แปลหนังสือ/เขียนหนังสือ

ตอนนี้มีงานหนึ่งที่ผมกำลังทำอยู่ และไม่เสร็จง่ายๆ ก็คืองานบรรณาธิการหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ที่จริงๆ แล้วก็ล่าช้ากว่ากำหนดมาพักหนึ่งแล้ว ก็บอกตามตรงว่า งานนี้ยากกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกมากเลยทีเดียว และได้คติที่อยากจะเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ เผื่อจะมีประโยชน์กับนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการ/สำนักพิมพ์ ในอนาตต

ด้วยจรรยาบรรณ ผมขอสงวนชื่อทั้งหมด ทั้งหนังสือ ผู้แปล และสำนักพิมพ์เอาไว้นะครับ

ผมพบว่าผู้แปลหนังสือ “แปลไม่รู้เรื่อง” เป็นอย่างมาก ซึ่งขอสรุปเป็นเรื่องๆ อย่างคร่าวๆ ดังนี้

  • ใช้ภาษายากเกินความจำเป็นมาก หนังสือต้นฉบับเขียนด้วยภาษาอังกฤษพื้นๆ พื้นมากๆ เรียกได้ว่าเหมือนกับภาษาพูดธรรมดา แต่ว่าทำไมเวลาแปลแล้ว กลายเป็นภาษาไทยที่ไม่ธรรมดามาก ต้องปีนบันไดอ่าน ขึ้นไปสามสี่ชั้นก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง (แล้วจะปีนทำบ้าอะไร) ต้องแปลไทยเป็นไทย เรียบเรียงใหม่ในหัวตั้งหลายต่อหลายครั้ง
  • อิงกับตัวหนังสือ/ตัวอักษรมากไป จนสื่อเจตนา “ผิด” จากภาษาอังกฤษอย่างมาก แบบไม่น่าให้อภัย ถ้าดูทีละคำในประโยคว่าแปลว่าอะไร ก็อาจจะแปลถูกต้อง แต่ว่าถ้าดูพร้อมกันทั้งประโยค และยิ่งทั้งย่อหน้า ทั้งหน้า จะเห็นได้ว่าผิดแบบชัดเจน
  • เน้นภาษาสวย (อีกครั้ง) แต่อ่านแล้วไม่อินเลย ส่อให้เห็นชัดเจนว่าผู้แปลเป็นนักภาษา แต่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความชำนาญอะไรเลยในเรื่องที่เค้ากำลังแปลอยู่ (พูดง่ายๆ ว่าไม่มี Domain Knowledge ในเรื่องนั้นๆ เลย)
  • โครงสร้างทุกอย่างที่ออกมา เป็น “ภาษาอังกฤษ” มากกว่าเป็นภาษาไทย มันขัดธรรมชาติของภาษาเรา ผิดจริตหลายอย่างมาก (แต่ว่าถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเข้าท่ากว่า) เช่น มีการใช้ “-” แสดงประโยคขยาย/เสริม ในระหว่างประโยค ซึ่งภาษาเราไม่ใช้กัน เป็นต้น

สิ่งที่ผมอยากจะฝาก อยากจะเขียนถึง ไม่ใช่การด่าว่าใคร แต่อยากจะเอาความจริงที่ตัวเองพบมา ทั้งจากประสบการณ์เขียน แปล และบรรณาธิการหลายต่อหลายอย่าง ฝากให้คนที่มาอ่าน Blog ผมดังนี้

  • งานแปลหนังสือ จริงๆ แล้วมันคือ “งานเขียนหนังสือ” โดยอาศัยเค้าโครง โครงสร้าง การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง จากหนังสือเล่มอื่นที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเอง
  • ดังนั้นมันจะดีกว่า ถ้าเราคิดว่า ก่อนอื่น เราต้องการคนแปลหนังสือ แบบเดียวกับที่เราต้องการคนเขียนหนังสือ นั่นคือ ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่เป็นคนที่มี Domain Knowledge ในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้ดีเป็นหลัก และพอจะอ่านภาษาต่างประเทศ (ภาษาต้นทาง) ออก เท่านั้นเอง
  • ทำไมน่ะหรือ เพราะว่าการแปลที่ดี ไม่ใช่แปลตัวอักษรออกมาให้ครบทุกตัว ทุกคำพูด ทุกบรรทัด ให้เหมือนต้นฉบับทุกวรรคทุกตอน แต่ว่าต้องเป็นการสื่อสาร “วิญญาณ” ของมันออกมาในอีกภาษาหนึ่งต่างหาก ดังนั้นหากผู้แปลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อะไรเลย พูดง่ายๆ ว่า “ไม่อิน” กับเรื่องที่ตัวเองแปล มันจะออกมาแย่มาก เพราะว่านักภาษาหลายคน (จากประสบการณ์ที่พบ) มีแนวโน้มจะแต่งภาษาให้สละสลวย มากกว่าสื่อวิญญาณของมันให้ได้อย่างดิบๆ ตรงไปตรงมา
  • อย่าคิดว่า “ก็ให้นักภาษาแปลก่อน จะได้แปลถูกหลักภาษา แล้วค่อยให้คนมี Domain Knowledge แก้ไขทีหลัง” ให้คิดกลับกันว่า “ให้คนมี Domain Knowledge เขียนจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศก่อน แล้วค่อยให้นักภาษาเกลาทีหลัง” จะดีกว่ามาก

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ยังคงใช้ได้เสมอกับกรณีเช่นนี้ หลายคนกลัวกับการ “เสียคำบางคำ” หรือว่า “เสียความถูกต้องของประโยคบางประโยค” ไป ก็จะพยายามมากมายก่ายกอง เพื่อรักษาตรงนี้เอาไว้ แต่ว่าลงเอยด้วยหนังสือทั้งเล่มที่มันอ่านไม่รู้เรื่อง ผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้แต่งหนังสือ ไม่สามารถสื่อวิญญาณของมันออกมาได้ … และที่สำคัญ เมื่อมองไม่ภาพรวม ภาษาที่แปลถูกต้องเป็นคำๆ นั้น รวมกันแล้วอาจไม่ใช่เนื้อความที่ถูกต้องก็ได้

ปิดท้ายละกัน ผมเจอประโยคนี้ “It takes all you’ve got to keep safe” …. ซึ่งในบริบทของเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น มันหมายถึงว่า “เราต้องทำทุกวิถีทางให้รอดจากอันตรายทั้งหลายแหล่” ….​ ดันไปแปลว่า “มันจะเอาทุกอย่างที่เราได้มา ไปเก็บไว้ในตู้เซฟ”

สุดตรีนมากครัฟ