ครู

หากจะมีอาชีพไหนที่ทำให้ผมเป็นผมในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา คงไม่พ้น “ครู”

ตั้งแต่เด็ก ผมจำความรู้สึกที่ว่า “ครู” เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ในสมัยเรียนอนุบาล เป็นเหมือนพี่สาวที่น่ารัก ในสมัยเรียนประถม เป็น “คนแปลกหน้า” คนแรกๆ ที่รู้จักอย่างจริงจังในชีวิต และต้องใช้เวลาอยู่ด้วยวันหนึ่งๆ หลายชั่วโมง เพราะครูเหล่านี้เป็นครูประจำชั้น

ในวันเวลาเหล่านั้น ไม่มีคำว่ากวดวิชา ไม่มีสอบแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมจำไม่ได้ว่าได้เรียนวิชาการอะไรบ้างกับครูเหล่านั้น แต่ผมจำได้ว่า

  • ครูสดศรี คุณแม่คนที่สอง นั่งคุยเล่นด้วย เวลาที่ผมไม่ยอมนอนกลางวันในชั้นอนุบาล ตอนที่คนอื่นหลับกันหมด (ด้วยความที่ตัวเองเป็นคน hyper พอสมควร นอนยาก … จนถึงทุกวันนี้) คอยเรียกเวลาที่คุณแม่มารับกลับบ้าน ในตอนที่ผมกำลังเล่นกับเพื่อนๆ อยู่ เข้าใจเราเวลาที่เราทำอะไรแปลกประหลาดกว่าเพื่อนๆ
  • ครูสุกานดา บางทีก็เรียกครูหมวย เจ๊หมวย พี่สาวคนสวย ชอบมานั่งคุยกับแม่ที่บ้านบ่อยๆ มีอะไรก็เอามาฝากที่บ้านประจำ เป็นคนที่ปกป้องผมเสมอเวลาที่ผม “พูดเร็ว” และเป็นคนที่ให้ผม “present” บนเวทีครั้งแรกในชีวิต (เล่านิทานบนเวที คนฟังเยอะแยะ ในงานอะไรสักอย่าง) … ถ้าพี่หมวยไม่จับไปเล่านิทานวันนั้น อาจไม่มี Petdo Talkshow, Ignite Thailand และการพูดสาธารณะนับครั้งไม่ถ้วนของผมในทุกวันนี้ก็ได้ (เออ ถึงแกจะชื่อเล่นชื่อหมวย แต่ว่าตาโต ผมน้ำตาล ยังกะลูกครึ่งฝรั่ง)
  • ครูกอบลาภ บางครั้งก็เรียกแกป้ากอบ ครูผู้ดูแลคณะสนามจันทร์ที่วชิราวุธ 4 ปีที่อยู่หอนั้น มีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย สิ่งที่จำครูกอบได้ ไม่ใช่ว่าแกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ หรือว่าเป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษ แต่ว่าจำแกได้ที่แกจับไปยืนทำโทษที่ระเบียงเพราะไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ชื่อเล่นปัจจุบัน (เดฟ) ก็ครูกอบเนี่ยแหละเป็นคนเริ่มเรียก (จากความเข้าใจผิด) ยังจำได้กับที่แกบอกว่า “หัดทำอะไรนอกหนังสือบ้างก็ดีนะ” ตอนที่สอบภาษาอังกฤษ
  • ครูกิตติพันธุ์ หรือครูหม่อม เพราะว่าแกเป็นหม่อมหลวง ….. ตอนที่เรียนกับแก คิดว่าครูอะไรวะ ดุฉิบหาย ใครพูดมากเกินไป แกเอาผงบรเพ็ดดีดใส่ลิ้นหมด แต่ว่าผมโดนผงบรเพ็ดเพราะว่า “พูดน้อยไป” น่ะ มีแบบนี้ซะอีก
  • ครูโฉมศรี … ป้าโฉมจอมโหด เคยต้องยืนเรียนหน้าชั้นทั้งเทอม เพราะว่าเขาเรียนวิชาแกสายไปห้านาที แกบอกว่า “ถ้าอยากมาสาย ก็ยืนเรียนหน้าห้องละกัน” ถือหนังสือเรียน 7 เล่มยืนเรียนหน้าชั้น (ห้ามวางบนพื้นด้วย ต้องถือไว้) เป็นชั่วโมงๆ ตั้งเป็นเทอม

ช่วงสั้นๆ ที่ไปเรียนอเมริกา ก็จำได้ว่า

  • Mrs. Leonard ที่ Francis C. Hammond Jr. High School คนที่สอน Algebra ตอนนั้น เชื่อมั้ยว่า ทุกวันนี้ถึงผมจะจบ Applied Math (Informatics) ผมก็ยังใช้ตัวอย่างการสอนเรื่อง “สมการ” ของแก เล่าให้เด็กทุกรุ่นทุกกลุ่มทุกชั้นปีที่ผมได้สอน อยู่เลย ยังจำได้เลยที่แกบอกว่า “ถึงจะคำนวนได้ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เอาไปใช้อะไร มันไม่เคยมีประโยชน์”
  • Mrs. Smith ที่พาไปเรียนประวัติศาสตร์ Civil War ที่สนามรบ Manesses … บอกตรงๆ ว่าไม่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์สนุกขนาดวันนั้นมาก่อน ปกติเรียนที่เมืองไทยเคยแต่ต้องจินตนาการเอาเองว่าไอ้โน่นไอ้นี่มันเป็นยังไง ไม่เคยเรียนแบบ on-site แบบตอนนั้นเลย สนุกมาก
  • Mr. Kent ที่สอนวิทยาศาสตร์ ด้วยการให้เล่น ให้เล่า และคิดโน่นคิดนี่อย่างสนุกสนาน จำได้ว่าเคยถาม-ตอบกับแกไฟแลบในห้องเรียน สนุกมาก สนุกมากๆ และเพื่อนชอบกัน เป็นคลาสวิทยาศาสตร์ที่สนุกที่สุดในชีวิต

น่าแปลก ว่าในช่วงหลังจากผมกลับมาจากอเมริกา แล้วมาเรียนเมืองไทย ที่สาธิตวิทยาลัยครูเทพสตรี (ในขณะนั้น) ผมกลับจำใครไม่ได้เลย มันเป็นความทรงจำที่เลือนลางมาก มากกว่าครูสองคนสมัยเรียนอนุบาลกับประถมเสียอีก (มีความทรงจำในด้านลบกับอะไรหลายๆ อย่างบ้าง ที่ยังคงชัดเจนอยู่ ขอไม่นึกถึงมันดีกว่า)

ตอนที่ไปเรียนกวดวิชาตามที่โน่นที่นี่ ผมนึกออกอยู่ 2 คน

  • อ.ธวัชชัย ชัยสวัสดิ์ แกเป็นคนที่สอน Physics ได้แปลกที่สุดในบรรดาพวกกวดวิชาด้วยกัน คือไม่สอนทำโจทย์ ไม่สอนสูตร ไม่เอาเรื่อง Ent’ มาเป็นตัวตั้งเท่าไหร่ ถ้าจะไปเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว จะงงว่าแกสอนอะไรของแก ไม่รู้เรื่อง สอนไม่ดี และด่าชาวบ้าน (กวดวิชาอื่นๆ) ที่สอนสูตรลัด หรือสอนความเข้าใจที่ผิดเป็นประจำ … แต่ว่าแกนี่แหละ เป็นต้นแบบของการสอนของผมทุกวันนี้ สอนไม่เน้นเอาไปสอบ แต่สอนเอาพื้นเอาฐานให้เข้าใจ ใช้งานได้ … ที่ไปเรียนเน้นด้าน Computational Physics ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากแกนี่แหละ
  • พี่เจี๋ย JIA …. ผมไม่รู้ว่าไปสนิทกับแกได้ยังไงว่ะ แต่แกเรียกผมว่า “หนุ่มหน้าไทย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าบรรดาเพื่อนๆ ที่สนิทกันตอนไปเรียน JIA นี่ตี๋ หมวย ทั้งนั้น สิ่งที่ผมได้จากพี่เจี๋ย ไม่ใช่เคล็ดวิชาการทำโจทย์สารพัดเหมือนที่หลายๆ คนได้นะ แต่เป็นบทเรียนสำคัญมากที่วันหนึ่งแกพูดขึ้นมาในคลาส คือ เรื่องการเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบการ สมการเส้นตรง ที่เริ่มต้นด้วยจุดตัดแกน Y และมีความชันคงที่ ก็เหมือนลูกจ้าง และผู้ประกอบการที่เป็น parabola ที่เริ่มต้นจาก 0 และต้อง “ดิ่งลง” ก่อน นั่นคือ จุดยอดของกราฟที่อยู่ต่ำกว่าแกน Y คือมีพิกัดเป็น (+, -) ในกรณีที่ X เป็นเวลา และ Y เป็นเงิน … ผมยังคงเห็นภาพนั้น ตอนที่พี่แกสอนเรื่องนี้ อยู่ติดตาถึงทุกวันนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอง … ส่วนเรื่องอื่นๆ เทคนิคทั้งหลายที่พี่สอนน่ะเหรอ ขอโทษนะพี่ ผมจำไม่ได้ว่ะ และนึกไม่ออกด้วยว่าได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า แต่นี่แหละ ที่ได้ใช้จริง และสำคัญมาก

    อ่อ พี่เจี๋ยไปส่งขึ้นเครื่องตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก (หลังจากได้ทุน) ด้วยนะ

ส่วนตอนที่เรียนญี่ปุ่น ก็คงมีแค่สองคนน่ะแหละ

  • Dong-Sheng Cai รู้จักกับแกตั้งแต่ตอนปีหนึ่ง แกสอน lecture หนึ่งในวิชา Information Literarcy วันนึงบังเอิญเจอกับแกบนรถบัสกลับจาก Tokyo ไป Tsukuba แกถามว่า “เขียนโปรแกรมเก่งหรือเปล่า” ไอ้เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง (แกคงเห็นเราซื้อหนังสือ Programming เยอะ) ก็เลยแนะนำให้ไปสัมภาษณ์งานเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ช่วยวิจัยที่ RWCP … ถ้าไม่มีแกก็ไม่มีวันนี้เหมือนกัน (ยังจำการบ้านแกได้เลย ให้หา “ตอนสุดท้ายของโดราเอมอน” แล้วมา debate กันเรื่องความเชื่อถือได้ของข้อมูลบนเน็ต สนุกดี) … ไม่พอ แกเป็นคนที่ผม “เลียนแบบพฤติกรรม” มากที่สุดในเวลาถามนักศึกษาใน seminar หรือว่าเวลาที่ น.ศ. present งานต่างๆ .. เรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบมาเลย

    ไม่พอ แกยังเป็นคนที่พูดประโยคที่ผมบอก น.ศ. ต่อตลอดเวลาว่า “คิดว่าอ่านหนังสือจนทำได้เหมือนหนังสือ หรือว่าท่องได้เหมือนหนังสือ แล้วคิดว่าเข้าใจงั้นเหรอ เข้าใจผิดแล้ว ต้องลงมือทำตามนั้น และต่างจากนั้น เล่นกับมันให้ได้ก่อน ถึงจะเรียกได้ว่าเริ่มจะเข้าใจ” และ “ถ้าแค่อาจารย์คนเดียว ยังไม่มีปัญญาเถียงหรือเอาชนะเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง วันหนึ่งจะไปเถียงกับคนทั้งโลกได้ยังไง” และสำคัญที่สุด ที่แกสอนด้วยการกระทำตลอดเวลา “เรื่องที่ไม่รู้เรื่อง รู้จักแค่ผิวเผิน รู้จักแค่ชื่อ อย่าทำตัวเหมือนรู้ อย่าพูดให้หลุดออกจากปาก ทุกคำที่พูด ทุกคำบนสไลด์ ต้องอธิบายได้หมด”

  • James Bradford Cole ไม่พูดถึงคนนี้คงไม่ได้ lecture แกในวิชา Chaos and Complex System Theory เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมที่สุด เรื่องวิชาความรู้น่ะเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเรื่องความสนใจในวิชาการลึกๆ นี่มาจากแกนี่แหละ เป็นคนที่ใช้เวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่นด้วยเยอะที่สุด แทบจะทุกเช้า ทุกเย็น เป็นคนที่สอนให้ผมเข้าใจ (จากการกระทำ) ว่า “การเป็นผู้ไม่รู้” มันเป็นยังไง เพราะว่าเจมส์เป็นคนที่ “ไม่รู้” ตลอดเวลา และต้องการความช่วยเหลือจากเราในเรื่องที่แกไม่รู้ พอๆ กับคนอื่นอีกหลายคน (เนื่องจากแกเป็นนักฟิสิกส์ และเขียนโปรแกรมไม่เก่งมากนัก) และยินดีที่จะมีคนช่วยแก ไม่ใช่คนที่ “รู้ทุกเรื่อง แตะต้องไม่ได้”

    เจมส์เป็น “เพื่อนคุยและเพื่อนคิด” ที่ดีที่สุดของผมคนหนึ่ง (นอกจาก Peter และ Hirokawa) ในช่วงเวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่น

ความทรงจำเหล่านี้ มันไม่ใช่ความทรงจำเรื่องวิชาการ หรือวิชาความรู้อะไรเลย ตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่ทำให้ “ผมเป็นผม” ได้ถึงวันนี้ พวกคนที่สอนวิชาการ เน้นวิชาการ เอาไปสอบ เอาไป ฯลฯ น่ะเหรอ แปลกแฮะ ผมจำไม่ได้อ่ะ อาจเป็นเพราะว่าผมมีครูที่สอนให้ผมมีพฤติกรรมการศึกษาและหาประสบการณ์ที่ดี สอนให้ผมเป็นผม คนที่ศึกษาวิชาการต่างๆ และหาประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เอาเองได้ดีกว่ามีคนสอนเป็นไหนๆ ก็ได้มั้ง

น่าเสียดาย น่าเสียดาย น่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาบ้านเรามันพังพินาศ เราคิดแต่ว่าเด็กต้องรู้วิชาการ วิชาการ วิชาการ แข่งขันกันด้วยการสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย คนคิดวิชาการทั้งหลายพยายามยัดเยียดความรู้ต่างๆ ให้เด็กตั้งแต่เด็กเกินไป พ่อแม่เห็นลูกเป็นถ้วยรางวัลมากขึ้น กวดวิชาเน้นผลลัพธ์ทางการสอบมีมากขึ้นและมากขึ้น

คำว่า “ครู” หายไป กลายเป็น “อาจารย์” … เป็นผู้รู้ (โดยตำแหน่งอาชีพ) ที่เถียงไม่ได้ ต้องเคารพเชื่อฟัง (เพียงเพราะตำแหน่งอาชีพ) มากขึ้น สอนแต่วิชาการ เอาแต่ความรู้ทางวิชาการ ถึงอาจารย์หลายคนจะเรียกตัวเองจนติดปากว่า “ครู” ก็เถอะ ด้วยความเคารพ ผมคิดเช่นนั้นไม่ได้เลย

“ครู” ที่เป็นแม่คนที่สอง เป็นพี่สาวแสนน่ารัก เป็นเพื่อนคุยเพื่อนคิด เป็นคนสอนและบ่มปรัชญาชีวิต …. กำลังเป็นสิ่งที่จางหายไปจากสังคม เลือนหายไปจากระบบการศึกษา และกำลังจะเป็นแค่ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ผ่านไป