รีวิว: Fujifilm X-Pro1

นี่คือรีวิว/บทความที่ผม “ดองไว้นานที่สุดในชีวิต” เพราะว่าดราฟท์ไว้ 2-3 ย่อหน้าตั้งแต่ 08/29/2012 โน่นเลย จะว่าไปแล้วก็เกินปีแล้วสินะ … และวันนี้ก็คงจะถึงเวลาที่จะมานั่งเขียนมันให้เสร็จซะที

สารภาพเลยว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้รีวิวนี้เสร็จก็คือว่า วันหนึ่งผมพบว่ามีท่านผู้อ่านหลงเข้ามาเว็บผมด้วยคำค้นนี้ครับ:


searchterm.png

แบบนี้ก็เลยบอกตัวเองว่า “ต้องจัดซะแล้ว” และสารภาพตามตรงครับ ว่านี่คือกล้องที่ “เขียนรีวิวยากที่สุด” ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ผมจะบอกตรงๆ ตั้งแต่ตรงนี้เลย ไม่ต้องเสียเวลาอ่าน

Firmware: Fujifilm เข้าใจ เก็ท และใช้ประโยชน์จากความเป็น “คอมพิวเตอร์” ของกล้องสมัยใหม่คุ้มที่สุด อัพเดททีไร เหมือนได้กล้องใหม่ทุกที

แล้วเจ้า Firmware มันเกี่ยวอะไรกับเขียนรีวิวกล้องล่ะเนี่ย?!?! คำตอบสั้นๆ ก็คือ มันทำให้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนไปครับ บางครั้งรู้สึกเหมือนได้กล้องใหม่เลยทีเดียว


DSCF7023.jpg

Product Shot … เอ๊ย! ไม่ใช่ล่ะ! ผิด Product แล้ว!

ผมบอกตามตรงเลยครับ ว่าทุกครั้งที่ผมจะเขียนรีวิว ก็จะมีข่าวว่าฟูจิจะออก Firmware ใหม่ ซึ่งจะปรับปรุงตรงนั้นตรงนี้ ผมก็จะรอไปก่อน แล้วพอมันออกมาให้ลองใช้จริง ก็จะมีหลายต่อหลายเรื่องที่เปลี่ยนไป ทำให้อยากจะเขียนใหม่ ผมกล้าพูดครับว่ารีวิวของ Fujifilm X-Pro1 ที่ออกมาตั้งแต่กล้องออกมาใหม่ๆ แล้วไม่ได้รับการปรับปรุงไปตาม Firmware เรื่อยๆ นี่มีข้อมูลที่ไม่จริงแล้วหลายต่อหลายอย่าง และจนกระทั่งวันนี้ผมคิดว่ามันน่าจะนิ่งมากแล้ว ดังนั้นก็เลยได้เวลาเขียนสักที

งั้นเริ่มกันที่เรื่องแรกกันเลยครับ


DSCF7072.jpg

หมาน้อยบนโซฟา


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ ไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” แทบทุกรูปถ่ายเป็น JPEG Normal จากกล้องเท่านั้น จะมีแค่บางรูปเท่านั้นที่ถ่าย RAW ทุกรูปมีการทำต่อใน Lightroom เพื่อให้เห็นผลจากการใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset นี้ [Review] Fujifilm X-Pro1 ซึ่งตอนนี้มีรูปเยอะกว่าที่ลงในบทความนี้ และอาจจะเพิ่มในอนาคต (ซึ่งจะลงใน Flickr แต่ไม่เอามาลงเพิ่มในบทความนี้แล้ว)



DSCF7120.jpg

ที่ บ.โค้ด แอพพ์ เราดราฟท์ไอเดียแอพด้วยกระดานดำ

มันคืออะไร?

มันคือกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้แบบ Mirrorless (ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีตัวย่อที่เป็นมาตรฐาน บางคนเรียก EVIL บางคนเรียก CSC บางคนเรียก ILC) ลักษณะทำงานของกล้องแบบนี้ก็คือ ไม่ใช้กระจกสะท้อนภาพจากเลนส์ไปเข้าช่องมองภาพ (Viewfinder) ในแบบ SLR (DSLR) แต่ใช้เซ็นเซอร์รับภาพตรงๆ เลย แล้วจะเอาภาพนั้นไปโผล่ที่ไหน จะเป็นช่องมองภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือใช้ LCD หลังกล้องแบบเดียวกับกล้องคอมแพคทั่วไป หรือแม้แต่การใช้ช่องมองภาพแบบกระจกแล้วเอาเส้นกรอบภาพไปวางซ้อนเอาแบบเดียวกับกล้อง Rangefinder ชอบใช้กัน (สรุปสั้นๆ: Mirrorless = ยังไงก็ช่าง แค่ไม่มีกระจกสะท้อนภาพจากเลนส์ไปเข้าช่องมองภาพ พอ)


DSC_0948.jpg

นี่สิ Product Shot ของแท้ … บ้านๆ มาก สภาพใช้งาน+ไม่ได้เช็ดไม่ได้ขัดก่อนถ่าย

X-Pro1 เป็นกล้อง Mirrorless เปลี่ยนเลนส์ได้ตัวแรกของ Fujiflm หลังจากเขย่าวงการด้วยคอมแพคเซ็นเซอร์ใหญ่อย่าง X100 โดยคร่าวๆ X-Pro1 ใช้เซ็นเซอร์ขนาด APS-C (Crop Factor หรือตัวคูณ 1.5) แบบ X-Tran และมีเลนส์เมาท์ใหม่ที่เรียกว่า X-Mount

ส่วนรายละเอียดในแต่ละส่วนจะเป็นยังไง เดี๋ยวไปดูกันทีละเรื่องครับ

โครงสร้างและการออกแบบ

Fujifilm กลายมาเป็นชื่อที่ต้องจับตามองกันอีกครั้งในวงการกล้อง หลังจากเงียบหายไปนานมากจนคิดว่าจะเหลือแต่ชื่อซะแล้ว ด้วยการออก X100 กล้องอาร์ทตัวแม่ ที่สอบตกหลายเรื่อง แต่คนที่ชอบคนที่รักก็รักมันจริงจัง (ผมเป็นคนหนึ่งในนั้น อ่านจาก A Week with Fujifilm X100 ที่ผมเขียนไว้นานแล้วได้เลย) สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ “สไตล์ย้อนยุค” ของมันนั่นเอง


DSCF8444.jpg

พระหิน
สถานที่: วัดแห่งหนึ่งในเกาหลี (จำชื่อไม่ได้)

ซึ่งแวบแรกที่เห็นตั้งแต่รูปที่หลุดออกมา หรือแวบแรกที่เห็นในร้าน ก็รู้สึกแบบเดียวกันเลยกับ X-Pro1 ว่านี่คือ “กล้องสไตล์ย้อนยุค” ในสไตล์ของกล้อง Rangefinder คลาสสิค

เพื่อตอกย้ำความคลาสสิคและการเป็น “กล้องซีเรียส” ให้ชัดเจนขึ้นอีก Fujifilm ก็เลือกทำตรงข้ามกับ Nikon 1 ด้วยการเปิดตัวพร้อมกับเลนส์แบบ Prime ทีเดียว 3 ตัว คือ 18mm f/2, 35mm f/1.4 และ 60mm f/2.4 macro ซึ่งเทียบเท่ากับระยะ 28mm, 50mm, 90mm ตามลำดับ (บางคนจะถามล่ะ ว่าเทียบเท่า 35mm กับ 75mm หายไปไหน :-P)


DSCF7152.jpg

ถ่ายรูปวาดที่บ้าน

พูดถึง Rangefinder ใครๆ ก็คงคิดถึง Leica และถ้ามองผ่านๆ ก็คงคิดว่า X-Pro1 นี่มันหน้าตาละม้ายคล้ายกับ Leica M อยู่ไม่น้อย ถึงกับมีคนพูดกันว่ามันคือ Poor Man’s Leica กันเลยทีเดียว … ส่วนหนึ่งก็คงเพราะว่า Leica เป็นเจ้าเดียวที่ทำกล้อง Digital Rangefinder ในปัจจุบัน (Epson เคยร่วมกับ Cosina Voigtlander เอากล้องฟิล์มตระกูล Bessa มา Modify ทำเป็น Digital Rangefinder ตระกูล R-D1 แล้วตอนนี้ไม่รู้เป็นไงบ้าง)

แต่เมื่อมองนานๆ และเทียบไปเทียบมาดีๆ แล้วมันไม่ใช่ Leica M นะ ต้นแบบของมันจริงๆ คือ Contax G2 มากกว่า (ลองค้น Google Images ดูครับ เหมือนกันแทบจะเด๊ะเลย)


DSCF7223.jpg

ดอกไม้ในวัด
สถานที่: วัดพระพุทธบาท สระบุรี

จะได้ต้นแบบมาจากตัวไหน รูปทรงมันก็เหมือนกับกล้อง Rangefinder อยู่ดีแหละ หลายต่อหลายคนถึงกับเรียกมันว่าเป็น Digital Rangefinder ด้วยซ้ำ … เว้นแต่ว่ามัน “ไม่ใช่” เพราะว่าจริงๆ แล้ว X-Pro1 ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับ Rangefinder (ซึ่งเป็นวิธีการโฟกัส) เลย แต่มันถูกออกแบบให้มีรูปร่าง รวมถึงลักษณะการควบคุมต่างๆ ในแบบกล้อง Rangefinder

อันที่จริงก็แบบเดียวกับ X100 น่ะแหละ ที่แพ็คเอาเทคโนโลยีการโฟกัสแบบปัจจุบัน รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ไว้เพียบ แต่ให้วิธีการควบคุมปรับเปลี่ยนค่าของพารามิเตอร์ที่ใช้ในการถ่ายภาพบ่อยๆ บนส่วนต่างๆ ของตัวกล้องอย่างตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับกล้องฟิล์มเก่าๆ นั่นเอง


DSCF7726.jpg

ดอกไม้ บนบันไดหิน
สถานที่: วัดมหาธาตุ ลพบุรี

แวบแรกที่เห็นกล้อง รู้สึกเลยมันเป็น X100 ขยายส่วนให้ใหญ่ขึ้น มี Lens Mount (เพราะว่ามันเปลี่ยนเลนส์ได้) และเปลี่ยนสีให้ดูซีเรียสจริงจังขึ้น ความรู้สึกที่ตามมาคือ “มันน่าจะหนัก” อาจจะเพราะว่าผมใช้ Leica M8 อยู่ ซึ่งขนาดตัวไม่ต่างกันเลยกับ X-Pro1 แต่จัดได้ว่าหนักมากในมาตรฐานปัจจุบัน โดยที่ผมก็ลืมไปว่า X100 มันโคตรเบา

และเมื่อลองจับ X-Pro1 ดูจริงๆ ก็พบว่ามันเบามากเมื่อเทียบกับรูปลักษณ์และขนาดภายนอก ก็เหมือนกับ X100 ที่เบาจนรู้สึกว่ามันกลวงนิดๆ เลยล่ะ แต่ไม่รู้สึกว่ามันถูกสร้างมาแบบถูกๆ หรือไม่ดีนะ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ งานสร้างงานประกอบจัดได้ว่าทำได้ดี ให้ความรู้สึกทนใช้ได้ แต่ไม่ค่อยรู้สึก “ถาวร” เท่ากับ Leica M8 (ทั้งๆ ที่เจ้า M8 นี่ปัญหาโคตรเยอะเลย .. แต่เป็นปัญหาอิเล็กทรอนิกส์แทบทั้งนั้น)


DSCF8149.jpg

แปลงดอกไม้
สถานที่: เกาหลี (แต่ที่ไหนก็มีมั้ง แบบนี้)

และเมื่อประกอบกับเลนส์ 35mm f/1.4 ซึ่งเป็นชุดคิทในตอนแรก บอกได้เลยว่าน้ำหนักดีขึ้นเยอะ เหมาะมือใช้ได้ ยิ่งเมื่อเทียบกับ M8 (รายนั้นถือนานๆ มีเมื่อยแน่ๆ) และที่สำคัญคือมันเข้ากับเลนส์มากเลย .. แต่เรื่องเลนส์เดี๋ยวว่ากันทีหลัง

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบกับกล้อง Fujifilm โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ Leica M ก็คือการออกแบบให้มี “Grip” ภายนอกที่ทำให้จับถนัดขึ้น (แม้จะแลกมาด้วยการที่มันดูไม่สวยไม่เรียบไม่หรูเท่า) ยิ่ง Leica M8/M9 ไม่มีที่พักนิ้วให้เหมือนกับตัวเลื่อนฟิล์มเมื่อก่อน ยิ่งจับลำบากขึ้นอีก ส่วน Grip ของ ​X-Pro1 นั้นทำจากยางและมี Texture คล้ายกับตัวกล้องที่ช่วยให้จับถนัดขึ้นอีกนิดหน่อย ส่วนด้านหลังจะมีการออกแบบให้สามารถวางพักนิ้วโป้งได้ง่ายและไม่โดนปุ่มอะไรเวลาที่วางนิ้ว แต่ขยับนิดหน่อยก็สามารถเข้าถึงปุ่มสำคัญบางปุ่มได้เลย ซึ่งถือว่าออกแบบมาได้เยี่ยมในการใช้งานจริง


DSCF7620.jpg

บันไดพญานาค
สถานที่: วัดพระพุทธบาท สระบุรี

การออกแบบการควบคุมภายนอก

สำหรับผมแล้ว การควบคุมจากภายนอกเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับกล้อง โดยเฉพาะกล้องดิจิทัลที่มีปัจจัยที่ปรับแต่งได้มากมายมหาศาลเมื่อเทียบกับกล้องฟิล์ม การออกแบบการเข้าถึงการปรับแต่งต่างๆ นี่เรียกได้ว่าเปลี่ยนความรู้สึกในการถ่ายรูปให้เป็นคนละอารมณ์กันได้เลย ไม่จำเป็นต้องถึงกับลากทุกอย่างออกมาให้ปรับได้ข้างนอกหรือมีปุ่มมีตัวเลื่อนมีฟังก์ชั่นกดนั่นผสมนี่ได้มากมายเหมือนกับพวก DSLR ตัวใหญ่ๆ หรอก แต่ถ้าจะต้องกดปุ่มเข้า Menu ทุกครั้งแม้แต่จะเปลี่ยนโหมดจาก Aperture-Priority เป็น Shutter-Priority เหมือนพวกกล้องคอมแพคตัวเล็กๆ ก็เกินไป (ซึ่ง Nikon ดันออกแบบ Nikon V1 มาแบบนั้น แล้วก็แก้ตัวด้วย V2 แต่ด้วยความที่ผมไม่ชอบดีไซน์โดยรวมของ V2 เท่าไหร่ เลยผ่านไป ก็หวังว่า Nikon จะเรียนรู้แล้วก็ทำ V3 ออกมาแบบเดียวกับ Coolpix A นะ)


DSCF9693.jpg

ในโบสถ์ วัดอะไรไม่รู้ จำไม่ได้ล่ะ –”

ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ Fujifilm ทำออกมาได้โดนมาก และดีมาก ตั้งแต่ X100 ล่ะ พูดสั้นๆ ว่าโดยสรุปแล้ว X-Pro1 มีการควบคุมภายนอกที่เหมือนกับ X100 ครับ

โดยปกติแล้วพารามิเตอร์หลักๆ ที่ผู้ใช้จะปรับเปลี่ยนบ่อยๆ ในการถ่ายรูปก็คือขนาดรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ และการชดเชยแสง ซึ่ง X-Pro1 เอาการออกแบบของพวก Rangefinder มาใช้เต็มๆ ส่งผลให้มีการเข้าถึงพวกนี้จากการควบคุมภายนอก คือการปรับขนาดรูรับแสงที่ตัวเลนส์ การปรับความเร็วชัตเตอร์และการชดเชยแสงด้านบนตัวกล้อง


DSCF9860.jpg

ทุ่งทานตะวัน
สถานที่: แถววัดเวฬุวัน เขาจีนแล ลพบุรี

สำหรับการปรับรูรับแสงที่เลนส์และความเร็วชัตเตอร์บนตัวกล้องนั้น จะมีสัญลักษณ์ A ซึ่งหมายถึง Auto ถ้าเราเลื่อนตัวไหนไปที่ Auto กล้องจะคำนวนค่าให้เราเอง ซึ่งหมายถึงว่าถ้าเราตั้ง A ไว้ที่เลนส์ และตั้งชัตเตอร์เอง จะกลายเป็น Shutter-Priority แต่ถ้าเราตั้งชัตเตอร์ไว้ที่ Auto และเลือกรูรับแสงเอง ก็จะกลายเป็น Aperture-Priority ถ้าตั้งทั้งสองตัวที่ A ก็จะกลายเป็น Program Auto

ส่วนเรื่อง ISO ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เป็นปัจจัยที่เคยถูกปรับแต่งบ่ยอ นี่ตั้งแต่มีการพัฒนาเรื่อง Auto-ISO ขึ้นมาก็มีการปรับค่าตรงนี้เองน้อยลงไปมาก ทำให้ดูโอเคขึ้นหากไม่มีปุ่มสำหรับการเข้าถึงมันโดยตรง ขอให้ Auto-ISO มันฉลาดพอก็แล้วกัน (เรื่องนี้เดี๋ยวมาต่อกัน)


DSCF7871.jpg

หมาวัด
สถานที่: วัดพระพุทธบาท สระบุรี

สำหรับปุ่มควบคุมอื่นๆ ที่เข้าถึงได้จากภายนอก สำหรับด้านหน้าตัวกล้องจะมี ตัวสับสำหรับสำหรับสลับ Optical/Electronic Viewfinder (OVF/EVF) และตัวสับสำหรับเลือกรูปแบบโฟกัส (Manual-Continuous-Single) ด้านบนตัวกล้องจะมีสวิทซ์เปิดปิดและปุ่ม Fn ที่เลือกได้ว่าจะเอาไว้ใช้ทำอะไร (ผมตั้งเอาไว้เป็น RAW เวลาเจอรูปยากๆ และอยากถ่าย RAW จะได้เข้าถึงง่ายๆ หรือว่าบางครั้งอยู่ในอารมณ์อย่างถ่าย JPEG อย่างเดียวก็ตั้งไว้เป็น Film Simulation)

สำหรับด้านหลังจะมีปุ่มอะไรโน่นนี่เยอะหน่อย (เป็นเรื่องปกติ) คือ Drive Mode, AE, AF ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นปุ่ม Zoom +/- และปุ่มลบรูป เวลาอยู่ในโหมดดูรูป ปุ่ม Playback สำหรับเข้าโหมดดูรูป ปุ่มเลือกรูปแบบของ Viewfinder (VF/LCD/Eye-Sensor) ปุ่มตั้ง Display Information/Back และ D-Pad ซึ่งมีปุ่ม Macro ปุ่มเข้า Menu ซึ่งทำหน้าที่เป็น OK ด้วย และสุดท้ายก็มี Command Dial อยู่ 1 ตัว


DSCF7453.jpg

Evening Mood at Home

ที่ผมคิดว่าเจ๋งก็คือปุ่ม Q หรือ Quick Access​ ซึ่งจะรวมเอาค่าต่างๆ ที่เราอาจจะต้องการปรับเปลี่ยนระหว่างใช้งาน มีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ในรูปแบบตาราง 2 มิติ ที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายและเห็นค่าที่ตั้งไว้ปัจจุบันอย่างชัดเจน และทำงานร่วมกับ Command Dial ในการเปลี่ยนค่าต่างๆ ได้เนียน เป็นอะไรที่ผมคิดว่าค่ายอื่นๆ น่าจะเอากลับไปทำการบ้านบ้างเลยล่ะ

เซ็นเซอร์ X-Trans

Fujifilm ใช้เซ็นเซอร์แบบใหม่กับ X-Pro1 ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ผมชอบไอเดียพื้นฐานของมันมาก (เผลอๆ จะมากกว่าที่ชอบไอเดียของ Sigma Foveon เซ็นเซอร์ด้วยซ้ำ) .. เพราะเทคโนโลยีเซ็นเซอร์รับภาพแบบ Bayer นั้นเป็นเทคโนโลยีที่มาจากไอเดียโบราณ ที่แม้จะมีการปรับปรุงมาเรื่อยๆ แต่ไม่มีการ “เปลี่ยนแปลง” ด้วยไอเดียใหม่ๆ มานานมากแล้ว ทำให้ผมตื่นเต้นมากกับไอเดียใหม่ๆ ในเรื่องนี้ทั้งหลาย

เซ็นเซอร์นี้มีชื่อเรียกว่า “X-Trans” ซึ่งเป็น CMOS ขนาด APS-C (ต่างจาก X100 ซึ่งเป็น CMOS APS-C แบบ Bayer)


DSCF9669.jpg

After Sunset

Bayer เซ็นเซอร์นั้นรับความเข้มแสงเข้ามาแล้วใช้สิ่งที่เรียกว่า Bayer Pattern Array (หรือ Bayer Array) มาให้ค่าสีในแต่ละพิกเซลแบบตายตัว ว่าพิกเซลไหนจะให้สีอะไร จากนั้นใช้การ Interpolation ค่าสีอื่นๆ กลับจากพิกเซลรอบข้าง ซึ่งจะทำให้ได้ค่าสีที่เป็นการ “ประมาณ” และเนื่องจาก Pattern สีใน Bayer นั้นจะตายตัวมาก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์ Moire ขึ้นได้ง่ายกับสิ่งที่เป็นลวดลายแบบตายตัวที่มนุษย์สร้างขึ้น (ไม่ใช่พวกลายไม้นะ แต่เป็นพวกลายผ้า ลายตาราง) จะแก้ปัญหานี้ก็จะต้องใส่ Anti-Alias (AA) Filter เพิ่มเข้าไป ทำให้ภาพมัน “เบลอ” มากขึ้นเล็กน้อยโดยธรรมชาติ

Foveon เปลี่ยนไอเดียแบบ 180 องศา ด้วยการแยกเซ็นเซอร์รับภาพไปเลย 3 ชั้นที่รับคลื่นแสงแดง เขียว น้ำเงิน แยกกัน ทำให้ปัญหาพวกนั้นหมดไป แต่ทำให้ปัญหาอีกหลายอย่างมันตามมาแบบช่วยไม่ได้


DSCF7655.jpg

อีกมุมหนึ่งของวัดพระพุทธบาท สระบุรี

ส่วน X-Trans นั้นยังคงอยู่กับตัวรับแสงตัวเดียว รับความเข้มแสง เหมือนกับ Bayer แต่เปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานนิดเดียวเท่านั้น คือ ไม่ใช้ Pattern การให้ค่าสีของพิกเซลแบบตายตัว แต่เป็นการสุ่มให้ค่าสี (ซึ่งทาง Fujifilm บอกว่า ได้ไอเดียมาจากการเรียงตัวแบบสุ่มของเม็ดเกรนในฟิล์ม) ซึ่งทำให้สาเหตุของการเกิด Moire นั้นหมดไป และไม่ต้องแก้ปัญหาด้วยการใส่ AA filter เพิ่มเข้าไปลดความคมชัดลงไปอีกแต่อย่างใด

และแน่นอนว่า เนื่องจากพื้นฐานมันยังเป็น CMOS ที่รับความเข้มแสงเหมือนเดิม ดังนั้นมันจึงมีประสิทธิภาพการรับแสงในที่แสงน้อยดีเหมือนกับ Bayer CMOS เซ็นเซอร์รุ่นใหม่ๆ ทุกประการ


DSCF8096.jpg

สี่สาว ณ งานเลี้ยงรุ่น

การใช้งานจริง

เนื่องจากผมค่อนข้างจะชอบ X100 และรัก Leica M8 เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้นก่อนที่ผมจะซื้อ X-Pro1 มา ผมคิดว่ามันน่าจะกลายเป็นกล้องที่ผมใช้งานมากที่สุด บ่อยที่สุด และไปไหนเอาไปด้วยเป็นตัวแรก แต่เอาเข้าจริงแล้วมันกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมใช้กล้องตัวนี้น้อยกว่าที่ผมคิดเอาไว้มาก และแทบไม่เคยใช้เป็นกล้องหลักในการเอาไปไหนเลยด้วยซ้ำ

ทริปเดียวที่ผมใช้งานกล้องตัวนี้จริงจัง ก็คือทริปไปเกาหลี เมื่อครั้งได้กล้องตัวนี้มาใหม่ๆ เหตุผลที่เอาไปก็คือไม่อยากแบก D3s ไปด้วย และอยากได้กล้องที่ถ่ายคนสวยหน่อย ซึ่ง X-Pro1 และ 35mm f/1.4 สามารถทำให้ผมได้ แต่ Nikon V1 ให้ผมไม่ได้ (ณ ตอนนั้น) … และนั่นเองทำให้ผมพบข้อจำกัดหลายอย่างพอควรในการใช้งานมันจริงๆ

ทำไมน่ะเหรอ …. คำเดียวครับ “Autofocus”


DSCF8336.jpg

X-Pro1 + 35mm f/1.4: ไว้ใจได้ เวลาถ่ายคน

ถึงรวมๆ แล้วผมจะค่อนข้างพอใจกับมัน แต่จนกระทั่ง Firmware 3.0 ออกมา ผมบอกได้เลยว่าผมขัดจิตกับ Autofocus ของมันมาก มากถึงขนาดที่ว่าบางครั้งรู้สึกหงุดหงิด .. มันแย่กว่า X100 อีกเหรอ ทำไมผมทนกับหมอนั่นได้? มันไม่แย่กว่าหรอกครับ มันพอๆ กันน่ะแหละ แต่…. ชีวิตผมต่างหากที่เปลี่ยนไป

เรื่องของเรื่องมี 2 คำครับ “Nikon D800” และ “Nikon V1”

พอดีผมเปลี่ยนกล้องหลัก จาก Nikon D3s มาเป็น D800 ทำให้อยู่ดีๆ “ขนาดของกล้องหลัก” เวลาถือไปไหนต่อไหน มันลดลงไปเยอะจนทำให้ถือได้สะดวกขึ้นเยอะ จนเรียกได้ว่าไม่ได้ต่างอะไรกันมากขนาดมีนัยสำคัญอะไรอีกต่อไปแล้ว (D800 เล็กกว่า D3s และ X-Pro1 ใหญ่กว่า X100) และ Lightroom ยังทำงานกับไฟล์ RAW ของ Nikon ดีกว่าของ Fujifilm อยู่หลายขุม (ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว) แล้วก็มีกล้อง MIrrorless ตัวเล็กตัวใหม่อีกตัวซึ่งคือ Nikon V1 ซึ่งทำงานไวมากจนไม่รู้จะไวยังไง แล้วไว้ใจได้มากๆ เรื่อง Autofocus


DSCF0012.jpg

Fallen Flowers

เมื่อเทียบกันแล้ว Autofocus ของ X-Pro1 ดูง่อยไปเยอะ ทั้งวืดวาด ทั้งช้า ทั้งโฟกัสผิดจากที่เราต้องการให้มันโฟกัส ขนาดเลือกจุดหรือบริเวณให้มันโฟกัสแล้วนะ ยังเกิด Focus Hunting อีก ไม่รู้ว่าจะยังไง

เท่านั้นไม่พอ X-Pro1 ยังมีข้อจำกัดที่เลนส์ ซึ่งแม้ว่ามันจะเปลี่ยนเลนส์ได้ แต่ผมก็มีเลนส์แค่ 2 ตัวเท่านั้นคือ 18mm f/2 และ 35mm f/1.4 ส่วน 60mm f/2.4 macro ที่เปิดตัวมาพร้อมกันนั้น ผมไม่ได้จัดมาด้วย เพราะว่ามันตัวใหญ่ไปมากเมื่อเทียบกับกล้อง ใส่แล้วรู้สึกว่าไม่บาลานซ์อย่างแรง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้งานพอควร ผมก็เลยใช้เจ้า X-Pro1 น้อยลงไปโดยธรรมชาติ


DSCF9707.jpg

โลหะปราสาท

เรื่อง Viewfinder ในการใช้งานจริง OVF จะพลาดเยอะพอสมควร ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงวาง Frame-line ให้ตรงกับกรอบของภาพที่เลนส์เห็นเป๊ะๆ ไม่ได้ ทั้งๆ ที่มันก็ใช้การคำนวนจากตัวกล้อง และใช้ LED ในการแสดงผลในตำแหน่งไหนก็ได้ และข้อมูลพวกนี้ก็อัพเดทได้จาก Firmware อยู่แล้ว ต่างจากพวก Rangefinder ที่ใช้ Frame-line แบบ Fixed ไว้แล้วจาก ส่วน EVF นั้นทำงานได้ดีถ้าแสงเยอะๆ แต่จะอัพเดทช้ามาก และใช้งานลำบากในที่แสงน้อย ก็ต้องสลับไปใช้ OVF เอา

นอกนั้นก็ยังมีข้อเสียจุกจิกที่อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในการใช้งานบางครั้ง เช่น เรื่องการตั้ง Auto ISO ที่ตั้งความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดไม่ได้ ก็ต้องแล้วแต่กล้องมันคิดและกำหนดให้ (ซึ่งมันจะกำหนดให้แบบตายตัวไปเลยว่าเป็น 1/ทางยาวโฟกัส) ซึี่งทำให้เกิดข้อจำกัดมากๆ ในการใช้งาน เพราะบางครั้งเราต้องการหยุดการเคลื่อนไหวอะไรบางอย่าง แล้วอยากได้ชัตเตอร์ไวๆ อยากจะตั้งว่า “ต่ำสุดแค่นี้นะ” แล้วยอมดัน ISO สูงให้เอง ก็ต้องใช้แบบ Manual Mode คือเลือกความไวชัตเตอร์เองจากตัวหมุนด้านบนกล้องไปเลย


DSCF9424.jpg

เทียนหลากสี

New Firmwares & New Lenses: The Turning Point

แต่ทุกอย่างก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ Fujifilm เริ่มทะยอยออก Firmware รุ่นแล้วรุ่นเล่าออกมาเรื่อยๆ เรื่อง Autofocus ซึ่งแทบจะถือว่าเป็นจุดบอดแรงที่สุดของ X-Pro1 ก็ถูกแก้จนค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ และแล้วในที่สุด วันที่ผมลง Firmware 3.0.x ให้กับมัน ผมก็มีความรู้สึกเหมือนกับ “ได้กล้องใหม่จริงๆ” และ “นี่แหละ คือสิ่งที่ X-Pro1 ควรเป็นตั้งแต่ต้น!

แน่นอนว่า เมื่อเทียบกับบรรดา Mirrorless ตัวอื่นๆ อย่าง Olympus OM-D, Panasonic G-Series, Nikon 1 อาจจะยังเรียกว่าสู้ไม่ได้ แต่มันก็ไม่ถึงกับต้อง “ทน” อีกต่อไป โฟกัสเข้าเป้ามากขึ้น ไว้ใจได้มากขึ้นในที่แสงน้อย ซึ่งเรียกว่าคุ้มเลยทีเดียว

แต่มันจะลำบาก+วุ่นวายนิดนึง ตรงที่เราต้องมาเข้าไล่อัพเดท Firmware ให้กับเลนส์แต่ละตัวที่เรามี ให้มันทำงานได้กับระบบ Autofocus ใหม่ที่ปรับปรุงขึ้นด้วยเนี่ยสิ


DSCF0719.jpg

เทียนเล่มเล็กๆ เมื่ออยู่รวมกัน ทุกอย่างก็สว่างไสวได้
สถานที่: วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม

และกล้องเปลี่ยนเลนส์ได้ มันจะสนุกอะไร ถ้าไม่ค่อยมีเลนส์ให้เปลี่ยน? ไม่เพียงแต่ Firmware ใหม่เท่านั้น Fujifilm ยังค่อยๆ ทะยอยออกเลนส์ตัวใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ หลายต่อหลายตัวด้วยกัน ทั้งแบบ Prime และแบบ Zoom ซึ่งผมก็ได้จัดเพิ่มมาอีก 2 ตัวก็คือ 18-55mm f/2.8-4 (เทียบเท่า 28-80mm) และ 55-200mm f/3.5-4.8 (เทียบเท่า 80-300mm) ซึ่งทำให้ผมใช้งานมันในระยะเทเลโฟโต้จริงๆ ได้เป็นครั้งแรก ทำให้สนุกขึ้นมากมาย

ตอนนี้ผมรู้สึกจริงๆ ว่าขาดเลนส์แบบ Ultra-Wide อีกตัวเดียว X-Pro1 ก็จะกลายเป็น “กล้องตัวหลัก” ที่ผมเอาไปใช้งานในการไปเที่ยวที่ต่างๆ แทน D800 ได้ทันที! (จริงๆ แล้วมี 14mm f/2.8 ซึ่งเทียบเท่า 21mm นะ แต่ยังไม่จัด เพราะว่ารอ 10-24mm f/4 ซึ่งเทียบเท่า 15-35mm ดีกว่า ตาม Roadmap แล้วออกปลายปี)

Firmware ใหม่ๆ มันทำให้ความรู้สึกที่มีต่อ “ตัวกล้อง” และเลนส์ใหม่ๆ ทำให้ความรู้สึกที่มีต่อ “ระบบ” มันเปลี่ยนไปขนาดนั้นแหละครับ


DSCF0412.jpg

เจดีย์ริมน้ำ วัดปรมัยยิกาวาส เกาะเกร็ด

แต่ข้อเสียหลายข้อก็ยังไม่ได้แก้นะ เช่นเรื่อง Auto ISO หรือเรื่องความคลาดเคลื่อนของ OVF Frame-line ซึ่งก็หวังว่าใน Firmware รุ่นต่อๆ ไปจะแก้เรื่องพวกนี้เรื่อยๆ


ข้อมูลเพิ่มเติม: The latest information on the FUJIFILM X-Mount Lens Roadmap


คุณภาพของภาพ

นอกจากเรื่อง Construction, Handling และ Performance แล้ว เรื่อง Image Quality ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาก ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ต้องบอกว่า “หายห่วง” เพราะว่าคุณภาพของภาพที่ได้จัดได้ว่า “ดีมาก” ทั้งการถ่ายทอดสีสันและความคมชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ISO สูงๆ นั้นทำได้ดีแบบไม่น่าเชื่อ ก็ต้องยอมรับกันเลยล่ะครับว่าตอนนี้ Fujifilm มีเทคโนโลยีสำหรับ Low-Light/High ISO ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในตลาด


DSCF0611.jpg

ISO 4000 ไม่มีการทำ Noise Reduction แต่อย่างใด

อันที่จริงแล้วเรื่อง Image Quality นี่มีปัจจัยง่ายๆ ไม่กี่ตัวครับ คือ เลนส์ + เซ็นเซอร์ + หน่วยประมวลผลภาพ/อัลกอริทึมในการประมวลผลภาพ ซึ่งตัวหลังสุดนี่จะมีผลมากเวลาที่ถ่ายรูปเป็น JPEG ซึ่งคือรูปที่ประมวลผลเรียบร้อยแล้ว ตัวกล้องคิดและทำให้เสร็จ แต่จะมีผลน้อยลงในกรณีที่เป็น RAW

ดังนั้นในรีวิวนี้คงจะเขียนถึงได้แค่ผลจากเซ็นเซอร์กับหน่วยประมวลผลภาพเท่านั้น ปัจจัยที่อาจเกิดจากเลนส์จะไม่พูดถึงนะครับ เพราะมันไม่แฟร์กับกล้องเท่าไหร่


บทความที่เกี่ยวข้อง: [03/21/2010] RAW vs JPEG



DSCF0091.jpg

เป็นกล้องที่ให้ Skin-tone ของ JPEG เป๊ะมาก แบบไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม

สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนไปสำหรับ Fujifilm คือ เป็นกล้องที่ให้ภาพ JPEG ที่ดีมาก จนเรียกได้ว่าแทบไม่ต้องถ่าย RAW มาทำไฟล์เองให้เมื่อยเท่าไหร่ ผมรู้สึกว่ามันดีกว่า Nikon ด้วยซ้ำไปสำหรับเรื่องนี้ (ยิ่ง LR ยังรองรับไฟล์จาก X-Trans ได้ไม่ดีเท่าไหร่นี่ยิ่งน่าถ่าย JPEG มากขึ้นเท่านั้น)

ความสนุกอย่างหนึ่งของการถ่าย JPEG ก็คือ การใช้ Creative Mode หรือ Color Mode ต่างๆ ในภาพ ซึ่งสำหรับ Fujifilm ก็เรียก Mode พวกนี้ว่า Film Simulation ว่าจะให้มันออกมาเหมือนกับฟิล์มรุ่นไหนของ Fujifilm เอง แทนที่จะเรียกว่า Standard, Vivid, Portrait/Neutral อะไรเหมือนชาวบ้าน ก็เรียกมันว่า Provia, Velvia, Astia อะไรพวกนี้ซะ แถมยังมีการเพิ่ม Mode พวกนี้เข้ามาใน Firmware รุ่นหลังๆ อีก (พักหลังๆ ผมใช้แต่ PRO Neg. Hi. นะ ชอบสีสันและ Contrast จาก Mode นี้มากที่สุดล่ะ)


DSCF0401.jpg

ผึ้งในดอกบัว

ความคมชัดและ Micro-contrast ต่างๆ จัดว่าทำได้ดี ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าการออกแบบเซ็นเซอร์แบบไม่ต้องมี AA filter เนี่ยแหละ ที่ให้มิติภาพมันดีขึ้น แต่เรื่องของข้อมูลสีก็ไม่ต่างอะไรจาก Bayer ปกตินะ ใช้ Interpolation จากข้อมูลแสงเหมือนเดิม

เอาเป็นว่าสำหรับเรื่องคุณภาพของภาพ ผมคิดว่าไม่มีอะไรน่าเป็นห่วงสำหรับ X-Pro1 และกล้องรุ่นอื่นๆ ของ Fujifilm ที่ใช้เซ็นเซอร์แบบเดียวกัน ใช้หน่วยประมวลผลแบบเดียวกัน รับรองว่าสีสันออกมาสวย โดยเฉพาะ JPEG ไม่ว่าจะโหมดไหนก็ตาม (เช่น Velvia จากกล้องนี้ สีจัด แต่สวยเป็นธรรมชาติกว่าโหมด Vivid จากกล้องตัวอื่นๆ เยอะ) และไฟล์ RAF RAW มีข้อมูลให้เล่นเหลือเฟือ การรองรับจาก Lightroom ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ด้วย


DSCF0218.jpg

นอนหล่อในบ้าน

เลนส์

ว่าจะไม่เขียนถึงเรื่องนี้แล้ว แต่ไม่เขียนสักหน่อยคงไม่ได้ เพราะว่าตอนนี้เลนส์สำหรับ Fujiflm X-Mount มันหลายหลายขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับตอนที่กล้องเปิดตัวใหม่ๆ ที่มีเลนส์ Prime เพียง 3 ตัวเท่านั้น ตอนนี้มีเลนส์ Prime หลายตัวมากขึ้น และ Zoom อีกเพียบ ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพก็แตกต่างกันไปตามจุดยืนในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Fujifilm มีการออกตัวกล้องรุ่นๆ ใหม่ ที่วางเป้าหมายให้เป็น Entry Level ที่ราคาค่อนข้างถูก และมาพร้อมกับเลนส์ราคามิตรภาพ (แน่นอนว่าคุณภาพน้อยกว่าเลนส์รุ่นแรกๆ ตามไปด้วย เพราะมันต้อง Compromise อะไรบางอย่าง)

ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากเลนส์ของ Fujifilm เอง ก็เริ่มจะมีเลนส์จากค่ายอื่นออกมาสำหรับ X-Mount แล้ว เป็นการสร้างทางเลือกเพิ่มขึ้น แม้ว่าตอนนี้คนทำ 3rd Party ชื่อดังอย่างพวก Sigma จะยังไม่มีการทำเลนส์สำหรับ X-Mount ออกมาก็ตาม แต่ก็มี Zeiss ที่ออกมา 2 รุ่น


DSCF9998.jpg

พระปฐมเจดีย์ .. เลนส์ไม่กว้างก็ต้องเล่นมุมกล้อง!

สุดท้ายที่น่าสนใจ ก็คือ M-Mount Adapter สำหรับใช้งานเลนส์สำหรับ Leica M-Mount ซึ่งเนื่องจากขนาดของ X-Pro1 นั้นไม่ต่างจาก Leica M มากเท่าไหร่ เลนส์พวกนี้ก็จะมีขนาดพอดิบพอดีพอเหมาะกับตัวกล้อง แต่เนื่องจากมันต้องโฟกัสเองเท่านั้น ดังนั้นก็ต้องใช้ระบบ Focus Aid ของ X-Pro1 ซึ่งหลังจาก Firmware ตัวล่าสุด ก็มีตัวช่วยเจ๋งๆ เพิ่มมากอย่าง Focus Peaking ซึ่งทำงานได้ดี (แต่ว่าทำไมมันเปลี่ยนสีของการแสดงผลไม่ได้ฟะ) … ว่าแล้ว เดี๋ยวผมลองเอา Leica 50mm f/1.4 Summilux ASPH มาลองใส่ดูบ้างดีกว่า (ฮ่าๆ ยังไม่ได้ซื้อ Adapter เลย ลอง Peaking แต่กับเลนส์ของมันเอง)

สรุป

โอย … เป็นบทความรีวิวที่ยาวที่สุดที่เขียนมา .. แฮ่กๆ เหนื่อย


DSCF8340.jpg

ม่านไม้

ผมขอสรุปสั้นๆ กับ Fujifilm X-Pro1 เวอร์ชั่น Firmware 3.0 ละกันนะครับ ไม่ใช่เวอร์ชั่น Firmware 1.x หรือ 2.x ว่านี่เป็นกล้อง Mirrorless ที่ดีมาก สำหรับคนที่ชอบ Rangefinder Style (ถึงตัวมันเองจะไม่ใช่ Rangefinder ก็ตาม) คนที่ชอบถ่าย JPEG และอยากได้รูปสวยๆ จากกล้องโดยไม่ต้องแต่งมาก สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนเลนส์ มีตัวเลือกของเลนส์มากพอแต่ไม่มากเกินไป สำหรับคนที่อยากได้กล้องเปลี่ยนเลนส์ได้เซ็นเซอร์ใหญ่ที่ไม่ใช่ DSLR และไม่ชอบการออกแบบหรือตัวเลือกเลนส์ของ Sony NEX

แต่ข้อเสียของมันก็ยังมีเยอะแยะครับ คือ แม้ว่า Autofocus มันจะดีขึ้นเยอะ แต่มันก็แค่ “ดีขึ้นเยอะ” ยังด้อยพอควรเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ จนเรียกว่าอาจจะทำให้หงุดหงิดได้ถ้าใช้ตัวอื่นมาก่อน (แค่อาจจะหงุดหงิดน้อยกว่าเดิม) เรียกว่า “ความอาร์ท” ในเรื่องโฟกัสกับความเอาแน่เอานอนไม่ค่อยได้ก็ยังมีอยู่ รวมถึงข้อเสียจิปาถะที่พูดถึงไว้แล้ว


DSCF8731.jpg

งานศิลปะ

ถ้าจะถามว่า “คุ้มมั้ย” … อืมมม ตอบยากมาก เพราะว่าตอนนี้สำหรับระบบนี้ก็มีตัวเลือกอื่นออกมาเยอะนะ ไม่ว่าจะเป็น X-E1, X-M1 ไม่พอยังจะมี X-A1 อีก ก็ต้องดูกันว่าอยากได้ Viewfinder แบบไหน ประสิทธิภาพการทำงานแบบไหน แล้วคู่แข่งในระบบอื่นๆ ก็ดีขึ้นเยอะแยะเช่นเดียวกัน (แต่ถ้าชอบ Style นี้ ก็มีตัวนี้แหละ ฮ่าๆ)

ทริปต่อไป ผมจะลองใช้มันเป็น “กล้องหลัก” เพียงตัวเดียวอีกครั้ง หลังจากที่มันดีขึ้นขนาดนี้ และมีเลนส์เพิ่มขึ้นขนาดนี้ (แต่แน่นอนว่า ผมยังไม่มี Ultra-Wide) แล้วดูซิว่าจะเป็นยังไง แล้วจะรายงานให้ทราบอีกทีครับ