พฤติกรรมฝังราก จากการศึกษา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2009 ผมเคยเขียนบทความไว้ที่นี่เรื่อง ลอกกุญแจ ได้คะแนนเต็ม และมีข้อความสำคัญว่า

ตราบใดก็ตามที่คนทำการบ้านได้ทุกข้อ ถูกทุกข้อ แต่ทำด้วยการลอกกุญแจ ลอกคีย์ ได้คะแนนมากกว่าคนที่ตั้งใจทำเอง เดินชนกับการบ้านเอง พยายามแก้ปัญหาเอง ถูกบ้างผิดบ้าง ทำเสร็จบ้างไม่เสร็จบ้าง … ตราบนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีวันเจริญ (ไม่ก็ ตราบนั้นประเทศไทยก็ได้แค่นี้)

วันนี้จะขอพูดเรื่อง “การศึกษา” เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่แก่นแท้ที่สำคัญ มันขยายผลไปเป็นอะไรก็ได้ที่คุณผู้อ่านจะเปรียบเทียบและตีความได้ และเราต้องไม่ลืมว่าการศึกษา คือสิ่งที่สร้างพฤติกรรมฝังรากได้มากที่สุด รองจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ฟังผู้ปกครองบังคับเด็กทำการบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่มีปัญหาอะไรมากมายเท่าไหร่กับการบังคับให้ทำการบ้าน เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ต้องปลูกฝัง ถึงลึกๆ ในใจจะคิดค้านว่า “ไม่เห็นต้องทำให้มันเป็นเรื่องที่ทำลายความรู้สึกเด็กขนาดนั้นเลย ให้เขาทำด้วยทัศนคติที่ดีหน่อยก็ไม่ได้” ก็เถอะ

แต่ที่มันกัดความรู้สึกของผม ก็คือการเห็นภาพที่เด็กกำลังจะเขียนอะไรสักอย่างลงในสมุด ยังเขียนไม่ทันเสร็จเลย ก็โดนตวาดด้วยเสียงดังว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ เขียนนี่ๆๆๆ ลงไป” “แน๊ะ ยังจะเขียนแบบเดิมอีก” และอีกหลายอย่าง

ผมไม่รู้หรอก ว่าต้องเอาความถูกต้องอะไรหนักหนา ทั้งๆ ที่การบ้านไม่ได้มีไว้ให้ทำให้ได้ “ผล” ที่ถูกต้อง แต่ต้องทำให้ได้มี “กระบวนการทำการบ้าน” ที่ถูกต้อง มากกว่า เด็กอาจจะถูกสอนมาผิดจากโรงเรียน ทำให้สิ่งที่เด็กเขียน กับผู้ปกครองคิดว่าถูก ไม่ตรงกันก็ได้ นั่นก็คือ เด็กก็ไม่รู้หรอกว่าที่ทำลงไปน่ะ อะไรมันถูกอะไรมันไม่ถูก แต่ถ้าทำด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ทำด้วยความไม่มีเหตุผล ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผู้ปกครองน่าจะคุยกับเด็กมากกว่า ว่าทำไมถึงตอบแบบนี้ ทำไมถึงคิดแบบนี้ ฯลฯ ไม่ใช่จะชี้นิ้วเอาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องอย่างเดียว

ทำไมน่ะหรือ ลองดูพวกเราๆ สิ หลายอย่างที่เราทำๆ อยู่ทุกวันนี้ ที่เราคิดว่าเราทำถูก จริงๆ แล้วมันจะถูกหรือเปล่าเราก็ไม่รู้หรอก เพียงแต่เราทำด้วยเหตุผลบางอย่างเราถึงเชื่อว่าถูก ก็เหมือนกันกับเด็กน่ะแหละ ถ้าผู้ปกครองคนนั้นยังพูดไม่จบ แล้วผมไปยืนตวาดเค้าบ้างว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ คุยกับลูกแบบนี้ๆๆๆๆ” นี่จะเป็นยังไงนะ เพราะจากสายตาผม เค้าก็ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมือนกัน … ก็เหมือนกับสิ่งที่เค้าทำกับเด็กคนนั้นน่ะแหละ

…………………………..

ทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน มีแต่ความคิดความคาดหวังและดูที่ผลลัพธ์อย่างเดียว จะคาดคั้นเอาผลลัพธ์ที่ “ถูก” โดยไม่สนใจวิธีการ ไม่สนใจทัศนคติ ไม่สนใจเหตุอันเป็นที่มา … ผมเชื่อว่าสำหรับพ่อแม่หลายคน ถ้าลูกลอกข้อสอบ/การบ้านเพื่อน/หนังสือกุญแจแล้วได้คะแนนดี ก็ดีใจด้วยซ้ำไป เอาไปอวดเพื่อนอวดฝูงด้วยซ้ำไป

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด “กระบวนการสร้างคน ผ่านการศึกษา” ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย เป็นเวลาเกือบ 20 ปี มันหล่อหลอมให้ “ผลลัพธ์” ซึ่งก็คือ “คน” ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น มีความฉาบฉวย เน้นไปที่การได้ผลอย่างเร่งด่วน คิดอะไรแค่เฉพาะหน้า ลงมือทำไม่เป็น และไม่ยินดีลงมือทำ รับความเสี่ยงในการลงมือทำและจะไม่ได้ผลที่ต้องการไม่ได้ หาความช่วยเหลือมากกว่าให้ความช่วยเหลือ เห็นแก่ตัว คิดเอาแต่ได้ คิดแต่สบาย อยากได้อะไรต้องมีคนทำไว้ให้อยู่ก่อนแล้ว แค่หาแล้วเอามาเป็นของตัวเอง

…………………………………………………

ผมพูดเสมอว่า “ผมไม่โทษนักศึกษาหรอก คนเหล่านี้เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ ของสังคมการศึกษาที่ล้มเหลว”

การสอบโปรเจคจบของนักศึกษาปีสี่ ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจนพอสมควร

น้องๆ ปีนี้ คือนักศึกษาที่ผมสอนวิชา Programming Platforms and Environment ไปเมื่อสองปีก่อน ซึ่งในปีนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมให้โจทย์ที่ต้องเขียนโปรแกรมบ้าง น้องๆ ส่วนมากจะ “รอเพื่อน” จนกระทั่งมีใครสักคนทำได้ แล้วลอกมันส่งกันเกือบยกชั้น .. น้องๆ ส่วนมากจะ “ไม่สามารถอธิบาย” แต่ละบรรทัด/แต่ละส่วนของโปรแกรมได้ ว่ามันคืออะไร มันมีไปทำไม ถ้าถามผลการทำงานของโปรแกรมอย่างฉาบฉวย จะตอบได้ แต่อย่าถามนะ ว่าไอ้บรรทัดนี้ มันมีไว้ทำไม มันทำงานเมื่อไหร่ อย่างไร มันทำแบบอื่นได้มั้ย มันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จะเงียบ ตาย ทันที … น้องๆ แทบทุกคนจะ “ทำการบ้านเฉพาะข้อง่ายๆ” ที่คำตอบมันชัดหรือหาได้ง่าย

สอนก็แล้ว ให้ตกก็แล้ว ว่าก็แล้ว ฯลฯ

สองปีผ่านไป หลายคนก็ทำโปรเจคจบ เกิดอะไรขึ้นหรือ? ก็เหมือนกับข้อความข้างบนนี้น่ะแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนจาก “การบ้าน” เป็น “โปรเจค” เท่านั้นเอง อะไรที่เคยหยิบจากเน็ตได้อย่างฉาบฉวย เอามารันแล้วได้ผลที่ต้องการ มาส่งเป็นการบ้าน ไม่ได้คิด ไม่ได้เขียน ไม่ได้ทำความเข้าใจอะไรเลย เมื่อก่อนเป็นยังไง เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น เลือกทำแต่เฉพาะงานส่วนง่ายๆ ที่คำตอบมันหาได้ง่ายๆ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้ามีอะไรที่คล้ายเพื่อน ก็จะลอกเพื่อน โดยตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย ฉันใด ก็ฉันนั้น

……………………………………..……………………………

ถ้านักศึกษากลุ่มนี้ยังจำได้ ผมเคยเขียน “บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน” ลงใน “ข้อสอบปลายภาค” และ ณ วันนี้ ผมขอเขียนมันอีกครั้งหนึ่งที่นี่

____ บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน ______

อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง (Prof. Brian Harvey; University of California at Berkeley) เคยพูดเอาไว้ว่า เหตุผลที่ นักศึกษาควรศึกษาทุกอย่างเอง หัดทําอะไรเอง ชนกับปัญหาเอง วิเคราะห์การแก้ปัญหาเอง ไม่ลอก ไม่ถามหาความช่วยเหลือ ก่อนเวลาอันควร ไม่ควรเขียนโปรแกรมให้กัน หรือคิดวิธีการแก้ปัญหาให้กัน ไม่ใช่เพราะเรื่องจรรยาบรรณ เรื่องชื่อเสียง ไม่ว่า จะของตัวเองหรือสถาบัน เรื่องฝีมือการทํางาน ฯลฯ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่มันอุดมคติ แต่เพราะ “พฤติกรรมอะไรก็ตาม ที่คุณสร้างให้ตัวเอง สมัยเรียน มันจะเป็นพฤติกรรมที่ฝังรากลึก แก้ไม่ได้ ตอนที่คุณไปทํางาน”

มันเหมือนกับการเขียนโปรแกรมให้ตัวเอง คอมไพล์ … แล้วไปเห็นผลการรันในตอนทํางานจริง

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่อ้างว่า ไปเที่ยว กิจกรรม ฯลฯ ในคืนวันอาทิตย์ จนไม่สามารถมาทํางานได้ในวันจันทร์ เพราะนั่น เป็นวันทํางาน คุณก็ต้องรับผิดชอบมันในฐานะวันทํางาน

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดอะไรเลย รอแต่ให้หัวหน้างานป้อน/สั่ง พนักงานที่ไม่สนใจคิดวิเคราะห์ถึงปัญหา หรือ พนักงานที่ไม่สนใจงานตัวเอง ทํางานให้มันผ่านๆ ไป และไม่คิดรีวิวงานตัวเองจากสัปดาห์ก่อน หรือพนักงานที่มีสมุดจดงาน เอาไว้แค่เปิดดูเวลาที่โดนเจ้านายถาม

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดเอาสิ่งที่ตัวเองเห็น จากเรื่องรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ภาพยนต์ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯมาเป็นข้อคิดที่ดีในการทํางานพนักงานที่มองไม่เห็นว่าทุกอย่างมันเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันอยา่งไรมันเกี่ยวขอ้ง เกี่ยวพันกันอย่างไร

ไม่ว่าคุณจะทํางานไอทีหรือไม่กต็ามพฤติกรรมเหล่าน้ีจะติดตัวคุณไป

ดังน้ันผมหวังว่าจะไม่ได้ยินคําพูดของคุณที่ว่า“จบแล้วผม/หนูจะไม่ทํางานด้านนี้ดังนั้นให้ผม/หนูผ่านเถอะครับ/ค่ะ” อีก

ผมอยากเคารพคุณทุกคน ในฐานะ “นักศึกษา” ในวันนี้ และ “เพื่อนร่วมวงการ” ในอนาคต

ขอบคุณครับ

… และคุณคงเข้าใจแล้วว่า วิชานั้น ที่ผมบอกว่า มหาวิทยาลัย การศึกษา และครอบครัว มันก็เป็น Programming Platform และ Environment ที่มันโปรแกรมพฤติกรรมฝังรากให้กับพวกคุณ ที่มันแก้ไม่ได้ ถ้าพวกคุณไม่พยายามคิดจะทำอะไรบางอย่างกับมันบ้าง มันแปลว่าอะไร … เพราะสิ่งไหนที่มันเป็นในวันนั้น วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น