จุดยืน ต้นทุน มูลค่า ซอฟต์แวร์ และ “แอพตู้”

เคยสัญญาว่าจะเขียนภาคต่อของบทความ “ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง แต่ไม่มีเวลาและไฟพอที่จะเขียน แต่พักหลังๆ เนื่องจากตัวเองได้ involve กับการบ่มเพาะและสร้าง Startup Tech Industry ในประเทศไทยค่อนข้างมาก ก็เลยคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะต้องเขียนเรื่องนี้ต่อเสียที

จากบทความก่อน ที่ผมลงท้ายว่า

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ที่จริงแล้วผมต้องการจะสื่อถึงอะไรกันแน่หรือสื่อถึงอะไรบ้างเหรอ อะไรคือ “สิ่งที่เราทุกคนต้องจ่าย” แล้วทำไมเราถึงต้องแคร์กับมัน?

ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้สนใจเรื่อง “รายได้ของการขายโปรแกรมให้กับ End User” เป็นหลักด้วยซ้ำไป เมื่อผมเขียนบทความนั้น ดังนั้นประเด็นเรื่อง “การลงแอพตู้ทำลายรายได้ของนักพัฒนาหรือไม่” จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ผมเห็นปัญหาภาพใหญ่กว่านั้น ว่าโดยทัศนคติแล้ว พวกเรา “ตีค่า”​ ซอฟต์แวร์ หรือคอนเทนท์ กันอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นเพียงของแถม เป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า หรือตรงกันข้าม

เมื่อทัศนคติทางสังคม ยังตีมูลค่าและต้นทุนของ “ซอฟต์แวร์” ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นได้ก็จะมีมากมายอย่าง ส่งผลลบกันทั้งนั้น เช่น

  • เกิดอะไรขึ้นกับเรื่อง Tablet ป.1 ครับ? ต้นทุนเรื่องมูลค่าของโปรแกรมที่จะต้องพัฒนาขึ้นมารองรับอยู่ที่ไหน แล้วเนื้อหาล่ะ ผมเห็นแต่สนใจเรื่องฮาร์ดแวร์กันซะจนไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย แล้วก็นำมาซึ่งการเร่งพัฒนาและการแปลงเนื้อหาอย่างฉาบฉวยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังกันเท่าไหร่
  • เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การพัฒนาโปรแกรมด้านบริการหลายต่อหลายตัวครับ? เราไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของข้อมูล คุณภาพเรื่องการใช้งาน ฟังก์ชั่นการทำงาน อะไรกันเลย เราละเลยเรื่องพวกนี้มากมาย เราคิดว่าต้นทุนของซอฟต์แวร์มันมีแค่การเขียนมันขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งมันน้อยกว่าความเป็นจริงมากมาย
  • เกิดอะไรขึ้นกับงานอีกหลายงาน ที่คิดว่าต้นทุนทางการพัฒนาซอฟต์แวร์มันน้อย แล้วเราต้องลงเอยกับระบบห่วยๆ มากมายมหาศาลที่มันมีผลกับชีวิตของพวกเราในระยะสั้นและระยะยาวไม่แพ้อย่างอื่นเลย

Continue reading

“ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของ “ซอฟต์แวร์”

ผมว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วเชียว แต่นับวันมันยิ่งมีแต่ดราม่า นับวันมันยิ่งมีแต่ความคิดประหลาดๆ ซึ่งทำให้ผมต้องมาเขียนเรื่องนี้จนได้

เราคงจะเคยชินกันมามากเกินไป กับการที่ซอฟต์แวร์ต้องเป็น “ของฟรี” หรือ “ของแถม” กับการซื้อฮาร์ดแวร์ จากเมื่อก่อนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์กันจากแหล่งประกอบคอมทั้งหลาย เราก็มักจะให้ผู้ประกอบลงซอฟต์แวร์แถมให้เยอะๆ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบทั้งนั้น

ผมว่าคนบ้านเรามันประหลาดแท้ ผมเคยได้ยินความฝันเฟื่องมาเยอะว่าเราอยากจะมีนักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับโลก อยากมี Bill Gates เมืองไทย อะไรประมาณนั้น และเรามักจะรู้สึกหน้าใหญ่ใจโตเสมอ เวลาที่ยืดว่า “คนไทยเก่ง” เมื่อเด็กเราได้รางวัลเหรียญทองโอลิมปิคหรืออะไรก็ตาม

แต่มันไปไหนกันหมดล่ะ? จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยเขียนเปรยๆ ไปนิดหน่อยในบทความเก่าๆ เรื่องคอมเมนท์เพิ่มเติมถึงบทสัมภาษณ์ผมที่ลงกรุงเทพธุรกิจ และที่ผมไปออกรายการแบไต๋ไฮเทค ว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมอื่นๆ เค้าเจริญเหนือเราได้ ทั้งๆ ที่วัดกันตัวต่อตัว คนที่เก่งที่สุดของเราก็ไม่ได้แย่อะไรกว่าใครเค้าเลย (ซึ่งผมก็เข้าใจว่ามันไม่ได้วัดกันแค่คนที่เก่งที่สุด แต่มันต้องวัดกันทั้ง community)

การที่เราไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรา “ตีค่าของซอฟต์แวร์ต่ำเกินไป” ย้ำอีกครั้งนะครับ เราตีค่ามันต่ำเกินไปมาก ที่ๆ เค้าเจริญเค้ารู้กันมานานแล้ว อย่างที่ Steve Jobs เคยพูดเสมอว่า “It’s Software, Stupid” น่ะแหละ สิ่งที่สำคัญทีสุดในคอมพิวเตอร์ คือ “ซอฟต์แวร์” ครับ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ หรือคอนเทนท์ (Content) อย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าซอฟต์แวร์อ่อนซะอย่างเดียว ฮาร์ดแวร์จะดีแค่ไหน มันก็ด้อยไปด้วย ถ้าซอฟต์แวร์ห่วยซะอย่างเดียว ต่อให้เตรียมคอนเทนท์ดีแค่ไหน มันก็กากทั้งนั้น เพราะการใช้งานคอนเทนท์มันก็ต้องผ่านซอฟต์แวร์ (แต่ที่เราพูดถึงคอนเทนท์โดดๆ ได้ ก็เพราะว่าสำหรับมีเดียหลายๆ อย่าง มันมักมีซอฟต์แวร์ดีๆ อยู่แล้ว ทำให้มองถึงคอนเทนท์ดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องการพัฒนาคอนเทนท์เฉพาะทาง เช่น Interactive Learning ทั้งหลาย ไม่มีซอฟต์แวร์ดีๆ มันก็ทำไม่ได้

อะไรบ้างที่มันตามมา? ผมเห็นความพยายามในการหา “ของเถื่อน/ของโจร” (ผมใช้คำว่า “ของเถื่อน/ของโจร” นะ ไม่ใช่คำว่า “ของฟรี”) ของคนหลายคนแล้วผมเศร้าใจนะ แล้วพวกนี้ก็มักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัวเต็มไปหมด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ มั้ยล่ะ

  • บางคนต้องการทำร้านขายหนังสือออนไลน์ ขายเพลงออนไลน์ ขายนี่นั่นโน่นออนไลน์ แล้วกลัวแทบเป็นแทบตายกับการที่คนอื่นจะมาก๊อปปี้ของๆ ตัวเอง แต่ขอโทษนะ ดันถามหา crack, serial โปรแกรม เอา iPhone ไปลงโปรแกรมตามมาบุญครอง
  • มันเคยมีคนอยากให้ผมพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone ให้นะ แล้วก็กลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะ crack ไปใช้ แล้ววันหนึ่งเขามาถามผมว่าจะเอาโปรแกรมไปทดสอบบนเครื่องพวกเขาได้มั้ย ผมบอกวิธีการไปว่าต้องทำแบบนี้นั้นโน้นก่อน เค้าบอกว่า “เครื่องพวกผม jailbreak ทั้งบริษัท” พอถามไปถามมา ก็หากันแต่ของเถื่อนจากมาบุญครอง แถมจ่ายเงินอีกตะหากนะนั่นน่ะ
  • ช่างภาพหลายคนนะ จะเป็นจะตายเวลารูปถูกคนเอาไปใช้ แต่ขอโทษนะ ถ้ากูใช้ Photoshop/Lightroom เถื่อนได้ กูเก่ง กูฉลาด กูไม่โง่เสียเงิน
  • อาจารย์มหาลัยหลายคน เด็กลอก paper ด่าเด็กแทบเป็นแทบตาย บอกว่าจะไม่ให้จบ แต่ท่านก็ขโมยโปรแกรมชาวบ้านเค้าใช้ เจอหน้ากันทีไรถามหาแต่วิธีใช้โปรแกรมแบบไม่ต้องจ่ายเงิน ทำได้มั้ย หา serial ให้หน่อย crack ให้หน่อย
  • คนที่ปล้นมาให้คนอื่น ก็ชอบบอกว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน เราไม่ช่วยกันใครจะช่วยเรา เราก็ต้องเอามาแบ่งปันกันใช้”

ไอ้อันสุดท้ายนี่แหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุด ว่าทำไมมันถึงมีความคิดที่เห็นแก่ตัวกันได้มากมายขนาดนี้ … บางครั้งผมถึงกับตั้งคำถามว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าคนหมู่มาก เห็นแก่ตัว” ..​ “จะเป็นอย่างไร ถ้าการโหวต การลงความเห็นของคนหมู่มาก มันมาจากรากฐานความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ..” มันจะทำให้เกิดเรื่อง “รวมหัวกันปล้น” อะไรสักอย่าง แล้วยังคงเหมือนเป็นความชอบธรรม ได้ไหมล่ะ?

มุมมองที่ว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” นี่พูดลอยๆ มันก็ถูกนะครับ ไม่ได้ผิดอะไร แต่อะไรคือ “ช่วยกัน” ล่ะ? เราอ้างคำนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จากความเห็นแก่ตัวกันหรือเปล่า? ผมเชื่อว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยหลายต่อหลายคนถูกทำให้รู้สึกว่าการคิดราคาค่าซอฟต์แวร์กับคนไทยด้วยกันเอง เป็นบาปมหันต์ กันมาแล้วทั้งนั้น

เขียนโปรแกรมขาย ราคาแค่ 30 บาทต่อดาวน์โหลด โดนด่าสาดเสียเทเสียว่าไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เขียนโปรแกรมแจกฟรี แต่แปะโฆษณาที่มีรายได้แค่เดือนละร้อยสองร้อย โดนด่าเป็นหมูเป็นหมา ว่าอย่ามาเรียกตัวเองว่าไทยเลยนะ ทำไมไม่ช่วยกัน หรือรับจ้างพัฒนาโปรแกรม ก็โดนกดราคาเข้าเนื้อแล้วเข้าเนื้ออีก กำไรไม่ต้องคิดกันเลยครับ แค่คิดให้เท่าทุน ก็เลวแล้ว

ถ้า 30 บาทที่จะจ่ายให้นักพัฒนา มันเยอะแยะมากมายมหาศาลมากนักล่ะก็ ลองคิดอะไรกันดูเล่นๆ มั้ยครับ ว่าเดือนๆ นึงเราเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ที่มันพอๆ กัน

  • เคยให้เงินทิปเด็กเสิร์ฟกันเดือนละกี่บาทครับ? บางคนเงินทอนไม่เก็บกันทีละสิบกว่าบาท ป๋ามากครับ จ่ายได้ไม่ยาก (ยิ่งเด็กเสิร์ฟสวยนี่ยิ่งยัดแบงค์ยี่สิบลงไปด้วยไม่ยากเลย) ทำแบบนี้ทุกมื้อเป็นเงินเท่าไหร่ อย่าบอกนะครับ ว่าเด็กเสิร์ฟฐานะยากจน ทำงานหนักต้องนี่นั่นโน่น แล้วโปรแกรมเมอร์ล่ะครับ เราไม่ได้ทำงานเหรอ เรารวยนักเหรอ เด็กเสิร์ฟมีเงินเดือน แต่เราหลายคนไม่มีเงินเดือนแบบประจำ ก็มีแค่เงินจากการรับจ้างทำงาน กับเงินจากการกดซื้อโปรแกรมทีละ 30 บาทเท่านั้นนะครับ อย่าลืมข้อนี้ไป การมีคอมใช้ก็ไม่ได้แปลว่ารวยนะ มันก็สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเราน่ะแหละ
  • หนักกว่านั้นครับ เคยโชว์ป๋าด้วยการให้เงินขอทานเวลาเดินข้ามสะพานลอยกับแฟนมั้ยล่ะ? ลองคิดๆ ดูซิ ว่าเท่าไหร่ ถ้าทำเลดีๆ หน่อย รายได้ต่อเดือนอาจจะมากกว่าโปรแกรมเมอร์บ้านเราโดยเฉลี่ยซะอีกนะครับ
  • แย่กว่านั้นหน่อย เราเคยให้เงินคนที่ “หาของโจรมาขาย” กันเท่าไหร่กันเหรอครับ ลง app ที่ขโมยมาครั้งละ 500 บาท ได้ app เต็มเครื่อง ที่เราก็ไม่ได้ใช้หรอก ใช้จริงๆ จังๆ ก็อาจจะแค่ 7-8 ตัว ถ้าจ่ายให้นักพัฒนาตรงๆ ก็ไม่ต่างอะไรกันมากมายนักหรอก

[ป.ล. ผมไม่ได้บอกว่าอาชีพเหล่านี้สบาย หรือรายได้สูงนะครับ ทุกอาชีพมันก็มีความยากลำบากของมันเหมือนกันหมด มีงานต้องทำ มีต้นทุน มีอะไรเหมือนกันหมด ความลำบากแต่ละอาชีพ อย่าเอามาเทียบกันโดยเด็ดขาด]

แล้วไอ้ข้อสุดท้ายนี่มันต่างกันตรงไหนล่ะ?

หลายคนคิดง่ายๆ ตื้นๆ แค่ “เงินออกจากกระเป๋าเราเท่ากัน ให้ได้มากที่สุดดีกว่า ไม่เข้ากระเป๋านักพัฒนาเลยก็ช่างมันประไร” แต่ลองมองถัดไปสักนิดนะ นักพัฒนาได้เงินไปแล้วเอาไปทำอะไรเหรอครับ ก็ต้องเอาไปศึกษานี่นั่นโน่นเพิ่มขึ้น เอาไปเพิ่มทรัพยากรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคน ความรู้ หรือเครื่องที่พอจะทำงานได้ดีขึ้น หรือจ้างคนมาเป็น customer service คอยตอบคำถามผู้ใช้ ฯลฯ อย่าคิดว่าเอาไปซื้อเรือยอร์ชซื้อรถสปอร์ตแบบไร้สาระกันทุกคนสิครับ (จริงๆ ถ้ามีเงินไว้ละลายเล่นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะทำงั้นนะ แต่โปรแกรมเมอร์แทบจะ 100% ของบ้านเรา ไปไม่ถึงจุดนั้นเด็ดขาด แค่ไม่อยู่ในภาวะเดือนชนเดือน ก็หรูพอควรแล้ว)

ผมก็เห็นว่าคนไทยควรช่วยกันนะ แต่เราอยากได้อะไรล่ะ? เราอยากได้สังคมนักพัฒนาที่เก่งๆ กันหรือเปล่า เราอยากได้คนไทยที่เก่งไม่น้อยหน้าใครในโลกบ้างไหม? … ไปๆ มาๆ ผมเชื่อว่า “เราไม่อยากได้มันหรอก” ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะคนไทยมันไม่ช่วยกันเองไงล่ะครับ แล้วเราจะได้นักพัฒนาเก่งๆ สังคมนักพัฒนาเก่งๆ แบบที่เราฝันมาจากไหน (หรือว่าผมฝันไปคนเดียววะ)

ทีนี้เราจะเห็น “ค่า” จริงๆ ของซอฟต์แวร์ล่ะครับ … cost จริงๆ ที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายก็คือ วงการที่นักพัฒนาถีบตัวเองไม่ขึ้น scale ตัวเองไม่ได้ สร้างทรัพยากรในการรองรับงานที่ใหญ่ขึ้น มี demanding สูงขึ้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ใช้ใจและมาม่าอย่างเดียวไม่ได้ (ขนาดมาม่ายังต้องซื้อเลย) ซึ่งยิ่งจะทำให้เราเสียศักยภาพในการแข่งขันในภาพรวมมากขึ้นๆ ทุกวัน

คุณภาพของสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่อง IT อย่างซอฟต์แวร์ นับวันเรายิ่งจะล้าหลัง … เรากดราคาฮาร์ดแวร์สู้จีนไม่มีทางได้ เราจะพัฒนาอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ซอฟต์แวร์กับคอนเทนท์ (ซึ่งมักต้องการซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อน)

ยิ่งเมื่อต้องแข่งขันกันตัดราคาเพื่อรักษาความอยู่รอด ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะพวกเราเองก็มีต้นทุนที่มันกดไม่ลง นอกจากลดคุณภาพของงาน นั่นหมายถึงว่า งานที่เราจะทำให้คนว่าจ้าง โดยเฉลี่ยแล้วมีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของงาน (เมื่อเทียบกับระดับสากล) จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายมาก ที่ว่านอกจากเราจะถีบตัวเองไม่เคยขึ้นแล้ว ยังถอยหลังลงคลอง ซึ่งสาเหตุหลักมันมาจากการที่เราจะต้องรีบปิดงานหนึ่ง เพื่อไปรับอีกงานหนึ่ง หาเงินมาหมุนกันแบบเดือนชนเดือนอีกด้วย

ถ้าโปรแกรมเมอร์ยังต้องวิ่งหางานแบบเดือนชนเดือน จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเองล่ะครับ? ผลที่ได้ก็คือ ความรู้ความสามารถเท่าเดิม เท่าเดิม และเท่าเดิม ในขณะที่โลกมันก็ขยับไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา ทุกคนมักจะพูดได้ลอยๆ อย่างไม่รับผิดชอบว่า เป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์และคนในวงการนี้ ที่จะต้องศึกษาทุกอย่างตลอดเวลาเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว แต่จะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษาล่ะครับ มันไม่ใช่ของที่เรียนรู้กันได้ข้ามวันข้ามคืนสักหน่อย

นักพัฒนา มันก็คนเหมือนๆ กับทุกคนน่ะแหละครับ ต้องกินข้าว ต้องมีชีวิต ต้องจ่ายค่าเช่า ต้องเลี้ยงครอบครัว ต้องแบกภาระของครอบครัว ถูกครอบครัวฝากความหวัง ฯลฯ เหมือนกับพวกคุณทุกคนน่ะแหละครับ

ผมอยากจะตะโกนดังๆ ตรงนี้เหลือเกินครับ

นักพัฒนาไทย มันไประดับโลกไม่ได้หรอก ไม่ใช่เพราะมันไม่เก่ง แต่เพราะคนไทยด้วยกันเองไม่ช่วยกันสนับสนุน ปากบอกอยากได้คนเก่ง อยากให้คนไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็ปล่อยให้มันตายไป ใจไม่ช่วยสร้าง

มันไปไหนไม่ได้หรอกครับ เพราะวุฒิภาวะ (maturity) และทัศนคติ (mindset) ของ “สังคมผู้ใช้” ของเราไปไม่ถึง ไม่สนับสนุนให้พวกเราไปได้ ไม่ยอมให้ไป และต้องการให้นักพัฒนามันตายกันหมด

ถ้าจะอ้างว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” … ผมก็อยากจะกราบทุกท่านตรงนี้ ว่าท่านพูดได้โดนใจผมเหลือเกิน

แล้วพวกเราล่ะ … ไม่ใช่ “คนไทย” กระนั้นหรือ? แล้วทำไมท่านไม่ช่วยเราบ้าง?

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ด้วยความเคารพ
รวิทัต ภู่หลำ, ศิลปินซอฟต์แวร์ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัย


[อัพเดท 10/07/2555] ป.ล. ผมเขียนเรื่องนี้ ตั้งใจเพื่อเป็น wake up call ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นจะแรงหน่อย และผมต้องการชี้ให้เห็นภาพที่มันใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย ของอุตสาหกรรม IT ว่ามันเป็นเรื่องของพวกเราหลายต่อหลายคน รวมถึงผู้บริโภคด้วย มากกว่าแค่นักพัฒนา

นาฬิกาปลุก มันต้องดังหน่อย ต้องแรงหน่อย ไม่งั้นคงจะหลับกันต่อไป แล้วมันก็จะกลับมาเดินปกติต่อไป จนถึงเวลาที่จะต้องปลุกอีกครั้ง

ก่อนที่มันจะกลายเป็นนาฬิกาตาย … เมื่อถ่านมันหมดไฟ และใจมันหมดลาน

ว่าด้วย “ข้อสอบ O-NET”

ช่วงนี้ของปีทีไร จะมีเรื่องเฮฮาที่ทำให้จิตตกอยู่ทุกปี ก็คือเรื่องของ “ข้อสอบ O-NET” ซึ่งแต่ละปีจะมีโจทย์ ตัวเลือก และเฉลย ที่โคตรจะปวดตับ

ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบเรื่องนักกีฬาทีมชาติ (ที่ใส่ชื่อจริง นามสกุลจริง ในข้อสอบ) ที่ให้เจ้าตัวมาทำเองก็ไม่ได้คะแนน เพราะเลือกไม่ตรงกับเฉลย (ซึ่งเป็นคนอื่น) ข้อสอบที่มันถูกหมดทุกข้อ แล้วไม่รู้จะตอบข้อไหน หรือข้อสอบที่ถ้าตอบตามความจริงแล้วมันไม่มีทางได้คะแนนชัวร์ๆ แต่ถ้าตอบแบบสร้างภาพการเป็นคนดีตามอุดมคติของใครบางคน (แถวบ้านเรียก “ตอแหล”) แล้วอาจได้คะแนน ฯลฯ

ผมนั่งสงสารเด็ก และสมเพชข้อสอบอยู่ทุกปี บางครั้งคิดด้วยซ้ำไปว่า “ไอ้เด็กที่มันได้คะแนนสูงๆ นี่มันเป็นคนแบบไหน?” จนวันหนึ่งผมมานั่งคิดๆ ดู แล้วก็พบกับความจริงอันน่าเศร้าใจข้อเล็กๆ

ข้อสอบ แท้จริงแล้วมันคืออะไร? มันก็เป็นแค่ “เครื่องมือวัด” เหมือนกับไม้บรรทัด ที่ไม่ได้บอกเลยด้วยซ้ำว่าใครเก่งไม่เก่ง ใครโง่ใครฉลาด ใครดีใครเลว … มันบอกแค่ว่า “ใครเหมาะกับระบบที่สุด” ระบบเป็นเช่นไร ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะออกข้อสอบแบบนั้นเพื่อคัดคนที่เหมาะสมกับระบบที่สุด เข้าไปหล่อเลี้ยงรักษาระบบให้คงอยู่ไปเรื่อยๆ ….​ (ลองนั่งนึกภาพหนังเรื่อง The Matrix ผ่านตาสักรอบนะ)

ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้สร้าง ข้อสอบย่อมวัดการสร้าง ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้รับ/ผู้เสพ ข้อสอบย่อมวัดการรับ/จำ/เสพ เป็นต้น

แล้วบ้านเราล่ะ? … จากประสบการณ์ทำงานในบ้านเราของผม ผมสรุปได้อย่างหนึ่งว่า

คนที่จะได้ดีใน “ระบบ” ของบ้านเรานั้น ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่ผู้สร้าง ไม่ใช่คนมีความคิด ไม่ใช่ ฯลฯ อะไรที่คนวาดอุดมคติเอาไว้เลย แต่ต้องเป็น “คนที่คิดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ พูดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ” แบบเป๊ะๆ ไม่ว่ามันจะต่างจากความจริงของตัวเอง ความคิดตัวเอง สิ่งที่เป็นตัวเองแค่ไหนก็ตาม

(ผมเน้นว่า “ระบบ” นะ พวกที่ต่อสู้กับ The Matrix ไปสร้าง Zion เองในบ้านเราแล้วได้ดี ก็มีถมเถนะ)

ลองดูข้อสอบข้อเด็ดของ O-NET ปีนี้นะครับ … พวกเล่นถามว่า

ถ้ามีอารมณ์ทางเพศ จะต้องทำอย่างไร และมีตัวเลือกคือ
ก. ชวนเพื่อนไปเตะบอล
ข. ปรึกษาครอบครัว
ค. พยายามนอนให้หลับ
ง. ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
จ. ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง

แล้วเฉลยก็คือ “ปรึกษาครอบครัว”

ฟังดูดีนะครับ อุดมคติและหลอกตัวเองไปวันๆ ดีมาก ที่ผมอยากจะถามก็คือ ถ้าเด็กไม่มีครอบครัวให้ปรึกษา หรือถ้าสภาพครอบครัวนั้นไม่เคยฟังลูก พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจลูก พ่อแม่ไม่เคยฟังลูกเลย ทำอะไรก็ผิดหมด ฯลฯ อะไรแบบนี้ แล้ว “เด็กจะอยากปรึกษาครอบครัวมั้ย?” และยิ่งกว่านั้น “ครอบครัวแบบนี้ เป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้มั้ย?” และ “ปรึกษาไปแล้วได้อะไร(วะ)?”

แล้วตัวเลือกที่มันเป็น “ธรรมชาติ” แบบ “ช่วยตัวเอง” มันหายไปไหนเหรอครับ และมันทำให้ใครเดือดร้อนหรือ? ผมก็อยากทราบนะ ว่าบรรดาคนที่ได้ดิบได้ดีทั้งหลายในประเทศชาติตอนนี้น่ะ ตอนที่เกิดอารมณ์สมัยวัยรุ่น “ปรึกษาพ่อแม่” หรือ “ช่วยตัวเอง”? แต่มันไม่ตรงกับคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามอันสูงส่งแบบหลอกตัวเองของผู้ใหญ่บางคนที่หน้าบาง ทำเป็นรับไม่ได้ ใช่มั้่ยล่ะ?

กลับมาเรื่องเดิมครับ …. เด็กที่ตอบข้อนี้ว่า “ปรึกษาครอบครัว” แล้วได้คะแนน ทำแบบนั้นจริงหรือไม่? หรือแค่ “ได้คะแนนเพราะคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจ” โดยบังเอิญเท่านั้น? … ระบบเรามันกรองคนที่บังเอิญคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจให้เข้าไปได้ดีในระบบเป็นจำนวนมากครับ และไม่ใช่แค่เฉพาะข้อสอบ O-NET เท่านั้นนะครับ ยังมีระบบวัดผล/ข้อสอบอีกหลายตัวที่เข้าอีหรอบนี้ ก็เหมือนกับระบบการให้รางวัลคนในองค์กร หรืออะไรทั้งหลายทั้งแหล่ ที่ต้องเป็นแบบ “ใช่ครับท่าน ยอดเยี่ยมครับ เห็นด้วยครับ” อะไรแบบนี้ตลอดเวลาน่ะแหละ

คิดแล้วเศร้า ปลง …. ว่าแล้ว Morpheus อย่างผม ก็ก้มหน้าก้มตาค้นหา Neo ออกจาก The Matrix ต่อไป

[อัพเดท 03/03/2012]: มีคนบอกผมว่า “อาจารย์ครับ ผิดแล้ว เค้าเฉลยจริงๆ ว่าไปเตะบอลครับ ส่วนที่เฉลยว่าไปปรึกษาพ่อแม่ นี่เป็นคำเฉลยของอดีตผู้อำนวยการหน่วยงานที่ออกข้อสอบครับ ไม่ใช่คนปัจจุบัน” …

ฉิบหายครับ ยิ่งไปกันใหญ่ แบบนี้ยิ่งแสดงให้เห็นประเด็นของโพสท์นี้มากขึ้นมหาศาลครับ เพราะว่าผู้ใหญ่สองคนคิดไม่ตรงกัน เด็กคนที่ถูกระบบคัดก็คือ “คนที่คิดตรงกับคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน” บัดซบมาก

พฤติกรรมฝังราก จากการศึกษา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2009 ผมเคยเขียนบทความไว้ที่นี่เรื่อง ลอกกุญแจ ได้คะแนนเต็ม และมีข้อความสำคัญว่า

ตราบใดก็ตามที่คนทำการบ้านได้ทุกข้อ ถูกทุกข้อ แต่ทำด้วยการลอกกุญแจ ลอกคีย์ ได้คะแนนมากกว่าคนที่ตั้งใจทำเอง เดินชนกับการบ้านเอง พยายามแก้ปัญหาเอง ถูกบ้างผิดบ้าง ทำเสร็จบ้างไม่เสร็จบ้าง … ตราบนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีวันเจริญ (ไม่ก็ ตราบนั้นประเทศไทยก็ได้แค่นี้)

วันนี้จะขอพูดเรื่อง “การศึกษา” เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่แก่นแท้ที่สำคัญ มันขยายผลไปเป็นอะไรก็ได้ที่คุณผู้อ่านจะเปรียบเทียบและตีความได้ และเราต้องไม่ลืมว่าการศึกษา คือสิ่งที่สร้างพฤติกรรมฝังรากได้มากที่สุด รองจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ฟังผู้ปกครองบังคับเด็กทำการบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่มีปัญหาอะไรมากมายเท่าไหร่กับการบังคับให้ทำการบ้าน เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ต้องปลูกฝัง ถึงลึกๆ ในใจจะคิดค้านว่า “ไม่เห็นต้องทำให้มันเป็นเรื่องที่ทำลายความรู้สึกเด็กขนาดนั้นเลย ให้เขาทำด้วยทัศนคติที่ดีหน่อยก็ไม่ได้” ก็เถอะ

แต่ที่มันกัดความรู้สึกของผม ก็คือการเห็นภาพที่เด็กกำลังจะเขียนอะไรสักอย่างลงในสมุด ยังเขียนไม่ทันเสร็จเลย ก็โดนตวาดด้วยเสียงดังว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ เขียนนี่ๆๆๆ ลงไป” “แน๊ะ ยังจะเขียนแบบเดิมอีก” และอีกหลายอย่าง

ผมไม่รู้หรอก ว่าต้องเอาความถูกต้องอะไรหนักหนา ทั้งๆ ที่การบ้านไม่ได้มีไว้ให้ทำให้ได้ “ผล” ที่ถูกต้อง แต่ต้องทำให้ได้มี “กระบวนการทำการบ้าน” ที่ถูกต้อง มากกว่า เด็กอาจจะถูกสอนมาผิดจากโรงเรียน ทำให้สิ่งที่เด็กเขียน กับผู้ปกครองคิดว่าถูก ไม่ตรงกันก็ได้ นั่นก็คือ เด็กก็ไม่รู้หรอกว่าที่ทำลงไปน่ะ อะไรมันถูกอะไรมันไม่ถูก แต่ถ้าทำด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ทำด้วยความไม่มีเหตุผล ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผู้ปกครองน่าจะคุยกับเด็กมากกว่า ว่าทำไมถึงตอบแบบนี้ ทำไมถึงคิดแบบนี้ ฯลฯ ไม่ใช่จะชี้นิ้วเอาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องอย่างเดียว

ทำไมน่ะหรือ ลองดูพวกเราๆ สิ หลายอย่างที่เราทำๆ อยู่ทุกวันนี้ ที่เราคิดว่าเราทำถูก จริงๆ แล้วมันจะถูกหรือเปล่าเราก็ไม่รู้หรอก เพียงแต่เราทำด้วยเหตุผลบางอย่างเราถึงเชื่อว่าถูก ก็เหมือนกันกับเด็กน่ะแหละ ถ้าผู้ปกครองคนนั้นยังพูดไม่จบ แล้วผมไปยืนตวาดเค้าบ้างว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ คุยกับลูกแบบนี้ๆๆๆๆ” นี่จะเป็นยังไงนะ เพราะจากสายตาผม เค้าก็ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมือนกัน … ก็เหมือนกับสิ่งที่เค้าทำกับเด็กคนนั้นน่ะแหละ

…………………………..

ทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน มีแต่ความคิดความคาดหวังและดูที่ผลลัพธ์อย่างเดียว จะคาดคั้นเอาผลลัพธ์ที่ “ถูก” โดยไม่สนใจวิธีการ ไม่สนใจทัศนคติ ไม่สนใจเหตุอันเป็นที่มา … ผมเชื่อว่าสำหรับพ่อแม่หลายคน ถ้าลูกลอกข้อสอบ/การบ้านเพื่อน/หนังสือกุญแจแล้วได้คะแนนดี ก็ดีใจด้วยซ้ำไป เอาไปอวดเพื่อนอวดฝูงด้วยซ้ำไป

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด “กระบวนการสร้างคน ผ่านการศึกษา” ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย เป็นเวลาเกือบ 20 ปี มันหล่อหลอมให้ “ผลลัพธ์” ซึ่งก็คือ “คน” ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น มีความฉาบฉวย เน้นไปที่การได้ผลอย่างเร่งด่วน คิดอะไรแค่เฉพาะหน้า ลงมือทำไม่เป็น และไม่ยินดีลงมือทำ รับความเสี่ยงในการลงมือทำและจะไม่ได้ผลที่ต้องการไม่ได้ หาความช่วยเหลือมากกว่าให้ความช่วยเหลือ เห็นแก่ตัว คิดเอาแต่ได้ คิดแต่สบาย อยากได้อะไรต้องมีคนทำไว้ให้อยู่ก่อนแล้ว แค่หาแล้วเอามาเป็นของตัวเอง

…………………………………………………

ผมพูดเสมอว่า “ผมไม่โทษนักศึกษาหรอก คนเหล่านี้เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ ของสังคมการศึกษาที่ล้มเหลว”

การสอบโปรเจคจบของนักศึกษาปีสี่ ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจนพอสมควร

น้องๆ ปีนี้ คือนักศึกษาที่ผมสอนวิชา Programming Platforms and Environment ไปเมื่อสองปีก่อน ซึ่งในปีนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมให้โจทย์ที่ต้องเขียนโปรแกรมบ้าง น้องๆ ส่วนมากจะ “รอเพื่อน” จนกระทั่งมีใครสักคนทำได้ แล้วลอกมันส่งกันเกือบยกชั้น .. น้องๆ ส่วนมากจะ “ไม่สามารถอธิบาย” แต่ละบรรทัด/แต่ละส่วนของโปรแกรมได้ ว่ามันคืออะไร มันมีไปทำไม ถ้าถามผลการทำงานของโปรแกรมอย่างฉาบฉวย จะตอบได้ แต่อย่าถามนะ ว่าไอ้บรรทัดนี้ มันมีไว้ทำไม มันทำงานเมื่อไหร่ อย่างไร มันทำแบบอื่นได้มั้ย มันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จะเงียบ ตาย ทันที … น้องๆ แทบทุกคนจะ “ทำการบ้านเฉพาะข้อง่ายๆ” ที่คำตอบมันชัดหรือหาได้ง่าย

สอนก็แล้ว ให้ตกก็แล้ว ว่าก็แล้ว ฯลฯ

สองปีผ่านไป หลายคนก็ทำโปรเจคจบ เกิดอะไรขึ้นหรือ? ก็เหมือนกับข้อความข้างบนนี้น่ะแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนจาก “การบ้าน” เป็น “โปรเจค” เท่านั้นเอง อะไรที่เคยหยิบจากเน็ตได้อย่างฉาบฉวย เอามารันแล้วได้ผลที่ต้องการ มาส่งเป็นการบ้าน ไม่ได้คิด ไม่ได้เขียน ไม่ได้ทำความเข้าใจอะไรเลย เมื่อก่อนเป็นยังไง เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น เลือกทำแต่เฉพาะงานส่วนง่ายๆ ที่คำตอบมันหาได้ง่ายๆ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้ามีอะไรที่คล้ายเพื่อน ก็จะลอกเพื่อน โดยตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย ฉันใด ก็ฉันนั้น

……………………………………..……………………………

ถ้านักศึกษากลุ่มนี้ยังจำได้ ผมเคยเขียน “บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน” ลงใน “ข้อสอบปลายภาค” และ ณ วันนี้ ผมขอเขียนมันอีกครั้งหนึ่งที่นี่

____ บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน ______

อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง (Prof. Brian Harvey; University of California at Berkeley) เคยพูดเอาไว้ว่า เหตุผลที่ นักศึกษาควรศึกษาทุกอย่างเอง หัดทําอะไรเอง ชนกับปัญหาเอง วิเคราะห์การแก้ปัญหาเอง ไม่ลอก ไม่ถามหาความช่วยเหลือ ก่อนเวลาอันควร ไม่ควรเขียนโปรแกรมให้กัน หรือคิดวิธีการแก้ปัญหาให้กัน ไม่ใช่เพราะเรื่องจรรยาบรรณ เรื่องชื่อเสียง ไม่ว่า จะของตัวเองหรือสถาบัน เรื่องฝีมือการทํางาน ฯลฯ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่มันอุดมคติ แต่เพราะ “พฤติกรรมอะไรก็ตาม ที่คุณสร้างให้ตัวเอง สมัยเรียน มันจะเป็นพฤติกรรมที่ฝังรากลึก แก้ไม่ได้ ตอนที่คุณไปทํางาน”

มันเหมือนกับการเขียนโปรแกรมให้ตัวเอง คอมไพล์ … แล้วไปเห็นผลการรันในตอนทํางานจริง

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่อ้างว่า ไปเที่ยว กิจกรรม ฯลฯ ในคืนวันอาทิตย์ จนไม่สามารถมาทํางานได้ในวันจันทร์ เพราะนั่น เป็นวันทํางาน คุณก็ต้องรับผิดชอบมันในฐานะวันทํางาน

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดอะไรเลย รอแต่ให้หัวหน้างานป้อน/สั่ง พนักงานที่ไม่สนใจคิดวิเคราะห์ถึงปัญหา หรือ พนักงานที่ไม่สนใจงานตัวเอง ทํางานให้มันผ่านๆ ไป และไม่คิดรีวิวงานตัวเองจากสัปดาห์ก่อน หรือพนักงานที่มีสมุดจดงาน เอาไว้แค่เปิดดูเวลาที่โดนเจ้านายถาม

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดเอาสิ่งที่ตัวเองเห็น จากเรื่องรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ภาพยนต์ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯมาเป็นข้อคิดที่ดีในการทํางานพนักงานที่มองไม่เห็นว่าทุกอย่างมันเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันอยา่งไรมันเกี่ยวขอ้ง เกี่ยวพันกันอย่างไร

ไม่ว่าคุณจะทํางานไอทีหรือไม่กต็ามพฤติกรรมเหล่าน้ีจะติดตัวคุณไป

ดังน้ันผมหวังว่าจะไม่ได้ยินคําพูดของคุณที่ว่า“จบแล้วผม/หนูจะไม่ทํางานด้านนี้ดังนั้นให้ผม/หนูผ่านเถอะครับ/ค่ะ” อีก

ผมอยากเคารพคุณทุกคน ในฐานะ “นักศึกษา” ในวันนี้ และ “เพื่อนร่วมวงการ” ในอนาคต

ขอบคุณครับ

… และคุณคงเข้าใจแล้วว่า วิชานั้น ที่ผมบอกว่า มหาวิทยาลัย การศึกษา และครอบครัว มันก็เป็น Programming Platform และ Environment ที่มันโปรแกรมพฤติกรรมฝังรากให้กับพวกคุณ ที่มันแก้ไม่ได้ ถ้าพวกคุณไม่พยายามคิดจะทำอะไรบางอย่างกับมันบ้าง มันแปลว่าอะไร … เพราะสิ่งไหนที่มันเป็นในวันนั้น วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น

ปะผุ และ ฉาบฉวย

ครั้งหนึ่งเคยเขียนเรื่องทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง เช่น

วันนี้ กว่า 2 ปีผ่านไปจาก entry เหล่านั้น คงจะได้เวลาที่ผมจะกลับมาเขียนถึงมันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยวัยที่อาจจะเปลี่ยนไป ด้วยมุมอะไรบางอย่างที่อาจจะมองได้กว้างขึ้นหรืออาจจะแคบลง ซึ่งจริงๆ แล้วผมเองได้บ่นเรื่องพวกนี้ไว้เป็นระยะๆ ใน Twitter ที่สุดท้ายก็ไม่ได้กลายเป็นบทความอะไรที่ยั่งยืนหรือว่าอ้างอิงได้ในภายหลัง ถึงจะมีคนรวบรวมเอาไว้เป็นระยะๆ ก็ตาม

ณ วันนี้ ผมกำลังจะลาออกจากงานบริหาร กลับมาเขียนโค้ดเต็มตัวอีกครั้ง และทุกวันนี้ ผมพยายามสอนโค้ดมากขึ้น จากการที่ไปสอน iOS SDK Development ตามที่ต่างๆ มากมาย ผมพบความจริงที่น่าเศร้าใจมากขึ้น และเป็นการย้ำหัวตะปูกับเรื่องเดิมๆ มากขึ้น

น้องๆ ที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ต้องเขียนโปรแกรม ที่ต้องโค้ด คิดคอนเซปท์ของโปรแกรมน้อยลงมาก และ เขียนโปรแกรมน้อยลงมาก ซึ่งส่งผลให้เมื่อเจอปัญหาแล้วตั้งเป้าหมายและแก้ปัญหาไม่เป็น รวมถึงมือไม่ขยับในการเขียนโค้ดให้เลย

ปัญหานี้ไม่ได้มีแต่สาขาที่ต้องเขียนโปรแกรมแน่นอน เนื่องจากอาจจะเป็นปัญหาฝังลึกในระบบการศึกษาของบ้านเรา ที่เน้นการได้คำตอบอย่างฉาบฉวยมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมากขึ้นๆ เวลามีการบ้าน ก็ไม่ได้ทำเอง แต่ต้องมี “คนสอนการบ้าน” ตลอดเวลา และมากขึ้นๆ รวมถึงหนังสือสารพัดกุญแจ ที่บรรจุคำตอบทุกอย่างที่อยากรู้เอาไว้

นักเรียน นิสิต นักศึกษา และคนจำนวนมากที่เป็น “ผลผลิตที่สมบูรณ์ ของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว” นี้ จึงติดนิสัยฉาบฉวยนั้นมาอย่างฝังรากลึก ถอนตัวไม่ออก ดัดไม่ค่อยได้ ผลที่ตามมานั้นน่ากลัวนัก

  • เวลาอยากได้อะไรก็จะอยากได้ผลนั้นๆ อย่างเร่งด่วน ไม่สนใจวิธีการที่จะได้ผลนั้น ค่อยๆ ทำอะไรทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น
  • วิธีการให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการนั้น จะเป็นลักษณะ “สำเร็จรูป” มากขึ้นๆ นั่นคือ มันเหมือนเป็นความคิดในระดับจิตใต้สำนึกไปแล้ว ว่ามันจะต้องมีคนทำเอาไว้เราไปหามาใช้ได้อย่างใจเราเป๊ะๆ แบบสำเร็จรูป ไม่ต้องทำอะไรเลย ถ้าเป็นโค้ดก็ “copy-paste ปุ๊บ ต้องได้ปั๊บ” เป็นต้น
  • สังเกตได้ไม่ยาก เวลาสั่งงานอะไรก็ตาม น้องๆ จะใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับ “การพยายามหาสิ่งที่เหมือนที่ต้องการเปี๊ยบ ใน Google ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ ก็หาต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีจบสิ้น”
  • ซึ่งนั่นเป็นปัญหา ทำให้เราทำอะไรที่ซับซ้อนมากขึ้นกว่าระดับพื้นฐานไม่ได้ เพราะว่าสิ่งที่ซับซ้อนมากขึ้นนั้น โอกาสที่จะมีคนทำเอาไว้ให้เราเอาไปใช้ได้แบบเป๊ะๆ นั้น น้อยมาก ต้องเอามาปรับปรุง ดัดแปลง หรือนำเข้ามาใช้ร่วมกับส่วนอื่นๆ ของคำตอบเราอยู่ดี
  • ไม่สนใจพื้นฐาน คิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น บางคนอยู่ในสภาวะ “ดูถูกพื้นฐาน​” เสียด้วยซ้ำไป สนใจแต่ “ขั้นตอนสุดท้าย” เท่านั้น หลักคิดอะไรก่อนหน้านั้นเป็นขั้นเป็นตอนอย่างไร ก็ช่างมัน จะเร่งรัดผ่านไปให้หมด
  • ทีนี้เมื่อสร้างอะไรเองทีละขั้นทีละตอนไม่เป็น ก็เป็น “ผู้สร้าง”​ หรือ “ผู้สร้างสรรค์” ยาก
  • แต่ว่าจะมีความเป็น “ผู้เสพ” หรือ “ผู้บริโภค” สูงขึ้นเรื่อยๆ มีความต้องการ มีอาการเหมือนผู้บริโภค นั่นคือ “ถ้าสิ่งที่อยากได้นั้น ไม่มีคนทำไว้ ก็เป็นความผิดผู้ผลิต/ผู้สร้าง” ดังจะเห็นได้ชัดจากคำพูดที่ว่า “ลองไปหาดูแล้ว ไม่มี” “หาใน google ไม่เจอ” ฯลฯ มากขึ้นทุกที

กี่ครั้งแล้วไม่ทราบ ที่ผมเห็นภาพที่น่าเศร้าใจเหล่านี้ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความพยายามที่จะลองผิดลองถูก ความพยายามที่จะคิด หรือความสามารถในการแก้ปัญหาเบื้องต้นในลักษณะของ “ผู้สร้าง” นั้น หายไปสิ้นเชิงจากความระบบความคิดและระบบการศึกษาในปัจจุบันเสียแล้วหรือ

ระบบการศึกษาที่เน้นการลัดไปสู่คำตอบอย่างรวดเร็วเกินไป และการที่อยากได้อะไรต้องมีคนอื่นทำให้ แก้ให้ ไม่มีที่สิ้นสุด ได้สร้างคนที่มีภาวะต้องการที่พึ่งพาสูงขึ้นๆ และเป็นที่พึ่งพาได้น้อยลงเรื่อยๆ

กี่ครั้งกันเล่า ที่เราพบคนที่อยากได้ระบบอะไรก็แล้วแต่ โดยไม่สนใจว่าสร้างมันอย่างไร จะเอาแต่ผล กี่ครั้งกันเล่า ที่คนบ้านเราไปเห็นแต่ผลลัพธ์ที่สำเร็จแล้วในต่างประเทศ ที่ใช้เวลาสร้างนับสิบๆ ปี แต่เราจะก๊อปปีิ้เฉพาะขั้นตอนสุดท้าย และเราก็บอกว่าเรามีแล้วเหมือนกับเขา แต่ว่ามันขาดวิญญาณและความเข้าใจมาอย่างสิ้นเชิง

เราคงจะเป็น “ผู้สร้าง” หรือเป็น “นักแก้ปัญหา” ที่แท้จริงกันยากขึ้นทุกวัน และการ “สร้างสรรค์” หรือ “การแก้ปัญหา” ของเรานั้นอาจหมายถึง “การแสวงหา มาปะผุ” มากขึ้นทุกวัน โดยสิ่งที่เราแสวงหามาได้นั้น เราก็ไม่ได้เข้าใจที่มาที่ไปของมัน เราไม่ได้มีแนวคิดอะไรในหัวเลย ว่าอะไรมันทำงานอย่างไร อะไรได้มาอย่างไร ก็เป็นได้

ตราบใดที่ บ้านเรายังคงสร้างคนที่สนใจแต่ “ข้อนี้จะตอบอะไร” แทนที่จะสนใจว่า “ทำไมถึงมีคำถามนี้” หรือ “จะเริ่มต้นมองปัญหานี้อย่างไร” มันก็คงจะเป็นแบบนี้ไปมากขึ้นๆ

แปลหนังสือ/เขียนหนังสือ

ตอนนี้มีงานหนึ่งที่ผมกำลังทำอยู่ และไม่เสร็จง่ายๆ ก็คืองานบรรณาธิการหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ที่จริงๆ แล้วก็ล่าช้ากว่ากำหนดมาพักหนึ่งแล้ว ก็บอกตามตรงว่า งานนี้ยากกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกมากเลยทีเดียว และได้คติที่อยากจะเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ เผื่อจะมีประโยชน์กับนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการ/สำนักพิมพ์ ในอนาตต

ด้วยจรรยาบรรณ ผมขอสงวนชื่อทั้งหมด ทั้งหนังสือ ผู้แปล และสำนักพิมพ์เอาไว้นะครับ

ผมพบว่าผู้แปลหนังสือ “แปลไม่รู้เรื่อง” เป็นอย่างมาก ซึ่งขอสรุปเป็นเรื่องๆ อย่างคร่าวๆ ดังนี้

  • ใช้ภาษายากเกินความจำเป็นมาก หนังสือต้นฉบับเขียนด้วยภาษาอังกฤษพื้นๆ พื้นมากๆ เรียกได้ว่าเหมือนกับภาษาพูดธรรมดา แต่ว่าทำไมเวลาแปลแล้ว กลายเป็นภาษาไทยที่ไม่ธรรมดามาก ต้องปีนบันไดอ่าน ขึ้นไปสามสี่ชั้นก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง (แล้วจะปีนทำบ้าอะไร) ต้องแปลไทยเป็นไทย เรียบเรียงใหม่ในหัวตั้งหลายต่อหลายครั้ง
  • อิงกับตัวหนังสือ/ตัวอักษรมากไป จนสื่อเจตนา “ผิด” จากภาษาอังกฤษอย่างมาก แบบไม่น่าให้อภัย ถ้าดูทีละคำในประโยคว่าแปลว่าอะไร ก็อาจจะแปลถูกต้อง แต่ว่าถ้าดูพร้อมกันทั้งประโยค และยิ่งทั้งย่อหน้า ทั้งหน้า จะเห็นได้ว่าผิดแบบชัดเจน
  • เน้นภาษาสวย (อีกครั้ง) แต่อ่านแล้วไม่อินเลย ส่อให้เห็นชัดเจนว่าผู้แปลเป็นนักภาษา แต่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความชำนาญอะไรเลยในเรื่องที่เค้ากำลังแปลอยู่ (พูดง่ายๆ ว่าไม่มี Domain Knowledge ในเรื่องนั้นๆ เลย)
  • โครงสร้างทุกอย่างที่ออกมา เป็น “ภาษาอังกฤษ” มากกว่าเป็นภาษาไทย มันขัดธรรมชาติของภาษาเรา ผิดจริตหลายอย่างมาก (แต่ว่าถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเข้าท่ากว่า) เช่น มีการใช้ “-” แสดงประโยคขยาย/เสริม ในระหว่างประโยค ซึ่งภาษาเราไม่ใช้กัน เป็นต้น

สิ่งที่ผมอยากจะฝาก อยากจะเขียนถึง ไม่ใช่การด่าว่าใคร แต่อยากจะเอาความจริงที่ตัวเองพบมา ทั้งจากประสบการณ์เขียน แปล และบรรณาธิการหลายต่อหลายอย่าง ฝากให้คนที่มาอ่าน Blog ผมดังนี้

  • งานแปลหนังสือ จริงๆ แล้วมันคือ “งานเขียนหนังสือ” โดยอาศัยเค้าโครง โครงสร้าง การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง จากหนังสือเล่มอื่นที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเอง
  • ดังนั้นมันจะดีกว่า ถ้าเราคิดว่า ก่อนอื่น เราต้องการคนแปลหนังสือ แบบเดียวกับที่เราต้องการคนเขียนหนังสือ นั่นคือ ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่เป็นคนที่มี Domain Knowledge ในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้ดีเป็นหลัก และพอจะอ่านภาษาต่างประเทศ (ภาษาต้นทาง) ออก เท่านั้นเอง
  • ทำไมน่ะหรือ เพราะว่าการแปลที่ดี ไม่ใช่แปลตัวอักษรออกมาให้ครบทุกตัว ทุกคำพูด ทุกบรรทัด ให้เหมือนต้นฉบับทุกวรรคทุกตอน แต่ว่าต้องเป็นการสื่อสาร “วิญญาณ” ของมันออกมาในอีกภาษาหนึ่งต่างหาก ดังนั้นหากผู้แปลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อะไรเลย พูดง่ายๆ ว่า “ไม่อิน” กับเรื่องที่ตัวเองแปล มันจะออกมาแย่มาก เพราะว่านักภาษาหลายคน (จากประสบการณ์ที่พบ) มีแนวโน้มจะแต่งภาษาให้สละสลวย มากกว่าสื่อวิญญาณของมันให้ได้อย่างดิบๆ ตรงไปตรงมา
  • อย่าคิดว่า “ก็ให้นักภาษาแปลก่อน จะได้แปลถูกหลักภาษา แล้วค่อยให้คนมี Domain Knowledge แก้ไขทีหลัง” ให้คิดกลับกันว่า “ให้คนมี Domain Knowledge เขียนจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศก่อน แล้วค่อยให้นักภาษาเกลาทีหลัง” จะดีกว่ามาก

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ยังคงใช้ได้เสมอกับกรณีเช่นนี้ หลายคนกลัวกับการ “เสียคำบางคำ” หรือว่า “เสียความถูกต้องของประโยคบางประโยค” ไป ก็จะพยายามมากมายก่ายกอง เพื่อรักษาตรงนี้เอาไว้ แต่ว่าลงเอยด้วยหนังสือทั้งเล่มที่มันอ่านไม่รู้เรื่อง ผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้แต่งหนังสือ ไม่สามารถสื่อวิญญาณของมันออกมาได้ … และที่สำคัญ เมื่อมองไม่ภาพรวม ภาษาที่แปลถูกต้องเป็นคำๆ นั้น รวมกันแล้วอาจไม่ใช่เนื้อความที่ถูกต้องก็ได้

ปิดท้ายละกัน ผมเจอประโยคนี้ “It takes all you’ve got to keep safe” …. ซึ่งในบริบทของเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น มันหมายถึงว่า “เราต้องทำทุกวิถีทางให้รอดจากอันตรายทั้งหลายแหล่” ….​ ดันไปแปลว่า “มันจะเอาทุกอย่างที่เราได้มา ไปเก็บไว้ในตู้เซฟ”

สุดตรีนมากครัฟ

You *ARE* “The Presenter”

เป็นเรื่องที่ผมอยากจะเขียนถึงเป็นที่สุด ใน blog ก่อนหน้านี้ (สอน Presentation โครงการ SSME Fast Track) แต่คิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จนน่าจะเขียนแยกออกมาสักตอนมากกว่า และนี่คือสิ่งที่ผมเห็นว่า “ผู้นำเสนอหลายคนลืมไปอย่างน่าเสียดาย” นั่นก็คือ

“You *ARE* The Presenter”


presenter.004.png

ใช่ครับ ในการนำเสนอ *คุณ* คือ ผู้นำเสนอ คุณคือสตาร์ของงาน การลืมเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ขนาดที่ผมถือว่าเป็น The #0 Common Mistake เลยทีเดียว (มันยิ่งกว่า #1 หรือ all words on slide ซะอีก) ทำไมหรือ?

  • หลายคนยอมให้ slide ของ presentation ต่างๆ เป็นดาวเด่นของงาน สายตาและความสนใจของผู้ฟัง อยู่บน slide ที่คุณใช้ (อ่าน) ไม่ได้สนใจคุณเลย หลายอย่างที่พูด ซึ่งอาจจะมีเกร็ดอะไรนอก slide อยู่บ้าง หรืออยู่มาก มันจะหายไป ซึ่งทางแก้ก็คือ ใช้ All-Words-on-Slide และ Lots-of-Bullets
  • แต่พอทำเช่นนั้น คุณก็จะไม่มีความเป็นตัวของตัวเองเท่าไหร่ จะถูกจำกัดมากเกินไปกับการพูดตามสิ่งที่อยู่บน slide และผู้ฟังของคุณก็ไม่รู้จะโฟกัสที่ไหนดี ระหว่างฟังคุณ กับอ่านตาม ซึ่งทางแก้ก็คือ คุณก็ต้องพูดตาม slide ไปเรื่อยๆ คนฟังจะได้ไม่หลงหรือสับสน
  • แต่พอทำแบบนั้น ก็เท่ากับไม่โฟกัสกับความเป็นตัวของตัวเอง คิดแต่เอาเนื้อหาจากหนังสือ เนื้อหาวิชาการจากตำรา จากเว็บ หรืออะไรต่อมิอะไรมานำเสนอ มาใส่ไป แล้วมันจะเป็น Story ที่ Simple, Convincing, Concrete, Credible ได้ยังไง? แล้วคุณจะมีอารมณ์ร่วมกับมันมั้ย?
  • ที่สำคัญ คุณไม่มีทางมี eye-contact หรือ expressive expression ต่างๆ ได้อย่างมากพอ

เอาแค่นี้ ก็จบแล้ว


presenter2.020.png

Megapixel vs. Sensor Size vs. Lens

Number marketing เป็นเรื่องที่ “สร้างง่าย หายยาก” และจากประสบการณ์ คงไม่หายไปไหนง่ายๆ ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ พบได้บ่อยๆ ก็ตั้งแต่สมัย Megahertz Myth และอีกเรื่องที่ยังคงพบอยู่ในปัจจุบัน คือ “กี่ Megapixels” และ “ซูมกี่เท่า” ซึ่ง “ความเชื่อสาธารณะ” มักจะถูกสร้างว่า เมื่อตัวเลขเหล่านี้สูงกว่า นั่นหมายถึงดีกว่า

จริงๆ ก็ไม่ถึงกับผิดซะทีเดียวนัก เพราะว่าหากปัจจัยทั้งหมดเหมือนกัน ในบางบริบท มันก็ดีกว่าจริงๆ … แต่ว่าหากปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพ ประสิทธิภาพ ฯลฯ อื่นๆ มันต่างกันล่ะก็ มันก็บอกไม่ได้ซะทีเดียว เช่น จริงหรือ ที่ CPU ความเร็ว 2 GHz เร็วกว่า 1.6 GHz คำตอบคือ ถ้าปัจจัยอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นฐาน โครงสร้างอื่นๆ ที่มีผลต่อความเร็ว ทุกอย่างมันเท่ากัน แล้วล่ะก็ “จริง” ครับ แต่ว่าถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว “สรุปไม่ได้” ครับ

สรุปไม่ได้ ยังดี แต่ว่าในบางกรณีมัน “ตรงข้าม” ครับ โดยปริยาย และนั่นก็เป็นเรื่องที่จะคุยกันวันนี้ครับ คือ เรื่อง Megapixel ซึ่งเรื่องนี้เคยเขียนอย่างละเอียดไปครั้งหนึ่งแล้ว ในบทความ “กี่ล้านดีคะ” ที่ Blog นี้ … และวันนี้อยากจะเขียน “ภาคต่อ” สักหน่อย

ถึงสัญญาณเรื่องนี้ในตลาดจะดีขึ้นมาบ้าง เพราะว่าค่ายกล้องหลายค่าย เริ่มหันไปผลิตกล้องที่ “MP ต่ำลง แต่ขนาดตัวรับภาพ (Image sensor) ใหญ่ขึ้น” ในระดับ High-end compact กันมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ Panasonic LX3 ซึ่งจะว่าไป 10MP, และเซนเซอร์ขนาด 1/1.63″ นิ้ว เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกตัวนี้ แทนที่จะเลือก Canon G10 (14.7MP) Nikon P6000 (13.5MP) และหลังจากนั้นในระดับ High-end compact ก็มีกล้องทำนองนี้ออกมาเรีื่อยๆ เช่น Canon G11, Canon S90 ซึ่งลด MP ลงไปเกือบ 1/3 ของ G10 และเพิ่มขนาดเซนเซอร์อีกด้วย และ Ricoh อีกหลายรุ่น โดยเฉพาะ GR-Digital 3, GXR และรวมถึง Micro 4/3 อย่าง E-P1, 2, GF1

แต่ว่าสัญญาณดังกล่าว ยังคงส่งไปไม่ถึงในระดับตลาดกลางและตลาดล่าง สังเกตได้จาก Nikon ที่เพิ่งจะออก Coolpix รุ่นใหม่ออกมาอีกหลายตัว ซึ่งมี MP ที่สูงขึ้น แต่ว่าในทางตรงข้าม มีขนาดเซนเซอร์ที่ลดลง! ผมจำได้ว่า เคยบ่น Coolpix S710 ว่ามี 14.5MP และ 1/1.72″ ซึ่งรุ่นใหม่ที่ออกมา S8000 นั้น ก็มี MP เกือบจะเท่าเดิมน่ะแหละ แต่ว่ามีเซนเซอร์ขนาด 1/2.33″!

และเมื่อมองกว้างๆ ไปอีกหน่อย ก็ยังคงพบว่า Megapixel War ยังคงไม่จบง่ายๆ แน่นอน

โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยปฏิเสธเรื่อง MP ว่ามีมาก มันก็มีประโยชน์ เพราะว่ามันทำให้เรา crop ภาพเฉพาะบางส่วนได้มากขึ้น หรือว่าพิมพ์ภาพได้ใหญ่ขึ้น แต่ว่าจริงๆ แล้วมีกี่คนกัน ที่ต้องการพิมพ์ภาพเพื่อให้ได้ประโยชน์จาก 12MP เต็มที่? และมันก็มีคนที่ต้องการ MP มากๆ อยู่จริงๆ ไม่งั้นกล้องพวก Leica S2, Nikon D3X อะไรพวกนี้คงไม่ทำออกมา และคงขายไม่ออกกับคนที่รู้เรื่องพวกนี้แน่ๆ แต่ว่าถามว่า แล้วมันจำเป็นมั้ย กับพวกเราทั่วๆ ไป? เราคงอยากจะได้แค่ภาพดีๆ เยอะๆ ซึ่งหลายภาพอาจจะถ่ายในที่ๆ แสงไม่ค่อยจะอำนวย (มืด) ซึ่งจำเป็นต้องให้แสงเข้ามาเซนเซอร์เยอะๆ หน่อย หรือว่าถ่ายรูปลูกหลานที่กำลังซน กำลังเล่น ที่จะต้องไวหน่อย อัดรูปอย่างมากก็ 4×6 ก็แค่นั้น ซึ่งการมี MP สูง และเซนเซอร์เล็ก ไม่ช่วยอะไรเลยแม้แต่อย่างเดียว และเป็นโทษซะด้วยซ้ำ

กล้องดิจิทัล มันก็มีหลักการประมวลผลเหมือนกับการประมวลผลดิจิทัลธรรมดาน่ะแหละครับ ที่มีกระบวนการ Input-Process-Output ซึ่งกรณีนี้ “Input” มันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

  1. เลนส์ ซึ่งใช้รับแสง (Analog data)
  2. ตัวรับภาพดิจิทัล (เซนเซอร์) ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการบันทึกแสง และแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล

ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการ Digital Processing ที่ Image Processing Engine ที่ชื่อประหลาดๆ ทั้งหลายทั้งแหล่ เช่น Venus, Digic, Expeed ฯลฯ

เคยได้ยินไหมครับ “Garbage In, Garbage Out” ถ้าขยะเข้า ก็ขยะออก คือ ถ้าหากข้อมูลเข้ามามันไม่ดีแล้วล่ะก็ จะประมวลผลมันยังไง ผลลัพธ์ออกไป ก็ไม่ดีหรอกครับ สู้ข้อมูลเข้าที่ดีไม่มีทางได้เลย

ลองคิดดูง่ายๆ นะครับ กล้องค่ายเดียวกัน 2 ตัว ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพเหมือนกัน แต่ทำไมภาพที่ได้จาก D700+24-70/2.8 N มันช่างแตกต่างจาก Coolpix S710 มากมายขนาดไม่ต้องเอามาเทียบ ทั้งๆ ที่ทั้งสองตัวนี้ ก็มี Expeed processing engine เหมือนกัน คำตอบคือ เลนส์ และ เซนเซอร์ครับ

ก็เลยนำมาซึ่งเรื่องต่อมา ก็คือ แล้วคุณภาพของเลนส์ในบรรดากล้อง compact ทั้งหลายล่ะ ดีแค่ไหน? ผมไม่ได้ต้องการคุณภาพระดับที่บ้านเราชอบกัดกันว่า “เทพ” แต่อย่างใด เพราะว่าเข้าใจดีกว่า ซื้อกล้องตัวเล็กๆ กันไปทำไม แต่ว่าเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ กับเลนส์ที่มีรูรับแสงที่แคบมาก คือ 6.6 หรือ 6.7 ที่ช่วงปลายของซูม! รูรับแสงที่เล็ก ก็ไวแสงน้อยเป็นธรรมดา ทำให้ต้องเปิดชัตเตอร์นานขึ้น หรือเร่งสัญญาณแสง (เร่ง ​ISO) ให้สูงขึ้น ซึ่งการเร่ง ISO จริงๆ แล้วก็คือการขยายสัญญาณเสียง เหมือนกับเร่งเสียงลำโพงน่ะแหละครับ ถ้าลำโพงไม่ดี หรือเพลงอัดมาไม่ดี มันก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ หากเปลี่ยนเป็นเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้างกว่านั้น เช่น F4 จะใช้ ISO ได้ต่ำลงกว่าเท่าตัว

แล้วมันแลกมากับอะไร? แน่นอนครับ เซนเซอร์ที่ใหญ่ขึ้น เลนส์ที่ดี รูรับแสงกว้างๆ มันแลกมากับ “ขนาด” ที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย แต่ว่าอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดเซนเซอร์มากนัก หรือเปลี่ยนเลนส์ ก็คือ “การลด Megapixel” ครับ เพราะว่าจะทำให้มีข้อมูลต่อหนึ่ง Pixel เพิ่มขึ้นโดยปริยาย (ถ้างง รบกวนอ่านบทความที่แล้วของผมนะครับ)

บทความต่อไป ผมจะเขียนการเปรียบเทียบอะไรสนุก เกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง

ช่องกรอกรหัสผ่าน+วันที่

ผมคิดว่ามันน่าจะเป็น standard practice หรือว่าธรรมเนียมปฏิบัติกันมานานแล้วนะ สำหรับไอ้ “ช่องกรอกรหัสผ่าน” ตามเว็บเนี่ย ว่ามันจะต้องเป็นจุดๆๆๆ หรือว่า ดาวๆๆๆ หรือว่าอะไรก็ได้ ที่ทำให้ไม่สามารถอ่านได้ว่า เรากำลังพิมพ์รหัสผ่านว่าอะไรอยู่

แต่ว่าดูนี่ซะก่อน

password_field.png

อ่านได้ชัดเจน สวยงามมาก … ตอนที่ผมพิมพ์ตอนแรก อึ้งไปสามสิบวินาที ก่อนจะร้อง “เฮ้ย จะบ้าเรอะ!” แบบไม่เกรงใจคนรอบข้าง .. ไม่ทราบว่าท่านไปจ้างโปรแกรมเมอร์ที่ไหน ทำในงบประมาณหลักกี่ล้านครับท่าน? ยังไม่พอนะครับ ข้างล่าง ผมยังพบสิ่งนี้

date.png

ไม่ทราบว่า วันที่ตามนั้นนี่ มันมีในปฏิทินโลกไหนไม่ทราบขอรับ? ผมยังไม่ได้ลองกดปุ่มบันทึกนะ ว่ามันผ่านหรือเปล่า แต่ว่าไว้มีเวลาจะลองดูหน่อย แต่ว่าแค่นี้ก็เกินไปแล้วครับ ทำไมปล่อยให้สามารถเกิดความผิดพลาดเช่นนี้ได้ (จริงๆ ถ้าระบบกรอกข้อมูลมันดีนะ ผู้ใช้ไม่ต้องเสี่ยงกดปุ่มบันทึกข้อมูล ก่อนจะรู้ว่ามันผิดพลาดหรือเปล่าหรอก)

ออกแบบเว็บไซต์

เมื่อกี้มีคนปรึกษาเรื่องการออกแบบเว็บไซต์นิดหน่อย เลยขอยกการสนทนามาให้อ่านกันตรงนี้นะครับ คิดว่าเป็นข้อคิดและอุทธาหรณ์ได้บ้างพอสมควร แต่ขอเอาชื่อผู้ถามผมออกนะครับ

ผู้ถาม: อาจารย์เว็บแบบไหนที่แตกต่างๆ
ผู้ถาม: ขอคำแนะนำหน่อยนะคะ
ผู้ถาม: พอดีเพื่อนเขียนเว็บให้บริษัทน่ะ
ผม: แล้วทำไมต้องแตกต่าง?
ผู้ถาม: แต่ไม่อยากจำเจอยู่กับรูปแบบเดิมๆๆ
ผม: มาอีกล่ะ พวกทำงานเอารูปแบบเป็นหลัก จะรูปแบบเก่า รูปแบบใหม่ ถ้าไม่ได้วิเคราะห์เรื่อง function และ usage เป็นหลัก มันจะทำได้ไง
ผู้ถาม: แต่คือว่าเขาแค่ตอ้งการดีไซต์และส่วนเรือ่งนั้นเขาคงทำเองอ่ะ
ผู้ถาม: ก้อแค่ออกแบบอะ
ผม: เว็บไซต์ไม่สามารถ design หน้าตาได้ หากไม่ design function ครับ
ผม: มันเหมือนกับคุณอยากจะออกแบบ “หน้าตา” ของรถยนต์ โดยไม่กำหนดว่า รถคันนี้ จะต้องวิ่งในที่แบบไหน บรรทุกอะไร กลุ่มเป้าหมายคืออะไร
ผม: คุณอาจจะคิดว่า หน้าตารถสปอร์ตมันเท่ห์ดี
ผม: แต่รถตู้ที่ออกแบบโดยใช้ concept รถสปอร์ต มีแต่ห่วยกับห่วย
ผม: ว่างั้นเถอะ
ผม: ไม่ได้กวนตีนหรือหลบเลี่ยงในการตอบ แต่ด้วยจรรยาบรรณ ไม่สามารถออกแบบเฉพาะหน้าตาได้ครับ หากคุณเคารพวิชาชีพตัวเอง ในฐานะนักออกแบบเว็บไซต์
ผู้ถาม: แต่มานก้อเปงส่วนหนึ่งหนิ
ผม: ลำดับก่อนหลังมีผลครับ
ผม: เอางี้ ผมให้คุณเลือกชุด จะพาออกงาน คุณจะเลือกชุดอะไร? ยังไง?
ผู้ถาม: ก้อต้องดูงานก่อนค่ะ
ผม: ใช่มั้ย
ผม: คุณต้องทราบว่า “งานอะไร แขกที่จะต้องไปพบ เป็นคนระดับไหน ต้องดู look เป็นยังไง ฯลฯ” ใช่มั้ย
ผม: ก็แบบเดียวกับการออกแบบเว็บไซต์น่ะแหละครับ
ผู้ถาม: แต่งานนี้เปงวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม
ผู้ถาม: แต่ลูกค้าบอกว่าไม่อยากให้ธุรกิจมากเกิน
ผม: ถามคนอื่นเถอะครับ
ผม: คนที่ไม่ได้มีมาตรฐานในการทำงาน และมีจรรยาบรรณในการักษามาตรฐาน มีเยอะครับ
ผู้ถาม: ค่ะ
ผม: เหมือนสร้างตึกครับ ถ้าผมเป็นนักออกแบบ สถาปนิก ผมคงไม่สามารถบอกได้ว่า “ตึกนี้สวย ตึกนี้สวย ตึกนี้แปลก เอาแบบนี้ ผสมกับแบบนี้ ผสมกับแบบนี้ ฯลฯ” โดยไม่ดูว่า “แล้วมันเป็นตึกอะไรวะ ใครจะอยู่วะ เอาไปทำอะไรวะ คนเดินเข้าออกเยอะมั้ยวะ ฯลฯ”
ผม: สุดท้าย คุณอาจจะได้ตึกที่สวย แปลก เฉี่ยว แต่ใช้งานไม่ได้จริง
ผม: ตัวอย่างนี้มีให้เห็นตามเว็บไซต์ทั่วไปครับ
ผม: สวย แปลก ดูครั้งแรกแล้ว “ว้าว!” แต่ขอโทษนะครับ ไม่สามารถใช้งานได้จริงตามที่มันควรจะใช้งานได้
ผู้ถาม: ช่ายค่ะ
ผู้ถาม: พอเข้าใจและ
ผม: ขออนุญาตเอาการสนทนานี้ ไปลง blog และสอนหนังสือนะครับ เป็นตัวอย่างแนวคิดและทัศนคติหนึ่ง ที่พบเห็นได้ตามสังคมทั่วไป
ผู้ถาม: ขอบคุงค่ะ
ผู้ถาม: แป่ว
ผู้ถาม: ตามบาายคะ
ผู้ถาม: ก้อคิดไม่ออก
ผู้ถาม: เพราะยึดติดแต่สิ่งที่แตกต่างอ่ะคะ

ตามนั้นเลยครับ อีกอย่างนะครับ ช่วยๆ กันใช้ภาษาไทยให้มันถูกๆ หน่อยดีกว่านะครับ คือ บางครั้งเราพิมพ์ผิดโดยไม่ตั้งใจนี่คงไม่เป็นไร แต่ถ้าใช้แบบ “ก้อ (ก็)” หรือ “เปง (เป็น)” หรือ “มาน (มัน)” จนกลายเป็นเรื่องปกติ ผมว่ามันก็เกินไปครับ