Nikon Df: Impression, Review, Feeling, and More!

[อัพเดท: 01/04/2014] เพิ่ม Section “One More Thing”
[อัพเดท: 01/15/2014] เพิ่มเรื่อง “เสียงชัตเตอร์”


กล้องที่ผมสนใจที่สุดในปี 2013 ที่ผ่านมา ไม่มีทางพ้น Nikon Df แน่นอน สนใจถึงขนาดที่ตอนที่มันยังไม่ออกมา ผมยังเขียนบทความที่เกี่ยวกับมันไปแล้วถึง 2 เรื่องด้วยกันคือ Reflection on “Nikon’s Pure Photography” และ ไม่ใช่รีวิว: Nikon Df

หลังจากรอแล้วรออีก … ตอนนี้มันก็อยู่ในมือผมเป็นที่เรียบร้อย จริงๆ แล้วผมแทบรอเขียนรีวิวมันไม่ไหว แต่ต้องรอจนกระทั่งใช้งานจริงเสียก่อนเพื่อให้รู้ว่ากับสถานการณ์จริงต่างๆ แล้วมันเป็นยังไงบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพของภาพ หรือการควบคุมภายนอกต่างๆ และตอนนี้ผมได้ทำงานกับมันจริงจังมาสักพักหนึ่งแล้ว ดังนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่จะ “รีวิว Nikon Df” ล่ะครับ

ก่อนที่จะเข้าเรื่อง ผมขอบอกสั้นๆ เลยครับว่า Nikon Df เป็นกล้องที่

“Love it, or Hate it — ไม่รัก ก็เกลียด”

เลยทีเดียวล่ะครับ ….​ เพราะมันเป็นกล้องไม่กี่ตัวที่ “ซื้อด้วยหัวใจ ไม่ใช่เหตุผล”





Nikon Df — ถ่ายจาก Sony A7 + Voigtlander 50mm f/1.1

แต่กล้องที่ “ซื้อด้วยหัวใจ ใช้ด้วยความรู้สึก” นี่ถ้าเอามาใช้งานจริงๆ แล้วจะรู้สึกยังไง ใช้แล้วเป็นยังไงบ้าง ดีมั้ย แย่มั้ย ฯลฯ ….. รีวิวนี้มีคำตอบจาก “มุมมองและประสบการณ์ส่วนบุคคล” ที่เป็นแค่คนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ชอบถ่ายรูป มีความสุขกับการเล่นอุปกรณ์ไปเรื่อยๆ ใช้เองจริง ถ่ายภาพเรื่อยๆ เล่าเรื่อง เวิ่นเว้อ (แต่ไม่เพ้อเจ้อนะ) :D


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ ไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” บางรูปถ่าย RAW บางรูปถ่าย JPEG และมีการทำต่อใน Lightroom เพื่อให้เห็นผลจากการใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset [Review] Nikon Df ซึ่งผมจะเพิ่มรูปลงไปใน Photoset นั้นเรื่อยๆ ตามสมควร

และนอกจากนี้ก็มีการใช้งานจริงจังในทริปเที่ยวน่านปี 2013 ดังนี้: [Travel] Nan, Thailand 2013 Day1, Day2, Day3 และ Day4 (ซึ่งใน Photoset เหล่านี้จะใช้ปนๆ กันหลายตัว ข้อมูลว่ารูปไหนใช้ตัวไหนถ่ายจะอยู่ด้านล่างของภาพ)






ตามธรรมเนียม รูปแรกเป็นรูปลูกชายตัวนี้

What is a “Df”?

ก่อนที่จะเข้าสู่รีวิวการใช้งาน คงต้องพูดถึงมันในแบบน่าเบื่อๆ สักหน่อย “Df” ย่อมาจาก “Digital fusion” เป็นกล้อง Full-Frame DSLR ตัวใหม่ของ Nikon ที่มีการออกแบบให้ดู Retro โบราณๆ หน่อย (หน้าตาไปคล้ายๆ พวก F3, FM2 อะไรพวกนั้น ซึ่งบางตัวจะคล้ายมากคล้ายน้อยกว่ากันอยู่บ้าง เอาเป็นว่ายุคๆ นั้นก็แล้วกัน) ซึ่งตอนแรกผมก็งงๆ ว่าทำไมตั้งชื่อว่า Digital fusion ทำไมถึงไม่ตั้งชื่อแบบ “DF” หรือ “Digital F” ไปเลย

มาถึงตอนนี้ที่มันออกมาจริงๆ และลองใช้งานมันจริงๆ ก็ตอบได้ไม่ยากครับ มันเป็น Digital fusion เพราะมันเป็น “ยำ” เอาไอ้โน่นไอ้นี่ที่ Nikon มี มาสร้างเป็นกล้องตัวนี้ขึ้นมา จะให้สรุปง่ายๆ ก็คือ “FM2/F3 Design + Modern DSLR Design + D4 Image Sensor + D600/D610 Electronics” ครับ

ถ้าอ่านแค่นี้ รู้สึกว่ามันยำจริงๆ มั้ยล่ะ — อารมณ์อาหารแนว fusion ล่ะครับ ที่เอาหยิบนี่จากอาหารชาตินี้นิด หยิบนั่นจากอาหารชาตินั้นหน่อย มาผสมกันจนเป็นอาหารใหม่ … ส่วนจะอร่อยหรือไม่ หรืออาจจะถึงขั้นกินได้หรือไม่ นี่ก็อีกเรื่อง อาหาร fusion บางอย่างก็อร่อยมากมาย แต่บางอย่างก็ … อืมมม อย่าผสมซะเลยดีกว่า

แล้วเจ้า Df นี่เป็นยังไงล่ะ? เป็นอาหารที่เหมาะกับใครดี?





ป้ายลานเบียร์หน้า Central World

“Love it” or “Hate it”

บอกตรงๆ ว่าตั้งแต่ผมเริ่มใช้กล้อง Nikon แล้วก็ตามอ่านความคิดของบรรดาคนเล่น Nikon ทั้งหลายในต่างประเทศเมื่อหลายปีก่อน ผมยังไม่เคยเห็น DSLR ของ Nikon ตัวไหนจะแบ่งคนออกเป็นกลุ่ม 2 ขั้วได้ชัดขนาดนี้มาก่อนเลย คือพวกที่ “เห็นแล้วหลงรัก เอาแน่นอนไม่ต้องคิด” และพวกที่ “คิดยังไงก็ไม่คุ้ม ทำมาทำไมเนี่ย แบบนี้นี่นั่นโน่นดีกว่า”

ซึ่งก็ไม่แปลก และผมคิดว่า “นี่คือสิ่งที่ Nikon ต้องการให้เป็นอยู่แล้ว” ด้วยซ้ำไป

กลุ่มผู้ที่ “Love it” นี่เข้าใจไม่ยากครับ กลุ่มนี้แค่เห็น แล้วก็รู้สึกว่ามัน “ใช่” ส่วนเหตุผลนอกนั้น ไม่ว่าจะเป็นการที่มันมี Dial เยอะแยะน่าจะปรับได้ง่ายได้สะดวก น้ำหนักที่เบา หรือแม้กระทั่งการที่มันมี Image Sensor จากตัวเรือธง คือ D4 ล้วนเป็นเหตุผลที่ยกมาเพื่อ Justify ความรู้สึกของตัวเองให้มันมีน้ำหนัก (เวลาที่จะต้องดีเฟนด์งบประมาณกับสำนักงบประมาณส่วนบุคคล หรือกับเพื่อนฝูง) ซึ่งสาเหตุที่เขารู้สึกว่ามันใช่ อาจจะมีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการที่คุ้นเคยกับ F3/FM2 มาก่อน แล้วรอมานานแล้วให้ Nikon ทำแบบนี้สักที หรือการที่ชอบอะไรย้อนยุค ชอบดีไซน์ ชอบฯลฯ อยู่แล้ว ก็อีกเรื่องหนึ่ง ทั้งสองพวกนี้ยิ่งเห็น Fuji ออก X100 หรือ Leica ยังคงใช้ดีไซน์เดิม ก็ยิ่งอยากได้ “Digital F3/FM2” มากขึ้นทุกวัน





แสงแรกของปี 2014 จากระเบียงบ้าน

ส่วนกลุ่มที่ไม่ชอบมัน นี่ก็เข้าใจไม่ยากเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลแทบทุกอย่างที่ยกมาได้ แต่หลักๆ ก็มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือ Df เป็นอะไรที่ “ราคาต่อ Spec” (Price/Spec) ดูแย่ที่สุดแล้วในบรรดา Nikon Full-Frame DSLR ทั้งหมด ด้วยราคาที่จัดได้ว่าพอๆ กับ D800 และสูงกว่า D610 พอสมควร และเมื่อกาง Spec มาเทียบกันดูแล้ว เห็นความไม่คุ้มด้วยประการทั้งปวง ไม่ต้องกางเทียบกับ D800 หรือ D4 หรอกครับ แค่กาง Spec เทียบกับ D610 เนี่ย Df ก็หืดขึ้นคอแล้ว …

แม้ว่าจะมี D4 Image Sensor แต่ “ตัวเลข” ที่ทดสอบจากเว็บไซต์ที่หลายคนเชื่อถืออย่าง Dx0 ก็ให้คะแนน Sensor D610, D800 เหนือกว่า D4 อยู่แล้ว (แต่เว็บนี้ผมอ่านผ่านๆ นะ อารมณ์ “อืมมม แล้วไง” ตัวเลขทดสอบพวกนี้รู้ไว้ก็ดี แต่ไม่ได้ยึดติดกับมันว่ามันบอกอะไรได้มากขนาดนั้น) คนที่รู้สึกแบบนี้ ยิ่งมาดูจะยิ่งเห็นตัวเลขตาม Spec ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 16px เทียบกับ 36px, 24px หรือ AF 39 จุด เทียบกับ 51 จุด ฯลฯ หรือ Frame-Per-Second (FPS) และอื่นๆ อีกมากมาย ที่อดเอามาเทียบความคุ้มค่ากับตัวอื่นๆ ไม่ได้





มะพร้าว ทุ่งนา และคุณนาย

สรุปประเด็นเรื่องแรกว่า คนรู้สึกว่าต้องจ่ายแพงกว่าเพื่อดีไซน์ … ยิ่ง Nikon เอาเลนส์ AF-S 50/1.8G ตัวปัจจุบันมาเปลี่ยนเปลือกใหม่ แปะป้าย Special Edition โดยเปลี่ยนแค่จากตัวอักษรสีทอง เป็นตัวอักษรสีขาว และเพิ่มวงแหวนประดับสีเงิน ให้ดีไซน์ดูเข้ากับ Df เฉยๆ มาเป็น Kit Lens ให้กับ Df “มาขายในราคาที่แพงกว่า” (บ้านเรายังไม่มีแยกขายนะ เท่าที่รู้) ก็เลยยิ่งเป็นการ “ตอกย้ำ” ประเด็นนี้เข้าไปอีกว่ามันขายดีไซน์ชัดๆ

ดังนั้นเรื่องที่สอง ก็คือเรื่อง “ดีไซน์” เนี่ยแหละครับ … ในขณะที่มันทำให้ “คนหลงรัก” มากมาย แต่มันก็ทำให้ “คนส่ายหน้า” ได้พอๆ กัน





Waiting for the Rain

การออกแบบที่ยึดเอาการออกแบบยุค F3/FM2 เป็นตัวตั้ง ทำให้เกิดปัญหาในด้าน Ergonomic หรือความถนัดความสบายในการจับการถือ รวมถึงความเกร็งความเมื่อยต่างๆ ที่จะตามมาได้พอสมควร มันมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่ทำให้การออกแบบของกล้องมันเป็นแบบนั้นในยุคนั้น และค่อยๆ พัฒนามาเป็นรูปแบบในปัจจุบันแบบนี้

ที่ F3/FM2 (หรือจะว่าไป ก็ SLR แทบทุกตัวในยุคนั้น) มันมีรูปร่างแบบนั้น ไม่ใช่เพราะว่านั่นคือรูปทรงที่มี Ergonomic ดีที่สุดนะครับ แต่เป็นข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีการออกแบบและ “ดัดรูปทรง” ให้โค้งให้เว้าเข้ากับตรงนั้นตรงนี้ของสมัยนั้นต่างหาก ที่ทำให้มันเป็นแบบนั้น รวมถึงลักษณะการทำงานของ Dial ต่างๆ ด้วย





ถ่าย D800 ที่กำลังถ่าย Sunset Landscape

ซึ่งถ้าเกิดว่ากล้องมันแบนๆ เบาๆ แบบสมัยกล้องฟิล์ม ก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไรมากมายนัก แต่พอมาเป็นกล้อง Digital โดยเฉพาะพวกที่ Image Sensor ใหญ่ และยังคงต้องรองรับการประมวลผลภาพเยอะๆ (ข้อมูลภาพเยอะ ทำอะไรได้เยอะ ฯลฯ) ซึ่งต้องมีทั้ง Image Sensor และระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กๆ อยู่ข้างใน … ยังไม่นับจอ LCD และระบบแสดงผลอีก (และแน่นอน … พอพูดถึงเรื่องพวกนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือเรื่องระบบจัดการกับความร้อนที่เกิดขึ้นได้ และขนาดของแบตเตอรี่) …. ตัวกล้องก็จะต้องใหญ่ขึ้น หนาขึ้น อ้วนขึ้น ตามธรรมชาติของสิ่งที่มันต้องรองรับ

ยกตัวอย่างเช่น Leica M8-M240 ที่ยังคงยึดดีไซน์เดียวกับ Leica M6-7 แทบจะเหมือนเปี๊ยบ ยกเว้นไว้แต่ว่ามันหนาขึ้น อ้วนขึ้น และพอเป็นแบบนั้น ความถนัดในการจับถือมันก็น้อยลง น้ำหนักที่ต้องรับ รวมถึงความเมื่อยของมือที่ต้องถือก็จะมากขึ้น เมื่อเทียบกับ M6-7 ….. หรือถ้าอยากได้ดีไซน์แบบยุคเก่าจริง ในขนาดกล้องพอๆ กับยุคเก่า ก็จะประมาณ Olympus OM-D EM5 ซึ่งใช้ Image Sensor ขนาดเล็กกว่าเยอะพอควร และใช้ Electronic Viewfinder (EVF) แทนที่ Prism + Optical Viewfinder …. ไม่เช่นนั้นก็ทำแบบเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้แบบ X100s, Nikon Coolpix A, Ricoh GR-D





“ที่ทำงาน” คือ ที่ไหนก็ได้ที่เราทำงาน

แน่นอนว่า มันมีแกะดำ มีข้อยกเว้น และผมไม่แปลกใจว่าคนที่สร้างสิ่งที่มหัศจรรย์มากขึ้นมาสำเร็จ ก็คือ Sony ยักษ์ใหญ่ทางอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการ “บีบอัดยัดเยียด” เทคโนโลยีต่างๆ ลงใปในความเล็กมากกว่าชาวบ้านในตลาดกล้อง ซึ่งมาจากคนละรากคนละฐานกัน (ด้วยเหตุผลเดียวกัน ผมไม่แปลกใจที่ Panasonic ซึ่งเป็นยักษ์อีกตัวในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะทำ m4/3 ที่โคตรเล็กอย่าง GM1 สำเร็จ) … และผมต้องบอกตามตรงว่า “Sony A7 และ A7r ถือว่าเป็น Technological Wonder” ณ ปัจจุบัน …. แต่นั่นมันคนละเรื่องกับบทความนี้

เอาเป็นว่า ด้วยการที่ยึดเอาการออกแบบดีไซน์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จาก Context ของข้อจำกัดและข้อได้เปรียบตลอดจนธรรมชาติต่างๆ ของยุคนั้น มาเป็นธงสำหรับ Df เนี่ยแหละ ที่เป็นปัญหาในตัวมันเอง และไม่ใช่แค่เรื่องของ Ergonomic เท่านั้น มันลามไปถึงเรื่อง Usability ด้วย





ระหว่างทางขึ้นดอยภูคา .. ลองนับขยะในภาพดูสิ ตลอดทางมีแต่แบบนี้ แย่จัง

เป็นเวลานับสิบปีที่กล้อง Digital ถูกค่อยๆ ปรับปรุงเรื่องพวก User Interface ในการปรับค่าต่างๆ โดยเฉพาะพวกตัวท็อปๆ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้ค่าต่างๆ ถูกปรับได้อย่างรวดเร็วมากๆ ผ่านการทำงานผสมผสานกันระหว่างปุ่มและ Command Dial ต่างๆ ซึ่งพวกนี้ค่อยๆ ถูกปรับปรุง ถูกแก้ไข ทั้งเรื่องของลักษณะการทำงานต่างๆ ว่ากดอะไร หมุนอะไร เปลี่ยนอะไร และตำแหน่งการวางต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงการปรับเปลี่ยนค่าพวกนี้ได้ง่ายที่สุดในเวลาที่เราต้องการเปลี่ยนมัน แม้ว่าตาจะอยู่ที่ Viewfinder แล้วก็ตาม ก็ยังสามารถเปลี่ยนค่าต่างๆ พวกนี้ได้แบบสายฟ้าแลบ

จุดนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โดยส่วนตัว ผมเลือกที่จะใช้กล้อง Nikon รุ่นท็อปๆ ในการถ่ายรูปกับสถานการณ์ที่พลาดไม่ได้ ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว … ไม่ใช่เพราะว่า “คุณภาพของภาพ” ที่ได้มันดีกว่าหรอกนะ บางทีบอกตรงๆ ว่ากับการใช้งานภาพของผมเนี่ย รุ่นท็อป (D3s/D4/D800) รุ่นเล็ก (D600/D610) ภาพที่ได้มันไม่ได้ต่างกันมากขนาดนั้น ถ่ายๆ มาทำๆ เหอะ แยกไม่ออกหรอก แต่โอกาสได้ภาพมันผิดกัน เรื่องของ Usability มันผิดกันมากมาย





(Somewhat) Dramatic Landscape — ไร่ข้าวโพด ภูเขา เมฆ Light-Shaft

การออกแบบ External Dial ทั้งหมดของ Df และการใช้งานที่ไม่ใช่หมุนๆ ได้เลย แต่ต้องกดปุ่มเพื่อ Unlock ก่อนจึงหมุน แถมบางปุ่มไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่กดและหมุนด้วยมือข้างเดียวได้ง่าย ทำให้การใช้งานเร็วๆ แบบที่คุ้นเคยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่ตามอง Viewfinder อยู่ เป็นอะไรที่ยากขึ้นพอสมควร

ซึ่งพอเอาสองเรื่องนี้มารวมกัน ทั้งเรื่อง Price/Spec และเรื่อง Design (Ergonomic/Usability) ก็ได้เหตุผลหนักๆ มาปฏิเสธ Df ล่ะครับ ที่สำคัญมากๆ คือ ยิ่งราคามันออกมาแบบจะต่อยกับ D800 แบบนี้ คนที่เอาสิ่งเหล่านี้มาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ก็ตัดสินใจไม่ยากเลยในการที่จะบอกว่า “งั้น D800 ดีกว่า” หรือ “D610 ดีกว่า” … หรือแม้กระทั่ง “งั้นไปเล่น Sony”





พระธาตุหลังควันธูป — พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน

สำหรับ Nikon Df มันเป็นอะไรที่ “แปลก” ว่ากล้อง Nikon รุ่นหลังๆ ที่ออกมาในตระกูล D ทั้งหมด ไม่ว่าจะ D กี่หลักก็ตาม ผมถึงบอกไว้ก่อนหน้านี้ไงครับ และขอบอกตรงนี้อีกครั้ง ว่า

“Love it, or Hate it — ไม่รัก ก็เกลียด”
“Buy with your heart, not with your head — ซื้อด้วยหัวใจ ไม่ใช่เหตุผล”

ถึงตรงนี้ผมเริ่มรู้สึกล่ะครับ ว่า Df มันมีคำเต็มที่เป็นไปได้อีกหลายคำ นอกเหนือจาก Digital fusion (แบบที่ Kai จาก DigitalRev เล่นคำแขวะไว้ซะเยอะแยะ) และหนึ่งในนั้นซึ่งผมคิดว่ามันคือ “Decide with feeling” คือ “ตัดสินด้วยความรู้สึก”





A Paradise Lost

ส่วนผมเป็นพวกไหน … ผมเป็นพวก “ชอบ X100 ทั้งๆ ที่มีข้อเสียมหาศาล” (แต่ปัจจุบันก็ใช้ X100s ส่วน X100 จมน้ำตายไปแล้ว) เป็นพวกที่ “รัก M8 แม้ว่ามันจะโคตรห่วย” และผมถูกเปลี่ยนนิสัยถ่ายรูปจาก M8 เนี่ยแหละ (ตอนนี้ใช้ M240 — M8 นอนเล่นอยู่ในตู้เป็นหลัก) เป็นพวกที่ “อยากได้ OM-D EM5 มากกว่า Panasonic GX7 หรือ EM1” และครั้งหนึ่งเคยรู้สึกว่าตัวเอง “คิดผิด” ที่ซื้อ Panasonic GF1 แทนที่จะเล่น E-Pen

ครับ …​ ผมเป็นพวกถือคติว่า

In a conflict between head and heart
Head might win several, even most or all, battles

Heart just wins the war

ถ้าสมองกับหัวใจไม่ไปด้วยกัน ถึงสมองจะชนะกี่ครั้งด้วยเหตุผลร้อยแปดอย่าง แต่สุดท้ายก็แพ้ความต้องการลึกๆ ของหัวใจตัวเอง … และสุดท้าย ผมเป็นพวก “แพ้กล้องหน้าตาเรโทร สีเงิน-ดำ” ครับ ถ้า Df มันออกมาแต่ “สีดำ” อย่างเดียวนี่ผมอาจจะเฉยๆ กับมันมากกว่านี้ก็ได้ ฮ่าๆ





กล้องหน้าตาเรโทรสีเงิน: Nikon Df กับ Leica M9, M240, Fujifilm X100s
ขาดแต่ OM-D EM5 (ยังอยากได้อยู่นะ ถ้าใครมีอยากปล่อยมือสองสภาพดีบอกผมได้นะครับ)

Dear Nikon, “Why” Df? Why not something else?

ก็ยังไม่ได้เข้ารีวิวซะทีแฮะ เพราะมันมีอีกเรื่องที่ผมอยากจะเขียนก่อน ว่าทำไม Nikon ต้องทำกล้องแบบนี้ออกมาด้วย ทั้งๆ ที่มันไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลย ถ้าถามเรื่องความจำเป็น ช่องว่างใน ​Lineup หรือเสียงจากผู้ใช้งานปัจจุบันว่าอยากได้อะไร ผมคิดว่ายังมี Modern DSLR ถึง 2-3 ตัวที่ชัดเจนกว่าตัวนี้มาก ก็คือ “ตัวแทน D700” ซึ่งหมายถึงกล้องที่ใช้เซ็นเซอร์จากตัวเรือธง D4 และใช้ Electronics ระดับเดียวกับ D800 (บางคนอาจจะคิดว่า อ้าวก็ Df ไม่ใช่หรือไง … ประเด็นคือมันต้องเป็นตัวแทน D700 จริงครับ คือใช้ดีไซน์ของ Modern DSLR) “High Pixel D4” หรือ D4x หรืออาจจะเป็น “D4s” ที่มีการปรับปรุงคุณภาพเซ็นเซอร์หรือความเร็วให้เพิ่มไปอีก และตัวสุดท้ายคือ “D400” ที่รอคอยกันมานานแสนนาน

อันนี้ผมมองว่าคำตอบจริงๆ ของมันก็คือ “การหาตลาดใหม่” มาแทน “ตลาดที่กำลังจะตาย” ครับ





A couple taking selfie

ความจริงอย่างหนึ่งที่เป็นที่รู้กันดี แต่หลายคนอาจจะมองข้ามมันไป ก็คือ “ตลาดของกล้อง Compact” ที่หดลงมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อันที่จริงแล้วก็เริ่มส่งสัญญาณเรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้ว เพราะว่าโทรศัพท์มือถือมันดีขึ้นเรื่อยๆ และกล้องตัวใหญ่เริ่มแข่งกันในตลาดล่างมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือตลาดกล้อง Compact โดนบีบจากทั้งสองด้าน และในช่วงปีที่แล้วนี่ชัดเจนมากถึงขนาดที่ทำให้ Nikon (และอีกหลายค่ายที่มีรายได้จาก Compact ค่อนข้างเยอะ) ต้องปรับเปลี่ยนตัวเลขการคาดการณ์รายได้กันยกใหญ่เลยทีเดียว

แล้วมันเกี่ยวอะไรกันล่ะ …. ?!?!?!?!?

ก็เพราะว่า “รายได้หลัก” ของค่ายกล้องหลายค่าย มันมาจาก Mass หรือ Economy of Scale ใน “ตลาด Compact” น่ะสิครับ โดยเฉพาะ Nikon นี่ตัวดีเลย ทุนทรัพย์ที่จะต้องใช้ในการทำ R&D ด้านเทคโนโลยีของกล้องใหญ่ที่อัดเทคโนโลยีหนักๆ อย่างเช่น D3s, D800 นี่ต้องพึ่งรายได้จากกล้องตลาดล่างเป็นหลัก เพราะกล้องเหล่านั้นถึงแต่ละตัวจะไม่ทำเงินเท่าไหร่ แต่ด้วยจำนวนของมันทำให้มีรายได้เพียงพอ (Low Margin, Large Scale) ทีนี้พอตลาดนี้หดเล็กลงไปรายได้ที่จำเป็นก้อนนี้ก็หดลงไปมากเป็นธรรมดา





จงหาสิ่งที่ไม่เข้าพวกในภาพนี้

ดังนั้น Nikon ก็ต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งจะไปเล่นตลาด Mass เหมือนก่อนก็คงลำบาก เพราะสภาพการแข่งขันในตลาดพวกนั้นเปลี่ยนแปลงเร็วมาก สุดท้ายก็ไม่สามารถที่จะสร้างตลาดใหม่ขึ้นมาได้ และถูกถล่มด้วยสงครามราคาจนแทบไม่เหลือ Margin อีก

ทางออกหนึ่งก็คือ “การเล่นในตลาด High Margin” และวิธีหนึ่งที่ทำได้ก็คือ “การเล่นกับ Vertical Market ใน Niche ของตัวเอง” ใช่ครับ มันคือการเจาะเพื่อเอาใจกลุ่ม Niche ที่เล็กลงไปอีกในกลุ่มผู้ใช้ที่ตัวเองมีอยู่แล้วเนี่ยแหละ และมองหาโอกาสที่จะทำของ High Margin มาขายได้ในกลุ่มนี้ ซึ่งก็ตรงกับที่ CEO ของ Nikon ได้บอกไว้ในการแถลงตัวเลขทางการเงินครั้งล่าสุด ที่ว่าจะต้องเพิ่มการเล่นในตลาด High Margin





วัดภูมินทร์ จ.น่าน

เท่าที่ผมเห็น Nikon เลือก Niche ออกมา 3 กลุ่มครับ คือ กลุ่มที่อยากได้ Compact เซ็นเซอร์ใหญ่ ซึ่งผลลัพธ์ของมันก็คือ Nikon Coolpix A ซึ่งผลออกมาน่าจะแย่กว่าที่ Nikon คิดไว้ เพราะมันดันออกมาพร้อมๆ กับ Ricoh GR-D ที่มองกลุ่มเดียวกัน Spec ใกล้เคียงกัน แต่ดันราคาถูกกว่าเยอะแยะ จากนั้นก็กลุ่มที่จะรู้สึกว่า “Df นี่มันใช่เลย” กลุ่ม Love-it ในตอนต้นน่ะแหละครับ (อันที่จริงแล้วผมแอบคิดนะ ว่า Coolpix A สีเงินนี่ทำให้คล้ายกับ Nikon 28Ti/35Ti สักหน่อย คงขายได้ดีกว่านี้ เพราะว่าจะเจาะกลุ่มนี้ได้ด้วย) และอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มที่เล่น Outdoor/All-Weather Photography แบบลุยๆ หน่อย ที่มี Nikon 1 ตระกูล AW ออกมาให้ได้ใช้กัน

ดังนั้น …. ผมเห็นว่า Nikon Df คือกล้องตัวหนึ่งที่ Nikon จำเป็นต้องออก เพื่อหาทางออกให้กับตัวเอง เพื่อที่จะได้แข่งขันในตลาดกล้องที่เน้นเทคโนโลยีต่อไปได้ ส่วนตัวนี้จะเวิร์กหรือไม่ หรือว่าจะล้มเหลว ก็คงต้องถามกลุ่มที่เป็นเป้าหมาย … เช่น “ผม” ล่ะครับ ดังนั้นก็ถึงเวลาแล้วที่จะเล่าให้ฟังสักที ว่าผมรู้สึกยังไงกับมัน





ทุ่งทานตะวัน บ้านซับครก พระพุทธบาท สระบุรี

Getting the Df — It wasn’t easy

ผมไปนั่งคุยกับร้านประจำเรื่อง Nikon Df ตั้งแต่ยังเป็นข่าวลือข่าวหลุดที่ไม่คอนเฟิร์ม ตั้งแต่มีแคมเปญโฆษณา Pure Photography ไปจนถึงการประกาศตัวเป็นทางการว่าออกแน่นอน ผมบอกร้านประจำไปเลยว่า “สั่งให้ผมตัวนึงนะ สิเงิน พร้อมเลนส์นะ” ซึ่งแน่นอนว่านอกจากผมแล้วก็มีอีก 4-5 คนที่บอกร้านนี้ไปเช่นเดียวกัน

พอรู้ว่าที่แน่นอนว่าปลายเดือนพฤศจิกายนของจะเริ่มเข้ามาขาย ก็เริ่มแวะเวียนไปร้านบ่อยขึ้นว่าจะได้แน่นอนป่าว แต่พอช่วงปลายเดือนจริงๆ ก็พอดีมีงานกล้องพอดี ก็เข้าใจว่าต้องเอาของไปลงที่งานค่อนข้างมากหน่อย ดังนั้นของที่ร้านได้มาจึงค่อนข้างน้อยมาก (แค่ 1-2 ตัว แถมเป็นสีดำด้วย) ดังนั้นผมจึงรอไปก่อน …. ตอนนั้นผมลุ้นมากเลยว่าจะได้กล้องก่อนที่ผมจะไปเที่ยวเมืองน่านระหว่างวันที่ 19-22 ธันวาคม 56 มั้ย เพราะว่าทางร้านบอกว่า “กลางๆ เดือน” และโดยปกติผมจะไม่รีวิวกล้องเลย ถ้าไม่ได้เอาไปใช้งานแบบจริงจังก่อนสักทริปสองทริป และใช้งานในชีวิตประจำวันเป็นพันรูปเสียก่อน





เลือนหายในสายหมอกจางๆ และแดดยามเช้า (จุดชมวิว ดอยภูคา จ.น่าน)

ระหว่างนั้นผมก็เริ่มอ่าน Impression ต่างๆ ของคนที่เริ่มได้กล้องไปเล่นแล้วสนองกิเลสตัวเองไปเรื่อยๆ รวมถึงข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องบนเว็บไซต์ ก็ต้องบอกตามตรงว่าผมไม่ได้รู้สึกแบบนี้กับกล้อง Nikon มานานมากๆ … ครั้งสุดท้ายที่ผม “สั่ง” DSLR ไปตั้งแต่ก่อนมันออก และรีบไปถอยมันออกมาเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้นี่คือ D700

กับข่าวแทบทุกอย่างที่ผมได้ นี่ทำให้ผมรู้สึกว่า Nikon อ่านตลาดผิดไปอีกแล้ว … เพราะว่าเท่าที่รู้ ในแถบทางอเมริกาเหนือ นี่ของเหลือค่อนข้างเยอะ แต่แถบทางเอเซียเรานี่ของกลับไม่ค่อยพอ และบ้านเราก็น่าจะได้น้อยกว่าความต้องการในขณะนั้นพอสมควรอยู่ (ถึงตอนนี้ก็ยังจัดได้ว่าหายากนะ) และเท่าที่อ่านความรู้สึกของคนที่ได้ลองใช้แล้วได้ลองทดสอบแล้ว ก็พบว่ามันยัง Polarize คนเป็น 2 ขั้วจริงๆ — ไม่รักไปเลย ก็ด่าไปเลย





ลูกๆ หมาวางแผนจะเนียนเข้ามาเล่นในบ้าน แม่หมาแอบยืนยิ้มอยู่ข้างหลัง

กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า … ทางร้านบอกว่าปกติแล้วของจะมาส่งวันพฤหัสหรือศุกร์ ดังนั้นกลางๆ เดือนก็น่าจะหมายถึง 12-13 ไม่ก็ 19-20 ซึ่งนั่นหมายความว่าผมต้องลุ้นช่วง 12-13 เนี่ยแหละ … วันที่ 13 พอดีผมมีธุระแถวห้างที่ร้านนั้นอยู่พอดี ก็เลยแวะไปเผื่อจะฟลุ๊ค ซึ่งทางร้านก็บอกว่า “ยังไม่มา” ก็ทำใจล่ะว่ายังไม่ได้ แล้วผมก็ไปประชุมต่อแถวสาทรพร้อมกับความเซ็งนิดๆ

เวลาประมาณ 6 โมง … ทางร้านบอกว่า “ของมาแล้วนะอาจารย์” โอ๊ะ!!! …… พองานเสร็จราวๆ 6 โมงครึ่ง ก็เลยรีบออกจากสาทร ฝ่ารถติดไปถึงที่ร้านประมาณสองทุ่ม เวลาปิดร้านพอดิบพอดี

แต่มันพลาดไปนิดตรงที่ตัวที่ผมได้ นี่เป็น Body-Only เนี่ยสิ … ไม่เป็นไร เลนส์มีอยู่แล้วเยอะแยะ แถม AF-S 50/1.8 G ก็มีอยู่แล้วอีก (แต่ความคิดที่จะใช้เลนส์ 50/1.8 ตัวเดียวกันถ่ายคู่กับ D800 เทียบกันช็อตต่อช็อตโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ให้วุ่นวาย ก็เป็นอันล้มเลิกไป)





วัดพระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน

First Impression, Build & Handling

พอผมเห็น Nikon Df ตัวเป็นๆ ครั้งแรกนี่บอกเลยว่า ขนาดมันไม่ได้ดูเล็กสักเท่าไหร่เมื่อเทียบกับ Full-Frame DSLR รุ่นเล็กอย่าง D610 หรือว่ากล้องที่โดยธรรมชาติแล้วมันเล็กกว่าอย่าง Leica M240 (อ่อ .. แล้วก็ไม่ต้องเอาไปเทียบกับ Sony A7 ให้เสียเวลา รายนั้นเล็กจนไม่น่าเชื่อว่าจะเป็น Full Frame)

แต่พอหยิบมาถือเนี่ยสิ … เฮ้ย มันเบาแบบไม่น่าเชื่อว่ามันจะเบาได้ขนาดนี้ ยิ่งลองเอาเลนส์ 50/1.8 ติดเข้าไปนี่ เบาโหวงเลย คนละอารมณ์กับถือ DSLR ตัวอื่นๆ อย่างรู้สึกได้ชัดๆ ในขณะที่ตัวอื่นมันให้อารมณ์จริงจังของ “การได้ภาพ” และนำมาซึ่งการ “อยากได้ภาพ” ในขณะที่ Df ตัวนี้ให้อารมณ์สบายๆ ของ “การได้ถือ” และนำมาซึ่งการ “อยากถ่ายภาพ” มากกว่า

อันนี้ผมซีเรียสนะ เรื่องความรู้สึกเวลาจับ เวลาถือ ว่ามันสร้างอารมณ์ความรู้สึกแบบไหนให้เรา ส่งผลมากมายกับวิธีใช้กล้อง และผลลัพธ์ที่ได้ของผม แต่เรื่องนี้เดี๋ยวว่ากันอีกที กลับมาเรื่องเดิมก่อน





วัดภูมินทร์ จ.น่าน เวลาพลบค่ำ — มุมมหาชน เวลามหาชน … แต่โล่งสนิท

เมื่อสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม (ทั้งด้วยมือ ตา และการอ่านข้อมูลต่าง) พบว่าบอดี้มันเป็น Magnesium Alloy ที่มี Weather Seal แต่ทำไมเวลาจับไม่ได้ให้ความรู้สึกแบบนั้นเลยหว่า สงสัยความรู้สึกเรามันโดนหลอกด้วยน้ำหนักที่เบาล่ะมั้ง (ถ้ามีส่วนผสมของ Brass ให้มันหนักขึ้น อาจจะรู้สึกมั่น และจริงจังกว่านี้ แต่นั่นแหละ .. ข้อดีเรื่องน้ำหนักเบาก็หายไป)

ลองหมุน Dial ต่างๆ ดู … อืมม ให้ความรู้สึกดีนะ น้ำหนัก แรงต้านทานการหมุนต่างๆ ถือว่าทำได้ดีเลย ถึงตอนแรกผมจะไม่ชอบปุ่ม Dial Lock ของทุก Dial ก็ตาม ก็จากความเคยชินที่ใช้ M240, X100/100s, X-Pro1 หรือแม้แต่ Coolpix P7700 ทำให้รู้สึกว่า Dial มันควรจะหมุนได้เลย ไม่ต้องปลดล็อคใดๆ ทั้งสิ้น มากกว่า แต่หลังจากนับพันรูปผ่านไป ตอนนี้ความรู้สึกนี้ก็เปลี่ยนไปมากขึ้น เริ่มรู้สึกว่าตัวเองต้อง “ตั้งใจ”​ ในการตั้งค่าต่างๆ มากขึ้น เพราะการทำอะไรมันก็ต้องมีสติและต้องคิดมากขึ้นตลอด ไม่สามารถทำได้โดยสัญชาติญาณเท่ากับการที่ Dial หมุนได้เลย … แปะโป้งไว้ตรงนี้นิดหน่อย จะเล่าเพิ่มทีหลังพร้อมกับเรื่องที่แปะโป้งไว้ก่อนหน้านี้





Through the Wood

พลิกไปดูข้างล่าง เจอฝาปิดแบตเตอรี่และ SD Card ซึ่งจะต้องหมุนตัวล็อคเพื่อเปิด ฝาปิดตรงนี้เป็นอะไรที่ผมผิดหวังมากที่สุดกับโครงสร้างและการสร้าง Df นี่ล่ะครับ เพราะมันก๊อกแก๊งมาก (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคากล้อง) ให้ความรู้สึกเหมือนมันจะหลุดมันจะหักได้ตลอดเวลา และที่ทำให้มันแย่มากขึ้นก็คือ SD Card มันอยู่ที่เดียวกับแบตเตอรี่นี่แหละครับ … ทำไมล่ะ

Df ใช้แบตเตอรี่รุ่น EN-EL14a ซึ่งจัดเป็นแบตฯ ขนาดค่อนข้างเล็ก แต่สามารถถ่ายได้ถึง 1400 รูป (ราคาเคลม CIPA — ผมถ่ายจริงได้มากกว่านั้นหน่อย) ซึ่งถือว่าได้โคตรเยอะเมื่อเทียบกับขนาดของแบตฯ แต่ผมไม่ค่อยแปลกใจนะ เพราะว่า Df มีอะไรหลายอย่างที่ทำให้มันกินพลังงานน้อยลงอยู่แล้ว (การมีระบบ AF ที่ด้อยกว่าตัวใหญ่ๆ ตัวอื่น และการมี Image Sensor ความละเอียดแค่ 16MP เป็นองค์ประกอบหนึ่ง)

ซึ่ง … มันทำให้เฉลี่ยๆ แล้วเราจะถอด SD Card บ่อยกว่าแบตเตอรี่แน่นอน บางครั้งถ่ายไป 2-3 วัน หมดไป 500 รูป ยังไม่ต้องเอาแบตฯ มาชาร์จก็ได้ แต่ก็ต้องเอารูปลงคอมแล้ว ยิ่งถ่าย RAW ด้วยแล้ว SD Card ขนาด 16GB ก็เต็มล่ะ … ดังนั้นเราก็จะต้องเปิดฝานี่มากกว่าความจำเป็นที่จะชาร์จแบตฯ อย่างเดียว (กับฝาที่ก๊องแก๊ง ไม่ให้ความมั่นใจเวลาเปิดเท่าไหร่)





Fallen Flowers & Leaves

มาดูบอดี้กันต่อ … ในขณะที่ด้านหน้าและด้านบนมันดู Retro เต็มพิกัด F3/FM2 กลับชาติมาเกิดชัดๆ เห็นแล้วน้ำตาแทบร่วง … ด้านล่างนี่อย่าไปพูดถึงมันมากกว่าที่พูดไปแล้ว … มาดูด้านหลังนี่มัน “Modern DSLR” ชัดๆ ทั้งปุ่ม ทั้งจอ ทั้งตัวสับสวิทช์ มีให้เห็นครบ เรียกได้ว่าถ้ามองแค่ด้านหลังนี่แยกแทบไม่ออกว่ามันคือ Df หรือตัวอื่นๆ ก็เลยเข้าใจคำว่า “Digital fusion” มากขึ้นก็ตอนนี้ล่ะ มันเป็นแบบนี้นี่เอง

แต่จะถามว่ามันเป็นอะไรมั้ย ผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นข้อเสียหรืออะไรนะ เพียงแต่ว่ามันขัดๆ กับโฆษณา Pure Photography ที่โปรยไว้ว่า “No Clutter, No Distraction” ไปหน่อยเท่านั้นเอง เพราะว่าดูยังไงๆ มันก็ Clutter เยอะอยู่ แต่การจัดวางส่วนควบคุมต่างๆ ก็ถือว่าทำได้ดีนะ เข้าถึงง่ายทีเดียว

ตรงนี้แอบคิดว่า ไหนๆ ตรงนี้มันก็ทำซะ Modern ขนาดนี้แล้ว ก็ทำ SD Card ไว้ด้านข้างค่อนมาทางด้านหลังแบบ D800 แล้วมีฝาปิดแบบดีๆ หน่อย (ดีกว่า D800 ก็ดีนะ …. ถ้าได้แบบ Sony A7 นี่เจ๋งเลย) ก็คงไม่ได้เสียหายอะไร เพราะด้านนี้ ตรงนี้มันไม่ Retro อยู่แล้ว และจะทำให้การเข้าถึง SD Card ง่ายขึ้น ยุ่งกับฝาปิดแบตฯ ที่ก๊องแก๊งน้อยลง





วัดมิ่งเมือง จ.น่าน

เอาล่ะ ลองเอาเลนส์ติดจริงๆ ดูสักหน่อย ….. เริ่มที่ AF-S 24-120mm f/4 VR ซึ่งถือเป็นเลนส์ซูมอเนกประสงค์ตัวที่ใช้บ่อยที่สุดตอนนี้ ต่อด้วย AF-S 70-200mm f/4 VR พบว่า “มันไม่ได้เข้ากันเลยสักนิด” รูปร่างหน้าตาก็ส่วนหนึ่ง แต่จริงๆ เพราะว่ากล้องมันเบา เลนส์พวกนี้มันหนัก (ยิ่งพวก 24-70 f/2.8 หรือ 70-200 f/2.8 นะ ไม่ต้องพูด อันนั้นหนักหน้าแน่นอน แถม Df มีแนวโน้มจะไม่มี Grip มาช่วยบาลานซ์ด้วย)

อืมมม … มันไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเลนส์พวกนี้สินะ (แต่จริงๆ ก็ใช้ได้นะครับ ผมใช้ 24-120 เยอะเหมือนกันกับ Df) .. ลองเลนส์ Prime ตัวเล็กๆ บ้างดีกว่า! เอาล่ะ รื้อตู้!!

บอกตรงๆ เลยว่าตั้งแต่ผมเปลี่ยนจาก D700 ไปใช้บอดี้ที่ใหญ่ขึ้นอย่างเช่น D3, D3s ผมแทบไม่ได้แตะพวกเลนส์ Prime ตัวเล็กๆ ในตู้เท่าไหร่ เพราะพวกเลนส์ Prime พวกนี้มันบาลานซ์ไม่ค่อยดีกับบอดี้ใหญ่เท่าไหร่นัก ถึงจะกลับมาใช้ D800 ก็แทบจะยังไม่ได้ใช้ (ถึงทริปลอง D800 ทริปแรกจะเอา AF 28mm f/2.8-D ไปตัวเดียวก็เถอะ) ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าบอดี้พวกนี้มันให้ความรู้สึก “อยากได้ภาพ” มากกว่า “อยากถ่ายภาพ” สำหรับผม ดังนั้นผมก็มักจะเลือกเลนส์ที่มีโอกาสได้ภาพสูงสุด ก็คือพวกเลนส์ซูมทั้งหลาย





คลองแถวบ้านหมอ จ.สระบุรี บังเอิญขับรถผ่านแล้วเห็น

แต่พอเอากลับมาใส่กับ Df เท่านั้นแหละ รู้สึกเลยว่า “คุณเธอเกิดมาเพื่อสิ่งนี้” พวกเลนส์ Prime ตระกูล D ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น 20/2.8, 24/2.8, 28/2.8, 35/2, 50/1.8, 50/1.4 หรือแม้แต่พวกระยะถ่าย Portrait หรือ Telephoto อย่างพวก 105/2DC, 135/2DC และ 180/2.8 ทั้งหลายล้วนใส่ได้แบบ “เนียน” และ “บาลานซ์มาก” ทุกตัว เช่นเดียวกับพวกเลนส์ Manual Focus เก่าๆ ทั้งหลาย เช่น 50/1.2 หรือ 35/1.4

เลนส์ Prime รุ่นใหม่ๆ ที่น้ำหนักเบา ไม่ว่าจะเป็น 28/1.8, 50/1.8 ก็เช่นเดียวกัน และตัวที่น้ำหนักเข้ากันได้แบบไม่น่าเชื่อ (แม้ว่าขนาดจะใหญ่ไปนิด) ก็คือ 58/1.4 … ดังนั้นผมก็จะใช้เลนส์พวกนี้กับ Df มากกว่าเลนส์ซูมรุ่นใหม่ๆ

ก็มัน “เกิดมาเพื่อสิ่งนี้” (ถึงขนาดต้องหา AF 20-35mm f/2.8 D มาใช้อีกตัวเลยล่ะ)





พระที่วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

Image Quality

หลายคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ที่สุด และรู้สึกว่านี่คือทุกสิ่งทุกอย่าง … แต่สำหรับอีกหลายต่อหลายคน นี่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นสำหรับ “กล้องถ่ายรูป”

Df ใช้ Image Sensor ตัวเดียวกับ Nikon D4 (จริงๆ ถ้าจะเอาแบบสุดซอยจริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่ตัวเดียวกันเป๊ะแบบ 100% หรอกครับ มีการปรับแต่งนิดหน่อยอารมณ์โคตร Minor Change เพราะว่าเอาจริงๆ แล้ว Response ต่างๆ ในการทดสอบเชิงเทคนิคมีความแตกต่างกันบ้าง แต่อยู่ในระดับที่พวกเราไม่รับรู้ ต้องใช้เครื่องมือที่โคตรไวโคตรเซนซิทีฟจริงๆ ถึงจะรู้ … อารมณ์ขับรถด้วยความเร็ว 117 km/h กับ 118 km/h นี่คนนั่งอยู่แยกไม่ออกหรอก แต่เครื่องมือมันแยกได้) และใช้ Image Processing Chip ระบบ EXPEED 3 เหมือนกับ D4 เช่นเดียวกัน

ดังนั้น สั้นๆ ง่ายๆ ว่าผลลัพธ์ของภาพที่ได้ มันก็จะประมาณ D4 น่ะแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Dynamic Range อารมณ์ภาพ หรือ Low-Light Performance





No Light? No Problem! — ISO 12800 สถานการณ์จริง
ซอยจริงนี่มืดมาก ไฟแทบเจ๊งอยู่แล้ว มองอะไรแทบไม่เห็น

แล้วตัวเลข Dx0Mark ที่บอกว่ามันแย่กว่า D800 กับ D610 ซะอีกล่ะ?!?!

เรื่องสำคัญก็คือ มันดูแต่ข้อสรุปคะแนนสุดท้ายไม่ได้น่ะสิครับ เราคงต้องดูรายละเอียดกันมากกว่านั้นครับว่า Dx0 ทดสอบอย่างไร ให้คะแนนอย่างไร ถ้าลงไปดูรายละเอียดเรื่อง DR & ISO ดีๆ แม้แต่ในการทดสอบของ Dx0Mark เองยังบอกชัดเจนว่าที่ ISO สูงกว่า 400 นี่ D4 จะเริ่มดีกว่า D800 (แม้ว่าจะสู้กันไม่ได้ที่ ISO น้อยกว่านั้น) รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีก

และเรื่องสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ Sensor Performance มันเป็นแค่ส่วนเดียวสำหรับการได้ภาพ และตอนนี้ Full-Frame Sensor ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวไหนก็ตาม มันดีเพียงพอสำหรับการใช้งานทั่วไปแล้วล่ะครับ





No Light? No Problem (2)
รูปนี้ต้องช่วยระบบ AF มันหาโฟกัสด้วยการหมุนมือล่ะครับเพราะมันมืดมาก

พูดกันเล่นๆ ขำๆ นะ … กล้องที่ทำให้ผมมีภาพระดับ Personal Keeper (คือภาพที่ผมชอบมากเป็นการส่วนตัว) มากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมาคือ Leica M240 ซึ่งมีคะแนน Dx0Mark ไม่ดีเท่าไหร่ แม้กระนั้นมันก็ยังเพียงพอไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Dynamic Range หรือว่าเรื่อง High ISO (ที่รู้กันว่า Leica ไม่เคยทำตรงนี้ได้ดี)

เอาจริงๆ ก็คือ แม้แต่คนที่ชินกับไฟล์ RAW ของ D800 ที่มี DR ให้เล่นเหลือๆ เฟือๆ ก็ยังไม่รู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกแย่อะไรกับภาพที่ได้จาก Df เลยนะ มันมีข้อมูลให้ดึงเล่นตบเล่นสบายๆ เกินพอเหมือนกัน ที่สำคัญคือมันเพิ่มโอกาสได้ภาพในที่มืด แสงน้อย แสงยาก มากขึ้นด้วยซ้ำ แต่บางครั้งอาจจะต้องช่วยระบบหาโฟกัสของมันบ้าง เพราะมันค่อนข้างจะ Underpowered แบบรู้สึกได้ในบางครั้งจริงๆ — แต่ส่วนมากไม่มีปัญหาหรอก





บ้านเกวียน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา
รูปนี้เล่นกับ DR ใน RAW ซึ่งมีให้ใช้แบบเหลือเฟือสบายๆ

ถ้าเอาเฉพาะประเด็นเรื่องภาพที่ได้อย่างเดียว ไม่เอาเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพมาเกี่ยวข้องด้วย ผมก็รู้สึกว่า “ผมโคตรชอบภาพจากกล้องตัวนี้เลย” (แม้ว่าผมจะชอบอารมณ์ภาพที่ได้จาก Leica M240 มากกว่าก็ตาม — แต่มันมีอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่าแค่เฉพาะประเด็นเรื่องเทคนิคของภาพไง)

สั้นๆ นะ: ผมคิดว่าเรายิ่งรู้สึกถึง Connection กับกล้องเท่าไหร่ เรายิ่งได้ภาพที่ดีขึ้นจากกล้องตัวนั้นเท่านั้น

และ Nikon Df เป็นกล้อง Nikon ตัวแรกที่ทำให้ผมรู้สึกถึง Connection ในแบบเดียวกับที่ Leica M ทำให้รู้สึก ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับหน้าตากล้องนะ มันเกี่ยวกับ “การใช้งานจริงในขณะถ่ายภาพ” ต่างหาก และนั่นคือประเด็นต่อไป





Green in City — วังสระปทุม กรุงเทพ

Real World Usage. (A.K.A. “How I use the Df”)

ผมไม่ค่อยมีเวลาทำความรู้จักกับ Df มากนักก่อนจะไปทริปน่าน ดังนั้นตอนแรกผมจึงตั้งใจว่าจะใช้ D800 เป็นกล้องหลัก และใช้ Df เป็นกล้องรอง สำหรับกรณีอยากถ่ายอีก Focal Length หนึ่ง ซึ่งทริปนั้นผมเอากล้องไปหลายตัวตามประสาเวลาขับรถเที่ยวเอง ไม่ได้ขึ้นเครื่องบินไปเที่ยวหรือแบบ Backpack ซึ่งการเอากล้องไปหลายตัวนี่ก็เพราะว่ามันมีหลายอารมณ์ หลายสถานการณ์ ทั้งอารมณ์อยากจะถ่าย Landscape แบบจริงจัง อารมณ์เดินชิลล์เล่นในเมือง หรืออารมณ์แบบวางกล้องไว้ข้างตัวเผื่อมีภาพสวยผ่านตา

โดยปกติแล้วผมไม่ค่อยจะได้ใช้เจ้า D800 ในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่นัก ส่วนมากจะนอนเล่นอยู่ในตู้ จะมีแต่เวลาต้องถ่ายรูปจริงจัง หรือเวลาไปเที่ยวที่อยากได้รูปแบบจริงจังเท่านั้นถึงจะเอาไปด้วย (ไปเที่ยวเล่นก็ไม่ได้เอาไปด้วยเป็นส่วนมาก) ส่วนหนึ่งก็เพราะอย่างที่บอกล่ะรับ ว่ามันให้ความรู้สึกถึง “การได้รูป” และ “อยากได้รูป”​ มากกว่า “อยากถ่ายรูป”





คู่หูสุดยอด ในทริปล่าสุด D800 + Wide Angle Zoom, Df + Wide Normal/Normal Prime

แต่ว่าเวลาใช้งานจริง ผมกลับใช้ Df มากกว่า D800 อย่างชัดเจน ซึ่งผลที่ออกมาก็คือ มีภาพจาก Df มากกว่า D800 และมากที่สุดในบรรดากล้องที่เอาไปทั้งหมด เอาจำนวนภาพจากทริปที่ผมโพสท์ลง Flickr เป็นตัวตั้ง จะมีทั้งหมด 288 ภาพ Df มี 158 ภาพ D800 มี 70 ภาพ ในขณะที่ M240 มี 46 ภาพและ P7700 มี 14 ภาพ … แต่เพราะว่า M240 กับ P7700 นี่ใช้คนละโอกาสคนละจังหวะกับคู่ Df/D800 ดังนั้นเลยไม่ค่อยจะเหมาะที่จะเอามาเทียบสักเท่าไหร่นัก ดูแค่คู่นี้ก็พอ

ส่วนหนึ่งก็คือ “ขนาด” และ “น้ำหนัก” ของมันครับ มันเล็กกำลังสบาย ไม่ได้เล็กแบบเป็นภาระ มันเบามากจนเมื่อติดกับ Prime ตัวเล็กๆ แล้วมันหายไปจากความรู้สึกเวลาเดินถือไปไหนต่อไหน และมัน “ไว้ใจได้” มากๆ เวลาที่คิดจะหยิบขึ้นมาถ่ายรูปสักรูป

ส่วนเรื่อง Ergonomic ที่หลายคนเป็นห่วงกัน พอใช้งานจริงๆ แล้วอยากจะบอกว่าด้วยความเบาของมัน ยิ่งประกบกับเลนส์ตัวเล็กๆ ยิ่งทำให้มันไม่ได้ถือยากหรือลำบากอะไรแต่อย่างใด ใช้งานได้ทั้งวันสบายๆ ไม่รู้สึกอะไรมาก (ใช้ D800 ประกอบเลนส์ใหญ่ๆ ลำบากกว่าแน่นอน) ถึงบางจังหวะจะแอบรู้สึกว่ารูปร่างของ Grip จะแคบไปนิดก็ตาม





วัดพระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน (มองจากพิพิธภัณฑ์สถาน)

ยิ่งใช้ D800 และ Df คู่กัน ความรู้สึกของการ “อยากได้ภาพ” เวลาที่ตัวหนึ่งอยู่ในมือ และความรู้สึก “อยากถ่ายภาพ” เวลาที่อีกตัวหนึ่งอยู่ในมือ ยิ่งชัดขึ้นเรื่อยๆ … และนี่คือสาเหตุที่ทำให้ผมรู้สึกกับ Df ต่างจากกล้อง Nikon ตัวอื่นๆ ที่ผมเคยใช้มาทั้งหมด

ตั้งแต่ผมเริ่มใช้ Leica M8 เป็นต้นมา ผมก็เริ่มเข้าใจการถ่ายรูปเป็นอีกด้านหนึ่ง และได้เขียนเรื่องราวพวกนี้ไว้แล้วในบทความ “My Leica Story [1]: The M8” ในส่วนของ “Photographing with the M8 … or How The M8 Changed Me” และ “Slowing Down. Back to Basic. Let Go.”





หนุ่มน้อยกำลังถ่ายรูปให้คุณแม่และน้องๆ

ซึ่งผมขอ Quote ไว้ตรงนี้สักเล็กน้อย

ผมเร่งรีบเกินไป กับการถ่ายรูป … ไม่สิ “กับการได้รูป” .. ณ วันนั้น ผมไม่สนใจเรื่องการ “ถ่ายรูป” ซะด้วยซ้ำ ผมแค่คิดไปเองว่าการได้รูป คือการถ่ายรูป

การใช้ M8 มันพาผม Back to Basic ของการถ่ายภาพ ไม่ใช่แค่ในเชิงกระบวนการหรือเทคนิคเท่านั้น แต่เป็นเรื่องปรัชญาการถ่ายรูปด้วย นั่นก็คือ:

เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังเปลี่ยนไป โลกมันใหญ่เกินไปกว่าที่เราจะสังเกตมันได้ทั้งหมด เราเลือกที่จะสังเกตได้แค่จุดเดียว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเกิดขึ้นของมันตามธรรมชาติ ตามกาลเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ เรามีหน้าที่แค่เห็นมันเกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่และเวลานั้นๆ และบันทึกเรื่องราวของโลกนี้ไว้ในภาพๆ หนึ่ง

Nikon Df เป็นกล้อง Nikon ตัวแรกที่ทำให้ผมรู้สึก “อยากถ่ายรูป” ในความรู้สึกแบบเดียวกัน ไม่ใช่ความรู้สึก “อยากได้รูป” เหมือนที่ผ่านมาทั้งหมด





สระแก้ว ม.ศิลปากร จ.นครปฐม

จริงอยู่ ที่มันอาจจะปรับทุกสิ่งทุกอย่างได้ช้ากว่า D800 และตัวอื่นๆ ตาม Ergonomic และการออกแบบ User Interface ทุกอย่าง แต่มันทำให้เรา Slow Down คิดมากขึ้นเวลาถ่ายรูปแต่ละรูป และรู้สึกมากขึ้นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตรงหน้า

ซึ่งถ้าลองคิดและมองจากมุมนี้ ไปยังการออกแบบ User Interface ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น Command Dial ด้านหน้าที่แข็ง หมุนยาก ไม่สามารถจะเอามองช่องมองภาพและหมุนๆ อย่างเร็วๆ ได้แน่นอน หรือปุ่ม External Dial ทุกอย่างที่จะต้องกดปุ่มปลดล็อคเพื่อหมุน ทำให้ทำได้ยากลำบากมากตอนที่กำลังดูช่องมองภาพเช่นกัน (ก็ทำได้นะ แต่ลำบากมากพอควร) … แล้วจะยิ่งเห็นชัดว่ากล้องมันถูกออกแบบมาสำหรับ “Slowing Down” จริงๆ

และถึงกับออกแบบให้สามารถเลือกใช้ Aperture Ring ที่อยู่บนเลนส์ แทนที่การใช้การปรับ Aperture จาก Command Dial ได้ด้วยนี่ยิ่งเห็นชัด มันไม่ใช่แค่เรื่อง “Nostalgia” หรือความโหยหาอดีต แต่มันเป็นเรื่องของการ Slowing Down ที่ชัดเจนต่างหากล่ะ





ดีมากไอ้น้อง! อย่าซ่า!

แล้วมีอะไรอึดอัดบ้างมั้ยล่ะ ระบบ Auto Focus และจำนวนจุดอึดอัดมั้ย จากคนที่เคยใช้ 51 จุดที่โคตรไวมาก่อน ตอนแรกก็มีอึดอัดบ้างนะครับ อันนี้บอกตามตรง เพราะว่า AF 39 จุดที่กระจุกอยู่ตรงกลางซะเป็นส่วนมากนี่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับ 51 จุด รวมถึงความเร็วของการจับโฟกัสที่จากความรู้สึกของผมแล้วมันช้ากว่า D800 แบบรู้สึกได้ล่ะ ยิ่งถ้าแสงน้อยยิ่งรู้สึกได้ว่า Df ค่อนข้างจะมีปัญหาบ่อยกว่าตัวท็อปๆ ตัวอื่นๆ (ไม่เคยใช้ D600/D610 นะ เลยไม่ขอเปรียบเทียบกับสองตัวนั้น)

แต่มันเป็นปัญหามากขนาดนั้นมั้ย พอเรียนรู้ธรรมชาติของมันแล้วก็ไม่ใช่ปัญหาครับ ทุกอย่างมันเรียนรู้ธรรมชาติที่จะอยู่ด้วยกันได้ อย่างน้อยๆ การที่มันมีจุดโฟกัสน้อยจุดลง และกระจุกกันอยู่ตรงกลางมันก็มีข้อดีของมันนะ เช่นเราเดาได้ง่ายขึ้นว่า AF มันจะจับโฟกัสตรงไหนให้เราบ้าง ไม่กระจายทั่วเฟรมเหมือนกับ D800 ล่ะ แล้วถ้าใช้ Single Point เลือกจุด แล้วจัดองค์ประกอบใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหาอะไรเลย เพราะจุดกลางถือว่าไวและไว้ใจได้ … อย่างมากก็ใช้ Manual Focus ช่วย





รอคอนเสิร์ต รอกินเบียร์, ลานเบียร์ CTW

ก็เลยมาถึงประเด็นที่ถูกพูดถึงกันบ่อยมากเรื่องหนึ่งคือ แล้ว Manual Focus กับ Df ล่ะเป็นยังไงบ้าง?

ผมไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่อง Manual Focus นะ แต่ไม่ใช่กับ DSLR ที่ใช้ Optical Viewfinder เอาเข้าจริงๆ แล้วถ้าจะทำ MF ผมชอบระบบภาพซ้อนของ Leica M มากกว่า และพูดให้ตรงๆ ที่สุดแบบไม่เกรงใจใคร Manual Focus กับ DSLR ที่ใช้ Prism ปกติๆ นี่สู้ Electronic Viewfinder รุ่นใหม่ๆ ไม่ได้แน่นอนครับ เพราะว่าด้วยความที่อันนั้นมันใช้การประมวลผลจากคอมพิวเตอร์มาสร้างตัวช่วยมหาศาลได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น Focus Magnification (ที่เก่าแล้ว) และของชอบของผมอย่าง Focus Peaking และ Zebra ซึ่งทำให้โฟกัสมือไวมากและแม่นมาก

ซึ่งนี่แหละคือจุดหนึ่งที่หลายคนผิดหวังมากกับ Df เพราะตอนแรกสุดข่าวลือที่ออกว่าจะเป็น Hybrid คนก็คิดไปล่ะ ว่าจะเป็นแบบ Hybrid Viewfinder แบบ Fujifilm ซึ่งจะทำให้ได้เทคโนโลยีช่วยโฟกัสแบบสมัยใหม่ … แต่ Hybrid ที่ว่าดันกลายเป็นเรื่องดีไซน์ไปซะงั้น และผิดหวังรอบสองเมื่อรู้ว่ามันใช้ Prism แบบปกติ ไม่มี Split Prism หรือ Macro Prism ที่จะช่วยโฟกัสได้อย่างมาก (ไม่ต่างอะไรจากระบบภาพซ้อนของ Leica M และ Zebra ของ EVF)





ใช้กับเลนส์ MF 50mm f/1.2 ในที่แสงค่อนข้างน้อย
สังเกตว่าเลนส์ Non-CPU จะไม่มีการบันทึก EXIF ไว้ให้ (ชื่อเลนส์เป็น 0.0mm f/0.0)

ที่มันแย่ก็คือว่า Df ไม่ได้ถูกออกแบบให้เปลี่ยน Focusing Screen/Prism ได้ง่ายๆ น่ะสิครับ ถ้าเปลี่ยนได้ง่าย หรือเปลี่ยนเองได้ คิดว่าคนคงไม่บ่นอะไรกันขนาดนี้ ตอนนี้ถ้าจะใช้การโฟกัสเอง ก็เหมือนกับ DSLR ของ Nikon ตัวอื่นๆ คือ ดูชัดไม่ชัด และดู Rangefinder Indicator ด้านล่าง Viewfinder ช่วย ซึ่งระบบ Rangefinder ตรงนี้จะค่อนข้างเบสิคมากๆ แต่ก็มีประโยชน์เหมือนกัน คือมันจะช่วยบอกเราว่าจุดโฟกัสนี่โดนหรือยัง ถ้ายังก็จะขึ้นเป็นลูกศร ว่ามากเกินไป หรือน้อยเกินไป ต้องหมุนเลนส์ด้านไหน แต่ถ้าตรงแล้วจะขึ้นเป็นจุดเขียวๆ กลมๆ ตรงกลาง

ผมลองใช้กับเลนส์ MF 50mm f/1.2 ซึ่งเป็นเลนส์ไวแสงมาก ทำให้มี DoF น้อยมากๆ ลองโฟกัสและถ่ายภาพในที่แสงน้อยมากๆ ดู ก็ต้องใช้เวลานิดหนึ่งเหมือนกันกว่าจะโฟกัสเข้าที่ ถ้าเป็น Leica M คงจะโฟกัสเข้าเร็วกว่านี้ เพราะการมองในที่แสงน้อยว่าภาพชัดหรือยัง แล้วดูจุดเล็กๆ ไปพร้อมกันด้วย นี่ยังไงๆ ก็ช้าวกว่าการดูว่าภาพมันซ้อนกันสนิทหรือยัง อยู่วันยังค่ำ





รอยพระบาท วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

แล้วมีเรื่องอะไรอีกหว่า กับเรื่องการใช้งาน …. อ่อๆ อีกนิดหน่อย

เท่าที่ใช้มา Df เป็นกล้องที่ผมใช้ใน Manual Mode บ่อยที่สุดล่ะ แต่ก็ไม่ใช่ Manual 100% หรอกนะ ถ้าเป็นเวลากลางวัน แสงเยอะๆ ก็ใช้ Aperture Priority แบบปกติน่ะแหละครับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แสงน้อย ก็จะเปลี่ยนเป็น Manual แล้วก็เลือก Shutter Speed ที่ตัวเองพอใจเอาไว้โดยใช้ Speed Dial ด้านบน เลือก Aperture ไว้ที่ Aperture Ring (ซึ่งถ้าเลนส์ไม่มี Aperture Ring กล้องก็จะฉลาดพอที่จะให้เราใช้ Command Dial เอง) แล้วก็ปล่อย ISO Auto ให้มันปรับ ISO ให้เอง

ส่วนหนึ่งที่ปล่อยวางเรื่อง ISO ได้ขนาดนี้ก็เพราะว่า ISO ช่วง 100-6400 ของ Df มันดีจัดครับ กับการใช้งานในชีวิตทั่วๆ ไป ไม่ได้กะเอาไปใช้งานหนักหน่วงอะไรที่ไหน Noise ไม่ใช่ประเด็นอะไรเลยกับช่วงนี้ แม้แต่ 12,800 ซึ่งถือเป็นช่วงปลายสุดของ Native ISO ก็ยังถือว่าใช้งานทั่วไปได้ (ยิ่งถ้าแค่เอาโพสท์ลงเว็บทั่วไป ไม่ได้ขาย ไม่ได้อะไรมากกว่านั้นนะ สบาย)





เอา ISO สูงอีกสักรูปละกัน — ISO 11400
ทำแบบที่เขียนไว้ข้างบน เลือก Shutter ไว้ 1/125s และ f/1.4 แล้วปล่อย Auto ISO

สุดท้าย รู้สึกขัดจิตอะไรบ้างมั้ยกับการที่ Dial มันมีความไม่ Consistent ค่อนข้างสูงว่าจะเอาไว้แน่กับจำนวน Stop ที่มันปรับได้ เช่น ISO Dial ปรับได้ทีละ 1/3 Stop แต่พอมาเป็น Shutter กลับเปลี่ยนทีละ Stop ไม่สามารถหยุดระหว่างตัวเลขได้ ถ้าอยากจะหยุดระหว่างตัวเลขก็ใช้การปรับไปที่ 1/3 Step แล้วใช้ Command Dial ควบคุมเอาเหมือนกัน DSLR ตัวอื่นๆ ส่วน Aperture Dial ก็เหมือนกับ DSLR ตัวอื่นๆ ที่ปรับละเอียดได้ แต่พอเป็น Aperture Ring มันก็แล้วแต่เลนส์ว่าถูกออกแบบมาให้หยุดได้ที่ตรงไหนบ้าง (ส่วนมากเลนส์ Nikon จะ Full-Stop) แล้วก็เรื่องที่ Shutter Speed Dial มันปรับได้โดยไม่ต้องกดปุ่มปลดล็อค แต่ถ้าเลื่อนไปที่ T, 1/3 Step จะต้องปลด

อืมมม ตอนแรกก็มีบ้างล่ะครับ แต่ตอนนี้ชินไปซะล่ะ ไปๆ มาๆ รู้สึกดีกับมันไปซะอีก โง่ดี ง่ายดี ถ้าตั้ง Auto ISO ปล่อยเป็นหน้าที่ของกล้องในการจัดการตัวมันเองให้เหมาะกับ Shutter/Aperture ที่เราตั้งไว้แหละ พอแล้ว ….

ถ้าจะมีอึดอัดและขัดจิตที่สุด ก็ไม่พ้นความเร็วชัตเตอร์สูงสุดที่ 1/4000s นี่แหละครับ กับกล้องราคานี้ ความสามารถขนาดนี้ … ถ้าให้ 1/8000s มาด้วยจะสวยงามมาก





Before Sunrise

อีกเรื่องหนึ่ง ที่เป็นเรื่องเล็กๆ แต่สำคัญมากสำหรับหลายๆ คน (รวมทั้งผมด้วย) ก็คือ “เสียงชัตเตอร์” ครับ … เสียงชัตเตอร์ของ Df เบามาก ไม่ใช่เบาแบบไม่มีน้ำหนัก แต่เป็นเบาแบบหนักแน่น ไพเราะ ให้ความรู้สึกสุขุม นุ่ม แต่แน่นอน อารมณ์ที่ผมได้ยิน ไม่ต่างจากความรู้สึกที่ได้ยินเสียงชัตเตอร์ของ Leica M240 เลยล่ะครับ และนี่เป็นเสียงชัตเตอร์ที่เพราะที่สุดของ DSLR ของ Nikon ที่ผมเคยได้ยินมาเลยทีเดียว … ฟังแล้ว อยากฟังอีก ซึ่งตรงนี้เสริมความรู้สึก “อยากถ่ายภาพ” ขึ้นไปอีกน่ะแหละ

เรื่องสุดท้ายของการใช้งานจริงครับ ด้วยหน้าตาที่ดูค่อนข้างจะเป็นมิตรมากกว่าพวก D800 ยิ่งเวลาที่ติดเลนส์ Prime ตัวเล็กๆ นี่ทำให้เวลาที่เอาไปถ่ายแม่ค้าแม่ขาย หรือคนโน้นคนนี้ทั่วๆ ไปเวลาเดินถ่ายรูปตามเมืองหรือจุดขายของต่างๆ แล้วได้ผลตอบรับทางสายตา ความรู้สึก และการแสดงออกที่ค่อนข้างดีกว่าค่อนข้างเยอะพอสมควรครับ





แม่ค้าที่จุดพักรถ

ระหว่าง Df, D800, Sony A7/A7r “เลือกอะไร”

คำถามโลกแตกมาล่ะครับ ว่าระหว่าง 4 ตัวนี้จะเลือกตัวไหนดี งั้นผมตอบในฐานะคนที่มีทั้ง Df, D800 และใช้ A7 มาเล็กน้อย (ยืมเพื่อนมาเพื่อเขียนรีวิวและเทียบ User Experience กับเรื่องนี้โดยเฉพาะเลยนะ แต่ตัวนี้ก็ต้องเข้าเงื่อนไขการใช้งานเหมือนกัน เลยยืมยาวเลย) ละกันครับ

กล้อง 3 ตัวนี้ (จริงๆ แล้ว 4 นะ แต่ผมถือว่า A7/A7r มันตัวเดียวกันในเชิงการใช้งานนะ) ผมว่าเอามาเทียบกันตรงๆ คงจะยากล่ะครับว่าตัวไหนดีกว่า เพราะมันคนละทิศละทางคนละแนว ใช้แล้วคนละความรู้สึก (แค่จับก็คนละความรู้สึกแล้ว) ถ้าจะให้ดีมีมันซะหมดเลยแล้วจบ …. ฮ่าๆ ล้อเล่นครับ

สำหรับ D800 และ Df ผมเขียนมาค่อนข้างเยอะแล้ว ว่ามันต่างกันที่ “ความรู้สึก” เวลาใช้งานจริงๆ ซึ่งสำหรับคนแบบผมมันส่งผลไปถึงผลลัพธ์ด้วย ถ้าใครสังเกตภาพที่ผมถ่ายมาตลอดจะเห็นว่าภาพที่ผมถ่ายด้วย D3s/D800 และ Leica M8/M240 มันออกมาต่างกันค่อนข้างมากอยู่ ไม่ใช่ความแตกต่างเชิงคุณภาพของภาพนะครับ แต่เป็นอารมณ์ของภาพ เพราะมันสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของผมในขณะที่ใช้งานมันอยู่





Wide and Wider

ถามว่าใช้ Df รับงานได้ไหม ถ่ายรับปริญญาได้ไหม ฯลฯ มันทำได้หมดล่ะครับ จะช้าจะเร็วจะยังไงมันขึ้นกับความเคยชินในการใช้งาน แต่ถ้าจะมองมุม Utilitarian ขนาดนั้นผมคิดว่าอาจจะต้องชั่งน้ำหนักเยอะหน่อยล่ะครับ เพราะมันคนละความรู้สึกจริงๆ (Position ในตลาดของมันและกลุ่มเป้าหมายในตลาดเองก็เป็นแบบนั้น)

ผมพบว่า ภาพที่ผมได้เป็นผลลัพธ์จาก Df มันใกล้เคียงที่ผมได้จากการใช้ Leica M มากกว่า D3s/D800 เพราะความรู้สึกของผมเองเวลาใช้ Df มันจะค่อนไปทางนั้นมากกว่า นั่นคือ “อยากถ่ายภาพ” มากกว่า “อยากได้ภาพ” … แม้กระทั่งเอาไปสองตัว ยืนอยู่ที่เดียวกัน ผมยังใช้ Df แบบ Casual กว่า D800 เยอะมาก … ตัวหนึ่งเป็น “เพื่อนเล่น” ตัวหนึ่งเป็น “เพื่อนร่วมงาน” อารมณ์คงประมาณนั้นล่ะครับ

สำหรับ A7 ผมยังเล่นกับมันน้อยเกินไปที่จะบอกอะไรชัดเจนได้ (แล้วก็อีกอย่าง … ผมไม่มีเลนส์ของ Sony ให้ลองเล่นนะครับ มีแต่ M-Mount Adapter และเลนส์ M-Mount ทั้งหลาย แต่ส่วนมากผมเล่นกับ Voigtlander) แต่เท่าที่ผมบอกได้ถึงตอนนี้ มันเป็นคนละอารมณ์กันอย่างชัดเจนมาก จนไม่น่าจะเอามาเทียบกัน (อีกล่ะ)





ดงหญ้า ตอนเช้า

เทียบกับพวกๆ ที่มีอยู่แล้วในตลาด ผมไม่คิดว่าคนจะเอา Panasonic GM1 มาเทียบกับ Olympus OM-D EM1 ว่าจะเล่นตัวไหนดีนะ ถึงมันจะเป็น m4/3 เหมือนกันก็เถอะ เพราะมันคนละแนวคนละตลาดกัน

ผมรู้สึกว่า Sony A7 มันเป็น Lean & Mean Photo-Taking Machine ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยี กล้องแนวนี้มีคนชอบเยอะแน่นอนและเป็นกล้องที่ดีมากครับ แต่ผมไม่คิดว่ามันจะสร้าง Connection ในเชิงความรู้สึกอะไรกับคนที่ถือมันอยู่ได้มากมายเท่าไหร่ มันให้ความรู้สึก “เล่นกล้อง” มากกว่า “ถ่ายรูป” แต่ผมคงต้องเล่นกับมันจริงจังอีกสักอาทิตย์หนึ่ง แล้วก็ลองพาไปถ่ายรูปเล่นแบบจริงจังก่อนที่จะพูดอะไรได้เต็มปาก — แล้วจะเขียนถึงอีกครั้งในบทความรีวิว A7 ครับ

เอาเป็นว่า ผมไม่คิดว่าสองตัวนี้เทียบกันได้ครับ ผมแนะนำว่าถาม “ใจ” ตัวเองน่ะแหละครับ ดีที่สุดแล้ว ใจไปตัวไหน เล่นตัวนั้นครับ จะมีความสุขกว่าเปรียบเทียบกันทุกสิ่งทุกอย่าง





หน้าวัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี

Conclusion

ผมคงไม่สรุปอะไรกับกล้อง Nikon Df ตัวนี้ เพราะมันไม่ใช่การรีวิว “ตัวกล้อง” สักเท่าไหร่ แต่มันเป็นเรื่องของ “ความรู้สึก” ของตัวผมเองเสียมากกว่า และอันที่จริงผมได้เขียนข้อสรุปของเรื่องนี้ไปแล้วในบทความ Reflection on “Nikon’s Pure Photography” ที่เคยลงที่นี่ไปแล้ว ซึ่งผมขอ Quote มาบางส่วนตรงนี้

ผมเชื่อว่าลึกๆ แล้วในใจคนหลายคน ยังมีความโหยหาโลกสมัยก่อน ที่ทุกอย่างเรียบง่าย ละเอียด โลกที่เวลายังเดินช้า ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีความรีบเร่ง เร่งร้อน เร่งด่วน โลกที่ยังทำให้เรารู้สึกอบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน โลกที่ทำให้เรารู้สึกว่า “ชีวิตมันเป็นของเรา” มากกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มันตรงกันข้ามกันในทุกวันนี้ … ทำไมนะ ถึงที่ทำงานเราจะมีการออกแบบสไตล์โมเดิร์นที่เต็มไปด้วยกระจกและความเรียบหรู แต่ที่บ้านเรายังชอบเฟอร์นิเจอร์ที่แลดูวินเทจ .. ก็คงจะเป็นเหตุผลเดียวกัน





พระอาทิตย์กำลังตก …​ ข้างทางแถวๆ พิจิตร

ตอนแรกๆ ที่ผมเริ่มดูโฆษณาชุด Pure Photography ตอนที่ 1 ตอนที่ 2 ค่อนข้างที่จะจ้องอยู่กับกล้องตัวใหม่ ที่กำลังค่อยๆ เปิดรูปเปิดเงาให้เห็นทีละนิดๆ แต่พอดูมาถึงตอนที่ 3-4 เริ่มรู้สึกอะไรบางอย่างแตกต่างออกไป จนกระทั่งตอนที่ 5 ออกมา และผมได้มานั่งดูทั้ง 5 ตอนแบบรวดเดียวอีกครั้ง … Video ชุดนี้ สื่อและแสดงความโหยหาวันเวลาเก่าๆ อย่างรู้สึกได้ชัดเจนมาก

  • ตั้งแต่ความรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่หายไปนานจากเรา และเราโหยหาที่จะได้มันกลับมาอีกครั้ง ในตอนแรก
  • โลกที่ไม่ต้องรีบร้อน ไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องพยายามเอาผลลัพธ์จากทุกอย่าง โลกที่เรามีเวลาเดินไปอย่างช้าๆ จนถึงจุดที่เราน่าจะทำอะไรสักอย่าง ในตอนที่ 2
  • ความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา การมีเวลาตระเตรียมทุกอย่างอย่างละเอียดค่อยเป็นค่อยไปในตอนที่ 3
  • การที่เรามีเวลาที่จะมองมุมใหม่ๆ ที่ไม่มีใครเคยมองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เดิน ค่อยๆ มองหา จนกระทั่งเจอมุมนั้นในตอนที่ 4
  • การที่บอกว่าสิ่งดีๆ มันใช้เวลา แต่มันคุ้มค่าที่จะรอ ในตอนที่ 5





รอคิวไหว้พระเจ้าทันใจ (พระธาตุช่อแฮ)
ปริศนาธรรม: พระเจ้า “ทันใจ” ท่านสอนให้ “รอ”

โลกปัจจุบันที่ทุกอย่างต้องเร่งรีบแข่งขันกันอย่างที่เป็นอยู่แบบนี้มันใช่ที่หัวใจเราโหยหาจริงเหรอ การที่ต้องหาผลลัพธ์ หาคะแนน หาเงิน หาฯลฯ อะไรให้ได้กับทุกอย่างมันเป็นโลกที่เราต้องการจริงเหรอ โลกที่ทุกคนไม่มีเวลา ใครจะไปมีเวลาล่ะ โลกที่การรอห้านาทีสิบนาทีต้องกลายเป็นดราม่าใหญ่โต โลกที่ทุกอย่างถูกวัดเป็นตัวเลข ฯลฯ นี่เป็นโลกในความฝันของเราจริงเหรอ

ทำไมเราอยากหาความสำเร็จกันมากขึ้น แต่ทำไมเราเจอความสุขกันน้อยลงล่ะ … ความสุขและความสงบของจิตใจ จากการได้ทำอะไรบางอย่างมันหายไปไหน





ไหว้พระธาตุ (พระธาตุแช่แห้ง)

มันผิดไหมนะ ที่ผมเขียนโปรแกรม เพราะผมมีความสุข จากความรู้สึกตอนได้โค้ด การค่อยๆ ได้แอพหรือระบบทีละชิ้นๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป มากกว่าอยากจะเร่งสร้างธุรกิจอย่างรวดเร็ว หรือเร่งรีบ Capitalize หรือการผมจะสอนการออกแบบโปรแกรมแบบค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ ทำความเข้าใจ แบบเก็บรายละเอียดหรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ค่อยเป็นค่อยไปกับปรัชญาต่างๆ เพราะผมมีความสุขกับความรู้สึกตอนได้สอน ความรู้สึกตอนที่เห็นคนนั่งเรียนหัวเราะและได้อะไรใหม่ๆ มากกว่าจะต้องเน้นให้ทุกอย่างต้องถูก Capitalize ได้ทั้งหมด ต้องเอาไปใช้ได้ตรงๆ ทั้งหมด มันผิดไหมนะ ที่ผมเดินถือกล้อง ถ่ายรูปเพราะมันเป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิต ไม่ได้อยากจะได้ภาพที่สวย ไม่ได้อยากจะได้รางวัลหรือคำชมอะไร บางครั้งแค่ได้ยินเสียงชัตเตอร์ก็พอจะมีความสุข ได้เห็นรูปหมาตัวเองยิ้มให้กล้องก็มีความสุข …​ อันนี้คงเป็นเหตุผลหนึ่งล่ะมั้งที่ผมชอบ Leica M

“ความสุข” … ของการได้สร้างอะไรเอง ไม่ใช่ “การสนองตัณหา” ที่มักแฝงมาในนามของความสุข ของการได้สั่งให้คนอื่นทำ

ไม่ว่าคนอื่นเหล่านั้นจะเป็นลูกน้อง ทีมงาน แม่ค้าร้านอาหาร จะเป็นอะไรก็ตาม … รวมถึง “กล้องถ่ายรูป” ด้วย





แสงแดดยามสาย พ้นภูเขาหลังวัดพระพุทธบาท

ในตอนที่ 6 มีบทสรุปสั้นๆ เอาไว้ว่า

My father used to say “Find the one thing you can do all day without looking at your watch. That’s your passion.” He was right. Now every frame is meaningful again.

ผมย้อนกลับไปดูใหม่ทั้งชุดอีกครั้ง และผมยิ่งรู้สึกถึงสิ่งที่ผมรู้สึกแล้วก็ได้เขียนไปแล้วก่อนหน้านั้น …… ทุกวันนี้ยังมีอีกกี่คนหนอ ที่ค้นหาตัวเองจนพบ จากการได้ทำอะไรที่มันเป็นตัวเองจนลืมเวลา จนไม่สนใจนาฬิกาและสิ่งรอบข้าง การที่ได้ลงมือทำสิ่งนั้นมันมีความหมายและความสุขมากกว่าเงินทองหรืออะไรทุกอย่างที่สังคมกำหนดว่าเราต้องมี ความสำเร็จทุกอย่างที่สังคมกำหนดว่าเราต้องได้ … Passion มันเป็นยิ่งกว่างานอดิเรก … มันคือ “ตัวเอง” ที่นับวันยิ่งจะเลือนลางลงไปทุกที





ระหว่างที่ผมเดินถ่ายรูปเล่นอยู่วันหนึ่ง เจอลุงคนนี้กำลังใช้ “กล้องฟิล์ม” จริงๆ (Olympus PEN) ถ่ายรูปไฟที่ CTW
นี่สินะ “Passion” นี่สินะ “ความสุขของการได้ทำ”

ไม่ว่า Nikon Df จะออกเป็นแบบไหน ราคาเท่าไหร่ โดนใจใครหรือไม่ อันนี้ผมไม่ทราบและไม่แน่ใจ มันอาจจะไม่ Retro มากมายเท่าไหร่เมื่อเทียบกับ Fujifilm และมันอาจจะไม่เรียบง่ายใกล้เคียงกับ Leica M นะ … แต่โฆษณาชุดนี้ได้ใจผมไปเต็มๆ เพราะอย่างน้อย มันเป็นความต่อเนื่องของการเล่นกับอารมณ์คนที่รู้สึกเบื่อกับโลกที่สับสนซับซ้อนวุ่นวายเร่งรีบไปที่การเน้นผลลัพธ์ทุกอย่าง มากกว่าความสุขจากความสงบและการที่ได้ค่อยๆ ทำอะไร … ที่นับวันยิ่งหายไปกับกระแสของกาลเวลา

และตรงนี้ผมคงจะบอกว่า …. Nikon Df ไม่ใช่สำหรับทุกคน มันเป็นกล้องที่ Polarize คนเป็นสองขั้วชัดเจนมาก มันอาจจะไม่ได้เรียบไม่ได้ง่ายเหมือนกับที่ใครหลายคนอยากให้มันเป็น มันอาจไม่ได้มีเทคโนโลยีล้ำยุค หรือเอาจริงๆ แล้วอาจจะเก่าอาจจะด้อยกว่าตัวอื่นในราคาสูสีกัน …​ แต่ความรู้สึกของผมตอนที่ใช้มันเดินถ่ายรูปเล่นจริงๆ … ก็คงจะเหมือนกับสิ่งที่ผมเขียนไปแล้วมาตลอด ทั้งบทความก่อนหน้านี้ และบทความ Leica M8

“ผมอยากได้ภาพน้อยลง Slow Down มากขึ้น มีความสุขมากขึ้นกับการได้มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวเกิดขึ้นเรื่อยๆ … และบางครั้ง เราก็แค่อยากถ่ายภาพนั้นเก็บไว้ เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ ที่มีค่ากับเรา”

ปิดด้วยภาพนี้ แล้วพบกันใหม่ครับ





พลบค่ำ ที่วัดพระธาตุเขาน้อย จ.น่าน

One More Thing [เพิ่ม 01/04/2014]

ขอพูดอะไรชัดๆ สักอย่างครับ

“การ Slow Down หรือวิธีการถ่ายรูปขึ้นกับกล้องตัวนั้นตัวนี้เท่านั้น ถ้าไม่ใช่ Df หรือ Leica M ทำไม่ได้” เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมไม่เคยพูด และไม่ได้มีความหมายใดๆ ถึงแบบนั้น

ถ้าอ่านบทความตาม Link ไป โดยเฉพาะบทความ M8 จะเห็นว่าจริงๆ แล้วผมออกจะคิดตรงกันข้ามด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกถึงเรื่องนี้และเรียนรู้เรื่องนี้ก็คือการถ่ายรูปกับ M8 หลังจากนั้นมันจึงมีผลกับการถ่ายรูปด้วยกล้องทุกตัว ที่จะไปทางกดชัตเตอร์น้อย และอยู่กับโลกมากกว่าหมกมุ่นกับรูป แม้แต่ตอนใช้ D3s หรือ D800 ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

หลายคน (โดยเฉพาะคนที่ถ่ายฟิล์มมาก่อน) เข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้ว และคุ้นชินกับแบบนั้นอยู่แล้ว ก็ย่อมใช้กล้อง Digital ไม่ว่าจะตัวไหนในแบบนั้นอยู่แล้ว ซึ่งก็เข้าประเด็นครับ อะไรก็ได้ทั้งนั้นที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นตัวนั้นตัวนี้

เพียงแต่ว่า …. ถ้าเรื่องราวในบทความ M8 มันไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน ทุกวันนี้ผมคงจะยังเป็นอีกแบบหนึ่ง นั่นคือ ….. ผมคงจะขัดจิตขัดใจกับการใช้ Df เพราะว่าความช้าของมัน เพราะมันไม่ทันใจ เพราะว่าผมยังคงอยากได้รูปอย่างฉาบฉวย





ถ้าเด็กเดี๋ยวนี้โตมาพร้อมกับ Instant Gratification การตอบสนองและได้ผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว
คำถามคือ: จะทำอย่างไร ให้เขารู้จักการเรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไป

และไม่แน่ …… ถ้าเป็นกรณีนั้นจริงๆ …. Df อาจจะกลายมาเป็นกล้องที่คล้ายกับ M8 ในชีวิตผม นั่นก็คือ นอนตู้ ไม่ได้ใช้สักพักใหญ่ๆ ไอ้โน่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเพราะว่าเราเองต่างหากที่ใจร้อนเกินไป และถ่ายรูปไม่เป็น …. จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราเห็นตัวเองแบบนั้น และหลังจากนั้นมาแล้ว ไม่ว่าจะกล้องตัวไหน ผมก็ถ่ายช้าลงทั้งนั้น เพราะชินไปแล้วกับการเป็นแบบนั้น

ยกตัวอย่างกันสักเล็กน้อยนะครับ เด็กที่โตมาในสมัยนี้ ที่การสื่อสารจะต้องเป็นไปแบบ “ทันใจ” ส่ง LINE ให้กันห้านาทียังไม่ขึ้นว่า Read สิบนาทียังไม่ตอบหรือส่ง Sticker กลับมา ส่งข้อความให้กันใน FB หรืออะไรก็แบบเดียวกัน ส่ง e-mail ก็คาดหวังการตอบแบบทันใจ ฯลฯ จะเข้าใจ “การเขียนจดหมาย” หรือการ “ส่งโทรเลข” ไหม

ผมเห็นหลายคน ส่ง LINE กันแป๊บนึง ไม่ส่งกลับมา โวยวายล่ะ โกรธกันล่ะ แล้วเราก็เดินไปบอกว่า “สมัยอา/ลุง/พี่เป็นเด็กๆ นะ ส่งจดหมายทีรอกันเป็นอาทิตย์กว่าจะได้คำตอบ” …. เด็กฟังได้ แต่เด็กไม่เข้าใจหรือไม่อินหรอก อย่างมากเขาก็รับรู้ และคาดหวัง Instant Gratification กันต่อไป





เล่นผ้าปูโต๊ะ

แต่คนที่เคยอยู่ในโลก “ที่มีแต่การเขียนจดหมาย” มาก่อน จะเข้าใจการค่อยๆ คิด ค่อยๆ กลั่นกลองและเขียนออกมา และการค่อยๆ อ่าน อ่านแล้วอ่านอีกกว่าจะตอบกลับไป … และคนเหล่านี้ ถึงจะมี Social Media ที่รวดเร็ว ก็จะยังคงนำความรู้สึกแบบนี้มาใช้อยู่ดี จะอ่านข้อความก่อน อ่านแล้วอ่านอีก แล้วจึงค่อยคิดว่าจะตอบอย่างไร

ไม่งั้นคนถ่ายรูปเก่งๆ เขาจะบอกกันเหรอครับว่า “ถ้าอยากถ่ายรูปเก่ง หรือเข้าใจการถ่ายรูป ให้หัดถ่ายฟิล์ม” ไม่ใช่เพราะฟิล์มมันเจ๋งหรืออะไรหรอกครับ แต่เพราะ Process ของการถ่ายฟิล์ม มันบังคับให้เรา Slow Down ต่างหาก … หลังจากนั้น ไม่ว่าจะตัวไหนเราก็ Slow Down ได้ทั้งนั้นครับ …. เอาจริงๆ นะ ผมยังอยากลองถ่ายฟิล์มอีกครั้งเลย หลังจากไม่ได้ถ่ายมานานมากแล้ว (แต่ตอนสมัยฟิล์ม ผมใช้แต่กล้องกดอย่างเดียว ถ่ายรูปแค่เป็นที่ระลึกนะ)





“รักแท้” … คือ “แม่รัก”

ความเห็นส่วนบุคคลของผมคือ แล้วจะไปยึดติดว่าต้องเป็นฟิล์มมันทำไมล่ะครับ (เดี๋ยวนี้ยิ่งหาที่ล้างที่อัดยากอยู่) หรือไม่ก็ใช้ Elitist Mindset แบบ “ทุกคนควรรู้เรื่องพวกนี้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาอะไร” แล้วอ้างถึงสมัยตัวเองว่าเป็นแบบนั้นแบบนี้

นั่นเป็นคำพูดของคนที่ใช้ได้กับคนที่บรรลุแล้ว หรือกำลังใกล้แล้วที่บรรลุครับ ….. ก็ไม่ต่างอะไรเลยกับตัวอย่างจดหมายกับ LINE เมื่อสักครู่ (ถ้าจะเอางานสายพัฒนาโปรแกรมหรือการศึกษา ก็มีตัวอย่างอีกมากมาย)

เหมือนฝึกวิทยายุทธครับ .. “จอมยุทธ์ที่แท้จริง แม้เพียงกิ่งไม้ ก็ใช้เป็นอาวุธแทนกระบี่ได้” เป็นคำพูดที่ถูกต้องที่สุด แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ เขาผ่านกระบี่มากี่เล่ม ยึดกระบี่เป็นสรณะมากี่เล่ม … จนลอกเปลือกของกระบี่ออกได้ และเข้าถึงแก่นแท้ของวิชายุทธ์ … หลังจากนั้น ไม่ว่าอะไรก็หยิบมาเป็นอาวุธได้หมด

สำหรับผม ผมถือว่า “อะไรก็ตามที่ช่วยให้คนที่ยังไม่เข้าใจมัน ยังไม่อินกับเรื่องการค่อยๆ ทำอะไรและค่อยๆ Appreciate กับสิ่งที่ได้ทำ มากกว่าการได้ผลลัพธ์ (เฉกเช่นตัวผมเองในอดีต)” ได้เริ่มเข้าใจและได้เริ่มเรียนรู้การ Slow Down … ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรตาม มันดีทั้งนั้น และควร Appreciate มันทั้งนั้นแหละครับ … กระบี่อะไรก็ตาม ที่ใช้แล้วมัน “ช่วย” ให้เราเข้าถึงวิทยายุทธ์ได้แม้เพียงนิด ถือว่าดีทั้งนั้น และใช้ไปเถอะ วันหนึ่งจะทิ้งกระบี่ไปได้เอง ;-)