Number marketing เป็นเรื่องที่ “สร้างง่าย หายยาก” และจากประสบการณ์ คงไม่หายไปไหนง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ พบได้บ่อยๆ ก็ตั้งแต่สมัย Megahertz Myth และอีกเรื่องที่ยังคงพบอยู่ในปัจจุบัน คือ “กี่ Megapixels” และ “ซูมกี่เท่า” ซึ่ง “ความเชื่อสาธารณะ” มักจะถูกสร้างว่า เมื่อตัวเลขเหล่านี้สูงกว่า นั่นหมายถึงดีกว่า
จริงๆ ก็ไม่ถึงกับผิดซะทีเดียวนัก เพราะว่าหากปัจจัยทั้งหมดเหมือนกัน ในบางบริบท มันก็ดีกว่าจริงๆ … แต่ว่าหากปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ฯลฯ อื่นๆ มันต่างกันล่ะก็ มันก็บอกไม่ได้ซะทีเดียว เช่น จริงหรือ ที่ CPU ความเร็ว 2 GHz เร็วกว่า 1.6 GHz คำตอบคือ ถ้าปัจจัยอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นฐาน โครงสร้างอื่นๆ ที่มีผลต่อความเร็ว ทุกอย่างมันเท่ากัน แล้วล่ะก็ “จริง” ครับ แต่ว่าถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว “สรุปไม่ได้” ครับ
สรุปไม่ได้ ยังดี แต่ว่าในบางกรณีมัน “ตรงข้าม” ครับ โดยปริยาย และนั่นก็เป็นเรื่องที่จะคุยกันวันนี้ครับ คือ เรื่อง Megapixel ซึ่งเรื่องนี้เคยเขียนอย่างละเอียดไปครั้งหนึ่งแล้ว ในบทความ “กี่ล้านดีคะ” ที่ Blog นี้ … และวันนี้อยากจะเขียน “ภาคต่อ” สักหน่อย
ถึงสัญญาณเรื่องนี้ในตลาดจะดีขึ้นมาบ้าง เพราะว่าค่ายกล้องหลายค่าย เริ่มหันไปผลิตกล้องที่ “MP ต่ำลง แต่ขนาดตัวรับภาพ (Image sensor) ใหญ่ขึ้น” ในระดับ High-end compact กันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ Panasonic LX3 ซึ่งจะว่าไป 10MP, และเซนเซอร์ขนาด 1/1.63″ นิ้ว เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกตัวนี้ แทนที่จะเลือก Canon G10 (14.7MP) Nikon P6000 (13.5MP) และหลังจากนั้นในระดับ High-end compact ก็มีกล้องทำนองนี้ออกมาเรีื่อยๆ เช่น Canon G11, Canon S90 ซึ่งลด MP ลงไปเกือบ 1/3 ของ G10 และเพิ่มขนาดเซนเซอร์อีกด้วย และ Ricoh อีกหลายรุ่น โดยเฉพาะ GR-Digital 3, GXR และรวมถึง Micro 4/3 อย่าง E-P1, 2, GF1
แต่ว่าสัญญาณดังกล่าว ยังคงส่งไปไม่ถึงในระดับตลาดกลางและตลาดล่าง สังเกตได้จาก Nikon ที่เพิ่งจะออก Coolpix รุ่นใหม่ออกมาอีกหลายตัว ซึ่งมี MP ที่สูงขึ้น แต่ว่าในทางตรงข้าม มีขนาดเซนเซอร์ที่ลดลง! ผมจำได้ว่า เคยบ่น Coolpix S710 ว่ามี 14.5MP และ 1/1.72″ ซึ่งรุ่นใหม่ที่ออกมา S8000 นั้น ก็มี MP เกือบจะเท่าเดิมน่ะแหละ แต่ว่ามีเซนเซอร์ขนาด 1/2.33″!
และเมื่อมองกว้างๆ ไปอีกหน่อย ก็ยังคงพบว่า Megapixel War ยังคงไม่จบง่ายๆ แน่นอน
โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยปฏิเสธเรื่อง MP ว่ามีมาก มันก็มีประโยชน์ เพราะว่ามันทำให้เรา crop ภาพเฉพาะบางส่วนได้มากขึ้น หรือว่าพิมพ์ภาพได้ใหญ่ขึ้น แต่ว่าจริงๆ แล้วมีกี่คนกัน ที่ต้องการพิมพ์ภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก 12MP เต็มที่? และมันก็มีคนที่ต้องการ MP มากๆ อยู่จริงๆ ไม่งั้นกล้องพวก Leica S2, Nikon D3X อะไรพวกนี้คงไม่ทำออกมา และคงขายไม่ออกกับคนที่รู้เรื่องพวกนี้แน่ๆ แต่ว่าถามว่า แล้วมันจำเป็นมั้ย กับพวกเราทั่วๆ ไป? เราคงอยากจะได้แค่ภาพดีๆ เยอะๆ ซึ่งหลายภาพอาจจะถ่ายในที่ๆ แสงไม่ค่อยจะอำนวย (มืด) ซึ่งจำเป็นต้องให้แสงเข้ามาเซนเซอร์เยอะๆ หน่อย หรือว่าถ่ายรูปลูกหลานที่กำลังซน กำลังเล่น ที่จะต้องไวหน่อย อัดรูปอย่างมากก็ 4×6 ก็แค่นั้น ซึ่งการมี MP สูง และเซนเซอร์เล็ก ไม่ช่วยอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว และเป็นโทษซะด้วยซ้ำ
กล้องดิจิทัล มันก็มีหลักการประมวลผลเหมือนกับการประมวลผลดิจิทัลธรรมดาน่ะแหละครับ ที่มีกระบวนการ Input-Process-Output ซึ่งกรณีนี้ “Input” มันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ
- เลนส์ ซึ่งใช้รับแสง (Analog data)
- ตัวรับภาพดิจิทัล (เซนเซอร์) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการบันทึกแสง และแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล
ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ Digital Processing ที่ Image Processing Engine ที่ชื่อประหลาดๆ ทั้งหลายทั้งแหล่ เช่น Venus, Digic, Expeed ฯลฯ
เคยได้ยินไหมครับ “Garbage In, Garbage Out” ถ้าขยะเข้า ก็ขยะออก คือ ถ้าหากข้อมูลเข้ามามันไม่ดีแล้วล่ะก็ จะประมวลผลมันยังไง ผลลัพธ์ออกไป ก็ไม่ดีหรอกครับ สู้ข้อมูลเข้าที่ดีไม่มีทางได้เลย
ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ กล้องค่ายเดียวกัน 2 ตัว ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพเหมือนกัน แต่ทำไมภาพที่ได้จาก D700+24-70/2.8 N มันช่างแตกต่างจาก Coolpix S710 มากมายขนาดไม่ต้องเอามาเทียบ ทั้งๆ ที่ทั้งสองตัวนี้ ก็มี Expeed processing engine เหมือนกัน คำตอบคือ เลนส์ และ เซนเซอร์ครับ
ก็เลยนำมาซึ่งเรื่องต่อมา ก็คือ แล้วคุณภาพของเลนส์ในบรรดากล้อง compact ทั้งหลายล่ะ ดีแค่ไหน? ผมไม่ได้ต้องการคุณภาพระดับที่บ้านเราชอบกัดกันว่า “เทพ” แต่อย่างใด เพราะว่าเข้าใจดีกว่า ซื้อกล้องตัวเล็กๆ กันไปทำไม แต่ว่าเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ กับเลนส์ที่มีรูรับแสงที่แคบมาก คือ 6.6 หรือ 6.7 ที่ช่วงปลายของซูม! รูรับแสงที่เล็ก ก็ไวแสงน้อยเป็นธรรมดา ทำให้ต้องเปิดชัตเตอร์นานขึ้น หรือเร่งสัญญาณแสง (เร่ง ISO) ให้สูงขึ้น ซึ่งการเร่ง ISO จริงๆ แล้วก็คือการขยายสัญญาณเสียง เหมือนกับเร่งเสียงลำโพงน่ะแหละครับ ถ้าลำโพงไม่ดี หรือเพลงอัดมาไม่ดี มันก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ หากเปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างกว่านั้น เช่น F4 จะใช้ ISO ได้ต่ำลงกว่าเท่าตัว
แล้วมันแลกมากับอะไร? แน่นอนครับ เซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น เลนส์ที่ดี รูรับแสงกว้างๆ มันแลกมากับ “ขนาด” ที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเซนเซอร์มากนัก หรือเปลี่ยนเลนส์ ก็คือ “การลด Megapixel” ครับ เพราะว่าจะทำให้มีข้อมูลต่อหนึ่ง Pixel เพิ่มขึ้นโดยปริยาย (ถ้างง รบกวนอ่านบทความที่แล้วของผมนะครับ)
บทความต่อไป ผมจะเขียนการเปรียบเทียบอะไรสนุก เกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง
You must be logged in to post a comment.