The Three Monkeys

สุภาษิตโบราณว่าไว้เป็นปรัชญาชีวิต

“See no evil, Hear no evil, Speak no evil”

แปลตรงๆ ตัวว่า “ไม่เห็นสิ่งชั่วร้าย ไม่ได้ยินสิ่งชั่วร้าย ไม่พูดสิ่งชั่วร้าย”

ต่างวัฒนธรรมก็ตีความสัญลักษณ์นี้ต่างกัน โลกตะวันออกอย่างเราๆ ตีความเป็นคติเตือนใจให้กับชีวิตว่า “อย่าอยู่กับสิ่งชั่วร้าย” ไม่ว่าจะเป็นการพูด การได้ยิน หรือการมองเห็น ฟังดูแล้วเหมือนกับให้ “ปล่อยวาง” แต่อีกวัฒนธรรมหนึ่งอาจใช้สัญลักษณ์นี้ในเชิงตรงข้าม คือใช้แสดงถึงคนที่ปล่อยปละละเลยจากการมองเห็นความไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ฟังดูแล้วเหมือนกับให้ “ต้องเห็น/ต้องสนใจ”

แล้วใครถูกใครผิดเล่า กับสองมุมมองนี้? มันดูจะขัดกันมากมายใช่ไหม


DSC_5678.jpg

“三猿” (แปลว่า “ลิงสามตัว”) at the Tosho-gu shrine in Nikko, Japan

อันที่จริงแล้วมันก็ถูกทั้งคู่ ทั้งที่มันอาจจะดูขัดกันที่ผิวเผิน แต่จริงๆ เชื่อไหม ว่ามันคือเรื่องเดียวกัน … มันก็แค่ว่าเราจะมอง “ตัวเอง” หรือ “คนอื่น/สังคม/สิ่งรอบตัว” เป็นหลักน่ะแหละ

ถ้าเรามองที่ “ตัวเอง” เป็นหลัก อะไรที่ทำให้เราไม่สบายใจ คิดแล้วใจเป็นทุกข์ มัวแต่เห็นสิ่งที่มันไม่ดีไม่งาม “ตามจริตของตัวเราเอง” นั่นคือ ความชั่วร้ายไม่ดีกันเกิดจากการที่เรายึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาตัวเองเป็นความถูกต้อง เราก็ควรจะปล่อยวางมันลงไปเสีย นั่นคือ ลดละเลิกอัตตาของตัวเองซะบ้าง

เมื่อเรามองที่สังคมหรือสิ่งรอบตัวเราเป็นหลัก โดยคำนึงถึงตัวเองหรือจริตของตัวเองน้อยลงล่ะ สิ่งที่เราเห็นว่ามัน Evil ไม่ดี หรือชั่วร้าย มันคือเรื่องที่ส่งผลกับทุกคน (ซึ่งแน่นอนว่าตัวเราเองก็รวมอยู่ด้วย ถึงเราจะไม่ได้คิดถึงมันก็ตาม) และนั่นแหละ คือความ Evil ที่เราไม่ควรจะปล่อยมันให้ผ่านไปหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

ปัญหาง่ายๆ ก็คือ บ่อยครั้งที่เรากลับทำตรงกันข้ามด้วย เรามักจะเห็นแต่สิ่งไม่ดี สิ่งชั่วร้าย ที่ผิดหรือขัดกับจริตของเรา ขัดกับอัตตาของเรา ขัดกับสิ่งที่เรายึดมั่นยึดถือว่าดีอยู่ เต็มไปหมด และเราจะพูด เราจะเห็น และเราจะได้ยินแต่สิ่งเหล่านั้น และเราจะเริ่มยัดเยียดจริตของเราลงไปให้กับคนอื่น … ในขณะที่สิ่งที่เป็นปัญหาต่อคนอื่น เรากลับเลือกที่จะมองไม่เห็นมัน และปล่อยมันผ่านไป จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม


DSCF0966.jpg

“3 Coders” at Code App Headquarter Office

ลองทำกลับกันดูบ้างสิครับ … อะไรที่ทำให้เราไม่สบายใจ ขัดหูขัดตาขัดใจจากจริตของตัวเอง การตัดสินคนอื่นให้เป็นอย่างเรา การคิดว่าเราถูกเสมอทุกคนต้องเป็นแบบจริตของเราถึงจะดี สิ่งเหล่านี้เราลองปล่อยวางมันลงบ้าง สุดท้ายสิ่งที่เราปล่อยวางได้จะไม่ใช่พวกนั้นหรอกครับ แต่จะเป็นการปล่อยวางตัวเอง

“การปล่อยวางตัวเอง” กับ “การรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว” มันไม่ได้ขัดกันหรอกครับ … ตรงกันข้ามเลย มันคือสิ่งเดียวกันที่เกิดจากการพูด เห็น และมองคนละมุม .. แต่เราจะรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวอย่างที่มันเป็นได้อย่างไรเล่า ถ้าเราปล่อยวางจริตและอัตตาของตัวเองไม่ลงเอาซะเลย?