(ที่เขียนบทความนี้ยาวๆ เพราะว่าเขียนตอบในกระทู้ตามบอร์ดกล้องบ่อย และมีคนถามบ่อย ก็เลยคิดว่างั้นเขียนไว้หน่อยก็แล้วกัน)
ในการถ่ายรูป บางทีเราก็ไม่ได้ต้องการให้ชัดทั้งภาพ แต่ว่าต้องการให้มันชัดเฉพาะจุด/สิ่งที่ต้องการถ่าย เช่นการถ่ายภาพเน้นวัตถุ หรือการถ่ายภาพบุคคล ซึ่งทำให้เกิดความต้องการที่จะ “ควบคุม” ความชัดเจนของส่วนที่ไม่ได้ต้องการจะเน้น (หรือส่วนที่ไม่ได้เป็นจุดโฟกัส)
ในกรณีที่เป็นภาพถ่ายบุคคลหรือวัตถุ เรามักจะเรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านๆ ว่า “ถ่ายให้หน้าชัดหลังเบลอ” ทีนี้จะถ่ายยังไงให้มันหน้าชัดหลังเบลอ หรือว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดภาพที่หน้าชัดหลังเบลอได้บ้าง?
หลายคนบอกว่าลองไปอ่านๆ ดูจาก Depth of Field – Wikipedia … ซึ่ง อืมมมม ดูยุ่งยากแฮะ ยาวยืดเลย แถมมีโมเดลทางคณิตศาสตร์ หลักการทางฟิสิกส์ และการคำนวณอะไรไม่รู้วุ่นวายไปหมด เจอแล้วจอด… เลยขอเขียนจากประสบการณ์ให้ฟังง่ายๆ ก็แล้วกัน เอาเป็นว่าอย่างน้อยๆ ก็เป็น Guideline ในเชิงปฏิบัติในการเลือกกล้อง/เลนส์ และการตั้งค่าก็แล้วกันนะครับ
1. ขนาดของรูรับแสง:
อันนี้เป็นที่รู้กันในวงกว้างครับ ว่าขนาดของรูรับแสงส่งผลกับระยะชัดของภาพ ถ้ายิ่งรูรับแสงกว้าง จะยิ่งชัดตื้น ดูตัวอย่างจากภาพ (click เพื่อดูภาพเต็ม)
จากภาพ รูปซ้ายใช้กล้องตัวเดียวกัน เลนส์ตัวเดียวกัน คือ Nikon D300 + AF Nikkor 85 F1.4 ตากล้องกับแบบไม่ได้ขยับ เปลี่ยนแปลงแค่ค่ารูรับแสง รูปซ้ายใช้ F5.6 รูปขวาใช้ F1.8 (อ่อ ค่าพวกนี้ยิ่งน้อย ยิ่งรูรับแสงกว้าง) ตั้ง Aperture-priority mode ดังนั้นก็เลยมีการปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติตามรูรับแสง ให้ความสว่างของรูปเท่าๆ กัน
ถ้าทางยาวโฟกัสเท่ากัน รูรับแสงกว้างกว่าจะให้ภาพส่วนที่ไม่อยู่ในโฟกัสมีความเบลอมากกว่า แต่ว่าทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้มันเบลอสวยๆ นะครับ ลองดูภาพถัดไป
ภาพนี้ถ่ายที่ F2.8 ครับ ซึ่งถ้าขนาดของรูรับแสงมันมีผลอย่างเดียวเนี่ย มันควรจะเบลอในส่วนฉากหลังมากกว่านี้ใช่หรือไม่ (อย่างน้อยก็น่าจะเบลอกว่า F5.6 ด้านบน) คำตอบก็คือมันมีอีกหลายองค์ประกอบด้วยกันครับ ลองดูใน metadata ของรูปเล่นๆ ก่อนก็ได้ครับ … ว่ามันมีค่าอะไรเปลี่ยนไปอย่างที่เห็นได้ชัดจากรูปบนๆ
ครับ …ผมถ่ายรูปนี้ที่ 20mm ใช้ AF Nikkor 20mm F2.8 ครับ
2. ระยะโฟกัส:
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใหญ่กว่ารูรับแสงอีกนะ ในความคิดผม (รูรับแสงมันส่งผลโดยตรงกับความเร็วชัตเตอร์ ทำให้ถ่ายสิ่งที่เคลื่อนไหวให้นิ่งได้ดีกว่า และเนื่องจากมันเป็นส่วนที่รับแสงอะนะ ยิ่งกว้างก็ยิ่งไว ถ่ายในที่แสงน้อยๆ ได้ดีกว่า … ผลถือว่าการถ่ายหน้าชัดหลังเบลอนี่เป็นผลพลอยได้มากกว่า)
ไม่ต้องพูดอะไรมากครับ ดูภาพเลยก็แล้วกัน
สามภาพนี้ ถ่ายใช้ Nikon D300 กับ AF-S Nikkor 70-200mm F2.8 VR เปิดรูรับแสง F2.8 ทั้งสามภาพ โดยที่ถ่ายที่ระยะโฟกัสต่างกัน คือ บนซ้าย 200mm, บนขวา 150mm และล่าง 105mm (ซึ่งจริงๆ รูปล่างไม่ใช่ตัวเปรียบเทียบที่ดีนัก เนื่องจากยืนไกลไปนิด ขนาดของแบบที่เห็นในรูปเลยไม่เท่ากับสองรูปบน)
แต่ก็เห็นว่าฉากหลังเบลอมากน้อยกว่ากันอย่างเห็นได้ชัด โดยที่ตัวแบบยังคงคมชัดอยู่
ให้อธิบายเรื่องนี้ง่ายๆ ก็คงจะต้องให้ทดลองแบบนี้ครับ
- ให้เพื่อนซักคน ยืนชูสองนิ้วหรือยกมือก็ได้ อยู่ไกลๆ พอประมาณ (เช่นหน้าห้องกับหลังห้อง) แล้วมองโฟกัสไปที่มือของเพื่อนคนนั้นด้วยตาเปล่า จะเห็นว่ามือเพื่อนกับฉากที่อยู่หลังเพื่อนมันชัดเท่าๆ กัน
- “ซูมด้วยเท้า” คือ เดินเข้าไปหาเพื่อนคนนั้นเรื่อยๆ โดยที่สายตายังคงโฟกัสกับมือเพื่อน จะเห็นว่ายิ่งใกล้ๆ ฉากหลังจะยิ่งเบลอมากขึ้น
เหตุผลง่ายๆ นะครับ ก็คือ การที่เราเดินเข้าไปหามือเพื่อนเรื่อยๆ เนี่ย ทำให้ระยะ “สัมพัทธ์” ระหว่างมือเพื่อน ฉากหลัง กับตาเรา เปลี่ยนไปหมดครับ มือเพื่อนห่างจากฉากหลังเท่าเดิมน่ะแหละ แต่ว่าถ้าวัด “สัมพัทธ์” กับตาเราแล้ว มือเพื่อนจะอยู่ห่างจากฉากหลังมากขึ้น และใกล้ตาเรามากขึ้น
ระยะโฟกัสของเลนส์ ก็เหมือนกับการเดินซูมเท้าน่ะแหละครับ มันมีหน้าที่ดึงวัตถุที่อยู่่ห่างๆ ให้เหมือนวางอยู่ใกล้ๆ กับกล้องมากขึ้น ดังนั้นก็เลยกลายเป็นว่ายิ่งทำให้เสมือนว่าอยู่ห่างกับฉากหลังมากขึ้น (ทั้งๆ ที่จริงๆ วัตถุกับฉากหลังอาจจะอยู่เกือบจะที่เดียวกันเลยก็ได้ ถ้ามองด้วยตาเปล่า)
3. ขนาดของ Sensor:
อันนี้ประหลาดหน่อย บางคนถึงขึ้นอาจจะสงสัยว่า “เกี่ยวไรด้วยเนี่ย”.. และไม่ค่อยจะเคยเห็นคนเขียนถึงเท่าไหร่
เคยสงสัยบ้างหรือเปล่าครับ ว่าทำไมพวกกล้องคอมแพคถึงถ่ายหน้าชัดหลังเบลอโคตรยาก ทั้งๆ ที่หลายคนดู spec ของเลนส์แล้ว ว่า “มันก็ 2.8 นะ ทำไมมันถ่ายไม่เบลอ?”
อย่างที่ผมบอกแหละครับ ให้คิดซะว่าขนาดของ aperture มันคือความไวของเลนส์มากกว่า มันช่วยการหยุดการเคลื่อนไหว หรือการโฟกัสในที่แสงน้อยมากกว่า ไม่ใช่ว่า F กว้างและมันจะเบลอเสมอไป
กล้องคอมแพคส่วนมากจะมีขนาด Sensor ที่เล็กมาก ….. (ซึ่งมีผลหลายอย่างครับ ไว้วันหลังจะเขียนให้อ่าน) ทำให้มีผลกับ “ระยะสัมพัทธ์” อีกแล้ว …
ลองเล่นที่นี่ดูครับ Digital Camera Sensor Sizes: How it Influences Your Photography ลงไปข้างล่างไปให้ถึง Depth of Field Requirements แล้วลองใส่ตัวเลขเล่นๆ ดู
อันนี้แสดงว่าถ้าเราใช้กล้องที่มี crop factor 1.5 แล้วตั้งทางยาวโฟกัส 10mm และรูรับแสง F11 แล้วจะได้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับการใช้กล้อง 35mm ที่ 15mm (อันนี้คิดว่าคงทราบ) “และ” รูรับแสง 16.5 อืมมม
อืมม งั้นลองมาเล่นกันเล่นๆ ดีกว่า ว่าอยากได้ผลลัพธ์เดียวกับการที่ใช้กล้อง DSLR ที่มี crop factor 1.5 (พวก Nikon ที่ไม่ Full-frame) ถ่ายที่ระยะ 105mm และใช้รูรับแสง F2 จะต้องตั้งค่าในพวกกล้องที่ใช้ 1/1.8″ Sensor ยังไง …
ซึ่งผลที่ได้ก็คือ 33mm และ F 0.6 ไม่ได้โจ๊กเล่นครับ ลองใส่ตัวเลขดูได้เลย
ลองเล่นๆ ดูพบว่า ถ้าตั้งขนาดรูรับแสง หรือ Aperture ที่ F2.8 บนกล้องคอมแพคแล้ว มันจะมีค่าเท่ากับ F13.5 บน 35mm/Full-frame และ F9 บนกล้อง crop factor 1.5 ครับ …. ยังไงๆ มันก็ชัดลึก
ยิ่ง Sensor ใหญ่เนี่ย ถ้าต้องการได้รูปภาพที่มีขนาด Subject เท่ากัน และมีความชัดตื้น/ลึกเท่ากันด้วย เราจะต้องเข้าใกล้มากขึ้น หรือใช้เลนส์ทางยาวโฟกัสมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้รูรับแสงที่ “แคบลง” เรื่อยๆ เพื่อรักษาระยะชัดตื้นชัดลึก (ถ้างงว่าเพราะอะไร ก็ลองคิดถึงตัวอย่างการซูมเท้านะครับ ….)
คิดๆ ก็ไม่แปลกล่ะครับ เนื่องจาก Sensor ของกล้องพวกคอมแพคมันเล็กจัด .. ดังนั้นจากมุมมองของ Sensor 1/1.8″ เหล่านั้นแล้ว ระยะ 7-10mm ถือว่า Normal ครับ (เทียบเท่ากับ 35-50mm บน Full-frame) อะไรไกลกว่านั้นถือว่าไกลหมด … ดังนั้นผลที่ได้ก็เลยเหมือนกับว่าให้เพื่อนไปยืนไกลๆ (จากตัวอย่างของทางยาวโฟกัส ที่พูดถึงไปแล้ว)
เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอในกล้องคอมแพคยากมากๆ … ถ้าจะพอทำได้ก็ต้องใช้พวก super super zoom แล้วก็ซูมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ (หมายถึง optical zoom นะครับ อย่าไปยุ่งกับ digital zoom เพราะว่ามันคือ crop ธรรมดาๆ) จากนั้นก็ยืนให้ชิดกับแบบที่สุดเท่าที่จะมากได้ … ก็อาจจะพอทำได้บ้าง
หน้าชัดหลังเบลอในกล้องคอมแพค สามารถทำได้อีกวิธีนึงคือการตั้งโหมด macro ครับ
ในกล้องบางรุ่นสามารถละลายฉากหลังได้มากพอสมควร ยิ่งพวกกล้องที่โพกัสได้ใกล้มาก ๆ เช่นของ Ricoh ที่ส่วนใหญ่จะโพกัสได้ที่ 1 cm ครับ
@ikok
นั่นคือ การเอาไว้ใกล้ๆ มากๆ ไงครับ อย่างที่ผมเขียนไว้ตอนท้ายๆ ว่าจากมุมมองของ sensor กล้องคอมแพคแล้ว 7-10mm คือระยะ normal ถ้าไกลกว่านั้นมันก็เหมือนกับถ่ายชัดลึกตลอดเวลา … ถ้าอยากจะให้มันอยู่ใกล้ๆ ก็ต้องเอาเลนส์ทิ่มวัตถุ
อีกอย่าง พอดีผมพูดถึงการถ่ายคนเป็นหลักด้วยล่ะครับ ตั้ง macro mode ยาก
แต่ขอบคุณที่ช่วยเติมให้สมบูรณ์นะครับ
ถนัดแต่ “หน้าเบลอหลังชัด” ประมาณว่าอยากได้คนที่อยู่ข้างหลัง มากกว่าข้างหน้า ^^;
@rawitat
ไม่จำเป็นต้องใกล้มาก ๆ ก็ได้ครับ =)
ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด การเปิด macro โหมดเค้าจะไปทำให้กล้องเปิดรูรับแสงให้กว้างขึ้นในกล้องคอมแพคนะ ทีนี้ที่มันไม่ได้เอาไว้สำหรับการใช้งานทั่วไปเพราะว่ามันจะโพกัสช้าลงมาก ๆ
ลองเล่นดูก็ได้ครับ ไม่จำเป็นต้องใกล้ ซูมให้สุด แบบที่คุณว่า แล้วเปิด macro ไปด้วย
จะเห็นว่าฉากหลังก็ละลายได้มากกว่าเดิมนิดนึงครับ ;D
แน่นอนว่า DOF มันจะขึ้นกับ 3 ปัจจัยหลักที่อาจารย์อธิบายเอาไว้
แต่ FX ช่วยท่านได้แน่นอนครับ เอิ๊กๆๆๆ
ป.ล. ถามนิดนึงครับ อาจารย์ ถ้าสั่งหนังสือผ่านทาง Amazon ให้เค้าส่งมาที่ไทย นี่ค่าส่งแพงมั้ยครับ แล้วเร็วรึเปล่า