“Generation Click”

กลับบ้านคราวที่แล้ว นั่งคุยกับพ่อเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ เรื่องผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ทั้งเป็นผู้ใช้แบบ user จริงๆ และนักคอมพิวเตอร์ นักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโปรแกรมเมอร์ generation ใหม่ ที่พ่อผมเรียกว่า Generation Click

คุณพ่อบอกว่า “พวก Generation Click เนี่ย ไม่เจอ icon ไม่เจอเมนู ให้ click ได้ แล้วทำอะไรไม่เป็นเลย” แล้วอีกไม่นาน ก็ต่อด้วย “แบบนี้เขียนโปรแกรมใช้งานเองลำบากแย่เลย เพราะเขียนโปรแกรมจริงๆ ก็แค่เอาคำสั่งพวกนั้นมาต่อๆ กัน ไม่ใช่เหรอ?”

อืมมมมมม เห็นด้วยแฮะ

ก่อนจะพูดต่อไป ขอพูดถึงตัวเองหน่อย ….. ผมอาจจะโชคดีพอ ที่เกิดมาทันสมัย DOS (เครื่องแรกในชีวิต ที่ตั้งที่บ้าน ใช้งาน DOS 5.0 — ไม่มีเมาส์ด้วยซ้ำไป) ทำให้การทำงานกับ command line เป็นอะไรที่เป็นเรื่องปกติ รู้สึก at home กับมันมาก อยากจะให้มันทำอะไร ก็สั่งมันตรงๆ เป็นคำสั่งๆ ไป และแต่ละคำสั่งก็จะมี option อะไรก็ว่าไป ไม่พอ กว่าจะเล่นเกมได้แต่ละเกมๆ ก็ต้องแก้ config.sys, autoexec.bat กันวุ่นวาย ถึงขนาดต้องเขียน batch file เอาไว้เปลี่ยนสองไฟล์นี้เอง ด้วยความรำคาญ

พอชีวิตเริ่มเจอ GUI มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Windows 3.x, Windows 95 ก็ได้ทุนไปเรียนญี่ปุ่น ก็พอเดินเข้าห้องคอมพิวเตอร์วันแรก ก็เจอ SGI IRIX เจอ GUI แบบไม่เคยเจอมาก่อน และต้องทำงานกับ Shell บน terminal emulator (ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าจะเป็น tcsh) ทำทุกอย่างบนนั้นหมด เหมือนกับเปลี่ยนโลกไปเยอะ จากนั้นเพื่อนๆ สนิทๆ กัน (Peter Suranyi, Janos Gyerik) ก็ยุให้เล่น Linux ก็เลยหามาลง ซึ่งก็กว่าจะหาทางทำให้ X-Windows มันทำงานได้ กว่าจะฯลฯ ได้ ก็แทบแย่

ประเด็นคือ การอยู่กับ terminal หรือ command prompt ทุกชนิดของผม ทำให้ผมมองการใช้งานคอมพิวเตอร์ เป็น “บทสนทนา” ระหว่างผมเอง กับคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าผมจะใช้โปรแกรมอะไรก็ตามที่สามารถใช้งานในลักษณะ terminal ได้ จะเป็น MySQL, Octave, R หรือว่าโปรแกรมที่เป็น command line-based เช่น imagemagick ที่เอามาประกอบกับ shell scripting ได้ หรือว่า interactive programming environment ต่างๆ เช่น IRB, Python, Scheme, Haskell

กลับมาถึงบทสนทนาระหว่างผมกับคุณพ่อ

คุณพ่อผม เป็นนักปรับปรุงพันธ์พืช ที่ใช้ dBase 3 Plus ในการเก็บข้อมูล มานานมาก และเขียนโปรแกรมใช้งานเอง เริ่มจากใช้งานฐานข้อมูลนั้นๆ ทีละคำสั่งๆ แล้วก็เอาคำสั่งพวกนั้นมาต่อๆ กันเป็น routine/sub-routine และก็เริ่มซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบัน เป็นโปรแกรมที่มีความซับซ้อนมาก และทำงานได้ดี ช่วยงานได้เยอะมาก

สิ่งที่ท่านพบก็คือ นักปรับปรุงพันธ์รุ่นใหม่ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงานมากขึ้น ไม่ว่าจะในการวิเคราะห์ทางสถิติ หรือว่าการวิเคราะห์อื่นๆ กลับไม่ค่อยจะสามารถพัฒนากระบวนการคิดนั้นๆ ได้ และไม่สามารถที่จะมองความเชื่อมโยงระหว่าง process ระหว่างโปรแกรมได้เท่าไหร่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเขียนโปรแกรมเลย ยิ่งกว่านั้น ในการทำงานทุกอย่าง จะมองหาแต่ icon ของคำสั่ง กระบวนการทำงานโดยทั่วไปคือ select & click และมองไม่ออกว่า จริงๆ สิ่งที่ทำๆ อยู่เนี่ยแหละ คือ “การสนทนา” ที่หากว่าบันทึกไว้ มันก็คือการเขียนโปรแกรมน่ะแหละ แต่พวกนี้กลับรักที่จะทำทุกอย่างแบบ manual แทน (เพราะว่าตัวเองได้เป็นคน click icon คำสั่งกระมัง)

มันเลยกลับมาถึงเรื่องที่ผมบ่นๆ ไว้บ่อยๆ เรื่องนักศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องเรียนเขียนโปรแกรม ซึ่งพบว่า มีปัญหากับกระบวนการคิดค่อนข้างเยอะ และไม่สามารถคิดอะไรในลักษณะ “เอาคำสั่ง มาต่อกัน” หรือ chain ของ Input-Process-Output ได้เลย

ผมลองตั้งโจทย์คร่าวๆ ว่า “มีไฟล์อยู่หนึี่งไฟล์ ข้างในไฟล์มีคำอยู่เยอะ ซ้ำๆ กัน ผมอยากรู้ว่ามีคำไม่ซ้ำกันทั้งหมดกี่คำ?” (ทั้งนี้ คำทุกคำ เป็นตัวเล็กหมด และไม่มีอักขระแปลกๆ ตัวอย่างเนื้อความในไฟล์คือ this is a cat this is a bat this is a map this is a phone)

เชื่อหรือไม่ว่า ไม่มีนักศึกษาสามารถคิด logic ของโจทย์นี้ได้แบบเป็นขั้นเป็นตอน ชัดเจน ได้แม้แต่คนเดียว ใน class ที่ผมสอน! ทั้งๆ ที่ logic มันง่ายแสนจะง่าย ก็แค่

  • เปิดไฟล์ เอาเนื้อความ
  • เอาเนื้อความในไฟล์มา แยกเป็นคำๆ
  • เอาคำที่ได้ มากรองเอาคำซ้ำออก
  • นับคำที่เหลือ

จะเห็นว่า มันก็เป็น chain ของ I-P-O อยู่ชัดเจนนะ คือ สมมติว่ามันเป็นฟังคชัน f, g, h, i ตามลำดับ ก็จะได้ว่าคำตอบของมันก็คือ i(h(g(f(x)))) … เขียนให้มันง่ายๆ กว่านี้หน่อย สมมติว่าเป็นฟังคชันชื่อ readfile, splitwords, unique_element, count ตามลำดับ ก็เป็น count(unique_element(splitwords(readfile(“filename”)))) ใช่มั้่ย จากนั้นก็แค่เอาไปดูว่า แต่ละภาษาหรือ environment เนี่ย เอามาทำแบบนี้ยังไงดี มีฟังค์ชันมั้ย ต้องเขียนเองมั้ย ถ้าจะเขียนเองจะต้องเขียนยังไง ก็แค่คิด I-P-O แบบเดิม ลงไปให้ลึกขึ้น เท่านั้น

ถ้าเขียนใน bash shell ก็คงเป็น

cat filename.txt | tr " " "\n" | sort -u | wc -w

ถ้าเป็น ruby ก็เป็น

File.read("filename.txt").split(" ").uniq.count

ถ้าเป็น haskell ก็เป็น

content <- readFile "filename.txt"
length (List.nub (words content))

ซึ่งจะซับซ้อนกว่าตัวอื่นๆ นิดหน่อย เพราะว่ามีเรื่อง IO String กับ String มาเกี่ยวข้อง (purely functional ก็แบบนี้แหละ)

แถม ... เป็น C++ ก็ยาวหน่อย (ไม่รวมพวกการ include library มาใช้นะ)

int main()
{
  ifstream fin("filename.txt");
  set<string> words;
  copy(istream_iterator<string>(fin), istream_iterator<string>(),
       inserter(words, words.begin()));
  cout << words.size() << endl;
  return 0;
}

จะเห็นว่า logic มันไม่ได้เปลี่ยนเลยสักกะนิด เพียงแต่ว่าอาจจะ verbose บ้าง รูปแบบต่างกันบ้าง คำสั่งต่างกันบ้าง

วันนั้นข้อสรุปของบทสนทนาระหว่างผมกับพ่อก็คือ Generation Click พบความลำบากมากกว่า ในการคิดสื่อสารกับคอมพิวเตอร์เป็นขั้นตอน ด้วย text ด้วยคำสั่งต่างๆ ดังนั้นอาจจะช่วยได้ หากทุกคำสั่งมันมี icon หมด และลากมาวางต่อๆ กันได้ เหมือนกับ automator.app ใน Mac OS X หรือบรรดา visual programming ทั้งหลาย

สมัยผมสอน OOP ผมเคยให้ นักศึกษาเล่นกับ Alice ซึ่งก็เป็น visual programming พอสมควร ก็พบว่าได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ว่าพอถึงเวลาต้องไปเขียน code ซึ่งเป็น text ก็ยังพบปัญหาเดิมๆ อยู่ เทอมนี้ก็เลยขอหักดิบ ให้ใช้งาน shell มันซะเลย เผื่ออะไรๆ จะดีขึ้นมาบ้าง

ลงท้ายด้วยการเผา advisee หน่อยละกัน ... เจอพวกที่แทนที่จะคิด logic ของระบบงาน กลับคิดแต่ว่าจะต้องใช้โปรแกรมอะไร ต้องเริ่ม click ที่ปุ่มไหน แล้วจะ click ปุ่มไหนต่อ งานถึงจะเสร็จ ....​ ฮา (ไม่ออก)