รีวิว: Nikon 1 – 32mm f/1.2 N

[อัพเดท:] สลับลำดับรูปและเพิ่มตัวอย่างการแก้ Color Fringing


รีวิวเลนส์ตัวสุดท้ายในซีรี่ส์ “Nikon 1 – The 3 Lenses After” ครับ ซึ่งนี่เป็นเลนส์แบบที่หลายต่อหลายคนรอคอยให้มันออกมาเสียที เพราะอะไรเหรอ คำตอบง่ายๆ คำตอบเดียวครับ “f/1.2” ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึงว่าในที่สุดเราก็จะได้ “Shallow Depth-of-Field” หรือการ “ละลายฉากหลัง” ได้ในการถ่ายรูปปกติๆ (ไม่ใช่จ่อวัตถุ) จากกล้องในระบบ Nikon 1 กันเสียที!


DSCF4858.jpg

Product Shot แบบบ้านๆ เช่นเคย


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ ไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” ทุกรูปถ่ายเป็น JPEG Normal จากกล้องเท่านั้น ไม่มีถ่าย RAW และทำต่อนิดหน่อยเท่าที่ไฟล์มันจะทำต่อได้ใน Lightroom เพื่อให้เห็นผลจากการใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset นี้ [Review] Nikon 1 – 32mm f/1.2 N ซึ่งตอนนี้มีรูปเท่ากับที่ลงในบทความนี้ แต่อาจจะเพิ่มในอนาคต (ซึ่งจะลงใน Flickr แต่ไม่เอามาลงเพิ่มในบทความนี้แล้ว)


ก็เพราะว่า Nikon 1 ใช้เซ็นเซอร์ขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับระบบ DSLR และ Mirrorless ทั้งหมด (ยกเว้น Pentax Q) ข้อดีโดยธรรมชาติของมัน (มี Depth-of-Field มหาศาล) กลายเป็นข้อเสียในตัวเอง (เล่น Shallow DoF ยากมาก) ซึ่งข้อเสียข้อนี้จะแก้ได้โดยการมี “เลนส์ไวแสง” และ “เลนส์ทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น”


DSC_0932.jpg

ลูกชายกำลังนอนเล่นในบ้าน

ก่อนหน้าตัวนี้ Nikon ก็มีเลนส์นอร์มอลไวแสงออกมาก่อน นั่นก็คือ 18.5mm f/1.8 ซึ่งเทียบเท่ากับเลนส์ 50mm (อ่านรีวิว) และแน่นอนว่า ด้วยความที่ธรรมชาติของมันก็ยังเป็นเลนส์ 18.5mm เหมือนเดิม ดังนั้นแม้ว่าจะมีรูรับแสงขนาด f/1.8 ก็ยังช่วยอะไรไม่ได้มากนักกับเรื่อง Shallow DoF เล่นเอาคนที่อยากจะเห็นหลังเบลอๆ หรือพูดง่ายๆ “ละลายฉากหลัง” ผิดหวังไปตามๆ กัน

แล้วครั้งนี้ล่ะ? นอกจากจะไวแสงขึ้นมากมาย (f/1.2) แล้วยังมีทางยาวโฟกัสที่ยาวขึ้น (32mm ซึ่งเทียบเท่ากับระยะ 86mm) อีกด้วย

ผมสั่งเลนส์ตัวนี้ไว้กับร้านประจำตั้งแต่ก่อนมันออกเช่นเคยครับ แต่ครั้งนี้ต้องรอนานหน่อย เพราะว่าค่อนข้างจะได้ของยากเมื่อเทียบกับตัวก่อนๆ สงสัยเพราะผู้ใช้ Nikon 1 รอคอยกับโอกาสที่จะได้เล่น Shallow DoF กันเยอะ (เท่าที่เช็คจากแหล่งข่าวต่างๆ ก็พบว่าน่าจะเป็นเพราะสาเหตุนี้แหละ)


DSC_0662.jpg

รอวันออกจากกล่อง

ก่อนที่จะไปดูเรื่องการละลายหลัง มาพูดถึงตัวเลนส์กันก่อนเช่นเคยนะครับ

ตัวเลนส์ของ 32/1.2 ตัวนี้นับว่าใหญ่และอวบอ้วนผิดจากเลนส์ Nikon 1 ตัวอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัดมาก ซึ่งสาเหตุก็ไม่พ้นขนาดของรูรับแสงที่กว้างถึง f/1.2 ทำให้เลนส์มีขนาดใหญ่ขึ้นมากพอสมควร เมื่อเอามาวางเทียบกับ 18.5mm f/1.8 จะเห็นได้ชัด ยิ่งยกขึ้นมายิ่งรู้สึกได้เลยว่ามันไม่ใช่แค่ใหญ่กว่าเท่านั้น แต่ยังหนักกว่ามาก ก็แน่นอนล่ะ ก็พี่แกเล่นชั่งน้ำหนักได้ 235g เมื่อเทียบกับ 18.5/1.8 ที่หนักแค่ 70g แล้วมันคนละรุ่นกันเลย

จริงๆ แล้วจะบอกว่ามันหนักกว่าเลนส์ Full-Frame แบบ AF 50mm f/1.8 D (155g) หรือ AF-S 50mm f/1.8 G (185g) ซะอีก จะสูสีหน่อยก็ AF-S 50mm f/1.4 G (230g) น่ะแหละ


DSC_0835.jpg

ความสงบที่รออยู่
สถานที่: วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม

โครงสร้างมีชิ้นเลนส์ 9 ชิ้นใน 7 กลุ่ม (ถามจริง …. จะมีคนสนใจเรื่องพวกนี้กันเท่าไหร่เชียว) ลักษณะแหวนรูรับแสงเป็น 7 กลีบโค้ง เพื่อ Bokeh ที่เนียนนุ่มสวยงาม (อีกแล้ว .. คราวนี้ล่ะ น่าจะได้เห็นแน่) นอกจากนั้นก็มี Close-Range-Correction (CRC) หรือการออกแบบให้ชิ้นเลนส์แต่ละกลุ่มขยับได้อิสระจากกันตอนโฟกัส ซึ่งจะช่วยเมื่อเราถ่ายโฟกัสระยะใกล้ และสุดท้าย ก็มีการเคลือบ Nano Crystal Coat ที่ช่วยลดการสะท้อนของแสงภายในตัวเลนส์เอง ที่จะทำให้ได้ภาพคมชัดขึ้น Contrast ดีขึ้น .. อ่อ แล้วก็ Silent-Wave Motor สำหรับโฟกัสไว+เงียบ


DSC_0682.jpg

Taking a break. See some Bokeh?

ผิวเลนส์เป็นโลหะ แต่ไม่แน่ใจว่าข้างในเป็นอะไร (ถ้าจะให้ผมเดานะ คงเป็นพลาสติกเกรดดีหน่อย แล้วก็ทำผิวเป็นโลหะ ให้มันทนขึ้น ดูหรูขึ้น แต่อันนี้ผมเดานะ ถ้าใครมีข้อมูลชัดเจนว่าข้างในเป็นอะไร บอกผมด้วยนะครับ) ไม่มี Texture อะไรบนพื้นผิวทั้งสิ้น เรียบ เงา และลื่นเหมือนกับ 18.5mm f/1.8 ไม่มีผิดเพี้ยน


DSC_0685.jpg

Talking on the phone. Bokeh! (แหง… ก็ฉากหลังไกลซะขนาดนั้น)

ที่แตกต่างกับเลนส์ Nikon 1 ตัวอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ มีแหวนสำหรับหมุนหาโฟกัสเอง ซึ่งเมื่อเราขยับเล็กน้อย ก็จะเข้าโหมด Manual Focus Override ทันที ซึ่งเป็นอะไรที่ผมชอบมากนะ ถึง Nikon 1 จะเป็นกล้องที่โฟกัสไวมาก แต่การใช้มอเตอร์ขยับชิ้นเลนส์ใหญ่ๆ กลายชิ้นหลายกลุ่ม มันทำให้โฟกัสช้าลงได้เหมือนกัน แถมบางกรณีเจอ Focus Hunting อีก เรื่องนี้ช่วยได้เยอะ แถมทำได้ไวมากซะด้วย ความรู้สึกตอนหมุนหาโฟกัสเองก็ไม่เลว ถึงจะเป็น Focus-by-Wire ก็เถอะนะ แต่ก็ทำได้ไวใช้ได้ ไม่อึดอัดหรือหงุดหงิด


DSC_0687.jpg

Empty spaces, what are we living for?
สถานที่: เซ็นทรัลปิ่นเกล้า

ไหนๆ ก็พูดถึงแหวน MF แล้ว ก็ลัดคิวพูดถึงเรื่อง MF กับเลนส์ตัวนี้ซะเลย ว่ามันดีไม่สุดแฮะ … เพราะว่าเจ้า Nikon 1 เป็นกล้องที่ค่อนข้างจะไวเรื่องโฟกัส แตะชัตเตอร์นิดเดียว พวกก็จะพยายามหาโฟกัสให้ซะแล้ว คนที่ชินกับการกดชัตเตอร์ค้างครึ่งนึงจนเป็นนิสัย (ไม่กดให้สุดทีเดียว) แบบผมก็เลยจะเจอปัญหาหน่อย ว่า Override ไปก็เท่านั้นซะบ่อย ถ้าอยากจะใช้ Manual Focus จริงๆ ก็ต้องเข้าเมนูเลือก MF ก่อนอยู่ดี

แล้วก็นะ … แหวน MF นี่โดนง่ายเป็นบ้าเลย เอามือประคองเลนส์แบบปกติเป็นโดน ต้องเอานิ้วคีบเลนส์เอาไม่ก็ใช้มือเดียว (แต่ใช้ไม่ค่อยได้ มันหนัก)


DSC_0720.jpg

ลูกๆ ที่บ้าน กำลังเล่นกันอยู่ ถ้าถ่าย Headshot น้องหมาก็มี “ตาชัดจมูกเบลอ” ล่ะ

ก่อนจะไปพูดถึงคุณภาพของรูปที่ได้ ขอเรื่อง Hood ก่อนละกัน ตัวนี้ Nikon แถม Hood มาให้ครับ (ไชโย!) แต่ว่าไม่เข้าใจเหมือนกันว่า Nikon คิดอะไร เพราะว่าผิวของ Hood กับเลนส์มันไปคนละทางเลย เวลาใส่แล้วดูเหมือนกับว่าเอา Hood ของเลนส์ตัวอื่นมาใส่ยังไงก็ไม่รู้แฮะ แล้วพอใส่ Hood แล้วเลนส์จะยาวขึ้นอีกนิ้วนึงเต็มๆ กลายเป็นเลนส์ขนาด DSLR ไปสมบูรณ์แบบล่ะ ส่วนตัว Hood ถอดมาคว่ำใส่เลนส์ได้เหมือนเคย และเนื่องจากเลนส์ไม่มีระบบหมุนเพื่อเปิดกล้อง ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะบังอะไร ไม่นับเรื่องผิวไม่เข้ากันล่ะก็ มันก็หล่อใช้ได้อยู่

แถมหน่อย ..​ ถ้าใครไม่ชอบแหวน MF ที่มันโดนง่าย การใส่ Hood กลับหัวช่วยท่านได้ครับ เพราะมันบังมิดเลย


DSC_0786.jpg

อารมณ์ Life-Portrait/Candid บ้าง ขณะที่นักศึกษากำลังทำแล็บเขียนโปรแกรม

มาถึงเรื่องรูปล่ะ … เอาเรื่องแรกที่หลายคนอยากรู้ก่อนเลย ว่ามัน “ละลายหลังเป็นไง”

เพราะว่า CX format มันมี Crop factor (ตัวคูณ) 2.7 ทำให้เลนส์ 32mm มี Field-of-View (FoV) เทียบเท่ากับ 86mm และเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด f/1.2 จะมี DoF เทียบเท่ากับ f/3.24 ดังนั้นสรุปง่ายๆ ว่าเลนส์ตัวนี้มันจะละลายฉากหลังได้พอๆ กับเลนส์ 85mm เปิดรูรับแสงประมาณ f/3.2 บน Full-Frame ก็ไม่แย่เท่าไหร่นัก แต่ถ้าเอามาใช้กับการถ่ายภาพบุคคลตั้งแต่ครึ่งตัวขึ้นไป มันไม่ละลายหายเกลี้ยงไปเหมือนกับใช้ 85mm f/1.4 หรือ f/1.8 บน Full-Frame แน่นอน

แต่ถ้าเป็นระดับ Head-Shot หรือตั้งแต่ค่อนตัวบนล่ะก็ มีละลายให้เห็นได้ไม่ยากครับ


DSC_0809.jpg

จับนักศึกษาที่เป็นผู้ช่วยคุม Lab มาเป็นนายแบบซะหน่อย

เพราะว่ายังไงๆ ซะ มันก็คือเลนส์ 32mm วันยังค่ำ เลนส์ 32mm ก็ยังมี DoF แบบเลนส์ 32mm น่ะแหละ ถึงมันจะไวแสงขนาดไหนก็ทำฉากหลังหายเกลี้ยงลำบาก ก็อย่างที่เรารู้ๆ กันอยู่ ว่าเลนส์ระยะ 28-35mm นี่เหมาะมากกับการใช้ถ่าย Environmental Portrait ดังนั้นมันก็ Common-Sense ล่ะนะที่มันจะไม่ละลายหลังหายเกลี้ยงกับการใช้งานทั่วไป แต่จะออกแนวเบลอๆ ออกไปอย่างเนียนๆ ให้พอจะเห็นมิติแยกกันของฉากหน้าฉากหลัง และยังดูออกทุกอย่างว่าถ่ายอะไรที่ไหน มากกว่า


DSC_0908.jpg

ลูกชายคนเล็กของบ้าน

เอาเป็นว่าเรื่องละลายหลังนี้ สำหรับคนที่อยากจะได้ “ฉากหลังเบลอๆ ละลายๆ หายเกลี้ยง ได้ในแทบทุกสถานการณ์” แบบ 85mm f/1.4 หรือ 105mm f/2 DC ล่ะก็ เลิกคิดครับ มันเป็นไปไม่ได้กับเลนส์ตัวนี้ แต่ถ้าเอาแค่ “หน้าชัดหลังเบลอ” ล่ะก็จัดมาได้แน่นอน แล้วก็ต้องใช้เทคนิคเดิมๆ คือ จัดระยะห่างระหว่างฉากหลังกับตัวแบบครับ ทิ้งฉากหลังไกลๆ แล้วตัวแบบอยู่ใกล้ๆ จะช่วยได้เยอะมาก

แบบรูปต่อไปนี้นี่เกลี้ยงเลย :-D


DSC_0828.jpg

รอถวายพระ

คุณภาพของส่วนที่เบลอ หรือที่เราเรียกว่า Bokeh (ซึ่งจริงๆ แล้วแปลง่ายๆ ว่าส่วนที่เบลอครับ) จัดว่าดีเอาเรื่อง เรียบ เนียนตา ไม่มีเส้นสายหรืออะไรมาสะกิดสายตาให้รำคาญ ซึ่งจัดว่าช่วยได้เยอะมากเวลาใช้งานจริง เพราะว่าบ่อยครั้งที่ผมเจอเลนส์ที่ละลายหลังดี แต่คุณภาพของส่วนที่เบลอค่อยข้างแย่ มีเส้นสายแปลกๆ มาให้รำคาญตาเยอะ ไม่เนียนหลุดออกไปจากความสนใจที่จะมีให้แบบ ถ้าเจอแบบนั้นล่ะก็ .. สู้ให้มันไม่เบลอหายไปเท่าไหร่ เห็นกันชัดๆ ไปเลยว่ามันเป็นอะไรยังไงซะยังจะดีกว่า

ถึงจะจงใจเลือกฉากหลังที่เป็นโจทย์ “ยาก” สำหรับการทดสอบเลนส์ ผมก็คิดว่าเลนส์ตัวนี้สอบผ่านสบายๆ ในเรื่องคุณภาพของ Bokeh ครับ


DSC_0861.jpg

เจดีย์เก่า
สถานที่: วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม

สำหรับเรื่องความคมของเลนส์ ต้องบอกว่าค่อนข้างจะหายห่วงครับ ถึงจะเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด ก็ยังจัดได้ว่าคม โดยเฉพาะกลางภาพคมมาก (ไม่เหมือนกับเลนส์หลายตัวที่ค่อนข้างจะ Soft ที่รูรับแสงกว้างที่สุด) แต่ขอบภาพจะ Soft นิดๆ แต่ปกติๆ ถ้าเปิดรูรับแสงกว้างสุดกับเลนส์ไวแสง ยังไงๆ ขอบภาพก็ไม่น่าจะใช่จุดสนใจปกติอยู่แล้ว (เพราะจะเน้นแบบ ซึ่งปกติจะไม่จัดให้อยู่ขอบเป๊ะ และตรงนั้นมักจะถูกจัดให้เบลออยู่แล้ว)

เมื่อลดขนาดรูรับแสงลงมาถึงประมาณ f/2 และ f/2.8 นี่คมขึ้นแบบขอบจรดขอบ (พร้อมกับ Shallow DoF ที่หายไป ฮ่าๆๆ)


DSC_0843.jpg

แมววัด
สถานที่: วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม

แต่อย่างหนึ่งที่จะต้องทำใจเล็กน้อยๆ และคิดว่าหลายคนคงจะสังเกตเห็นแล้ว (ซึ่งสำหรับรีวิวนี้ผมตั้งใจไม่เอาออกตอนทำ Post-Processing) .. ก็คือธรรมชาติที่ตามมากับความไวแสง นั่นก็คือ “ขอบม่วง” (หรือขอบเขียว) ซึ่งเป็นปกติอยู่แล้วที่เลนส์ไวแสงจะให้ภาพที่ติดขอบม่วงในบริเวณที่ Contrast ของแสงจัดๆ ซึ่งเลนส์ตัวนี้ไม่ใช่ข้อยกเว้น มีมาให้เห็นเยอะอยู่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าซอฟต์แวร์ที่ทำ Post-Processing เช่น Lightroom มันเก่งมาก คลิกเดียว+ลากสไลเดอร์นิดๆ หน่อย หายเกลี้ยงโดยกรณีทั่วไปไม่มีผลกระทบใดๆ กับรูปเลยอีกตะหาก จะไปห่วงทำไมมากมาย

ถ้าไม่เชื่อ ทำให้ดูง่ายๆ นะครับ ;-)


DSC_0681.jpg

ที่จอดรถห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า (สังเกตขอบไฟ และไฟที่เพดาน)

สังเกตที่ไฟหน้ารถนะครับ รูปแรกมีขอบม่วงเห็นชัดเจนแบบมาเต็ม เท่านั้นไม่พอ ตรงไฟด้านบนของเพดานยังมีขอบเขียวอีกตะหาก ส่วนรูปที่แก้แล้วนี่หายเกลี้ยง แค่เลือก Checkbox 1 ตัวและเลื่อน Slider อีก 2 ตัวเท่านั้น ซึ่งหากใช้โปรแกรมตัวอื่นในการทำงานกับภาพ ผมก็เชื่อว่าโปรแกรมหลายตัวก็มี Option นี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นธรรมชาติของเลนส์ไวแสง เพียงแต่ตัวไหนจะมีมากมีน้อยเท่านั้นเอง บางตัวมีมากจนแก้ลำบากใน Post-Processing ส่วนตัวนี้ยังแก้ได้ไม่ยากนัก


DSC_0681.JPG, Fringe-Corrected

ที่จอดรถห้างเซ็นทรัลปิ่นเกล้า (Color Fringe Corrected in LR)

เรื่องสีสัน เรื่อง Contrast ถือว่าทำได้ดีมาก สอบผ่านทุกการทดสอบสบายๆ และที่สำคัญเรื่องขอบมืด ถือว่าน้อยมากๆ จนเรียกได้ว่าหลายกรณีนี่ไม่ใช่ปัญหาให้มองเห็นเลยด้วยซ้ำ .. จนผมต้องมาเพิ่มเองตอนทำ Post-Processing หลายรูปเลย (แต่ถือว่าดีแหละ มีน้อยแล้วมาเพิ่มทีหลัง ดีกว่ามีเยอะเป็นธรรมชาติ เพราะบางทีเราก็ไม่อยากได้มันเท่าไหร่) เรียกได้ว่าในการใช้งานปกติไม่ต้องสนใจเรื่องนี้เลยครับ


DSC_0810.jpg

นักศึกษากำลังทำแล็บเขียนโปรแกรม

เรื่องสุดท้ายก็คือเรื่อง “ราคา และความคุ้มค่า” …. เรื่องนี้ยาวครับ

ในบทความรีวิว Nikon 1 – 6.7-13mm f/3.5-5.6 ผมเขียนถึงเลนส์ตัวนั้นไว้ว่าราคาสูงกว่าเลนส์ Nikon 1 ตัวอื่นๆ เลยต้องคิดหนักหน่อย เจ้า 32mm f/1.2 ตัวนี้ ทำให้เลนส์ตัวนั้นกลายเป็นของราคาถูกไปเลยครับ ก็มันแพงกว่ากันเกือบเท่าตัว … ใช่ครับ อ่านไม่ผิดครับ แพงกว่ากันเกือบเท่าตัว (คือ 2 หมื่นปลายๆ)

เมื่อเทียบกับเลนส์ 85mm แท้ๆ ของ Full-Frame ล่ะ ก็ต้องตกใจเมื่อพบว่า AF-S 85mm f/1.8 G ราคาแค่ 15,xxx ถูกกว่าตัวนี้มากมาย ในขณะที่ AF-S 85mm f/1.4 G N กลับไปอยู่ที่หกหมื่นต้นๆ ซึ่งเรียกว่า “แพงขึ้นไปอีกหลายเท่า” เช่นเดียวกับ AF-S 50mm f/1.8 G ที่ราคาไม่ถึงหมื่น แต่พอเป็น f/1.4 กลับมีราคาเป็นเท่าตัว ทั้งๆ ที่ไวแสงกว่ากันไม่เท่าไหร่ เพราะอะไรเหรอ


DSC_0895.jpg

นอนเฝ้าชามข้าว

ความจริงง่ายๆ ของการสร้างเลนส์ครับ … ฟิสิกส์และอะไรหลายๆ อย่างมันทำให้การสร้างเลนส์ไวแสงเป็นอะไรที่ยากและแพงโดยธรรมชาติ จริงอยู่ว่ามีเลนส์ไวแสงหลายต่อหลายตัวที่ราคาไม่สูงนัก แต่ก็ด้วยเหตุผลหลายอย่างว่าคนออกแบบและสร้างเลนส์เหล่านั้น “เอาอะไรไปแลกมา” อาจจะเป็นความคมที่รูรับแสงกว้างที่สุด (แบบเลนส์ใน Fujifilm X100, X100s ที่ Soft อย่างเห็นได้ชัดมากเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างสุด) ขอบที่มืดมาก ขอบภาพที่ยังไงก็ไม่คมสักที กว่าจะคมก็ที่ f/5.6 หรือ f/8 หรือแม้แต่เหตุผลทางธุรกิจในกรณีที่เป็นเลนส์เจ้าของระบบ หรือที่เราเรียกว่า “เลนส์ค่าย” (ยอมขายเลนส์บางตัวถูก เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนเข้ามาซื้อระบบใช้มากขึ้น)


DSC_0869.jpg

Day Dreaming

การควบคุมแสงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครับ ยิ่งรูรับแสงกว้าง ก็ยิ่งสร้างยากออกแบบยาก ต้องใช้เลนส์พิเศษมากขึ้นเพื่อควบคุมแสง หรือแก้ผลจากการหักเหแสงของชิ้นเลนส์อื่นๆ ก่อนหน้านั้น หรือไม่งั้นก็ต้องออกแบบให้มันโคตรเป๊ะมากๆ ที่จะทำให้ไม่ต้องใช้ชิ้นเลนส์มาแก้แสงซึ่งกันและกัน ซึ่งแม้ว่าจะลดชิ้นเลนส์หรือความซับซ้อนลงได้ แต่กลับกลายเป็นออกแบบยากขึ้นและสร้างยากขึ้น (ไม่งั้น Leica Summicron f/2.0 APO ASPH มันจะราคาโหดร้ายขนาดนั้นเรอะ แพงกว่า f/1.4 ASPH ซะอีก)

ความต้องการเลนส์ไวแสง และ DoF กับระบบ Nikon 1 ของผู้ใช้ เป็นอะไรที่ผมเชื่อว่าทาง Nikon เองก็ทราบดี แต่ต้องบอกตามตรงว่า คงยากที่จะทำเลนส์รูรับแสงกว้างกว่านี้ โดยคงคุณภาพระดับนี้เอาไว้ ไม่เอาอะไรไปแลกมากกว่านี้ (หลายคนรับได้ที่จะมีเลนส์ที่ Soft มากมาย ขอบภาพไม่สวย แต่ขอให้ละลายหลังเยอะๆ และราคาถูก แต่ไม่ใช่ว่าคนทำเลนส์จะรับได้ทุกคน)


DSC_0870.jpg

อย่าเข้ามานะ! แง่ง!

แต่ว่ามันทำยากแค่ไหน ต้นทุนแค่ไหน มันไม่ใช่ความทุกข์ของเราครับ มันเป็นความทุกข์ของคนออกแบบและสร้างเลนส์ ความทุกข์ของเราคือ “แล้วมันคุ้มหรือเปล่าล่ะ”

คำถามนี้ตอบแทนกันยากมากนะ ด้วยตัวมันเอง เลนส์ตัวนี้และ 6.7-13mm f/3.5-5.6 เป็นเลนส์ที่ดีที่สุดในระบบของ Nikon 1 อย่างไม่ต้องสงสัยอะไร เลนส์ 6.7-13mm ให้ “มุมกว้าง”​ และอาศัย DoF มหาศาลโดยธรรมชาติของ CX ให้เราเล่นมุมกว้างได้อย่างสนุก ในขณะที่เลนส์ 32mm f/1.2 ต้องต่อสู้กับธรรมชาติข้อนี้ และทำให้เราได้ “ชัดตื้น” มาเล่นกันเสียที และยังมีคุณภาพของ Optics ที่ดีมากที่รูรับแสงกว้างที่สุด ไม่ต้องคิดถึงเรื่อง Stop-down กันไปอีกแม้แต่ครึ่ง stop ให้มันเสียชัดตื้นแม้แต่นิดเดียว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก


DSC_0831.jpg

Friendship has no boundary and is everywhere

แต่แน่นอนว่า ระยะ 85mm มันไม่ใช่สำหรับทุกคน และถ้าเราต้องการแค่ Shallow DoF แบบไม่คำถึงถึงขนาดของเลนส์ ไม่คำนึงถึงขนาดของกล้องตอนที่ใช้ล่ะก็ ยังมีทางเลือกอื่นอีกมากมายที่ให้ผลไม่ต่างกันมากนัก เช่น การใช้เลนส์ 35mm f/1.8 G DX หรือแม้แต่ 50mm f/1.8 G ตัวละไม่ถึง 8 พัน (ไม่ใช่ 35mm f/1.4 G N นะ รายนั้นหกหมื่นกว่า อย่างว่า เลนส์ไวแสงมันแพง ยิ่งเจอ N เข้าไปยิ่งแพงหนัก) คู่กับ FT-1 Adapter ซึ่งเมื่อเปิดรูรับแสงกว้างที่สุดทั้งคู่ จะทำให้ได้ FoV และ DoF เทียบเท่ากับ 95mm f/4.8 และ 135mm f/4.8 ตามลำดับ … หรือด้วยราคาที่เท่ากับ 32mm f/1.2 ตัวนี้ จะใช้ AF-S 50mm f/1.4 + FT-1 ซึ่งจะได้ FoV และ DoF เท่ากับ 135mm f/3.8 ก็ย่อมได้


DSC_0680.jpg

โชว์รถ

สรุปว่า เลนส์ตัวนี้คือเลนส์ที่ “ตัวเลนส์เอง” นั้น “ดีที่สุด” สำหรับ Nikon 1 ครับ แต่มันไม่ใช่สำหรับทุกคน และมีทางเลือกอื่นมากมายให้ได้ผลลัพธ์แบบที่ต้องการ ไม่เหมือนกับกรณีของ 6.7-13mm ครับ ที่เป็นทางเลือกเดียวสำหรับ Ultra-Wide บน Nikon 1 ตอนนี้

แต่สำหรับคนที่อยากได้เลนส์ Nikon 1 แท้ๆ แบบไม่ต้องผ่าน Adapter หรือไม่มีเลนส์ระบบ DX, FX ที่ผมพูดถึงอยู่แล้ว อยากใช้งานระบบ AF ของ Nikon 1 ได้เต็มๆ อยากได้เลนส์ติดตัว N อยากได้รูรับแสงกว้างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้บน Nikon 1 …. และเรื่องราคาไม่ใช่ปัญหาเท่าไหร่ อยากจะบอกว่า “จัดไปเลยครับ”

บทความที่เกี่ยวข้อง