีข้ออ้าง เพราะว่าคุณทำเงินได้มากกว่าราคามันแล้วนี่

ผมก็เลยลองไล่ซอฟต์แวร์ในเครื่องดู พบว่าผมมี Freeware/FS/OS ค่อนข้างหลายตัวที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการทำงานของผม ส่วนโปรแกรมที่ผมใช้ทำงานจริงๆ ผมก็เสียเงินซื้อเสียเป็นส่วนมาก (เช่น iWork ที่ Pages มันช่วยชีวิตผมในการทำ poster งานวิจัยมาหลายครั้งแล้ว และ Keynote ที่ถ้าไม่มีมัน ชีวิตผมในฐานะวิทยากรรับเชิญตามที่ต่างๆ และอาจารย์ประจำ คงจะกร่อยไปอีกเยอะ แล้วก็มี TextMate อีกตัว และอื่นๆ อีกหลายตัวด้วย) ….​ส่วนที่ยังใช้แบบเถื่อนอยู่ก็มีบ้างแหละครับ แต่ว่านั่นเป็นเพราะผมต้องใช้มันบ้าง (อย่างมากก็เดือนละครั้ง) .. แต่ไม่เคยทำเงินจากมันได้ไม่ว่าจะตรงหรืออ้อม และหาตัวแทนมันไม่ได้จริงๆ (พยายามหาแล้ว หาอีก หาแล้ว หาอีก) .. ก็ถือว่ายังตรงกับธรรมเนียมตัวเองล่ะนะ

ปล. ผมเห็นน้องๆ หลายคนนะ หัดเขียนโปรแกรมจะต้องใช้ Visual Studio Enterprise Architect edition ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว Express (ซึ่งฟรี) มันก็มี หรือว่าหลายคนหัดทำ 3D ก็ไปใช้ Maya “Unlimited” ทั้งที่จริงๆ แล้ว Personal Learning Edition มันก็มี ..​ ฯลฯ

ว่าแต่คุณล่ะ มีหลักการ/ธรรมเนียมปฏิบัติยังไงในการใช้ซอฟต์แวร์?

[update 1]: ขอขยายความข้อ 2 นิดหน่อย คือบางคนชอบเอาข้ออ้างที่ว่า “ต้องการศึกษาเพื่อนำไปใช้งาน” โดยมากมักจะเกิดขึ้นกับซอฟต์แวร์ที่เป็นระดับ professional เช่นฐานข้อมูล Oracle ชุดพัฒนาซอฟต์แวร์ VS.NET Enterprise Architect โปรแกรมแต่งภาพ Photoshop CS3 โปรแกรม 3D Modeling/Animation เช่น Maya Unlimited บางทีก็เข้าใจและเห็นด้วยนะ ที่ว่าบางทีเราก็ต้องการเรียนรู้โปรแกรมพวกนี้เพื่อนำไปทำงานจริงในอนาคต ซึ่งโปรแกรมพวกนี้จริงๆ แล้วหลายตัวก็จะมี scaled-down version ให้ใช้ฟรีหรือราคาถูก และไม่ยอมให้นำไปใช้เพื่อทำการค้าได้ ให้ใช้อยู่แล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้โปรแกรมพวกนี้จริงก็ค่อยซื้อ version ที่เหมาะสมเอาทีหลัง หรือว่าถ้ามันไม่มี version อย่างที่ว่าจริงๆ (แต่ว่าบางทีก็มี trial-ware version) ก็ใช้เถื่อนใช้ crack ไปก่อน จนกระทั่งเราทำเงินกับมันได้ ซึ่งเร็วหน่อยก็ดี และซื้อใช้ซะ

ร้าน Kinokuniya ที่ Siam Paragon

ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก แล้วก็ซื้อหนังสือเก็บไว้เยอะเหมือนกัน (เดือนๆ หมดหลายตังค์) ก็เลยเป็นขาประจำของร้านหนังสือหลายๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็น B2S (มักจะไปที่ Central ปิ่นเกล้ามากกว่าที่อื่น Central World ไปบ้าง), Asia Books (หลายสาขา โดยมากไปซื้อ magazines), ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ไปเหมือนกัน แต่ว่าพักหลังๆ ไม่ค่อยได้ไปแล้ว

แต่ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยจะมีหนังสือแบบที่ผมชอบอ่านมากที่สุดเท่าไหร่นัก ….

  • หนังสือแนววิชาการหนักๆ สำหรับหลายสาขานี่อาจจะหาอ่านไม่ยากเท่าไหร่ที่ศูนย์หนังสือจุฬา แต่ว่าหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ Computer/Computing Science นี่ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่หรอกนะ มันมีแต่หนังสือ Professional books ซะเป็นส่วนมาก (ก็เข้าใจว่านี่อาจจะเป็นความต้องการของตลาดบ้านเรา)
  • หนังสือ Popular science นี่หายากมาก ไม่ค่อยจะมีเลยแฮะ นานๆ จะเจอบ้างที่ Asia Books (Siam Discovery) หรือว่า B2S Central World และนี่คือสิ่งที่ผมคิดถึงที่สุดเวลาไปร้านหนังสือหลายๆ ที่ใน Tokyo อาจจะเรียกได้ว่าเมื่อก่อนผมหมดเงินไปกับการซื้ิอหนังสือแนวนี้อาจจะพอๆ กับหนังสือวิชาการหนักๆ เลยก็ได้มั้ง

ตัวอย่างหนังสือ Popular science ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คงจะเป็น Emperor’s New Mind ของ Roger Penrose, Chaos ของ James Gleick, Linked ของ Albert-Laszlo Barabasi, Ubiquity ของ Mark Buchanan แล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายเล่มที่ถ้าจะเอามา list ไว้ในนี้หมดคงจะไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่

ที่ผมชอบหนังสือพวกนี้ก็เพราะว่า มันให้ความรู้เราพอประมาณ อาจจะไม่ค่อยลึกเท่าไหร่นักในแต่ละเรื่อง แต่ว่าให้เราเห็นคู่ไปกับความเป็นจริง สิ่งที่อยู่รอบตัว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เรารู้จักดีมากอยู่แล้ว สิ่งที่จับต้องได้ง่าย ฯลฯ หลายต่อหลายเล่มเป็นการเชื่อมโยงทฤษฎีต่างๆ นับสิบเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียว (เช่น Emperor’s New Mind) หรือว่าให้แนวคิดใหม่ๆ แบบที่ไม่ค่อยจะได้เท่าไหร่นัก

และถ้าเราสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ ขึ้นเมื่อไหร่ ค่อยไปหาอ่านเอาตามหนังสือทฤษฎีที่หนักขึ้น complete ขึ้น และเป็นวิชาการมากขึ้น

น่าเสียดายเหลือเกินที่หนังสือแนวนี้หาอ่านยากมากในบ้านเรา … และแล้ววันนี้ความฝันของผมก็เป็นจริง

หลังจากไม่ได้ไปที่ Siam Paragon นานมาก (แต่ว่าไปทีไรก็ไปไม่กี่ที่ ส่วนมากไปนั่งกินข้าวร้านข้างล่าง ไปซื้อ/ดูหนังสือที่ Kinokuniya ไปเดินเล่นใน iStudio แล้วก็ไปยืนเกาะกระจกน้ำลายยืดอยู่แถวๆ Showroom Mesarati) วันนี้้เบื่อโลกมากเลยเข้าไปดู และนี่คือสิ่งที่ผมเห็น


ว้าว ตู้หนังสือขนาด(ค่อนข้าง)ใหญ่ทั้งตู้ ที่มีแต่หนังสือ Applied Math (สำนักพิมพ์ Dover ที่มีหนังสือ classic ราคาถูกค่อนข้างเยอะ เล่มไม่กี่ร้อย) หนังสือ Physics และแน่นอน หนังสือ Popular Science หลายสิบเล่ม!

ก็เลยตบกลับมาบ้านอีกเกือบ 10 เล่ม มีหลายเล่มที่น่าสนใจ เช่น I am a Strange Loop ของ Douglas Hofstadter (คนเขียน Godel, Escher, Bach หนังสือที่ผมชอบที่สุดตลอดกาล), The Age of Spiritual Machines ของ Rayn Kurzwell, Why Things Bite Back ของ Edward Tenner, The Equation that Couldn’t be Solved ของ Mario Livio, และสุดท้าย Meta Math! The Quest for Omega ของ (ทายซิใคร) Gregory Chaitin!!!! (บิดาของ Algorithmic Information Theory)

แล้วก็เดินเลยเข้าไปหน่อย เจอหนังสือวิชาการหนักๆ ของทาง Computer Science ด้วยแฮะ!! (ไม่ใช่หนังสือ Professional Books ที่ขายกันเกลื่อนหิ้งหนังสือที่เขียนว่า “Computer Science” ทั่วไป แม้แต่ศูนย์หนังสือจุฬา) เลยซื้อ Fundamentals of Natural Computing: Basic Concepts, Algorithms, and Application ติดมือกลับมาเล่มนึง จริงๆ อยากได้อีกหลายเล่มแต่ว่าสงสารบัญชีธนาคารของตัวเอง …. เล่มนี้ก็ดีนะ คิดว่าจะเอามาเป็นหนังสือ Introduction ของคนที่อยากจะเข้า lab วิจัยเลย เพราะว่านอกจากจะมีเรื่อง Evolutionary Computation แล้วยังมีพวก Swarm Intelligence, Fractals Geometry, Artificial Life, DNA Computing, Quantum Computing ด้วย

เฮ้อ … เมืองไทยเจริญขึ้นเยอะเลยแฮะ (ถ้าคิดจากวัตถุที่เรามีในประเทศนะ … หนังสือคือวัตถุประเภทหนึ่ง) แต่ว่าคนบ้านเราจะเจริญตามด้วยหรือเปล่าน้อ หรือว่าเจริญลงก็ไม่รู้แฮะ (ไม่รู้ว่าตอนนี้คนไทยอ่านหนังสือกันเฉลี่ยแล้วปีละเท่าไหร่แล้ว .. ตัวเลขสุดท้ายที่ได้ยินนี่น้อยจนน่าใจหาย … หนังสือใน lab เราก็ซื้อมาเต็มตู้ เด็กๆ ที่ทำงานด้วยก็ไม่ค่อยจะอ่าน ไม่เคยอ่าน ไม่ค่อยจะสัมผัส ถึงจะบังคับ ถึงจะพยายามแนะนำให้อ่าน ถึงจะฯลฯ แล้วก็เถอะนะ)

ไม่เป็นไรน่า …. ก็ยังมีเรื่องให้ใจชื้นน่ะแหละ

กิจกรรมของ SIGMA Lab (ใครสนใจเชิญ!)

โปรโมทซะหน่อย

นอกจาก SIGMA Research Lab (โครงการ Silpakorn Digital Content City, สถาบันวิจัยและพัฒนา ม. ศิลปากร นครปฐม) ที่ผมกับน้องๆ ผู้ช่วยทั้งหลาย ทำงานอยู่ จะทำงานวิจัยและพัฒนาระบบ Digital Content ต่างๆ จัดกิจกรรม LO & KM และงานทาง Multimedia, Computer Simulation (Visual และ Scientific), HPC, Web application/services ฯลฯ แล้ว เรายังมีกิจกรรมบางอย่างด้วย คร่าวๆ ก็ดังนี้นะครับ

  • วันจันทร์ (18:00 ~ ) : Movies Day

    เรียนรู้จากภาพยนต์ เลือกหนังมาดูกัน แล้วช่วยกันวิจารณ์ หาข้อคิดต่างๆ หรือว่าทฤษฎีต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในหนัง หรือว่าแม้แต่จับผิดหนังจากข้อมูล factual ต่างๆ และ logic ต่างๆ

  • วันพุธ (18:00 ~ ) : Programming Day

    ฝึกเขียนโปรแกรมในหลากหลายภาษา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเรียกว่าเป็น classic เพื่อฝึกทักษะทั่วไปทาง Algorithmic Problem Solving บางทีก็จะใช้โจทย์จาก Online Judge และ Programming Contest ต่างๆ

  • วันศุกร์ (18:00 ~ ) : Seminar

    ที่ทำกันมาตั้งแต่ตั้ง lab ใหม่ๆ เมื่อ 2 ปีก่อนไม่ได้เว้นว่าง ส่วนมากจะเป็น work progress และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆ ซึ่งตอนนี้ฤดูกาลของการ present research paper ในวิชา Research Methodologies ก็ใกล้จบลงแล้ว ช่วงเวลาของการทำ project จบจริงๆ ก็มาถึงแล้วด้วย คราวนี้จะหนักเรื่อง Work progress ล่ะ

  • วันอาทิตย์ (vary) : Journal Seminar

    (อันนี้กำลังคิดอยู่ว่าจะทำ ยังไม่แน่ใจ) อาจารย์ นักวิจัย (พวกที่จบแล้ว) ผลัดกันเอา paper งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มาสนทนากัน

ใครที่อยากจะมาร่วมงานเหล่านี้ด้วย ก็ยินดีต้อนรับนะครับ ไม่ว่าจะเป็นศิษย์เก่าศิษย์ปัจจุบัน ผู้สนใจต่างๆ หรือว่าแม้แต่น้องๆ นักศึกษาต่างคณะ ต่างสถาบัน ที่นี่เราไม่มีกำแพงเรื่องสถาบัน ไม่มีหมวก ไม่มีหัวโขน ส่วนจะมาร่วมงานวิจัย/พัฒนาด้วยกันหรือไม่ อันนี้เป็นเรื่องของอนาคต รู้จักกันไว้ก่อนก็ดี บางทีก็เข้ามานั่งทำงานเล่นได้นะ มีพี่ๆ ที่อยากให้คำปรึกษาเรื่อง coding หรือว่า program design หลายคนเลย (ณ ปัจจุบันก็โดยเฉพาะ Web applications/services)

Perception of Time

กระแสของกาลเวลาไหลเร็วแค่ไหนนะ?

“1 วินาที ต่อ 1 วินาที” อาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง

แต่ว่านั่นแหละ “1 วินาที” ที่ว่าเนี่ย มันยาวแค่ไหนกันนะ? และทุกวินาทีมันยาวเท่ากันหรือเปล่า? ผมคงจะไม่พูดถึงกาลเวลาจากทฤษฎีสัมพันธภาพหรอกนะ อันนั้นอาจจะไม่ค่อยเข้าประเด็นเท่าไหร่ แต่ว่ากาลเวลามันมีอะไรแปลกๆ หลายๆ อย่าง นาฬิกา มันจับเวลาได้ยาว 1 วินาทีเท่ากันจริง แต่ว่าความรู้สึกคนล่ะ กับแต่ละ 1 วินาทีที่มันผ่านไปเนี่ย มันเป็นยังไงกันนะ

เคยไหมล่ะ เวลาที่ทำอะไรที่ชอบๆ เนี่ย เวลามันผ่านไปเร็วยังกะติดจรวด แต่ว่าเวลาที่ต้องเจออะไรที่ไม่ชอบเนี่ย กว่าเข็มวินาทีมันจะกระดิกแต่ละที รอกันเมื่อย บางทีจะเป็นเพราะว่าถ้าเราอยู่กับสิ่งที่เราชอบ เราจะไม่รับรู้การมีอยู่ของกาลเวลา (พูดง่ายๆ ว่า “ลืมมันอย่างแท้จริง”) หรือเปล่านะ แล้วในทางกลับกัน เวลาที่เราอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบ เราเลยจับจ้องกาลเวลาแทน ก็เลยทำให้จิตเราอยู่กับมันหรือเปล่านะ เลยเห็นเหมือนกับว่ามันเปลี่ยนช้าเหลือเกิน

ใช่สินะ บางทีเรา focus กับอะไรมากไปหรือเปล่า เลยเห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงช้าหรือว่าแทบไม่เปลี่ยนเลย? ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่บ้าง อะไรๆ ที่เราอยากจะให้มันเป็น มันจะเป็นเร็วขึ้นหรือเปล่านะ? เด็กบางคนเจอหน้ากันอยู่ทุกวัน เออ มันก็เหมือนๆ เดิม แต่ว่าพอไม่ได้เจอกันไม่นานกลับมาเจอกันอีกที เออ โตขึ้นเยอะนี่ หรือว่าอะไรทำนองนี้มั้ง

ทำไมกันนะ

เวลาที่ผ่านไปในอดีต กับ เวลาที่รอเราอยู่ข้างหน้า มันผ่านเร็วเท่ากันหรือเปล่านะ ก็แปลกดี เวลาที่เรามองไปข้างหน้าในอนาคต ที่เราคิดว่าอีกหลายปีเราจะตาย หรือว่ายังคงมีอีกหลายปีให้เราใช้ชีวิตกับใครบางคน กับอะไรบางอย่าง ….. 20-30 ปีที่เหลืออยู่ (ถ้าผมตายที่อายุ ~60 ปี) มันจะนานขนาดไหนนะ

และแล้ว … ภาพความทรงจำทั้งหมดในชีวิตก็แล่นผ่านตา …. ชีวิตเราผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วหรือ พอเรามองย้อนกลับไป มันกลับดูเหมือนกับพริบตาเดียวเท่านั้นเองไม่ใช่หรือไง ทั้งความสุข ความเศร้า ความเหงา ความทุกข์ ดีใจ เสียใจ ที่ผ่านไปทั้งหมด มันกลับดูเหมือนกับถูก compressed ไว้ให้วิ่งผ่านความทรงจำได้ในเวลาไม่กี่เสี้ยววินาทีเอง

ถ้างั้น … เวลาที่เราคิดว่า ยังมีเหลืออยู่มาก มากมายอีกหลายปี ที่เราคิดไปเองเนี่ย วันหนึ่งเมื่อเราอายุ 50, 60 มันก็คงจะวิ่งผ่านตาเราแบบนี้สินะ มันดูไม่นานอย่างที่คิดเลย

บางทีก็คิดนะ ว่าเรากำลังเสียเวลาที่มีค่า ไปกับอะไรบางอย่างในอดีตที่มันหวนคืนมาไม่ได้หรือเปล่า คิดสิ รู้สึกสิ ว่าเวลาที่เหลืออยู่มันน้อยแค่ไหน ….​ เราก็อย่าให้ตัวเราเองในอนาคต ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ข้างหน้า ต้องมาพูดแบบนี้เลย

“อดีต” ของ “วันพรุ่งนี้” ยังคงแก้ไขได้เสมอ ก็แค่เปลี่ยนวันนี้เอง มันไม่ยากหรอกนะ

Paradox of Thought/Feeling

วันนี้นั่งคิดเรื่อยเปื่อย อยู่ใน Labyrinth of Thoughts …..

  • ทำไมคนเราต้องเลือกระหว่างจำกับลืม ทั้งๆ ที่สุดท้ายมันก็คือ จำ เหมือนกัน? (ถ้าลืมจะต้องมาเลือกทำไม)
  • ทำไมคนเราต้องคิดว่าจะต้องรู้สึกยังไง ทั้งๆ ที่ความรู้สึกมันทำให้เกิดด้วยความคิดไม่ได้? (ห้ามก็ไม่ได้)
  • ทำไมคนเราต้องอยากได้ในสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันก็ไม่ได้อยู่ดี
  • ทำไมคนเรากลัวความตาย ทั้งๆ ที่วันนึงเราก็ตาย
  • แต่ทำไมคนเราถึงยังหัวเราะ เล่นโจ๊ก เล่นขำขัน กันได้ ทั้งๆ ที่ความตายมันรออยู่ข้างหน้า
  • ทำไมคนเราถึงพยายามท่องจำ ทั้งๆ ที่ทำไปก็ลืม
  • ทำไมคนเราถึงชอบทำอะไรที่ปากมันไม่ตรงกับใจ (ปากดี ขี้เหงา เอาแต่ใจ มั้ง?)
  • ทำไมคนเราถึงเลือกเจอสิ่งที่ไม่อยากเจอ ทั้งๆ ที่มันก็เลือกได้อ่ะนะ (คนเราเกิดมาใช้กรรมล่ะสิ)
  • ทำไมคนเราถึงเลือกแคร์คนที่เค้าไม่แคร์เรา
  • แต่ทำไมทีกับคนที่แคร์เรา เราดันเลือกที่จะไม่แคร์
  • ทำไมเราเลือกเชื่อคนที่ไม่มีชื่อ (annonymous) ไอ้พวก “เขาว่า” แต่ว่าบางทีกับ authority กลับไม่เชื่อซะงั้น
  • ทำไมบางคนอยากจะกล้า แต่ว่าปอดแหก
  • แต่เรื่องที่ึควรปอดแหก ดันกล้าซะงั้น
  • ทำไมคนเราถึงมี spec ทั้งๆ ที่พอเจอใครที่มันใช่ มันก็ไม่เห็นจะสนใจเรื่องนี้เท่าไหร่เลย
  • ทำไมเราถึงรักที่จะเลือก แต่ว่ากลับไม่เลือกที่จะรัก (มันเลือกกันได้ด้วยเหรอ ว่าความรู้สึกนี้จะเกิดกับใคร)
  • ทำไมคนเราชอบบอกว่าเข้าใจ แต่ว่าจริงๆ ไม่ได้เข้าใจอะไรเลยสักนิด
  • ทำไมคนเราชอบควบคุมทุกอย่าง ยกเว้นใจตัวเอง
  • ทำไมผมถึงเขียนเรื่องแบบนี้ลง blog นี้วะ (อันนี้ถามตัวเองเล่นๆ ไม่มีอะไรทั้งนั้น)

วันนี้คงจะมีเวลานั่งเล่นเรื่อยเปื่อยมากไปหน่อย แต่ว่าเวลามันก็มีแค่นี้ list นี้ก็คงจะต้องจบลงที่ใดที่หนึ่ง แต่ใครคิดอะไรเพิ่มเติมได้ก็บอกกันมาก็แล้วกัน

Coincidence คำพูดปลอบใจ และทฤษฎีความน่าจะเป็น

เคยอ่านเจอ หรือว่าเคยได้ยิน เรื่องความคล้ายกันของ John F. Kennedy กับ Abraham Lincoln มั้ย? สองคนนี้มีอะไรที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อเชียวล่ะ

มันบังเอิญขนาดนั้นเลยเหรอ?

ไม่มีอะไรหรอกครับ พอดีช่วงนี้เปิดฤดูกาลบอลน่ะ แล้วทีมโปรดของผม Manchester United ก็เปิดได้อย่างน่าดูสุดๆ คือ เสมอมันรวดสองนัด แพ้ใน derby match อีกตะหาก แต่ว่าช่วงก่อนจะแพ้ Man City ก็มีแฟนบอลที่แม่นสถิติของทีม มาบอกว่าคร้ังสุดท้ายที่เราเปิดฤดูกาลมาเสมอสองนัดเนี่ย ปีนั้นเราได้ 3 แชมป์

ปีก่อน ผมจำได้ว่าก่อนที่ Man United จะแพ้ Milan ใน ECL น่ะครับ มีหลายคนที่เอาสถิติปีที่แล้วกับปีที่ได้ 3 แชมป์นั้นมาเทียบกัน ว่ามันเหมือนกันสุดๆ ในหลายๆ อย่าง ….​

แต่แล้ว ปีที่แล้วก็ไม่ได้ 3 แชมป์ จริงๆ แล้วได้แค่แชมป์เดียว

ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้วครับ เรื่องความเข้าใจความน่าจะเป็น ความเข้าใจปรากฏการณ์ของ coincidence และ common sense ที่บางทีอาจจะกลายเป็น common nonsense ไปเสียได้กับเรื่องแบบนี้

มันเป็นธรรมดาครับ ที่ถ้าเรามีข้อมูลอะไรบางอย่าง และเลือกพิจารณาข้อมูลบางอย่าง อย่าง “หลวม”ๆ แล้ว มันจะมีข้อมูลที่สามารถตรงกันได้อย่างน่าอัศจรรย์เลย ลองเล่นเกมง่ายๆ ดูครับ

  1. เอาไพ่มา 2 สำรับ ให้คน 2 คนช่วยกันสับไพ่คนละสำรับ สับให้เละจนกว่าจะพอใจนะ
  2. จากนั้นให้ทั้ง 2 คนหยิบไพ่ใบไหนก็ได้ (หรือว่าจะเอาใบบนสุดของสำรับก็ได้นะ) มาเปิดพร้อมกันทีละคู่
  3. ดูซิว่าจะมี “ตรง” กันบ้างมั้ย

สนุกนะครับ ที่ผม “” คำว่า “ตรง” เนี่ยแหละ เพราะว่าถ้าเรายิ่งระบุ condition ในการ “ตรง” ให้ “หลวม” เท่าไหร่ มันก็ยิ่งตรงกันมากขึ้นเท่านั้น (อันนี้ common sense ใช่มั้ย) เช่น condition ด้านล่างนี้ เรียงจาก strict มากที่สุด ถึงหลวมมากที่สุดนะ

  1. ไพ่จะตรงกันเมื่อทั้งสํญลักษณ์และหมายเลขตรงกัน (1 ใน 52 ใบ)
  2. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสีเหมือนกันและหมายเลขตรงกัน (2 ใน 52 ใบ)
  3. ไพ่จะตรงกันเมื่อหมายเลขตรงกัน (4 ใน 52 ใบ)
  4. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสัญลักษณ์เดียวกัน (13 ใน 52 ใบ)
  5. ไพ่จะตรงกันเมื่อมีสีเดียวกัน (26 ใน 52 ใบ)

เป็นต้น

ผมลองทำ simulation ง่ายๆ นะครับ โดยนับสถิติจากการเล่นเกมทั้งหมด 100 ครั้ง ได้ผลดังนี้ครับ

  1. สัญลักษณ์และหมายเลขตรงกัน มากที่สุด 4 ครั้ง น้อยที่สุด 0 ครั้ง เฉลี่ย 1.05 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 1 (38 ครั้ง)
  2. หมายเลขตรงกัน มากที่สุด 9 ครั้ง น้อยที่สุด 0 ครั้ง เฉลี่ย 4.24 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 3 (23 ครั้ง)
  3. สัญลักษณ์ตรงกัน มากที่สุด 21 ครั้ง น้อยที่สุด 6 ครั้ง เฉลี่ย 12.85 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 10 (14 ครั้ง)
  4. สีตรงกัน มากที่สุด 34 ครั้ง น้อยที่สุด 16 ครั้ง เฉลี่ย 25.6 ครั้ง ตัวเลขที่ออกมากที่สุดคือ 26 (24 ครั้ง)

เห็นได้ชัดเจน ว่ามันจะมีสิ่งที่ บังเอิญ ตรงกันบ้าง ยิ่งเราให้ condition มันหลวมเท่าไหร่ มันยิ่งตรงกันมากขึ้น ง่ายขึ้น เท่านั้น ซึ่งก็พอๆ กับเรื่อง Lincoln กับ Kennedy หรือว่าเรื่องความบังเอิญทั้งหลายแหล่ในฟุตบอล เหตุการณ์ต่างๆ กีฬาต่างๆ สถานการณ์โลกต่างๆ ด้วย

บางทีถ้าเราคิดว่าอะไรมันสำคัญล่ะก็ เราจะ focus และมองเห็นแต่สิ่งนั้นอย่างเดียว เช่นเราลองคิดว่าตัวเลขบางตัวมันสำคัญสิ (เช่น 23 หรือว่า 3.14) เราอาจจะเห็นมันอยู่รอบๆ ตัวมากมายกว่าตัวเลขอื่นๆ .. เพราะว่าเราเลือกมองไพ่ที่สิ่งรอบตัวหงายขึ้นมา เฉพาะใบที่มันบังเอิญตรงกับไพ่ที่ใจเราหงายขึ้นมาเอง

เหตุการณ์ต่างๆ มากมายที่เกิดขึ้นตลอดเวลาบนโลกนี้ มันก็จะมีอะไรที่คล้ายกันบ้าง มากหรือน้อยก็แล้วแต่เหตุการณ์นั้นๆ บางทีถ้าเหตุการณ์มันคล้ายกับอะไรที่เคยเกิดขึ้นแล้วมันไม่ค่อยดี บางทีเราก็ระลึกไว้บ้างละกันว่า มันเป็นแค่ความบังเอิญเท่านั้น หรือว่าบางทีที่มันไปเกิดคล้ายกับเหตุการณ์ดีๆ มันก็แค่ความบังเอิญเช่นกัน

ระลึกไว้: เพราะว่าเราเลือก มอง ไพ่ที่สิ่งรอบตัวหงายขึ้นมา เฉพาะใบที่มัน บังเอิญตรง กับไพ่ที่ใจเราหงายขึ้นมาเอง

บทความ กับ credit : หนังสือ 35 ปีคณะวิทย์ ศิลปากร

เซ็ง(โว้ยยยยยย)

เขียนบทความลงหนังสือ 35 ปีคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร (ที่ทำงานปัจจุบัน) ทางคณะอยากได้บทความที่ออกแนว popular science คือ เขียนให้คนทั่วไปอ่าน ไม่วิชาการจ๋า เราก็เขียนให้ และก็เวียนให้คนในภาคช่วยกันอ่าน ช่วยกัน comment

พอมาพิมพ์จริงๆ ชื่อ คนเขียน หายซะงั้น ของอาจารย์ท่านอื่น ภาควิชาอื่น ทำไมมี ชื่อเต็ม และนามสกุล ของอาจารย์ผู้แต่งอยู่ด้วยครบถ้วน แต่ไม่บอกว่าเป็นอาจารย์ภาคไหนเสียด้วยซ้ำ

พอมาเป็นบทความของเรา ทำไมชื่อ รวิทัต ภู่หลำ มันหาย เหลือแต่ อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หว่า

เหมือนกับว่าอาจารย์ทั้งภาคช่วยกันแต่งเลยเนอะ

ปล. ดีนะ ที่ยังมี e-mail ของเราลงอยู่ด้วย ไม่งั้นคงไม่มี trace อะไรเลยจริงๆ

แต่ว่าเบื่อว่ะ ทำไมวะ เฮ้อ

ปล. ขอบคุณลูกศิษย์สองคน thitipat ที่เป็นคนสังเกต คนเจอ และ kiterminal ที่เป็นคนบอกผม

Apple ตบเกียร์เข้าโค้งสุดท้าย Leopard

Apple เร่งเครื่องทำ Leopard (OS X รุ่น 10.5) เพื่อให้ออกทันตุลาคมนี้ และให้มีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ (แน่นอน มันไม่สมบูรณ์หรอก ไม่มี software ตัวไหนหรอกที่สมบูรณ์ไม่มีปัญหาหรือว่ามี feature ครบถ้วน)

ช่วงนี้เราจะเห็น build ต่างๆ ของ Leopard เริ่มออกมาถี่ยิบ ซึ่งเป็นพฤติกรรมปกติของ Apple ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนจะออก OS รุ่น gold master อยู่แล้ว หลังจาก 9A499 ออกไม่นานก็มี 9A500n ซึ่งถึงแม้ว่ามันจะดูเหมือน minor revision มากๆ (เลข build เพิ่มนิดเดียว) แต่ว่าจาก blog ชาวบ้านและ web ข่าวหลายที่ บอกว่าขนาดตั้ง 500 กว่า MB แน่ะ เยอะเอาเรื่องนะเนี่ย และเท่าที่อ่านมา ก็รู้สึกว่าจะ stable มากขึ้นเยอะ (หลายคนด่า 499 ว่า buggy มาก และไม่ stable มาก) … หลังจากนั้นอีกไม่นานก็มี 9A527 อีก ซึ่งตัวนี้เห็นบอกว่ามี interface tweak หลายจุด (โดยเฉพาะ menu bar ที่ transparent น้อยลงเยอะ ดูดีขึ้นเยอะ แล้วก็เรื่อง color tone ที่ deep กว่าเดิมและดู unified มากขึ้น) ซึ่งอันนี้หา screenshots ดูได้ทั่วไป

แล้วมีอะไรอีก? อืมมม ตอนนี้ท่าทางจะเริ่มเข้าช่วง optimization ล่ะ เพราะว่าเห็นรายงานเหมือนกันว่าขนาดของซอฟต์แวร์หลายตัวเล็กลงกว่า build ก่อนๆ เยอะ (ถึงส่วนมากมันจะยังใหญ่กว่ารุ่นที่อยู่ใน Tiger ก็เถอะ ก็อย่างว่า feature มันคงจะเยอะขึ้น optimize ยังไงก็ยังใหญ่กว่าอยู่ดีมั้ง แต่ว่าไม่แน่ iWork 08 ยังเล็กกว่า iWork 06 ตั้งเยอะ)

ยังไม่รวมถึงเรื่องที่ผมไม่ค่อยสนใจ พวก welcome video ใหม่ หรือว่า default background ที่เป็นอวกาศนะ (ยังไม่รู้เลยว่าตัว final จะเป็นตัวนี้หรือเปล่า) เพราะว่าพวกนี้มันไม่ได้มีผลกับ user experience โดยรวมอยู่แล้ว

เท่าที่ดูจาก refinements ล่าสุด ผมค่อนข้างจะ possible นะกับสถานะของ Leopard แต่ว่าตอนนี้ผมอยากจะรู้รายละเอียดของ Leopard Server แฮะ ตื่นเต้นกับเจ้าตัวนี้ที่ WWDC 06 มากกว่าตัว workstation ที่เราใช้ๆ กันเยอะ อยากเห็นอะไรตั้งหลายอย่าง ไม่รู้จะเป็นไงมั่ง

แต่ว่าก่อนจะถึงรุ่น Gold master จริงๆ ก็คงจะมีอีกประมาณ 2-3 builds เป็นอย่างน้อยละมั้ง โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ จริงๆ ที่อาจจะมีหลาย build เลยแหละที่เป็น Release Candidate (RC) แล้วตัวใดตัวหนึ่งที่จะกลายเป็น Gold master ….

ทำนาบนหลังคน

ประเทศมันถึงไม่เจริญ

พ่อค้าคนกลางร่ำรวย ชาวนายากจน โดนกดราคา
ครั้นจะไปขายเอง ก็ไม่รู้ตลาด ติดที่ว่าคนเค้า deal กันตรง ติดเจ้าที่เจ้าทาง ติดอิทธิพล
คนรับงานร่ำรวย คนทำงานยากจน โดนกดราคา
ครั้นจะไปรับงานเอง ก็ไม่รู้ตลาด บางทีคนเค้า deal กันตรง ติดเจ้าที่เจ้าทาง ติดระเบียบ

คนรับงาน 5 ล้าน ไปจ้างเค้าทำต่อ 1 ล้าน ตัวเองนอนเฉยๆ กินไป 4 คนที่ทำงานจริงเห็นเงินล้าน รีบฉวย ทำเลือดตากระเด็นตาย เหนื่อย

เหมือนกับสงคราม คนทำไม่ได้ตาย คนตายไม่ได้ทำ

เรื่องนี้ต่างกับ supply chain หรือว่าอะไรที่เป็น ecosystem ของระบบธุรกิจที่ win-win ไม่เอาเปรียบกัน(เท่าไหร่) ได้ส่วนที่ควรได้เสียส่วนที่ควรเสีย แต่ว่ามันเป็นเรื่องของการใช้อะไรก็ไม่รู้ คนกลางอยู่กับความไม่รู้ของคนอื่น ทั้งคนซื้อและคนขาย ซื้อ supply มาในราคาที่ถูก และโก่ง (อาศัยปากดี) ขายในราคาที่แพง

คนซื้อ คนทำ รับกรรม คนกลาง สบาย

To be continue …. ในประเทศไทยเนี่ยแหละ ต่อไปเรื่อยๆ

ปล. ทำไมจู่ๆ ผมต้องมาบ่นเรื่องแบบนี้หว่า

Slide งาน Blognone Tech Day 3.0

เหมือนจะมี request พอสมควร ว่าอยากได้ slide ของวิทยากรจากงาน Blognone Tech Day 3.0 เก็บไว้ เราก็เลยจัดให้

ทำเป็น PDF นะครับ (2.3 MB) หน้าละ 2 slides เพราะว่า slide ผมมันไม่มีตัวหนังสือมากอยู่แล้ว มีแต่รูป คิดว่าขนาดนี้ก็ยังเห็นชัดอยู่แหละ