ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่องทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น
- ปัญหา ความเคยชิน “ก๊อปโค้ดมาแก้” (17/01/2009)
- ปัญหา ความเคยชิน “ก๊อปโค้ดมาแก้ #2” (02/02/2009)
วันนี้ กว่า 2 ปีผ่านไปจาก entry เหล่านั้น คงจะได้เวลาที่ผมจะกลับมาเขียนถึงมันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยวัยที่อาจจะเปลี่ยนไป ด้วยมุมอะไรบางอย่างที่อาจจะมองได้กว้างขึ้นหรืออาจจะแคบลง ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองได้บ่นเรื่องพวกนี้ไว้เป็นระยะๆ ใน Twitter ที่สุดท้ายก็ไม่ได้กลายเป็นบทความอะไรที่ยั่งยืนหรือว่าอ้างอิงได้ในภายหลัง ถึงจะมีคนรวบรวมเอาไว้เป็นระยะๆ ก็ตาม
ณ วันนี้ ผมกำลังจะลาออกจากงานบริหาร กลับมาเขียนโค้ดเต็มตัวอีกครั้ง และทุกวันนี้ ผมพยายามสอนโค้ดมากขึ้น จากการที่ไปสอน iOS SDK Development ตามที่ต่างๆ มากมาย ผมพบความจริงที่น่าเศร้าใจมากขึ้น และเป็นการย้ำหัวตะปูกับเรื่องเดิมๆ มากขึ้น
น้องๆ ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องเขียนโปรแกรม ที่ต้องโค้ด คิดคอนเซปท์ของโปรแกรมน้อยลงมาก และ เขียนโปรแกรมน้อยลงมาก ซึ่งส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาแล้วตั้งเป้าหมายและแก้ปัญหาไม่เป็น รวมถึงมือไม่ขยับในการเขียนโค้ดให้เลย
ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่สาขาที่ต้องเขียนโปรแกรมแน่นอน เนื่องจากอาจจะเป็นปัญหาฝังลึกในระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่เน้นการได้คำตอบอย่างฉาบฉวยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมากขึ้นๆ เวลามีการบ้าน ก็ไม่ได้ทำเอง แต่ต้องมี “คนสอนการบ้าน” ตลอดเวลา และมากขึ้นๆ รวมถึงหนังสือสารพัดกุญแจ ที่บรรจุคำตอบทุกอย่างที่อยากรู้เอาไว้
นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนจำนวนมากที่เป็น “ผลผลิตที่สมบูรณ์ ของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” นี้ จึงติดนิสัยฉาบฉวยนั้นมาอย่างฝังรากลึก ถอนตัวไม่ออก ดัดไม่ค่อยได้ ผลที่ตามมานั้นน่ากลัวนัก
- เวลาอยากได้อะไรก็จะอยากได้ผลนั้นๆ อย่างเร่งด่วน ไม่สนใจวิธีการที่จะได้ผลนั้น ค่อยๆ ทำอะไรทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น
- วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้น จะเป็นลักษณะ “สำเร็จรูป” มากขึ้นๆ นั่นคือ มันเหมือนเป็นความคิดในระดับจิตใต้สำนึกไปแล้ว ว่ามันจะต้องมีคนทำเอาไว้เราไปหามาใช้ได้อย่างใจเราเป๊ะๆ แบบสำเร็จรูป ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเป็นโค้ดก็ “copy-paste ปุ๊บ ต้องได้ปั๊บ” เป็นต้น
- สังเกตได้ไม่ยาก เวลาสั่งงานอะไรก็ตาม น้องๆ จะใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับ “การพยายามหาสิ่งที่เหมือนที่ต้องการเปี๊ยบ ใน Google ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็หาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจบสิ้น”
- ซึ่งนั่นเป็นปัญหา ทำให้เราทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าระดับพื้นฐานไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น โอกาสที่จะมีคนทำเอาไว้ให้เราเอาไปใช้ได้แบบเป๊ะๆ นั้น น้อยมาก ต้องเอามาปรับปรุง ดัดแปลง หรือนำเข้ามาใช้ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของคำตอบเราอยู่ดี
- ไม่สนใจพื้นฐาน คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนอยู่ในสภาวะ “ดูถูกพื้นฐาน” เสียด้วยซ้ำไป สนใจแต่ “ขั้นตอนสุดท้าย” เท่านั้น หลักคิดอะไรก่อนหน้านั้นเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ก็ช่างมัน จะเร่งรัดผ่านไปให้หมด
- ทีนี้เมื่อสร้างอะไรเองทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น ก็เป็น “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้สร้างสรรค์” ยาก
- แต่ว่าจะมีความเป็น “ผู้เสพ” หรือ “ผู้บริโภค” สูงขึ้นเรื่อยๆ มีความต้องการ มีอาการเหมือนผู้บริโภค นั่นคือ “ถ้าสิ่งที่อยากได้นั้น ไม่มีคนทำไว้ ก็เป็นความผิดผู้ผลิต/ผู้สร้าง” ดังจะเห็นได้ชัดจากคำพูดที่ว่า “ลองไปหาดูแล้ว ไม่มี” “หาใน google ไม่เจอ” ฯลฯ มากขึ้นทุกที
กี่ครั้งแล้วไม่ทราบ ที่ผมเห็นภาพที่น่าเศร้าใจเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความพยายามที่จะลองผิดลองถูก ความพยายามที่จะคิด หรือความสามารถในการแก้ปัญหาเบื้องต้นในลักษณะของ “ผู้สร้าง” นั้น หายไปสิ้นเชิงจากความระบบความคิดและระบบการศึกษาในปัจจุบันเสียแล้วหรือ
ระบบการศึกษาที่เน้นการลัดไปสู่คำตอบอย่างรวดเร็วเกินไป และการที่อยากได้อะไรต้องมีคนอื่นทำให้ แก้ให้ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สร้างคนที่มีภาวะต้องการที่พึ่งพาสูงขึ้นๆ และเป็นที่พึ่งพาได้น้อยลงเรื่อยๆ
กี่ครั้งกันเล่า ที่เราพบคนที่อยากได้ระบบอะไรก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าสร้างมันอย่างไร จะเอาแต่ผล กี่ครั้งกันเล่า ที่คนบ้านเราไปเห็นแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้วในต่างประเทศ ที่ใช้เวลาสร้างนับสิบๆ ปี แต่เราจะก๊อปปีิ้เฉพาะขั้นตอนสุดท้าย และเราก็บอกว่าเรามีแล้วเหมือนกับเขา แต่ว่ามันขาดวิญญาณและความเข้าใจมาอย่างสิ้นเชิง
เราคงจะเป็น “ผู้สร้าง” หรือเป็น “นักแก้ปัญหา” ที่แท้จริงกันยากขึ้นทุกวัน และการ “สร้างสรรค์” หรือ “การแก้ปัญหา” ของเรานั้นอาจหมายถึง “การแสวงหา มาปะผุ” มากขึ้นทุกวัน โดยสิ่งที่เราแสวงหามาได้นั้น เราก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของมัน เราไม่ได้มีแนวคิดอะไรในหัวเลย ว่าอะไรมันทำงานอย่างไร อะไรได้มาอย่างไร ก็เป็นได้
ตราบใดที่ บ้านเรายังคงสร้างคนที่สนใจแต่ “ข้อนี้จะตอบอะไร” แทนที่จะสนใจว่า “ทำไมถึงมีคำถามนี้” หรือ “จะเริ่มต้นมองปัญหานี้อย่างไร” มันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปมากขึ้นๆ
เรื่อง “ปะผุและฉาบฉวย” เนี่ยคงได้แต่ทำใจครับ ผมเองไม่แน่ใจว่ามันกลายเป็นวัฒนธรรมของคนยุคใหม่ไปแล้วหรือเปล่า เพราะในสายงานของผม เด็กนิสิตรุ่นใหม่ๆก็เป็นอย่างนี้เกิือบหมด หาคนที่สนใจในสิ่งที่เรียกว่า “พื้นฐาน” ได้ยากเต็มที ส่วนใหญ่มีแต่ ใจเร็วด่วนได้ กันแทบทั้งนั้น และที่สำคัญ ทั้งตัวเด็ก และผู้ใหญ่ ที่มีหน้าที่สอนเด็กๆเหล่านั้น ต่่างมองไม่เห็นว่ามันคือปัญหาของการศึกษา เรื่องนี้มันจึงไม่่ต่างจากที่ว่า “เป็นเรื่องหนักๆของคนบางคน แต่เป็นเรื่องเบาๆของคนส่วนใหญ่” คงได้แต่ทำใจ และเดินหน้าแก้ไขเท่าที่มือน้อยๆของเราจะทำได้กันต่อไปน่ะครับ…สู้ต่อไปครับ ทาเคชิ
เห็นด้วยครับ และขอบคุณมาก
แต่การเรียนที่ดีในเบื้องต้นที่หลายๆ คนสอนมามันก็เป็นวิธี “การ เลียน แบบ” อย่างหนึ่งไม่ใช่หรือคะ เพราะถ้าไม่เริ่มต้น เลียนแบบ มันก็ไม่เข้าใจในบางเรื่องอยู่ดี
ไม่แย้งครับ ว่ามันต้องเลียนแบบบ้าง แต่มัน “สักแต่เลียนแบบกันอย่างฉาบฉวย” และ “พอใจเพียงแค่ผลออกมาในเบื้องต้น” หรือเปล่า
ถ้าเราพอใจแค่ “เลียนแบบ” แล้ว “ได้ผลง่ายๆ ออกมา” ก็เป็นเพียงแค่ความฉาบฉวยในลักษณะการเร่งรัดเอาผลครับ
ลองอ่านทบทวนอีกครั้งหนึ่งนะครับ ผมไม่ได้โจมตีหรือมีประเด็นกับการ “เลียนแบบ” ในฐานะ “ส่วนหนึ่งของกระบวนการ”
แต่ว่าผมมีปัญหาเต็มที่ กับการ “เลียนแบบ” ในฐานะ “ทั้งหมดของกระบวนการ” และการที่คน (โดยเฉพาะผู้ศึกษา) “พอใจ” อยู่เพียงแค่นั้น
ถ้าอย่างนั้นแล้วคงต้องหาวิธีที่ทำให้คนไม่หลงใหลไปกับความง่ายของ “การเลียนแบบ” ตั้งแต่เริ่มต้นแล้วล่ะค่ะ เพราะคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายอย่างไม่รู้จบ (ซึ่งวิถีแห่งการเลียนแบบ ก็ค่อนข้าง สบาย อยู่ไม่ใช่น้อย เพราะไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำอะไร) เมื่อได้สัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่า “ความสบาย” ตั้งแต่ต้นแล้ว ก็คงยากที่จะถอนตัวให้ออกมาจาก “ความสบาย” นั้นได้
ผมว่าผมเขียนส่วนหนึ่งของคำตอบและวิธีการไว้แล้วครับ
หากเราไม่เร่งไปที่การได้มาซึ่งผลลัพธ์ แข่งกันได้ผลลัพธ์ก่อนเวลาอันควร (ลดการ “พอใจเพียงแค่การได้ผลลัพธ์ออกมาในเบื้องต้น”) มันก็จะลดการ “สักแต่ว่าเลียนแบบกันอย่างฉาบฉวย” ไปได้เยอะครับ
ไม่ต้องเอาเรื่องยากหรอกครับ
ในระบบการศึกษา มีเด็กจำนวนมากที่ทำ 12×5 ได้ แต่ว่าทำ 13×5 ไม่ได้ เพราะว่า 12×5 “มีในสูตรคูณ” แต่ว่า 13×5 “ไม่มี”
ถ้าไม่เร่งฉาบฉวยให้ทำ 12×5=60 ได้ จนก่อให้เกิดการท่องแบบไม่คิดหน้าคิดหลัง และท่องอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่า what, why มันจะช่วยได้เยอะครับ
ตัวอย่างแบบนี้มีอีกเยอะครับ เด็กเขียนโปรแกรมนับเลข 1-26 ได้ แต่ว่าไม่เข้าใจว่าจะเขียนโปรแกรมแสดงผล A-Z ได้อย่างไร (ทั้งๆ ที่มันก็หลักการเดียวกัน) เพราะว่าแข่งกันท่องโค้ดให้ได้ผลลัพธ์ 1-26 อย่างฉาบฉวย
สำหรับการศึกษาไทยที่เราเห็นกันจนชินตา ดิฉันก็คงไม่แคล้วที่จะพูดว่า “เป็นเหมือนกันทั้งเด็กที่เรียนและผู้ใหญ่ที่สอน”
ดิฉันเคยเป็นเด็กที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ความจำไม่ดี ถึงขนาดสอบตก เพราะไม่เข้าใจและจำไม่ได้จริงๆ ในสิ่งที่สอน ครูผู้ใหญ่บางท่านก็ถือว่า ตัวท่านนั้นเป็นครู เด็กจะมาโต้เถียงหรือโต้แย้งอะไรก็ไม่ได้ แม้ว่ารู้อยู่เต็มอกว่าผิด แต่เพราะคะแนนเป็นตัวชี้วัด เลยทำให้นักเรียนต้อง “เลียน” แบบที่ครูท่านนั้นสอนไปทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจ เรียนแล้วรู้ว่าหรือจำได้ว่ามีกี่ขั้นตอน ตอนไหนทำอะไร แต่ทำไปเพื่ออะไรนั้น ไม่มีนักเรียนคนไหนอยากถามหรอกค่ะ (ถามไปก็โดนว่ากลับ และที่สำคัญคือ เพื่อนๆ นักเรียนหลายคนมองว่าเป็นการเสียเวลาด้วยซ้ำ) จนท้ายที่สุด ดิฉันจึงต้องกลับมาหาคำตอบเหล่านั้นให้กับตนเองแม้จะเสียเวลาไปเป็นปีๆ จนกระทั่งเข้าใจในกระบวนการเหล่านั้นว่าทำมาเพื่ออะไร
และในวันที่ดิฉันเคยสอนเด็กที่เคยสอบตกให้ผ่านพ้นวิกฤตแบบเดียวกันกับที่ดิฉันเคยประสบ ดิฉันก็พบว่า การเรียนของเด็กที่สนใจจริงๆ กับ เด็กที่รู้สึกถึงแค่ว่าเรียนให้มันจบๆ ไปนั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันมาก เด็กที่รู้สึกขวนขวายในเรื่องที่สนใจจริงๆ เท่านั้น ถึงอยากจะรู้เหตุผลของแต่ละขั้นตอนที่ได้มา แต่คนที่เรียนไปโดยไม่คำนึงถึงอะไรก็สนแต่เพียงทำอย่างไรก็ได้ให้จบ ดังนั้นการ ลอก(ข้อสอบ) และ เลียน(แบบคนอื่น) มันก็เลยเป็นวิถีของบุคคลเหล่านี้ไป
ดิฉันเคยถามเพื่อนบางคนว่า “ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจในสิ่งที่เรียน?” เขาตอบกลับแบบง่ายมากๆ ค่ะว่า “ท่องจำไปตามที่ในชีทเขียนไว้น่ะแหละ จำได้ก็ได้คะแนน จำไม่ได้ก็อดคะแนนไป” ดิฉันเข้าใจว่าบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องรู้เหตุผลก็ได้ แต่นี่มันเป็นบทเรียนที่เอาไว้ใช้ในชีวิตจริงได้นะคะ จะให้ดิฉันสุ่มสี่สุ่มห้าเขียนลงไปทั้งที่ไม่เข้าใจได้อย่างไร ท้ายที่สุดของบทสรุปเหล่านั้นก็ได้แต่เพียงคิด เพราะมันก็กลายเป็นเพียงคะแนนที่ต้องได้มาเท่านั้น (ได้ใช้จริงค่อยว่ากันตอนหลัง)
ท่าจะสางเรื่องนี้ให้เสร็จ คงต้องเปลี่ยนทัศนคติกันยาวเลยล่ะค่ะ
คอมเม้นท์ยาวไปหน่อยนะคะ แต่ว่าดิฉันเห็นแล้วรู้สึก “คัน” ขึ้นมาจริงๆ ค่ะ ^____^
เป็น comment ที่ดีนะครับ และผมก็เห็นปัญหาแบบเดียวกับคุณน่ะแหละครับ
ผมพูดเสมอว่า “นักศึกษา ผู้เรียน เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ ของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” และ “ระบบการศึกษา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมอันฉาบฉวย ที่ล้มเหลวเรื่องความรู้ และการปฏิบัติ”
เรื่องลอก ผมเคยเขียน blog สั้นๆ ที่สะท้อนสิ่งเดียวกับที่คุณเขียนมาที่นี่
http://www.rawitat.com/2009/12/13/292/
ผมไม่ได้เห็นแย้งคุณหรอกครับ และผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นที่ “เด็ก” หรือ “ผู้ใหญ่ที่สอน” แต่เป็นที่สังคมที่ฉาบฉวย และพอใจผิวเผิน
สังคมสร้างคนขึ้นมา และคนเหล่านั้นก็ reinforce แนวคิดนั้นๆ แหละ กลับไปยังสังคม มันก็เป็น loop ที่ไม่มีวันรู้จบ
ผมเคยใช้ slide กัดเรื่องการศึกษาไทย ว่าเป็น “นกแก้วเกาะเครื่องถ่ายเอกสาร” ตามงานต่างๆ หลายที่ (มากกว่า 10 แห่งแล้ว)
เครื่องถ่ายเอกสาร คือ นักเรียน นักศึกษา ไม่รู้หรอกว่าตัวเองถ่ายเอกสารอะไร รู้แต่ว่าอะไรอยู่ในเอกสาร ก็ต้องออกมาเหมือนเปี๊ยบ เสร็จแล้วก็ลืมๆ มันไป ทิ้งๆ มันไป เข้ามาอย่างไรออกไปอย่างนั้น อยู่แค่นั้น
นกแก้วนี่ยิ่งแล้วใหญ่ นี่คือ ครู อาจารย์ ที่ไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังพูดอะไรอยู่ ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย ตำราว่าไงก็สอนตามนั้น ครูตัวเองสอนมาว่าไง ก็ว่าตามนั้น ไม่รู้หรอกว่าที่ตัวเองพูดอยู่มันใช้ได้ไม่ได้ เหมาะไม่เหมาะกับอะไร
ดังนั้น นกแก้วเกาะเครื่องถ่ายเอกสาร คือ “ครู ที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังพูดบ้าอะไรอยู่ ก็ว่าตามตำรา ว่าตามชาวบ้าน ไปวันๆ และนักเรียน ที่สักแต่จดและลอกสิ่งที่ครูพูดออกมา ไปเรื่อยๆ”
ระบบการศึกษาไทย ใน 1 slide ที่ผมชอบใช้
บทความนี้น่าถูกขยายต่อ อ่านแล้วขนลุกดีเหมือนกัน