เคยสัญญาว่าจะเขียนภาคต่อของบทความ “ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เป็นประเด็นต่อเนื่อง แต่ไม่มีเวลาและไฟพอที่จะเขียน แต่พักหลังๆ เนื่องจากตัวเองได้ involve กับการบ่มเพาะและสร้าง Startup Tech Industry ในประเทศไทยค่อนข้างมาก ก็เลยคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะต้องเขียนเรื่องนี้ต่อเสียที
จากบทความก่อน ที่ผมลงท้ายว่า
นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว
มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน
ที่จริงแล้วผมต้องการจะสื่อถึงอะไรกันแน่หรือสื่อถึงอะไรบ้างเหรอ อะไรคือ “สิ่งที่เราทุกคนต้องจ่าย” แล้วทำไมเราถึงต้องแคร์กับมัน?
ต้องบอกก่อนนะครับว่า ผมไม่ได้สนใจเรื่อง “รายได้ของการขายโปรแกรมให้กับ End User” เป็นหลักด้วยซ้ำไป เมื่อผมเขียนบทความนั้น ดังนั้นประเด็นเรื่อง “การลงแอพตู้ทำลายรายได้ของนักพัฒนาหรือไม่” จึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ผมเห็นปัญหาภาพใหญ่กว่านั้น ว่าโดยทัศนคติแล้ว พวกเรา “ตีค่า” ซอฟต์แวร์ หรือคอนเทนท์ กันอย่างไร มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นเพียงของแถม เป็นสิ่งที่ไม่มีมูลค่า หรือตรงกันข้าม
เมื่อทัศนคติทางสังคม ยังตีมูลค่าและต้นทุนของ “ซอฟต์แวร์” ต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น เรื่องที่เกิดขึ้นได้ก็จะมีมากมายอย่าง ส่งผลลบกันทั้งนั้น เช่น
- เกิดอะไรขึ้นกับเรื่อง Tablet ป.1 ครับ? ต้นทุนเรื่องมูลค่าของโปรแกรมที่จะต้องพัฒนาขึ้นมารองรับอยู่ที่ไหน แล้วเนื้อหาล่ะ ผมเห็นแต่สนใจเรื่องฮาร์ดแวร์กันซะจนไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้เลย แล้วก็นำมาซึ่งการเร่งพัฒนาและการแปลงเนื้อหาอย่างฉาบฉวยไม่ได้คิดหน้าคิดหลังกันเท่าไหร่
- เกิดอะไรขึ้นกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูล การพัฒนาโปรแกรมด้านบริการหลายต่อหลายตัวครับ? เราไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพของข้อมูล คุณภาพเรื่องการใช้งาน ฟังก์ชั่นการทำงาน อะไรกันเลย เราละเลยเรื่องพวกนี้มากมาย เราคิดว่าต้นทุนของซอฟต์แวร์มันมีแค่การเขียนมันขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งมันน้อยกว่าความเป็นจริงมากมาย
- เกิดอะไรขึ้นกับงานอีกหลายงาน ที่คิดว่าต้นทุนทางการพัฒนาซอฟต์แวร์มันน้อย แล้วเราต้องลงเอยกับระบบห่วยๆ มากมายมหาศาลที่มันมีผลกับชีวิตของพวกเราในระยะสั้นและระยะยาวไม่แพ้อย่างอื่นเลย
ไม่ใช่แค่เรื่องซอฟต์แวร์หรอกนะครับ เรื่องคอนเทนท์หลายอย่างก็เช่นเดียวกัน …. เกิดอะไรขึ้นกับการทำคอนเทนท์ดีๆ ครับ? เราคิดว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การดาวน์โหลดไว้ในเครื่อง และการโพสท์ใหม่ไว้ในเพจของตัวเอง (แทนที่จะแชร์ลิงค์จากต้นฉบับ) เป็นการ “ช่วยเผยแพร่” และ “เจ้าของคอนเทนท์น่าจะขอบคุณด้วยซ้ำ” ซึ่งเป็นการคิดเองเออเอง มองโลกข้างเดียว เข้าข้างการกระทำของตัวเอง อย่างเห็นได้ชัด ผมไม่แย้งและผมไม่เถียง ว่ามีเจ้าของคอนเทนท์ที่ต้องการเช่นนั้นจริง แต่ก็มีอีกมากเช่นเดียวกันที่ไม่ได้ต้องการเช่นนั้นเลย ประเด็นคือ ถามเค้าหรือยังว่าต้องการแบบนี้หรือเปล่า?
แน่นอน ถ้าเรามองกันแค่ที่เรื่อง “คนทำซอฟต์แวร์” และ “รายได้ของคนทำซอฟต์แวร์” เป็นหลัก เรื่องมันง่ายขึ้นเยอะ ก็แค่อาจต้องปรับตัว และอยู่ให้ได้กับประเทศที่ทัศนคติเป็นแบบนี้ ซึ่งก็มีรูปแบบ Business Model หลายต่อหลายอย่างที่เป็นไปได้ แม้หลายอย่างจะไม่ค่อยสวยสักเท่าไหร่ เช่น
- ทำอาชีพรับจ้างพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่หลายคนก็เลือกทำ ผมเองก็ต้องบอกว่า รายได้หลักอย่างหนึ่งของหลายแห่งในปัจจุบัน ก็มาจากการรับทำงานให้กับคนอื่น รับเป็นโปรเจ็คบ้าง รับเป็น Service บ้าง แต่เนื่องจากบ้านเราคิดว่า “ซอฟต์แวร์มันถูก” ทำให้อยู่ในภาวะค่อนข้างปิดโปรเจ็คแบบหลังชนการเปิดโปรเจ็ค แค่เพื่อจะหาเงินมาเลี้ยงทีมงาน อยู่บ้าง ซึ่งพบได้บ่อยๆ จนกระทั่งสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองมากพอที่จะเรียกราคาให้อยู่ได้มากขึ้น หรือเข้าถูกช่องทางมากขึ้น ฯลฯ
- และแน่นอนว่าเมื่อถึงจุดนั้นก็จะเจอประเด็น “ตัดราคา” มาขายของในราคาที่ถูกกว่ามากๆ โดยไม่สนใจประเด็นยิบย่อยที่เป็นต้นทุนเลย .. ตัวอย่างกระทู้จากเว็บพันทิป “ทำเว็บแบบพันทิปใช้เงินเท่าไหร่” โผล่มาในหัวเลย ทั้งที่งาน Scale ขนาดนั้น (ขนาดพันทิป 100%) ล้านนึงเอาไม่อยู่แน่ๆ แต่ก็มีคนคิดว่ามันแค่หมื่นกว่าๆ เยอะแยะไป และคิดว่าทำได้เสียด้วย …. ซึ่งถ้าต้องการแค่เว็บบอร์ดง่ายๆ ผมก็บอกตามตรงว่าทำได้แน่นอนครับ แต่พันทิปมันไม่ใช่แบบนั้น ประเด็นคือ บางครั้งแทนที่เราจะช่วยกันให้ความรู้คนอื่น เรากลับอาศัยความไม่รู้ของคนอื่นนี่แหละ ตัดราคากันเอง และแน่นอนว่า ตัดคุณภาพกันเองด้วย เพราะรู้ว่าเค้าคิดว่าซอฟต์แวร์ต้องถูกอยู่แล้ว ตาม mindset ของสังคม
- พยายามหาช่องทางได้รายได้จากทางอื่น เช่น ทำ Software as a Service ให้กับธุรกิจต่างๆ ในบ้านเรา และขายเป็นลักษณะบริการ เช่นเดียวกับ Adobe Cloud Service หรือ Office365 ซึ่งนับวันจะเป็นปกติมากขึ้นๆ ในการทำธุรกิจซอฟต์แวร์ ไม่ต้องสนใจพวก End User เท่าไหร่ โดยเฉพาะกรณีของการทำแอพ แอพน่ะปล่อยฟรีไป แต่หาทางขาย Service ให้คนที่มีธุรกิจ ซึ่งอาจจะเห็นว่าการต้องลงทุนกับซอฟต์แวร์ในลักษณะเดียวกับค่าไฟ หรือค่าเน็ตรายเดือน เป็นการเสริมศักยภาพทางธุรกิจแทน และพวกนี้จะมีจำนวน End User ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอพได้ฟรีๆ (หรือลงผ่านร้านแอพตู้) เป็นปัจจัยเสริมในการตัดสินใจ เป็นจุดขายเพิ่มเติมให้กับ SaaS
- หากินกับโฆษณา ซึ่งก็เป็นไปได้นะ แต่อาจจะไม่ได้รายได้ดีเท่าไหร่ นอกจากจะมี Ad Service ของตัวเองด้วย หากจะติดพวก AdMob ก็อย่าไปหวังอะไรมากมาย อาจจะมีรายได้เดือนละหลักร้อยหลักพัน ยกเว้นแอพจะเป็นอะไรที่คนใช้งานกันบ่อยๆ จริงๆ เท่านั้น
- ไม่งั้นก็มีทางเลือกง่ายๆ ว่า “ไปทำอย่างอื่นซะ”
แต่ทั้งนี้ ผมต้องขอย้ำนะครับ …ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องรายได้ของนักพัฒนาเพียงอย่างเดียว เรื่องนี้มันเรื่องเล็ก และเอาตัวรอดกันได้อยู่บ้าง แต่ผมกำลังพูดถึง “ศักยภาพด้านการพัฒนา” ที่สำคัญด้านหนึ่งของประเทศไทย ที่มันจะส่งผลกระทบระยะยาวแน่นอน ไม่ต้องพูดหลายเรื่องครับ ผมยกเรื่องหลักๆ ก็ได้ เช่น
- ธุรกิจขนาดเล็กหลายแห่ง จะไม่สนใจและไม่มองซอฟต์แวร์เป็นปัจจัยเสริมศักยภาพที่จะต้องลงทุน มีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับค่าน้ำค่าไฟ ที่จะทำให้ได้เปรียบทางการค้า อันนี้ไม่ได้หมายถึงรวมทั้งหมดนะครับ เพราะมีหลายคนก็เห็นความสำคัญของตรงนี้แน่นอน แต่ประเด็นคือ จะลงทุนเท่าไหร่ และจะต้องใช้งานมันเท่าไหร่
- ที่ร้ายกว่านั้น คือ นักพัฒนาที่มีศักยภาพในการ “โก อินเตอร์” อาจจะ “ทิ้งประเทศไทย” ได้ ซึ่งอยากจะบอกว่า “วันนี้ พวกเรามีทางไป” ครับ อาจจะไม่มีคนสนใจที่จะทำซอฟต์แวร์อะไรเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับวงการศึกษา ธุรกิจ วิสาหกิจ ภาครัฐ ฯลฯ ของบ้านเราอีกแล้วก็ได้
ปลายทางจะเป็นยังไง ผมลองวาดภาพนี้ให้น่ากลัวเล่นๆ แบบวาด Worst Case …
เนื่องจากนักพัฒนาที่มีศักยภาพก็จะมีทางไป ไม่สนใจจะทำอะไรให้ประเทศนี้อีก หลายภาคส่วนของบ้านเราก็จะขาดซอฟต์แวร์ที่ดีมารองรับการทำงาน การเสริมศักยภาพไปโดยปริยาย ส่วนพวกที่ศักยภาพไม่พอก็ตายกันหมด ไม่ก็ต้องรับพัฒนางานแบบเดือนชนเดือน พัฒนาความรู้ความสามารถตัวเองไม่ขึ้น คุณภาพงานก็จะย่ำอยู่กับที่ ซึ่งหมายถึงแย่ลงไปเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเวทีโลก ยิ่งพัฒนาศักยภาพตัวเองไม่ได้อีก
แน่นอนว่าภาพนี้อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นได้ ความหนักหนาขึ้นกับปัจจัยหลายอย่างที่คงจะไม่มีใครรู้ได้ และนี่คือสิ่งที่หลายคนเริ่มมองกันแล้วด้วย … และผมขอ Quote ข้อความตัวเองจากบทความก่อนนี้มาอีกครั้ง
มันเป็น “The price we all have to pay” … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน
ปลายทางมันจะคืออะไรล่ะครับ …. ถ้าไม่ใช่ “ทะเลทราย” ที่เราสร้างมันขึ้นมาเอง …
สำหรับกรณีแอพตู้ ผมเชื่อว่าร้านแอพตู้หลายร้าน ไม่ได้มีเจตนา “เลวร้าย” อะไรเลยกับผู้ใช้ … เพียงแต่พวกเขาใช้ช่องว่างเชิงเทคนิคและรูปแบบการติดตั้งแอพ ในการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ของตัวเองขึ้นมาเท่านั้น
ผมชอบความเห็นของน้อง @L77 (น้องลิฟท์) ในทวิตเตอร์นะ น้องลิฟท์เป็น “เจ้าของร้านแอพตู้คนหนึ่ง” ที่สนิทกับผมดี และมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องนี้พอควรครับ เราควรร่วมมือกันในการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ใช้ในบ้านเราต่างหากครับ ให้ความรู้ในสิ่งที่ถูก ในขณะเดียวกันก็อาจบอกทางเลือกการลงแอพแบบบุฟเฟ่มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เรากำลังเอาอะไรไปแลกกับอะไรอยู่ กรณีแบบไหนบ้างที่จะมีปัญหา ฯลฯ ผู้ใช้หลายคนมีความกลัว ไม่มีความรู้เลยว่าตัวเองทำอะไรอยู่ มีทางเลือกอะไรบ้าง บางคนไม่รู้เลยว่าร้านทำอะไรให้บ้าง มันมีผลอะไรอย่างไรกับชีวิตเค้าต่อไปในอนาคต
ผมไม่ได้สนับสนุนการละเมิดลิขสิทธิ์นะ และผมไม่เห็นด้วยที่ร้านหลายร้านกลับไปสร้างความกลัวให้กับผู้ใช้เพิ่มเติมขึ้นอีก เช่นการยกราคาแอพบางตัวที่แพงๆ มาเป็นกรณีตัวอย่างเพียงกรณีเดียว แต่ไม่ยกกรณีอื่นๆ ที่มันถูกๆ เลย อะไรแบบนี้เป็นต้น ทำให้ผู้ซื้อรู้สึกว่า ฉันได้ของราคารวมกันเป็นแสนๆ ในราคาแค่ 200 บาท ทั้งๆ ที่จริงๆ หากตัดตัวนั้นทิ้งไป ก็อาจจะเป็นราคา 4-5 พัน และได้ใช้จริงๆ แค่ไม่ถึงพัน ในราคา 200 บาท ทำนองนี้ โดยไม่ได้สนใจที่จะสร้างความรู้หรือความเข้าใจพื้นฐานอะไรเพิ่มเติมใหัผู้ใช้งานเลย
ผมเชื่อว่าเราต้องพึ่งพาร้านแอพตู้อีกเยอะ ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับผู้ใช้หลายคนในบ้านเราครับ ผู้ใช้หลายคนต้องการคนสมัคร Apple ID ให้ ต้องการคนสอนดาวน์โหลดโปรแกรมและอัพเดทโปรแกรมอย่างถูกต้อง ซึ่งกินเวลาไม่เยอะมากมายเลยในการสอน หากเขายังจะเอาแอพแบบบุฟเฟ่ โดยที่รู้ถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ จริงๆ แล้ว ก็ยังเป็นสิทธิของเชาที่จะทำได้แหละ หรือว่าต่อไปเขาอาจจะอยากซื้ออยากโหลดแอพเองของเขา เขาก็จะได้รู้วิธีทำ
ผมเชื่อว่า .. จริงๆ แล้วร้านแอพตู้หลายร้ายควรที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาวงการซอฟต์แวร์ของบ้านเรา และการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องทางเลือกในการทำถูกลิขสิทธิ์อย่างแท้จริงกับผู้ใช้ทั่วไปครับ
ทั้งนักพัฒนาและร้านแอพตู้ ต้องลองมองระยะยาวๆ ครับ … อย่ามองแต่ระยะสั้นๆ แค่ฉันจะหากินวันนี้อย่างไร
http://www.rawitat.com/2013/06/26/1046/