ช่วงนี้ของปีทีไร จะมีเรื่องเฮฮาที่ทำให้จิตตกอยู่ทุกปี ก็คือเรื่องของ “ข้อสอบ O-NET” ซึ่งแต่ละปีจะมีโจทย์ ตัวเลือก และเฉลย ที่โคตรจะปวดตับ
ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบเรื่องนักกีฬาทีมชาติ (ที่ใส่ชื่อจริง นามสกุลจริง ในข้อสอบ) ที่ให้เจ้าตัวมาทำเองก็ไม่ได้คะแนน เพราะเลือกไม่ตรงกับเฉลย (ซึ่งเป็นคนอื่น) ข้อสอบที่มันถูกหมดทุกข้อ แล้วไม่รู้จะตอบข้อไหน หรือข้อสอบที่ถ้าตอบตามความจริงแล้วมันไม่มีทางได้คะแนนชัวร์ๆ แต่ถ้าตอบแบบสร้างภาพการเป็นคนดีตามอุดมคติของใครบางคน (แถวบ้านเรียก “ตอแหล”) แล้วอาจได้คะแนน ฯลฯ
ผมนั่งสงสารเด็ก และสมเพชข้อสอบอยู่ทุกปี บางครั้งคิดด้วยซ้ำไปว่า “ไอ้เด็กที่มันได้คะแนนสูงๆ นี่มันเป็นคนแบบไหน?” จนวันหนึ่งผมมานั่งคิดๆ ดู แล้วก็พบกับความจริงอันน่าเศร้าใจข้อเล็กๆ
ข้อสอบ แท้จริงแล้วมันคืออะไร? มันก็เป็นแค่ “เครื่องมือวัด” เหมือนกับไม้บรรทัด ที่ไม่ได้บอกเลยด้วยซ้ำว่าใครเก่งไม่เก่ง ใครโง่ใครฉลาด ใครดีใครเลว … มันบอกแค่ว่า “ใครเหมาะกับระบบที่สุด” ระบบเป็นเช่นไร ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะออกข้อสอบแบบนั้นเพื่อคัดคนที่เหมาะสมกับระบบที่สุด เข้าไปหล่อเลี้ยงรักษาระบบให้คงอยู่ไปเรื่อยๆ …. (ลองนั่งนึกภาพหนังเรื่อง The Matrix ผ่านตาสักรอบนะ)
ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้สร้าง ข้อสอบย่อมวัดการสร้าง ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้รับ/ผู้เสพ ข้อสอบย่อมวัดการรับ/จำ/เสพ เป็นต้น
แล้วบ้านเราล่ะ? … จากประสบการณ์ทำงานในบ้านเราของผม ผมสรุปได้อย่างหนึ่งว่า
คนที่จะได้ดีใน “ระบบ” ของบ้านเรานั้น ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่ผู้สร้าง ไม่ใช่คนมีความคิด ไม่ใช่ ฯลฯ อะไรที่คนวาดอุดมคติเอาไว้เลย แต่ต้องเป็น “คนที่คิดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ พูดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ” แบบเป๊ะๆ ไม่ว่ามันจะต่างจากความจริงของตัวเอง ความคิดตัวเอง สิ่งที่เป็นตัวเองแค่ไหนก็ตาม
(ผมเน้นว่า “ระบบ” นะ พวกที่ต่อสู้กับ The Matrix ไปสร้าง Zion เองในบ้านเราแล้วได้ดี ก็มีถมเถนะ)
ลองดูข้อสอบข้อเด็ดของ O-NET ปีนี้นะครับ … พวกเล่นถามว่า
ถ้ามีอารมณ์ทางเพศ จะต้องทำอย่างไร และมีตัวเลือกคือ
ก. ชวนเพื่อนไปเตะบอล
ข. ปรึกษาครอบครัว
ค. พยายามนอนให้หลับ
ง. ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
จ. ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง
แล้วเฉลยก็คือ “ปรึกษาครอบครัว”
ฟังดูดีนะครับ อุดมคติและหลอกตัวเองไปวันๆ ดีมาก ที่ผมอยากจะถามก็คือ ถ้าเด็กไม่มีครอบครัวให้ปรึกษา หรือถ้าสภาพครอบครัวนั้นไม่เคยฟังลูก พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจลูก พ่อแม่ไม่เคยฟังลูกเลย ทำอะไรก็ผิดหมด ฯลฯ อะไรแบบนี้ แล้ว “เด็กจะอยากปรึกษาครอบครัวมั้ย?” และยิ่งกว่านั้น “ครอบครัวแบบนี้ เป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้มั้ย?” และ “ปรึกษาไปแล้วได้อะไร(วะ)?”
แล้วตัวเลือกที่มันเป็น “ธรรมชาติ” แบบ “ช่วยตัวเอง” มันหายไปไหนเหรอครับ และมันทำให้ใครเดือดร้อนหรือ? ผมก็อยากทราบนะ ว่าบรรดาคนที่ได้ดิบได้ดีทั้งหลายในประเทศชาติตอนนี้น่ะ ตอนที่เกิดอารมณ์สมัยวัยรุ่น “ปรึกษาพ่อแม่” หรือ “ช่วยตัวเอง”? แต่มันไม่ตรงกับคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามอันสูงส่งแบบหลอกตัวเองของผู้ใหญ่บางคนที่หน้าบาง ทำเป็นรับไม่ได้ ใช่มั้่ยล่ะ?
กลับมาเรื่องเดิมครับ …. เด็กที่ตอบข้อนี้ว่า “ปรึกษาครอบครัว” แล้วได้คะแนน ทำแบบนั้นจริงหรือไม่? หรือแค่ “ได้คะแนนเพราะคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจ” โดยบังเอิญเท่านั้น? … ระบบเรามันกรองคนที่บังเอิญคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจให้เข้าไปได้ดีในระบบเป็นจำนวนมากครับ และไม่ใช่แค่เฉพาะข้อสอบ O-NET เท่านั้นนะครับ ยังมีระบบวัดผล/ข้อสอบอีกหลายตัวที่เข้าอีหรอบนี้ ก็เหมือนกับระบบการให้รางวัลคนในองค์กร หรืออะไรทั้งหลายทั้งแหล่ ที่ต้องเป็นแบบ “ใช่ครับท่าน ยอดเยี่ยมครับ เห็นด้วยครับ” อะไรแบบนี้ตลอดเวลาน่ะแหละ
คิดแล้วเศร้า ปลง …. ว่าแล้ว Morpheus อย่างผม ก็ก้มหน้าก้มตาค้นหา Neo ออกจาก The Matrix ต่อไป
[อัพเดท 03/03/2012]: มีคนบอกผมว่า “อาจารย์ครับ ผิดแล้ว เค้าเฉลยจริงๆ ว่าไปเตะบอลครับ ส่วนที่เฉลยว่าไปปรึกษาพ่อแม่ นี่เป็นคำเฉลยของอดีตผู้อำนวยการหน่วยงานที่ออกข้อสอบครับ ไม่ใช่คนปัจจุบัน” …
ฉิบหายครับ ยิ่งไปกันใหญ่ แบบนี้ยิ่งแสดงให้เห็นประเด็นของโพสท์นี้มากขึ้นมหาศาลครับ เพราะว่าผู้ใหญ่สองคนคิดไม่ตรงกัน เด็กคนที่ถูกระบบคัดก็คือ “คนที่คิดตรงกับคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน” บัดซบมาก
อ่านแล้วเศร้าใจมาก
การศึกษา เป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาคน เพื่อพัฒนาประเทศ
เจอข้อสอบแบบนี้ และคำตอบของคนที่เป็นอดีตผู้ออกข้อสอบแล้วเสียใจมาก
ระบบการศึกษาที่นักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กำหนดให้ เพื่อให้เด็กคิดไม่เป็น แต่ลูกตัวเองจะไม่สอนแบบนั้น ทำแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่นแจกแทบเล็ตเด็ก ป.1 ส่วนพวกที่นั่งหลับ เมา ในสภา มันจะเอา iPad3 พ่วง iPhone4s เหมือนมันจะกินเหล่าพ่วงเบียร์เลยล่ะครับ … ได้แต่ปลงครับ