The Flying Ducthman

ในหนังเรื่อง Pirates of Caribbean มีเรือลำหนึ่งที่ผมชอบมาก ยิ่งกว่า The Black Pearl นั่นคือ The Flying Dutchman ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผมเคยได้ยินตำนานของเรือลำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

ยอมรับว่าในตอนแรกที่ผมดูเรื่องนี้ ผมไม่ได้คิดอะไรมากเลย กับการออกแบบ The Flying Ducthman และลูกเรือ ออกจะผิดหวังเสียด้วยซ้ำ ที่ออกแบบมาเป็นสัตว์ประหลาดที่ผสมคนกับสัตว์ทะเล มากกว่าที่จะเป็น “เรือผี” แบบ The Black Pearl ในภาคแรก (อาจจะด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าไม่อยากจะออกแบบซ้ำ)

แต่ว่ายิ่งเวลาผ่านไป ผมมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ใหม่ทั้งสามภาคแบบรวดเดียวอีกรอบ และมีโอกาสนั่งคิดอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก จากการทำงานบริหารหน่วยงานราชการ (ศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากร) มาสองปีเต็มๆ …. ก็เห็นอะไรบางอย่าง ที่ “เฮ้ย เจ๋งว่ะ”

  • ก่อนอื่นขอเล่าว่า ผมมักจะเปรียบเทียบการทำงาน กับการเดินเรือในมหาสมุทรอยู่แล้ว
  • เรือทุกลำที่เดินทางในมหาสมุทร ย่อมต้องมีเป้าหมาย ไม่เช่นนั้นจะหลงทาง เรือหลายลำมีเป้าหมายที่เรียบง่าย เช่น เดินทางจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง และ Flying Dutchman ก็เช่นเดียวกัน
  • Flying Dutchman เป็นเรือที่ “เคย” มีเป้าหมาย และเป้าหมายที่ว่านั้น คือ การส่งวิญญาณจากภพหนึ่ง ไปยังอีกภพหนึ่ง
  • แต่สิ่งที่เราเห็นในภาพยนต์นั้น Flying Dutchman คือ “องค์กรที่ไร้เป้าหมาย” ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุผลอะไรก็แล้วแต่
  • ทีนี้พอเป็นองค์กรไร้เป้าหมาย ผลเป็นอย่างไร ผลคือ “การเสื่อมสลายขององค์กร” องค์กรที่ไม่ได้รับการดูแล เหลียวแล มีสภาพกลืนไปกับสภาพแวดล้อมอะไรก็ได้ที่มันเป็นอยู่ กลายเป็นแหล่งหา “ผลประโยชน์” ของลูกเรือในองค์กร ที่อ้างองค์กรเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง กลายเป็นแหล่งพักพิง “ถาวร” ของบรรดาลูกเรือ
  • การล่าผลประโยชน์ในคราบขององค์กรมันช่างน่าสะพรึงกลัวนัก หลายคนอยู่ไปนานๆ เข้า ก็ปรับตัว “ฝัง” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ไร้เป้าหมาย ล่องลอยอยู่ในทะเลเรื่อยๆ ลืมตัวตนของตัวเอง ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใคร ตัวเองเคยอยากทำอะไร ตัวเองต้องการอะไร ตัวเอง ฯลฯ อะไร จนวันหนึ่งความเป็นตัวเองก็สูญสิ้นไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาผลประโยชน์ในคราบของ “องค์กร” อย่างสนิท
  • อย่างหนึ่งที่ผมโคตรชอบเลยว่ะ ก็คือ Flying Dutchman ไม่สามารถเทียบฝั่งได้ ถ้าโดยทั่วไปแล้ว เรามักเทียบฝั่งเป็นเป้าหมาย และการ “ถึงฝั่ง” คือ การไปถึงเป้าหมาย ก็จะพบว่า องค์กรแบบ Flying Dutchman รวมถึงคนในองค์กร ไม่มีวันนั้นแน่นอน
  • การเปลี่ยนกัปตันเรือ (= การเปลี่ยนผู้บริหาร) อาจจะนำมาซึ่ง “เป้าหมาย” ให้กับองค์กร (เหมือนที่ลูกเรือคนหนึ่งบอกว่า “เรือลำนี้มีเป้าหมายอีกครั้ง”)
  • ซึ่งเมื่อองค์กรมีเป้าหมาย เราอาจจะได้เห็นความเป็นตัวเองของลูกเรือแต่ละคนอีกครั้ง เป็นลูกเรือที่ช่วยกันเพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย (และตัวเองก็ไปถึงเป้าหมายร่วมกับองค์กร) โดยยังคงเป็นตัวเองอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับสมัยที่ยังไร้เป้าหมาย ที่ “เหมือนจะทำงาน” แต่ว่าไปไม่ถึงไหน หาประโยชน์อะไรบางอย่างไปวันๆ
  • แต่ว่าไอ้พวกองค์กรไร้เป้าหมายพวกนี้อ่ะนะ ว่าไป ก็ชอบเป็นมาเฟียน่านน้ำ ใช่มั้ยล่ะ ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่ เป็นที่หวาดกลัวของบรรดานักเดินเรือที่มีเป้าหมายทั้งหลาย

ตัดกลับมาที่องค์กรของเราๆ ทั้งหลายนะครับ ลองถามเล่นๆ ว่า “องค์กรของเรามีเป้าหมายหรือเปล่า” ไม่ใช่เป้าหมายเชิงผลประโยชน์ หรือว่าการหาผลประโยชน์นะครับ ไอ้พวกนั้นเซ็ตง่าย และถ้าเซ็ตเป็นเป้าหมายหลักเมื่อไหร่ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Flying Ducthman ตั้งแต่ต้น (คือเป็นเรือที่เกิดมาเป็น Flying Dutchman เลย)

หากองค์กรของเรามีเป้าหมายไม่ชัดเจน วัดไม่ได้ว่าไปถึงไหนหรือเปล่า เราสังเกตดีๆ ว่ามันจะเป็นเหมือนกับ Flying Dutchman น่ะแหละ คือเป็นแหล่งรวมคนที่ต้องการประโยชน์ในคราบองค์กร ที่อาศัยองค์กรเป็นแหล่งฝังตัวอย่างเหนียวแน่น สับสนระหว่างผลประโยชน์ตัวเอง พวกตัวเอง และผลประโยชน์ขององค์กร ฯลฯ

อย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ในองค์กรหลายองค์กร มีการพูดถึง “หน้าที่” ก่อน “เป้าหมาย” ซึ่งผมบอกได้เลยว่า “งี่เง่า” ครับ บนเรือ Flying Dutchman มีลูกเรือทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย แต่พาองค์กรไปไหนกัน? เพราะว่า Flying Dutchman ในฐานะขององค์กรมันไม่ได้มีเป้าหมายอะไร (ใน timeline ของหนัง) พูดอีกแบบคือ มันกลายเป็นเครื่องมือในการทำอะไรก็ไม่รู้ของใครบางคน (หรือของกลุ่มบุคคล) ผิดวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ตั้งมาตั้งแต่ต้น

ในองค์กรที่มีแต่ “หน้าที่” แต่ไม่มี “เป้าหมาย” ความอันตรายของมันก็คือ ทุกคนจะคิดว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” แต่ว่ามันอาจจะ pointless ไม่ได้พาอะไรไปไหนเลย ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากภาพลวงตาว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” อย่างหนักหนา ตาม “หน้าที่” ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ที่น่ากลัวคือ หลายองค์กรมี “หน้าที่” แต่กลับไม่มี “เป้าหมาย” จริงจัง มีเพียง “เป้าหมาย” ที่ลอยไปลอยมา เอาไว้พูดติดปากให้เท่ๆ เก๋ไก๋ เวลามีใครถามเท่านั้นเอง .. ก็มักจะลงเอยด้วยการอ้าง “หน้าที่” นั้นแหละ มาทำลายความเจริญหรือความคืบหน้าอันควรจะเป็น “เป้าหมาย” ขององค์กรตามที่มันถูกตั้งมาแต่ต้น อย่างแน่เสียดาย

update 1 : มีอะไรเพิ่มเติมนิดหน่อย … สังเกตมั้ยว่ากัปตันเรือจะต้องเริ่มด้วย “ให้หัวใจกับเรือ” … ครับ ถ้าไม่สามารถให้ “ใจ” กับองค์กรได้แล้ว อย่าริไปเป็นกัปตันเรือลำไหนเด็ดขาด มีเวิร์กหรอก