iOS หรือ Android?

เร็วๆ นี้ผมไปบรรยายเรื่อง Mobile Application Development ให้กับแลบ MSCIM ซึ่งก็มีคำถามน่าสนใจ ว่าจะทำบน iOS หรือ Android ดี

ส่วนหนึ่งก็มาจากความเห็นส่วนตัวของผมเอง ว่าอย่าไปสนใจข้อมูลเชิงการตลาด หรือสถิติทั้งหลาย ว่าใครขายดีกว่ากัน แพลตฟอร์มไหนโตเร็วกว่ากัน มากมายนัก อย่าไปสนใจ commom sense เบื้องต้นจะบอกให้เราพัฒนาโปรแกรมสำหรับแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากกว่า แต่ให้คิดพัฒนาบนแพลตฟอร์มที่เราเป็นผู้ใช้ซะเอง นั่นคือ ถ้าเรายังไม่มี ก็เริ่มต้นด้วยการให้เรามีก่อน หรือว่าหาทางทำให้ตัวเองเป็น user ก่อน

มันก็เลยมีคำถามน่าสนใจตามมาว่า “งั้นจะซื้อ iOS หรือ Android แพลตฟอร์มดี?” เพื่อให้ตัวเองได้เริ่มต้นเป็น “ผู้ใช้” และ “เพื่อทำความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนา app ต่อ” ได้

ผมมีข้อคิดแบบนี้ก็แล้วกัน

  • เขียน app ลง iOS จริงๆ มันต้องทำบน Mac ด้วย ดังนั้นถ้าไม่มี Mac หรือไม่ได้วางแผนจะซื้อ Mac ภาษีสำหรับการคิดจะซื้อ iOS แพลตฟอร์มมาเพื่อพัฒนาโปรแกรม ก็ลดน้อยลงไปด้วย (แต่ใช้ VMWare ก็ได้นะ แต่ผมเองก็ไม่เคยใช้ Xcode บน OS X บน VMWare สำหรับการพัฒนาลงเครื่องเหมือนกัน)
  • เช่นเดียวกัน (แต่ตรงกันข้าม) เท่าที่ผมทราบนะ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับพัฒนา Android บน Mac มันค่อนข้างจะสู้แพลตฟอร์มอื่น (เช่น Windows) ไม่ได้นะ
  • จะเอา app ลงเครื่องจริง สำหรับ iOS ต้องเสียตังค์ $99 ให้กับ Apple นะ นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีคอร์สสอน iOS Development และ register กับ Apple (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ก็จะให้ น.ศ. เอา app ลงเครื่องได้ แต่ขายไม่ได้ ถ้าจะขาย ก็ต้องเสียเงินเอง
  • ผมไม่มีข้อมูลเรื่องนี้สำหรับ Android
  • iOS vs Android ถ้ามองในมุมมองนักพัฒนาแล้ว มันมีข้อดีข้อเสียต่างกันนะ ในแง่ของ Hardware Diversity แล้ว iOS เหนือกว่าเยอะ เพราะว่ามันแทบไม่มี diversity … ซึ่งสำหรับนักพัฒนาที่ต้องเขียนโปรแกรม support อะไรต่ออะไรแล้ว diversity เยอะเป็นเรื่องไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ แค่ iPhone 3Gs กับ iPhone 4 ที่มีความละเอียดหน้าจอต่างกัน ต้องเตรียมภาพ 2 resolution ไหนละจะ iPad อีก แค่นี้ก็รำคาญแย่แล้ว
  • แต่สุดท้าย มันต้องเริ่มด้วยการเป็น “ผู้ใช้” ก่อน แล้วจะเริ่มจากการใช้อะไรดี?
  • ข้อแนะนำง่ายๆ คือ หน้าด้านไปยืนเล่นเรื่อยๆ ว่าชอบอะไรมากกว่ากัน ต่อให้มันดีแค่ไหน ถ้าใช้แล้วไม่ชอบ มันก็แค่นั้นแหละ ความชอบมันวัดแทนกันไม่ได้เสียด้วยสิ ไปยืนเล่นเลย ถ้าร้านเริ่มมองหน้า ก็เปลี่ยนร้าน
  • ลองใช้โปรแกรมพื้นฐานทั้งหลายทั้งแหล่ โทรเข้าโทรออกทำไง ดูปฏิทินทำไง เล่นเน็ตทำไง download โปรแกรมเพิ่มทำไง พอใจความเร็วมั้ย ฯลฯ เอาแค่นี้แหละ ลองสัก 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะรู้แล้ว ว่าชอบอะไร
  • อย่าลืมเรื่อง form factor ด้วยนะ เอาให้เหมาะมือ เอาให้ถือสบาย เพราะว่ายังไงเราก็ต้อง “ถือ” มันเวลาใช้งาน หยิบขึ้นมา ถือไว้นิ่งๆ สัก 5 นาทีเป็นอย่างน้อย ถ้ารำคาญ ก็ไม่ต้องเอา จากนั้นลองเอานิ้วโป้งลูบให้ทั่วหน้าจอ ถ้ามีส่วนไหนลูบไม่ถึง หรือว่าฝืนมือ ก็ไม่ต้องเอา เพราะว่านี่คือการใช้งานพื้นฐาน ว่างั้น
  • อย่าลืมคิดถึงเรื่องคุณภาพของ app ไว้ด้วยนะ จิตใต้สำนึกของผมมันบอกว่า iOS app บน AppStore จะมีคุณภาพ “โดยเฉลี่ย” และมีความ consistency ในเรื่องการใช้งานมากกว่า Android app บน Market ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความเปิด” ของการให้นำ app ขึ้น store ดังนั้นมองจากมุมของ “คนที่ต้องเรียนรู้ลักษณะของ app” (ย้ำนะ จากมุมนี้เท่านั้น ไม่ใช่จากมุมมองของ consumer ทั่วไป) แล้ว iOS มีภาษีดีกว่ามาก
  • อย่ารอรุ่นใหม่มากนัก เพราะว่าต้องรอต่อไปเรื่อยๆ เล่นก่อนก็ได้เรียนรู้ก่อน

ประมาณนี้แหละ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

ป.ล. บรรยายโคตรสนุก สนุกมากๆ

Update 1: ที่สำคัญนะครับ อย่ามัวแต่เถียงกัน หรือก่อสงครามว่าอะไรดีกว่ากัน มือถือที่ดีที่สุด คือมือถือที่เราชอบที่สุด ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อย่าเอา spec มาเถียงกัน อย่าฉะกันว่าไอ้นั่นไม่มีนี่ ไอ้นี่ไม่มีนั่น ตัวเองคิดว่าอะไรดี ก็ไม่ต้องไปบอกให้คนที่ไม่เห็นด้วยเขาเห็นด้วย ถึงจะเถียงชนะ คุณก็ไม่ได้เงินหรือว่าเครดิตอะไรจากทั้ง Apple ทั้ง Google อยู่ดี ทำประโยชน์อะไรให้ชาวโลกก็ไม่ได้ เสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาทำแบบนั้น ไปนั่งหัดเล่น หัดเขียน app ดีกว่า อาจจะได้เงินใช้บ้าง ได้ทำประโยชน์จริงๆ ให้คนที่อยากใช้ app เราบ้าง