“ปล่อยไปตามลมเลย” เพลงเก่าๆ ของวงเก่าๆ ดังก้องอยู่ในหู ตั้งแต่ต้นเพลง
ล่องลอยไปไกลความจริง ทิ้งมันเสียความทรงจำ ปล่อยมันไปตามเวรกรรม เรื่อยไป
และท่อนสร้อย
ปล่อยไปตามลม จะพัดพาเราไป จะไปไหนก็แล้วแต่สายลม
วันนี้ประชุมสภามหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ได้ฟังทัศนคติจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน ได้แนวคิดที่สำคัญต่างๆ มากมาย ที่จริงๆ น่าจะถือว่าเป็นการ “เรียกสติ” ภาคการศึกษา และ “เรียกสติ” มหาวิทยาลัย ไม่เพียงแต่ศิลปากรเท่านั้น แต่ว่าหลายๆ ที่อีกด้วย
ผมไม่แน่ใจว่าผมควรจะเอาเรื่องนี้มาเขียนในนี้หรือเปล่า เพราะว่าเป็นการพาดพิงถึงสภามหาวิทยาลัย แต่ว่าสิ่งที่ผมจะเขียนข้างล่างนี่ ไม่เกี่ยวกับการประชุมนี้ แต่ว่าเป็นความคิดของผมเอง จากสติส่วนหนึ่งที่ได้จากการไปเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมครั้งนี้
การขับเคลื่อนภาคการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ในความรู้สึกของผม มันคือ “แพ” ใหญ่ๆ ที่กำลังลอยไปตามกระแสน้ำเรื่อยๆ น้ำแรง ก็ไปเร็ว น้ำเอื่อย ก็ไปช้า แพนี้มีพื้นที่ใหญ่มากพอให้ทุกคนอยู่กันอย่างสบายตามอัตภาพ ติดเกาะติดแก่งติดสันดอน ก็ช่วยๆ กันแก้ๆ ไปเป็นคราวๆ โดยคนที่อยู่ใกล้ๆ ขอบแพตรงที่ติด คนทั่วไปที่อยู่กลางแพ ไม่ได้รู้สึกรู้สารู้อะไรด้วยเลย
“แพ” ไม่เหมือนเรือ มันไม่มี “หัวแพ” เหมือนที่มี “หัวเรือ” ที่อยางน้อยให้เราได้รู้ว่ามันกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน แพนี้อาจจะกำลังหมุนคว้างๆ อยู่กลางแม่น้ำ ที่เหมือนจะไหลไปข้างหน้าก็ได้ใช่หรือไม่ เราไม่สนใจ
เราไม่เคยสนใจว่า แม่น้ำนี้ กำลังไหลไปที่ไหน หรือว่าแม้แต่มันกำลังไปไหนจริงๆ หรือเปล่า เราไม่เคยสนใจว่ามันไหลมาจากที่ไหน มันไหลผ่านอะไรมาบ้าง เราอยู่บนแพ เท่านั้น … เราอาจจะกำลังอยู่บนมหาสมุทร เวิ้งว้าง ว่างเปล่า ไม่ได้ไปไหนทั้งนั้น … มันแค่วนไปวนมา ตามกระแสคลื่นในท้องทะเล เท่านั้นเอง
(ภาพจาก presentation หนึ่งของผม ให้กับศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากร ในวันรับตำแหน่งผู้อำนวยการ)
เราจึงไม่เคยมองถึง Road Map เราจึงไม่เคยมองเห็น The Road Ahead … เราไม่เคยสนใจ
ที่สำคัญกว่านั้น ถ้าเป็นที่ๆ เราแทบไม่เคยไป หรือไม่มีใครเคยไปมาก่อน ไม่มีเส้นทางน้ำ ไม่มีถนน ไม่มีอะไรทั้งนั้น เรามักจะปิดกั้นตัวเอง ด้วยคำว่า “ไม่มีทางเดิน” แล้วก็ปฏิเสธต่างๆ นานา หาเหตุหาผลต่างๆ นานา เพื่อบอกว่า ไม่สามารถไปทางนั้นได้
เราแทบไม่คิดถึง “การบุกเบิกเส้นทาง” และ “การตัดถนน” เอาเสียเลย
(ภาพจากอีก presentation ของผมเอง ในวันเดียวกัน)
มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะคณะวิชา และภาควิชา ที่สามารถเกาะกระแสนิยมของสังคมได้ อาจจะไม่ค่อยได้คำนึงถึงจุดนี้เท่าไหร่ เพราะว่าเราก็ยังคงรับนักศึกษาหากินกันต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่สังคมยังต้องการปริญญา เรายังขยายหลักสูตรต่อไปได้เรื่อยๆ ตราบใดก็ตามที่สังคมยังต้องการปริญญา
ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเราได้เตรียมตัวเตรียมใจให้นักศึกษารุ่นปัจจุบัน รับรู้กับความเป็นจริงขนาดไหน ว่าพวกเขาต้องเผชิญกับภาวะ “การตกงาน”และ “การไม่จ้างงาน”แค่ไหนเมื่อจบไป
เราคงไม่สนใจอะไรเท่าไหร่ เพราะว่าลักษณะหน่วยงานของเรา เป็นหน่วยงานที่เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เรายิ่งสบาย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า “ภาวะตกงานแฝง” … หางานทำไม่ได้ ก็เรียนมันต่อไปก่อน และแล้วเราก็ขยายกำลังรับ เปิดปริญญาโท กันต่อไปอย่างสนุกสนาน
ปัญหาแบบนี้ ทั้งหมดนี้ และมากกว่านี้ ผมเคยได้ยินอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และท่านที่ผมรักและเคารพ ทั้งในความคิดและตัวตนของท่าน หลายต่อหลายท่าน บ่นให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำอีก … ตัวเองบ่นเองก็เยอะ (ถ้าใครเคยฟังที่ผมพูดในงาน Blognone Tech Day 3.0 ล่ะก็ นั่นเป็นเพียงแค่ส่วนเดียวเท่านั้น)
แต่ว่าท่านเหล่านั้นสรุปให้ผมฟังอย่างน่าเศร้าใจว่า “ก็บ่นกันมาแบบนี้ ปีที่แล้วก็บ่นกันมาแบบนี้ ปีก่อนหน้านั้นก็บ่นกันมาแบบนี้ … ” และก็คงจะ so on and so on … และแล้วเราก็ผ่านมันไปปีต่อปี ปีหนึ่งผ่านไป ปีหนึ่งก็จะผ่านไปอีก
so on, so on, so on.
ล่องลอยไปไกลความจริง ทิ้งมันเสียความทรงจำ ปล่อยมันไปตามเวรกรรม เรื่อยไป
และท่อนสร้อย
ปล่อยไปตามลม จะพัดพาเราไป จะไปไหนก็แล้วแต่สายลม
เพลงๆ หนึ่งจากวงที่ไม่ค่อยจะดังเท่าเมื่อกี้ (วงนี้ไม่ดังเลย เพลงดังก็ไม่มี … แต่ว่าผมชอบเพลงนี้มาก ถึงขนาดจำเนื้อได้เกือบแม่น ได้ยินสมัยเด็กๆ — ดังนั้นถ้าผิดพลาดบ้างขออภัย) ดังขึ้นในหูผม
เวิ้งว้าง แสนไกล สุดสายตา สุดขอบฟ้า มองหาใครไม่มี
คลื่นลูกน้อย ล่องลอย ตามสายลมที่มี
เป็นอย่างนี้ สิ้นหวัง มาช้านาน
ล่องลอยไป ไร้จุดหมาย ในท้องทะเล
สิ่งที่หวัง คือไป ให้ถึงฝั่ง
หากวันนั้น ถ้ามี ดังที่หวัง
คลื่นน้อยคง มีหวัง เจอหาดทราย
แต่บางครั้ง คลื่นแรง ดังใจเร่าร้อน
แต่บางครั้ง คลื่นอ่อน น่าใจหาย
และบางครั้ง หมดแรง เช่นความตาย
ผลสุดท้าย เกยหาด จางหายไป
ตัวฉัน เคว้างคว้าง ใจกลางทะเล
จะหันเห ทางไหน ไม่เห็นฝั่ง
หากวันนั้น ถ้ามี ดังที่หวัง
แนบกายลง บนฝั่ง บนหาดทราย
กราบขอบพระคุณกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ท่านดวงสมร วรฤทธิ์ และท่านบุญชัย เบญจรงคกุล ที่ให้ข้อคิดดีๆ แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ
เพลง “สุดท้ายที่หาดทราย” ของวง Bad Guys ผมก็ชอบนะครับ
ถ้าอยากได้เดี๋ยวส่งให้
@Vman อยากได้ๆๆๆๆ
อ่านเฉยๆ มันไม่ค่อยได้อา่รมณ์อ่ะคับ อยากฟังเวอร์ชั่นเต็มๆจากปากอาจารย์มากกว่า