หนังสือ 30 เล่ม ที่จะอยู่กับผม (และเพิ่มอีก 10 เล่ม)

หลังจากกิจกรรม #IceBucketChallengeTH ผ่านไป ก็มีกิจกรรมลักษณะ Viral แบบเดียวกันมาเป็นดอกเห็ด หลายอันผมปล่อยผ่านไป ไม่สนใจ แต่มีอยู่อันหนึ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มากๆ ก็คือ การบอกชื่อหนังสือที่จะอยู่กับตัวเองมา 10 เล่ม โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่ดีที่สุด หรือหนังสือที่สุดยอดอะไรทั้งนั้น แค่ชอบอะไรบางอย่าง และเป็นเล่มแรกๆ ที่โผล่มาในหัว หรืออะไรก็ตาม …..

ทีนี้ … มีคน Tag ชื่อผมต่อมา 3-4 คน ผมก็เลยขอ “โกง” ด้วยการบอกมากกว่า 10 เล่ม (เพราะว่าเอาจริงๆ ให้เลือก 10 เล่มจากหลายพันเล่ม นี่ยากเอาเรื่อง) และหนังสือเหล่านี้ เป็นหนังสือที่ผมถือว่า 1) “เปลี่ยนผม” ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ ความคิด ความเข้าใจโลก การมองเห็นโลก ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างก็คือ “ทำให้ผมเป็นผมอยู่ทุกวันนี้” หรือ 2) มีความทรงจำพิเศษอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน โดยความทรงจำที่ว่านี้อาจจะเป็นความทรงจำส่วนตัวมากๆ คนอื่นไม่อินไม่อะไรทั้งนั้น ก็ได้


L1000013.jpg

บางเล่มผมจะใส่ Link ใน Amazon ให้นะครับ บางเล่มไม่มีใน Amazon (ก็แน่นอนแหละ) และผมขี้เกียจหาจาก Store ไทย

  1. Gödel, Escher, Bach: An Eternal Golden Braid
    Douglas R. Hofstadter

    เล่มแรกนี่เลือกง่ายที่สุด …. อีก 29 เล่มเลือกยากหน่อย … เพราะว่าถ้าคำถามคือ “เลือกได้เล่มเดียว” ล่ะก็ “เล่มนี้” จะเป็นคำตอบแน่นอน

    ผมพบว่าผมอธิบายว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไรลำบากมาก …. ดูจากชื่อหนังสือ … Godel เป็นนักคณิตศาสตร์ Escher เป็นจิตรกร ส่วน Bach เป็นนักประพันธ์เพลง — และผู้เขียนเป็นศาสตราจารย์ด้าน Cognitive Science ..​.. มันไปเกี่ยวกันเรื่องไหนเนี่ย … จริงๆ ก็คือ “การพยายามเข้าใจพื้นฐานความคิดของคน” นั่นแหละครับ … เนื้อหาแบบสั้นๆ ก็คือ การเชื่อมโยง Formal Model/System ต่างๆ เพื่ออธิบายพื้นฐานของความคิดต่างๆ ของคน (อาจจะเน้นว่า “บนพื้นฐานของ Reduction, Incompleteness, Recursion, Paradox, Self-Referencing, Computation ฯลฯ — ลองกดเข้าไปดูในส่วน “Topics Covered” ใน Amazon ก็ได้ครับ) เป็นหนังสือคณิตศาสตร์ที่อ่านสนุกมาก และผมยังอ่านมันอยู่ทุกสองปี (อ่านปีเว้นปี)

    ป.ล. หนังสือเล่มนี้ ยังเป็นที่เก็บรูปสำคัญของผมด้วย รูปที่คุณภรรยาเคยส่งมาให้สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ผมเก็บรูปนี้ไว้ในหน้า 148 (อ่านเรื่องราวใน Remember the Butterfly ตอนที่ 3 ที่นี่) … ซึ่งหมายถึง “ตั้งแต่เกิด (1) จนตาย (4) ไม่มีที่สิ้นสุด (8)” และบังเอิญมีรูป Butterflies ของ Escher พอดีเลย :D


    DSC_0071.jpg

  2. The Pleasure of Finding Things Out: The Best Short Works of Richard P. Feynman
    Richard P. Feynman (Author), Jeffrey Robbins (Editor)

    หนังสือรวมงานเขียนสั้นๆ ของ Richard Feynman หนึ่งในฮีโร่ของผม ข้อความหนึ่งในบทหลัก (ชื่อเดียวกับชื่อหนังสือ) ที่ผมจำได้ตลอดเวลา ก็คือ ตอนที่มีคนถามว่า “งานนี้สมควรได้รับรางวัลโนเบลจริงเหรอ” (Was it worth the Nobel Prize?)

    As a(LAUGHS) …I don’t know anything about the Nobel Prize, I don’t understand what it’s all about or what’s worth what, but if the people in the Swedish Academy decide that x y or z wins the Nobel Prize then so be it. I won’t have anything to do with the Nobel Prize …it’s a pain in the … (LAUGHS). I don’t like honors. I appreciate it for the work that I did, and for people who appreciate it, and I know there’s a lot of physicists who use my work, I don’t need anything else, I don’t think there’s any sense to anything else. I don’t see that it makes any point that someone in the Swedish Academy decides that this work is noble enough to receive a prize – I’ve already got the prize. The prize is the pleasure of finding the thing out, the kick in the discovery, the observation that other people use it [my work]- those are the real things, the honors are unreal to me. I don’t believe in honors, it bothers me, honors bother, honors is epaulettes, honors is uniforms. My papa brought me up this way. I can’t stand it, it hurts me.

    โคตรเท่ สุดยอดมาก ….. นี่คือหลักการในการศึกษา การสร้างของ และการทำงานของผมตลอดมา ตั้งแต่อ่านย่อหน้านี้จนถึงทุกวันนี้ “The Pleasure of Finding Things Out” และ “การเห็นคนใช้สิ่งที่เราสร้าง สิ่งที่เราบอก จริงๆ …” นี่คือ “The Real Thing”

  3. Feynman Lectures On Computation
    Richard P. Feynman (Author), Anthony Hey (Editor)

    เมื่อนักฟิสิกส์ระดับโลก นักวิทยาศาสตร์และนักคิดระดับโลก Lecture เรื่อง Computation (อันนี้เป็นหนังสือที่มีคนรวบรวมเขียนจาก Lecture Note ที่ Feynman สอนคลาสชื่อเดียวกันที่ CalTech ระหว่าง 1983-1986) นี่เป็นหนังสือที่ “เปลี่ยน” ความคิด ความเข้าใจ และมุมมองเกี่ยวกับ Computer และ Computer Science ตลอดจน Information และ Information Technology ของผมไปอย่างสิ้นเชิง ….. ถ้าใครคุยกับผมบ่อยๆ จะรู้ว่าผมมีมุมมองอย่างไรกับคำว่า “Information” ว่ามันเป็น The Next Thing ต่อจาก “สสาร (Matter) และพลังงาน (Energy)” ที่ผมพูดอยู่บ่อยๆ ใน New Economy ทุกวันนี้ …. ในหน้า 137 ของฉบับที่ผมมี เริ่มต้นด้วย “The Physics of Information” … คงเป็นคำใบ้ที่ดีพอ

    แล้ววันหนึ่ง เราจะมอง Information แบบเดียวกับที่เรามอง Energy …. เป็นสิ่งที่ Abstract BUT Real …. และมอง Information ด้วยธรรมชาติเดียวกับที่เราเคยเข้าใจสสารและพลังงาน รวมถึง Economy ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ตามความเข้าใจสิ่งนี้ด้วย

  4. Labyrinths of Reason: Paradox, Puzzles, and the Frailty of Knowledge
    William Poundstone

    เป็นหนังสือที่ทำให้ผมเริ่มมอง “Logic” เป็นวิชาด้าน “จิตวิทยา” และทำให้ผมเข้าใจคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับตรรกศาสตร์เปลี่ยนไป เพราะมันพูดถึงรูปแบบการไล่เหตุไล่ผลของคน บทที่ผมชอบมากในนี้ คือ Anything Confirms Anything ที่ว่าด้วยจิตวิทยาของ “เหตุ และ ผล” ว่าถ้าผลมันเป็นจริงในความรู้สึกของคน (เช่น เน็ตช้า) แล้ว จะยก “อะไรก็ตาม” มาเป็นเหตุ มันก็ฟังขึ้นและเชื่อได้ทั้งนั้น (เข้าแก๊บ Any แล้ว T เป็น T คือ ถ้าผลเป็น T แล้วเหตุเป็นอะไรก็ตาม ก็ T) ไม่ว่ามันจะเป็นจริงในกรณีนั้นๆ หรือไม่ และอีกหลายๆ บท กับดักทางความคิดมันมีเยอะแยะมากมายมหาศาล การที่รู้เรื่องพวกนี้แม้ไม่ช่วยให้เราหลุดพ้นจากกับดักทั้งหลายทั้งปวงของความคิด แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้เราระวังเรื่องความคิดมากขึ้น ไม่ปล่อยให้ตัวเองไล่เหตุผลที่ตรงกับจริตของตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว จนอยู่ในบ่วงของกับดักทางความคิดของตัวเองตลอด ….. มันทำให้รู้สึก Self-less มากขึ้นเวลาคิดอะไรต่ออะไร มองเรื่องนั้นอย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อย่างที่เราเห็น มากขึ้นบ้าง

  5. The Emperor’s New Mind
    Roger Penrose (Author), Martin Gardner (Foreword)

    Can Computer Have a Mind? เป็นคำถามและประเด็นที่เป็นศูนย์กลางของหนังสือเล่มนี้ แต่มันไม่ใช่ Pointless Argument หรือการเปรียบเทียบเรื่อยเปื่อยมั่วๆ ไร้หลักการระหว่าง Man vs Machine แต่เป็นการพยายามเข้าใจธรรมชาติของ Consciousness ความคิด เหตุผล และอื่นๆ จากหลายต่อหลายมุม …. ผมรู้สึกว่ามันเป็น Introductory ที่ดีมากกับหลายต่อหลายเรื่องในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (แน่นอนว่ารวมถึง Theory of Computation)…. และความพยายามที่จะเอาเรื่องเหล่านี้มาทำความเข้าใจสิ่งที่ทำความเข้าใจยากที่สุด ซึ่งก็คือ Conscious Mind ของมนุษย์เรานี่เอง

  6. What Is Life? / Mind and Matter
    Erwin Schrodinger

    หนังสือที่รวม 2 สุดยอดงานเขียนของ Erwin Schrodinger (เจ้าของ “แมวในกล่อง” ตัวนั้นแหละ แล้วก็ Wave Equation ชื่อดัง) เอาไว้ด้วยกัน งานชิ้นแรก What is Life? นี่เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญตัวหนึ่งใน James Watson ศึกษาจนค้นพบ DNA …. แต่ที่ผมอ่านเล่มนี้ เพราะมันเป็นหนังสือที่มองปรัชญาวิทยาศาสตร์ ความพยายามเข้าใจชีวิต ทั้งในแง่ของ “สิ่งมีชีวิต” และความคิด หรือ Consciousness ต่างๆ รวมถึงความรู้สึกถึงตัวตนของสิ่งมีชีวิต ที่เรียกว่ามนุษย์

    พูดง่ายๆ อีกอย่างก็คือว่า มันทำให้ลองมองอะไรที่ลึกๆ คำถามยากๆ เกี่ยวกับชีวิต คำถามที่นำมาซึ่งความเข้าใจ มากกว่าการนำไปใช้แบบฉาบฉวยปลายเหตุทั้งหลายทั้งปวง

  7. The Computational Beauty of Nature: Computer Explorations of Fractals, Chaos, Complex Systems, and Adaptation
    Gary William Flake

    ตอนนั้นผมเริ่มศึกษาเรื่อง Chaos Theory และ Fractals (ก่อนจะเรื่อยเปื่อยตาม Link ใน Amazon …. ไปจนถึง Evolution, Population Dynamics, Complex Systems, Economics ฯลฯ) แต่ส่วนมากก็ได้แต่ “อ่าน” …. นี่เป็นหนังสือที่ทำให้ผม “สนุกมาก” กับการได้ “คิด เล่น ลอง” จนสุดท้ายเริ่ม “บ้า” กับการใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจธรรมชาติและเรื่องรอบตัว ไม่ใช่แค่การใช้ “เครื่องคอมพิวเตอร์” เท่านั้น แต่หมายถึงทฤษฎีต่างๆ ในฐานะกระจกมองสิ่งต่างๆ รอบตัว … และมันทำให้ผมมองเรื่อง Computer Modeling และ Simulation เปลี่ยนไปมาก

    ในสายตาของการใช้ “เครื่องคอมพิวเตอร์” ทำงาน Simulation อาจจะมองแค่เป็นการเขียนโปรแกรมขึ้นมาจาก Well-Known Model (ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก มีรายละเอียดเยอะ) เพื่อคำนวนอะไรๆ ที่มันซับซ้อนให้ได้อย่างรวดเร็ว … แต่หลังจากผมอ่านหนังสือเล่มนี้ มันทำให้ผมมอง “การสร้างอะไรสักอย่างในคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แรก” อาจทำให้เราเข้าใจอะไรรอบๆ ตัวมากขึ้น (ถ้าจะเอางานในปัจจุบัน ที่ผมสอนน้องๆ เสมอๆ ว่า “บางทีเราต้องลองสร้างโปรแกรมให้คนใช้ก่อน ถึงจะเข้าใจธรรมชาติของความต้องการ Information ต่างๆ ของคน”) … จะเรียกว่า สายตาเริ่มกว้างขึ้น เริ่มยึดติดกับศาสตร์ต่างๆ ในฐานะ “ตัวมันเอง” แต่เริ่มมองมันเป็นกระจกสะท้อนสิ่งอื่นๆ เป็นเครื่องมือให้กับสิ่งอื่นๆ มากขึ้น ก็ตั้งแต่หนังสือเล่มนี้

  8. Living with Complexity
    Donald Norman

    นี่คือ “หนังสือที่เกี่ยวกับการออกแบบที่ดีที่สุด” เท่าที่ผมอ่านมาทั้งหมด และนี่คือหนังสือที่ผมเชื่อว่า “ทุกคนควรอ่าน” ไม่ใช่เฉพาะแค่ “นักออกแบบ” เท่านั้น

    เรื่องของเรื่อง คือความเข้าใจเกี่ยวกับ “Complexity” และความคิด ความรู้สึกคน ไม่ใช่แค่คำพูดสวยๆ หรูๆ ลอยๆ อย่าง “สวย ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน” แต่ลงไปเรื่องที่ลึกกว่านั้น และเมื่ออ่านแล้ว ศึกษาแล้ว ลองมองรอบตัวดู จะทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้นเยอะ ว่าทำไมหลายต่อหลายอย่าง จึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ ทำไมไม่ง่ายกว่านั้น เพราะว่ามันมี Complexity อะไรบางอย่างอยู่หรือเปล่า และถ้าเราจัดการกับ Complexity เหล่านั้นผิดวิธี มันอาจจะง่ายขึ้นสำหรับเราคนเดียว แต่ยากขึ้นสำหรับคนอื่นๆ ทั้งหมดหรือเปล่า

    แล้วจะเข้าใจ “คำถามจี้จุดตาย” ในการออกแบบ ไม่ใช่แค่ Product แต่อาจจะเป็นทั้ง Business Solution ที่ผมมีในงานต่างๆ มากขึ้น … ว่าผมมองเห็นมันได้ยังไง … (จริงๆ เห็นมาก่อนหน้าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้นเยอะ) …. และมันทำให้สิ่งที่ Jonathan Ive พูดว่า

    “Simplicity is not the absence of clutter, that’s a consequence of simplicity. Simplicity is somehow essentially describing the purpose and place of an object and product. The absence of clutter is just a clutter-free product. That’s not simple.”

    “True simplicity is derived from so much more than just the absences of clutter or ornamentation. It’s about bringing order to complexity.”

    มันมีความหมาย และโคตรชัดเจน ชัดเจนมากๆ …. และอยากจะบอกว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งเลย ในคอร์สทุกคอร์สที่ผมสอนเรื่อง Design ทุกวันนี้ (หลักๆ คือ Application Design, UI Design, UX Design) มันมีหลักคิดพื้นฐานจากเรื่อง Living with Complexity เนี่ยแหละ … “เราจะออกแบบได้ไง(วะ) ถ้าเราไม่เข้าใจชีวิตคน?”

  9. Hackers & Painters: Big Ideas from the Computer Age
    Paul Graham

    หลายคนที่รู้จักผมในฐานะ “นักคอมพิวเตอร์” คงแปลกใจไม่น้อยที่อ่านมา 8 เล่ม ยังไม่มีหนังสือ “คอมพิวเตอร์จ๋าๆ” เลยสักเล่มเดียว และก็จะยังไม่มีต่อไป แต่เล่มนี้จะใกล้เคียงที่สุดเท่าที่จะได้แล้วล่ะ (อย่างน้อยก็เป็นเรื่องวงการนี้โดยตรง และนักคอมพิวเตอร์ชื่อดังคนหนึ่งเป็นคนเขียน)

    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เอาสิ่งที่ผมเห็นมานานล่ะ ประกอบร่างเองมานานล่ะ … ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ Pattern​ ซ้ำซากของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ไล่มาตั้งแต่ยุคบุกเบิกเกษตรกรรม ล่าอาณานิคม เครื่องจักรไอน้ำ ฯลฯ หรือการไล่ล่าเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และนำมาสร้างธุรกิจต่อมา (อย่าลืมนะ ….. Information is Physics ;-) จนถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย … มา “เขียนในแบบที่ผมไม่มีวันเขียนเองได้” และมันยังทำให้เราเห็น Pattern และรูปแบบของเรื่องเหล่านี้ชัดเจนขึ้น

    บ่อยครั้งที่มีคนถามผมว่า “อนาคตของเรื่องนั้นเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร” คำตอบผมคือ “ลองดูสิ ว่าอดีตบอกอะไรเรา” หลายต่อหลายอย่างมันมี Pattern ที่ชัดเจนขนาดนั้น และผมบอกได้เลยว่า ถ้า Pattern เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง มันก็จะไม่เปลี่ยนไปหรอก ธรรมชาติคือธรรมชาติวันยังค่ำ

    คนที่คุยกับผมบ่อยๆ เรื่องพวกนี้ …. ผมแนะนำจริงๆ ว่าควรอ่านเล่มนี้ครับ

  10. สามก๊ก ฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง(หน) และ ฉบับคนเดินดิน
    เจ้าพระยาพระคลัง(หน) และ เล่า ชวน หัว

    น่าจะเป็นหนังสือที่แปลกแยกที่สุดใน 10 เล่มแรก เพราะนอกจากมันจะไม่ใช่หนังสือเล่มเดียว (เป็นชุด) มันยังเป็นไม่มีลิงค์ใน Amazon … มันไม่ใช่ “หนังสือเล่มเดียว” และ “เป็นหนังสือภาษาไทย”

    ผมอ่านสามก๊กทุกฉบับเท่าที่หาอ่านได้มาตั้งแต่เด็กๆ ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) นี่คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะว่าน่าจะรู้จักกันอยู่แล้ว …. และสิ่งที่มีค่าที่สุดจากหนังสือเล่มนี้ สำหรับผมแล้วมันไม่ใช่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ หรือกลยุทธ์อะไรต่าง แต่นี่คือ หนังสือคัมภีร์เรื่อง “คน” ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่จะหาได้

    สำหรับฉบับหลัง นั้นเมื่อตอน ม.ต้น ผมดันไปเจอเล่มหนึ่งในชุดนี้เข้า ในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง (ถ้าจำไม่ผิดจะเป็นแพร่พิทยา ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว) ซื้อกลับมาบ้าน 3 เล่ม คือ “เปิดหน้ากากขงเบ้ง ชำแหละกึ๋นเล่าปี่ ผ่าสมองโจโฉ” … นั่งอ่านรวดเดียวจบ สนุกมากๆ … จนต้องไปหาเก็บให้ครบทั้งชุด … นี่เป็นฉบับแรกที่ทำให้เรา “มองตัวละครต่างๆ ในอีกมุมหนึ่ง” เรื่องราวทั้งหลายแหล่ จะจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่มันหัดให้เราตั้งข้อสังเกตถึงสถานการณ์และ Context ต่างๆ ในเรื่องเล่าต่างๆ มากยิ่งขึ้น … ความจริงมีเพียงหนึ่ง ทุกเวอร์ชั่นของความจริงที่ถูกถ่ายทอดมาไม่ว่าจะจากมุมไหน ล้วนคือความไม่จริง … และมันทำให้ผมเข้าใจ ว่าบางทีเราก็อาศัยบางส่วนของความจริง มาสื่อสารหรือสร้างเรื่องอะไร เพื่อประโยชน์ของอะไรบางอย่าง ทั้งดีและไม่ดี … เสมอๆ

  11. Theory of Games and Economic Behavior
    John von Neumann, Oskar Morgenstern

    จุดเริ่มต้นของ Game Theory อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน สิ่งที่สุดยอดของหนังสือเล่มนี้คือคณิตศาสตร์ที่ละเอียดมาก ไม่ใช่แค่ยกตัวอย่างมาอธิบายแบบน้ำท่วมทุ่งนะ แต่เป็นความลึกซึ้งชัดเจนที่อธิบายออกมาผ่านภาษาของคณิตศาสตร์เลยล่ะ ทุกวันนี้ผมยังหยิบมาอ่านอยู่บ่อยๆ ในหลายๆ เรื่อง หลายเรื่องที่ไม่เคยเข้าใจมันดีนักตอนที่อ่านมันครั้งแรกๆ ทุกวันนี้พอมาอยู่ในวงการธุรกิจเต็มตัวมากขึ้น กลับไปอ่านใหม่ ได้ความเข้าใจลึกๆ มากขึ้นอีกหลายเรื่อง …. และในเมื่อหลายต่อหลายเรื่องในโลกเราเนี่ย มันถูกมองได้ในมุมของ Game Theory และ Economic Behavior นี่เป็นอีกเล่มหนึ่งที่ผมเอาติดตัวไปแน่นอน เพราะผมเชื่อว่า อีก 10 ปีผมกลับมาอ่าน มันจะโตตามผมเสมอ

  12. Chaos: Making a New Science
    James Gleick

    เป็นหนังสือแนว Popular Science เล่มแรกๆ ที่อ่าน ตอนนั้นกำลังเริ่มศึกษาเรื่อง Chaos Theory อยู่ หลังจากเข้าไปนั่งฟัง Lecture ที่เปลี่ยนชีวิตผม (ตามที่เคยเขียนไว้ใน Remember the Butterfly ตอนที่ 8) ซื้อเล่มนี้มาแบบงงๆ ตาม Link ใน Amazon

    เนื้อหาเกี่ยวกับ Chaos Theory ก็แค่พอให้คนทั่วไปอ่านรู้เรื่องประดับความรู้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้นหรอก แต่การเล่าเรื่องในแบบการค้นพบต่างๆ การเดินทางของคนกลุ่มต่างๆ ที่ศึกษาเรื่องต่างๆ มันเป็นอะไรที่ผมชอบมาก และเปลี่ยนวิธีศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทุกสิ่งทุกอย่างของผมไปเยอะมาก … ผมเริ่มศึกษาทุกอย่างในรูปแบบของ “ประวัติศาสตร์” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบมากอยู่แล้ว และทุกวันนี้ยังติดนิสัยการมองอะไรแบบนั้นอยู่ รวมถึงการมองการทำงานของฟังก์ชั่นต่างๆ การทำงานของโปรแกรมต่างๆ การไล่ที่มาที่ไปของสิ่งต่างๆ ด้วย

    และมันทำให้ผมมองเห็นสิ่งที่เคยอยู่ในกระดาษอย่างเดียว เช่นพวกสมการต่างๆ ลอยมาอยู่รอบตัวอีกเยอะ เพราะลักษณะการเล่าเรื่องของพวกหนังสือ Popular Science เนี่ยแหละ

  13. Order Out of Chaos
    Ilya Prigogine, Isabelle Stengers

  14. The End of Certainty
    Ilya Prigogine

    พอเริ่มศึกษาพวก Chaos (และ Dynamical System อะไรพวกนี้ที่เกี่ยวข้อง) สักพัก บ้านก็เริ่มเต็มไปด้วยหนังสือทั้ง Hard Science และ Popular Science ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งเกี่ยวโดยตรงเกี่ยวโดยอ้อม … แต่มีไม่กี่เล่มที่อยากจะพูดถึงจริงๆ และสองเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น คนเขียนคนเดียวกัน ขอพูดรวบเลยก็แล้วกัน

    เนื้อหาเชิงวิทยาศาสตร์ไม่ขอพูดถึงอะไรมาก เพราะอ่านเองดีกว่า แล้วคิดว่าหลายคนก็ไม่ได้สนใจหรอก (เพราะว่ามันเป็น Non-Equilibrium Thermodynamics) แต่ “ผล” ของการอ่านมัน มันทำให้เข้าใจธรรมชาติของ “Order” มากขึ้น ว่ามันเกิดจาก Chaos ได้ยังไง ไอ้เรื่องพวกนี้มันทำให้ผมคิดและทำงานแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ คือ แทนที่จะ Over-Design อะไรล่วงหน้า ก็ให้ Order พวกนั้นเกิดขึ้นมาเองจากการ Evolve ของ Dynamical System น่ะแหละ …. แล้วก็ธรรมชาติของ Complexity ที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว มันย้อนกลับไปไม่ได้ ทำได้แค่ทำให้เกิด Order อะไรบางอย่างกับมัน เท่านั้น

    หลายอย่างมันต้องรอให้เกิด “Emergence” ผ่านกระบวนการ “Self-Organization” น่ะ แล้วพอพูดถึงเรื่องนี้ ก็ขอต่ออีก 2-3 ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้หน่อยละกัน พวกนี้จะยากกว่า Popular Science นิดหน่อย แต่ไม่ถึงกับ Hardcore นะ อ่านได้เรื่อยๆ

  1. At Home in the Universe: The Search for the Laws of Self-Organization and Complexity
    Stuart Kauffman

  2. The Origins of Order: Self-Organization and Selection in Evolution
    Stuart Kauffman
  1. Self-Organization in Biological Systems: (Princeton Studies in Complexity)
    Scott Camazine, Jean-Louis Deneubourg

    ต่อจากนั้น …. นับจาก Chaos มันก็ไล่ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอศาสตร์ที่ชอบมากที่สุด จริงๆ ก็คือ Complex System Theory ที่ว่าไปแล้ว ยังเป็นรากฐานความคิดแทบทุกอย่างในปัจจุบันนี้แหละ ที่ว่าด้วยองค์ประกอบเล็กๆ ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่มี Interaction จากกฏต่างๆ ที่แม้ว่าจะถูกกำหนดไว้อย่างตายตัวแค่ไหน ก็ยังอาจทำให้เกิดอะไรบางอย่างที่เราไม่ได้คิด คาดการณ์ หรือออกแบบไว้ตั้งแต่ต้นได้ … นั่นคือ Order เป็น Emergence จาก Simple Components แต่มี Non-linear Interaction ….. และพวกนี้มักจะอยู่รากลึกๆ ของความซับซ้อนยุ่งเหยิงทุกอย่าง เมื่อไล่เหตุไล่ผลลงไปลึกมากพอ เราจะเห็นองค์ประกอบเล็กๆ ที่เมื่อเปลี่ยนแปลงเพียงนิดเดียว และปล่อยให้มัน Interact ต่อไปแบบเดิม มันจะส่งผลมหาศาล ให้ผลลัพธ์ที่เราเห็น แตกต่างกันมากมายเสมอๆ รวมถึงข้อความอมตะด้วย “The whole is greater than Sum of its parts” รวมถึงเรื่อง Self-Organized Criticality อะไรพวกนี้ด้วย

    ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ผมชอบพูดอยู่ทุกวันนี้ (ไม่ได้มาจากหนังสือเหล่านี้ตรงๆ หรอกนะ อย่างที่บอกว่ามันเป็นพื้นฐานความคิดไปแล้ว เลยเห็นพวกนี้ในแทบทุกเรื่อง) ก็คือ ความแตกต่างระดับ Mindset ของความเป็นผู้สร้าง (Creator) และผู้เสพ (Consumer) หรือ Model ง่ายๆ ที่ผมถามเสมอๆ ว่า ถ้ามีตัวเรา และสังคมรอบตัว มีลูกศรวิ่งจากตัวเราเข้ามาสังคมหนึ่งเส้น มีลูกศรวิ่งจากสังคมเข้ามาตัวเราอีกหนึ่งเส้น … แล้ว Label บนลูกศรนี้คืออะไร? เรา Give และ Take อะไร? … ถ้าเรา Take Problem มาแก้ และ Give Benefit … กับ Take Benefit แต่ Give Problem มันจะแตกต่างกันเยอะทันที … และตัวอย่างอื่นๆ อีก ฯลฯ มันเริ่มจากความคิดที่เริ่มจากการอ่านหนังสือพวกนี้แหละ จนกระทั่งทุกวันนี้ที่ประสบการณ์มากขึ้น ถึงตัว Math และความรู้แบบ Hard Science ผมจะไม่ค่อยได้ใช้มันแล้ว แต่ปรัชญาของแนวคิดมันยังฝังรากอยู่กับผม ว่างั้นเถอะ

    หนังสือเรื่อง Complex System Theory ที่ดีๆ เยอะแยะไปหมด แต่ถ้าผมเลือกแค่ไม่กี่เล่ม ก็คงมีตามนี้ บางเล่มเป็น Hard Science บางเล่มเป็น Popular Science (ดูจากราคา และหน้าปกก็คงจะรู้ล่ะ ว่าเล่มไหนเป็นอะไร)

  2. Foundations of Complex-system Theories: In Economics, Evolutionary Biology, and Statistical Physics
    Sunny Y. Auyang

  3. Modeling Complex Systems (Graduate Texts in Physics)
    Nino Boccara

  4. Ubiquity: The Science of History or Why the World is Simpler Than We Think
    Mark Buchanan

    เล่มนี้มีอีกชื่อว่า Ubiquity: Why Catastrophes Happen

  5. Emergence: The Connected Lives of Ants, Brains, Cities, and Software
    Steven Johnson

  6. Business Dynamics: Systems Thinking and Modeling for a Complex World
    John Sterman

    อันนี้จะออกแนวธุรกิจๆ หน่อย พวก Organizational Problem Solving, Marketing, Growth อื่นๆ แต่ใช้พื้นฐานหลักคิดจาก Complex System แล้วก็ Business Modeling

    โอเค พอเริ่มพูดเรื่อง Business ก็มาถึงพวกที่ผมอ่านยุคหลังๆ ล่ะนะ … ในขณะที่ List ด้านบนนี่อ่านสะสมมาตั้งแต่สมัยเรียนเป็นส่วนมาก (จริงๆ มีเยอะกว่านี้ อย่างที่บอกว่ามีเป็นพันๆ เล่ม) มีใหม่ๆ แค่ไม่กี่เล่ม ซึ่งพวกนั้นมันคือ “พื้นฐานความคิดและความเป็นตัวผม” ทุกวันนี้ซะเยอะเลย … พวกยุคหลังๆ นี่ก็มาพวกที่ผมเรียกว่า “เปิดมุมมองให้ผมได้เอาพื้นฐานที่สะสมมา ไป Apply ใช้” ละกันนะ

    บอกก่อนเลยว่า … หลายเล่มในนี้ ถ้ามีพื้นเรื่อง Complex System Theory มาก่อน จะเข้าใจโคตรง่าย และเห็นภาพใหญ่ๆ มากๆ ได้เร็วมาก

  7. The Monk and the Riddle: The Art of Creating a Life While Making a Living
    Randy Komisar

    หนึ่งในสุดยอดหนังสือ ที่ผมเชื่อว่าถ้าคนอยากจะสร้างกิจการใน New Tech Economy ต้องอ่านนะ แต่สำหรับคนที่อยากจะเล่น “Startup Game” หรือ Investment Game อาจจะผ่านไป …. Randy คือหนึ่งในคนที่ผมเคารพใน Silicon Valley และยิ่งอ่านเล่มนี้ ยิ่งทำให้ผม “เชื่อมั่น” ในสิ่งที่ผม “เชื่อ” อยู่แล้วมากขึ้น

    ว่าไปแล้ว หลายต่อหลายอย่างที่สอนน้องๆ หลายต่อหลายทีม ที่ผมเป็น Mentor ให้ ส่วนหนึ่งที่มั่นใจไปสอนได้แบบนั้น ไป Mentor ได้แบบนั้น มันก็มาจากหนังสือเล่มนี้น่ะแหละครับ

  8. The Myths of Innovation
    Scott Berkun

  9. The Art of the Start: The Time-Tested, Battle-Hardened Guide for Anyone Starting Anything
    Guy Kawasaki

  10. The Slow Fix: Solve Problems, Work Smarter and Live Better in a Fast World
    Carl Honore

    การแก้ปัญหาที่รากของมัน ….. พูดน่ะง่าย จริงๆ เล่มนี้ไม่ใช่หนังสือเรื่อง Complex System นะ แต่อย่างที่ผมเขียนไว้เมื่อกี้แหละ หัวใจของเรื่อง Complex System มันคือ Component เล็กๆ ที่ฝังรากลึกๆ และพวกนี้มันดันมี Interaction ต่อกัน ถ้าหาพวกนี้เจอ และเปลี่ยนมันซะ จากนั้นปล่อยให้พวกมัน Interact กันไปตามปกติ ตามธรรมชาติของมัน แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงอะไรต่ออะไรได้อย่างไม่น่าเชื่อ แถมได้ผลลัพธ์จริงๆ “เร็ว” และ “ยั่งยืน” กว่าการเร่งรัดไปที่ผลลัพธ์ที่อยากได้ … หนังสือเล่มนี้มีตัวอย่างที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียวล่ะ

    ก็เหมือนที่ผมและหลายๆ คนเคยพูดแหละ … ตัวอย่างเช่นปัญหาเรื่องการศึกษา จะไปแก้ที่วิธีการวัดผล ตัวชี้วัด หลักสูตร โรงเรียน ฯลฯ เอาแต่ไอ้โน่นไอ้นี่มาวัดคนโน้นคนนี้ เพิ่มงานนี่นั่นโน่น ฯลฯ แล้วหวังว่ามันจะดีขึ้นแบบ “หน้ามือเป็นหลังมือ” แบบเร็วๆ น่ะเหรอ ไม่มีทางซะหรอก ยิ่งบานปลายเท่านั้นแหละ เพราะเหตุลึกๆ มันยังคงอยู่ … ลองเอาพวกนี้ออกให้หมด แล้วพ่อแม่อ่านหนังสือกับลูกที่บ้าน (อ่านด้วยกันนะ ไม่ใช่บังคับลูกอ่าน) เพิ่มสักวันละชั่วโมง แล้วคอยดูปัญหามันแก้ตัวมันเองในเวลาไม่กี่ปีสิ

    ตอนไปพูดในงาน Change the way you think to Change the way you work (เป็นแขกรับเชิญให้เพื่อน) ผมก็เลยสนใจแต่เรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” ที่เปลี่ยนได้ง่ายๆ กับตัวเองเนี่ยแหละ

  11. The Making of Prince of Persia
    Jordan Mechner

    คนรุ่นๆ ผมคงไม่มีใครไม่รู้จักเกม Prince of Persia ภาคแรกล่ะมั้ง (ภาคที่เจ้าชายใส่ชุดขาวนั่นแหละ) … อ่านแล้วได้เรียนรู้อะไรเยอะเลยทีเดียว ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง รายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับ “Startup ของยุคนั้น” และหลายอย่างยังคงใช้งานได้ถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงปัญหาและการแก้ปัญหาต่างๆ ที่หลายต่อหลายทีมต้องเจอ

    ถ้าเราชอบ หรืออินกับอะไรเป็นพิเศษ ลองไปหาหนังสือพวก The Making of …. ที่มาตีแผ่เรื่องราวเบื้องหลังแบบจริงๆ ไม่ใช่แนวแบบเขียนให้เป็นฮีโร่อย่างเดียว มาอ่านดูครับ จะได้อะไรต่ออะไรเยอะแยะเลย … เช่นเดียวกับเล่มต่อไปนี้ ที่ผมให้น้องๆ ว่าที่ CEO ทุกคนอ่าน

  12. The Hard Thing About Hard Things: Building a Business When There Are No Easy Answers
    Ben Horowitz

  13. Walden
    Henry David Thoreau

    “รายชื่อหนังสือของผมไม่มีทางครบถ้วน สมบูรณ์แน่ๆ ถ้าไม่มีเล่มนี้” … เรื่องราว ข้อคิด ปรัชญา ความเรียบง่ายของชีวิต ความสุขกับสิ่งรอบตัว ฯลฯ …… คือสิ่งที่หลายคนลืมไปแล้วกับโลกปัจจุบัน อยากจะบอกว่า … นี่คือหนังสือเล่มหนึ่งที่ “เป็นตัวผม” มากที่สุด (ตอนที่คุณแม่เริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมบางอย่าง เมื่อสมัยเรียน คุณแม่บอกให้ลองหาเรื่องนี้อ่านดู)

    “ความธรรมดาสามัญ ธรรมชาติของทุกอย่างรอบตัว …. นี่แหละความสุขของชีวิต”

    และเล่มสุดท้าย … เล่มที่สำคัญที่สุด

  14. หนังสือที่ผมยังไม่ได้อ่าน

    ผมเชื่อว่า … หนังสือทุกเล่มที่ผมอ่าน มันเปลี่ยนผมทั้งนั้น จะมากจะน้อยก็อีกเรื่องหนึ่ง … เส้นทางชีวิตผมเดินมาถึงจุดหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องไปต่อไป ผมไม่รู้ว่าชีวิตผมข้างหน้าของผมจะเป็นแบบไหนหรอก …. ไม่แน่ พรุ่งนี้ผมอาจจะเจอหนังสืออีกสักเล่มหนึ่ง … ที่มันจะเปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาลอีกสักครั้ง …. ดังนั้น ถ้าผมจะต้องเลือก “เล่มสุดท้าย” ในการเอาไปด้วยที่ไหนสักแห่งตลอดกาล ที่ผมอาจจะไม่ได้กลับมาอีก แทนที่ผมจะเอาหนังสือเล่มที่ผมอ่านจบแล้ว ไม่ว่าจะกี่เล่มก็ตาม ผมจะขอกลั้นใจ และใช้ Faith หรือความเชื่อในโชคชะตา เลือก “เล่มที่ผมยังไม่ได้อ่าน” ไปด้วยเสมอ

    ใครจะรู้ … ชีวิตผมอาจจะเปลี่ยนอีกครั้ง

[update] หลังจากที่เขียนเสร็จ และเอาขึ้นบนเว็บนี้ไปแล้ว มีคนท้วงผมมาแบบขำๆ ว่า “มี Tag 4 คน ทำไมเขียนแค่ 30 เล่ม ไม่เขียน 40 เล่มล่ะ?!?!” ก็ แหม … ตอนเริ่มเขียนนี่โดนแค่ 3 คนนี่นา .. แต่ไหนๆ ก็ไหน ก็เลยขอเพิ่มอีก 10 เล่ม ตามคำท้วง

  1. Einstein’s Dream
    Alan Lightman

    เล่มนี้เกือบจะเป็นเล่มที่ 30 ในลิสต์ ถ้าผมไม่ติสท์แตกเลือก “หนังสือที่ผมยังไม่ได้อ่าน”

    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือนิยาย เวลาอ่านต้องจินตนการพอสมควรตามแบบนิยายทั่วไปน่ะแหละ แต่ที่มันพิเศษหน่อยก็คือ เล่มนี้เอาคอนเซปท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “เวลา” มาเขียนเป็นเรื่องสั้นต่างๆ …. โลกที่เวลาหยุดอยู่กับที่ โลกที่ไม่มีความทรงจำ โลกที่เวลาหมุนเป็นลูป โลกที่เวลาเดินย้อนกลับ ฯลฯ เรียกได้ว่า Template ของเรื่องการเล่นกับเวลาแทบทุกอย่างอยู่ในหนังสือเล่มนี้แหละ …​ อ่านแล้วก็อดคิดถึงโลกเหล่านั้นไม่ได้ ว่าถ้าเป็นจริง ทุกสิ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน จะมี Product อะไรบ้างที่เกิดขึ้นได้ อะไรบ้างที่พวกเรามองผ่านเหมือนไม่มีอะไรในโลกเรา แต่จะกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามหาศาลในโลกเหล่านั้น หรือกลับกัน อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่มีค่ามากๆ กับพวกเรา แต่กับโลกนั้นจะไม่มีความหมายอะไรเลย ….

  2. Flatland: A Romance of Many Dimensions
    Edwin A. Abbott

    นิยายตั้งแต่ปี 1884 เป็นหนังสือที่เก่าเป็นอันสองในลิสต์นี้ (อันดับหนึ่งนี่ Walden ปี 1854) … เมื่อกี้เป็นนิยายเกี่ยวกับเวลา คราวนี้โลกเกี่ยวกับ Space บ้าง … เป็นเรื่องของ “สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลก 2 มิติ” จะมีรูปแบบชีวิตเป็นยังไง … และเมื่อวันหนึ่งเมื่อเขามีโอกาสเจอกับ “สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลก 3 มิติ” เขาพบว่า เขาไม่สามารถที่จะเข้าใจ หรือนึกอะไรออกเลยเกี่ยวกับโลก 3 มิติ … เขาได้แต่คิดว่ามันต้องเป็นแบบโลกที่เขาอยู่ … จนกระทั่งได้ไปเห็นและอยู่ในโลก 3 มิติจริงๆ

    นอกจากจะเป็นนิยายคณิตศาสตร์ที่ผมชอบมากเรื่องหนึ่งแล้ว มันยังเป็นปรัชญาที่สำคัญมาก …. เวลาที่เรามอง “โลกที่คนอื่นอยู่” หลายครั้งเราไม่เข้าใจหรอกว่ามันเป็นยังไง เพราะมิติ (ปัจจัยต่างๆ) มันแตกต่างกันไปมาก เราอาจจะคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ตามมิติที่เราอยู่ แต่จริงๆ แล้วมันอาจจะแตกต่างไปเยอะก็ได้ หลายอย่างที่เป็นไปได้ง่ายมากใน 3 มิติ ก็เป็นไปไม่ได้เลยใน 2 มิติ … ลองนึกถึงสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในโลก 4 มิติ ที่สามารถเดินทางผ่านเวลาได้เหมือนกับเดินผ่านทางเดิน คงจะไม่มีทางเข้าใจเราเลย ว่าเรากลัวอะไรหนักหนากับการทำอะไรผิดพลาด เพราะสำหรับพวกเขา ถ้าทำผิด ก็แค่ถอยหลังไปในแกนของเวลา แล้วก็เลือกเดินใหม่

    แต่ “มิติ” ในชีวิตจริง มันไม่ได้เป็นแค่ x, y, z, t …. มันเป็นมิติทางสังคม มิติทางความคิด มิติทางนั้นทางนี้เยอะแยะมากมาย ….. เราไม่เข้าใจหรอก จนกระทั่งเราไปอยู่กับมันจริงๆ

  3. Alice in Wonderland
    Lewis Carroll

    นี่คือ “หนึ่งในหนังสือคณิตศาสตร์ที่ดีที่สุด” … เห้ย จะบ้าเหรอ Alice in Wonderland เนี่ยนะ หนังสือคณิตศาสตร์?!?!? เยสเซ่อร์ จริงครับ ถึงจะดูเป็นนิยาย หรือเป็นนิทานเด็ก แต่จริงๆ แล้วหนังสือเรื่อง Alice in Wonderland เนี่ยแหละ มีเรื่องคณิตศาสตร์อยู่เต็มไปหมด ตั้งแต่เรื่อง Geometry ไปถึงเรื่อง Transformation หรือว่าเรื่อง Algebra … จะว่าไป นี่เป็นเรื่องที่รู้กันดีในระดับหนึ่งนะ ถึงขนาดมีคนเขียนบทความลง New Scientist เลยทีเดียวล่ะ (Alice’s adventures in algebra: Wonderland solved)

    จริงๆ ก็ไม่ค่อยน่าแปลกใจหรอกครับ …. เพราะ Lewis Carroll นี่เป็นนักคณิตศาสตร์ครับ

  4. Things a Computer Scientist Rarely Talks About
    Donald E. Knuth

    ถึง Don Knuth จะเป็นคนเขียน ก็ยังไม่ใช่หนังสือเกี่ยวกับ Computer (หรือ Computer Science) อยู่ดีแฮะ … ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ว่า “เรื่องที่ Computer Scientist ไม่ค่อยพูดกัน” แล้วมันเรื่องอะไรล่ะ … เรื่องศาสนาครับ เรื่องในพระคัมภีร์ไบเบิ้ล …. อ่านแล้วได้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก ว่าในฐานะที่เราเป็นอะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งที่เรารู้และเข้าใจดี มันช่วยให้เราเข้าใจเรื่องอื่นได้มากขนาดไหนกันนะ

  5. Linked: How Everything Is Connected to Everything Else and What It Means for Business, Science, and Everyday Life
    Albert-laszlo Barabasi

  6. Alan Turing: Life and Legacy of a Great Thinker
    Christof Teuscher

    น่าจะเป็นเล่มเดียวใน List นี้ที่ยังอ่านไม่จบ …. แต่ว่าเท่าที่อ่านนี่ถือว่าเป็นหนังสือรวบรวม Essay ที่เกี่ยวข้อง ต่อยอดจากงานของ Alan Turing ที่ดีมาก มีประเด็นให้คิดเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะประเด็นเชิงปรัชญา ที่ให้เรากลับไปมองคอมพิวเตอร์ ความเป็นจริง และตัวเอง ใหม่อีกหลายๆ รอบ

  7. The Art and Craft of Problem Solving
    Paul Zeitz

    หนังสือคณิตศาสตร์ที่ชอบมากที่สุดเล่มหนึ่ง

  8. The Mythical Man-Month: Essays on Software Engineering, Anniversary Edition และ
    The Design of Design: Essays from a Computer Scientist
    Frederick P. Brooks Jr.

    ในที่สุดก็มีหนังสือแนวพัฒนาซอฟต์แวร์แบบตรงๆ บ้าง … และ .. ขอโกงอีกครั้ง …​ สำหรับลำดับนี้ เพราะว่านี่เป็นหนังสือ 2 เล่ม ที่ถึงมันจะไม่ใช่เล่มต่อกันโดยตรง แต่เนื้อหา โทนเรื่อง รูปแบบ มันเป็นเล่มต่อกันชัดๆ น่าจะอ่านและศึกษาต่อเนื่องกันมากๆ … ทั้งสองเล่มเป็นรวม Essay ทางด้าน Software Engineering ที่ผมคิดว่าคนทำซอฟต์แวร์น่าจะอ่านและศึกษาเรื่องราวจากหนังสือนี้กันไว้ทุกคน

  9. Introduction to Artificial Life
    Christoph Adami

    เป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำให้ได้เอาทฤษฎี ความรู้ และอะไรต่ออะไรหลายต่อหลายเรื่อง (พวกที่อ่านๆ มาเยอะแยะ ในบรรดาหนังสือ 25 เล่มแรกน่ะแหละ และอีกหลายต่อหลายเล่มที่อ่านช่วงนั้น) มาใช้งานจริงๆ จังๆ สักที … ถึงชื่อจะบอกว่า “Intro” นะ แต่ไม่ง่ายหรอก ยากเอาเรื่องอยู่ เพราะมันต้องรู้อะไรหลายอย่างเยอะพอสมควร …. และการศึกษาเรื่องนี้ทำให้ได้คิดกับปรัชญาของคำว่า “ชีวิต” ในมุมที่กว้างขึ้นไปอีกนิดหน่อย คือ Life as it could be … ไม่ยึดติดอยู่กับ Life as it is ที่เราเห็นสิ่งมีชีวิตมันเป็นอยู่

    เราจะนิยาม “สิ่งมีชีวิต” ว่าอะไรดีนะ ….​ ถ้าเราไม่นึกถึงพวก “สิ่งมีชีวิตบนโลก” …. และจากนิยามที่ผมมีให้ตัวเองจากการศึกษาเรื่องนี้ จากอะไรหลายๆ อย่างในเล่มนี้ ทำให้ผมเริ่มมององค์กรเป็นสิ่งมีชีวิต และทำให้เข้าใจแก่นสารของการทำ LO & KM แบบลึกๆ … ไม่ใช่แค่เอาความรู้มาแชร์กัน เอาความรู้มาจัดการ หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการทำ KM …. มันเริ่มจากการเข้าใจ “ชีวิต” ว่าเป็น Being ที่ Continuously Learning & Evolving เนี่ยแหละ (ตอนทำ KM ให้องค์กรหลายแห่ง ผมเริ่มจากประเด็นว่า “ถ้าองค์กรนี้เป็นสิ่งมีชีวิต รู้มั้ยว่ามันอยู่ที่ไหน รู้มั้ยว่ามันกินอะไรเป็นอาหาร แล้วมันจะต้องทำอะไร ให้หาอาหารได้ดีขึ้น กินแล้วอยู่ได้นานขึ้น ฯลฯ ทำนองนี้)

    ป.ล. มีหนังสือแนว Popular Science เกี่ยวกับ Artificial Life หลายเล่มนะ แต่ผมไม่รู้สึกว่ามัน Memorable อ่านไปแล้วก็ อ๋อเหรอ ไม่มีอะไรมากกว่านั้น เล่มนี้ทำเอาแทบรากเลือดเหมือนกัน

  10. The Teaching of Buddha
    Bukkyo Dendo Kyokai (仏教伝道協会)

    เป็นหนังสือที่ผมรู้จักแบบฟลุ๊คๆ ที่สุด จากการไปพักโรงแรมที่หนึ่งในญี่ปุ่นเมื่อนานมาแล้ว แล้วมีหนังสือเล่มนี้อยู่ในห้อง คู่กับคัมภีร์ไบเบิ้ล … อ่านแล้วโดนมากๆ ไม่เยอะ ไม่เวิ่นเว้อ ไม่พิธีรีตรองมาก เป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างที่ “พระธรรม” น่าจะเป็น ….. เป็นครั้งแรกที่ถามโรงแรมเลยว่าหนังสือเล่มนี้จะหาได้จากที่ไหน … โรงแรมก็ใจดีมาก ให้เล่มนั้นมาเป็นของที่ระลึกเลย ….

    ทุกข้อความ ทุกย่อหน้า ทุกบรรทัด ในหนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วได้คิด เป็นปรัชญาชีวิตมากๆ …. เล่มนี้เป็นหนังสือที่ผมชอบอ่านเสมอๆ เวลาอยู่บ้านคนเดียว เวลานั่งเล่นริมสระน้ำ อ่านจบเป็นสิบๆ รอบก็ยังอ่านแล้วอ่านอีก

    หมายเหตุ: ฉบับที่ผมมี เป็นฉบับ 2 ภาษา (อังกฤษ-ญี่ปุ่น) ไม่แน่ใจว่าถ้าสั่งจากเน็ตจะเป็นภาษาเดียวหรือเปล่า