“ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของ “ซอฟต์แวร์”

ผมว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วเชียว แต่นับวันมันยิ่งมีแต่ดราม่า นับวันมันยิ่งมีแต่ความคิดประหลาดๆ ซึ่งทำให้ผมต้องมาเขียนเรื่องนี้จนได้

เราคงจะเคยชินกันมามากเกินไป กับการที่ซอฟต์แวร์ต้องเป็น “ของฟรี” หรือ “ของแถม” กับการซื้อฮาร์ดแวร์ จากเมื่อก่อนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์กันจากแหล่งประกอบคอมทั้งหลาย เราก็มักจะให้ผู้ประกอบลงซอฟต์แวร์แถมให้เยอะๆ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบทั้งนั้น

ผมว่าคนบ้านเรามันประหลาดแท้ ผมเคยได้ยินความฝันเฟื่องมาเยอะว่าเราอยากจะมีนักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับโลก อยากมี Bill Gates เมืองไทย อะไรประมาณนั้น และเรามักจะรู้สึกหน้าใหญ่ใจโตเสมอ เวลาที่ยืดว่า “คนไทยเก่ง” เมื่อเด็กเราได้รางวัลเหรียญทองโอลิมปิคหรืออะไรก็ตาม

แต่มันไปไหนกันหมดล่ะ? จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยเขียนเปรยๆ ไปนิดหน่อยในบทความเก่าๆ เรื่องคอมเมนท์เพิ่มเติมถึงบทสัมภาษณ์ผมที่ลงกรุงเทพธุรกิจ และที่ผมไปออกรายการแบไต๋ไฮเทค ว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมอื่นๆ เค้าเจริญเหนือเราได้ ทั้งๆ ที่วัดกันตัวต่อตัว คนที่เก่งที่สุดของเราก็ไม่ได้แย่อะไรกว่าใครเค้าเลย (ซึ่งผมก็เข้าใจว่ามันไม่ได้วัดกันแค่คนที่เก่งที่สุด แต่มันต้องวัดกันทั้ง community)

การที่เราไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรา “ตีค่าของซอฟต์แวร์ต่ำเกินไป” ย้ำอีกครั้งนะครับ เราตีค่ามันต่ำเกินไปมาก ที่ๆ เค้าเจริญเค้ารู้กันมานานแล้ว อย่างที่ Steve Jobs เคยพูดเสมอว่า “It’s Software, Stupid” น่ะแหละ สิ่งที่สำคัญทีสุดในคอมพิวเตอร์ คือ “ซอฟต์แวร์” ครับ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ หรือคอนเทนท์ (Content) อย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าซอฟต์แวร์อ่อนซะอย่างเดียว ฮาร์ดแวร์จะดีแค่ไหน มันก็ด้อยไปด้วย ถ้าซอฟต์แวร์ห่วยซะอย่างเดียว ต่อให้เตรียมคอนเทนท์ดีแค่ไหน มันก็กากทั้งนั้น เพราะการใช้งานคอนเทนท์มันก็ต้องผ่านซอฟต์แวร์ (แต่ที่เราพูดถึงคอนเทนท์โดดๆ ได้ ก็เพราะว่าสำหรับมีเดียหลายๆ อย่าง มันมักมีซอฟต์แวร์ดีๆ อยู่แล้ว ทำให้มองถึงคอนเทนท์ดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องการพัฒนาคอนเทนท์เฉพาะทาง เช่น Interactive Learning ทั้งหลาย ไม่มีซอฟต์แวร์ดีๆ มันก็ทำไม่ได้

อะไรบ้างที่มันตามมา? ผมเห็นความพยายามในการหา “ของเถื่อน/ของโจร” (ผมใช้คำว่า “ของเถื่อน/ของโจร” นะ ไม่ใช่คำว่า “ของฟรี”) ของคนหลายคนแล้วผมเศร้าใจนะ แล้วพวกนี้ก็มักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัวเต็มไปหมด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ มั้ยล่ะ

  • บางคนต้องการทำร้านขายหนังสือออนไลน์ ขายเพลงออนไลน์ ขายนี่นั่นโน่นออนไลน์ แล้วกลัวแทบเป็นแทบตายกับการที่คนอื่นจะมาก๊อปปี้ของๆ ตัวเอง แต่ขอโทษนะ ดันถามหา crack, serial โปรแกรม เอา iPhone ไปลงโปรแกรมตามมาบุญครอง
  • มันเคยมีคนอยากให้ผมพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone ให้นะ แล้วก็กลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะ crack ไปใช้ แล้ววันหนึ่งเขามาถามผมว่าจะเอาโปรแกรมไปทดสอบบนเครื่องพวกเขาได้มั้ย ผมบอกวิธีการไปว่าต้องทำแบบนี้นั้นโน้นก่อน เค้าบอกว่า “เครื่องพวกผม jailbreak ทั้งบริษัท” พอถามไปถามมา ก็หากันแต่ของเถื่อนจากมาบุญครอง แถมจ่ายเงินอีกตะหากนะนั่นน่ะ
  • ช่างภาพหลายคนนะ จะเป็นจะตายเวลารูปถูกคนเอาไปใช้ แต่ขอโทษนะ ถ้ากูใช้ Photoshop/Lightroom เถื่อนได้ กูเก่ง กูฉลาด กูไม่โง่เสียเงิน
  • อาจารย์มหาลัยหลายคน เด็กลอก paper ด่าเด็กแทบเป็นแทบตาย บอกว่าจะไม่ให้จบ แต่ท่านก็ขโมยโปรแกรมชาวบ้านเค้าใช้ เจอหน้ากันทีไรถามหาแต่วิธีใช้โปรแกรมแบบไม่ต้องจ่ายเงิน ทำได้มั้ย หา serial ให้หน่อย crack ให้หน่อย
  • คนที่ปล้นมาให้คนอื่น ก็ชอบบอกว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน เราไม่ช่วยกันใครจะช่วยเรา เราก็ต้องเอามาแบ่งปันกันใช้”

ไอ้อันสุดท้ายนี่แหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุด ว่าทำไมมันถึงมีความคิดที่เห็นแก่ตัวกันได้มากมายขนาดนี้ … บางครั้งผมถึงกับตั้งคำถามว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าคนหมู่มาก เห็นแก่ตัว” ..​ “จะเป็นอย่างไร ถ้าการโหวต การลงความเห็นของคนหมู่มาก มันมาจากรากฐานความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ..” มันจะทำให้เกิดเรื่อง “รวมหัวกันปล้น” อะไรสักอย่าง แล้วยังคงเหมือนเป็นความชอบธรรม ได้ไหมล่ะ?

มุมมองที่ว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” นี่พูดลอยๆ มันก็ถูกนะครับ ไม่ได้ผิดอะไร แต่อะไรคือ “ช่วยกัน” ล่ะ? เราอ้างคำนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จากความเห็นแก่ตัวกันหรือเปล่า? ผมเชื่อว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยหลายต่อหลายคนถูกทำให้รู้สึกว่าการคิดราคาค่าซอฟต์แวร์กับคนไทยด้วยกันเอง เป็นบาปมหันต์ กันมาแล้วทั้งนั้น

เขียนโปรแกรมขาย ราคาแค่ 30 บาทต่อดาวน์โหลด โดนด่าสาดเสียเทเสียว่าไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เขียนโปรแกรมแจกฟรี แต่แปะโฆษณาที่มีรายได้แค่เดือนละร้อยสองร้อย โดนด่าเป็นหมูเป็นหมา ว่าอย่ามาเรียกตัวเองว่าไทยเลยนะ ทำไมไม่ช่วยกัน หรือรับจ้างพัฒนาโปรแกรม ก็โดนกดราคาเข้าเนื้อแล้วเข้าเนื้ออีก กำไรไม่ต้องคิดกันเลยครับ แค่คิดให้เท่าทุน ก็เลวแล้ว

ถ้า 30 บาทที่จะจ่ายให้นักพัฒนา มันเยอะแยะมากมายมหาศาลมากนักล่ะก็ ลองคิดอะไรกันดูเล่นๆ มั้ยครับ ว่าเดือนๆ นึงเราเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ที่มันพอๆ กัน

  • เคยให้เงินทิปเด็กเสิร์ฟกันเดือนละกี่บาทครับ? บางคนเงินทอนไม่เก็บกันทีละสิบกว่าบาท ป๋ามากครับ จ่ายได้ไม่ยาก (ยิ่งเด็กเสิร์ฟสวยนี่ยิ่งยัดแบงค์ยี่สิบลงไปด้วยไม่ยากเลย) ทำแบบนี้ทุกมื้อเป็นเงินเท่าไหร่ อย่าบอกนะครับ ว่าเด็กเสิร์ฟฐานะยากจน ทำงานหนักต้องนี่นั่นโน่น แล้วโปรแกรมเมอร์ล่ะครับ เราไม่ได้ทำงานเหรอ เรารวยนักเหรอ เด็กเสิร์ฟมีเงินเดือน แต่เราหลายคนไม่มีเงินเดือนแบบประจำ ก็มีแค่เงินจากการรับจ้างทำงาน กับเงินจากการกดซื้อโปรแกรมทีละ 30 บาทเท่านั้นนะครับ อย่าลืมข้อนี้ไป การมีคอมใช้ก็ไม่ได้แปลว่ารวยนะ มันก็สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเราน่ะแหละ
  • หนักกว่านั้นครับ เคยโชว์ป๋าด้วยการให้เงินขอทานเวลาเดินข้ามสะพานลอยกับแฟนมั้ยล่ะ? ลองคิดๆ ดูซิ ว่าเท่าไหร่ ถ้าทำเลดีๆ หน่อย รายได้ต่อเดือนอาจจะมากกว่าโปรแกรมเมอร์บ้านเราโดยเฉลี่ยซะอีกนะครับ
  • แย่กว่านั้นหน่อย เราเคยให้เงินคนที่ “หาของโจรมาขาย” กันเท่าไหร่กันเหรอครับ ลง app ที่ขโมยมาครั้งละ 500 บาท ได้ app เต็มเครื่อง ที่เราก็ไม่ได้ใช้หรอก ใช้จริงๆ จังๆ ก็อาจจะแค่ 7-8 ตัว ถ้าจ่ายให้นักพัฒนาตรงๆ ก็ไม่ต่างอะไรกันมากมายนักหรอก

[ป.ล. ผมไม่ได้บอกว่าอาชีพเหล่านี้สบาย หรือรายได้สูงนะครับ ทุกอาชีพมันก็มีความยากลำบากของมันเหมือนกันหมด มีงานต้องทำ มีต้นทุน มีอะไรเหมือนกันหมด ความลำบากแต่ละอาชีพ อย่าเอามาเทียบกันโดยเด็ดขาด]

แล้วไอ้ข้อสุดท้ายนี่มันต่างกันตรงไหนล่ะ?

หลายคนคิดง่ายๆ ตื้นๆ แค่ “เงินออกจากกระเป๋าเราเท่ากัน ให้ได้มากที่สุดดีกว่า ไม่เข้ากระเป๋านักพัฒนาเลยก็ช่างมันประไร” แต่ลองมองถัดไปสักนิดนะ นักพัฒนาได้เงินไปแล้วเอาไปทำอะไรเหรอครับ ก็ต้องเอาไปศึกษานี่นั่นโน่นเพิ่มขึ้น เอาไปเพิ่มทรัพยากรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคน ความรู้ หรือเครื่องที่พอจะทำงานได้ดีขึ้น หรือจ้างคนมาเป็น customer service คอยตอบคำถามผู้ใช้ ฯลฯ อย่าคิดว่าเอาไปซื้อเรือยอร์ชซื้อรถสปอร์ตแบบไร้สาระกันทุกคนสิครับ (จริงๆ ถ้ามีเงินไว้ละลายเล่นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะทำงั้นนะ แต่โปรแกรมเมอร์แทบจะ 100% ของบ้านเรา ไปไม่ถึงจุดนั้นเด็ดขาด แค่ไม่อยู่ในภาวะเดือนชนเดือน ก็หรูพอควรแล้ว)

ผมก็เห็นว่าคนไทยควรช่วยกันนะ แต่เราอยากได้อะไรล่ะ? เราอยากได้สังคมนักพัฒนาที่เก่งๆ กันหรือเปล่า เราอยากได้คนไทยที่เก่งไม่น้อยหน้าใครในโลกบ้างไหม? … ไปๆ มาๆ ผมเชื่อว่า “เราไม่อยากได้มันหรอก” ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะคนไทยมันไม่ช่วยกันเองไงล่ะครับ แล้วเราจะได้นักพัฒนาเก่งๆ สังคมนักพัฒนาเก่งๆ แบบที่เราฝันมาจากไหน (หรือว่าผมฝันไปคนเดียววะ)

ทีนี้เราจะเห็น “ค่า” จริงๆ ของซอฟต์แวร์ล่ะครับ … cost จริงๆ ที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายก็คือ วงการที่นักพัฒนาถีบตัวเองไม่ขึ้น scale ตัวเองไม่ได้ สร้างทรัพยากรในการรองรับงานที่ใหญ่ขึ้น มี demanding สูงขึ้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ใช้ใจและมาม่าอย่างเดียวไม่ได้ (ขนาดมาม่ายังต้องซื้อเลย) ซึ่งยิ่งจะทำให้เราเสียศักยภาพในการแข่งขันในภาพรวมมากขึ้นๆ ทุกวัน

คุณภาพของสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่อง IT อย่างซอฟต์แวร์ นับวันเรายิ่งจะล้าหลัง … เรากดราคาฮาร์ดแวร์สู้จีนไม่มีทางได้ เราจะพัฒนาอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ซอฟต์แวร์กับคอนเทนท์ (ซึ่งมักต้องการซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อน)

ยิ่งเมื่อต้องแข่งขันกันตัดราคาเพื่อรักษาความอยู่รอด ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะพวกเราเองก็มีต้นทุนที่มันกดไม่ลง นอกจากลดคุณภาพของงาน นั่นหมายถึงว่า งานที่เราจะทำให้คนว่าจ้าง โดยเฉลี่ยแล้วมีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของงาน (เมื่อเทียบกับระดับสากล) จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายมาก ที่ว่านอกจากเราจะถีบตัวเองไม่เคยขึ้นแล้ว ยังถอยหลังลงคลอง ซึ่งสาเหตุหลักมันมาจากการที่เราจะต้องรีบปิดงานหนึ่ง เพื่อไปรับอีกงานหนึ่ง หาเงินมาหมุนกันแบบเดือนชนเดือนอีกด้วย

ถ้าโปรแกรมเมอร์ยังต้องวิ่งหางานแบบเดือนชนเดือน จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเองล่ะครับ? ผลที่ได้ก็คือ ความรู้ความสามารถเท่าเดิม เท่าเดิม และเท่าเดิม ในขณะที่โลกมันก็ขยับไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา ทุกคนมักจะพูดได้ลอยๆ อย่างไม่รับผิดชอบว่า เป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์และคนในวงการนี้ ที่จะต้องศึกษาทุกอย่างตลอดเวลาเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว แต่จะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษาล่ะครับ มันไม่ใช่ของที่เรียนรู้กันได้ข้ามวันข้ามคืนสักหน่อย

นักพัฒนา มันก็คนเหมือนๆ กับทุกคนน่ะแหละครับ ต้องกินข้าว ต้องมีชีวิต ต้องจ่ายค่าเช่า ต้องเลี้ยงครอบครัว ต้องแบกภาระของครอบครัว ถูกครอบครัวฝากความหวัง ฯลฯ เหมือนกับพวกคุณทุกคนน่ะแหละครับ

ผมอยากจะตะโกนดังๆ ตรงนี้เหลือเกินครับ

นักพัฒนาไทย มันไประดับโลกไม่ได้หรอก ไม่ใช่เพราะมันไม่เก่ง แต่เพราะคนไทยด้วยกันเองไม่ช่วยกันสนับสนุน ปากบอกอยากได้คนเก่ง อยากให้คนไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็ปล่อยให้มันตายไป ใจไม่ช่วยสร้าง

มันไปไหนไม่ได้หรอกครับ เพราะวุฒิภาวะ (maturity) และทัศนคติ (mindset) ของ “สังคมผู้ใช้” ของเราไปไม่ถึง ไม่สนับสนุนให้พวกเราไปได้ ไม่ยอมให้ไป และต้องการให้นักพัฒนามันตายกันหมด

ถ้าจะอ้างว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” … ผมก็อยากจะกราบทุกท่านตรงนี้ ว่าท่านพูดได้โดนใจผมเหลือเกิน

แล้วพวกเราล่ะ … ไม่ใช่ “คนไทย” กระนั้นหรือ? แล้วทำไมท่านไม่ช่วยเราบ้าง?

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ด้วยความเคารพ
รวิทัต ภู่หลำ, ศิลปินซอฟต์แวร์ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัย


[อัพเดท 10/07/2555] ป.ล. ผมเขียนเรื่องนี้ ตั้งใจเพื่อเป็น wake up call ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นจะแรงหน่อย และผมต้องการชี้ให้เห็นภาพที่มันใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย ของอุตสาหกรรม IT ว่ามันเป็นเรื่องของพวกเราหลายต่อหลายคน รวมถึงผู้บริโภคด้วย มากกว่าแค่นักพัฒนา

นาฬิกาปลุก มันต้องดังหน่อย ต้องแรงหน่อย ไม่งั้นคงจะหลับกันต่อไป แล้วมันก็จะกลับมาเดินปกติต่อไป จนถึงเวลาที่จะต้องปลุกอีกครั้ง

ก่อนที่มันจะกลายเป็นนาฬิกาตาย … เมื่อถ่านมันหมดไฟ และใจมันหมดลาน