ขอเขียนอะไรเพิ่มเติมให้กับบทสัมภาษณ์ผมที่ลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม (วันนี้แหละ) สักนิดหน่อย
Link: “รวิทัต ภู่หลำ” เผยเคล็ด สร้างซอฟต์แวร์ต้องลงมือ “ทำ” (กรุงเทพธุรกิจ)
ก่อนอื่นต้องขอชมคนเขียนเลยครับ ว่าเก่งมากๆ วันนั้นนั่งคุยกันยาวมากถึง 3-4 ชั่วโมง และยังสามารถเขียนลงในพื้นที่เท่าที่เห็นในหนังสือพิมพ์อย่างได้ใจความมากๆ
แต่มีประเด็นสุดท้าย ที่เกี่ยวข้องกับ Silicon Valley ที่ผมคงต้องขอขยายความเพิ่มอีกนิด ว่าทำไมผมถึงต้องพูดถึงมันในการสัมภาษณ์นั้นด้วย
เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ผมขอย้อนกลับไปตอนที่ผมเคยให้สัมภาษณ์ออกรายการ “แบไต๋” เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ว่าจริงๆ แล้วในวงการพัฒนาโปรแกรมที่โตได้และยั่งยืนนั้น มันมีองค์ประกอบสำคัญด้วยกัน 4 อย่าง คือ
- Skill ซึ่งถ้าไม่มีแล้วมันก็ทำอะไรได้ไม่ได้ ต่อให้ฝันได้เก่งแค่ไหน เปลี่ยนมันให้เป็นความจริงไม่ได้ ก็เท่านั้น และอย่าคิดว่าไม่เห็นจำเป็นเลย แค่คิดๆ ว่าอยากได้อะไร แล้วก็ไปจ้างคนอื่นทำๆ ก็หมดเรื่อง … ถ้ากรณีแบบนี้จะเกิดเรื่องเพ็ดโด้ๆ ขึ้นมากมาย (คิดว่าต้นตอหลักๆ ของเรื่องการ์ตูนเพ็ดโด้มันมาจากไหนล่ะครับ มันเริ่มต้นมาจากคนที่อยากได้ แต่ประเมินอะไรไม่เป็นเลย ทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย ความยากง่าย ฯลฯ ตัวอย่างเช่น เมื่อ 2-3 ปีก่อนเคยมีคนต้องการจะจ้างผมทำเว็บแบบเฟสบุ๊ค ในเวลา 3 เดือน และราคาแค่ครึ่งแสน มาแล้ว)
- Budget ยังไงเราก็ยังต้องกินอะไรบ้าง ต้องมีความเป็นอยู่ที่พออยู่ได้บ้างตามอัตภาพ ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องรวย แต่แค่ไม่ต้องจนถึงขนาดอยากจะกินมาม่ารสอื่นนอกจากรสที่มันถูกๆ ยังต้องคิด หรือไม่กล้าเดินเข้าร้านอาหารตามห้าง ทั้งๆ ที่เด็กมหาวิทยาลัยที่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่เดินเข้ากันเยอะแยะ เท่านั้นไม่พอ ค่าหนังสือ ค่า Video Screencast ดีๆ ค่าอุปกรณ์ที่จะใช้ในการทดสอบโปรแกรม ค่าการ “ขยายทีม” (สำคัญนะครับ … พูดง่ายๆ ก็เงินเดือนเพื่อนร่วมงาน)
- Marketing ต่อให้ทำโปรแกรมเจ๋งๆ มาเยอะแค่ไหน โปรแกรมที่คนไม่รู้จัก ก็คือโปรแกรมที่คนไม่ซื้อ ผมพูดถูกมั้ยล่ะ ดังนั้นจะให้คนรู้จักได้ยังไง การทำ Marketing เป็นเรื่องสำคัญ และจริงๆ แล้วมันก็เกี่ยวข้องกับเรื่อง Budget ด้วยน่ะแหละ ตอนนี้บอกตรงๆ ว่าผมยังว่าจะต้องจ้างทำการตลาดให้กับ App บางตัวของผมบ้างแล้วเลย สิ่งนี้จะส่งผลโดยตรงกับเรื่อง Budget ด้วย
- Community (และ Environment) เรื่องนี้ “สำคัญที่สุด” ในบรรดาทั้ง 4 เรื่อง ในการจะทำอะไร “สภาพแวดล้อม” ที่เอื้ออำนวยในการทำสิ่งนั้นๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น พวกลูกหมอ หรือเด็กที่เกิดและโตในโรงพยาบาล จะมีความต้องการเป็นหมอเฉลี่ยแล้วมากกว่าเด็กอื่นๆ เป็นต้น อันนี้ผมพูดได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง ว่าสภาพแวดล้อมที่มีการสร้างนวัตกรรมตลอดเวลา เป็น Open & Friendly competition คือ แต่ละคนบอกกันตลอดว่ากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่แต่ละคนทำ มันเสริมกัน มันคล้ายกัน มันต่างกัน อะไรใช้ด้วยกันได้ อะไรที่เปิด source ให้ช่วยกันพัฒนา อะไรที่ ฯลฯ และเมื่อต่างคนต่างทำได้ ต่างคนต่างเรียนรู้ ก็นัดกันมาทำ Conference ปล่อยของ และสร้าง Partnership ใหม่ ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผม “คุ้นเคยมาก ที่ญี่ปุ่น” และเป็นสิ่งที่ผมไม่ค่อยจะเห็นเท่าไหร่เลย ในบ้านเรา
Link: คลิปรายการแบไต๋ ผมออกตั้งแต่นาทีที่ 1:08:00 โดยประมาณ เป็นต้นไป
บ้านเราสนใจแต่เรื่อง Skill ของคนเป็นหลัก “มากเกินไป” คิดว่าคนเก่ง จะอยู่ได้ สร้างสรรค์งานได้ แต่ไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้ออำนวยเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสุดท้าย คือเรื่อง Environment และ Community ซึ่งเมื่อผมพูดถึงคำว่า Community นี่ผมไม่ได้หมายถึง การที่เราแค่รู้จักกัน หรือมีรายชื่อ และมีการพบปะกันนานๆ ครั้ง หรือเกาะกันแบบหลวมๆ แบบบ้านเรา และปกติก็ต่างคนต่างอยู่กันอยู่ดี แต่ผมกำลังพูดถึง Virtual Learning Organization ของคนที่ทำงานด้านเดียวกัน ใน Environment ที่เอื้อการสร้างสรรค์ แบบ Open & Friendly.
ผมพูดถึง Silicon Valley เพราะมันเป็นตัวอย่างในการมีสิ่งเหล่านี้ครบ ตั้งใจพูดถึงปัจจัยอีก 3 ตัว (เรื่อง Budget จะเป็นเรื่องของ Venture Capital) ว่าบ้านเราขาดอะไรไปบ้าง และคงเป็นความฝันของคนทำงานด้านนี้ ที่จะไปสัมผัส Community & Environment ที่นั่นสักครั้ง … เหมือนกับคนทำงานด้านแฟชั่น คงจะไม่ได้อะไร หากจะเป็นแต่คนเก่งอยู่ใน “กรุงเทพเมืองแฟชั่น” (ตั้งใจประชด) แต่ไม่เคยสัมผัสงานในมิลานเลยสักครั้ง อะไรทำนองนี้แหละครับ
You must be logged in to post a comment.