“มุมกว้าง” (Wide Angle)

ถ้าเราแบ่งเลนส์สำหรับการถ่ายภาพออกเป็น 3 ระยะตามลักษณะการมองเห็น คือ แบบมุมกว้าง (Wide Angle) แบบปกติ (Normal) และแบบระยะไกล (Telephoto) คำถามง่ายๆ ก็คือ “อะไรเล่นยากที่สุด?”


Sunrise in Mountain

Sunrise in Mountain
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/11

สถานที่: ดอยแม่สลอง

ผมเชื่อว่าคำตอบสำหรับหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วยเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต ก็คือ “เลนส์มุมกว้าง” อย่างไม่มีข้อโต้แย้งเลย และวันนี้เราจะมามองมันในเชิงปรัชญาชีวิตกันเล็กน้อย ว่ามันแสดงหรือสะท้อนถึงอะไรบ้างให้กับชีวิตของเรา

ทำไมเลนส์มุมกว้างจึงเล่นยาก? เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่า “มันกว้างกว่าที่ตาเราเห็น” ยิ่งกว้างเท่าไหร่ เรายิ่งจินตนาการภาพที่เลนส์มันเห็นได้ยากมากขึ้นเท่านั้น (ก็เพราะว่าเราเห็นแคบกว่ามัน)


Temple in the Sun

Temple in the Sun
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/13

สถานที่: วัดพระธาตุดอยสุเทพ

การที่เราเห็นแคบกว่ามัน มีผลยังไงล่ะ? คนลองถ่ายรูปมุมกว้างใหม่ๆ คงจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันทุกคน เวลาที่เรามองเห็นภาพสวยงามยิ่งใหญ่อยู่ข้างหน้าเรา และอยากจะเอาเลนส์มุมกว้างมาเก็บภาพความอลังการที่เราเห็นเอาไว้ แต่เมื่อส่องดู เรากลับพบว่า “สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าสวย มองเห็นว่าเด่น กลับถูกเตะออกไปไกลจนเล็กลงมากมายในภาพ” มันไม่สวย ไม่เด่น ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่ตาเห็นอีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพจากเลนส์มุมกว้าง ยังแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะถ่ายเน้นวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แบบไม่มีอย่างอื่นเข้ามาในภาพเลย นอกเสียจากว่าวัตถุนั้นๆ จะมีขนาดใหญ่โตจริงๆ และเราอยู่ใกล้เพียงพอเท่านั้น

Continue reading

เลือก “กล้องคอมแพคจากปี 2012”: Tough Choice

2013 แล้วสินะ ได้เวลาเปลี่ยน “กล้องเล็ก” อีกครั้ง (ปกติจะเปลี่ยน 2 ปีครั้ง 2009: Panasonic LX3, 2011: Nikon P7000)

ครั้งนี้ หวยจะออกที่อะไร … อีกอย่าง เดี๋ยวนี้นิยามของคำว่า “กล้องเล็ก” มันเปลี่ยนไป กล้อง Compact รุ่นใหญ่ๆ ตอนนี้ตัวใหญ่กว่ากล้อง Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้ซะอีก

  • Pana LX7: เลนส์ดีมาก ช่วงดีขึ้น (กว่า LX3) กว้างเหมือนเดิม แต่ยังสั้นไปนิด แต่ยังไม่ชอบสีพานา (ไม่รู้แก้หรือยัง) จะเล่นฝาแฝดมัน (D-Lux 6) ก็ไม่บ้าพอที่จะจ่าย double price เพื่อจุดแดง … แพงเกิ๊น (แต่ถ้ายังไม่ได้ซื้อ Lightroom ก็น่าสน)
  • Canon G1X, G15: No, sir, I don’t shoot Canon. ถึงจะอยากเล่นกับ G1X ก็เถอะนะ เซนเซอร์ใหญ่เวอร์ ตัวไม่ได้ใหญ่ไปกว่า G15 เท่าไหร่ (หรือผมคิดไปเองหว่า) … แต่เลนส์ f ปลายแคบไปนิดอ่ะ
  • Nikon P7700: รู้สึกว่ามันหลุดนิยามของ Compact ไปแล้ว ตัวเบ้อเริ่ม (พอกับพวก G ทั้งหลาย) ช่วงดีที่สุด เลนส์ดีขึ้นเยอะ แถม f กว้างใช้ได้ (แต่ยังไม่เท่าตัวอื่นๆ) แต่ที่สำคัญ .. เท่าที่โหลดไฟล์ sample ตามเน็ทมาทำเล่นดู ไฟล์โหดมาก! … แต่เริ่มที่ 28mm ยังแคบไป และเซนเซอร์เล็กไปหน่อย
  • Nikon P310: ตอนแรกดูๆ ลองเล่นนิดหน่อยก็ชอบนะ หลายอย่างเลย แถมราคาเป็นมิตรที่สุด แต่ว่า.. เจอ 1/2.3″ เซนเซอร์ ที่มี f ปลาย 4.9 โบกมือบ๊ายบายอย่างรวดเร็ว (ถ้า f ปลายขนาดนี้ ขอ 1/1.7″ ได้มะ .. ไม่งั้นขอ f/2.8 …โลภ)
  • Sony RX100: ต้องเชื่อ Sony เค้าเลย ที่ทำ The Impossible จนได้ ยัด 1″ เซนเซอร์ลงในกล้องตัวจิ๋วเดียว แถมได้เลนส์ f 1.8 อีกตะหาก (แต่เฉพาะที่ 28mm นะ ที่อื่นไหล แถมน่าจะไหลเร็วซะด้วย) จะมีที่ไม่ชอบก็อี 20mpx เนี่ยแหละ ไปลองเล่นแล้วไม่ชอบ ไม่ปลื้มเลย Processing ช้าเกิ๊น ไม่ทันใจวัยรุ่น(ตอนปลาย ที่ชีวิตเหลือน้อยแล้ว) ถ้า 10-12mpx น่าจะเจ๋งกว่านี้เยอะ จนไม่น่าจะเลือกยาก อีกอย่างก็ Sony UI & UX และ “Sony Price” (ไม่รู้มี Sony Timer ด้วยหรือเปล่า…)
  • Samsung: What? อะไรนะ มียี่ห้อนี้ด้วยเหรอ?
  • Fuji XF1: สวยอ่ะ เห็นแล้วกิเลสจับ แต่นอกจากความสวยแล้วไม่ค่อยจะมีอะไรเข้าท่าเท่าไหร่ (และการเปิดกล้อง จะทำให้ยากขนาดนั้นเพื่ออะไรหว่า)
  • Fuji X10:สวยเหมือนกัน เหมือนจับ X-Pro1 มาย่อส่วนเลย แถม 2/3″ เซนเซอร์ด้วย ใหญ่พอตัว … เลนส์ f2-2.8 น่าสนใจมาก มาตกม้าตายเอาอีระยะ 28-112mm เนี่ยแหละ ถ้าเป็น 24-112mm หรือแม้แต่ 25-112mm นะ ก็ไม่ต้องคิดมากเช่นกัน (คือ ถ้าจะเริ่ม 28mm ก็ขอยาวๆ หน่อยละกัน แบบ 28-140 อะไรเงี้ย f จะไหลเกิน 2.8 ไปหน่อยก็ไม่เป็นไรหรอก แต่เยอะจนเป็น f5.9 ก็ไม่ไหวนา แหะๆ โลภอีกล่ะ)
  • Olympus: Call me ignorant. Never look at their compacts.

หวยออกที่ตัวไหนล่ะ….

มีคนถามว่า แล้วพวก Compact แบบ Point & Shoot จริงๆ ตัวเล็กๆ บางๆ นี่ไม่สนใจบ้างเหรอ … บังเอิญว่าผมมีติดตัวอยู่ตลอดอยู่แล้วอ่ะ ชื่อ iPhone 4s (และอีกไม่นานเกินไป คงจะเป็น iPhone 5s อุ๊ปปปปปส์)

RAW vs JPEG: ถ่ายไม่แต่ง และ RAW Converter

ต่อจากเมื่อเช้าและต่อจากวันก่อนนิดหน่อย ครั้งนี้จะให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนขึ้นเมื่อเราถ่าย JPEG กับ RAW และความแตกต่างของ RAW Converter ให้ชัดเจนขึ้น

พอดีขุดเจอรูปที่ถ่าย RAW+JPEG ไว้ ซึ่งกล้องหลายตัวก็มีออปชั่นนี้ให้เลือกว่าจะถ่ายแบบไหน โดยกล้องจะบันทึกไฟล์ไว้ให้ 2 ไฟล์ คือ JPEG ที่ผ่านการประมวลผลในกล้องแล้ว และ RAW ซึ่งเป็นข้อมูลดิบๆ (หมายเหตุ: ทั้งนี้กล้องยังคงถ่ายรูปให้เราครั้งเดียว แต่บันทึกข้อมูล 2 ครั้ง เป็นข้อมูลดิบๆ เลยไฟล์หนึ่ง และรูปที่ล้างแล้วไฟล์หนึ่ง)

เรามาดูภาพ JPEG กันก่อนนะครับ ซึ่งเป็น JPEG จากกล้อง Nikon D90 ซึ่งเป็นกล้องที่มี Image Processing Engine ที่ “เก่าพอสมควรแล้ว” (แปล: รุ่นใหม่กว่านั้นจะมี JPEG Engine ที่ดีกว่า)


DSC_1172-Camera.JPG

ทีนี้ลองมาดู JPEG ที่ Convert จาก RAW โดย Lightroom 4 บ้าง ว่าเป็นไง ต่างกันขนาดไหน

Continue reading

RAW vs JPEG: ถ่ายไม่แต่ง อะไรสวยกว่ากัน?

ยังคงเป็นเรื่อง RAW และ JPEG อยู่นะครับ … กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วผมเคยเขียนตอนแรกของบทความนี้ไว้ และบอกว่ามันมีความเชื่ออะไรประหลาดๆ ที่ผิดๆ เกี่ยวกับ RAW อยู่หลายอย่าง เช่น ต้องถ่าย RAW ถึงจะสวย หรือภาพจาก RAW สวยกว่า JPEG ซึ่งผมก็ได้อธิบายไปแล้ว และขยายความในบทความก่อนหน้านี้ ที่ว่าด้วยความสำคัญของ RAW Converter

พอดีช่วงนี้ต้องนั่งจัดการ Catalog ของ Lightroom ซึ่งเริ่มจะใหญ่มากไปนิด ก็เลยมีโอกาสได้ดูรูปหลายต่อหลายรูปอีกครั้ง และได้นั่ง “ล้างฟิล์ม(ดิจิทัล)” ใหม่อีกครั้ง ก็เลยมีตัวอย่างดีๆ มาชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญข้อหนึ่งชัดขึ้น นั่นก็คือ

“RAW สวยกว่า JPEG”

ใครที่อ่านบทความในเว็บนี้มาตลอด จะเห็นว่าผมบอกเสมอว่าข้อความข้างบนไม่จริงหรอก ลองดูตัวอย่างต่อไปนี้ก็แล้วกันครับ มาจากอัลบั้ม Pre-Wedding Trip ของผมเอง รูปแรกเป็น JPEG แบบ Out-of-Camera จาก Nikon D3s (ทุกรูปคลิกดูรูปใหญ่ได้)


DSC_5131.jpg

ลองเทียบดูเล่นๆ กับ RAW จากกล้อง Nikon อีกตัว แต่เป็นรุ่นเล็กกว่าหน่อย คือ D90 (แต่เทคโนโลยีก็ไม่ถึงกับคนละยุค — และเนื่องจากเป็น RAW ดังนั้น Image Processing Engine ในกล้อง ไม่มีผลอยู่แล้ว) อันนี้ Convert เป็น JPEG แบบไม่ทำอะไรทั้งสิ้น ด้วย Lightroom 4 (แน่นอนว่า ถ้าใช้ Capture NX 2 ผลก็จะต่างกัน และอาจจะออกมาสวยกว่านี้)


DSC_0769.jpg

สภาพแสงใกล้เคียงกัน เลนส์คุณภาพพอๆ กัน (D3s ใช้ 70-200/2.8N VRII ส่วน D90 ใช้ 24-70/2.8N) เห็นได้ชัดเจนเลย ว่าภาพที่เป็น JPEG มันสวยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

Continue reading

RAW Converter นั้นสำคัญไฉน?

เหตุที่ผมมักจะแนะนำให้พวกบรรดามือใหม่ หรือบรรดาคนที่ถ่ายภาพแบบ “แค่ต้องการได้รูปสวยๆ เป็นที่ระลึก” ว่า “อย่าไปยุ่งกับ RAW ไฟล์ ให้ถ่ายแค่ JPEG” มีมากมายหลายประการ ซึ่งผมเคยเขียนถึงไว้ครั้งหนึ่งแล้วที่นี่ (RAW vs JPEG เมื่อ 21 มีนาคม 2010)

แต่สาเหตุหนึ่งซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ก็คือ “RAW มันเอาแน่เอานอนไม่ได้ (ขึ้นกับ RAW Converter)” ซึ่งอันนี้ผมยังไม่ได้เขียนถึงแต่อย่างใด

โดยเชิงเทคนิคแล้ว เราไม่สามารถมองเห็นภาพจากไฟล์ RAW ได้ตรงๆ เลย เพราะ RAW มันก็ตามชื่อครับ มันไม่ใช่ภาพ มันเป็น “ข้อมูลดิบๆ” จากเซนเซอร์ของกล้อง ที่ไม่ผ่านอะไรมาเลยทั้งสิ้น กล้องเก็บอะไรมาให้ได้แค่ไหน ยัดลงมาทั้งหมดแค่นั้น ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ภาพ แต่เป็นข้อมูลดิบๆ

ตรงนี้หลายคนจะงงล่ะ .. ว่าแล้วที่เราเห็นเวลาเอาภาพ RAW ลงเครื่องล่ะ มันคืออะไร?

อันที่จริงที่เราเห็นคือ JPEG ซึี่งถูกโปรแกรมอ่าน RAW แต่ละตัวแปลงขึ้นมาจากการอ่านและตีความข้อมูลดิบใน RAW ครับ ซึ่งตรงนี้แหละเป็นปัญหาล่ะ เพราะว่าโปรแกรมอ่าน RAW แต่ละตัวมันไม่เหมือนกันซะทีเดียวน่ะสิ เชื่อป่ะล่ะ

ไม่เชื่อลองดู 2 รูปต่อไปนี้นะครับ ทั้ง 2 รูปเป็น JPEG ที่ถูกสร้างจากไฟล์ RAW ไฟล์เดียวกัน (ไฟล์ NEF จาก D800) รูปแรกโหลดเข้า Lightroom 4 แล้ว Export เป็น JPEG เลย กับรูปหลังโหลดเข้า Capture NX 2 แล้ว Export เลยเช่นเดียวกัน ทั้งสองรูปสามารถ Click เพื่อดูรูปใหญ่ได้ทั้งคู่ครับ


D800_LR4_Export.jpg



D800_CNX2_Export.jpg

เห็นชัดพอสมควร ว่าต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีสัน ที่ Capture NX 2 จะแม่นกว่าในการอ่านสีออกจาก RAW ของ Nikon (อันนี้เพราะว่าตอนที่ถ่าย ผมใช้ Standard Picture Control แต่มี +1 Saturation ไปในกล้องนิดหน่อย ดังนั้นจะเห็นว่า JPEG ที่แปลงจาก Capture NX 2 จะสีสันสดใสกว่านิดหน่อย เพราะมันอ่านตรงนี้ออกมาได้ด้วย) หรือรายละเอียดในที่แสงจ้าและในที่มืด (Highlight & Shadow)

ทีนี้ลองมาจัดการรูปกันต่อนิดหน่อย ซึ่งผมจะทำแค่ “ดึงข้อมูลในที่สว่างจ้า และที่มืด คืนมา เท่าที่จะทำได้” ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีอะไรมากกว่าการเลื่อน Slider ไปให้สุดเท่าที่มันจะมีให้เลื่อน ทั้งสองตัว


highlight_shawdow_sliders.png

ลองมาดูผลกันบ้าง ว่าเป็นยังไง เหมือนเดิมนะครับ รูปแรกคือ JPEG ที่ Export จาก LR4 และรูปหลังคือ JPEG ที่ Export จาก Capture NX 2


D800_LR4_DRP_Export.jpg



D800_CNX2_DRP_Export.jpg

จะเห็นได้ชัดขึ้นอีกว่า RAW Converter หรือโปรแกรมจัดการแปลง RAW แต่ละตัวนั้น ให้ผลไม่มีเหมือนกันตั้งแต่อ่าน RAW แล้วการนำมาใช้ต่อแล้ว ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ยังไม่เหมือนกันอีก คราวนี้ลองมา “ทรมาน RAW” กันเล่นนะครับ ด้วยการดันทุกอย่างแบบสุดโต่ง ว่าจะออกมาเป็นยังไง สิ่งที่ทำก็เหมือนๆ กัน คือ เร่งความต่างสี (Contrast) และความอิ่มสี (Saturation) ให้สุด พยายามดึงข้อมูลในที่มืด และตบเอาข้อมูลในที่สว่างให้ได้มากที่สุด และลดแสง (Exposure) ลงไป 1 Stop (พูดง่ายๆ คือให้แสงในภาพน้อยลงเท่าตัวหนึ่ง)


lr4_cnx2_sliders.png

ผลที่ได้ (รูปแรกจาก LR4 รูปที่สองจาก Capture NX 2 เช่นเดิม) ยิ่งต่างกันไปอีกมากมายมหาศาล


D800_LR4_EXT_Export.jpg



D800_CNX2_EXT_Export.jpg

จะเห็นว่า การเลือก RAW Converter ก็มีผลมากพอควรเลยทีเดียวกับผลลัพธ์ที่จะได้จากรูปดิบๆ ของเรา


ตรงนี้ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ กันสักนิด ว่าไอ้เจ้า “RAW” นี่มันคืออะไรกันแน่

RAW ก็เหมือนกับ “ฟิล์มดิจิทัล … ที่ยังไม่ได้ล้าง ยังไม่ได้อัด” น่ะแหละครับ เมื่อก่อนเคยรู้สึกหรือเปล่าครับว่า เราเอาฟิล์มไปล้าง ไปอัดรูปแต่ละที่ สีสันของรูปที่ได้มันไม่เหมือนกันเลย เพราะอะไรล่ะ? ก็เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นใน “Dark Room” ซึ่งก็คือ “การล้าง” และ “การแต่งฟิล์ม” น่ะแหละครับ แต่ละที่ใช้น้ำยาไม่เหมือนกัน สิ่งที่กระทำโน่นนี่ไม่เหมือนกัน (ผมไม่ลงรายละเอียดนะ เกินไป) จนกระทั่งอัดรูปลงกระดาษมาให้เรา

ในขณะที่ JPEG ก็คือ “รูปที่อัดเสร็จแล้ว” ยังไงมันก็ไม่หน้าตาเปลี่ยนไปจากนั้น แต่ในกรณีของการถ่าย JPEG จากกล้อง เราจะเชื่อใจให้ “ร้านอัดรูปในกล้อง” หรือ Image Processing Engine ในกล้อง ทำหน้าที่แปลงข้อมูลดิบจากเซนเซอร์กล้องให้เราทันทีเมื่อถ่ายรูป ผลที่ได้ก็คือ รูปจะหน้าตาเหมือนเดิมไม่ว่าจะเปิดที่โปรแกรมไหน เปิดเครื่องใคร (เมื่อไม่มี “ความต่างของจอภาพแต่ละเครื่อง” นะ เพราะแน่นอนว่าคนละจอกัน มีการแสดงผลหรือค่าของสีต่างๆ ไม่เท่ากัน ตามอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ภาพที่เห็นมันก็ต่างกันเป็นธรรมดา … มันก็มีเหตุผลของมันว่าทำไมจอบางจอมันแพงกว่าจออื่น)

ดังนั้น การถ่าย RAW ก็คือ เราต้องมา “ล้างรูปเอง” และ “อัดรูปเอง” ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด ถ้ามี RAW แต่เปิดมาแล้ว Convert เป็น JPEG เลยก็ต้องบอกว่าพลาดการได้รูปสวยๆ ไปอีกเยอะมาก แต่ถ้าคิดว่าจะไม่ทำแบบนั้น (คือถ่ายมาแล้วถ่ายเลย จะไม่มานั่งบรรจงทำอะไรทีละรูป) ก็ถ่าย JPEG เถอะ เพราะอย่างน้อยๆ การให้ Image Processing Engine ในกล้อง จัดการล้างรูปให้เรา ก็จะได้ “รูปที่เหมือนกับหลังกล้อง” ไม่ขึ้นกับความดีหรือความห่วยแตกของ RAW Converter ในเครื่องคอมพิวเตอร์เรา

ทั้งนี้ กล้องแต่ละตัว มี Image Processing Engine ที่เก่งไม่เท่ากันนะ กล้องหลายตัวของ Nikon นี่ผมไว้ใจ Image Processing Engine มันมากๆ จนแทบจะไม่ถ่าย RAW เลยนอกจากเจอที่แสงยากจริงๆ หรือที่ๆ อยากจะเก็บ “ฟิล์ม” ไว้ล้างเองจริงๆ ไม่ก็สำหรับงานสำคัญๆ ที่มันมีครั้งเดียวหรือถ่ายใหม่ไม่ได้แล้วจริงๆ เท่านั้น … แต่ในกรณี Panasonic หรือ Leica M8 นี่ถ่าย RAW ตลอด เพราะรับ JPEG จากกล้องมันไม่ได้เลย

ป.ล. แถมท้าย … ให้ดูว่า RAW มันทำอะไรได้บ้าง ในกรณีที่ “แสงยาก” และ “เป็นงานสำคัญ” … เป็นรูปจากงานแต่งงานผมเอง โดยฝีมือน้องชายและลูกศิษย์สุดที่รักคนหนึ่ง ถ่าย RAW จาก Nikon D3s และใช้ Capture NX 2 ในการล้างฟิล์ม


d3sraw.png

Cloud Atlas

นี่คือหนังเรื่องแรกที่มี Dialog และ Symbol ที่สะท้อนความจริงในสังคมที่ทำให้ผมหลุด “เหยดดดด เจ๋งว่ะ” เบาๆ ในโรงหนังในรอบ 3 ปี

Cloud Atlas (IMDB) คือหนังเรื่องที่ผมพูดถึง คือหนังเรื่องที่ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า “Love it or Hate it” เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้ยินอะไรกลางๆ เกี่ยวกับมันเลย จะมีแต่บวกสุดโต่ง หรือลบสุดขั้ว ก็เท่านั้น

บทความนี้ จะเป็นสิ่งที่ผมเห็นจากในหนัง ซึ่งเขียนในแบบ “ถอดเทป” ที่ผมตีความทันทีที่ดูจบ ซึ่งผมเสียดายที่ผมจะต้องเขียนมันวันนี้ เพราะผมเชื่อว่า หนังอย่าง Cloud Atlas จะโตตามชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป เมื่อผมกลับมาดูมันใหม่ในรอบที่ 2, 3, 4, 5 … ไปเรื่อยๆ จนเป็นรอบที่ 20 ผมก็ยังจะเห็นอะไรใหม่ๆ ที่มันสะท้อนให้เราเห็นในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับ The Matrix, Brazil และหนังอีกหลายเรื่อง และนี่เป็นหนังประเภทเดียว ที่ผมอยากจะดูซ้ำไปซ้ำมา … ไม่ใช่เพราะเราอยากดูหนังหรอกนะ แต่เราอยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราในอีกมุมหนึ่ง ผ่านกระจกสะท้อนภาพที่เรียกว่า “ภาพยนต์”

และนั่นคือสิ่งแรกเลยที่ผมเห็น “ความรู้เป็นเพียงแค่กระจกสะท้อน” สิ่งที่เรารู้ ก็คือสิ่งที่หล่อหลอมจนมันกลายเป็นตัวเรา พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมเคยได้ยินมาว่า “เราคือสิ่งที่เรากิน” ประโยคเด็ดจากนักโภชนาการ แล้วประโยคเดียวกันล่ะ ใช้ได้ไหมกับ “อาหารสมอง”?

แล้วเรารู้จากอะไร? “ตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตไม่ใช่ของเรา แต่มันถูกนิยามขึ้นมาจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวทั้งหมด” (อันนี้เป็นการตีความของผมนะ เพี้ยนจากประโยคในหนังสักนิด เพราะผมได้รับอิทธิพลจากความหมายหนึ่งของคำว่า Ubuntu ที่มีคนเคยตีความให้ผมฟังว่า “เราเป็นเรา เพราะคนอื่น” — เห็นไหมล่ะ เพราะเรารู้ต่างกัน มันก็สะท้อนภาพให้เราเห็นต่างกัน) ทุกสิ่งทุกอย่างทุกความดีความเลว ทุกความถูกความผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนสอนเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิด ที่เราเรียนรู้ ที่เราถูกปลูกฝังบ่มเพาะขึ้นมา มันเป็นการกำหนดนิยามให้ “ตัวเรา” ขึ้นมาทั้งนั้น

นั่นคือ เวลาเราที่เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะเห็นอะไรล่ะ นอกจากเงาของตัวเองที่สะท้อนไปบนสิ่งนั้น และเวลาที่เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะได้อะไรล่ะ นอกจากสิ่งที่มานิยามตัวเราเองมากยิ่งขึ้น เป็นวัฏจักรไม่มีจุดจบสิ้น

ก็เลยมาถึงประเด็นหนักๆ ของหนังเรื่องนี้กันล่ะครับ นั่นก็คือ “ความรู้” “ความจริง” และ “ความกลัว”

เพื่อให้เห็นความแรงของเรื่องนี้ชัดขึ้น เรามาดูประเด็นรองลงมาก่อน (ซึ่งหลายคนมองเป็นประเด็นหลัก เพราะมันเห็นได้ชัดเจนตลอดเรื่อง) นั่นก็คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือที่ในเรื่องบอกตลอดเวลาว่า “มันมีลำดับตามธรรมชาติ สิ่งที่อ่อนแอกว่า ก็จะถูกสิ่งที่แข็งแรงกว่ากินเป็นอาหาร” หรือ ห่วงโซ่อาหาร ความสัมพันธ์แบบ ผู้ล่า-เหยื่อ (Predator-Prey) อะไรทำนองนี้

หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นแบบชัดเจนมากในเรื่องนี้ … และเป็นการสะท้อนที่แรงมาก เพราะอะไรหรือ ลองสังเกตอะไรบางอย่างดูไหมล่ะครับ

  • เรื่องมนุษย์กินคน ที่เป็น “ผู้ล่า-เหยื่อ” ชัดเจนมาก เรียกว่า เหยื่อจะรู้ตัวเองว่าเป็นเหยื่อ จะกลัวผู้ล่า หนีผู้ล่า และไม่กล้าสู้กับผู้ล่าของมันเด็ดขาด
  • เรื่องการค้าทาส ที่เริ่มเปลี่ยนเป็น Master-Slave มากกว่า “ผู้ล่า-เหยื่อ” นะ และเครื่องมือเริ่มเปลี่ยนจาก “ดาบ มีด กำลัง” มาเป็น “การปลูกฝังความเชื่อ” รวมถึง “ความสบาย” มากขึ้น แต่ก็แน่นอนว่ายังมี “ปืน แส้” เป็นองค์ประกอบด้วย
  • เรื่องนาย-บ่าว ผู้ช่วยทำงานล่ะ ความสัมพันธ์นี้ก็พัฒนาไปอีกขั้น เครื่องมือไม่ใช่กำลังอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมยิ่งขึ้น เช่น “สถานะทางสังคม” และ “ชื่อเสียง” แต่แน่นอนว่า “ความรู้” ก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน การเป็น Master-Slave มาจากความสมยอมในบริบทสังคม เพื่อสิ่งที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น มากกว่าความจำยอมด้วยลำดับตามธรรมชาติ (ของผู้ล่ากับเหยื่อ)
  • เรื่องต่อมา ยิ่งเป็นนามธรรมมากขึ้น และแรงมากขึ้น ก็คือยุคที่คนส่วนมาก กลายเป็น “เหยื่อ” โดยที่ไม่รู้ตัว จากข้อมูลข่าวสาร จากการผูกขาดการค้า คนส่วนมาก อยู่ในภาวะจำยอมจากผลของปลาตัวใหญ่ๆ ที่เล่นเรื่องผลประโยชน์จากพลังงาน ลองมองรอบตัวเราในปัจจุบันสิ ว่าเราเป็น “เหยื่อ” ของอะไรบ้าง ที่ส่งบิลมาเก็บเงินเราแต่ละเดือน จริงหรือไม่ล่ะ (นึกถึงเรื่อง 3G กับผลประโยชน์ของอะไรไม่รู้ ที่เอาประเทศชาติเป็นตัวประกันบ้างหรือเปล่าไม่รู้)
  • เรื่องสุดท้าย ที่แรงมาก ก็คือ “การสร้างคนขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อ” และ ​”ปลูกฝังความรู้และความเชื่อ”

เรื่องสุดท้ายสะท้อนแรงจนคงต้องเขียนย่อหน้าใหม่กันเลยทีเดียว … เพราะทุกวันนี้ …​ มันก็เป็นแบบนั้น

“ซอนมี-451” คนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อของระบบที่ใหญ่กว่านั้น ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าการก้าวไปทีละขั้นๆ ในระบบที่ถูกกำหนดไว้ดีแล้วนั้น เป็นเส้นทางสู่อะไรสักอย่าง (การถึงที่หมายละกัน) แต่แท้จริงแล้ว “ที่หมาย” ท่ีว่านี้คืออะไรหรือ ก็คือการเป็น “อาหาร” ให้กับคนอื่นในระบบน่ะแหละ

ภาพซ้อนจากหนังเรื่อง The Matrix ตอนที่ Morpheus ทำให้ Neo ตื่นขึ้นมาเห็น “ไร่พลังงานมนุษย์” โผล่ขึ้นมาในหัวผมเลยทีเดียว และถึงกับขนลุกเมื่อผมเห็นฉากสุดท้ายของระบบนั้น … ผมเดินออกจากโรงหนัง นึกถึงระบบที่มีในบ้านเราหลายต่อหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบอำนาจ ระบบการศึกษา หรือระบบอะไรก็ตาม .. สิ่งที่ผมอ่านจากหนังสือหลายต่อหลายเล่ม ถล่มลงมาในที่เดียวกันหมดเป็นภาพเดียวกันหมดตรงนั้น….

ใช่ครับ เรากำลังอยู่ในระบบแบบนั้นน่ะแหละ เราถูกสร้างขึ้นมาให้เชื่อในระบบและโครงสร้างแบบนั้น โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ ทีละขั้น ทีละขั้น ที่เราถูกใส่ Serial Number ที่สะท้อนกระบวนการผลิต (เช่นรหัสนักศึกษา) ออกมาเพื่อให้เรากลายเป็นอาหารของสิ่งที่ใหญ่กว่าเราอย่างเต็มใจ (เราเดินร้องเพลงอย่างเต็มใจเพื่อไปเข้าโรงเชือดให้เป็นอาหาร)

วิวัฒนาการของกระบวนการอะไรก็ตาม มักจะลงเอยด้วยการ Industrialize หรือการ Mass Produce ตั้งแต่ยุคของการทำการเกษตร ที่มาแทนการเก็บของป่าและการล่าสัตว์ จนมาถึงปัจจุบันที่เราผลิตคน และสร้างคนขึ้นมาตามกระบวนการอะไรบางอย่าง ปลูกฝัง “อาหารสมอง” บ่มเพาะด้วย “ความรู้” และ “ความเชื่อ” อะไรบางอย่าง เพื่อให้คนเหล่านั้นเป็นเหยื่อและเป็นทาสของระบบ ที่ทำให้ระบบนี้มันอยู่ต่อไปได้

และเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่ใช้มาทุกยุค ก็คือ “ความกลัว”

ความกลัว ถูกสร้างได้หลายรูปแบบจากผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่เป็นผู้ล่า กับเหยื่อของตัวเอง (ครั้งหนึ่งผมเคยเจอกับพระป่าที่ไม่กลัวเสือ และท่านสอนผมว่า “ลูกเอ๋ย มีแต่เหยื่อของเสือเท่านั้นแหละ ที่กลัวเสือ”) ไม่ว่าจะเป็นจากการเขียนหน้าเขียนตาให้น่ากลัว การใช้กำลัง ดาบ ปืน อาวุธต่างๆ จนมาเป็นเครื่องมือที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อเสียง สถานะทางสังคม ข่าวสาร สื่อ หรือแม้กระทั่งความกลัวที่จะหนีจากชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่ง ที่อันที่จริงมันอาจเป็นเพียงประตูบานหนึ่งก็ได้ และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งเครื่องมือที่ว่านี้ก็จะวิวัฒนาการเป็น “มโนภาพ” ของ “สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมา” ให้ทุกคน “เหมือนกันหมด” … “ความแตกต่าง คือ ความกลัว”

นี่คือสิ่งที่แรงที่สุดที่ผมเห็นจากหนังเรื่องนี้:

ถ้า “ชีวิตไม่ใช่ของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย เราคือสิ่งที่ถูกกำหนดและนิยามขึ้นมาจากทุกอย่างรอบตัวเรา” แล้ว “เราคืออะไร?” .. เราทุกคนถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเหยื่อ เป็นอาหาร ให้กับระบบที่เราสร้างขึ้นมาเอง ระบบที่มีปลาใหญ่ ระบบที่มีคนที่เหนือกว่าเรา ระบบที่เราจะอยู่ในภาวะจำยอมกับการที่เป็นแบบนี้ ผ่านความรู้ ความเชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย และเราก็กลัว ที่จะก้าวเท้าออกจากมันแม้แต่เพียงก้าวเดียว

สิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับความกลัวได้ ก็คือ “ความจริง” ซึ่งในหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าจะมีตัวละครตัวหนึ่ง ที่มีหน้าที่ “รักษาความกลัว” โดยการไม่ให้คนเข้าถึง “ความจริง” อยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ปลูกฝังกันมาให้เชื่อตามๆ กัน การฆ่านักข่าว … และสุดท้าย “การกำจัดความต่าง”

ทำไมน่ะหรือ … เพราะสุดท้ายแล้ววิวัฒนาการของระบบมันจะพาเราไปหาจุดที่เครื่องมือทุกอย่างเป็นนามธรรม เป็นเพียงภาพลวงตาที่มันจริงในมโนภาพของเราเท่านั้น การที่มี “คนที่แตกต่าง” ขึ้นมาเพียงคนหนึ่ง อาจจะทำให้ระบบที่สร้างไว้ทั้งหมดพังทลาย เพราะการที่ต่างได้ จะเป็นผลโดยตรงกับ “ความเชื่อ” ทั้งหลายที่ถูกปลูกฝังและสะสมมา ดังนั้น “การกำจัดความต่าง”​ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาระบบ

แล้วเราจะทำอะไรกันล่ะ เมื่อเราอยู่ในระบบแบบนี้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรามันเป็นระบบแบบนี้? ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราเหมือนกับจะเป็น The Matrix เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด และมีคนที่เหมือนกับเป็นสาวเสื้อแดง ที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ปกป้องระบบ เพราะระบบทำให้เขามีตัวตนอยู่ได้เต็มไปหมด

คำตอบมีอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้คือ ตั้งแต่ Tagline ที่ว่า “Everything is Connected” หรือทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยแค่ไหนก็ตาม ใครจะไปคิด ว่าเรื่องเล็กน้อยที่คนๆ หนึ่งทำ เช่น ละครชีวิตตัวเอง จะกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติทางความเชื่อในอนาคตกันไกลโพ้นได้ และการปฏิวัติทางความเชื่อนั้นๆ แม้ว่าจะจบลงด้วย “การกำจัดความต่าง” แต่เมล็ดของความเชื่อใหม่ ก็ถูกส่งกระจายออกไปยังที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อใหม่ในอนาคตที่ไกลโพ้นออกไปอีก

อนาคตมันเป็นเพียง “ผล” ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ในลักษณะ Collective ไม่เพียงแค่คนๆ เดียวคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนที่เราทำ ทั้งสิ่งดี สิ่งไม่ดี สิ่งที่เราไม่ได้ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมมา .. แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็น หยดน้ำในมหาสมุทร” แต่ “มหาสมุทรคืออะไรเล่า ถ้าไม่ใช่หยดน้ำมหาศาลรวมกัน”

ไม่มีอะไรที่สูญเปล่าและไม่มีอะไรที่ตาย การกลับมาเกิดใหม่เป็นไปได้เสมอ แม้จะไม่ใช่การกลับมาเกิดใหม่ในแบบที่หลายคนคิด (คนนี้ตายกลับมาเกิดใหม่เป็นคนนั้น) แต่เป็นการกลับมาเกิดใหม่ของ “ความคิด” การกลับมาเกิดใหม่ของ “ความเชื่อ” การกลับมาเกิดใหม่ของ “วิญญาณ” ผ่านการกระทำและสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ ได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังลงไปใหม่เป็นเมล็ดความคิดให้กับอีกคนหนึ่ง อีกที่หนึ่ง อีกเวลาหนึ่ง

แต่ว่า … สุดท้ายมันก็นำมาซึ่งระบบอีกระบบหนึ่ง … นั่นเอง

ป.ล. มีคนถามว่าทำไมจึงเป็นชื่อ Cloud Atlas … ตอนแรกที่ผมดู ผมคิดว่ามันคือ “แผนที่ของเมฆ” ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา แล้วแต่เราจะตีความว่าเป็นรูปอะไร แต่เมื่อผมดูจบแล้ว ผมรู้สึกว่า “เป็นไปไม่ได้” มันน่าจะมีความหมายอย่างอื่นแน่นอน ก็เลยมาค้น Google ดู … ใช่สิ Atlas คือเทพตามตำนานกรีกที่ถูกสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ให้แบกโลกไว้บนบ่า … จะหมายความว่าอย่างไรดีล่ะ … ถ้าสิ่งที่พวกเราต้องแบกไว้บนบ่า คือ มโนภาพที่จับต้องไม่ได้ ทะลุได้ทั้งหมด แต่เมื่อมองไกลๆ มันดูเหมือนมีรูปร่าง มีตัวตน ยิ่งใหญ่ และน่ากลัว (เวลาพายุกำลังตั้งเค้า) … เช่นเดียวกับ “เมฆ” (Cloud)

รู้สึกยังไงกันบ้างล่ะครับกับ “มโนภาพที่ไร้ตัวตน ที่แบกไว้อย่างหนักอึ้งอยู่บนบ่า”? ลองดูใน “วันที่ไม่มีเมฆ” สิครับ ว่า “ฟ้าสวยแค่ไหน” และเรารู้สึกว่า “เป็นอิสระ” แค่ไหน (และนี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่มีการเล่นประเด็นในหนังเรื่องนี้ตลอดเวลา)

Myth: Basic & Easy ..​เรื่องง่าย ที่มักเข้าใจผิด

เรื่องหนึ่งที่ผมพูดบ่อยมาก ก็คือ “พื้นฐาน (Basic) ไม่ง่าย” ซึ่งสวนกับความเข้าใจหรือความคิดโดยทั่วไปของคนส่วนมาก (เท่าที่รู้จัก) ว่า “Basic = ง่าย” และ “Advance = ยาก”

ทำไมเป็นงั้นล่ะ? พื้นฐานน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็ต้องทำได้ ส่วนเรื่องระดับสูง น่าจะยากกว่า เพราะอย่างน้อยมันต้องต่อยอดจากพื้นฐานไม่ใช่เหรอ?

อันที่จริงแล้ว “พื้นฐาน” ที่ดี จะเป็น “การรู้” เกี่ยวกับ “อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม” หรือ What, Where, When, Why มากกว่า “อย่างไร” หรือ How ซึ่ง “การรู้” นี้จะได้มาจาก “การลงมือทำ โดยรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่” ไม่ใช่เพียงแค่ “ลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์” นั่นคือ

“การลงมือทำ ในระดับพื้นฐานนั้น ผลลัพธ์ที่ได้และควรใส่ใจ คือ การรู้ว่าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และทำไม ไม่ต้องสนใจผลลัพธ์อย่างอื่นของมัน”

ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง “Differential Calculus” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักเรียนนักศึกษาส่วนมาก หลายคนมองว่า d(x^2)/dx = 2x เป็นท่าพื้นฐานที่ใครๆ ก็ต้องทำได้ และแบบฝึกหัด d(2x^3)/dx จะสนใจว่าได้คำตอบเท่าไหร่ … ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นฐานที่ผิดวิธีมากๆ

เพราะเรื่องพื้นฐานจริงๆ นั้น จะต้องสนใจ “นิยาม” ของ Differential Calculus ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการมองอะไรอย่างไร เช่นเราจะมองผลของการเปลี่ยนแปลงของอะไรเมื่ออะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเล็กน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก็จะมีผลอย่างไรบ้าง เป็นฟังก์ชั่นที่กระทำกับฟังก์ชั่นได้ผลลัพธ์เป็นฟังก์ชั่น ไม่ใช่กระทำกับค่า (Value) และอื่นๆ อีกมากมายไม่ใช่แค่นี้ และแบบฝึกหัด d(2x^3)/dx ก็ไม่ต้องสนใจว่ามันจะตอบว่า 6x^2 เท่ากับที่จะต้องสนใจว่า “เห็นหรือเปล่า ว่า 2x^3 เป็นฟังก์ชั่นของ x และ 6x^2 ก็เป็นฟังก์ชั่นของ x เมื่อดูการเปลี่ยนของฟังก์ชั่นของ x ตัวหนึ่ง (ฟังก์ชั่นเหตุ) ว่าเมื่อ x เปลี่ยนไปเล็กน้อยที่สุดเท่าที่มันเป็นไปได้ แล้วผลของมันจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง (ฟังก์ชั่นผล)”

เห็นอะไรหรือเปล่าครับ นี่ผมยังพูดถึงพื้นฐานของ Differential Calculus ในเชิง What, Where, When, Why ไม่หมดเลยนะครับ ยังเหลืออีกเยอะ นี่คือ “เปลือก” ของพื้นฐานเท่านั้นเอง

ลองดูปริมาณบรรทัดที่ใช้ในคำอธิบาย ลองดูสิ่งที่อธิบายออกมาเป็นพื้นฐาน เทียบกับสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นพื้นฐาน d(2x^3)/dx = 6x^2 ว่ามันต่างกันเยอะแค่ไหน

ประเด็นสำคัญก็คือ พื้นฐาน เป็นเรื่องของความเข้าใจ ที่จะต้องลึกขึ้นเรื่อยๆ ตามการกระทำจริง ที่ทำแล้วได้ความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มเติม ซึ่งก็คือผลลัพธ์ในเชิงความเข้าใจ (อะไรคือ Calculus มันคือเครื่องมือที่ใช้อะไรเป็น Input และให้อะไรเป็น Output และเราจะใช้มันกับโลกรอบๆ ตัวได้ยังไง) ไม่ใช่ผลลัพธ์จากเทคนิค (6x^2)

ดังนั้น ในการศึกษาพื้นฐานหลายต่อหลายครั้ง จำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างเชิงเทคนิคที่ง่าย” หรือตัวอย่างที่ไม่เน้นการใช้ How เพราะตัวอย่างที่ง่ายและไม่ซับซ้อนนั้น จะทำให้เราชี้ถึงประเด็นของ What, Where, When, Why ได้ง่ายกว่าตัวอย่างที่ซับซ้อน ที่จะทำให้หลงไปในเทคนิคของวิธีการได้ง่าย

แต่อนิจจา …. สำหรับบ้านเรา ที่เน้นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ (6x^2) มากยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง รวมถึงผลลัพธ์เชิงความเข้าใจ (อะไรคือ Calculus ฯลฯ) นั้น การสนใจแต่ “ทำอย่างไร” กลายเป็นเพียงจุดเดียวที่สนใจ และหลายต่อหลายคนก็พยายามหาสูตรลัดหรือทางลัดไปยังคำตอบของวิธีการ สนใจแต่เรื่อง How และเทคนิคการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่จับต้องได้ … ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า “พื้นฐานเป็นของง่าย” ไม่ใช่เพราะมันง่ายนะ แต่เป็นเพราะว่า “มันใช้ How ง่ายๆ”

คำพูดติดปากผมในช่วงหลังๆ ก็คือ

มันไม่มีอะไรยากหรอก ถ้าคุณคิดว่ามันยาก “ก็เพราะว่าคุณไม่มีพื้นฐานมากพอที่จะทำให้มันง่าย”

และ

สิ่งที่ยากที่สุด คือ “พื้นฐาน”

ยิ่งศึกษาอะไรที่มันระดับสูงขึ้นไปเท่าไหร่ โดยไม่ใช่แค่สักแต่จะทำให้มันได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ แต่เพื่อให้ได้ผลที่ใหญ่กว่านั้น คือความเข้าใจถึงสิ่งนั้นๆ ที่ลึกยิ่งขึ้น มองเห็นมันมากขึ้น จับต้องมันได้ในมโนภาพและจินตนาการมากขึ้น มันจะยิ่งส่งผลกลับไปยังพื้นฐานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญมาก …

พื้นฐานที่ดี จะต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ และมักจะเรียบง่ายกว่าความซับซ้อนเชิงเทคนิคต่างๆ ที่เรามองเห็น

ทั้งนี้ผมจะต้องขอสร้างความชัดเจน 1 จุดตรงนี้ คือ

“เรียบง่าย = Simple” นะ ไม่ใช่ “ง่าย = Easy”

คำว่า “เรียบง่าย” เป็นคำๆ เดียว แยกไม่ได้ ไม่ใช่ Easy นะ คนละเรื่อง คนละเรื่อง และคนละเรื่อง … การจะมองหาและทำความเข้าใจอะไรให้เรียบง่าย เป็นเรื่องที่ยากมาก และต้องมีพื้นฐานที่ดีมาก ถึงจะฉีกหน้ากากของความซับซ้อนเชิงเทคนิค มองทะลุฉากหน้าทั้งหลายทั้งแหล่ลงไปได้

ถึงผมจะยก Calculus มาเป็นตัวอย่าง แต่ทุกอย่างมันก็เข้าข่ายแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาดนตรี การเขียนโปรแกรม การเล่นกีฬา การศึกษาวิทยาศาสตร์หรือปรัชญา การศึกษาสังคม ฯลฯ

ป.ล. ฝากไว้ตรงนี้นิดหน่อย: “หนังสือ iOS Application Development ฉบับ Remake Edition สำหรับ iOS 6 SDK ที่ผมกำลังเขียนอยู่นั้น เป็นหนังสือ ‘พื้นฐาน’ มากๆ และแน่นอนว่า ‘มันไม่ใช่หนังสือที่ง่าย’ (Know-How อาจจะง่าย แต่ Know What, Where, When, Why หนักมากแน่นอน)”

“Remember the Butterfly”

วันนี้ได้ฤกษ์อัพเดท เรื่องเล่าจากเรื่องจริง ‘คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย’ ที่เคยเขียนลงบล็อกนี้ไว้ทั้งหมด 8 ให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับที่จะพิมพ์เป็นหนังสือของชำร่วยงานแต่งงาน หลังจากเรียบเรียงใหม่หลายต่อหลายอย่าง แม้ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเหมือนเดิม แต่ก็มีหลายอย่างที่ผมตั้งใจสื่อความรู้สึกออกมามากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่เป็นลำดับเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในใจผมและคุณเจ้าสาวด้วย



ตัวอย่างปกหนังสือของชำร่วย ออกแบบโดยคุณวีร์ (คู่หู dualGeek) และทีมงานที่ Conscious

หนังสือเล่มนี้จะมี Tagline ซึ่งแสดงถึงงานแต่งงานของเราทั้งสองคนว่าเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องราวความรักที่ถูกสร้างมา 18 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ที่จะคงอยู่ตลอดกาล


‘The finale to a love story 18 years in the making
and the beginning of an everlasting one’

หนังสือเล่มนี้ และบทความที่เขียนลงบล็อก จึงเป็นบันทึกจากความทรงจำและความรู้สึกที่สำคัญทั้งหมด ที่ทำให้ผมมีมีน ที่ทำให้เรามีเรา ที่ทำให้การเดินผ่านเส้นทางชีวิตอย่างเดียวดายของผมมาถึงจุดสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุข หรือเรื่องทุกข์ เรื่องดี หรือเรื่องร้าย รอยยิ้ม หรือน้ำตา เรื่องจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและความรู้สึก ที่ทำให้วันนี้เปลี่ยนจากความฝันเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้

เส้นทางการเดินทางของเรา แบ่งเป็นช่วงๆ ตามกาลเวลา ดังนี้

ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาตลอดนะครับ

ป.ล. สำหรับคนที่อยากได้เล่มฉบับพิมพ์ ผมคงจะพิมพ์เผื่อไว้จากงานแต่งไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าไงก็บอกกันได้นะครับ

คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย #8: “Remember the Butterfly”

เรื่องเล่า ที่เรียบเรียงจากเรื่องจริงของผม และว่าที่เจ้าสาว คุณวัชรพรรณ โล่ห์ทองคำ ตอนจบ

อัพเดทล่าสุดเมื่อ 10 กันยายน 2555

ความเดิม

บทส่งท้าย: รำลึกถึงผีเสื้อน้อย (Remember the Butterfly)

“คิดว่าคนเรา ถ้าเป็นคู่กันแล้ว จะแคล้วกันได้มั้ย”

คำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเองมาตลอด วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่าในชีวิต นับจากที่ผมได้ยินคำพูดสุดท้ายของมีน สมัยที่ผมจีบเธอตอนเรียนมหาวิทยาลัย เสียงของเธอยังคงก้องอยู่ในหู ประโยคที่ตามหลอกหลอนผม

“ไม่ต้องคุย ไม่ต้องมาเจอกันอีกแล้วนะ”

มันทำให้ผมกับมีนไม่ได้ติดต่อกัน ไม่ได้คุยกันเหมือนเก่า แต่ผมก็ยังคิดถึงมีนอยู่เสมอ ไม่เคยลืมเธอได้เลยสักนิด และยิ่งมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตผมเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งนึกถึงมีนมากขึ้น พร้อมกับคำถามในใจตลอดเวลาว่า

“ถ้าวันนั้น…… ผม……”

เหตุการณ์ครั้งนั้นมันส่งผลกับชีวิตเราสองคนมากมายเหลือเกิน การพูดไม่ระวังปากของผมเพียงครั้งเดียว และการพูดเพราะความเสียใจของมีนเพียงครั้งเดียว ทำให้ทุกอย่างมันไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว ผมคงทำเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิตลงไป และชีวิตคงจะไม่มีวันให้อภัยผม ..

ในช่วงที่ผมได้แต่นั่งคิดถึงมีน แต่ไม่กล้าติดต่อไป ไม่กล้าทำอะไรมากมายกว่านั่งคิดถึงมีนและเห็นภาพมีนตลอดเวลาที่เปลือกตามันปิดลง เช้าวันหนึ่ง ในต้นเดือนพฤษภาคม 2544 ขณะนั้นผมเรียนอยู่ปี 3 ผมเดินเข้าไปนั่งฟังบรรยายวิชา Mathematical Foundations of Computational Science โดยอาจารย์ James B. Cole ผู้ซึี่งภายหลังกลายมาเป็นทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา พี่ชาย เพื่อนสนิท และพ่อคนที่ 2 ของชีวิต

ช่วงนั้น … ผมค่อนข้างจะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตพอสมควร ผมทำทุกอย่างแค่ผ่านมันไปวันๆ ไม่ได้สนใจอะไรกับการเรียนวิชาเรียนต่างๆ หรือการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์พาร์ทไทม์ให้กับบริษัทต่างๆ และสถาบันวิจัยบางแห่งที่ผมทำอยู่มากมายนัก ผมยังคงมองคณิตศาสตร์กับโลกความเป็นจริงแบ่งแยกกันอยู่ค่อนข้างมาก และไม่รู้จะเรียนมันไปทำไมด้วยซ้ำไป แต่การบรรยายครั้งนั้นมันก็เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผม เมื่ออาจารย์ผมพูดถึงเรื่องระบบที่เปลี่ยนแปลง (Dynamical System) ทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ผลแห่งการกระพือปีกของผีเสื้อ (Butterfly Effect) และวังวนประหลาดของการเดินทางของระบบ (Strange Attractor)

(ชื่อเหล่านี้ ผมบัญญัติขึ้นมาเองสำหรับหนังสือเล่มนี้ ตามความชอบ ความพอใจ และความเข้าใจที่มันสะท้อนโลกใบนี้ให้กับผม ไม่ใช่ชื่อเฉพาะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่สามารถใช้อ้างอิงได้)

ตอนแรกผมก็ฟังผ่านๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จนกระทั่ง

“เหตุการณ์เล็กน้อย จะส่งผลถึงการเดินทางของระบบที่เป็นแบบเคออสอย่างมหาศาล และตลอดกาล”

ภาพของเหตุการณ์เล็กๆ แค่เพียงวินาทีเดียว ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และรอยยิ้มของเธอ บนทางเดินตรงระเบียงวันนั้น ปรากฏชัดเจนขึ้นในความคิดผมทันที

“หากระบบที่เปลี่ยนแปลง (Dynamical System) ใดๆ ก็ตามเป็นระบบแบบเคออส (Chaotic System) แล้วการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงน้อยนิดในค่าตั้งต้นของอะไรบางอย่าง ก็จะส่งผลต่อเส้นทางของระบบนั้นๆ อย่างมหาศาล เรียกได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปมากพอที่จะทำให้ผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ชัดเจนขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนกับเกิดขึ้นแบบสุ่ม ไม่มีเหตุมีผลและโผล่มาเฉยๆ จริงๆ แล้วไล่ย้อนดีๆ มันเป็นผลที่เกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาจจะฝังลึกอยู่ไกลในกาลเวลา ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญแม้แต่อย่างเดียวในโลกนี้ ต่อให้เมื่อเราดูผลของระบบที่เหมือนกับมั่วยังไง ก็ยังมีเหตุผลกลไกอะไรบางอย่างซ่อนอยู่เสมอ”

ผมหลับตาลง ภาพเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตผมไหลผ่านตาอย่างรวดเร็วและชัดเจนทุกรายละเอียดราวกับทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้น ผมมานั่งอยู่ตรงนี้ได้เพราะอะไร ที่ผมต้องคิด ต้องเห็นภาพเหล่านี้ตลอดเวลาเพราะอะไร …. เหตุการณ์ทุกอย่างที่มันนิยามชีวิตผมขึ้นมาจนเป็นตัวตนของผมเอง มันมาจากรอยยิ้มครั้งนั้น ….

“ผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกในบราซิล จะทำให้เกิดพายุทอร์นาโดในเท็กซัสหรือเปล่า”

อาจารย์พูดถึงประโยคคลาสสิคของทฤษฎีเคออส ที่เราเรียกว่า “Butterfly Effect” ซึ่งในขณะนั้น คำตอบของผมคือ “ใช่” เพราะมันชัดเจนเหลือเกิน ชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผมเริ่มอยากรู้มากขึ้น ว่าแล้วระบบเหล่านี้มันจะลงเอยเช่นไร ด้วยความหวังอะไรบางอย่างลึกๆ .. แต่แล้วอาจารย์ก็บอกมาง่ายๆ โดยที่ผมไม่ต้องถามว่า

“เราไม่สามารถคาดการณ์หรือคาดเดาอะไรที่เป็นระยะยาวกับระบบที่เป็นเคออสได้เลย”

ผมนั่งถอนหายใจเล็กน้อย

“แต่เส้นทางการเดินทางของระบบเหล่านี้ มักจะมีวังวนประหลาด (Strange Attractor) ที่คอยดึงดูดเส้นทางการเดินของมันเข้าไปสู่กรอบอะไรบางอย่าง ที่เมื่อเข้าไปแล้วไม่มีวันหลุดไปไหน ถึงมันจะไม่เคยซ้ำ ไม่เคยทับเส้นเดิม คาดเดาไม่ได้เหมือนเดิมว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบของเรื่องนั้นๆ เสมอ และถ้าระบบนั้นๆ มันมีวังวนแบบนี้ล่ะก็ เรื่องที่น่าประหลาดก็คือ ไม่ว่าเราจะตั้งต้นยังไง มันก็จะถูกดูดเข้ามาอยู่ในกรอบนั้นๆ อยู่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในค่าตั้งต้น ก็ยังมีผลมหาศาล เพราะเส้นทางของระบบวังวันนั้นก็ยังไม่เหมือนกันเลย ขึ้นกับค่าตั้งต้น)”



Lorenz Attractor หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “Butterfly Attractor”
เส้นทางเดินของระบบนี้ จะไม่ออกจากกรอบของรูปผีเสื้อนี้เด็ดขาด;
ภาพจาก Wikipedia

หลังจากจบการบรรยาย ผมรีบเดินไปหาอาจารย์ผมที่หน้าชั้นเรียน

“ผมอยากรู้อะไรบางเรื่องนะ”

พร้อมกับเดินไปที่กระดานดำ

“คิดว่าความคิดกับความทรงจำของคนเรา มันเป็นระบบที่มีวังวนประหลาดที่ว่านั่นหรือเปล่า”

ผมพูดพร้อมกับเขียนสมการอะไรบางอย่างลงไปในกระดานดำ แล้วคุยกับอาจารย์ไปเรื่อยๆ

“ไม่ว่าผมจะคิดอะไร ผมจะเห็นอะไร จะตั้งต้นจากอะไร สุดท้ายแล้วทำไมผมต้องคิดถึงเรื่องอะไรบางเรื่องอยู่ตลอดเวลาด้วย ถึงแม้ผมจะไม่คิดถึงมัน สุดท้ายความทรงจำบางอย่างก็ถูกดึงขึ้นมาให้เห็นทุกที ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม และเมื่อผมเริ่มคิดเรื่องนี้เมื่อไหร่ ความคิดทั้งหมดของผม ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ อยู่แค่เรื่องเดียว ไม่หลุดไปไหนทุกครั้ง”

อาจารย์ผมมองด้วยสีหน้าประหลาดใจ พร้อมกับพูดว่า

“น่าสนใจมาก ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย .. น่าสนุกแฮะ”

เราเสียเวลากับการยืนเถียงกันหน้ากระดานอีกหลายสิบนาที กับสมการเต็มกระดาน ก่อนที่ผมจะถามคำถามใหญ่ๆ กับอาจารย์ผมว่า

“โอเค มันชัดว่าชีวิตคนเรามันเป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ผมก็คิดว่ามันเป็นระบบแบบเคออสซะด้วย แล้วมันจะมี วังวนประหลาดหรือเปล่าล่ะ” ….

ผมถอนหายใจยาวๆ ก่อนที่จะถามว่า

“แล้วมันจะอธิบายเรื่องของ ‘รักแรกพบ’ ได้มั้ย ความคิด ความรู้สึกทุกอย่างของชีวิตเรากับคนๆ หนึ่ง ถูกกำหนดโดยค่าตั้งต้นของวินาทีแรกที่เจอกัน ไม่เท่านั้นนะ การที่เราเจอคนๆ นั้นในวันนั้น กลายมาเป็นค่าตั้งต้นให้กับชีวิตเรา ที่ทุกอย่างในชีวิตมันถูกกำหนดโดยการเจอกันครั้งนั้น แล้วมันจะมีวังวนอะไรบางอย่างให้ต้องคิดถึงคนๆ นั้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเริ่มต้นคิดเรื่องอะไร แล้วการเดินทางของชีวิตเองล่ะ มันจะมีวังวนอะไรแบบนี้ได้บ้างมั้ย” ….

อาจารย์ผมไม่ตอบ เพียงแต่บอกว่า

“น่าสนุกมาก ทำไมไม่ลองเล่นเรื่องพวกนี้หนักๆ แล้วมาเล่าให้ผมฟังบ้างล่ะ แล้วไม่ต้องมาวิชานี้แล้วนะ นายได้ A”

อาจารย์ผมทิ้งท้ายไว้ให้ พร้อมขยิบตาครั้งหนึ่งว่า

“อย่าลืมนะ พื้นฐานของระบบพวกนี้ทั้งหมดคือ x[t+1] = f(x[t]) ;-)”

เพื่อหาคำตอบขอคำถามเหล่านี้ ผมเปลี่ยนไปเป็นคนละคนในเรื่องวิชาการ ผมเริ่มบ้าคณิตศาสตร์ เริ่มบ้าแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของสมองและความทรงจำของคน ผมเริ่มบ้า Computation Theory เผื่ออะไรก็ตามที่ผมรู้หรือเข้าใจในคอมพิวเตอร์จะทำให้ผมเข้าใจชีวิตตัวเองขึ้นมาบ้าง หนังสือวิชาการแทบทั้งหมดของชั้นหนังสือผม ถูกซื้อหลังจากวันนั้น เหตุการณ์วันนั้น วิชานั้น คลาสนั้น มันคงเป็นผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกด้วยกระมัง …. แต่มันก็เป็นการกระพือปีกในระบบที่สภาพอากาศมันได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ

ผีเสื้อตัวหนึ่ง กระพือปีกเบาๆ ครั้งเดียว ที่เปลี่ยนสภาพอากาศไปตลอดกาล ….

ใช่สินะ รอยยิ้มครั้งนั้นในวันนั้น ที่ผมจำฝังใจไม่มีวันลืมแม้กระทั่งวันนี้ที่ผมกำลังนั่งเขียนบรรทัดนี้อยู่ รอยยิ้มที่เป็นจุดเริ่มของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเข้าใจ ความเป็นตัวตนของผมทุกอย่างใน 18 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องเขียน/พัฒนาโปรแกรม และเรื่องความรู้เชิงลึกทางวิชาการ มันแทบจะถูกกำหนดไว้ด้วยเหตุการณ์ตั้งต้นเพียงเหตุการณ์เดียว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดูเหมือนกับไม่เกี่ยวข้องไม่มีเหตุไม่มีผลไม่มีที่มาที่ไปอะไร แท้จริงแล้วมันต้องมีกลไกอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็น ไม่เข้าใจ อยู่เบื้องล่างเสมอ จากการรกระทำทั้งหมดที่ต่อจุดทั้งหมดเข้าด้วยกัน ที่เชื่อมอดีตมายังปัจจุบัน และจะเชื่อมปัจจุบันไปเป็นอนาคต

แต่นั่นก็คือสิ่งที่ผมรู้มานานก่อนหน้านี้แล้วทั้งนั้น

แต่ก็เพิ่งจะวันนี้เอง … ที่ผมได้คำตอบที่ผมต้องการ คำตอบที่ผมถามหามานาน ตั้งแต่วันที่ผมถามอาจารย์ผมวันนั้น ที่เรายืนคุยกันหน้ากระดาน และตลอด 4 ปีเต็มๆ ที่ผมคุยกับอาจารย์ผมแทบจะเรื่องเดียวมาตลอด และตลอดมาหลังจากนั้น ที่ผมถามหาความจริงของเส้นทางของระบบที่ผมเรียกว่าชีวิตของผมเอง แต่ผมไม่เคยให้คำตอบตัวเองได้ชัดเจน นอกจากความหวังลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

สิ่งที่ผมเพิ่งจะเข้าใจก็คือ … เรื่องวังวนประหลาดของชีวิต ที่ผมถามหามาตลอดว่ามันจะมีหรือไม่ …..

ก่อนหน้าที่ผมและมีนจะได้เจอกัน ชีวิตเราสองคนก็เหมือนกับเส้นทางของระบบที่ยังไม่ถูกชักนำเข้ามาในวังวน มันก็ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราได้เจอกัน วันนั้นที่มีนยิ้มให้ผม ที่มันกลายเป็นผีเสื้อกระพือปีกเบาๆ หลังจากนั้น ไม่ว่าเราสองคนจะทำอะไรก็ตาม ในส่วนลึกๆ แล้วชีวิตเราสองคนจะมีอีกคนอยู่เสมอ ไม่สามารถเดินออกไปจากเส้นกรอบของวังวนตัวนี้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราสองคน สุดท้ายก็เหมือนกับว่าเราสองคนต่างรอกันมาเสมอ ที่คนแรกของหัวใจ จะได้เป็นคนสุดท้ายของชีวิต

คำถามที่ผมอยากรู้วันนั้น …… ณ วันที่ผมถามอาจารย์ผม แต่ผมไม่ได้ถามไปตรงๆ ก็คือ

“คิดว่าเส้นทางชีวิตของเราไม่ว่าจะเดินกันไปยังไง จะเกิดอะไรขึ้นยังไง มันจะอยู่ในกรอบของการเดินอะไรบางอย่างได้มั้ย ไม่ว่าคนที่เป็นรักแรกพบ ที่เจอกันวันนั้น จะมีวันได้เจอกันอีกมั้ย จะลงเอยเป็นยังไง”

หรือตรงกว่านั้นก็คือ

“คิดว่าคนเรา ถ้าเป็นคู่กันแล้ว จะแคล้วกันได้มั้ย”

วันนี้ … ผมได้คำตอบนั้นแล้ว อย่างชัดเจนที่สุด …….. ตั้งแต่เมื่อเราเจอกัน จนถึงวันนี้ ที่เรากำลังจะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป

“ใช่ครับ คู่กันแล้ว ไม่แคล้วกัน”

คำพูดสุดท้ายของอาจารย์ผมในวันนั้น

“อย่าลืมนะ พื้นฐานของระบบพวกนี้ทั้งหมดคือ x[t+1] = f(x[t]) ;-)”

มันหมายถึง

“อย่าลืมนะ อนาคต เป็นผลจากอย่างเดียวเท่านั้น คือ เราตัดสินใจทำอะไรกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน และเราจะเห็นผลของมันเมื่อเวลาผ่านไป”

ไม่ใช่แค่เพียงโชคชะตา ที่ทำให้เราทั้งสองคนมีวันนี้ ชีวิตของเรา มีเพียงเราเป็นผู้กำหนดเท่านั้น ขอเพียงแต่เราตัดสินใจทำ และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ ว่ามันจะพาเราไปไหนสักแห่ง ทุกอย่างเป็นเพียงผลจากสิ่งนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นทำอะไรทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้กาลเวลาทำหน้าที่ของมันในการเชื่อมปัจจุบันไปสู่อนาคต และให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านกาลเวลาไปด้วยกัน เพื่อให้เราเห็นผลจากสิ่งที่เราทำ


————————————————————————–

“Does the flap of a butterfly’s wings in Brazil set off a tornado in Texas?”
— Philip Merilees

การกระพือปีกของผีเสื้อน้อยๆ ตัวหนึ่ง สักที่หนึ่งในโลก จะทำให้เกิดพายุใหญ่ในอีกที่หนึ่งไหมนะ … ถ้าตามสามัญสำนึกพื้นฐานของเราแล้ว คงจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะผีเสื้อนับล้านตัวก็กระพือปีกอยู่ทุกวี่วัน แต่ไม่ค่อยจะเห็นมีพายุใหญ่เกิดขึ้นเท่าไหร่เลย

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า โมเลกุลของอากาศรอบๆ ปีกผีเสื้อนั้น ได้รับผลกระทบจากการกระพือปีกนั้นๆ ไปแล้วอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผลของมันจะส่งผลถึงอนาคตของสภาพอากาศตลอดกาล และหากเราไล่ย้อนรอยของเหตุการณ์ทางสภาพอากาศ กลับไปถึงต้นตอของการสั่นสะเทือนเล็กๆ ของโมเลกุลได้ … เราอาจจะเห็นว่าการกระพือปีกของผีเสื้อบางครั้ง ก็ส่งผลให้เกิดพายุใหญ่ หรือปัดเป่าให้เกิดฟ้าสวยใสหลังพายุใหญ่ได้จริงๆ

ผีเสื้อตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง กระพือปีกเบาๆ เมื่อ 18 ปีก่อน …….. กับรอยยิ้มที่ผมไม่มีวันลืม


————————————————————————–

มีนครับ .. ผมอยากจะบอกคุณเบาๆ ตรงนี้ว่า

“ชื่อของผมในภาษาไทยมันแปลว่า ‘ผู้ให้แสงสว่าง’ แต่ผมกลับไม่เคยให้แสงสว่างอะไรกับตัวเองได้เลย และต้องรอแสงสว่างของชีวิตตัวเองมานานแสนนาน ขอบคุณนะครับ ที่เป็นผู้ให้แสงสว่างกับชีวิตคนๆ นี้ให้มีความหมายขึ้นมา”

มีนครับ .. และผมอยากจะบอกคุณดังๆ ตรงนี้สักครั้งว่า

“คุณเป็นยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผมที่ผ่านมา ตั้งแต่คุณเข้ามาในชีวิตผมเมื่อ 18 ปีก่อน โลกของผมก็เปลี่ยนจากโลกที่เคยว่างเปล่า กลายเป็นโลกที่มีความหมาย เหมือนกับคำพ้องเสียงของชื่อคุณในภาษาอังกฤษ (Mean ที่แปลว่า
‘ความหมาย’) รอยยิ้มเพียงครั้งเดียวของคุณ คุณทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมายในตัวของมันเอง และคุณคือความหมายของทุกสิ่งทุกอย่าง … แม้แต่ ‘ตัวผมเอง’ ถ้าชื่อคุณแปลว่าความหมาย คุณก็คือความหมายของชีวิตผมครับ”

มีนครับ … สุดท้ายที่ตรงนี้ ผมขอบอกคุณดังๆ กับสิ่งที่ผมบอกตัวเองมาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ครั้งนี้ผมจะบอกให้คุณได้ยิน และให้ทุกคนได้อ่าน ได้รับรู้

“สักวัน … ผมจะดีพอสำหรับมีนครับ”

…จบบริบูรณ์…


ขอบคุณ …

  • มีนที่รัก ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเป็นทุกอย่างที่ผมเป็นในวันนี้ และที่คุณให้โอกาสผมเป็นทุกอย่างของชีวิต ด้วยเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตเราสองคน
  • ครอบครัวทั้งสองครอบครัว ที่ไฟเขียวให้เราได้แต่งงานกัน และดีใจกับเราทั้งคู่
  • เพื่อนๆ ทุกคน ที่คอยสนับสนุน และดีใจกับเราสองคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนจากสมัยไหน จากสังคมไหน ของช่วงไหนในชีวิตเราทั้งสองคนก็ตาม
  • เพื่อนๆ สี่สาว ที่ไปเที่ยวเกาหลีด้วยกัน คุณนก คุณดาว คุณพีท น้องแจง ที่แอบเชียร์และช่วยลุ้นตลอดทริป
  • คุณนก เป็นกรณีพิเศษมากๆ ที่สมัคร Facebook ให้มีน ไม่งั้นเราคงไม่ได้เจอกัน แล้วยังมาช่วยเป็นพิธีกรงานแต่งงานให้ด้วย
  • คุณวีร์ และทีมงาน Conscious สำหรับการออกแบบทุกอย่าง ตั้งแต่การ์ดแต่งงาน การออกแบบหน้าปกและภายในหนังสือ “Remember the Butterfly” ซึ่งก็คือเป็นเวอร์ชั่นที่พิมพ์เป็นหนังสือของเรื่องราวที่ลงบนเว็บนี้
  • น้องเก้า น้องฟอร์ด ที่ช่วยถ่ายรูป Pre-Wedding ให้ตั้งหลายอัลบั้ม แล้วก็ยังมาช่วยเป็นช่างภาพและพิธีกรในงานแต่งงานด้วย
  • iHearBand: วงดนตรีงานแต่งงาน ที่จัดคิวมาเล่นให้ (เป็นวงเดียวกับที่เคยเล่นให้กับงาน Talkshow ผมด้วยนะ)
  • เจ้า KOSY โปรแกรมสุดที่รัก ที่ช่วยค้นหามีนมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา อย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อยอะไรเลย
  • ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่เราทำ ที่ทำให้เรามีกันและกันได้ในวันนี้

“ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของ “ซอฟต์แวร์”

ผมว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วเชียว แต่นับวันมันยิ่งมีแต่ดราม่า นับวันมันยิ่งมีแต่ความคิดประหลาดๆ ซึ่งทำให้ผมต้องมาเขียนเรื่องนี้จนได้

เราคงจะเคยชินกันมามากเกินไป กับการที่ซอฟต์แวร์ต้องเป็น “ของฟรี” หรือ “ของแถม” กับการซื้อฮาร์ดแวร์ จากเมื่อก่อนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์กันจากแหล่งประกอบคอมทั้งหลาย เราก็มักจะให้ผู้ประกอบลงซอฟต์แวร์แถมให้เยอะๆ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบทั้งนั้น

ผมว่าคนบ้านเรามันประหลาดแท้ ผมเคยได้ยินความฝันเฟื่องมาเยอะว่าเราอยากจะมีนักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับโลก อยากมี Bill Gates เมืองไทย อะไรประมาณนั้น และเรามักจะรู้สึกหน้าใหญ่ใจโตเสมอ เวลาที่ยืดว่า “คนไทยเก่ง” เมื่อเด็กเราได้รางวัลเหรียญทองโอลิมปิคหรืออะไรก็ตาม

แต่มันไปไหนกันหมดล่ะ? จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยเขียนเปรยๆ ไปนิดหน่อยในบทความเก่าๆ เรื่องคอมเมนท์เพิ่มเติมถึงบทสัมภาษณ์ผมที่ลงกรุงเทพธุรกิจ และที่ผมไปออกรายการแบไต๋ไฮเทค ว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมอื่นๆ เค้าเจริญเหนือเราได้ ทั้งๆ ที่วัดกันตัวต่อตัว คนที่เก่งที่สุดของเราก็ไม่ได้แย่อะไรกว่าใครเค้าเลย (ซึ่งผมก็เข้าใจว่ามันไม่ได้วัดกันแค่คนที่เก่งที่สุด แต่มันต้องวัดกันทั้ง community)

การที่เราไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรา “ตีค่าของซอฟต์แวร์ต่ำเกินไป” ย้ำอีกครั้งนะครับ เราตีค่ามันต่ำเกินไปมาก ที่ๆ เค้าเจริญเค้ารู้กันมานานแล้ว อย่างที่ Steve Jobs เคยพูดเสมอว่า “It’s Software, Stupid” น่ะแหละ สิ่งที่สำคัญทีสุดในคอมพิวเตอร์ คือ “ซอฟต์แวร์” ครับ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ หรือคอนเทนท์ (Content) อย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าซอฟต์แวร์อ่อนซะอย่างเดียว ฮาร์ดแวร์จะดีแค่ไหน มันก็ด้อยไปด้วย ถ้าซอฟต์แวร์ห่วยซะอย่างเดียว ต่อให้เตรียมคอนเทนท์ดีแค่ไหน มันก็กากทั้งนั้น เพราะการใช้งานคอนเทนท์มันก็ต้องผ่านซอฟต์แวร์ (แต่ที่เราพูดถึงคอนเทนท์โดดๆ ได้ ก็เพราะว่าสำหรับมีเดียหลายๆ อย่าง มันมักมีซอฟต์แวร์ดีๆ อยู่แล้ว ทำให้มองถึงคอนเทนท์ดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องการพัฒนาคอนเทนท์เฉพาะทาง เช่น Interactive Learning ทั้งหลาย ไม่มีซอฟต์แวร์ดีๆ มันก็ทำไม่ได้

อะไรบ้างที่มันตามมา? ผมเห็นความพยายามในการหา “ของเถื่อน/ของโจร” (ผมใช้คำว่า “ของเถื่อน/ของโจร” นะ ไม่ใช่คำว่า “ของฟรี”) ของคนหลายคนแล้วผมเศร้าใจนะ แล้วพวกนี้ก็มักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัวเต็มไปหมด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ มั้ยล่ะ

  • บางคนต้องการทำร้านขายหนังสือออนไลน์ ขายเพลงออนไลน์ ขายนี่นั่นโน่นออนไลน์ แล้วกลัวแทบเป็นแทบตายกับการที่คนอื่นจะมาก๊อปปี้ของๆ ตัวเอง แต่ขอโทษนะ ดันถามหา crack, serial โปรแกรม เอา iPhone ไปลงโปรแกรมตามมาบุญครอง
  • มันเคยมีคนอยากให้ผมพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone ให้นะ แล้วก็กลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะ crack ไปใช้ แล้ววันหนึ่งเขามาถามผมว่าจะเอาโปรแกรมไปทดสอบบนเครื่องพวกเขาได้มั้ย ผมบอกวิธีการไปว่าต้องทำแบบนี้นั้นโน้นก่อน เค้าบอกว่า “เครื่องพวกผม jailbreak ทั้งบริษัท” พอถามไปถามมา ก็หากันแต่ของเถื่อนจากมาบุญครอง แถมจ่ายเงินอีกตะหากนะนั่นน่ะ
  • ช่างภาพหลายคนนะ จะเป็นจะตายเวลารูปถูกคนเอาไปใช้ แต่ขอโทษนะ ถ้ากูใช้ Photoshop/Lightroom เถื่อนได้ กูเก่ง กูฉลาด กูไม่โง่เสียเงิน
  • อาจารย์มหาลัยหลายคน เด็กลอก paper ด่าเด็กแทบเป็นแทบตาย บอกว่าจะไม่ให้จบ แต่ท่านก็ขโมยโปรแกรมชาวบ้านเค้าใช้ เจอหน้ากันทีไรถามหาแต่วิธีใช้โปรแกรมแบบไม่ต้องจ่ายเงิน ทำได้มั้ย หา serial ให้หน่อย crack ให้หน่อย
  • คนที่ปล้นมาให้คนอื่น ก็ชอบบอกว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน เราไม่ช่วยกันใครจะช่วยเรา เราก็ต้องเอามาแบ่งปันกันใช้”

ไอ้อันสุดท้ายนี่แหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุด ว่าทำไมมันถึงมีความคิดที่เห็นแก่ตัวกันได้มากมายขนาดนี้ … บางครั้งผมถึงกับตั้งคำถามว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าคนหมู่มาก เห็นแก่ตัว” ..​ “จะเป็นอย่างไร ถ้าการโหวต การลงความเห็นของคนหมู่มาก มันมาจากรากฐานความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ..” มันจะทำให้เกิดเรื่อง “รวมหัวกันปล้น” อะไรสักอย่าง แล้วยังคงเหมือนเป็นความชอบธรรม ได้ไหมล่ะ?

มุมมองที่ว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” นี่พูดลอยๆ มันก็ถูกนะครับ ไม่ได้ผิดอะไร แต่อะไรคือ “ช่วยกัน” ล่ะ? เราอ้างคำนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จากความเห็นแก่ตัวกันหรือเปล่า? ผมเชื่อว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยหลายต่อหลายคนถูกทำให้รู้สึกว่าการคิดราคาค่าซอฟต์แวร์กับคนไทยด้วยกันเอง เป็นบาปมหันต์ กันมาแล้วทั้งนั้น

เขียนโปรแกรมขาย ราคาแค่ 30 บาทต่อดาวน์โหลด โดนด่าสาดเสียเทเสียว่าไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เขียนโปรแกรมแจกฟรี แต่แปะโฆษณาที่มีรายได้แค่เดือนละร้อยสองร้อย โดนด่าเป็นหมูเป็นหมา ว่าอย่ามาเรียกตัวเองว่าไทยเลยนะ ทำไมไม่ช่วยกัน หรือรับจ้างพัฒนาโปรแกรม ก็โดนกดราคาเข้าเนื้อแล้วเข้าเนื้ออีก กำไรไม่ต้องคิดกันเลยครับ แค่คิดให้เท่าทุน ก็เลวแล้ว

ถ้า 30 บาทที่จะจ่ายให้นักพัฒนา มันเยอะแยะมากมายมหาศาลมากนักล่ะก็ ลองคิดอะไรกันดูเล่นๆ มั้ยครับ ว่าเดือนๆ นึงเราเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ที่มันพอๆ กัน

  • เคยให้เงินทิปเด็กเสิร์ฟกันเดือนละกี่บาทครับ? บางคนเงินทอนไม่เก็บกันทีละสิบกว่าบาท ป๋ามากครับ จ่ายได้ไม่ยาก (ยิ่งเด็กเสิร์ฟสวยนี่ยิ่งยัดแบงค์ยี่สิบลงไปด้วยไม่ยากเลย) ทำแบบนี้ทุกมื้อเป็นเงินเท่าไหร่ อย่าบอกนะครับ ว่าเด็กเสิร์ฟฐานะยากจน ทำงานหนักต้องนี่นั่นโน่น แล้วโปรแกรมเมอร์ล่ะครับ เราไม่ได้ทำงานเหรอ เรารวยนักเหรอ เด็กเสิร์ฟมีเงินเดือน แต่เราหลายคนไม่มีเงินเดือนแบบประจำ ก็มีแค่เงินจากการรับจ้างทำงาน กับเงินจากการกดซื้อโปรแกรมทีละ 30 บาทเท่านั้นนะครับ อย่าลืมข้อนี้ไป การมีคอมใช้ก็ไม่ได้แปลว่ารวยนะ มันก็สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเราน่ะแหละ
  • หนักกว่านั้นครับ เคยโชว์ป๋าด้วยการให้เงินขอทานเวลาเดินข้ามสะพานลอยกับแฟนมั้ยล่ะ? ลองคิดๆ ดูซิ ว่าเท่าไหร่ ถ้าทำเลดีๆ หน่อย รายได้ต่อเดือนอาจจะมากกว่าโปรแกรมเมอร์บ้านเราโดยเฉลี่ยซะอีกนะครับ
  • แย่กว่านั้นหน่อย เราเคยให้เงินคนที่ “หาของโจรมาขาย” กันเท่าไหร่กันเหรอครับ ลง app ที่ขโมยมาครั้งละ 500 บาท ได้ app เต็มเครื่อง ที่เราก็ไม่ได้ใช้หรอก ใช้จริงๆ จังๆ ก็อาจจะแค่ 7-8 ตัว ถ้าจ่ายให้นักพัฒนาตรงๆ ก็ไม่ต่างอะไรกันมากมายนักหรอก

[ป.ล. ผมไม่ได้บอกว่าอาชีพเหล่านี้สบาย หรือรายได้สูงนะครับ ทุกอาชีพมันก็มีความยากลำบากของมันเหมือนกันหมด มีงานต้องทำ มีต้นทุน มีอะไรเหมือนกันหมด ความลำบากแต่ละอาชีพ อย่าเอามาเทียบกันโดยเด็ดขาด]

แล้วไอ้ข้อสุดท้ายนี่มันต่างกันตรงไหนล่ะ?

หลายคนคิดง่ายๆ ตื้นๆ แค่ “เงินออกจากกระเป๋าเราเท่ากัน ให้ได้มากที่สุดดีกว่า ไม่เข้ากระเป๋านักพัฒนาเลยก็ช่างมันประไร” แต่ลองมองถัดไปสักนิดนะ นักพัฒนาได้เงินไปแล้วเอาไปทำอะไรเหรอครับ ก็ต้องเอาไปศึกษานี่นั่นโน่นเพิ่มขึ้น เอาไปเพิ่มทรัพยากรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคน ความรู้ หรือเครื่องที่พอจะทำงานได้ดีขึ้น หรือจ้างคนมาเป็น customer service คอยตอบคำถามผู้ใช้ ฯลฯ อย่าคิดว่าเอาไปซื้อเรือยอร์ชซื้อรถสปอร์ตแบบไร้สาระกันทุกคนสิครับ (จริงๆ ถ้ามีเงินไว้ละลายเล่นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะทำงั้นนะ แต่โปรแกรมเมอร์แทบจะ 100% ของบ้านเรา ไปไม่ถึงจุดนั้นเด็ดขาด แค่ไม่อยู่ในภาวะเดือนชนเดือน ก็หรูพอควรแล้ว)

ผมก็เห็นว่าคนไทยควรช่วยกันนะ แต่เราอยากได้อะไรล่ะ? เราอยากได้สังคมนักพัฒนาที่เก่งๆ กันหรือเปล่า เราอยากได้คนไทยที่เก่งไม่น้อยหน้าใครในโลกบ้างไหม? … ไปๆ มาๆ ผมเชื่อว่า “เราไม่อยากได้มันหรอก” ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะคนไทยมันไม่ช่วยกันเองไงล่ะครับ แล้วเราจะได้นักพัฒนาเก่งๆ สังคมนักพัฒนาเก่งๆ แบบที่เราฝันมาจากไหน (หรือว่าผมฝันไปคนเดียววะ)

ทีนี้เราจะเห็น “ค่า” จริงๆ ของซอฟต์แวร์ล่ะครับ … cost จริงๆ ที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายก็คือ วงการที่นักพัฒนาถีบตัวเองไม่ขึ้น scale ตัวเองไม่ได้ สร้างทรัพยากรในการรองรับงานที่ใหญ่ขึ้น มี demanding สูงขึ้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ใช้ใจและมาม่าอย่างเดียวไม่ได้ (ขนาดมาม่ายังต้องซื้อเลย) ซึ่งยิ่งจะทำให้เราเสียศักยภาพในการแข่งขันในภาพรวมมากขึ้นๆ ทุกวัน

คุณภาพของสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่อง IT อย่างซอฟต์แวร์ นับวันเรายิ่งจะล้าหลัง … เรากดราคาฮาร์ดแวร์สู้จีนไม่มีทางได้ เราจะพัฒนาอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ซอฟต์แวร์กับคอนเทนท์ (ซึ่งมักต้องการซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อน)

ยิ่งเมื่อต้องแข่งขันกันตัดราคาเพื่อรักษาความอยู่รอด ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะพวกเราเองก็มีต้นทุนที่มันกดไม่ลง นอกจากลดคุณภาพของงาน นั่นหมายถึงว่า งานที่เราจะทำให้คนว่าจ้าง โดยเฉลี่ยแล้วมีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของงาน (เมื่อเทียบกับระดับสากล) จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายมาก ที่ว่านอกจากเราจะถีบตัวเองไม่เคยขึ้นแล้ว ยังถอยหลังลงคลอง ซึ่งสาเหตุหลักมันมาจากการที่เราจะต้องรีบปิดงานหนึ่ง เพื่อไปรับอีกงานหนึ่ง หาเงินมาหมุนกันแบบเดือนชนเดือนอีกด้วย

ถ้าโปรแกรมเมอร์ยังต้องวิ่งหางานแบบเดือนชนเดือน จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเองล่ะครับ? ผลที่ได้ก็คือ ความรู้ความสามารถเท่าเดิม เท่าเดิม และเท่าเดิม ในขณะที่โลกมันก็ขยับไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา ทุกคนมักจะพูดได้ลอยๆ อย่างไม่รับผิดชอบว่า เป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์และคนในวงการนี้ ที่จะต้องศึกษาทุกอย่างตลอดเวลาเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว แต่จะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษาล่ะครับ มันไม่ใช่ของที่เรียนรู้กันได้ข้ามวันข้ามคืนสักหน่อย

นักพัฒนา มันก็คนเหมือนๆ กับทุกคนน่ะแหละครับ ต้องกินข้าว ต้องมีชีวิต ต้องจ่ายค่าเช่า ต้องเลี้ยงครอบครัว ต้องแบกภาระของครอบครัว ถูกครอบครัวฝากความหวัง ฯลฯ เหมือนกับพวกคุณทุกคนน่ะแหละครับ

ผมอยากจะตะโกนดังๆ ตรงนี้เหลือเกินครับ

นักพัฒนาไทย มันไประดับโลกไม่ได้หรอก ไม่ใช่เพราะมันไม่เก่ง แต่เพราะคนไทยด้วยกันเองไม่ช่วยกันสนับสนุน ปากบอกอยากได้คนเก่ง อยากให้คนไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็ปล่อยให้มันตายไป ใจไม่ช่วยสร้าง

มันไปไหนไม่ได้หรอกครับ เพราะวุฒิภาวะ (maturity) และทัศนคติ (mindset) ของ “สังคมผู้ใช้” ของเราไปไม่ถึง ไม่สนับสนุนให้พวกเราไปได้ ไม่ยอมให้ไป และต้องการให้นักพัฒนามันตายกันหมด

ถ้าจะอ้างว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” … ผมก็อยากจะกราบทุกท่านตรงนี้ ว่าท่านพูดได้โดนใจผมเหลือเกิน

แล้วพวกเราล่ะ … ไม่ใช่ “คนไทย” กระนั้นหรือ? แล้วทำไมท่านไม่ช่วยเราบ้าง?

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ด้วยความเคารพ
รวิทัต ภู่หลำ, ศิลปินซอฟต์แวร์ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัย


[อัพเดท 10/07/2555] ป.ล. ผมเขียนเรื่องนี้ ตั้งใจเพื่อเป็น wake up call ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นจะแรงหน่อย และผมต้องการชี้ให้เห็นภาพที่มันใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย ของอุตสาหกรรม IT ว่ามันเป็นเรื่องของพวกเราหลายต่อหลายคน รวมถึงผู้บริโภคด้วย มากกว่าแค่นักพัฒนา

นาฬิกาปลุก มันต้องดังหน่อย ต้องแรงหน่อย ไม่งั้นคงจะหลับกันต่อไป แล้วมันก็จะกลับมาเดินปกติต่อไป จนถึงเวลาที่จะต้องปลุกอีกครั้ง

ก่อนที่มันจะกลายเป็นนาฬิกาตาย … เมื่อถ่านมันหมดไฟ และใจมันหมดลาน