จะอยู่กับ “ปัจจุบัน” อย่างไรดี?

ผมเคยเขียนบทความเรื่อง “จากอดีต สู่อนาคต (ไม่ใช่แบบที่คิดนะ)” ไปเมื่อค่อนข้างนานมาแล้ว ในบทความนั้นเนื้อหาหลักๆ ได้พูดถึงการก้าวเท้าจากความอดีต ไปหาอนาคต โดยไม่ให้เงาของอะไรก็ตามจากอดีตไปตามหลอกหลอนเราตลอดชีวิต

วันนี้ผมเขียนเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง จะเป็นอะไรที่ค่อนข้าง personal มากขึ้นกว่าความที่แล้วนิดหน่อย และโฟกัสกับแค่เรื่องเดียวคือ “ปัจจุบัน”

ย้อนกลับไปที่คำถามหนึ่งที่ผมเคยถามในการพูดในงาน ThinkCamp ครั้งล่าสุด และในบทความก่อนหน้านี้ คือ “คนเราทุกข์กับอะไร”?


ThinkCamp.004.jpg

คำตอบง่ายๆ จากภาพนี้ก็คือ เราทุกข์กับเรื่องแค่ 2 เรื่อง นั่นก็คือ

  1. อดีต ซึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้อีกแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกแล้ว เราทุกข์กับอดีตเพราะ “ความรู้ในปัจจุบัน” (what we know today) แล้วเกิดอาการอยากกลับไปแก้ไขสิ่งที่ผ่านมาแล้ว คำพูดว่า “ถ้ารู้งี้นะ …” กลายเป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากคำหนึ่ง ไม่ว่าจะจากใครก็ตาม … เรามักต้องการแก้ไขอดีต
  2. อนาคต ซึ่งก็คือสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังคงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อะไรก็เกิดขึ้นได้ เราทุกข์กับอนาคตก็เพราะความกลัว กลัวนี่ กลัวนั่น กลัวโน่น กลัวสิ่งที่เรากลัวว่าจะเกิดขึ้น จะเกิดขึ้นจริงๆ กลัวว่าวันหนึ่งเราจะเสียใจแบบในอดีต กลัวว่าอนาคตจะไม่เป็นอย่างที่เราฝัน …. เรามักต้องการคำตอบที่แน่นอนตายตัว การรับประกันอนาคต

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ

เราทุกข์เพราะเราอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรากลับอยากได้ความแน่นอนจากสิ่งที่มันยังคงเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เราทุกข์เพราะเราไม่ยอมรับธรรมชาติของทั้งอดีตและอนาคต ธรรมชาติของกาลเวลา

ทางออกเรื่องนี้มีทางเดียว ก็คือการยอมรับธรรมชาติที่ว่านี้ และ “อยู่กับปัจจุบัน” ซึ่งปราศจากทุกข์ เป็นความว่างเปล่า ส่วนวิธีในการอยู่กับปัจจุบันนี้ก็คือแนวคิดในการดำเนินชีวิตของผมในปัจจุบันด้วย (ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้ post ลง Facebook ไปครั้งหนึ่ง แต่เป็นภาษาอังกฤษ) สรุปเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

  1. ทำอะไรสักอย่างกับสิ่งที่มีในปัจจุบัน ทำมันให้ดีแค่ที่จะดีได้ ทำได้แค่ไหนแค่นั้น ทำดีที่สุดแค่ที่ใจมันอยากจะทำ อย่าเบียดเบียนตัวเอง ทำอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้น หรือตัดสินใจอะไรบางอย่างเพื่อให้อะไรบางอย่างเกิดขึ้น
  2. ไม่ต้องไปพยายามเข้าใจปัจจุบัน (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  3. ไม่ต้องพยายามรื้อฟื้นอดีตเพื่อที่จะเสียดายหรืออยากเปลี่ยนแปลงอะไร (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  4. ไม่ต้องพยายามไปคิดถึง หรือรู้อนาคต (ทำไมเรอะ? ดูข้อ 5-6)
  5. มองย้อนดูอดีต ด้วยสิ่งที่เรารู้ในปัจจุบัน เชื่อมจุดทั้งหมดเข้าด้วยกันทีละจุดๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนั้นๆ ทำให้เกิดทุกวันนี้ได้ยังไงทีละจุดๆ (เช่น จากเรื่อง “คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย” ที่กำลังเขียนค้างอยู่ การที่มีนยิ้มให้ผม ทำให้เรารูํ้จักกัน แล้วทำให้ผมรู้สึกตัวเองไม่ดีพอ จนขยันเรียน การที่ติดต่อมา และความโง่ของผมในวันนั้น ทำให้ผมเขียนโปรแกรมเป็นอยู่ทุกวันนี้ ฯลฯ) ไม่ต้องคิดเสียดาย ไม่ต้องไปคิดเปลี่ยนอะไรมัน
  6. มองไปอนาคต ด้วยความเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน (ข้อ 1.) มันจะพาเราไปไหนสักที่หนึ่งแน่นอน และวันหนึ่งในอนาคตนั้นๆ เราจะเข้าใจสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ กำลังเจออยู่ในปัจจุบัน เหมือนที่เราเอาสิ่งที่เรารู้จากปัจจุบันมองย้อนไปในอดีต

สรุปสั้นๆ ง่ายๆ คือ

อดีตมีไว้เข้าใจ ว่าทำให้ปัจจุบันมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีในปัจจุบัน และอนาคตมีไว้เปลี่ยนแปลง ด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำในปัจจุบัน

จริงๆ แล้วเรื่อง “คนแรกของหัวใจฯ” ที่ผมกำลังเขียนๆ อยู่เนี่ย ก็มาจากแบบนี้น่ะแหละ ผมมองทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยความรู้ของทุกสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน หลายอย่างที่ผมไม่เข้าใจตอนนั้น หลายอย่างที่ผมเสียใจตอนนั้น วันนี้ผมมองเห็นมันชัดขึ้นเยอะ ว่ามันต้องเกิดขึ้นเพื่ออะไร

สมัยเรียน ผมไม่เคยคิดหรอก ว่าวันหนึ่งผมจะมาเป็นอาจารย์ที่ศิลปากร ผมจะมานั่งเขียนบทความนี้ ผมจะมีบริษัทซอฟต์แวร์ทำแอพบนโทรศัทพ์ ผมจะเขียนหนังสือขาย ผมจะเป็นผู้บริหารศูนย์คอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัย … สิ่งที่ผมอยากเป็นไม่เคยเป็นสิ่งเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย ยิ่งย้อนกลับไปตอนเด็กเท่าไหร่ สิ่งที่เราอยากเป็นยิ่งต่างจากนี้มากขึ้นๆ ผมอาจจะเคยอยากเป็นคนสร้างหุ่นยนต์ อาจจะเคยอยากเป็นคนขายโรตี (เพราะน่าสนุกดี) อาจจะเคยอยากเป็นอะไรก็ไม่รู้มากมาย

ชีวิตเราทุกวันนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเป็น แต่เป็นสิ่งที่เราทำให้ตัวเองเป็นต่างหาก

ดังนั้น เลิกอยากให้อะไรเป็นอย่างไรเสียที เพราะมันจะไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก เสียเวลาเปล่าๆ ด้วย แต่จงลงมือทำอะไรสักอย่างในวันนี้ เปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างเฉพาะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวเองเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่วันนี้ แล้ววันหนึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ผมเชื่อว่าคุณจะเข้าใจ ว่าสิ่งที่คุณทำในวันนี้คุณทำไปเพื่ออะไร

มีประโยคหนึ่งจากหนังเรื่อง The Time Machine (เวอร์ชั่นปี 2002) ที่ผมชอบมาก

You’re inescapable result of your own tragedy.

พูดเป็นภาษาพุทธหน่อย ก็คือ “สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” และ “กรรม” ก็คือ “การกระทำ” นั่นแหละ ชีวิตเราทุกวันนี้ ก็คือผลที่หนีไ่ได้จากทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยทำมา และชีวิตเราในวันข้างหน้า ก็คือผลที่หนีไม่ได้จากทุกสิ่งที่เราเคยทำมา และทุกอย่างที่เรากำลังจะทำในวันนี้เอง

การไม่ทำอะไรเลย แล้วรอเวลาในอนาคตให้มาถึงเฉยๆ เราก็แค่ลากสิ่งที่มันเป็นอยู่ในปัจจุบันให้มันยาวต่อไปถึงอนาคต ก็เท่านั้นเอง

อย่าปล่อยให้ชีวิตของเรา กลายเป็นผลที่หนีไม่ได้ จากการไม่ทำอะไรของเราเลยครับ มันจะเป็น tragedy (โศกนาฏกรรม) เสียเปล่าๆ