Reflection on “Nikon’s Pure Photography”

[อัพเดท: 11/03/2013] เพิ่มตอนที่ 6
[อัพเดท: 11/04/2013] แก้ไขข้อความ แก้ไขข่าวลือเล็กน้อย


ปกติผมไม่เขียนถึงกล้องหรือเลนส์ที่เป็นข่าวลือ หรือยังไม่ประกาศนะ (แน่นอน นี่ไม่ใช่เว็บข่าวลือ) แต่ตัวนี้ผมต้องเขียนถึง ไม่เขียนไม่ได้ล่ะ อึดอัด!

ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วในใจคนหลายคน ยังมีความโหยหาโลกสมัยก่อน ที่ทุกอย่างเรียบง่าย ละเอียด โลกที่เวลายังเดินช้า ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีความรีบเร่ง เร่งร้อน เร่งด่วน โลกที่ยังทำให้เรารู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน โลกที่ทำให้เรารู้สึกว่า “ชีวิตมันเป็นของเรา” มากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันตรงกันข้ามกันในทุกวันนี้ … ทำไมนะ ถึงที่ทำงานเราจะมีการออกแบบสไตล์โมเดิร์นที่เต็มไปด้วยกระจกและความเรียบหรู แต่ที่บ้านเรายังชอบเฟอร์นิเจอร์ที่แลดูวินเทจ .. ก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกัน

มันก็คงจะเป็นเหตุผลหนึ่ง ที่การออกแบบอุปกรณ์ที่มีประวัติยาวนานเช่นกล้องถ่ายรูป จะเริ่มย้อนยุคกลับไปใช้การออกแบบสมัยก่อน หรือที่เราเรียกว่า Retro Style กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Fujifilm X100/X100s ที่หลายต่อหลายคนซื้อ แล้วก็รักมัน ด้วยความ “คลาสสิค” ของรูปร่างหน้าตา มากกว่าฟีเจอร์หรือความสามารถ จนกลายเป็นรูปแบบการออกแบบกล้องทุกตัวของ Fujifilm ไปซะแล้ว หรือว่าแบบ Leica M ที่ยังคงรูปร่างหน้าตาและการใช้งานตั้งแต่ยุคคลาสสิคไว้แทบไม่เปลี่ยนเลย ถึงแม้ภายในของ Leica M 240 จะเปลี่ยนไปทั้งหมด แต่ภายนอกนั้นก็ยังคงเรียบง่ายเหมือนเดิม [บทความ: My Leica Story Pt3: The M 240]

และแล้วก็มาถึงคิวของ Nikon บ้าง


“Classic Nikon F3 Film SLR”


Image Source: nikonrumors.com
http://nikonrumors.com/wp-content/uploads/2013/10/Nikon-F3-film-camera.jpg


Continue reading

The Three Monkeys

สุภาษิตโบราณว่าไว้เป็นปรัชญาชีวิต

“See no evil, Hear no evil, Speak no evil”

แปลตรงๆ ตัวว่า “ไม่เห็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ได้ยินสิ่งชั่วร้าย ไม่พูดสิ่งชั่วร้าย”

ต่างวัฒนธรรมก็ตีความสัญลักษณ์นี้ต่างกัน โลกตะวันออกอย่างเราๆ ตีความเป็นคติเตือนใจให้กับชีวิตว่า “อย่าอยู่กับสิ่งชั่วร้าย” ไม่ว่าจะเป็นการพูด การได้ยิน หรือการมองเห็น ฟังดูแล้วเหมือนกับให้ “ปล่อยวาง” แต่อีกวัฒนธรรมหนึ่งอาจใช้สัญลักษณ์นี้ในเชิงตรงข้าม คือใช้แสดงถึงคนที่ปล่อยปละละเลยจากการมองเห็นความไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ฟังดูแล้วเหมือนกับให้ “ต้องเห็น/ต้องสนใจ”

แล้วใครถูกใครผิดเล่า กับสองมุมมองนี้? มันดูจะขัดกันมากมายใช่ไหม


DSC_5678.jpg

“三猿” (แปลว่า “ลิงสามตัว”) at the Tosho-gu shrine in Nikko, Japan

Continue reading

The Other Path, The Other Way

[อัพเดท: 10/08/2013] เพิ่มเนื้อหาเล็กน้อย และรูป 1 รูป


จำเป็นด้วยหรือ ว่าจะต้องดูเส้นทางที่คนอื่นกำลังเดินอยู่ตลอดเวลา จำเป็นด้วยหรือ ที่จะต้องเปรียบเทียบทุกสิ่งทุกอย่างกับคนรอบข้างอยู่ตลอดเวลา … บางครั้ง เส้นทางที่ดูเหมือนจะสวนกับเส้นทางที่คนอื่นทั้งหมดกำลังเดิน มันอาจจะเป็นเส้นทางที่ดีกว่าก็ได้นะ

ถ้าเราเดินทางสวนกับคนอื่น หรือคนละทางกับคนอื่นซะบ้าง เราอาจจะไม่ต้องเจอสิ่งที่คนอื่นเขากำลังเจอ กำลังบ่น กำลังจะเจอ กำลังเสียเวลาเพื่อเผชิญและไม่รู้จะแก้มันยังไง ก็ได้นะ

หลายคนไม่ได้อยากแข่งขันอะไรกับใครหรอก แต่พอเดินทางเส้นเดียวกับคนอื่นมากๆ เข้า ถึงเราจะไม่อยากแข่งขันอะไรกับใคร การแข่งขันและเปรียบเทียบต่างๆ มันจะตามเรามาเองโดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกร้องหรือต้องการมัน


L1000777.jpg

Contrast in a Way (ป.ล. ภาพนี้มีคำใบ้สำคัญอยู่ในภาพ..)
แถวสาทร ตอนเลิกงาน

Continue reading

The Moonlight Sonata

“แสงจันทร์” เคยเป็นแสงที่สว่างที่สุดในเวลากลางคืนมาเนิ่นนาน ถึงมันจะสว่างไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของแสงอาทิตย์เวลากลางวัน แต่มันก็สว่างพอจะให้อุ่นใจเวลากลางคืน

แต่เดี๋ยวนี้เรากลับรู้สึกว่าแสงจันทร์มันมืดมาก มืดจนไม่ได้ช่วยอะไรในตอนที่เรามองไม่เห็นอะไร


Moonlight Sonata, 1st Movement

Moonlight Sonata, 1st Movement

คงเพราะว่าเรามีไฟฟ้า เราแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ มากมาย มีไฟฉาย มีไฟหน้ารถ มีไฟบ้าน มี ฯลฯ แสงจันทร์ก็เลยดูด้อยลงไป

แต่ส่วนหนึ่งมันก็เพราะเราไม่ได้นั่งอยู่นิ่งๆ ให้นานพอ ให้แสงจันทร์มันค่อยๆ ส่องกระทบสิ่งต่างๆ สะท้อนเข้าตาเราให้นานพอกระมัง … หลายครั้งถ้าเราทำแบบนั้นกลางป่ากลางเขา เราอาจจะเห็นเลยว่า แสงจันทร์มันก็สว่างและทำให้เราเห็นอะไรต่ออะไรได้มากพอดู

ก็เหมือนกับ “ความรู้” และ “ความเข้าใจ” ล่ะนะ เวลาที่เรา “รับรู้” มัน อาจจะเหมือนกับแสงไฟประดิษฐ์ต่างๆ ที่ทำได้เร็ว ทำได้ทันที เปิดสวิทซ์ปุ๊บก็ติดปั๊บ ไฟติดแล้วมองเห็นสว่างไสว … แต่ก็อยู่จำกัดกับที่แคบๆ เท่าที่แสงไฟประดิษฐ์หรือไฟฟ้าหล่านั้นจะส่องไปถึง


Moonlight Sonata, 2nd Movement

Moonlight Sonata, 2nd Movement

Continue reading

“มุมกว้าง” (Wide Angle)

ถ้าเราแบ่งเลนส์สำหรับการถ่ายภาพออกเป็น 3 ระยะตามลักษณะการมองเห็น คือ แบบมุมกว้าง (Wide Angle) แบบปกติ (Normal) และแบบระยะไกล (Telephoto) คำถามง่ายๆ ก็คือ “อะไรเล่นยากที่สุด?”


Sunrise in Mountain

Sunrise in Mountain
Nikon D800, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/11

สถานที่: ดอยแม่สลอง

ผมเชื่อว่าคำตอบสำหรับหลายๆ คน รวมทั้งตัวผมเองด้วยเมื่อครั้งหนึ่งในอดีต ก็คือ “เลนส์มุมกว้าง” อย่างไม่มีข้อโต้แย้งเลย และวันนี้เราจะมามองมันในเชิงปรัชญาชีวิตกันเล็กน้อย ว่ามันแสดงหรือสะท้อนถึงอะไรบ้างให้กับชีวิตของเรา

ทำไมเลนส์มุมกว้างจึงเล่นยาก? เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่า “มันกว้างกว่าที่ตาเราเห็น” ยิ่งกว้างเท่าไหร่ เรายิ่งจินตนาการภาพที่เลนส์มันเห็นได้ยากมากขึ้นเท่านั้น (ก็เพราะว่าเราเห็นแคบกว่ามัน)


Temple in the Sun

Temple in the Sun
Nikon D3s, AF-S 14-24 f/2.8, 14mm, f/13

สถานที่: วัดพระธาตุดอยสุเทพ

การที่เราเห็นแคบกว่ามัน มีผลยังไงล่ะ? คนลองถ่ายรูปมุมกว้างใหม่ๆ คงจะเคยเจอประสบการณ์แบบนี้กันทุกคน เวลาที่เรามองเห็นภาพสวยงามยิ่งใหญ่อยู่ข้างหน้าเรา และอยากจะเอาเลนส์มุมกว้างมาเก็บภาพความอลังการที่เราเห็นเอาไว้ แต่เมื่อส่องดู เรากลับพบว่า “สิ่งที่ตัวเองเห็นว่าสวย มองเห็นว่าเด่น กลับถูกเตะออกไปไกลจนเล็กลงมากมายในภาพ” มันไม่สวย ไม่เด่น ไม่ยิ่งใหญ่เหมือนที่ตาเห็นอีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ภาพจากเลนส์มุมกว้าง ยังแทบเป็นไปไม่ได้ ที่จะถ่ายเน้นวัตถุใดวัตถุหนึ่ง แบบไม่มีอย่างอื่นเข้ามาในภาพเลย นอกเสียจากว่าวัตถุนั้นๆ จะมีขนาดใหญ่โตจริงๆ และเราอยู่ใกล้เพียงพอเท่านั้น

Continue reading

Cloud Atlas

นี่คือหนังเรื่องแรกที่มี Dialog และ Symbol ที่สะท้อนความจริงในสังคมที่ทำให้ผมหลุด “เหยดดดด เจ๋งว่ะ” เบาๆ ในโรงหนังในรอบ 3 ปี

Cloud Atlas (IMDB) คือหนังเรื่องที่ผมพูดถึง คือหนังเรื่องที่ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า “Love it or Hate it” เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้ยินอะไรกลางๆ เกี่ยวกับมันเลย จะมีแต่บวกสุดโต่ง หรือลบสุดขั้ว ก็เท่านั้น

บทความนี้ จะเป็นสิ่งที่ผมเห็นจากในหนัง ซึ่งเขียนในแบบ “ถอดเทป” ที่ผมตีความทันทีที่ดูจบ ซึ่งผมเสียดายที่ผมจะต้องเขียนมันวันนี้ เพราะผมเชื่อว่า หนังอย่าง Cloud Atlas จะโตตามชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป เมื่อผมกลับมาดูมันใหม่ในรอบที่ 2, 3, 4, 5 … ไปเรื่อยๆ จนเป็นรอบที่ 20 ผมก็ยังจะเห็นอะไรใหม่ๆ ที่มันสะท้อนให้เราเห็นในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับ The Matrix, Brazil และหนังอีกหลายเรื่อง และนี่เป็นหนังประเภทเดียว ที่ผมอยากจะดูซ้ำไปซ้ำมา … ไม่ใช่เพราะเราอยากดูหนังหรอกนะ แต่เราอยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราในอีกมุมหนึ่ง ผ่านกระจกสะท้อนภาพที่เรียกว่า “ภาพยนต์”

และนั่นคือสิ่งแรกเลยที่ผมเห็น “ความรู้เป็นเพียงแค่กระจกสะท้อน” สิ่งที่เรารู้ ก็คือสิ่งที่หล่อหลอมจนมันกลายเป็นตัวเรา พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมเคยได้ยินมาว่า “เราคือสิ่งที่เรากิน” ประโยคเด็ดจากนักโภชนาการ แล้วประโยคเดียวกันล่ะ ใช้ได้ไหมกับ “อาหารสมอง”?

แล้วเรารู้จากอะไร? “ตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตไม่ใช่ของเรา แต่มันถูกนิยามขึ้นมาจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวทั้งหมด” (อันนี้เป็นการตีความของผมนะ เพี้ยนจากประโยคในหนังสักนิด เพราะผมได้รับอิทธิพลจากความหมายหนึ่งของคำว่า Ubuntu ที่มีคนเคยตีความให้ผมฟังว่า “เราเป็นเรา เพราะคนอื่น” — เห็นไหมล่ะ เพราะเรารู้ต่างกัน มันก็สะท้อนภาพให้เราเห็นต่างกัน) ทุกสิ่งทุกอย่างทุกความดีความเลว ทุกความถูกความผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนสอนเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิด ที่เราเรียนรู้ ที่เราถูกปลูกฝังบ่มเพาะขึ้นมา มันเป็นการกำหนดนิยามให้ “ตัวเรา” ขึ้นมาทั้งนั้น

นั่นคือ เวลาเราที่เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะเห็นอะไรล่ะ นอกจากเงาของตัวเองที่สะท้อนไปบนสิ่งนั้น และเวลาที่เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะได้อะไรล่ะ นอกจากสิ่งที่มานิยามตัวเราเองมากยิ่งขึ้น เป็นวัฏจักรไม่มีจุดจบสิ้น

ก็เลยมาถึงประเด็นหนักๆ ของหนังเรื่องนี้กันล่ะครับ นั่นก็คือ “ความรู้” “ความจริง” และ “ความกลัว”

เพื่อให้เห็นความแรงของเรื่องนี้ชัดขึ้น เรามาดูประเด็นรองลงมาก่อน (ซึ่งหลายคนมองเป็นประเด็นหลัก เพราะมันเห็นได้ชัดเจนตลอดเรื่อง) นั่นก็คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือที่ในเรื่องบอกตลอดเวลาว่า “มันมีลำดับตามธรรมชาติ สิ่งที่อ่อนแอกว่า ก็จะถูกสิ่งที่แข็งแรงกว่ากินเป็นอาหาร” หรือ ห่วงโซ่อาหาร ความสัมพันธ์แบบ ผู้ล่า-เหยื่อ (Predator-Prey) อะไรทำนองนี้

หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นแบบชัดเจนมากในเรื่องนี้ … และเป็นการสะท้อนที่แรงมาก เพราะอะไรหรือ ลองสังเกตอะไรบางอย่างดูไหมล่ะครับ

  • เรื่องมนุษย์กินคน ที่เป็น “ผู้ล่า-เหยื่อ” ชัดเจนมาก เรียกว่า เหยื่อจะรู้ตัวเองว่าเป็นเหยื่อ จะกลัวผู้ล่า หนีผู้ล่า และไม่กล้าสู้กับผู้ล่าของมันเด็ดขาด
  • เรื่องการค้าทาส ที่เริ่มเปลี่ยนเป็น Master-Slave มากกว่า “ผู้ล่า-เหยื่อ” นะ และเครื่องมือเริ่มเปลี่ยนจาก “ดาบ มีด กำลัง” มาเป็น “การปลูกฝังความเชื่อ” รวมถึง “ความสบาย” มากขึ้น แต่ก็แน่นอนว่ายังมี “ปืน แส้” เป็นองค์ประกอบด้วย
  • เรื่องนาย-บ่าว ผู้ช่วยทำงานล่ะ ความสัมพันธ์นี้ก็พัฒนาไปอีกขั้น เครื่องมือไม่ใช่กำลังอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมยิ่งขึ้น เช่น “สถานะทางสังคม” และ “ชื่อเสียง” แต่แน่นอนว่า “ความรู้” ก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน การเป็น Master-Slave มาจากความสมยอมในบริบทสังคม เพื่อสิ่งที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น มากกว่าความจำยอมด้วยลำดับตามธรรมชาติ (ของผู้ล่ากับเหยื่อ)
  • เรื่องต่อมา ยิ่งเป็นนามธรรมมากขึ้น และแรงมากขึ้น ก็คือยุคที่คนส่วนมาก กลายเป็น “เหยื่อ” โดยที่ไม่รู้ตัว จากข้อมูลข่าวสาร จากการผูกขาดการค้า คนส่วนมาก อยู่ในภาวะจำยอมจากผลของปลาตัวใหญ่ๆ ที่เล่นเรื่องผลประโยชน์จากพลังงาน ลองมองรอบตัวเราในปัจจุบันสิ ว่าเราเป็น “เหยื่อ” ของอะไรบ้าง ที่ส่งบิลมาเก็บเงินเราแต่ละเดือน จริงหรือไม่ล่ะ (นึกถึงเรื่อง 3G กับผลประโยชน์ของอะไรไม่รู้ ที่เอาประเทศชาติเป็นตัวประกันบ้างหรือเปล่าไม่รู้)
  • เรื่องสุดท้าย ที่แรงมาก ก็คือ “การสร้างคนขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อ” และ ​”ปลูกฝังความรู้และความเชื่อ”

เรื่องสุดท้ายสะท้อนแรงจนคงต้องเขียนย่อหน้าใหม่กันเลยทีเดียว … เพราะทุกวันนี้ …​ มันก็เป็นแบบนั้น

“ซอนมี-451” คนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อของระบบที่ใหญ่กว่านั้น ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าการก้าวไปทีละขั้นๆ ในระบบที่ถูกกำหนดไว้ดีแล้วนั้น เป็นเส้นทางสู่อะไรสักอย่าง (การถึงที่หมายละกัน) แต่แท้จริงแล้ว “ที่หมาย” ท่ีว่านี้คืออะไรหรือ ก็คือการเป็น “อาหาร” ให้กับคนอื่นในระบบน่ะแหละ

ภาพซ้อนจากหนังเรื่อง The Matrix ตอนที่ Morpheus ทำให้ Neo ตื่นขึ้นมาเห็น “ไร่พลังงานมนุษย์” โผล่ขึ้นมาในหัวผมเลยทีเดียว และถึงกับขนลุกเมื่อผมเห็นฉากสุดท้ายของระบบนั้น … ผมเดินออกจากโรงหนัง นึกถึงระบบที่มีในบ้านเราหลายต่อหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบอำนาจ ระบบการศึกษา หรือระบบอะไรก็ตาม .. สิ่งที่ผมอ่านจากหนังสือหลายต่อหลายเล่ม ถล่มลงมาในที่เดียวกันหมดเป็นภาพเดียวกันหมดตรงนั้น….

ใช่ครับ เรากำลังอยู่ในระบบแบบนั้นน่ะแหละ เราถูกสร้างขึ้นมาให้เชื่อในระบบและโครงสร้างแบบนั้น โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ ทีละขั้น ทีละขั้น ที่เราถูกใส่ Serial Number ที่สะท้อนกระบวนการผลิต (เช่นรหัสนักศึกษา) ออกมาเพื่อให้เรากลายเป็นอาหารของสิ่งที่ใหญ่กว่าเราอย่างเต็มใจ (เราเดินร้องเพลงอย่างเต็มใจเพื่อไปเข้าโรงเชือดให้เป็นอาหาร)

วิวัฒนาการของกระบวนการอะไรก็ตาม มักจะลงเอยด้วยการ Industrialize หรือการ Mass Produce ตั้งแต่ยุคของการทำการเกษตร ที่มาแทนการเก็บของป่าและการล่าสัตว์ จนมาถึงปัจจุบันที่เราผลิตคน และสร้างคนขึ้นมาตามกระบวนการอะไรบางอย่าง ปลูกฝัง “อาหารสมอง” บ่มเพาะด้วย “ความรู้” และ “ความเชื่อ” อะไรบางอย่าง เพื่อให้คนเหล่านั้นเป็นเหยื่อและเป็นทาสของระบบ ที่ทำให้ระบบนี้มันอยู่ต่อไปได้

และเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่ใช้มาทุกยุค ก็คือ “ความกลัว”

ความกลัว ถูกสร้างได้หลายรูปแบบจากผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่เป็นผู้ล่า กับเหยื่อของตัวเอง (ครั้งหนึ่งผมเคยเจอกับพระป่าที่ไม่กลัวเสือ และท่านสอนผมว่า “ลูกเอ๋ย มีแต่เหยื่อของเสือเท่านั้นแหละ ที่กลัวเสือ”) ไม่ว่าจะเป็นจากการเขียนหน้าเขียนตาให้น่ากลัว การใช้กำลัง ดาบ ปืน อาวุธต่างๆ จนมาเป็นเครื่องมือที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อเสียง สถานะทางสังคม ข่าวสาร สื่อ หรือแม้กระทั่งความกลัวที่จะหนีจากชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่ง ที่อันที่จริงมันอาจเป็นเพียงประตูบานหนึ่งก็ได้ และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งเครื่องมือที่ว่านี้ก็จะวิวัฒนาการเป็น “มโนภาพ” ของ “สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมา” ให้ทุกคน “เหมือนกันหมด” … “ความแตกต่าง คือ ความกลัว”

นี่คือสิ่งที่แรงที่สุดที่ผมเห็นจากหนังเรื่องนี้:

ถ้า “ชีวิตไม่ใช่ของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย เราคือสิ่งที่ถูกกำหนดและนิยามขึ้นมาจากทุกอย่างรอบตัวเรา” แล้ว “เราคืออะไร?” .. เราทุกคนถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเหยื่อ เป็นอาหาร ให้กับระบบที่เราสร้างขึ้นมาเอง ระบบที่มีปลาใหญ่ ระบบที่มีคนที่เหนือกว่าเรา ระบบที่เราจะอยู่ในภาวะจำยอมกับการที่เป็นแบบนี้ ผ่านความรู้ ความเชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย และเราก็กลัว ที่จะก้าวเท้าออกจากมันแม้แต่เพียงก้าวเดียว

สิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับความกลัวได้ ก็คือ “ความจริง” ซึ่งในหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าจะมีตัวละครตัวหนึ่ง ที่มีหน้าที่ “รักษาความกลัว” โดยการไม่ให้คนเข้าถึง “ความจริง” อยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ปลูกฝังกันมาให้เชื่อตามๆ กัน การฆ่านักข่าว … และสุดท้าย “การกำจัดความต่าง”

ทำไมน่ะหรือ … เพราะสุดท้ายแล้ววิวัฒนาการของระบบมันจะพาเราไปหาจุดที่เครื่องมือทุกอย่างเป็นนามธรรม เป็นเพียงภาพลวงตาที่มันจริงในมโนภาพของเราเท่านั้น การที่มี “คนที่แตกต่าง” ขึ้นมาเพียงคนหนึ่ง อาจจะทำให้ระบบที่สร้างไว้ทั้งหมดพังทลาย เพราะการที่ต่างได้ จะเป็นผลโดยตรงกับ “ความเชื่อ” ทั้งหลายที่ถูกปลูกฝังและสะสมมา ดังนั้น “การกำจัดความต่าง”​ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาระบบ

แล้วเราจะทำอะไรกันล่ะ เมื่อเราอยู่ในระบบแบบนี้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรามันเป็นระบบแบบนี้? ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราเหมือนกับจะเป็น The Matrix เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด และมีคนที่เหมือนกับเป็นสาวเสื้อแดง ที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ปกป้องระบบ เพราะระบบทำให้เขามีตัวตนอยู่ได้เต็มไปหมด

คำตอบมีอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้คือ ตั้งแต่ Tagline ที่ว่า “Everything is Connected” หรือทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยแค่ไหนก็ตาม ใครจะไปคิด ว่าเรื่องเล็กน้อยที่คนๆ หนึ่งทำ เช่น ละครชีวิตตัวเอง จะกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติทางความเชื่อในอนาคตกันไกลโพ้นได้ และการปฏิวัติทางความเชื่อนั้นๆ แม้ว่าจะจบลงด้วย “การกำจัดความต่าง” แต่เมล็ดของความเชื่อใหม่ ก็ถูกส่งกระจายออกไปยังที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อใหม่ในอนาคตที่ไกลโพ้นออกไปอีก

อนาคตมันเป็นเพียง “ผล” ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ในลักษณะ Collective ไม่เพียงแค่คนๆ เดียวคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนที่เราทำ ทั้งสิ่งดี สิ่งไม่ดี สิ่งที่เราไม่ได้ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมมา .. แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็น หยดน้ำในมหาสมุทร” แต่ “มหาสมุทรคืออะไรเล่า ถ้าไม่ใช่หยดน้ำมหาศาลรวมกัน”

ไม่มีอะไรที่สูญเปล่าและไม่มีอะไรที่ตาย การกลับมาเกิดใหม่เป็นไปได้เสมอ แม้จะไม่ใช่การกลับมาเกิดใหม่ในแบบที่หลายคนคิด (คนนี้ตายกลับมาเกิดใหม่เป็นคนนั้น) แต่เป็นการกลับมาเกิดใหม่ของ “ความคิด” การกลับมาเกิดใหม่ของ “ความเชื่อ” การกลับมาเกิดใหม่ของ “วิญญาณ” ผ่านการกระทำและสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ ได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังลงไปใหม่เป็นเมล็ดความคิดให้กับอีกคนหนึ่ง อีกที่หนึ่ง อีกเวลาหนึ่ง

แต่ว่า … สุดท้ายมันก็นำมาซึ่งระบบอีกระบบหนึ่ง … นั่นเอง

ป.ล. มีคนถามว่าทำไมจึงเป็นชื่อ Cloud Atlas … ตอนแรกที่ผมดู ผมคิดว่ามันคือ “แผนที่ของเมฆ” ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา แล้วแต่เราจะตีความว่าเป็นรูปอะไร แต่เมื่อผมดูจบแล้ว ผมรู้สึกว่า “เป็นไปไม่ได้” มันน่าจะมีความหมายอย่างอื่นแน่นอน ก็เลยมาค้น Google ดู … ใช่สิ Atlas คือเทพตามตำนานกรีกที่ถูกสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ให้แบกโลกไว้บนบ่า … จะหมายความว่าอย่างไรดีล่ะ … ถ้าสิ่งที่พวกเราต้องแบกไว้บนบ่า คือ มโนภาพที่จับต้องไม่ได้ ทะลุได้ทั้งหมด แต่เมื่อมองไกลๆ มันดูเหมือนมีรูปร่าง มีตัวตน ยิ่งใหญ่ และน่ากลัว (เวลาพายุกำลังตั้งเค้า) … เช่นเดียวกับ “เมฆ” (Cloud)

รู้สึกยังไงกันบ้างล่ะครับกับ “มโนภาพที่ไร้ตัวตน ที่แบกไว้อย่างหนักอึ้งอยู่บนบ่า”? ลองดูใน “วันที่ไม่มีเมฆ” สิครับ ว่า “ฟ้าสวยแค่ไหน” และเรารู้สึกว่า “เป็นอิสระ” แค่ไหน (และนี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่มีการเล่นประเด็นในหนังเรื่องนี้ตลอดเวลา)

Myth: Basic & Easy ..​เรื่องง่าย ที่มักเข้าใจผิด

เรื่องหนึ่งที่ผมพูดบ่อยมาก ก็คือ “พื้นฐาน (Basic) ไม่ง่าย” ซึ่งสวนกับความเข้าใจหรือความคิดโดยทั่วไปของคนส่วนมาก (เท่าที่รู้จัก) ว่า “Basic = ง่าย” และ “Advance = ยาก”

ทำไมเป็นงั้นล่ะ? พื้นฐานน่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ใครๆ ก็ต้องทำได้ ส่วนเรื่องระดับสูง น่าจะยากกว่า เพราะอย่างน้อยมันต้องต่อยอดจากพื้นฐานไม่ใช่เหรอ?

อันที่จริงแล้ว “พื้นฐาน” ที่ดี จะเป็น “การรู้” เกี่ยวกับ “อะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ทำไม” หรือ What, Where, When, Why มากกว่า “อย่างไร” หรือ How ซึ่ง “การรู้” นี้จะได้มาจาก “การลงมือทำ โดยรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่” ไม่ใช่เพียงแค่ “ลงมือทำ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์” นั่นคือ

“การลงมือทำ ในระดับพื้นฐานนั้น ผลลัพธ์ที่ได้และควรใส่ใจ คือ การรู้ว่าอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และทำไม ไม่ต้องสนใจผลลัพธ์อย่างอื่นของมัน”

ยกตัวอย่างเช่น เรื่อง “Differential Calculus” ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักเรียนนักศึกษาส่วนมาก หลายคนมองว่า d(x^2)/dx = 2x เป็นท่าพื้นฐานที่ใครๆ ก็ต้องทำได้ และแบบฝึกหัด d(2x^3)/dx จะสนใจว่าได้คำตอบเท่าไหร่ … ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นฐานที่ผิดวิธีมากๆ

เพราะเรื่องพื้นฐานจริงๆ นั้น จะต้องสนใจ “นิยาม” ของ Differential Calculus ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการมองอะไรอย่างไร เช่นเราจะมองผลของการเปลี่ยนแปลงของอะไรเมื่ออะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเล็กน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ก็จะมีผลอย่างไรบ้าง เป็นฟังก์ชั่นที่กระทำกับฟังก์ชั่นได้ผลลัพธ์เป็นฟังก์ชั่น ไม่ใช่กระทำกับค่า (Value) และอื่นๆ อีกมากมายไม่ใช่แค่นี้ และแบบฝึกหัด d(2x^3)/dx ก็ไม่ต้องสนใจว่ามันจะตอบว่า 6x^2 เท่ากับที่จะต้องสนใจว่า “เห็นหรือเปล่า ว่า 2x^3 เป็นฟังก์ชั่นของ x และ 6x^2 ก็เป็นฟังก์ชั่นของ x เมื่อดูการเปลี่ยนของฟังก์ชั่นของ x ตัวหนึ่ง (ฟังก์ชั่นเหตุ) ว่าเมื่อ x เปลี่ยนไปเล็กน้อยที่สุดเท่าที่มันเป็นไปได้ แล้วผลของมันจะเปลี่ยนแปลงไปยังไง (ฟังก์ชั่นผล)”

เห็นอะไรหรือเปล่าครับ นี่ผมยังพูดถึงพื้นฐานของ Differential Calculus ในเชิง What, Where, When, Why ไม่หมดเลยนะครับ ยังเหลืออีกเยอะ นี่คือ “เปลือก” ของพื้นฐานเท่านั้นเอง

ลองดูปริมาณบรรทัดที่ใช้ในคำอธิบาย ลองดูสิ่งที่อธิบายออกมาเป็นพื้นฐาน เทียบกับสิ่งที่หลายคนคิดว่าเป็นพื้นฐาน d(2x^3)/dx = 6x^2 ว่ามันต่างกันเยอะแค่ไหน

ประเด็นสำคัญก็คือ พื้นฐาน เป็นเรื่องของความเข้าใจ ที่จะต้องลึกขึ้นเรื่อยๆ ตามการกระทำจริง ที่ทำแล้วได้ความเข้าใจพื้นฐานเพิ่มเติม ซึ่งก็คือผลลัพธ์ในเชิงความเข้าใจ (อะไรคือ Calculus มันคือเครื่องมือที่ใช้อะไรเป็น Input และให้อะไรเป็น Output และเราจะใช้มันกับโลกรอบๆ ตัวได้ยังไง) ไม่ใช่ผลลัพธ์จากเทคนิค (6x^2)

ดังนั้น ในการศึกษาพื้นฐานหลายต่อหลายครั้ง จำเป็นที่จะต้องมี “ตัวอย่างเชิงเทคนิคที่ง่าย” หรือตัวอย่างที่ไม่เน้นการใช้ How เพราะตัวอย่างที่ง่ายและไม่ซับซ้อนนั้น จะทำให้เราชี้ถึงประเด็นของ What, Where, When, Why ได้ง่ายกว่าตัวอย่างที่ซับซ้อน ที่จะทำให้หลงไปในเทคนิคของวิธีการได้ง่าย

แต่อนิจจา …. สำหรับบ้านเรา ที่เน้นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ (6x^2) มากยิ่งกว่าอะไรทั้งปวง รวมถึงผลลัพธ์เชิงความเข้าใจ (อะไรคือ Calculus ฯลฯ) นั้น การสนใจแต่ “ทำอย่างไร” กลายเป็นเพียงจุดเดียวที่สนใจ และหลายต่อหลายคนก็พยายามหาสูตรลัดหรือทางลัดไปยังคำตอบของวิธีการ สนใจแต่เรื่อง How และเทคนิคการได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่จับต้องได้ … ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า “พื้นฐานเป็นของง่าย” ไม่ใช่เพราะมันง่ายนะ แต่เป็นเพราะว่า “มันใช้ How ง่ายๆ”

คำพูดติดปากผมในช่วงหลังๆ ก็คือ

มันไม่มีอะไรยากหรอก ถ้าคุณคิดว่ามันยาก “ก็เพราะว่าคุณไม่มีพื้นฐานมากพอที่จะทำให้มันง่าย”

และ

สิ่งที่ยากที่สุด คือ “พื้นฐาน”

ยิ่งศึกษาอะไรที่มันระดับสูงขึ้นไปเท่าไหร่ โดยไม่ใช่แค่สักแต่จะทำให้มันได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้ แต่เพื่อให้ได้ผลที่ใหญ่กว่านั้น คือความเข้าใจถึงสิ่งนั้นๆ ที่ลึกยิ่งขึ้น มองเห็นมันมากขึ้น จับต้องมันได้ในมโนภาพและจินตนาการมากขึ้น มันจะยิ่งส่งผลกลับไปยังพื้นฐานมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญมาก …

พื้นฐานที่ดี จะต้องชัดเจน ไม่คลุมเครือ และมักจะเรียบง่ายกว่าความซับซ้อนเชิงเทคนิคต่างๆ ที่เรามองเห็น

ทั้งนี้ผมจะต้องขอสร้างความชัดเจน 1 จุดตรงนี้ คือ

“เรียบง่าย = Simple” นะ ไม่ใช่ “ง่าย = Easy”

คำว่า “เรียบง่าย” เป็นคำๆ เดียว แยกไม่ได้ ไม่ใช่ Easy นะ คนละเรื่อง คนละเรื่อง และคนละเรื่อง … การจะมองหาและทำความเข้าใจอะไรให้เรียบง่าย เป็นเรื่องที่ยากมาก และต้องมีพื้นฐานที่ดีมาก ถึงจะฉีกหน้ากากของความซับซ้อนเชิงเทคนิค มองทะลุฉากหน้าทั้งหลายทั้งแหล่ลงไปได้

ถึงผมจะยก Calculus มาเป็นตัวอย่าง แต่ทุกอย่างมันก็เข้าข่ายแบบนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาดนตรี การเขียนโปรแกรม การเล่นกีฬา การศึกษาวิทยาศาสตร์หรือปรัชญา การศึกษาสังคม ฯลฯ

ป.ล. ฝากไว้ตรงนี้นิดหน่อย: “หนังสือ iOS Application Development ฉบับ Remake Edition สำหรับ iOS 6 SDK ที่ผมกำลังเขียนอยู่นั้น เป็นหนังสือ ‘พื้นฐาน’ มากๆ และแน่นอนว่า ‘มันไม่ใช่หนังสือที่ง่าย’ (Know-How อาจจะง่าย แต่ Know What, Where, When, Why หนักมากแน่นอน)”

จะอยู่กับ “ปัจจุบัน” อย่างไรดี?

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “จากอดีต สู่อนาคต (ไม่ใช่แบบที่คิดนะ)” ไปเมื่อค่อนข้างนานมาแล้ว ในบทความนั้นเนื้อหาหลักๆ ได้พูดถึงการก้าวเท้าจากความอดีต ไปหาอนาคต โดยไม่ให้เงาของอะไรก็ตามจากอดีตไปตามหลอกหลอนเราตลอดชีวิต

วันนี้ผมเขียนเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง จะเป็นอะไรที่ค่อนข้าง personal มากขึ้นกว่าความที่แล้วนิดหน่อย และโฟกัสกับแค่เรื่องเดียวคือ “ปัจจุบัน”

ย้อนกลับไปที่คำถามหนึ่งที่ผมเคยถามในการพูดในงาน ThinkCamp ครั้งล่าสุด และในบทความก่อนหน้านี้ คือ “คนเราทุกข์กับอะไร”?


ThinkCamp.004.jpg

คำตอบง่ายๆ จากภาพนี้ก็คือ เราทุกข์กับเรื่องแค่ 2 เรื่อง นั่นก็คือ

  1. อดีต ซึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว เราทุกข์กับอดีตเพราะ “ความรู้ในปัจจุบัน” (what we know today) แล้วเกิดอาการอยากกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาแล้ว คำพูดว่า “ถ้ารู้งี้นะ …” กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากคำหนึ่ง ไม่ว่าจะจากใครก็ตาม … เรามักต้องการแก้ไขอดีต
  2. อนาคต ซึ่งก็คือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังคงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราทุกข์กับอนาคตก็เพราะความกลัว กลัวนี่ กลัวนั่น กลัวโน่น กลัวสิ่งที่เรากลัวว่าจะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นจริงๆ กลัวว่าวันหนึ่งเราจะเสียใจแบบในอดีต กลัวว่าอนาคตจะไม่เป็นอย่างที่เราฝัน …. เรามักต้องการคำตอบที่แน่นอนตายตัว การรับประกันอนาคต

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ

เราทุกข์เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรากลับอยากได้ความแน่นอนจากสิ่งที่มันยังคงเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เราทุกข์เพราะเราไม่ยอมรับธรรมชาติของทั้งอดีตและอนาคต ธรรมชาติของกาลเวลา

ทางออกเรื่องนี้มีทางเดียว ก็คือการยอมรับธรรมชาติที่ว่านี้ และ “อยู่กับปัจจุบัน” ซึ่งปราศจากทุกข์ เป็นความว่างเปล่า ส่วนวิธีในการอยู่กับปัจจุบันนี้ก็คือแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผมในปัจจุบันด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ post ลง Facebook ไปครั้งหนึ่ง แต่เป็นภาษาอังกฤษ) สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. ทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่มีในปัจจุบัน ทำมันให้ดีแค่ที่จะดีได้ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ทำดีที่สุดแค่ที่ใจมันอยากจะทำ อย่าเบียดเบียนตัวเอง ทำอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้น หรือตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้น
  2. ไม่ต้องไปพยายามเข้าใจปัจจุบัน (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  3. ไม่ต้องพยายามรื้อฟื้นอดีตเพื่อที่จะเสียดายหรืออยากเปลี่ยนแปลงอะไร (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  4. ไม่ต้องพยายามไปคิดถึง หรือรู้อนาคต (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  5. มองย้อนดูอดีต ด้วยสิ่งที่เรารู้ในปัจจุบัน เชื่อมจุดทั้งหมดเข้าด้วยกันทีละจุดๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นๆ ทำให้เกิดทุกวันนี้ได้ยังไงทีละจุดๆ (เช่น จากเรื่อง “คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย” ที่กำลังเขียนค้างอยู่ การที่มีนยิ้มให้ผม ทำให้เรารูํ้จักกัน แล้วทำให้ผมรู้สึกตัวเองไม่ดีพอ จนขยันเรียน การที่ติดต่อมา และความโง่ของผมในวันนั้น ทำให้ผมเขียนโปรแกรมเป็นอยู่ทุกวันนี้ ฯลฯ) ไม่ต้องคิดเสียดาย ไม่ต้องไปคิดเปลี่ยนอะไรมัน
  6. มองไปอนาคต ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน (ข้อ 1.) มันจะพาเราไปไหนสักที่หนึ่งแน่นอน และวันหนึ่งในอนาคตนั้นๆ เราจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ กำลังเจออยู่ในปัจจุบัน เหมือนที่เราเอาสิ่งที่เรารู้จากปัจจุบันมองย้อนไปในอดีต

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ

อดีตมีไว้เข้าใจ ว่าทำให้ปัจจุบันมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีในปัจจุบัน และอนาคตมีไว้เปลี่ยนแปลง ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในปัจจุบัน

จริงๆ แล้วเรื่อง “คนแรกของหัวใจฯ” ที่ผมกำลังเขียนๆ อยู่เนี่ย ก็มาจากแบบนี้น่ะแหละ ผมมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยความรู้ของทุกสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน หลายอย่างที่ผมไม่เข้าใจตอนนั้น หลายอย่างที่ผมเสียใจตอนนั้น วันนี้ผมมองเห็นมันชัดขึ้นเยอะ ว่ามันต้องเกิดขึ้นเพื่ออะไร

สมัยเรียน ผมไม่เคยคิดหรอก ว่าวันหนึ่งผมจะมาเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร ผมจะมานั่งเขียนบทความนี้ ผมจะมีบริษัทซอฟต์แวร์ทำแอพบนโทรศัทพ์ ผมจะเขียนหนังสือขาย ผมจะเป็นผู้บริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย … สิ่งที่ผมอยากเป็นไม่เคยเป็นสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ยิ่งย้อนกลับไปตอนเด็กเท่าไหร่ สิ่งที่เราอยากเป็นยิ่งต่างจากนี้มากขึ้นๆ ผมอาจจะเคยอยากเป็นคนสร้างหุ่นยนต์ อาจจะเคยอยากเป็นคนขายโรตี (เพราะน่าสนุกดี) อาจจะเคยอยากเป็นอะไรก็ไม่รู้มากมาย

ชีวิตเราทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น แต่เป็นสิ่งที่เราทำให้ตัวเองเป็นต่างหาก

ดังนั้น เลิกอยากให้อะไรเป็นอย่างไรเสียที เพราะมันจะไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก เสียเวลาเปล่าๆ ด้วย แต่จงลงมือทำอะไรสักอย่างในวันนี้ เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้ แล้ววันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่าคุณจะเข้าใจ ว่าสิ่งที่คุณทำในวันนี้คุณทำไปเพื่ออะไร

มีประโยคหนึ่งจากหนังเรื่อง The Time Machine (เวอร์ชั่นปี 2002) ที่ผมชอบมาก

You’re inescapable result of your own tragedy.

พูดเป็นภาษาพุทธหน่อย ก็คือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” และ “กรรม” ก็คือ “การกระทำ” นั่นแหละ ชีวิตเราทุกวันนี้ ก็คือผลที่หนีไ่ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยทำมา และชีวิตเราในวันข้างหน้า ก็คือผลที่หนีไม่ได้จากทุกสิ่งที่เราเคยทำมา และทุกอย่างที่เรากำลังจะทำในวันนี้เอง

การไม่ทำอะไรเลย แล้วรอเวลาในอนาคตให้มาถึงเฉยๆ เราก็แค่ลากสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันให้มันยาวต่อไปถึงอนาคต ก็เท่านั้นเอง

อย่าปล่อยให้ชีวิตของเรา กลายเป็นผลที่หนีไม่ได้ จากการไม่ทำอะไรของเราเลยครับ มันจะเป็น tragedy (โศกนาฏกรรม) เสียเปล่าๆ

จากอดีต สู่อนาคต (ไม่ใช่แบบที่คิดนะ…)

มนุษย์เรา จะมองเห็นแต่อดีตโดยธรรมชาติ

เพราะเรามองเห็นแต่แสงที่สะท้อนออกจากวัตถุเท่านั้น แสงก็ต้องการการเดินทางเหมือนทุกอย่าง กว่าจะสะท้อนเข้าตาเรา กว่าสมองจะประมวลผล มันอาจจะเป็นเวลาที่รวดเร็วเหลือเกินในการรับรู้ถึงกาลเวลาของเรา แต่มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่นานมากในช่วงเวลาของอนุภาคเล็กๆ

บนท้องฟ้าที่ชวนฝันตอนกลางคืน เราเห็นดาวสวยงามมากมาย แต่ที่จริงแล้วดาวเหล่านั้นหลายดวงก็ดับแสงลงไปนานมากแล้ว เพียงแต่แสงสุดท้ายของมันยังเดินทางมาไม่ถึงเราเท่านั้น เราจึงเห็นแต่อดีตอันจรัสแสงของพวกมันอยู่แบบนี้ หาใช่ปัจจุบันของพวกมันไม่

แล้วอนาคตล่ะ?

หลายคนบอกว่าอนาคตต้องใช้ใจมอง ต้องจินตนาการ แต่เราจินตนาการยังไงล่ะ?

โดยปกติแล้วจากการทำงานของสมองคนเรา จะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างไว้โดยไม่มีใครเข้าใจว่าสมองจำอย่างไร สมองมีระบบฐานข้อมูล การ Indexing การทำ Memcache การ Query การทำ Hashing การ Search การ Sort อย่างไร เรารู้แต่ว่าสมองส่วนหนึ่งจะทำงานเหล่านี้เองอย่างอัตโนมัติเมื่อมันอยากจะทำ (เราสั่งมันไม่ค่อยได้ด้วยนะ) … จากนั้นสมองอีกส่วนหนึ่งก็ค่อยเอาสิ่งที่ได้คืนมาเนี่ยแหละ มาผสมผสาน เรียบเรียง ออกมาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้

แต่ลองคิดดีๆ จะพบความน่ากลัวง่ายๆ อยู่อย่างหนึ่ง ว่าแม้แต่จินตนาการไปยังอนาคตที่ไม่เคยไป ก็ยังหนีเงาของอดีตไม่เคยพ้น ก็ยังเป็นการผสมผสานกันของภาพอดีต ที่สมองส่วนหนึ่งโยนขึ้นมาให้โดยไม่รู้ว่ามันจะโยนอะไรขึ้นมา

ลองดูภาพนี้จากการนำเสนอในงาน ThinkCamp ครั้งล่าสุดของผม


ThinkCamp.004.jpg

ความทุกข์ของคนเรา มันมีอยู่แค่นี้แหละครับ: อดีต และ อนาคต ส่วนปัจจุบันคือความว่างเปล่าทั้งสิ้น

อดีต เราทุกข์กับความเสียใจ ความเสียดาย ความผิดหวัง ความผิดพลาด ฯลฯ ส่วนอนาคตที่เป็นเงาของอดีตผสมผสานกันนั้น เราจะทุกข์กับอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ “กลัวเงาอดีต” ที่มันตามหลอกตามหลอน กลัวที่จะเป็นอย่างที่อดีตเป็น กลัวที่ความเสียใจ ความเสียดาย ความผิดหวัง ความผิดพลาด ฯลฯ เหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นซ้ำกับเราอีก

แล้วจะทำอย่างไรดีกับอนาคต?

มันมีคำคมๆ อยู่เยอะแยะมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมคงไม่พูดถึงพวกมันมากนัก เพราะคำคมส่วนมากจะมีไว้ให้โลกสวย มีไว้สนองนี้ดทางความคิด ที่รู้แล้วต้องบอกว่า “แล้วไง” ซะมากกว่า …. ยกเว้นไว้อันหนึ่ง …

“Don’t worry about what anybody else is going to do… The best way to predict the future is to invent it.
— Alan Kay

อนาคต ฝันถึงไม่ได้หรอกครับ เพราะมันจะเป็นเพียงแค่เงาอดีต ผสมผสานกับความอยาก ความกลัว ฯลฯ ในใจเราเท่านั้นเอง

อย่าคิดว่าอยากได้ประเทศไทยแบบไหน อย่าคิดว่าอยากได้ตัวเองแบบไหน อย่าคิดว่าชีวิตแต่งงานจะเป็นยังไง อยู่ด้วยกันแล้วจะเป็นยังไง ฯลฯ เพราะเราจะโดนหลอกหลอนด้วยความอยาก ผสมผสานมันไปกับความกลัว อยากเป็นอย่างคนอื่น กลัวไม่เป็นอย่างคนอื่น กลัวสิ่งที่เคยเกิดขึ้นที่อื่นเกิดกับเรา กลัวสิ่งที่เคยเกิดกับเราเกิดซ้ำอีก ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ ถ้ามันเกิดอะไรแบบนี้ล่ะ ฯลฯ

จากที่ผมเห็นและเจอมา … อนาคตที่เกิดจากเงาหลอนของอดีต มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราวาดมันด้วยความกลัวจากอดีต จากความอยากในอดีต (ไม่ว่าจะอดีตของเราหรือของคนอื่น) เท่านั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด (ผมเอาตัวอย่างนี้มาจากละครเรื่อง 365 วันแห่งรัก): เรากลัวจะถูกทิ้ง เรากลัวว่าอีกคนจะรำคาญเรา …. จนกระทั่งเราทำอะไรลงไปรู้มั้ย เรากลัวเค้ารำคาญ เลยไม่คุยอะไรกับเค้าเลยสักนิด แต่เมื่อเห็นเค้าไม่สนใจอะไรเราแค่เพียงบางอย่าง เราก็จะถามทันทีว่าไม่รักเราแล้วเหรอ ไม่สนใจเราแล้วใช่มั้ย … ลองคิดดูขำๆ นะครับ จะกลายเป็นว่าเรื่องเดียวที่คุยกันคือ ถามว่าไม่รักแล้วใช่มั้ย ไม่สนใจแล้วใช่มั้ย ทำอะไรก็นอยหมด … สุดท้ายก็เกิดรำคาญขึ้นจริง และก็เลิกกันจริง …. กลายเป็นการสนองสมมติฐานเบื้องลึกในใจเรา ว่า “เห็นมั้ย ว่าแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้” และกลายเป็นอดีตเพื่อหลอกหลอนอนาคตต่อไป

เรากลัวแต่เราจะไม่เจริญ จนเราไม่เจริญ เราเอาแต่กลัวว่าเราจะไม่เก่ง ทำอะไรไม่เป็น จะตกงาน จนกระทั่งเราไม่เก่ง ทำอะไรไม่เป็น และตกงาน เรากลัวเหงา เรากลัวต้องอยู่คนเดียว เรากลัวผิดหวังในความรัก จนเราเลือก เลือก เลือก และกลัว กลัว กลัว จนเราต้องอยู่คนเดียวจริงๆ ฯลฯ ก็เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ทั้งนั้นถ้าอยากจะหยิบยกมา

กลับมามองที่โลกกลมๆ แป้นๆ ใบนี้สักนิด … กับคำถามที่ผมใช้บ่อยที่สุด


ThinkCamp.006.jpg

ใครคิดใครฝัน ว่าโลกมันจะมาเป็นแบบนี้กันบ้าง? ผมเชื่อว่าคนนับร้อยนับพัน ที่ช่วยกันเปลี่ยนช่วยกันหมุนมันจนมาเป็นแบบที่เราอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้คิดไม่ได้มี Master Plan อะไรมากมายเลย ว่าโลกมันจะมาเป็นแบบนี้ … แต่ผมเชื่อว่าคนเหล่านั้น “ทำ” โดยไม่ได้คิดว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไรมากมาย

มันมีเส้นทางมากมายในการไปข้างหน้า แต่ถ้าจะมัวแต่นั่งคิดนั่งแพลนว่าจะไปไหน ไปแล้วทำอะไรอย่างไร แล้วจะให้ได้ตามนั้น โดยที่ไม่เคยก้าวขาออกไปสักที ก็จะไม่ได้ไปไหนเลยแม้แต่ที่เดียว

ในบางเซนส์ การแค่ตั้งเป้าคร่าวๆ ว่าจะไปไหน แล้วก้มหน้าเดินมันไปทีละก้าว ทีละก้าว นานๆ ทีก็เหลือบมองเป้าสักที มันยังพาเราไปไหนสักที่หนึ่ง ซึ่งสุดท้ายอาจจะลงเอยในที่ๆ เราไม่ได้คิดไม่ได้ฝันไม่ได้อยากจะไปในตอนแรก แต่เราอยากอยู่กับมัน ระหว่างการเดินทางในเส้นทางชีวิตของเราก็ได้ … แต่เราจะไม่มีวันพบมัน ถ้าเราไม่เดินสักที

ผมชอบสุภาษิตจีนโบราณนะ ที่ว่าการเดินทางไกลแสนลี้ มันเริ่มจากก้าวเพียงก้าวเดียว … แต่ผมจะต่อให้มันครบสมบูรณ์ขึ้นก็แล้วกัน ว่า


ThinkCamp.007.jpg

ครับ มันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก “เดินซะที” และ “ไปทีละก้าว” …. ใครจะไปรู้ เราอาจพบทางแยกในก้าวที่พัน เราพบสวรรค์ในก้าวที่หมื่น โดยไม่ต้องไปถึงแสนถึงล้านก็เป็นได้

สรุปปิดท้ายครับ: วิธีหลุดพ้นจากความกลัว จากเงาของอดีตที่ ก็คือ ตัดสินใจกับปัจจุบันเสียที ก้าวเดินซะ แล้วเดินไปข้างหน้าทีละก้าว อย่ารอให้อนาคตที่เรากลัวมาถึง แต่เดินไปหาอนาคตที่เราสร้าง (ไม่ใช่แค่อยากได้) ทีละก้าวเอง

[update 01/04/2555]: วันนี้ไปโพสท์อะไรลง facebook นิดหน่อย คิดว่าเกี่ยวๆ กันนิดหน่อย ก็เลยขอ update ตรงนี้ด้วย

ความฝันบางอย่าง มันไม่มีวันเป็นจริง
แผลเป็นในใจบางอย่าง มันก็ไม่มีวันเยียวยา
ต่อให้เวลาผ่านไปเท่าไหร่ ก็เท่านั้น
ตราบใดก็ตามที่เรายังเอาฝันมาสร้างเป็นมีด
เพื่อไปกรีดรอยแผลเป็นตัวเอง

เรื่องเล่า ของ “เสาสองต้น”

คุณแม่ผมเคยเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว กับเรื่องของ “เสาสอนต้น ที่คำวิหาร”

ถ้าเสาสองต้นนี้อยู่ใกล้กันเกินไปไม่มีช่องว่าง วิหารก็พังจากข้างๆ เวลามีอะไรมากระทบจากภายนอก แม้จะเพียงสายลมที่อาจจะแรงหน่อยพัดผ่าน หรือนกตัวเล็กๆ บินมาเกาะชายคา จนมันเสียความสมดุล และเสาทั้งสองก็จะต้องเหนือยกับการรักษาสมดุลกับหลังคาวิหารที่อาจจะเอียงไปเอียงมา จากอะไรก็ตามที่มากระทบ

ตรงกันข้าม ถ้ามันอยู่ห่างกันเกินไป วิหารก็พังลงมาจากตรงกลาง น้ำหนักของหลังคาที่รองรับไว้ จะมากเกินไป เกินกว่าช่องว่างตรงกลางที่เกิดจากเสาสองเสาที่ห่างกันนั้นจะรองรับไว้ได้

วิหารจะตั้งตระหง่าน ท้าทายการเปลี่ยนแปลงของการเวลาได้ ก็ต่อเมื่อเสาสองต้นที่ค้ำวิหาร ไม่อยู่ใกล้กันเกินไป จนพิงกันให้เป็นเหตุให้วิหารไม่มีความสมดุลและเสถียร ไม่ห่างกันเกินไปจนเกิดช่องว่างมหาศาลตรงกลางจนแบกรับน้ำหนักที่กดลงมาในใจกลางไม่ได้

….. ชีวิตของคนสองคน ก็เหมือนกับเสาสองต้นที่ค้ำวิหาร ….