Prisoner’s Dilemma

ทางสองแพร่งของนักโทษ หรือ Prisoner’s Dilemma เป็นทฤษฎีหนึ่งที่ผมชื่นชอบมากเป็นพิเศษตั้งแต่อ่านครั้งแรกๆ ในหนังสือพวก Mathematical Models in Economics เมื่อครั้งเรียนปริญญาตรี และยิ่งเห็นโลกมากขึ้น ผมยิ่งชอบที่จะตีความมันมากขึ้น จนถึงวันนี้กลายเป็นปรัชญาชีวิตตัวหนึ่งที่ผมนึกถึงเสมอเวลาทำอะไรก็ตาม

เรื่องมันมีอยู่ง่ายๆ ว่า คนสองคน ไปลักเล็กขโมยน้อยของจากร้านค้าเล็กๆ แล้วก็ถูกแยกสอบสวน ซึ่งตำรวจก็ถามทั้งสองคน (แยกกันถาม) ว่าอีกคนมีความผิดหรือไม่ ถ้าสารภาพ (ด้วยการบอกว่าเพื่อนผิดจริง และยินดีเป็นพยานให้) ก็จะปล่อยให้พ้นผิด นักโทษทั้งสองคนก็จะมีตัวเลือกเหมือนๆ กันคือ จะเงียบ หรือว่าจะบอก

ผลลัพธ์: ถ้าทั้งสองคนต่างเห็นแก่เพื่อน เงียบทั้งคู่ ก็จะโดนขังกันไปคนละ 1 เดือน ถ้าทั้งสองคนต่างก็เห็นแก่ตัวเอง บอกทั้งคู่ ก็โดนกันไปคนละ 3 เดือน แต่ถ้ามีคนหนึ่งพูด อีกคนไม่พูด (คนหนึ่งเห็นแก่เพื่อน อีกคนเห็นแก่ตัว) คนที่พูดจะได้เป็นอิสระ แต่คนที่เงียบจะโดน 12 เดือน

ลองเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นรูปแบบของการได้คะแนน แทนการเข้าคุก เราจะได้ตารางแบบนี้


prisonerdilemma.png

โดยมีคนสองคน P1 และ P2 แต่ละคนมีทางเลือกคือ “Cooperate” (ร่วมมือกัน) หรือ “Defect” (หักหลังกัน) … ซึ่งแม้ตามตำราจะใช้คำนี้ แต่นับวันผมยิ่งมีความรู้สึกว่ามันคือ “เพื่อคนอื่น” (เห็นแก่คนอื่น) และ “เพื่อตัวเอง” (เห็นแก่ตัว) มากกว่า แต่ผมขอใช้ตัวย่อตัวเดิม คือ C และ D ตามลำดับ

ถ้าทั้ง 2 คนต่างคิดเพื่ออีกฝ่าย จะได้คนละ 3 คะแนน รวมแล้ว 6 คะแนน ถ้าคนหนึ่งเห็นแก่ตัว ฝ่ายเห็นแก่ตัวจะได้ 5 และอีกฝ่ายจะไม่ได้อะไรเลย 0 รวมแล้ว 5 คะแนน แต่ถ้าเห็นแก่ตัวทั้งคู่ (จะเอาทั้งคู่) ก็จะได้คนละ 1 คะแนน รวมแล้ว 2 คะแนน

เรื่องที่น่าสนใจคือ

  • ถ้าเราจะต้องตัดสินใจเพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด เราจะเลือก D หรือทางเลือกแบบเห็นแก่ตัว เสมอ เพราะว่าคะแนนที่เรามีโอกาสได้คือ 5, 1 (Max: 5, Min:1) ในขณะที่ถ้าเราคิดเผื่ออีกฝ่าย จะได้ 3, 0 (Max: 3, Min 0)
  • แต่ถ้าเรามองทั้งระบบเป็นหลัก เราจะเห็นว่าทางเลือกแบบเห็นแก่ตัว ที่ทำให้เราได้คะแนนส่วนตัวสูงสุดที่เป็นไปได้ มันจะทำให้ระบบมีโอกาสได้คะแนน Max: 5, Min: 2 แต่ถ้าเรายอมเสียประโยชน์ส่วนตัว จะได้ Max: 6, Min: 5
  • ถ้าทุกคนคิดเพื่อคนอื่น ทุกคนจะได้มากกว่าที่คิดเห็นแก่ตัว (คนละ 3 vs. คนละ 1) และระบบได้สูงสุด (6)
  • ถ้าทุกคนคิดเห็นแก่ตัวกันหมด แต่ละคนจะได้น้อยกว่าที่ตัวเองหวังไว้ (หวัง 5 vs. ได้ 1) และระบบแทบจะไปไม่ได้ (2)

ตัวอย่างที่เห็นกันเกลื่อนกลาด ก็เช่นเรื่องตั้งงบประมาณ เรื่องขออัตรากำลังคน เรื่องขอทุนวิจัย เรื่องขอเปิดหลักสูตร เรื่อง ฯลฯ ที่มีหลักคิดจากการ Maximize by Part ของตัวเอง ว่าถ้าฉันมีนี่นั่นโน่น แล้วจะทำหน้าที่ตัวเองได้ดีที่สุด แล้วเมื่อทุกคนคิดเหมือนกัน ก็ต้องมานั่งเกลี่ยกันตรงกลาง หารกันไป ถัวกันไป ซึ่งจะทำให้แต่ละคนได้แบบเบี้่ยหัวแตก น้อยกว่าที่ตัวเองคาดหวังและอยากได้ และทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายระบบแย่ที่สุด

อีกตัวอย่างที่ผมชอบมาก คือ “การจราจร” ที่ถ้าแต่ละคนเห็นแก่ตัว ฉันต้องได้ไปก่อน ฉันต้องได้ไปเร็วที่สุด ฉันไม่ต้องดูรถคันอื่น คนอื่นต้องระวังอย่าชนฉัน หรือเลนของฉันจะให้หรือไม่ก็ได้ ฯลฯ พวกนี้ จะทำให้เกิดถนนที่แย่มากๆ ขึ้นมา การจราจรจะติดขัดล่าช้าไปเสียหมด แต่ละคนจะได้ไปช้ากว่าที่ตัวเองอยากจะไป แต่ถ้าขับรถเพื่อคนอื่น เช่น ใครขอเลนเราให้ ใครขับเร็วกว่าเรา เราหลบให้ ฯลฯ ทุกคนจะได้ไปเร็วกว่าที่ตัวเองคิด นั่นคือ ถนนทั้งเส้นได้มากที่สุด

ผมขอจบ Entry นี้ ด้วย Statement ที่ว่า

ระบบที่ห่วยที่แย่ที่สุด บางครั้งมันเกิดจากการที่แต่ละคนแต่ละส่วน พยายามทำดีที่สุด “เพื่อตัวเอง”

(โดยบางครั้ง การทำเพื่อตัวเองนั้นๆ อาจไม่ได้มาจากเจตนาที่เลวร้าย เพียงแต่เห็นประโยชน์ตัวเองเป็นหลักก่อน ก็เท่านั้น)

ดังนั้น เพื่อสังคมที่ดีขึ้นเล็กน้อย มันไม่ต้องเริ่มจากใครหรอกครับ เริ่มจากตัวเราเองนี่แหละ เริ่มคิดเพื่อคนอื่น (แต่ไม่ใช่คิดแทนคนอื่น) สักนิด ทำเพื่อคนอื่น (แต่ไม่ใช่ทำแทนคนอื่น เช่นกัน — ผมเห็นไอ้สองกรณีที่ผมขีดเส้นใต้ไว้เยอะจนเบื่อมาก) แล้วทุกคนจะได้มากกว่าที่ตัวเองคิดไว้ครับ

[update 1:] เพิ่มเติมอีก Statement หนึ่ง

The Whole is greater than sum of its Parts

จะเขียนถึงเรื่องนี้เต็มๆ ในโอกาสหน้าครับ ตอนนี้เอาแค่ว่า ระบบทั้งระบบ เป็นอะไรที่มากกว่าการรวมกันของแต่ละองค์ประกอบ ดังนั้น ความต้องการ (อย่างเห็นแก่ตัว) ของแต่ละคนรวมๆ กัน ไม่ใช่ความต้องการของระบบ (หรือเพื่อระบบ) ครับ