ขอเขียนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่มีในหัวมานานแล้ว แต่ไม่เคยลงไว้ที่ไหน (เคยพูดบ้าง ตอนกินข้าว นั่งคุยกับเพื่อนๆ) … ก็คือเรื่องกฏนิวตันง่ายๆ เนี่ยแหละ
เราเคยท่องๆ กันมาใช่มั้ย กฏนิวตัน 3 ข้อ คือ F = 0, F = ma, F = -F …. เอ๊ะ ท่องกันถูกหรือเปล่าเนี่ย นี่มันไม่ใช่กฏนิวตันแล้ว นี่มันสูตรไว้ท่องเข้าห้องสอบไปแทนตัวเลข! กฏมันมีอยู่ว่า
- ในสภาพไม่มีแรงกระทำ วัตถุย่อมรักษาสภาพการเคลื่อนที่
- เมื่อมีแรงกระทำ F กับวัตถุมวล m วัตถุจะเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ด้วยความเร่ง a
- เมื่อมีแรงกระทำ F จากวัตถุ 1 ไปยัง 2 จะมีแรงปฏิกิริยา -F จาก 2 ไป 1 ขนาดเท่ากัน แต่ทิศตรงกันข้าม
แล้วมันมีประเด็นอะไรให้เขียนถึงล่ะเนี่ย …. มีสิ ในการทำงานอะไรก็ช่าง ลองคิดว่าคน หน่วยงาน องค์กร ประเทศชาติ หรืออะไรก็ได้ ก็เป็นวัตถุ ที่มีสภาพการเคลื่อนที่ รักษาสภาพการเคลื่อนที่ ไม่ว่าจะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง เคลื่อนที่เป็นอะไรก็แล้วแต่ หรือแม้แต่หยุดนิ่ง ก็เป็นสภาพการเคลื่อนที่เช่นกัน
วัตถุนั้นๆ ก็ย่อมจะมีมวล มวลมากมวลน้อย ไม่รู้ล่ะ รู้แต่ว่ามีมวล สมมติว่าเป็น m ละกัน
ถ้าเราเห็นว่าวัตถุนั้นๆ กำลังเคลื่อนที่ไปในทางที่เราไม่อยากให้ไป หรือว่าคิดว่าจะต้องขับเคลื่อนอะไรมันบ้าง จะต้องทำยังไง? การจะเปลี่ยนการเคลื่อนที่ ก็ต้องสร้างความเร่ง การจะสร้างความเร่ง ทำยังไง?
จาก F = ma จะได้ว่า a = F/m จะพบว่า อืมมมมม “มวล” มันเป็น “ตัวถ่วง” นี่นา การจะเปลี่ยนแปลงทิศทางการเคลื่อนที่ จะต้องออกแรงมหาศาล เพื่อเอาชนะมวลที่ต้องตัวถ่วงจำนวนมาก ที่แต่ละตัว ก็จะรักษาสภาพการเคลื่อนที่ของมันเอง ใช่หรือไม่?
ว่ากันว่า คนเรากลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่อะไรหรอก เราก็แค่มวลก้อนหนึ่ง ที่พยายามรักษาสภาพการเคลื่อนที่ ใช่หรือไม่?
ทำอย่างไร ในการสร้างความเปลี่ยนแปลง? ถ้าเอาเรื่อง Phase Transition มาคิด เราก็ต้องให้พลังงานมันสินะ แต่ว่าพลังงานที่ต้องใช้ในการสลายพันธะอะไรบางอย่าง มันก็คงต้องมาเอาการอยู่ เพราะว่ามวลหลายตัว ก็เป็นลักษณะ “มวลนิ่ง” มานาน และอย่างที่รู้ๆ กัน ว่ามวลนิ่ง เร่งให้เกิดปฏิกิริยาอะไรก็ยากทั้งนั้น สสารหลายตัวมีสภาพเหมือนกับมวลนิ่ง ไม่จับคู่กับสสารอื่นๆ เพื่อให้เกิดพันธะใหม่ๆ อะไรทั้งสิ้น
ไม่เป็นไร เราก็ให้พลังงานมันต่อไป คิดว่าสักวัน จะต้องถึงจุดเปลี่ยนแปลงใน Phase Transition สิน่า และเมื่อจุดนั้นมาถึง มวลส่วนมากของระบบนี้ ก็คงจะพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสิน่า
แต่ว่านะ ยิ่งมวลมาก ก็ยิ่งขับเคลื่อนมันยากเท่านั้นแหละ ยกตัวอย่างง่ายๆ เปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ของรถยนต์คันนึง ง่ายกว่าเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ของรถบรรทุกเป็นกอง
Blog entry นี้ มั่วนะครับ มั่วมาก และอย่าไปใส่ใจอะไร หรือหาข้อเท็จจริงทางวิชาการอะไรทั้งสิ้น มันไม่ใช่เรื่องฟิสิกส์ เพียงแต่ผมพยายามเอาข้อคิดจากฟิสิกส์ มาพูดถึงการขับเคลื่อนอะไรก็ช่าง ที่มันเป็นแบบนั้นมานานแล้ว รักษาสภาพการเคลื่อนที่อยู่แบบนั้น ในบางกรณีก็เป็น “มวลนิ่ง” อยู่แบบนั้น ก็เท่านั้นเอง
เออใช่ และลืมคิดไปเลยว่า ยิ่งออกแรง F ลงไปยังวัตถุที่เราพยายามผลักดันเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รับแรง -F กลับมาจากวัตถุนั้นเท่านั้นแหละ
You must be logged in to post a comment.