Cloud Atlas

นี่คือหนังเรื่องแรกที่มี Dialog และ Symbol ที่สะท้อนความจริงในสังคมที่ทำให้ผมหลุด “เหยดดดด เจ๋งว่ะ” เบาๆ ในโรงหนังในรอบ 3 ปี

Cloud Atlas (IMDB) คือหนังเรื่องที่ผมพูดถึง คือหนังเรื่องที่ผมบอกได้เต็มปากเต็มคำว่า “Love it or Hate it” เป็นเรื่องที่ผมไม่ได้ยินอะไรกลางๆ เกี่ยวกับมันเลย จะมีแต่บวกสุดโต่ง หรือลบสุดขั้ว ก็เท่านั้น

บทความนี้ จะเป็นสิ่งที่ผมเห็นจากในหนัง ซึ่งเขียนในแบบ “ถอดเทป” ที่ผมตีความทันทีที่ดูจบ ซึ่งผมเสียดายที่ผมจะต้องเขียนมันวันนี้ เพราะผมเชื่อว่า หนังอย่าง Cloud Atlas จะโตตามชีวิตของเราที่เปลี่ยนไป เมื่อผมกลับมาดูมันใหม่ในรอบที่ 2, 3, 4, 5 … ไปเรื่อยๆ จนเป็นรอบที่ 20 ผมก็ยังจะเห็นอะไรใหม่ๆ ที่มันสะท้อนให้เราเห็นในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว เช่นเดียวกับ The Matrix, Brazil และหนังอีกหลายเรื่อง และนี่เป็นหนังประเภทเดียว ที่ผมอยากจะดูซ้ำไปซ้ำมา … ไม่ใช่เพราะเราอยากดูหนังหรอกนะ แต่เราอยากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราในอีกมุมหนึ่ง ผ่านกระจกสะท้อนภาพที่เรียกว่า “ภาพยนต์”

และนั่นคือสิ่งแรกเลยที่ผมเห็น “ความรู้เป็นเพียงแค่กระจกสะท้อน” สิ่งที่เรารู้ ก็คือสิ่งที่หล่อหลอมจนมันกลายเป็นตัวเรา พูดง่ายๆ อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมเคยได้ยินมาว่า “เราคือสิ่งที่เรากิน” ประโยคเด็ดจากนักโภชนาการ แล้วประโยคเดียวกันล่ะ ใช้ได้ไหมกับ “อาหารสมอง”?

แล้วเรารู้จากอะไร? “ตั้งแต่เกิดจนตาย ชีวิตไม่ใช่ของเรา แต่มันถูกนิยามขึ้นมาจากทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวทั้งหมด” (อันนี้เป็นการตีความของผมนะ เพี้ยนจากประโยคในหนังสักนิด เพราะผมได้รับอิทธิพลจากความหมายหนึ่งของคำว่า Ubuntu ที่มีคนเคยตีความให้ผมฟังว่า “เราเป็นเรา เพราะคนอื่น” — เห็นไหมล่ะ เพราะเรารู้ต่างกัน มันก็สะท้อนภาพให้เราเห็นต่างกัน) ทุกสิ่งทุกอย่างทุกความดีความเลว ทุกความถูกความผิด ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนสอนเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราคิด ที่เราเรียนรู้ ที่เราถูกปลูกฝังบ่มเพาะขึ้นมา มันเป็นการกำหนดนิยามให้ “ตัวเรา” ขึ้นมาทั้งนั้น

นั่นคือ เวลาเราที่เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะเห็นอะไรล่ะ นอกจากเงาของตัวเองที่สะท้อนไปบนสิ่งนั้น และเวลาที่เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะได้อะไรล่ะ นอกจากสิ่งที่มานิยามตัวเราเองมากยิ่งขึ้น เป็นวัฏจักรไม่มีจุดจบสิ้น

ก็เลยมาถึงประเด็นหนักๆ ของหนังเรื่องนี้กันล่ะครับ นั่นก็คือ “ความรู้” “ความจริง” และ “ความกลัว”

เพื่อให้เห็นความแรงของเรื่องนี้ชัดขึ้น เรามาดูประเด็นรองลงมาก่อน (ซึ่งหลายคนมองเป็นประเด็นหลัก เพราะมันเห็นได้ชัดเจนตลอดเรื่อง) นั่นก็คือ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” หรือที่ในเรื่องบอกตลอดเวลาว่า “มันมีลำดับตามธรรมชาติ สิ่งที่อ่อนแอกว่า ก็จะถูกสิ่งที่แข็งแรงกว่ากินเป็นอาหาร” หรือ ห่วงโซ่อาหาร ความสัมพันธ์แบบ ผู้ล่า-เหยื่อ (Predator-Prey) อะไรทำนองนี้

หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นแบบชัดเจนมากในเรื่องนี้ … และเป็นการสะท้อนที่แรงมาก เพราะอะไรหรือ ลองสังเกตอะไรบางอย่างดูไหมล่ะครับ

  • เรื่องมนุษย์กินคน ที่เป็น “ผู้ล่า-เหยื่อ” ชัดเจนมาก เรียกว่า เหยื่อจะรู้ตัวเองว่าเป็นเหยื่อ จะกลัวผู้ล่า หนีผู้ล่า และไม่กล้าสู้กับผู้ล่าของมันเด็ดขาด
  • เรื่องการค้าทาส ที่เริ่มเปลี่ยนเป็น Master-Slave มากกว่า “ผู้ล่า-เหยื่อ” นะ และเครื่องมือเริ่มเปลี่ยนจาก “ดาบ มีด กำลัง” มาเป็น “การปลูกฝังความเชื่อ” รวมถึง “ความสบาย” มากขึ้น แต่ก็แน่นอนว่ายังมี “ปืน แส้” เป็นองค์ประกอบด้วย
  • เรื่องนาย-บ่าว ผู้ช่วยทำงานล่ะ ความสัมพันธ์นี้ก็พัฒนาไปอีกขั้น เครื่องมือไม่ใช่กำลังอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรมยิ่งขึ้น เช่น “สถานะทางสังคม” และ “ชื่อเสียง” แต่แน่นอนว่า “ความรู้” ก็ยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน การเป็น Master-Slave มาจากความสมยอมในบริบทสังคม เพื่อสิ่งที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น มากกว่าความจำยอมด้วยลำดับตามธรรมชาติ (ของผู้ล่ากับเหยื่อ)
  • เรื่องต่อมา ยิ่งเป็นนามธรรมมากขึ้น และแรงมากขึ้น ก็คือยุคที่คนส่วนมาก กลายเป็น “เหยื่อ” โดยที่ไม่รู้ตัว จากข้อมูลข่าวสาร จากการผูกขาดการค้า คนส่วนมาก อยู่ในภาวะจำยอมจากผลของปลาตัวใหญ่ๆ ที่เล่นเรื่องผลประโยชน์จากพลังงาน ลองมองรอบตัวเราในปัจจุบันสิ ว่าเราเป็น “เหยื่อ” ของอะไรบ้าง ที่ส่งบิลมาเก็บเงินเราแต่ละเดือน จริงหรือไม่ล่ะ (นึกถึงเรื่อง 3G กับผลประโยชน์ของอะไรไม่รู้ ที่เอาประเทศชาติเป็นตัวประกันบ้างหรือเปล่าไม่รู้)
  • เรื่องสุดท้าย ที่แรงมาก ก็คือ “การสร้างคนขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อ” และ ​”ปลูกฝังความรู้และความเชื่อ”

เรื่องสุดท้ายสะท้อนแรงจนคงต้องเขียนย่อหน้าใหม่กันเลยทีเดียว … เพราะทุกวันนี้ …​ มันก็เป็นแบบนั้น

“ซอนมี-451” คนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเหยื่อของระบบที่ใหญ่กว่านั้น ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าการก้าวไปทีละขั้นๆ ในระบบที่ถูกกำหนดไว้ดีแล้วนั้น เป็นเส้นทางสู่อะไรสักอย่าง (การถึงที่หมายละกัน) แต่แท้จริงแล้ว “ที่หมาย” ท่ีว่านี้คืออะไรหรือ ก็คือการเป็น “อาหาร” ให้กับคนอื่นในระบบน่ะแหละ

ภาพซ้อนจากหนังเรื่อง The Matrix ตอนที่ Morpheus ทำให้ Neo ตื่นขึ้นมาเห็น “ไร่พลังงานมนุษย์” โผล่ขึ้นมาในหัวผมเลยทีเดียว และถึงกับขนลุกเมื่อผมเห็นฉากสุดท้ายของระบบนั้น … ผมเดินออกจากโรงหนัง นึกถึงระบบที่มีในบ้านเราหลายต่อหลายระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบอำนาจ ระบบการศึกษา หรือระบบอะไรก็ตาม .. สิ่งที่ผมอ่านจากหนังสือหลายต่อหลายเล่ม ถล่มลงมาในที่เดียวกันหมดเป็นภาพเดียวกันหมดตรงนั้น….

ใช่ครับ เรากำลังอยู่ในระบบแบบนั้นน่ะแหละ เราถูกสร้างขึ้นมาให้เชื่อในระบบและโครงสร้างแบบนั้น โดยที่เราไม่เคยตั้งคำถามอะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ ทีละขั้น ทีละขั้น ที่เราถูกใส่ Serial Number ที่สะท้อนกระบวนการผลิต (เช่นรหัสนักศึกษา) ออกมาเพื่อให้เรากลายเป็นอาหารของสิ่งที่ใหญ่กว่าเราอย่างเต็มใจ (เราเดินร้องเพลงอย่างเต็มใจเพื่อไปเข้าโรงเชือดให้เป็นอาหาร)

วิวัฒนาการของกระบวนการอะไรก็ตาม มักจะลงเอยด้วยการ Industrialize หรือการ Mass Produce ตั้งแต่ยุคของการทำการเกษตร ที่มาแทนการเก็บของป่าและการล่าสัตว์ จนมาถึงปัจจุบันที่เราผลิตคน และสร้างคนขึ้นมาตามกระบวนการอะไรบางอย่าง ปลูกฝัง “อาหารสมอง” บ่มเพาะด้วย “ความรู้” และ “ความเชื่อ” อะไรบางอย่าง เพื่อให้คนเหล่านั้นเป็นเหยื่อและเป็นทาสของระบบ ที่ทำให้ระบบนี้มันอยู่ต่อไปได้

และเครื่องมือที่สำคัญที่สุด ที่ใช้มาทุกยุค ก็คือ “ความกลัว”

ความกลัว ถูกสร้างได้หลายรูปแบบจากผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่เป็นผู้ล่า กับเหยื่อของตัวเอง (ครั้งหนึ่งผมเคยเจอกับพระป่าที่ไม่กลัวเสือ และท่านสอนผมว่า “ลูกเอ๋ย มีแต่เหยื่อของเสือเท่านั้นแหละ ที่กลัวเสือ”) ไม่ว่าจะเป็นจากการเขียนหน้าเขียนตาให้น่ากลัว การใช้กำลัง ดาบ ปืน อาวุธต่างๆ จนมาเป็นเครื่องมือที่เป็นนามธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ชื่อเสียง สถานะทางสังคม ข่าวสาร สื่อ หรือแม้กระทั่งความกลัวที่จะหนีจากชีวิตหนึ่งไปยังอีกชีวิตหนึ่ง ที่อันที่จริงมันอาจเป็นเพียงประตูบานหนึ่งก็ได้ และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งเครื่องมือที่ว่านี้ก็จะวิวัฒนาการเป็น “มโนภาพ” ของ “สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมา” ให้ทุกคน “เหมือนกันหมด” … “ความแตกต่าง คือ ความกลัว”

นี่คือสิ่งที่แรงที่สุดที่ผมเห็นจากหนังเรื่องนี้:

ถ้า “ชีวิตไม่ใช่ของเรา ตั้งแต่เกิดจนตาย เราคือสิ่งที่ถูกกำหนดและนิยามขึ้นมาจากทุกอย่างรอบตัวเรา” แล้ว “เราคืออะไร?” .. เราทุกคนถูกสร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเหยื่อ เป็นอาหาร ให้กับระบบที่เราสร้างขึ้นมาเอง ระบบที่มีปลาใหญ่ ระบบที่มีคนที่เหนือกว่าเรา ระบบที่เราจะอยู่ในภาวะจำยอมกับการที่เป็นแบบนี้ ผ่านความรู้ ความเชื่อ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราถูกปลูกฝังมาตลอดชีวิต ตั้งแต่เกิด จนตาย และเราก็กลัว ที่จะก้าวเท้าออกจากมันแม้แต่เพียงก้าวเดียว

สิ่งเดียวที่จะต่อสู้กับความกลัวได้ ก็คือ “ความจริง” ซึ่งในหนังเรื่องนี้จะเห็นว่าจะมีตัวละครตัวหนึ่ง ที่มีหน้าที่ “รักษาความกลัว” โดยการไม่ให้คนเข้าถึง “ความจริง” อยู่ตลอดเวลา ด้วยวิธีการต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ที่ปลูกฝังกันมาให้เชื่อตามๆ กัน การฆ่านักข่าว … และสุดท้าย “การกำจัดความต่าง”

ทำไมน่ะหรือ … เพราะสุดท้ายแล้ววิวัฒนาการของระบบมันจะพาเราไปหาจุดที่เครื่องมือทุกอย่างเป็นนามธรรม เป็นเพียงภาพลวงตาที่มันจริงในมโนภาพของเราเท่านั้น การที่มี “คนที่แตกต่าง” ขึ้นมาเพียงคนหนึ่ง อาจจะทำให้ระบบที่สร้างไว้ทั้งหมดพังทลาย เพราะการที่ต่างได้ จะเป็นผลโดยตรงกับ “ความเชื่อ” ทั้งหลายที่ถูกปลูกฝังและสะสมมา ดังนั้น “การกำจัดความต่าง”​ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการรักษาระบบ

แล้วเราจะทำอะไรกันล่ะ เมื่อเราอยู่ในระบบแบบนี้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรามันเป็นระบบแบบนี้? ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราเหมือนกับจะเป็น The Matrix เล็กๆ อยู่เต็มไปหมด และมีคนที่เหมือนกับเป็นสาวเสื้อแดง ที่พร้อมจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ปกป้องระบบ เพราะระบบทำให้เขามีตัวตนอยู่ได้เต็มไปหมด

คำตอบมีอยู่เต็มไปหมดในหนังเรื่องนี้คือ ตั้งแต่ Tagline ที่ว่า “Everything is Connected” หรือทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวข้องกันหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยแค่ไหนก็ตาม ใครจะไปคิด ว่าเรื่องเล็กน้อยที่คนๆ หนึ่งทำ เช่น ละครชีวิตตัวเอง จะกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิวัติทางความเชื่อในอนาคตกันไกลโพ้นได้ และการปฏิวัติทางความเชื่อนั้นๆ แม้ว่าจะจบลงด้วย “การกำจัดความต่าง” แต่เมล็ดของความเชื่อใหม่ ก็ถูกส่งกระจายออกไปยังที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นความเชื่อใหม่ในอนาคตที่ไกลโพ้นออกไปอีก

อนาคตมันเป็นเพียง “ผล” ของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ในลักษณะ Collective ไม่เพียงแค่คนๆ เดียวคนใดคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนที่เราทำ ทั้งสิ่งดี สิ่งไม่ดี สิ่งที่เราไม่ได้ทำ ทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมมา .. แม้ว่าสิ่งที่เราทำจะเป็น หยดน้ำในมหาสมุทร” แต่ “มหาสมุทรคืออะไรเล่า ถ้าไม่ใช่หยดน้ำมหาศาลรวมกัน”

ไม่มีอะไรที่สูญเปล่าและไม่มีอะไรที่ตาย การกลับมาเกิดใหม่เป็นไปได้เสมอ แม้จะไม่ใช่การกลับมาเกิดใหม่ในแบบที่หลายคนคิด (คนนี้ตายกลับมาเกิดใหม่เป็นคนนั้น) แต่เป็นการกลับมาเกิดใหม่ของ “ความคิด” การกลับมาเกิดใหม่ของ “ความเชื่อ” การกลับมาเกิดใหม่ของ “วิญญาณ” ผ่านการกระทำและสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ ได้รับการถ่ายทอดและปลูกฝังลงไปใหม่เป็นเมล็ดความคิดให้กับอีกคนหนึ่ง อีกที่หนึ่ง อีกเวลาหนึ่ง

แต่ว่า … สุดท้ายมันก็นำมาซึ่งระบบอีกระบบหนึ่ง … นั่นเอง

ป.ล. มีคนถามว่าทำไมจึงเป็นชื่อ Cloud Atlas … ตอนแรกที่ผมดู ผมคิดว่ามันคือ “แผนที่ของเมฆ” ที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา แล้วแต่เราจะตีความว่าเป็นรูปอะไร แต่เมื่อผมดูจบแล้ว ผมรู้สึกว่า “เป็นไปไม่ได้” มันน่าจะมีความหมายอย่างอื่นแน่นอน ก็เลยมาค้น Google ดู … ใช่สิ Atlas คือเทพตามตำนานกรีกที่ถูกสั่งจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ให้แบกโลกไว้บนบ่า … จะหมายความว่าอย่างไรดีล่ะ … ถ้าสิ่งที่พวกเราต้องแบกไว้บนบ่า คือ มโนภาพที่จับต้องไม่ได้ ทะลุได้ทั้งหมด แต่เมื่อมองไกลๆ มันดูเหมือนมีรูปร่าง มีตัวตน ยิ่งใหญ่ และน่ากลัว (เวลาพายุกำลังตั้งเค้า) … เช่นเดียวกับ “เมฆ” (Cloud)

รู้สึกยังไงกันบ้างล่ะครับกับ “มโนภาพที่ไร้ตัวตน ที่แบกไว้อย่างหนักอึ้งอยู่บนบ่า”? ลองดูใน “วันที่ไม่มีเมฆ” สิครับ ว่า “ฟ้าสวยแค่ไหน” และเรารู้สึกว่า “เป็นอิสระ” แค่ไหน (และนี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่มีการเล่นประเด็นในหนังเรื่องนี้ตลอดเวลา)