Dynamic Range ของ D800 RAW

ปกติแล้วผมไม่ค่อยจะเขียนถึงกล้อง DSLR มากนัก ทั้งๆ ที่ใช้งานมันเป็นหลัก มากกว่ากล้องตัวอื่นๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด และบอกตามตรงว่าเวลาไปเที่ยวไหนที่คิดว่าจะถ่ายภาพจริงจังมากกว่าเที่ยว ก็ยังต้องใช้เป็นกล้องหลักอยู่เสมอก็ตาม

แต่วันนี้ต้องเขียนถึงเรื่องหนึ่งเป็นกรณีพิเศษสักหน่อย ก็คือเรื่อง Dynamic Range ของไฟล์ RAW จากกล้อง D800 ครับ

เป็นที่รู้กันดีว่าไฟล์ RAW ของ D800 นั้นเก็บข้อมูลไว้มหาศาล (ถ่าย 14-bit แบบบีบอัดข้อมูลจะใช้พื้นที่กว่า 30MB/ไฟล์) และที่ base-ISO สามารถเก็บ Dynamic Range ของแสงที่ต่างกันไว้ได้ถึงประมาณ 14-stop ซึ่งถือว่ามากมายเอาเรื่อง …. แต่ในการใช้งานจริง มันหมายถึงอะไรล่ะ?

ลองมาดูภาพที่แปลงจาก RAW แบบดิบๆ ไม่ได้ทำอะไรจากกล้องก่อนนะครับ

ภาพนี้ผมถ่ายตอนที่ไปเที่ยวกระบี่ แล้วเห็นฝรั่งนักท่องเที่ยวคู่หนึ่งกำลังบอกรักกันแบบหวานมาก ที่ร้านเครื่องดื่มแห่งหนึ่งบนเกาะไร่เลย์ … “เฮ้ย สวยมาก” ผมคิด และหยิบกล้องขึ้นถ่ายไว้ทันที โดยที่กล้องตั้งไว้เป็น Aperture Priority ตั้ง Matrix Metering ซึ่งจะเอาลักษณะของภาพที่มันเก็บได้ ไปเทียบกับลักษณะภาพในฐานข้อมูล และจัดการตั้งค่าให้เหมาะสมกับภาพที่กำลังถ่าย (และได้รับการอัพเกรดให้มีจำนวนจุดวัดแสงทั้งหมด 91,000-pixel เทียบกับ D700 ซึ่งมี 1,005 จุด) และไม่มีการชดเชยแสงแต่อย่างใด


"Dear, I love you" [RAW]

“Dear, I love you” [RAW]

ตามคาดครับ “มืด” เพราะว่าแสงข้างนอกนั้นจ้ามาก สว่างมาก เรียกว่าถ้าจะชดเชยแสงก็ต้องไม่ต่ำกว่า 1-stop (+1EV) แน่ๆ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นข้างนอกก็จะสว่างไปอีก … และแล้ว วินาทีนั้นก็ผ่านไป ….

ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงจะคิดว่า “รูปเสีย” กับปลอบใจตัวเองว่า “เออ เอาไปทำ Silhouette ก็ได้ฟะ น่าจะสวยไปอีกแบบ” แหงๆ แต่เพราะว่ารู้ว่า D800 RAW มันน่าจะ “เอาอยู่” กับสถานการณ์แบบนี้

ผมเป็นคนไม่เรื่องมากกับการนั่งทำรูปนัก ใช้ Lightroom ตัวเดียวทั้งจัดรูปและทำรูปไปเลย ไม่ได้ใช้โปรแกรมอื่นๆ หรือแม้แต่ RAW Converter ที่ทำงานกับไฟล์ NEF ของ Nikon ได้ดีกว่าอย่าง CaptureNX ก็เลยใช้ LR เนี่ยแหละจัดการแบบดิบๆ ง่ายๆ ด้วยการ “ดึงรายละเอียดในเงามืด (Shadow) ทั้งหมดเท่าที่จะดึงได้” และ “กู้รายละเอียดในแสงจ้า (Highlight) เท่าที่จะกู้ได้” จากนั้นก็ปรับโน่นนั่นนี่เล็กๆ น้อยๆ เรื่อยเปื่อย (ท่ามาตรฐานมาก Exposure, Contrast, White, Black, Vibrancy, Saturation, Clarity) ใช้เวลาทั้งหมดไม่กี่วินาที ก็ได้ภาพแบบนี้ออกมา


"Dear, I love you" [edited in LR]

Dear, I love you

แทบจะได้อย่างที่ตาเห็นเลยครับ (อาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ)

ยิ่งเป็นการตอกย้ำเรื่องการถ่าย JPEG กับ RAW เข้าอีก โดยสถานการณ์ปกติๆ ถ่ายรูปเดิน Snap หรือว่าถ่ายเวลาไปเที่ยวทั่วไปผมจะถ่าย JPEG นะ เพราะว่าส่วนมากแล้วมันเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป และรูปที่ “ยังไม่แต่ง” โดยมากแล้วจะสวยกว่า RAW แถมโปรแกรมเดี๋ยวนี้ก็ฉลาดพอ และ JPEG เดี๋ยวนี้ก็ดีพอที่จะนำไปแต่งต่อได้นิดๆ หน่อยๆ

แต่ว่าเวลาแสงยากๆ นี่ RAW ช่วยได้เยอะมาก และพอ RAW มันเก็บข้อมูลได้เยอะขนาดนี้ แนวคิดในการถ่ายรูปของหลายๆ คนก็อาจจะเปลี่ยนไป เน้นมุมมองและจังหวะมากขึ้น เน้นการได้รูปมากขึ้น มากกว่ารายละเอียดเชิงเทคนิค เพราะว่าสุดท้ายแล้วกล้องมันเก็บพวกนี้เอาไว้ให้เหลือเฟือ เพียงพอที่จะเอามานั่งทำเพิ่มเติมทีหลังได้

กล้องดีๆ เลนส์ดีๆ มันไม่ทำให้ภาพสวยขึ้นได้ขนาดนั้นด้วยตัวมันเองหรอกครับ มันแค่ “เพิ่มโอกาสได้ภาพที่สวย” มากขึ้นเยอะ ;-)