วันที่ 24/3 ที่ผ่านมา ผมไปสอนเรื่อง Presentation Techniques ให้กับโครงการ SSME (Service Science & Management Engineering) ที่ SIPA แล้วก็สัญญากับคนที่ไปอบรม ว่าจะเขียน blog เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้สักหน่อย แต่พอเอาเข้าจริงก็มานั่งคิด แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะเนี่ย ก็ขอเขียนถึงเนื้อหานิดๆ หน่อยๆ และเขียนถึงประสบการณ์และความรู้สึกดีๆ ที่ได้ไปสอนก็แล้วกัน
ผมแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
- How *NOT* to Present ซึ่งพูดถึง Presentation Mistakes ที่นับเป็น common มากๆ ทั้งหลายทั้งแหล่ จริงๆ มันก็มีไม่กี่ตัวหรอกที่พบกันบ่อยๆ มากๆ
และใช่ครับ อย่างที่เห็นน่ะแหละ slide ของทั้ง 9 mistakes นี้ “แดกดัน” แรงๆ เลย เอาสิ่งที่พบบ่อยจนเกินงาม มาทำให้มันสุดโต่ง แล้วก็พยายามนำเสนอในแบบที่ยึดติดกับ slide (เช่นยืนอ่านตาม slide เป็นต้น) ใครที่เคยฟังผมพูดสาธารณะบ้าง คงจะจำได้ว่าปกติ slide ผมนี่ไม่ต้องพยายามอ่านมัน หรือว่าเอาไปอ่านโดยปราศจาก “ผม” เพราะว่ามันมีแต่รูปเป็นหลัก มี text บ้างไว้ประกอบรูป เอาไปนั่งเพ่งอย่างเดียวคงไม่รู้เรื่องเด็ดขาด
- วิธีการ Present ซึ่งตรงนี้รูปใน slide และเนื้อหานั้น ผมได้ส่วนหนึ่งมาจาก Presentation Zen (http://www.presentationzen.com/) และเล่าประสบการณ์ตัวเองและวิธีปฏิบัติบางอย่างในฐานะผู้นำเสนอ
ใจความสำคัญส่วนนี้คือ ผมคิดว่า Presentation ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม มันคือ “การเล่าเรื่อง” ที่จะต้องเล่าให้ได้ “โง่ & ง่าย” แต่ในขณะเดียวกัน “หนักแน่น & น่าเชื่อถือ” และต้อง “ดึงอารมณ์ร่วมจากผู้ฟัง” สุดท้ายต้องมีอะไรที่เซอร์ไพรส์บ้าง แต่อย่ามากเกินไป ตรงนี้ผมได้พูดถึงเรื่อง “ผู้ล่ากับเหยื่อ” ไว้นิดหน่อย แต่ทำให้หลายคนสนใจพอสมควร
ผมได้แนวคิดเรื่องนี้จากพระป่ารูปหนึ่ง ที่ผมพบเมื่อนานแล้ว ท่านไม่กลัวสัตว์ป่า เช่น เสือ และผมเคยถามท่านว่า ทำไมท่านถึงไม่กลัวสัตว์เหล่านี้ ซึ่งท่านได้ตอบมาแบบ “โง่ ง่าย หนักแน่น น่าเชื่อถือ เห็นภาพ” แค่ว่า “ลูกเอ๊ย มีแต่เหยื่อของเสือเท่านั้นแหละ ที่กลัวเสือ”
สิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม บทบาทง่ายๆ ตามธรรมชาติของห่วงโซ่อาหารมันจะมีแค่ “ผู้ล่า” กับ “เหยื่อ” เท่านั้น หากเราแสดงความเป็นเหยื่อ (โดยการกลัวผู้ล่า) อีกฝ่ายหนึ่งก็จะคิดว่าตัวเองเป็นผู้ล่าของเราโดยธรรมชาติ และในฐานะผู้นำเสนอ บางทีเราโชคดีที่ได้เลือกบทบาทก่อน หากเราเลือกบทบาทของเหยื่อ เราจะมีปัญหาทันทีกับการนำเสนอให้มี Convincing performance และก็ให้ทำใจได้เลยว่า ผู้ฟังการนำเสนอ อาจมีคนรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ล่าโดยปริยาย ดังนั้น มันเป็นทริคง่ายๆ ในการเลือกบทบาทก่อน
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง แต่หลายต่อหลายคนลืมไปอย่างน่าเสียดายในจุดนี้ คือ “อารมณ์ร่วม” โดยเฉพาะการนำเสนอทางวิชาการ ที่มักจะแห้งและน่าเบื่อ ถามว่าจะดึงอารมณ์ร่วมของคนได้ยังไง ก็ให้นึกถึง “เดี่ยวไมโครโฟน” ของคุณโน๊ต อุดม ซึ่งดึงอารมณ์คนด้วยวิธีง่ายๆ คือ “เจอปัญหาเดียวกับผู้ฟัง” ดังนั้นวิธีหนึ่งก็คือ ตัวเราเองต้องเจอปัญหาเดียวกับผู้ฟังเสียก่อน และเล่าให้ฟังว่าทำไมมันถึงเป็นปัญหา พอเริ่มเห็นตรงกันแล้ว ทีนี้การจะนำเสนอวิธีแก้มันไม่ใช่เรื่องยากเย็น
นี่แหละ ผมเลยเสนอ “How NOT to Present” ก่อน เพราะแน่ใจได้เลยว่า หลายคนเคยเจอพวกนี้มา และเห็นว่ามันเป็นปัญหาแน่นอน พอเบรคแรก ก็พบว่ามีหลายคนเริ่มอิน ว่าเจอบ่อย เป็นปัญหา น่าเบื่อ ฯลฯ
- สอนแต่ทฤษฎี ยืนพูดมันไปก็เท่านั้นแหละ มันไม่เห็นของจริงใช่มั้ย เหมือนกับ Quote ใน slide นี้ ที่ว่าไม่ต้องโชว์มากนัก ไอ้ตัวโน๊ตน่ะ เปิดเพลงให้ฟังเลยดีกว่า หรือว่าเล่นเพลงให้ฟังและดูจะๆ เลยดีกว่า ในช่วงที่ 3 ก็เลยเป็นการ “แก้” Presentation ที่ห่วยให้มันดีขึ้น และทำด้วยกันทั้งห้อง
- ช่วงสุดท้ายเป็น Workshop ทำจริง ซึ่งประเด็นหลักๆ อยู่ที่ว่า “อย่าเริ่มทำ presentation ด้วยการเปิดโปรแกรม ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นักหรอก ให้เริ่มทำด้วยการเลือก Story และเปิด Mind Map มา storm idea ลงไปให้มันเคลียร์ๆ ซะก่อน (แต่ว่าวันนั้นยังไม่ได้ Mind Map นะ เพราะว่าเนื้อหาของหลักสูตรยังไปไม่ถึง) แล้วค่อยออกแบบการนำเสนอ” จากนั้นก็ใช้ลูกไม้ก้นหีบให้อย่างหนึ่งในการออกแบบ Presentation นั่นคือวิธีการที่ผมเรียกว่า Back-of-Business Card method (หรือ Business Card method)
หน้าจอโปรแกรมมันมักจะใหญ่เกินไปจนทำให้เรามีพื้นที่มากเกินงามในการออกแบบ Presentation จนเราโยนอะไรก็ได้ลงไป รกแค่ไหนก็ไม่มีปัญหา แต่เวลาเรานำเสนอจริงเนี่ย คนฟังอาจนั่งอยู่ไกลขนาดที่มองไม่เห็นก็ได้ หลักการมันก็เลยง่ายนิดเดียว มีนามบัตรหรือกระดาษขนาดนามบัตร ก็ให้ใช้ดินสอที่ไม่ต้องเหลา (ไม่ต้องคมมาก) เขียน Presentation ที่ต้องการจะนำเสนอลงไปเลย ถ้าใช้ iPhone ผมแนะนำโปรแกรม SketchPad หรืออะไรทำนองนั้น ใช้นิ้วใหญ่ๆ ของเราเนี่ยแหละ ลากๆ ลงไปเลย คราวนี้ตัวอักษร เนื้อหา และภาพมันต้องใหญ่และชัดระดับหนึ่ง ให้สลับการ์ดพวกนี้จนพอใจ แล้วสุดท้ายค่อยเปิดโปรแกรมขึ้นมาทำตามแบบที่ออกไว้ และตรวจสอบเนื้อหากับ Mind Map
นั่นคือ ส่วนหนึ่งของเนื้อหา ทีนี้ขอพูดถึงประสบการณ์และบรรยากาศของวันนั้นหน่อย ขอสั้นๆ ชัดๆ โง่ๆ ง่ายๆ เลยละกันนะ
คลาสนี้เป็นคลาสที่ผมสอนได้อย่างมีความสุขและสนุกที่สุดในรอบ 3-4 ปีเลย ต้องขอบคุณผู้เรียนทุกคนมาก ที่หัวเราะ เฮฮา ด้วยกันตั้งแต่นาทีแรก จนถึงนาทีสุดท้าย มีกัดกันบ้างมีอะไรบ้าง แต่ละคนไม่อายในการถาม ในการเสนอความคิดต่างๆ
ภาพข้างล่างนี้เป็น Slide ที่ผมใช้ orientation วิชาบางวิชาที่ผมสอนที่ศิลปากร
ผมไม่ต้องพูดอย่างนี้เลยกับผู้เข้าเรียนทุกคนที่ SSME Fast Track ปีนี้ เพราะว่าในแต่ละเร่ืองที่ผมสอนและพูดถึงนั้น จะมีคนพยายามถาม พยายามแชร์ประสบการณ์ต่างๆ ตลอดเวลาที่มีโอกาส ถึงช่วงแรกๆ จะเงียบๆ บ้าง เพราะว่ายังไม่ค่อยรู้จักกันก็ตาม และช่วงสุดท้ายของการทำ Workshop ที่ให้มีการนำเสนอจริงด้วย ทุกคนก็ช่วยกันเป็น commentator อย่างดี (แถมด้วยการกัดกันอย่างสนุกสนานทั้งระหว่างกันเอง และระหว่างวิทยากรกับผู้เรียน เป็นบางครั้งตามสมควร)
สนุกมากครับ และขอบคุณทุกคนมากครับ
Theme บล็อกใหม่สวยมากครับ และก็ได้ความรู้ดีๆอีกแล้ว