Nikon Coolpix A: My New “Anywhere” Buddy

ไม่ได้เขียนรีวิวอุปกรณ์ถ่ายรูปซะนาน ส่วนหนึ่งเพราะช่วงหลังๆ ไม่ได้ซื้ออะไรเลย …. ตั้งแต่ถอย Nikon Df (อ่านรีวิวที่นี่) ก็ไม่ได้ซื้ออะไรทั้งนั้น แล้วก็งานยุ่งซะจนไม่ได้ไปเที่ยวถ่ายรูปที่ไหนเลย แล้วก็ไม่ค่อยได้เข้าไปอ่านกระทู้ตามเว็บบอร์ดกล้องด้วย

จนกระทั่งช่วงก่อนหน้านี้ กล้องตัวที่ผมสนใจมากก็คือ Sigma dp2 Quattro เริ่มไปถึงมือบรรดาคนเล่นกล้อง คนถ่ายรูปในต่างประเทศ ผมเลยเริ่มกลับมาอ่านๆ กระทู้หรือบทความต่างๆ อีกครั้ง …. จนกระทั่งวันหนึ่งก็เข้าไปยังห้อง Nikon ในเว็บ ThaiDPhoto เจอกระทู้น่าสนใจคือ “[จับเข่าคุย] ชวนผู้ใช้ Coolpix A มาคุยกันหน่อย” ก็เลยเกิดความสงสัยนิดๆ …. เอ๊ะ กล้องมันก็ออกมานานแล้วนี่ ตั้งแต่มันออกมาก็เห็นเงียบๆ กัน ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ทำไมอยู่ดีๆ มีคนตั้งกระทู้ ก็เลยลองเข้าไปอ่านดู … ​แล้วผมก็พบข้อมูลที่ทำให้ตาลุกทันที ก็เพราะว่ามันมีโปรโมชั่นที่ร้าน Pixpros House ในราคาถูกมากจนแทบไม่น่าเชื่อ (จาก 36,900 เหลือ 14,900 เท่านั้นเอง ป.ล. ไม่ได้ค่าโฆษณา) ….. ขยี้ตาดูราคาอยู่สองรอบ


DSC_6049.jpg

Nikon Coolpix A สีเงิน + Skin ลายหนังสีดำ ให้เข้าชุดกับ Nikon Df และ Leica M240 ที่มีอยู่แล้ว

จริงๆ ผมก็ค่อนข้างจะสนใจ Coolpix A อยู่แล้วตั้งแต่มันออกมา แต่ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง และราคาที่ค่อนข้างจะสูง ทำให้ไม่ได้ซื้อมาเล่น แต่ในเมื่อมันมีโปรโมชั่นแบบนี้ และมีถึงแค่สิ้นเดือนนี้เท่านั้น ประกอบกับตอนนั้นผมเพิ่งจะขาย Fuji X100s ไปด้วย เลยไม่มีกล้อง APS-C ขนาดเล็กใช้ นอกจาก Sigma DP2 Merrill ซึ่งค่อนข้างเป็นกล้องเฉพาะทางมากๆ (อ่านรีวิวที่นี่) ผมก็เลยรีบไปสอยมา …. และรีบเขียนรีวิวนี้ เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคนที่สนใจมันอยู่ (จะได้ทันก่อนหมดโปรโมชั่น หรือของหมด)


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ แทบไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” ส่วนมากถ่ายเป็น JPEG Normal มีบางรูปเท่านั้นที่ถ่ายเป็น RAW และมีการทำต่อใน Lightroom ตามแบบที่ผมใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset: [Review] Nikon Coolpix A ซึ่งสำหรับ Photoset บน Flickr นั้นจะมีการลงรูปเพิ่มเติมเรื่อยๆ ด้วยครับ และตอนนี้ก็มีรูปมากกว่าในบทความนี้อยู่แล้ว



DSC_0004-3.jpg

ลูกชาย นอกหน้าประตูทางเข้าบ้าน

Nikon Coolpix A

ตั้งแต่ Fuji X100 (อ่านรีวิวที่นี่) ออกมา ตลาดกล้อง Compact ที่มี Image Sensor ขนาดใหญ่ ก็เริ่มมีการแข่งขันสูงขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าแทบทุกค่ายน่าจะลงมาเล่นตลาดนี้กันหมด (ก่อนหน้านั้นมีแต่ Sigma DP Series แล้วก็เงียบๆ) และในที่สุดเมื่อปีก่อน (2013) Nikon ก็เข้ามาเล่นกับเค้าด้วย

Nikon ก็เลือกที่จะทำมันเป็น Compact แท้ๆ ในตระกูล Coolpix โดยเลือกเอา Sensor ขนาด APS-C (1.5x) 16 MP ของ D7000 แต่ไม่มี Anti-Alias Filter ประกอบกับตัวประมวลผลภาพรุ่น Expeed 2 ซึ่งค่อนข้างจะตกยุคเล็กน้อย มาลงใส่ในบอดี้รูปร่างและขนาดประมาณ Coolpix P330 เลือกเลนส์ Prime 18.5mm ซึ่งพออยู่บน 1.5x แล้วจะได้เทียบเท่า 28mm f/2.8 และเพื่อตอกย้ำความเป็น Coolpix Compact ก็ทำดีไซน์แบบฝาปิดอัตโนมัติ พอเปิดแล้วจะยืดออกมาอีกเล็กน้อย ไม่มี Viewfinder ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Optical หรือ Electronic (มีแบบ Optical ขายแยกต่างหาก) แล้วก็เรียกมันว่า “Coolpix A” ซึ่งทั้งหมดนี้ ทำให้มันเป็นกล้องที่มี Sensor ขนาด APS-C ที่มีขนาดเล็กที่สุด (เมื่อวันที่มันออกมา) .. อ่อ มีสองสีด้วยนะ คือ สีดำ และ สีเงินแชมเปญ

พูดสั้นๆ มันคือ หัวใจและสมองของ D7000 ในร่างของ P330


DSC_0004.jpg

ผม (เสื้อดำ) กำลังนั่งคุยงานกับ Startup ทีมหนึ่ง (เพื่อนถ่ายให้)

โดยส่วนตัวผมค่อนข้างก้ำกึ่งกับการตัดสินใจแบบนี้ของ Nikon มากๆ ว่ามันเป็นการตัดสินใจที่ดีหรือไม่

ใจหนึ่ง ผมก็คิดว่าการที่มีกล้อง Compact แท้ๆ ขนาดเป็น Compact ลักษณะเป็น Compact การทำงานเป็น Compact ประสิทธิภาพเป็น Compact แต่ยกเว้นไว้อย่างเดียวคือ Image Quality ก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะมันสะดวกเวลาพกไปไหนมาไหน โยนใส่กระเป๋า ติดไว้ในรถ ติดตัวไปไหนมาไหนสะดวกมาก และเมื่อจะเอามาถ่ายภาพ ก็จะได้ภาพที่ดีกว่าได้จาก Compact ปกติ แล้วข้อจำกัดในเรื่องที่แสงน้อยก็น้อยลงไปมากอีกด้วย

แต่ก็นั่นแหละ อีกใจหนึ่งก็คิดแย้งทันที ก็ด้วยความที่มันเป็น Compact ทุกอย่างเนี่ยแหละ โดยเฉพาะเมื่อ Nikon เลือกการออกแบบประมาณ P330 ซึ่งเน้นจะเป็น Compact ขนาดเล็ก มากกว่า Compact ขนาดใหญ่อย่าง P7000 ด้วยแล้ว นอกจากเรื่อง Image Quality มันก็จะมีทุกอย่างเป็นแบบ Compact หมด … นั่นก็คือ ลืมไปได้เลยว่าจะมีปุ่ม มี Dial ให้ปรับโน่นปรับนี่ได้สะดวก เรียกว่าจะเปลี่ยนอะไร ก็แทบจะต้องกดปุ่มเข้าไปตั้งค่ากันอย่างเดียว


DSC_0022.jpg

กอหญ้า ริมทาง

แต่ทั้งหมดนั้นมันก็ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่ากับ “ราคา” ….

ไม่ใช่ว่า Coolpix A ถูกตั้งราคาสูงไปจนมากมายหรอกนะ จริงๆ แล้วเทียบกับกล้อง APS-C ที่มีเลนส์ Prime ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น X1, X2, X100, X100s หรือว่าแม้แต่ Sigma DP Merrill ก็เรียกได้ว่าราคามันอยู่ในช่วงเดียวกันน่ะแหละ Coolpix A จะอยู่ในช่วงล่างๆ ของกลุ่มนี้ซะด้วยซ้ำ …. แต่ … แล้วทำไมหลายคนรู้สึกว่ามันแพงล่ะ?

ผมว่ามันมีอะไรที่ทำให้รู้สึกแบบนั้นหลายอย่างทีเดียวล่ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบ ที่รู้สึกว่ามันเป็น “กล้อง Compact ทั่วไป” มากกว่า “กล้องที่มีอะไรพิเศษ” ทำให้แม้ว่ามันจะถูกกว่า X100s แต่ความรู้สึกว่ามัน “Premium” จะแตกต่างกันตั้งแต่เรื่องนี้แล้ว ถ้าลองออกมาแบบมี Optical Viewfinder ในตัว แล้วก็มี Texture ลายหนังที่ดู Premium หน่อย (แบบ Nikon Df) คาดอยู่บนตัวกล้องด้านหน้า ทำเลนส์มีฝาปิดดีๆ ใส่ Filter ได้ ไม่ต้องยืดหด อาจจะมาพร้อม Hood ที่ถอดเก็บได้ กับมีตัวหมุนปรับความเร็วชัตเตอร์ และปรับรูรับแสงแยกกัน อะไรทำนองนี้สิ ผมว่าราคานี้จะรู้สึกว่า “ไม่แพง” ทันที


DSC_0021.jpg

วันฟ้าสวยๆ แดดดีๆ กับถนนในชนบท

พูดถึง Viewfinder กับ Hood นี่ก็เป็นเรื่องที่ทำให้รู้สึกว่า Coolpix A มัน “แพง” เพราะว่าสองตัวนี้ขายแยก แล้วก็ราคาค่อนข้างสูงมากทีเดียวล่ะ เรียกว่าขนาดผมชอบใช้ Viewfinder มากกว่าจอ LCD ขนาดไหน ผมยังไม่คิดจะซื้อ Optical Viewfinder ของ Coolpix A มาใช้เด็ดขาด มันแพงกว่าของคนอื่นเยอะมาก (เดี๋ยวไปหา VF 28mm ของคนอื่นมาใช้เอาดีกว่า) ซึ่งพอเป็นแบบนี้ มันทำให้รู้สึกว่ามันถูก “โก่งราคา” …. ประกอบกับประเด็นแรก มันเลยกลายเป็น “กล้อง Compact ทั่วไป ที่ถูกโก่งราคา” ขึ้นมาทันที

อีกเรื่องหนึ่งที่มีผลอ้อมๆ ก็คือ “อะไรก็ตามที่ไป Reinforce หรือตอกย้ำความรู้สึกว่า Nikon ขายของแพงกว่าที่ควร” ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคา Nikon V-series ที่ค่อนข้างสูงมาโดยตลอด หรือกรณีของ Nikon Df ที่ออกมาแบบโคตร Premium เรื่องพวกนี้มันมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อหลายคนเหมือนกันนะ ยิ่งไปตอกย้ำความรู้สึกว่ามันราคาสูงไป ให้มันหนักยิ่งขึ้นไปอีก … (หมายเหตุ: Nikon 1 V-Series ก็ไม่เคยขายดีเลย จนกระทั่งลดราคากระหน่ำ เป็นแบบนี้ในทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น)


DSC_0024.jpg

ต้นไม้ ใบไม้

ประเด็นสุดท้าย ก็คือ Ricoh GR ที่ออกมาพร้อมกัน สเปคทุกอย่างแทบจะเท่ากันหมด (แถมดีไซน์อาจจะดีกว่าเล็กน้อย ตรงที่มี Grip ที่ดีกว่า และการออกแบบ UI ให้ใช้งานมือเดียวได้ถนัดกว่า) แต่กลับขายถูกกว่ากันอยู่เป็นหมื่น อุปกรณ์เสริมอะไรก็ถูกกว่า …. นั่นแหละ ตะปูตัวสุดตอกฝาโลง ถึงความรู้สึกว่า “มันแพงเกินไป” สำหรับใครหลายๆ คน

ซึ่งความรู้สึกพวกนี้แหละ ทำให้หลายคนไม่สนใจมันจนกระทั่งมันลดราคากระหน่ำเสียก่อน (อย่างน้อยๆ ก็อยู่ในช่วงเดียวกับ Ricoh GR เสียก่อน) รวมถึงผมด้วยคนหนึ่ง …… ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวผมซื้อของ Nikon แทบจะทันทีที่มันออกมาหลายตัวเลยนะ รวมถึง Nikon V1 ในตอนที่มันแสนจะแพงด้วย (แต่ไม่เคยสนใจ V2 และรู้สึกว่า V3 แพงไป)

และแล้ว … วันนั้นก็มาถึง (จนได้)


DSC_0003.jpg

ใบไม้ร่วง

First Impression & Handling

ผมตั้งใจตั้งแต่แรก ว่าจะเอาสีเงิน แต่พอไปลองที่ร้านจริงๆ กลับเกิดอาการสองจิตสองใจ เพราะว่าผิวของทั้งสองตัวนี้ต่างกัน ในขณะที่สิเงินจะเป็นผิวโลหะมัน สีดำจะเป็นผิวด้าน ซึ่งเอาจริงๆ แล้วผมไม่ค่อยจะชอบผิวมันสักเท่าไหร่นัก (ถ้ามันเฉพาะตรงส่วน Top-Plate และมี Texture ด้านตรงบอดี้แบบพวก X100 ก็ไม่เป็นไร) แต่สุดท้าย จนแล้วจนรอด ก็สอยสีเงินแชมเปญกลับบ้าน ส่วนหนึ่งก็เพราะตั้งใจไว้อยู่แล้ว ว่าจะสั่ง Skin ลายหนังมาใส่ให้มันเป็นอย่างที่ตัวเองชอบ (ถ้าซื้อสีดำ มันแต่งด้านบนเป็นสีเงินไม่ได้ ฮ่าๆ)

Build Quality โดยรวม ดีกว่าที่คิดไว้แต่แรกเยอะมาก มันไม่ใช่ความรู้สึกว่า “ก็แค่ Compact ตัวหนึ่ง” อย่างที่รูปร่างหน้าตามันให้เราคิด แต่ให้ความรู้สึก “Premium” ขึ้นเยอะ ไม่ว่าจะเป็นตัวบอดี้เอง หรือปุ่มต่างๆ รวมถึง Dial ที่ทำไว้แน่น มีน้ำหนัก ให้ความรู้สึกดีเวลาหมุนและเวลากด ไม่ก๊องแก๊ง และบนปุ่มแต่ละปุ่มยังมี Texture เล็กน้อยที่ให้รู้สึกถึงความใส่ใจรายละเอียดในการผลิตขึ้นไปอีก

ไม่เสียราคา Made in Japan ที่แปะไว้ด้านหลัง


DSC_0025.jpg

Business Meeting (ให้ภรรยาถ่ายให้)

สวิตท์เปิดปิดเป็นแบบ Spring-Lever อยู่ตรงชัตเตอร์ ทำมาฉลาดใช้ได้ ตัวปุ่มชัตเตอร์มีน้ำหนักที่ค่อนข้างดี แต่เทียบกับปุ่มอื่นๆ หรือ Dial อื่นๆ แล้ว ผมรู้สึกว่ามัน “หลวม” แบบรู้สึกได้ชัด ถ้ามัน Well-Damped กว่านี้หน่อย น่าจะดีกว่านี้ แต่จะทำให้กดยากขึ้นหรือเปล่าก็ไม่รู้นะ

ส่วนเรื่อง Grip ที่เป็น Bar เล็กๆ ด้านหน้าตัวกล้องนั้น ตอนแรกที่เห็นคิดว่าไม่น่าจะดีเท่าไหร่ แต่พอลองจับจริงๆ แล้วรู้สึกว่า ถ้าจับถูกวิธี คือ แทนที่จะใช้ปลายนิ้วสองหรือสามนิ้วจับไว้ (ปลายนิ้วชี้เข้าหาเลนส์) ผมใช้นิ้วกลางวางทาบตามแนวตั้งในด้านที่ติดกับเลนส์เลย (ปลายนิ้วชี้ลงด้านล่าง) แล้ว Bar ตัวนี้มันช่วยเรื่อง Grip ได้มากทีเดียว และไม่รู้สึกขัดหรือน่ารำคาญแต่อย่างใด ซึ่งทำให้ผมรู้สึกว่ามันเป็นการออกแบบที่เจ๋งแฮะ เพราะว่านอกจากมันจะทำให้มี Grip ที่ดีพอแล้ว มันยังทำให้บอดี้ของกล้องเรียบ ไม่ดูเทอะทะด้วย Grip ขนาดใหญ่อีกต่างหาก (แต่ก็ทำให้มันดูเป็น Compact น่ะแหละ)


DSC_0006-2.jpg

เมื่อไม้ผลัดใบ

เช่นเดียวกับลวดลาย Texture บนปุ่มต่างๆ ด้านหลัง ตัว Dial ก็มี Texture ละเอียด มีแรงต้านที่ดี และให้สัมผัสที่ดีเวลาหมุนเช่นกัน

บอกตรงๆ ว่า Build Quality มันดีซะจนผมรู้สึกอยากได้ Optical Viewfinder ของมันเองขึ้นมาตะหงิดๆ เพราะมันน่าจะมี Build Quality ที่ดีพอกัน ยิ่งลองหมุนแหวน Manual Focus รอบเลนส์เล่นๆ ดู ยิ่งตอกย้ำเรื่องนี้เข้าไปอีก เค้าทำมาดีจริงๆ

เอาจริงๆ นะ ผมรู้สึกว่า Build Quality ของ Coolpix A นี่ดีกว่า X100s ครับ มันให้ความรู้สึกหนักแน่นกว่าเยอะ เทียบกันแล้ว X100s นี่เบา รู้สึกกลวงๆ กว่าหน่อย (แต่นี่เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะครับ — และผมก็ขาย X100s ไปแล้ว ไม่ได้เทียบกันตัวต่อตัวจริงๆ)

สรุปแล้ว First Impression เป็นบวกมากมายครับ เรื่อง Build Quality และ Handling นี่มีผลกับความสุขในการถ่ายรูปของหลายต่อหลายคน ในขณะที่มันไม่มีผลอะไรเลยกับอีกหลายคน ….. แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง “การใช้งาน” นี่คงจะเป็นเรื่องที่สนใจร่วมกันมากกว่า จริงไหมครับ


DSC_0002.jpg

Shooting with Coolpix A

เอาล่ะ ถึงเวลาถ่ายรูปกันจริงๆ เสียที อย่างแรกเลยที่ผมรู้สึก ก็คือ การที่มันออกแบบมาเป็น Compact นี่คงทำให้การควบคุมและปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ภายนอกลำบากเอาเรื่อง และจริงๆ มันก็ “เกือบ” จะเป็นแบบนั้น

ทำไมน่ะเหรอ เพราะว่ามันไม่ได้ยากหรือลำบากอะไรขนาดนั้นน่ะสิ ถ้าคุ้นเคยกับ Nikon DSLR อยู่แล้ว จะค่อนข้างรู้สึก “อยู่บ้าน กันเอง” มากๆ อยู่ เพราะว่าเอาจริงๆ แล้วด้านหลังมันก็มีปุ่มที่ต้องใช้คู่กับเจ้า Dial เอกประสงค์ เพื่อปรับ Parameter ที่สำคัญเพียงพอ ก็คือ Exposure Compensation และ ISO

ส่วนนอกนั้น การปรับแต่งแทบทุกอย่างไม่ต้องเข้าเมนูที่ลึกลับซับซ้อนให้ยาก แค่ปุ่ม “i” (น่าจะมาจาก Information มั้ง ถึงมันจะโคตร Misleading) ปุ่มเดียวปุ่มเดียวอยู่


DSC_0001.jpg

Console หน้ารถ

จริงๆ แล้วปุ่ม “i” ที่ว่านี้ มันคือ Quick Setting ที่รวบรวมเอา Shooting Parameter แทบทั้งหมดที่ปรับได้ ไม่ว่าจะเป็น Image Quality, Size, White Balance, ISO, Release Mode, Autofocus Mode, AF-Area mode, Metering, Active D-Lighting, รวมถึงการเลือก Picture Control ด้วย ดังนั้นจะปรับเปลี่ยนอะไรก็ไม่ได้ช้าอะไรเท่าไหร่นัก — เห็นมั้ย มันไม่น่าจะชื่อ “i” เลยนะ เรียกว่า “Q” ซะยังจะดีกว่า

แล้วก็ถ้ามี Setting ไหนใช้บ่อย ก็เซ็ทไว้ใน U1, U2 (User Setting 1, 2) แล้วเลือกได้โดยตรงจาก PASM Dial อีกต่างหาก (เอาจริงๆ คนทั่วๆ ไปแบบเราๆ ก็ไม่น่าจะมี Setting อะไรเยอะแยะมากมายอยู่แล้ว — แค่ U1, U2 ก็พอแล้ว)

อ่อ แล้วก็มี Fn1, Fn2 ให้ตั้งค่าได้นะ (แต่อันนี้มันขี้โกงนิดหน่อย เพราะ Fn2 ก็คือปุ่ม ISO น่ะแหละ)


DSC_0006.jpg

น้องที่บริษัท ภูมิใจกับ Sharknado Figure มาก

ที่อยากจะโวยวายนิดเดียวก็มีแค่ “ถ่าย Video ยังไงวะ” แค่นั้นแหละ เพราะว่ามันไม่มีปุ่มถ่าย Video ซึ่งก็ไม่เป็นไรมากนัก ถ้ามันมีโหมดในการถ่าย Video ให้หมุนได้เลยบน PASM Dial … แต่ว่ามันดันไปฝังตัวอยู่ในการตั้งค่า Release Mode น่ะสิ … ใช่ ไอ้เจ้า Release Mode ว่าจะถ่าย Single, Continuous, Timer น่ะแหละ อันสุดท้ายมันเป็น “Movie” ….. อันนี้มีขยี้ตาสามรอบ พร้อมกับงง ว่าคิดยังไงกันเนี่ย

แล้วก็อีกเรื่อง ก็คือ AF Mode Selector ตรงด้านซ้ายมือของกล้อง มันเลื่อนยากไปนิด ต้องออกแรงหน่อย ไม่ก็เอาปลายเล็บจิกแบบจงใจหน่อย ซึ่งในทางหนึ่งมันก็ดีนะ ไม่เลื่อนง่ายดี แต่บางทีก็รู้สึก … เออ แข็งไปป่ะ ก็ได้แต่ว่าหวังว่า ใช้ๆ ไป เลื่อนๆ ไป มันอาจจะอ่อนลงบ้างนะ ไม่งั้นจะเปลี่ยนมาถ่ายของใกล้ๆ แต่ละที ต้องตั้งใจเลื่อนเจ้านี่มากกว่าที่อยากจะทำ ทุกที (แล้วก็ใช้บ่อยซะด้วย เพราะถ่ายของใกล้ๆ สลับกับไกลๆ ประจำ)


DSC_0026.jpg

ต้นไม้หน้าบ้าน

ตัวกล้องมีแฟลชตัวเล็กๆ มาให้ วิธีเรียกใช้งานก็เลื่อนปุ่มเปิดแฟลช เวลาจะปิดก็กดมันลงไป ถึงจะเป็นแฟลชตัวเล็กๆ แต่เอาจริงๆ ก็มีประโยชน์พอสมควร ใช้ Fill เวลาถ่ายย้อนแสงได้ดีใช้ได้อยู่ (แต่เอาจริงๆ ผมอยากได้ Viewfinder ไปไว้ตรงนั้นมากกว่า ฮ่าๆ ไม่เอาแฟลช ….. ผมจะเป็นพวกชนกลุ่มน้อยไปมั้ยเนี่ย ที่ไม่ใช่แฟลชถ่ายรูป ถ้าไงถ่าย RAW แล้วมาดึงเอาก็พอจะได้ … ถึงมันจะไม่เหมือนยิงแฟลชไป Fill Light เวลาถ่ายย้อนแสงก็ตาม)


DSC_0017.jpg

ลองถ่ายย้อนแสงแบบชัดๆ แล้วก็ยิงแฟลชเพื่อ Fill-Light รูปนี้เป็น JPEG จากกล้อง ไม่ได้ทำอะไรกับมัน

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในการใช้งานหมอนี่ถ่ายรูปจริงๆ ก็คือเรื่องระบบ Focus … บอกตรงๆ ว่าผมค่อนข้างจะผิดหวังเล็กๆ กับระบบ AF ของ Coolpix A เพราะว่ามันไม่ค่อยจะฉลาดเท่าไหร่นัก คือ นอกจากจะช้าแล้วยังวืดวาดใช้ได้ ไว้ใจได้น้อยกว่าที่คิด แต่ไอ้เรื่องนี้น่ะไม่เท่าไหร่ ยังพอจะเรียนรู้นิสัยกันได้ไม่ยาก แต่เรื่องที่ผมมีปัญหากับมันมากที่สุด ก็คือ ระบบการเลือกจุดโฟกัส ที่มันเลือกตรงไหนก็ได้ของหน้าจอเนี่ยแหละ

ฟังแล้วเหมือนจะดีใช่มั้ย แต่ในการใช้งานจริงๆ แล้วมันเลื่อนจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งช้ามากเลย กว่าจะเลื่อนได้ และถ้าเราต้องการเลื่อนกลับมา ก็ยิ่งเสียเวลา อืดอาด ทำให้หงุดหงิดซะเปล่าๆ ถ้าเป็นการเลือกจุดโฟกัสจาก Pre-Defined Area น่าจะเข้าท่ากว่าเยอะ เพราะยังไงๆ ก็ใช้ Area-Focus อยู่แล้ว จะเป็น Normal Area หรือ Wide Area ก็อีกเรื่อง


DSC_0004-2.jpg

พ่อ ลูกชาย คุยงาน คุยธุรกิจกัน สนุกสนานทุกคน (เพื่อนถ่ายให้)

โหมด Face Priority Auto Focus ทำงานได้ดีนะ ตามหน้าคนได้ไวทีเดียว จับโฟกัสค่อนข้างจะไม่พลาดด้วย แต่ก็นั่นแหละ เวลาจะเปลี่ยนโหมดกลับมาเป็นโฟกัสปกติ ต้องมาเลื่อนจุดโฟกัสใหม่ เพราะว่าตำแหน่งโฟกัสมันจะค้างอยู่ที่ตำแหน่งสุดท้ายของหน้าคนที่จับได้ (อันนี้ผมอาจจะจำผิดนะ อาจจะต้องลองอีกรอบ เดี๋ยวคอนเฟิร์มใหม่ ตอนนี้ไม่มีหน้าคนให้ทดสอบรอบๆ ตัว) … ​ซึ่งบวกกับความจริงเรื่องการเลื่อนจุดโฟกัสที่อืดอาดแล้ว …. ผ่านดีกว่า

งั้นเอาไงดี กลับไป Old-School ครับ วางจุดโฟกัสกลางภาพ โฟกัส จัดองค์ประกอบ ถ่าย ว่างั้นแหละ ง่ายที่สุดแล้ว

ฟังแล้วเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนะ กับเรื่องระบบโฟกัสเนี่ย ทำไมต้องพูดอะไรมากมายขนาดนี้ ก็เพราะว่าเดี๋ยวนี้เราค่อนข้างจะชินกับระบบโฟกัสที่มันฉลาดกว่านี้ ไม่ต้องมีการเลือกบริเวณโฟกัส มันก็หาโฟกัสให้เราได้ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งไหนของภาพ ซึ่งแน่นอนว่ามันอาจจะโฟกัสผิดที่หรือโง่ไปบ้าง (แต่ Algorithm ใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยพลาดนะ ฉลาดขึ้นเยอะ) ตรงนั้นเราค่อยเลือกบริเวณที่จะโฟกัสก็ได้


DSC_0005.jpg

Nikon V1 บนขาตั้ง เตรียมถ่าย Video

อ่อ แล้วก็สุดท้ายเกี่ยวกับระบบโฟกัส … คือ ต้องทำใจนะครับ มันคือ Compact ครับ ดังนั้นประสิทธิภาพที่เราได้ มันก็ประมาณๆ Compact น่ะแหละครับ อย่าไปเทียบกับพวก m4/3 อะไรพวกนั้นเลยครับ (อาจจะใกล้เคียงกับพวก X100 หรือ X100s นะ) …. แต่การเขียนไฟล์ การตอบสนองต่างๆ เวลาตั้งค่า เวลาปรับค่าอะไร ถือว่าทำได้ดีมาก ถ้าคิดว่ามันเป็น Compact ของ Nikon ประสิทธิภาพการทำงานแบบนี้ของมัน ผมก็ปลื้มแล้ว

นอกนั้นก็ไม่มีอะไรแล้วครับ สำหรับการใช้งาน Coolpix A เพราะว่ามันเหมือนกับกล้อง Compact ธรรมดาจริงๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งข้อดีมากๆ ของมันก็คือ แทบจะยื่นให้ใครถ่ายก็ได้ ไม่มีคำถามอะไรตามมา ว่าต้องกดอะไรตรงไหน แต่ถ้าจะยื่นให้คนถ่ายรูปให้ นี่ผมแนะนำว่าตั้ง Face Priority Focus และ Full-Time Servo AF ไว้ก็ดีนะครับ เพราะว่าคนที่เขาไปถ่ายนี่อาจจะไม่คุ้นกับนิสัยของระบบ AF ตัวนี้ การตั้ง Face Priority + Full-Time Servo จะทำให้มันใกล้เคียงกับพวก Smartphone ฉลาดๆ มากขึ้นครับ


DSC_0001.jpg

NIKKOR 18.5mm (28mm equivalent) f/2.8

สิ่งที่เป็นอุปสรรค/ปัญหา/ประเด็นสำคัญมากอีกตัวหนึ่ง ที่ทำให้ Coolpix A ถูกใช้ในวงจำกัดมาก นอกจากเรื่องราคา และคู่แข่งในตลาด ก็คือ “เลนส์ฟิกส์ 28mm f/2.8” ครับ

ต้องยอมรับกันตามความจริง ว่าเลนส์ฟิกส์ 28mm มันไม่ใช่สำหรับทุกคนอยู่แล้ว สำหรับคนที่คุ้นเคยกับกล้อง Compact สมัยใหม่ อาจจะต้องการความสะดวกสบายของเลนส์ซูม (เวลายื่นให้ใครถ่ายให้ คำถามแรกๆ ที่พบเสมอ คือซูมยังไง) แต่มันก็มี Counter-Argument นิดหน่อย คือคนเดี๋ยวนี้คุ้นเคยกับ Smartphone มากขึ้น และกล้องของ Smartphone โดยทั่วไปมันซูมไม่ได้ (ถ้าจะซูม ก็เป็นซูมดิจิทัลซะเป็นส่วนมาก) ดังนั้นผมเชื่อว่าคนทั่วๆ ไปเดี๋ยวนี้คุ้นเคยกับการซูมไม่ได้ และต้องขยับนิด ขยับหน่อยอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา

แต่พอมันเป็นกล้อง ไม่ใช่โทรศัพท์ ความคาดหวังมันอาจจะต่างกันไปบ้าง แต่ไม่เป็นไร เรียนรู้กันได้


DSC_0021.jpg

เลนส์ 28mm เอาไว้ถ่ายรูปแบบนี้แหละ เหมาะที่สุด

ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่ว่ามันฟิกส์ไม่ฟิกส์ แต่เป็น “28mm f/2.8” ซะมากกว่า

เลนส์ 28mm เป็นเลนส์ที่ค่อนข้างเฉพาะทางที่ประหลาดหน่อยๆ คือ ความเฉพาะทางของมัน คือ “ความไม่เจาะจง” ฟังแล้วงงๆ ใช่ไหมครับ มันจะกว้างก็กว้างไม่สุด (คนชอบกว้างจะอยากได้ 24mm) แต่มันก็ไม่ใช่ระยะปกติซะทีเดียว (แบบนั้นจะอยากได้ 35mm – 50mm แล้วแต่คน) ไอ้ความไม่เจาะจงที่ว่านี้ก็คือ มันเป็นระยะที่เหมาะกับการใช้ Daily Snap ถ่ายทั่วๆ ไป ปกติๆ กับสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน กว้างพอที่จะได้ภาพที่เราเห็นต่อหน้า กว้างพอที่จะถ่ายสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถ่ายวิวถ่ายอะไรที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ แต่ไม่กว้างพอสำหรับถ่ายภาพมุมกว้างแบบจริงจัง และก็ไม่กว้างเกินไปจนทำให้สิ่งที่เป็น Subject เฉพาะหน้ามันถูกเตะไปไกล และมีความรู้สึกบิดเบือนของ Perspective เหมือนกับใช้พวก Ultra-Wide … แต่มันดันกว้างไปสำหรับการถ่ายเน้นอะไรบางอย่าง


DSC_0030.jpg

ไหว้เจ้าที่

พูดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ 28mm มันเป็นระยะ “กว้างที่สุด” ของ “Wide-Normal” และเป็นระยะ “แคบที่สุด” ของ “Ultra-Wide” เป็นจุดที่สองระยะนี้เจอกันพอดี

ดังนั้นจึงไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่ครับ ที่ระยะ 28mm เป็นคู่แข่งกับ 35mm ในงานด้าน Street Photography และ Photojournalist เพราะงานเหล่านี้คือการบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ภาพรวมๆ ทั้งหมด ที่ผสมระหว่างคน สถานที่ เหตุการณ์ ไว้ด้วยกัน มากกว่าจะเน้นสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ นั่นแหละคือความเฉพาะทางของมัน

แล้วทำไม Nikon ถึงตัดสินใจเลือกระยะ 28mm ไม่ใช่ 35mm?


DSC_0082.jpg

Casual Family Portrait (ทำขาวดำใน Lightroom)

ส่วนหนึ่งผมว่ามันเป็นเรื่อง “ความง่ายของการใช้งานทั่วๆ ไป” ที่ 28mm มันทำได้หลากหลายกว่า 35mm ที่มักจะแคบไปเสมอๆ เวลาอยากจะถ่ายเน้นสถานที่ตอนไปเที่ยว หรือตอนอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์อะไรบางอย่าง ที่สำคัญก็คือ 28mm มันพอจะ “Crop” ให้แคบลงได้ (เพราะว่า 16MP นี่ยังพอให้ครอปขนาดนั้นได้สบายๆ) แต่ 35mm มันทำให้กว้างขึ้นไม่ได้

ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าตอนที่มันออกมานี่ 28mm APS-C ยังไม่มีคนทำ นอกจาก Sigma ซึ่งนั่นยิ่งเฉพาะทางหนักเข้าไปอีก ไม่ใช่คู่แข่งแต่อย่างใด ส่วน Ricoh ตอนนั้นก็มีแต่ Sensor ขนาดเล็ก (แต่ Ricoh ก็ดันออก GR APS-C มาพร้อมๆ กับ Coolpix A เนี่ยแหละ) ในขณะที่ 35mm จะต้องเจอกับทั้ง Fuji และ Leica เท่านั้นไม่พอ ยังมี Sony RX1 อีก ที่แม้จะเป็น Full-Frame แต่ก็ระยะเดียวกัน ผมคิดว่าการหาช่องว่างของตลาดก็อาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งก็ได้


DSC_0116.jpg

งานครบรอบแต่งงานคุณพ่อ คุณแม่

เลนส์ตัวนี้คมทีเดียวครับ เกือบจะขอบยันขอบตั้งแต่ Wide-Open ซึ่งพอ Stop-down ลงมาหน่อยก็คมกริบขอบยันขอบแล้ว แต่กลางภาพนี่ไม่ต้องห่วง เพราะคมหายห่วงตั้งแต่ f/2.8 เรื่องความบิดเบี้ยวมีบ้างนิดหน่อย เช่นเดียวกับขอบดำที่ช่วง Wide-Open แต่อะไรพวกนี้ก็ Correct ได้ไม่ยาก ถ้าถ่าย JPEG มา กล้องก็จัดการให้อยู่แล้ว แต่ถ้าถ่าย RAW ก็ไปจัดการเอาใน Post-Process ไม่ยากเท่าไหร่ ถ้าใช้ของจาก Adobe เช่น Lightroom ก็แค่กดปุ่มเดียวก็ได้แล้ว มันจัดการให้ทุกอย่างที่เป็นปัญหาของเลนส์

ซึ่งปกติแล้วก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร เพราะว่าตามธรรมชาติของการใช้งานแล้ว คงไม่ค่อยได้ใช้แบบเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด หรือ f/2.8 เท่าไหร่ คงจะเปิด f/4 – f/8 กันมากกว่าอยู่แล้ว จะใช้ f/2.8 ก็เฉพาะที่อยากได้หลังเบลอ หรือว่าแสงน้อยก็เท่านั้น


DSC_0018.jpg

พูดถึงหลังเบลอ นึกถึง “Bokeh” …. บอกได้เลยครับว่าเลนส์ตัวนี้ Bokeh ไม่สวยอย่างรุนแรง คือ มันทำเบลอได้นะ แต่เบลอแล้วรู้สึกว่า อืมมมมมม ….. ไม่สวยเท่าไหร่ มันรก มันมีห่วง มันมี double line มีทุกอย่างที่ Bokeh สวยไม่พึงมี แต่นั่นแหละ เรื่องนี้ก็เป็นความชอบส่วนบุคคลครับ หลายคนชอบแบบนี้ก็มี และที่สำคัญก็คือ เนื่องจากจริงๆ แล้วมันเป็นเลนส์ 18.5mm ดังนั้นมันก็จะเบลอแบบ 18.5mm f/2.8 น่ะแหละครับ อย่าเอาอะไรมาก ขนาด 28mm f/2.8 แท้ๆ บน Full-Frame มันยังไม่เบลออะไรขนาดนั้นเลย

อยากได้หลังเบลอ ต้องจ่อเท่านั้นครับ …. แต่กระนั้น … Depth-of-Field มันก็ยังแคบพอให้เกิดเหตุการณ์เบลอแบบ “ภาพหลุดโฟกัส” ได้นะครับ และเกิดขึ้นได้ง่ายด้วย ถ้าเรายังไม่ชินกับนิสัยของระบบโฟกัสมัน (DoF ไม่ลึกขนาดกล้องที่ Sensor เล็กกว่า)


DSC_0006.jpg

เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดเกี่ยวกับเลนส์ ไม่ใช่ตัวเลนส์ แต่เป็นการออกแบบบอดี้ของเลนส์ครับ

Nikon เลือกการออกแบบในแบบ Compact ทั่วไป คือ เลนส์ยืดหดได้ และมีฝาปิดอัตโนมัติ ซึ่งตรงนี้เป็นอะไรที่ผมไม่ชอบเอาซะเลย (เมื่อก่อนเคยชอบนะ จนเจอปัญหากับมัน) ก็เข้าใจนะครับ ว่ามันทำให้ตัวกล้องเล็กลง เวลาปิดเลนส์แล้วเก็บใส่กระเป๋าง่าย อาจจะใส่กระเป๋ากางเกงได้เลยด้วยซ้ำ แต่ฝาปิดอัตโนมัติคือปัญหาครับ เพราะว่ามันมีอะไรเข้าไปติดง่าย ทำให้พังเร็วกว่าที่ส่วนอื่นๆ (ทำกล้องมาแข็งแรง จะน่าเสียดายมาก ถ้าตรงนี้พังเร็ว) และใส่ Filter หน้าเลนส์ไม่ได้

จริงๆ ถ้า Nikon ลองทำอีกแบบหนึ่ง คือ ทำแบบ Fuji X100 หรือ Sigma DP Merrill ไปเลยก็น่าสนใจ คือ เลนส์ยื่นออกมาแบบแข็งๆ เลย ไม่ต้องยืดหด มีฝาปิดจริงๆ และใส่ Filter ได้เลย ผมว่าน่าสนใจมากๆ เพราะว่าอาจจะทำให้ได้เลนส์ที่ดีกว่านี้ด้วย (เช่น รูรับแสงกว้างกว่านี้ f/2 หรือ f/1.8 … f/1.4 นี่คงจะฝันไป)

แถมเรื่องนึง … ถึง Bokeh จะไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ Sunstar นี่สวยใช้ได้เลยครับ (รูปต่อไป ดู Ghost, Flare ไปพร้อมกันได้เลย)


DSC_0015.jpg

Sunstar (อันนี้ถ่ายและปรับจาก JPEG นะ … ลืมเปลี่ยนเป็น RAW)

Image Quality & RAW Versatility

มาถึงเรื่องที่หลายๆ คนให้ความสำคัญมากที่สุด (แต่สำหรับผม มันเป็นเรื่องรองลงมาจากความรู้สึกในการจับถือ ความรู้สึกในการใช้งานนะ และ เลนส์) ก็คือเรื่องภาพที่ได้ และไฟล์ภาพ

ทำไมผมถึงบอกว่ามันสำคัญรองลงมาล่ะ? ก็เพราะว่าด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ เอาจริงๆ แล้วมันแทบจะเพียงพอต่อการใช้งานปกติอยู่แล้ว ตัวผมเองก็ไม่ได้อัดขยายอะไรใหญ่ขนาดนั้นบ่อยๆ อยู่แล้ว จะอัดก็อัดภาพเล็กๆ ส่วนมากรูปก็เอาไว้ดูอย่างมีความสุขในคอมพิวเตอร์ตัวเอง หรือแชร์ให้เพื่อนๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ก็แค่นั้น ดังนั้น ความรู้สึกในการจับถือ ความสุขในการใช้งาน และเลนส์จึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า เพราะมันหมายถึงโอกาสในการได้ภาพ

อีกอย่างก็คือ มันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีฮาร์ดแวร์หรือหน่วยประมวลผลภาพที่ดีขึ้น แต่ Post Processing Software มันก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ จนเดี๋ยวนี้ช่วยปรับปรุงคุณภาพของภาพที่ได้ ได้อย่างมากมาย


DSC_0121.jpg

ภาพที่ได้ ก็เป็นไปตามมาตรฐานของ Nikon ใน Generation ก่อนหน้านี้ 1-2 รุ่น (คือยุคที่ใช้หน่วยประมวลผลภาพ Expeed 2 หรือยุค D7000) ไม่มีอะไรพิเศษหวือหวา ดีกว่าหรือแย่กว่า คือเป็นไปตามเทคโนโลยียังไงยังงั้นเลย ถ้าเทียบกับภาพจากกล้องยุคหลังจากนั้น (ยุค Expeed 3, Expeed 4) ก็เรียกว่าแย่กว่าอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ถึงกับแย่อะไร ยังใช้งานได้สบายๆ ในปัจจุบัน

นั่นหมายถึงว่า คุณภาพของภาพที่ได้ที่ ISO ต่างๆ การจัดการกับสัญญาณ/ข้อมูลแสง ในกรณีแสงน้อย ก็เป็นไปตามยุคนั้นด้วย คือ สู้กับยุคถัดจากนั้นไม่ได้ ง่ายๆ คือ อย่าไปคาดหวังว่าจะได้ ISO 6400 ที่ใช้งานได้จริงขนาดนั้น แต่มันก็พอใช้งานได้เมื่อจำเป็น


DSC_0132.jpg

แสงแทบไม่มี ที่ ISO 6400

ตรงนี้ก็เลยทำให้ยิ่งอยากได้เลนส์ที่มันไวแสงกว่านี้สักหน่อย เพราะว่าถ้า Image Processor และ Digital Signal Converter/Processor จัดการเรื่องพวกนี้ได้น้อยกว่าตัวอื่นๆ ล่ะก็ .. ก็ต้องหาข้อมูลมาให้มันมากกว่าตัวอื่นเป็นธรรมดา ซึ่งเลนส์ไวแสงจะให้ตรงนี้ได้ตรงๆ ก็ไม่แปลกใจหรอก ว่า Fuji X100s จะใช้ถ่ายที่มืดได้ดีกว่า และมี High ISO ที่ดีกว่า เพราะมันรับข้อมูลมาได้มากกว่าอยู่แล้วเป็นทุนเดิม (แสงเข้ามากกว่า) และพอเลนส์ไวแสงมากกว่า ก็ไม่ต้องดัน ISO ขนาดนั้น ได้เปรียบเห็นๆ

อ่ะ ไม่เป็นไร เรียกว่ามีให้ใช้ แต่อย่าไปคาดหวังอะไรกับมันมาก แต่ถ้าอยู่ไม่เกิน ISO 3200 นี่ใช้กันสบายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก ยิ่งถ้าไม่ได้คิดจะเอาไปอัดไปขยายอะไรขนาดใหญ่ๆ ก็เพียงพอเหลือเฟือครับ


DSC_0008.jpg

ISO 2800 เนียนๆ

เช่นเดียวกับเรื่อง ISO ที่เป็นไปตามยุค การจัดการกับ Dynamic Range ก็เป็นไปตามยุคของเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน บอกแล้ว ว่ามันคือหัวใจและสมองของ D7000 ในร่างของ P3300

ส่วนเรื่องความยืดหยุ่นของ RAW ไฟล์ ถือว่าดีทีเดียวครับ ดึงเงาตบแสงได้สบายๆ แน่นอนว่าสู้กับของใหม่กว่าไม่ได้ แต่ไม่ได้แย่กว่าแบบน่าเกลียดหรือขัดใจ เอาเป็นว่าปกติเราก็ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องการข้อมูลสุดๆ ขนาดนั้นสักเท่าไหร่ (นี่มันเทคโนโลยีใหม่กว่า D700, D3X อีกนะ! สองตัวนั้นยังถ่าย Landscape ถ่าย Studio กันสบายๆ เลย)

ผมให้ดูสองรูปติดๆ นะครับ เป็นรูปเดียวกันแหละ แต่รูปหนึ่ง RAW จากกล้อง ดิบๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย


DSC_0001-2.jpg

ส่วนรูปต่อไป คือรูปก่อนหน้านี้ แต่ทำ 3 อย่างใน Lightroom อย่างลวกๆ คือ 1. เปิด Lens Profile Correction (กด 1 ปุ่ม) 2. ดึงเงาให้สุด (เลื่อน 1 Slider) และ 3. ตบที่แสงจ้าให้สุด (เลื่อน 1 Slider) … เรียกว่าทำแบบไม่เอาสวย แต่ดูว่าข้อมูลเยอะแค่ไหน พอ

ซึ่งพอเห็นแล้วก็เรียกได้ว่าเหลือเฟือสำหรับการทำภาพแบบหนักมือสบายๆ ล่ะครับ


DSC_0001.jpg

Conclusion

คงจะเดาออกตั้งแต่หัวบทความล่ะนะครับ ว่าตอนนี้ Coolpix A ได้กลายมาเป็นกล้องติดกระเป๋าผมไปไหนมาไหนเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของระยะเลนส์ บาลานซ์ระหว่างคุณภาพของภาพที่ได้ และความสะดวกสบายเวลาใช้งานและการพกพา เรียกได้ว่าดีมากเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่

ก็ถ้าเทียบกับ X100s ที่ผมเคยซื้อมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์นี้ (Take Anywhere, Casual Daily Snap) แล้วล่ะก็ ผมแฮปปี้กับ Coolpix A มากกว่า X100s เยอะมาก เพราะมันเล็กกว่า สะดวกกว่า ภาพที่ได้ก็คุณภาพสูสีกัน และจะว่าไป ในบรรดา 28-35-50mm นี่ผมถนัด 35mm น้อยที่สุดแล้ว ก็เลยยิ่งรู้สึกว่าใช้งานสะดวกกว่าไปกันใหญ่ (ยิ่งติด Skin แบบนี้ยิ่งแฮปปี้กับการใช้ ฮ่าๆ อันนี้อินเนอร์ส่วนตัว)


DSC_0009.jpg

และด้วยรูปร่างหน้าตาที่มันเหมือนกับกล้อง Compact ที่ใครๆ ก็มีกันได้นี่แหละ ทำให้มันดูไม่เป็นอันตรายกับการใช้งานในชีวิตประจำวันเท่าไหร่นัก เทียบกับการพกกล้องที่มันหน้าตาดูเป็นกล้องที่ไม่ค่อยมีใครเค้าใช้กัน ก็ยิ่งเพิ่มโอกาสในการได้ภาพคนและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้นอีกไป

ถ้าถามว่าอยากได้อะไรเพิ่มในรุ่นต่อไป (ถ้ายังทำอยู่นะ) จริงๆ ก็ตอบไปแล้วค่อนข้างเยอะนะ ในบทความนี้แหละ แต่สรุปๆ คือ อยากได้เลนส์ดีไซน์ใหม่ ไม่ต้องเอาให้มันเป็น Compact บอดี้เล็กขนาดนี้ก็ได้นะ เอาแบบแข็งๆ มีฝาปิดธรรมดา ยื่นออกมาเนี่ยแหละ จะทำอะไรได้มากกว่านี้อีกเยอะเลย รวมถึงทำให้มันไวแสงกว่านี้อีกหน่อย ถ้าขนาด f/2 ก็ไม่น่าจะใหญ่กว่านี้สักเท่าไหร่นัก ยังพอเป็นกล้องตัวเล็ก พกสะดวกได้อยู่ แล้วก็ถ้ามี Built-in Viewfinder มาด้วยจะดีมาก (ไม่ต้อง EVF ก็ได้ เอา OVF โง่ๆ ก็โอเค หรือถ้าทำ Hybrid ได้ก็แจ่ม) เพราะว่ายังไงๆ การถือที่ระดับสายตา มันได้ความนิ่งมากกว่าถือยื่นไปข้างหน้านะ เรียกว่าความนิ่งต่างกันเทียบแล้วประมาณ 1-2 Stop ได้เลย

แต่เอาเป็นว่า แค่ตอนนี้ก็แฮปปี้แล้ว ยิ่งได้มาด้วยราคาเท่านี้ด้วยนี่โคตรฟินล่ะครับ

ปิดท้ายด้วยภาพนี้ก็แล้วกัน พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ


DSC_0005.jpg