รีวิว: Nikon Coolpix P7700 (& พาดพิง P7800)

หลังจากรีวิวและเล่าเรื่องกล้องตัวโหดๆ ไปหลายตัว ก็กลับมาคุยเรื่องกล้องคอมแพคกันบ้าง หลังจากที่เขียนครั้งสุดท้ายที่รีวิวคือ Nikon P7000 (P7000 #1, P7000 #2) ตั้งแต่ปี 2011 โน่น (เพราะว่าอันที่จริงแล้วผมจะเปลี่ยนกล้องคอมแพคทุก 2 ปี) สำหรับครั้งนี้จริงๆ ก็ดูไว้หลายตัว ทั้ง Panasonic LX7, Canon G1X, G15, Nikon P7700, P310, Sony RX100, Fujifilm XF1, X10 อย่างที่เคยเขียนไว้ในบทความ เลือกกล้องคอมแพคจากปี 2012: Tough Choice

แล้วสุดท้าย หวยมันก็มาออกมาที่ Nikon P7700 (จริงๆ แล้วก็เดาได้ยากเท่าไหร่ จากตัวเลือกที่มีในตอนนั้น)


DSC_0925.jpg

Nikon Coolpix P7700 – On The Trip Product Shot

และหลังจากที่ใช้มาค่อนข้างจริงจัง แบบพกติดรถไปด้วยแทบจะทุกที่ เวลาไปเที่ยวก็พาไปด้วยทุกทริป บางทริปที่เป็นทริปสั้นๆ และไม่ได้กะถ่ายรูปจริงจัง เอาไปตัวเดียวด้วยซ้ำ …. ก็ได้เวลาเขียนรีวิวอย่างจริงจังแล้วครับ

ป.ล. เร็วๆ นี้ Nikon ก็เพิ่งจะออกกล้องตระกูล Coolpix P ตัวใหม่ คือ P7800 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับ P7700 แตกต่างกันที่มีการวางปุ่มควบคุมต่างๆ และการเพิ่ม Electronic Viewfinder (EVF) แต่ยังคงใช้เซ็นเซอร์ เลนส์ และตัวประมวลผลภาพตัวเดียวกันทุกประการ ดังนั้นถ้าจะว่ากันด้วยเรื่องคุณภาพของภาพ และลักษณะภาพนั้น ก็จะเหมือนกับ P7700 ครับ


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ ไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” ส่วนมากถ่ายเป็น JPEG Normal มีบางรูปเท่านั้นที่ถ่ายเป็น RAW และมีการทำต่อใน Lightroom ตามแบบที่ผมใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รวมถึงการ Crop เป็นอัตราส่วน 3:2 แทนที่จะเป็น 4:3 จากกล้อง เพราะผมชอบอัตราส่วนนี้มากกว่า รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset: [Compilation] Nikon P7700 ซึ่งสำหรับ Photoset บน Flickr นั้นจะมีการลงรูปเพิ่มเติมเรื่อยๆ ด้วยครับ และตอนนี้ก็มีรูปมากกว่าในบทความนี้อยู่แล้ว



DSCN1155.jpg

กิจกรรมทรมานลูกชาย (เกลียดการอาบน้ำมาก)
ข้อดีของคอมแพคคือ ยื่นให้ใครใช้ก็ได้ … ดังนั้นเลยมีรูปตัวเองไม่ยาก

Why P7700?

คำถามแรกที่คิดว่าหลายๆ คนคงสนใจที่สุด ก็คือ ทำไมเลือก P7700 จากตัวเลือกทั้งหมดที่ลิสท์ไว้ (เพราะคงจะมีหลายคนกำลังเจอทางเลือกเดียวกันหรือคล้ายๆ กันอยู่ จากที่เห็นในกระทู้ตามเว็บต่างๆ) เหตุผลก็มีอยู่หลายข้อครับ ผมอาจจะเขียนไม่หมดจากที่คิดไว้ตอนนั้น แต่จะพยายามนึกให้เยอะที่สุดละกัน ว่าตอนนั้นคิดอะไร (พยายามนึกตอนนั้นนะ ไม่ใช่ยัดเหตุผลตอนนี้ไปใส่)

ปัจจัยหลักก็คือ การบาลานซ์กันระหว่าง “เซ็นเซอร์-สเปคของเลนส์-ความละเอียด-ขนาด-จอ” ครับ


DSCN0036.jpg

พระอาทิตย์ตกริมทุ่งนา … รูปแรกอย่างเป็นทางการของ P7700
สถานที่: ระหว่างทาง แถวสุพรรณบุรี (ถ้าจำไม่ผิดนะ)

ต้องยอมรับว่า “ขนาดเซ็นเซอร์” เป็นปัจจัยแรกที่มีผลกับการเลือกของผมพอควร (ถึงขนาดเขียนบทความเรื่องนี้โดยเฉพาะ เริ่มจาก “ว่าด้วย “ขนาด Sensor” [1]: Crop Factor และผลต่อ DoF & FoV” กำลังทะยอยเขียนตอนต่อๆ ไป) นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมตัดตัวเลือกที่มีขนาดเซ็นเซอร์เล็กกว่า 1/2.3″ ทิ้งไปหมดตั้งแต่ต้น เหลือไว้แค่ตัวที่มีขนาดเซ็นเซอร์ตั้งแต่ 1/1.7″ ขึ้นไปเท่านั้น และแน่นอนว่า P7700 อยู่ในกลุ่มนี้ และเป็นตัวที่เซ็นเซอร์มีขนาดเล็กที่สุดตัวหนึ่งในกลุ่ม (คือ 1/1.7″ พอดี เทียบกับบางตัวที่ 1/1.5″ หรือ 1″)

นอกจากนี้ เซ็นเซอร์ใน P7700 จัดว่าเป็นเซ็นเซอร์ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในบรรดาเซ็นเซอร์ขนาด 1/1.7″ ทั้งหมด ก็เรียกว่าหายห่วงเรื่องคุณภาพไป


DSCN0800.jpg

Rows of Flags

เรื่องต่อมาคือ “สเปคของเลนส์” ซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ช่วงเลนส์ รูรับแสง (เพราะว่าจากดูคุณภาพจากตัวเลขพวกนี้ไม่ได้) จากตัวเลือกทั้งหมดแล้ว มีตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่แค่ 2 ตัว ก็คือ P7700 ที่มีช่วงเทียบเท่า 28-200mm รูรับแสง f/2-4 เรียกว่าได้ระยะตั้งแต่มุมกว้างไปถึงเทเลโฟโต้ไกลๆ รูรับแสงกว้างพอประมาณที่ช่วงกว้าง และถือได้ว่าค่อนข้างกว้างที่ช่วงเทเลโฟโต้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับตัวอื่นๆ ที่ได้ f/5.6 ที่ช่วงปลายซูม และหลายตัวได้ระยะสั้นกว่านี้) กับอีกตัวหนึ่งคือ Panasonic LX7 ที่ 24-90mm f/1.4-2.3 ที่ได้มุมกว้างมาก น่าจะมากที่สุดเท่าที่คอมแพคจะทำได้แล้ว และไวแสงที่สุดในบรรดาคอมแพคทั้งหมด ขนาดช่วงซูมไกลที่สุด (รูรับแสงแคบที่สุด) ยังได้ถึง f/2.3 … กว้างกว่ารูรับแสงกว้างที่สุดของคอมแพคหลายต่อหลายตัวซะอีก แต่ก็แลกมาด้วยช่วงซูมที่ค่อนข้างสั้น ถึงแค่ 90mm เท่านั้น

ตรงนี้ผมชั่งใจนานมากพอควร เพราะว่าจริงๆ แล้วก็อยากได้มุมกว้างนะ เลนส์ 28mm มันกว้างก็จริง แต่มันก็ไม่กว้างพอในหลายกรณีเมื่อเทียบกับ 24mm ที่ใช้ได้สะดวกกว่าเยอะเวลาถ่าย Landscape …. แต่บางครั้งเวลาไปเที่ยว 90mm นี่อาจจะอึดอัดนะ ยิ่งถ้าเอากล้องไปตัวเดียว ไม่ใช่ทุกครั้งจะซูมเท้าได้

สองรูปต่อไปนี้เป็นเหตุผลได้ว่าทำไม


DSCN1900.jpg

เลนส์ 28mm มันกว้างพอที่จะถ่ายรูปแบบนี้ได้
สถานที่: ศรีพันวา ภูเก็ต


DSCN2035.jpg

จากตำแหน่งยืนใกล้ๆ กัน (แต่ไม่ใช่ตำแหน่งเดียวกัน เยื้องไปทางขวาหน่อยนึง) ซูมสุดที่ 200mm
สถานที่: ศรีพันวา ภูเก็ต

จริงๆ แล้วหลังจากที่ซื้อ P7700 ไปพักหนึ่ง Nikon ก็อัพเกรดกล้องรุ่น P310 ซึ่งใช้เซ็นเซอร์ 1/2.3″ เป็น P330 ซึ่งใช้เซ็นเซอร์ตัวเดียวกับ P7700 เป๊ะเลย แต่ให้เลนส์เทียบเท่า 24-120mm f/1.8-5.6 นี่เรียกว่าเล่นเอาเสียดายอยู่เหมือนกันนะ เพราะถ้างั้นตัวเลือกคงจะเข้มข้นกว่านี้แน่นอน (ยังอยากได้ 24mm อยู่ดี และ 120mm ก็จัดว่าดีกว่า 90mm แบบรู้สึกได้เหมือนกันสำหรับระยะเทเลโฟโต้ — แต่รูรับแสงก็จะค่อนข้างแคบหน่อย)

การเลือกช่วงเลนส์นี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างยากเหมือนกันครับ จริงอยู่ที่ 24mm vs 28mm นี่ความแตกต่างมันอยู่ที่เดินถอยหลังประมาณ 1-2 ก้าวในหลายๆ กรณี แต่มันก็ไม่ใช่ทุกที่เราจะทำได้ เช่นเดียวกับการเดินไปข้างหน้า หลายครั้งถ้าจะเดินคงจะตกหน้าผาไม่ก็ทะเล ไปไม่ได้เหมือนกัน … สำหรับกล้องหลายตัวระยะเทเลโฟโต้ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะได้ความละเอียดของเซ็นเซอร์ที่เยอะ เช่น RX100 มี 20MP นี่เอามา Crop ทีหลังได้สบายๆ นะ แต่มันทำให้เลนส์ที่แคบกว้างขึ้นไม่ได้ … แต่สำหรับกรณี LX7 จะโหดร้ายนิดหน่อย เพราะมันมีความละเอียด 10MP นี่เรียกว่าเอามา Crop ก็อึดอัด


DSCN0112.jpg

ดอกหญ้าริมทาง รอพระอาทิตย์ขึ้น
สถานที่: ดอยแม่สลอง

พูดถึงความละเอียด P7700 มีความละเอียดที่ 12MP ซึ่งเป็นความละเอียดสูงสุดที่ผมจะรับได้สำหรับเซ็นเซอร์ขนาด 1/1.7″ ล่ะ ถ้ามากกว่านี้ขนาดของแต่ละพิกเซลจะเล็กเกินไป จนไม่น่าเก็บข้อมูลจากแสงได้มากเพียงพอที่จะถ่ายรูปได้ดีในหลายสถานการณ์ เช่นกรณีแสงน้อย กรณีแสงยาก มีความต่างระหว่างมืดกับสว่างสูง เป็นต้น (แสงเยอะๆ แสงดีๆ สถานการณ์ไม่ยาก ไม่เห็นความแตกต่างเรื่องนี้ชัดหรอก) ดังนั้นพวกที่มีขนาดเซ็นเซอร์เท่ากัน แต่มีความละเอียดสูงกว่านี้ก็เลิกพูดไปได้เลย สำหรับกรณีของ RX100 นี่ถึงจะมีความละเอียดถึง 20MP แต่เซ็นเซอร์มันขนาดใหญ่กว่าเยอะ (ขนาด 1″) ดังนั้นก็เป็นคนละประเด็นกัน แต่ตัวนั้นไม่อยู่ในความสนใจล่ะ เนื่องจากระยะเลนส์สั้นไป แถมรูรับแสงไหลเร็วไปนิด ตรงปลายแคบไปหน่อย และสุดท้ายละเอียดไป (มีประโยชน์ตอนเอามา Crop … แก้ข้อเสียของเลนส์ระยะสั้น)

อ้าว… แล้วละเอียดไปมันเสียยังไงล่ะ คำตอบง่ายๆ คือ ไฟล์มันใหญ่ไปครับสำหรับการใช้งานแบบผมเนี่ย ปกติไม่ได้ถ่ายเผื่อ Crop อะไรขนาดนั้นด้วย ดังนั้นในกรณีปกติจะเปลืองโดยใช่เหตุ แล้วการใช้งานทั่วไปของผมก็ไม่มีความต้องการความละเอียดอะไรขนาดนั้นอยู่แล้ว (D800 ขึ้นหิ้งไว้ตัวนึง อันนั้นเอาไว้ถ่าย Landscape แบบค่อนข้างจริงจังหน่อย) ยิ่งถ้าเซ็นเซอร์เล็กด้วยแล้ว ยิ่งไม่น่าสนใจเข้าไปอีก


DSCN0144.jpg

Sunrise in Mountain
สถานที่: ดอยแม่สลอง

แถมให้ เพื่อเปรียบเทียบ… มุมเดียวกัน คนถ่ายคนเดียวกัน ทำรูปแบบไม่ได้ดูกัน เป็นรูปที่ถ่ายจาก D800 เลนส์ 14-24 (14mm, f/11) เลนส์เทียบเท่าคนละระยะกัน (14mm vs 28mm) มุมภาพต่างกันเยอะเหมือนกัน (รูปนี้เคยลงไปทีล่ะ ในบทความ: “มุมกว้าง (Wide Angle)”)


Sunrise in Mountain

Sunrise in Mountain (D800 Version)

ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องขนาด แน่นอนว่า P7700 เป็นกล้องคอมแพคที่มันเลยขนาดของคอมแพคไปพอสมควร และที่มันตัวใหญ่ขนาดนี้ก็เพราะเลนส์เป็นปัจจัยหนึ่งแน่นอน

ช่วงเลนส์เทียบเท่า 28-200 f/2-4 กับเซ็นเซอร์ 1/1.7″ ทำให้มันต้องมีขนาดประมาณนี้แหละ (เทียบกับ P7000 ซึ่งขนาดพอกัน ช่วงเลนส์เท่ากัน แต่ f/2.8-5.6 แคบกว่ากันอยู่ 1-stop เต็มๆ แล้วเลนส์ของ P7700 ตัวใหญ่กว่า P7000 อย่างเห็นได้ชัด) ในขณะที่กล้องตัวอื่นๆ ที่ตัวเล็กกว่านี้จำเป็นต้อง Compromise เรื่องเลนส์พอสมควร โดยมากมักแลกมากับการที่รูรับแสงมันจะแคบอย่างรวดเร็ว (เช่น P330 ที่ใช้เซ็นเซอร์เท่ากัน ได้มุมกว้างกว่า ได้รูรับแสงกว้างที่สุดกว้างกว่า แต่แคบลงอย่างรวดเร็ว)


DSCN0996.jpg

แมววัดพระปฐมเจดีย์

ส่วนปัจจัยที่เหลือก็คือ “การควบคุมภายนอก” และ “จอหมุนได้”

การควบคุมภายนอกของ P7700 เรียกได้ว่าค่อนข้างจัดเต็ม มีตัวหมุนสำหรับเลือก Option ต่างๆ เต็มไปหมด ด้านบนตัวกล้องนั้นนอกจาก Mode Dial และ Exposure Compensation ยังมี Option Dial ซึ่งไว้หมุนเพื่อเข้า Menu การตั้งค่าต่างๆ ที่เราอาจจะเปลี่ยนบ่อยๆ เช่น ISO, White Balance, Picture Control ซึ่งตรงนี้เป็นอย่างหนึ่งที่ผมโคตรชอบเลย ไม่ต้องเข้าเมนูลึกลับซับซ้อนอะไร แต่หมุน Dial และกดปุ่ม มันจะเข้าเมนูพวกนี้ให้เอง (สำหรับ P7800 ตรงตำแหน่งนี้จะกลายเป็น EVF ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า Option Dial ตรงนี้จะหายไปเลย แล้วต้องเข้าเมนูแทนทั้งหมดหรือเปล่านะ)

ส่วน “จอหมุนได้” นี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งเลยว่าทำไมเลือกตัวนี้แทนตัวอื่น เพราะมันทำให้จัดองค์ประกอบเวลาถ่ายรูปคู่แบบนี้ได้ง่ายๆ น่ะสิ (ถ้าเป็นตัวอื่นอาจจะนิ้วขาด หัวขาด ฉากเบี้ยว หรืออะไรก็แล้วแต่ ถึงเลนส์มันจะมุมกว้างกว่าให้ได้เปรียบกว่าก็ตาม)


DSCN0557.jpg

จอหมุนได้ ถ่ายรูปแบบนี้ง่ายมาก


DSCN0241.jpg

ขนาดคุณภรรยา ที่ไม่ใช่คนชอบถ่ายรูปอะไรเท่าไหร่ ยังใช้ถ่ายรูปคู่แบบนี้ได้ง่ายๆ

แล้วก็ยังมีประโยชน์เวลาถ่ายมุมยาก เช่นมุมที่ต้องยกกล้องสูง แล้วถ่ายกดลงมา หรือมุมที่ต้องวางกล้องแทบจะติดพื้น ซึ่งถ้าไม่มีจอหมุนได้ลำบากนิดหน่อย เช่นรูปต่อไปนี้แทบจะต้องวางกล้องติดพื้นอยู่แล้ว แน่นอนว่าถ้าไม่มีจอหมุนได้หรือจอพับได้ นี่คงต้องตาเหล่พยายามมองจอหลัง ไม่ก็ต้องนอนราบกับพื้น หรือพยายามทำท่าฝืนธรรมชาติบางอย่างแน่ๆ ซึ่งอาจจะทำไม่ได้ในหลายสถานการณ์ (รูปนี้ถ่ายในวัด)


DSCN0977.jpg

Fallen Flower

ทั้งหมดนี้ก็คือเหตุผลที่เลือก Nikon P7700 มาเป็นกล้องคอมแพคตัวหลักในการใช้งานครับ อีกครั้งหนึ่ง “เซ็นเซอร์-สเปคของเลนส์-ความละเอียด-ขนาด-จอ”

ถามว่าจริงๆ แล้วอยากได้ที่มันตัวเล็กกว่านี้มั้ย ก็อยากนะครับ แต่อย่างที่บอกล่ะ ว่าเราต้องบาลานซ์กันระหว่างทุกอย่างที่เราอยากได้ ได้อย่างก็มักจะเสียอย่างสองอย่างเสมอๆ ถ้าถามว่าตอนนี้หลังจากเวลาผ่านไปค่อนปี มีตัวเลือกอื่นๆ อีกหลายตัว มันจะเปลี่ยนไปไหมล่ะ คำตอบก็คงไม่เปลี่ยนไปหรอกครับ (ถึง Panasonic LF1 จะแอบน่าสนใจ) … และที่สำคัญคือว่าผมก็มีกล้องคอมแพคขนาดโคตรเล็ก คุณภาพของภาพใช้ได้ ความละเอียดสูงพอควร มีโหมดโน่นนี่เยอะแยะเต็มไปหมด พกติดตัวตลอดเวลาอยู่แล้ว นั่นก็คือ iPhone 5 น่ะครับ ก็เลยเลือกตัวที่มันใหญ่ขึ้นอีกหน่อยดีกว่า เพื่อความสะดวกในการใช้งาน


DSCN0700.jpg

รถไฟฟ้ามาหานะเธอ

Handling & Ergonomic

เรื่องที่สำคัญมากสำหรับการใช้งานจริงก็คือ ความถนัดในการจับ ซึ่งตรงนี้ P7700 เรียกได้ว่าทำมาได้ “โคตรดี” ทุกอย่างมันเป๊ะไปหมด ตั้งแต่ขนาดของ Grip ด้านหน้า ยางที่อยู่บนตัวกล้องด้านหน้าและบน Grip และจุดวางนิ้วโป้งด้านหลัง รวมถึงขนาดและความโค้งเล็กน้อยของจุดวางนิ้วโป้ง เรียกได้ว่าทุกอย่างเป๊ะจริงๆ และคิดมาแบบละเอียดมากๆ น้ำหนักของตัวกล้องกับการออกแบบส่วนจับแบบนี้ให้ความมั่นใจในการถือตัวกล้องได้เยอะมาก และทำให้ถือได้แบบมั่นคงมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ Nikon V1 ซึ่งไม่ให้ความรู้สึกมั่นคงเวลาถือเท่าไหร่)

พอเป็นแบบนี้เวลาถือถ่ายจริง ก็เรียกว่าไม่ต้องกลัวมันจะไม่นิ่ง เวลาถือเดินไปไหนมาไหน ก็ไม่ต้องกลัวมันจะหลุดมือง่ายๆ เรียกได้ว่าโคตรเหมาะกับการเป็นกล้องถือเดินถ่ายรูปเล่นจริงๆ จังๆ เลยให้ตายเถอะ (ยิ่งคิดถึงความยืดหยุ่นของระยะเลนส์ และขนาดรูรับแสงที่ได้ ยิ่งเหมาะ)


DSCN1322.jpg

Flowers by the Window

สายคล้องคอที่ให้มา ยังคงค่อนข้างจะเส้นใหญ่แล้วก็หนาตามขนาดตัวกล้อง เช่นเดียวกับ P7000 (จริงๆ แล้วมันใหญ่ขนาดเอาไปคล้องสะพาน DSLR ตัวเล็กๆ ยังไหวเลย พวก Mirrorless นี่สบายมาก หลายตัวให้มาเส้นเล็กกว่านี้เยอะ) เรียกว่าให้อารมณ์ “ลูกของ DSLR” กันสุดๆ แต่เวลาใช้จริงผมไม่ค่อยเอามาสะพายเท่าไหร่แฮะ ชอบเอามาพันๆ แขนหรือข้อมือไว้ แล้วถือเดินถ่ายมากกว่า)

Lens Cap

ประเด็นถัดมาคือ Lens Cap หรือฝาปิดหน้าเลนส์ ซึ่ง Nikon P7700 มาแปลก ด้วยการใช้ฝาปิดจริงๆ แทนการใช้ฝาเปิดปิดอัตโนมัติเหมือนกับ P7000

อันที่จริงผมเคยบ่น Panasonic LX3 ในเรื่องนี้อยู่นะ ในรีวิวทั้งสองตอน (LX3 #1, LX3 #2) แล้วเหตุผลหนึ่งที่ผมเลือก P7000 ตอนนั้น มากกว่า LX5 นอกจากเหตุผลเรื่องของเลนส์ แล้วก็คือเรื่องฝาปิดเลนส์อัตโนมัติเนี่ยแหละ แล้วคราวนี้ล่ะ?


DSCN0826.jpg

เทียนหลากสี
สถานที่: บ้านหอมเทียน ราชบุรี

บอกตามตรง Nikon P7000 ทำให้ผมได้รู้ถึง “ข้อเสีย” ของฝาปิดเลนส์อัตโนมัติอยู่ 2 ข้อครับ ข้อแรกเป็นข้อเสียในเชิงการสร้างสรรค์ภาพ นั่นคือการใช้ Filter ต่างๆ เพิ่ม โดยเฉพาะ CPL นั้นไม่สามารถทำได้ตรงๆ แบบง่ายๆ ส่วนอีกข้อหนึ่งเป็นข้อเสียแบบ “บั๊ก” ก็คือว่าใช้ๆ ไป แล้วมันมีความเป็นไปได้ที่จะมีฝุ่นหรือทรายหรืออะไรก็แล้วแต่ เข้าไปขัดการทำงานฝาปิดเลนส์ ทำให้เวลาเปิดสวิทช์แล้วฝามัน “เปิดไม่สุด” ต้องคอยสังเกตแล้วคอยเอานิ้วเขี่ยให้มันเปิดสุด ซึ่งถ้ามันเปิดไม่สุดก็จะไปบังเลนส์เวลาถ่ายรูป เสียรูปและเสียอารมณ์ได้ง่ายๆ

P7700 ใช้ฝาปิดเลนส์ขนาด 40.5mm ซึ่งเป็นหนึ่งในขนาดมาตรฐานของ Nikon นั่นก็แปลว่าหา Filter ง่าย และไม่ต้องกลัวหาซื้อฝาปิดเลนส์ไม่ได้ แล้วยังหมุนใส่ Filter ตรงๆ ได้เลย ไม่ต้องเพิ่มอะไรทั้งนั้น

ในการใช้งานจริง ผมใส่ Nikon NC Filter ค้างเอาไว้เลย แล้วก็เก็บฝาปิดเลนส์ไว้ในกระเป๋ากล้อง มีปัญหาอะไร เจอฝุ่นเจอน้ำเจอลมก็เช็ดออก พอหมดวัน กลับบ้าน เลิกถ่ายแล้วค่อยเอากลับมาปิด เรียกว่าลืมประเด็นนี้ทิ้งไปเลย


DSCN1556.jpg

Location Review
คุณภรรยากำลังอัดคลิปตัวเองแนะนำแหล่งท่องเที่ยว

Responsiveness

เรื่องต่อมาคือ การตอบสนองต่างๆ ของกล้อง ซึ่งถ้าถือว่ามันเป็น “กล้องคอมแพคของ Nikon” ก็เรียกได้ว่าค่อนข้างทำได้ดี ผมก็ไม่ค่อยเข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนะ แต่กล้อง Nikon นี่มันหาความ Consistent เรื่องนี้ไม่ได้เลย กล้องใหญ่แต่ละตัวนี่เรียกว่าทำงานกันไวสายฟ้าแลบ กล้อง Mirrorless อย่าง Nikon 1 ก็ขายความไว ความเร็วในการทำงาน (แล้วจริงๆ มันก็ทำงานเร็วจริงๆ) แต่พอมาระดับคอมแพคนี่ …. เรียกได้ว่ามีชื่อเสียงไม่ค่อยดีเท่าไหร่กับเรื่องนี้

เริ่มจากการเปิดกล้อง จากปิดอยู่ มาถึงพร้อมถ่าย ทำได้ในเวลาไม่นานนัก โดยมีข้อแม้ง่ายๆ ว่า “ต้องปิด Welcome Screen ที่สุดแสนจะไร้ประโยชน์ทิ้งไปซะก่อน” การมีกับไม่มี Welcome Screen (ซึ่งไม่ทำอะไรนอกจากแสดงข้อความว่า Coolpix) นี่ทำให้เวลาในการเปิดปิดเร็วช้าต่างกันหลายวินาที เรียกได้ว่าเปลี่ยนจาก “ช้าจนน่ารำคาญ” ไปจนถึง “เร็วปกติที่กล้องระดับนี้ควรทำได้” เลยล่ะ

ดังนั้นถ้าใครมี P7700 (หรือกล้องคอมแพค Nikon ทั้งหมด รวมถึง Nikon 1 ด้วย) อย่าลืมเข้าเมนูไปปิด Welcome Screen ทิ้งซะนะครับ


DSCN1423.jpg

ตัวไหนมาแหยมหน้าบ้านตูฟะ แง่ง!
เจ้าไอโฟนเป็นสายสไนเปอร์ ต้องส่องจากระเบียงชั้น 3

การตอบสนองของการเข้าเมนู และการตั้งค่าต่างๆ ถือได้ว่าทำได้ดีเลย ไม่ถึงกับลื่นปรื๊ด เพราะยังมี Gap ในความรู้สึกอยู่บ้าง ระหว่างจังหวะที่กดปุ่ม กับจังหวะที่เห็นผลการตอบสนองบนหน้าจอ อาจเป็นเรื่องของการเขียนโปรแกรมแสดงผลให้ดูต่อเนื่องมากกว่าจะเป็นความช้า ถ้าเขียนโปรแกรมให้ดูลื่นกว่านี้อีกนิดอาจจะดูดีขึ้น เพราะว่าจริงๆ มันก็ไม่ได้ช้าเลยนะ (ว่าไงดี “Not slow but appears so” ว่างั้นเถอะ)

แต่ประสิทธิภาพในการใช้ถ่ายรูปนี่เรียกได้ว่าเร็วเลยนะ ทั้งเรื่องการซูมเข้าออก เรื่องการหาโฟกัส เรื่องการถ่ายรูปจากจังหวะการกดชัตเตอร์ หรือเรื่องการประมวลผลจนกว่าจะถ่ายรูปต่อไปได้ ขนาดผมชินกับกล้องที่ทำงานไวๆ หลายต่อหลายตัว ยังไม่รู้สึกว่าตัวนี้ช้าแต่อย่างใด (แน่นอนว่ามันไม่ได้เร็วที่สุดหรอก) เรียกว่าได้สอบผ่านสบายๆ เลยกับเรื่องนี้


DSCN1539.jpg

ลิงบุกห้อง!
สถานที่: Centara กระบี่ (มิน่า ถึงเรียกว่า “กระบี่”)

เรื่องการเขียนไฟล์รูป ในกรณีของ JPEG จัดว่าทำได้เร็ว ส่วนถ้าเป็น RAW (ซึ่ง P7700 เป็นแบบ NRW ไม่ใช่ NEF) ค่อนข้างช้า เรียกว่าถ่ายแล้วก็ต้องรอสักหน่อยกว่าจะเขียนเสร็จ (รูปหนึ่งประมาณ 30MB ก็สมควรอยู่นะ) การเรียกดูไฟล์รูปจัดได้ว่าเร็วใช้ได้ แต่ถ้าจะลบนี่รู้สึกว่า Lag นิดๆ คล้ายๆ กับการตอบสนองในเมนูทั่วไป

สรุปแล้วเรื่องความเร็วในการทำงานและการตอบสนองต่างๆ จัดได้ว่าดี ยิ่งถ้าคิดว่ามันเป็นกล้องคอมแพคของ Nikon ยิ่งต้องถือว่าดีมาก แต่ถ้าเทียบกับ Nikon V1 แล้วก็นับว่าอืดกว่าแบบรู้สึกได้เล็กน้อย ส่วนเรื่องการตอบสนองในเรื่องโฟกัสเรียกได้ว่าดีมาก เร็วและค่อนข้างแม่นพอควร แต่ก็มีหลายครั้งเหมือนกันที่โฟกัสผิดไปจากจุดที่เราอยากให้มันจับ ซึ่งแก้ได้โดยจัดโฟกัสกลางภาพเลย โฟกัสก่อนแล้วค่อยจัดองค์ประกอบ ซึ่งก็ใช้ได้ดีถ้าเราถ่ายของที่มันอยู่นิ่งๆ ให้เราถ่าย แต่ถ้าเจออะไรที่เคลื่อนไหวได้เมื่อไหร่ ก็ตัวใครตัวมัน (จริงๆ กล้องคอมแพคแทบจะทั้งหมด มีปัญหากับเรื่องนี้อยู่แล้ว)


DSCN1636.jpg

Walking on the Beach

Lens

ก่อนหน้านี้เขียนถึงเรื่องสเปคเลนส์ตัวนี้มาเยอะแล้ว คราวนี้มาถึงเรื่องการใช้งานจริงบ้างว่าเป็นยังไง คมมั้ย ชัดมั้ย สีสัน คอนทราสท์เป็นไงบ้าง ฯลฯ ซึ่งรวมๆ ผมก็ต้องบอกว่า “เกินคาด” ครับ สำหรับเลนส์ Nikkor 6-42.8mm (เทียบเท่า 28-200mm) f/2-4 ตัวนี้

ย้อนเวลากลับไปสมัยที่ใช้ LX3 ก็มีโอกาสใช้ Nikon P6000 ซึ่งเป็นกล้องคู่แข่งในยุคเดียวกัน (ทำนองเดียวกับ P7000 และ LX5, P7700 และ LX7) ตอนนั้นความแตกต่างชัดเจนมากระหว่างรูปที่ได้จาก LX3 และจาก P6000 ซึ่งผมเดาว่าเลนส์ซึ่งออกแบบโดย Leica ใน LX3 มันมีผลกับความแตกต่างทุกอย่างในรูปที่ผมเห็น มันคมกว่า สีสันดีกว่า คอนทราสท์จัดกว่า ฯลฯ อย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่ P6000 คุณภาพของภาพที่ได้มันแย่กว่ากันอย่างชัดเจน (ไม่ใช่แค่นั้น P6000 เลนส์ค่อนข้างสเปคแย่ด้วยล่ะ)


DSCN1799.jpg

ท่าเรือเล็ก

พอมาถึง P7000 ถึงจะมีการปรับปรุงคุณภาพเรื่องเลนส์ขึ้นมาแบบเห็นความแตกต่างได้ แต่ก็ยังมีหลายเรื่องที่ผมยังไม่ชอบมันมากเท่าไหร่นัก เรื่องหนึ่งก็คือความไวแสงที่น้อยไปหน่อย อีกเรื่องก็คือความคมของเลนส์ในหลายช่วงของการซูม แล้วก็เรื่องขอบภาพ

แต่ว่า P7700 นี่เรียกว่า Nikon จัดมาให้แบบแจ่มครับ รูรับแสงที่ช่วงกว้าง f/2 แม้ว่าจะไม่กว้างเท่าไหร่ น้อยกว่าคู่แข่งหลายตัวที่ให้มา f/1.8 อยู่หน่อยนึง (แต่แย่กว่า LX7 ที่ให้ f/1.4 อยู่ 1-stop เต็มๆ) แต่ปลายทางที่ f/4 ที่ 200mm นี่ถือได้ว่ากว้างกว่าตัวอื่นที่ระยะไกลเท่ากันครับ (ตัวที่ได้ไม่ไกลขนาดนี้ไม่นับ ฮ่าๆ) ไม่ใช่แค่นั้น เลนส์ตัวนี้คมครับ คมมากโดยเฉพาะช่วงมุมกว้าง คมจัดเลยทีเดียวล่ะ รายละเอียดยิบย่อยเล็กน้อยแค่ไหนไม่ต้องห่วง พวกเก็บได้เรียบ แล้วตลอดช่วงของการซูมก็จัดได้ว่าไม่เสียความคมไปแบบน่าเกลียด จะมีช่วงปลายสุดของซูม ที่ดูดรอปลงอย่างเห็นได้เหมือนกัน


DSCN2032.jpg

ส่องข้ามรีสอร์ท

ยกตัวอย่างภาพข้างบนนี้ ถึงจะซูมสุดช่วง ก็ยังคงความคม รายละเอียด สีสัน และคอนทราสท์เอาไว้ให้แบบใช้งานได้สบายๆ ซึ่งถ้าจะถามผมว่า P7700 มีอะไรเหนือกว่า P7000 มากที่สุด คำตอบง่ายๆ ก็คือ “เลนส์” นี่แหละครับ แล้วถ้าจะถามผมว่าแล้วกับกล้องคอมแพคคู่แข่งตัวอื่นๆ ที่มีในตอนนี้ล่ะ ผมก็ยังเชื่อว่าเลนส์ที่มีใน P7700 ตัวนี้ไม่แพ้ใครแน่นอน ต่อยกับ Leica Vario-Summilux ใน LX7 ได้สบายๆ แน่ๆ ส่วนกล้องคอมแพคตัวอื่น ผมไม่ขอคอมเมนท์นะครับ เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ในการใช้งานจริงๆ พูดถึงไปก็เท่านั้น


DSCN1730.jpg

Mountain in the Sea

แต่แน่นอนว่ามันไม่มีเลนส์ที่ไหนไม่มีข้อเสีย ตัวนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด ขอบม่วงก็โผล่มาให้เห็นง่าย ซึ่งอันนี้เลนส์ส่วนมากก็เป็นกันน่ะแหละ แล้วก็เวลาถ่ายเยื้องแสง (คือมีแหล่งกำเนิดแสงส่องเข้ามาจากข้างๆ) ก็จะเสียคอนทราสท์ค่อนข้างง่ายนะ วิธีแก้ง่ายๆ ก็คือใช้มือบังๆ ไว้หน่อยตอนถ่าย (ใช้มือเป็น Hood) ก็จะช่วยได้บ้าง

ส่วน Lens Hood น่ะเหรอ มีให้สั่งนะ ผมเคยลองซื้อของ 3rd Party ที่ทำมาแทบจะเหมือนกับของแท้เลยอยู่พักนึง สรุปว่ามันแทบจะไม่ช่วยอะไร แถมทำให้กล้องยิ่งดูตัวใหญ่ เทอะทะหนักเข้าไปอีก ดังนั้นก็อย่าเลย ไม่ใช้มันซะดีกว่า (หน้าตากล้องก็หล่อน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดด้วย)


DSCN1354.jpg

Red Leaves

เรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวกับเลนส์ก็คือ ระบบกันสั่น ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็มีชื่อเรียกต่างๆ กันไป ส่วน Nikon เรียกว่า Vibration Reduction (VR) สำหรับ P7700 นี้ให้ VR แบบ Lens-Based ซึ่งสามารถกันสั่นได้ประมาณ 4 stops และเท่าที่ลองทดสอบดู ก็พบว่าใช้งานได้ตามราคาคุยนะ ถือถ่ายในที่มืดๆ แสงน้อยๆ ชัตเตอร์ความเร็วต่ำๆ พอจะไหว

Actual Shooting

ใครที่คุ้นเคยกับกล้อง Nikon อยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเลยในการใช้งาน P7700 เพราะมันจะคุ้นเคยกับระบบไปซะทุกอย่าง ต้งแต่ Mode Dial ด้านบน ไปจนถึงลักษณะของ Menu และชื่อเรียก Picture Profile ต่างๆ


DSCN1972.jpg

[ยังไม่ตั้งชื่อ]

ปกติเวลาถ่ายรูปผมจะใช้โหมด Aperture Priority กับกล้องทุกตัว นานๆ จะใช้ Shutter Priority สักทีหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น D700, Fujifilm X100s, XPro1 หรือแม้แต่ Leica M แต่กับ P7700 ผมจะใช้แต่โหมดปัญญาอ่อน (โหมด “P” ย่อมาจาก Pan-ya-on ฮ่าๆ ขำๆ เล่นๆ นะครับ) คือตั้งไว้แล้วถ่ายอย่างเดียวเท่านั้น นานๆ จะใช้ Shutter Priority สักที

เหตุผลง่ายๆ 2 ข้อ ก็คือ ด้วยขนาดของเซ็นเซอร์ที่เล็กมาก ทำให้การควบคุมรูรับแสงเพื่อคุมระยะชัดเป็นเรื่องที่ทำไปก็ป่วยการ มันจะชัดแทบทั้งภาพด้วยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว (คำอธิบายอ่านที่: “ว่าด้วย “ขนาด Sensor” [1]: Crop Factor และผลต่อ DoF & FoV”) และอีกข้อก็คือ ด้วยขนาดเซ็นเซอร์ที่เล็กอีกน่ะแหละ ทำให้การใช้รูรับแสงแคบมากๆ แทบจะเป็นเรื่องต้องห้าม เพราะมันจะเกิดการกระจายแสง (Diffraction) เร็วมาก ดังนั้นถึงจะอยู่ในโหมด P กล้องก็จะเลือกรูรับแสงกว้างๆ มาให้ใช้เป็นปกติอยู่แล้ว


DSCN0291.jpg

มีที่กั้น กั้นไว้ ก็ยังออกไปกันน่อ …. เพียบเลย .. ให้ได้ยังงี้สิ
สถานที่: ภูชี้ฟ้า

แต่ถ้าบางครั้งอยากใช้รูรับแสงกว้างๆ จริงๆ แล้วด้วยความแสงมันจ้า กล้องมันดันเอารูรับแสงแคบมาให้ใช้ แล้วกลัวเสียความคมเพราะ Diffraction ก็ใช้วิธีเปิด ND Filter ในตัวกล้องก็ได้ โดยผมตั้งปุ่ม Fn2 ไว้สำหรับเปิด ND Filter โดยเฉพาะ จะว่าไป บนเซ็นเซอร์เล็กแบบนี้ การใช้รูรับแสงกว้างก็เพื่อใช้ Shutter Speed ไว และเพื่อป้องกัน Diffraction มากกว่าเล่นกับ Depth-of-Field (อ่อ สำหรับปุ่ม Fn ผมตั้งไว้สำหรับถ่าย RAW)

ระบบวัดแสงก็ถือว่าทำได้ค่อนข้างจะแม่นในสถานการณ์ปกติๆ ทั่วๆ ไป แต่ถ้ารู้สึกว่ามันไม่น่าจะแม่นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็หมุน Exposure Compensation Dial ด้านบนตัวกล้องได้เลย สะดวกมาก (นี่แหละเป็นเหตุผลว่าทำไมกล้องทุกตัวควรมี Exposure Compensation Dial แยกไว้แบบนี้เลย)


DSCN0378.jpg

The Rooftop

สุดท้ายก็เรื่องแฟลช เนื่องจากมันมี Hot Shoe ดังนั้นก็ต่อแฟลชแยกได้ แต่ผมไม่เคยใช้นะ ใช้แต่แฟลชที่ติดมากับกล้อง ซึ่งถึงจะเป็นแฟลชตัวเล็กๆ กำลังไม่สูงมากนัก แต่ก็มีประโยชน์เวลาถ่ายรูปที่ต้องการ Fill Flash พอสมควรเลย (ไม่งั้นก็จะหน้ามืด ถ้าหมุนชดเชยแสงฉากหลังก็จะหาย) แบบรูปต่อไปนี้


DSCN2140.jpg

The Storm is Coming (see the background)

ส่วนพวกสารพัด Creative Mode ทั้ง Effect Mode (Creative Monochrome, Painting, Zoom Exposure, Defocus during exposure, Cross Process, Soft, Nostalgic sepia, High-Key, Low-Key, Selective Color) และ Scene (Portrait, Landscape, Sports, Night Portrait, Party/Indoor, Beach, Snow, Sunset, Dusk/Dawn, Night Landscape, Close-up, Food, Museum, Firework show, Black and White copy, Backlighting, Panorama, Pet portrait, 3D Photography) นี่บอกตามตรงว่าผมไม่เคยแตะเลย ไม่คิดจะลองเล่นด้วย ไม่ใช่แนวอ่ะ เยอะเกิ๊น -_-“

Image Quality

คงไม่ต้องพูดถึงอะไรมาก เพราะคงเห็นรูปมาเยอะแล้วตั้งแต่ต้นรีวิว :-)

ภาพผลลัพธ์ที่ได้จากกล้อง จะเป็นผลจากองค์ประกอบ 3 อย่าง ก็คือ เลนส์ เซ็นเซอร์ และหน่วยประมวลผลภาพ ซึ่งถ้าดูจากองค์ประกอบทั้งหมด คาดหวังได้เลยว่าภาพจาก P7700 จะเจ๋ง แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ น่ะแหละ


DSCN1932.jpg

Waiting for the Sun
สถานที่: ศรีพันวา ภูเก็ต

เซ็นเซอร์กับเลนส์พูดถึงไปเยอะแล้ว คงไม่พูดอะไรซ้ำซ้อนมากมาย แต่อยากจะย้ำว่า เซ็นเซอร์ใน P7700 ตัวนี้ เป็นเซ็นเซอร์ขนาด 1/1.7″ ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งที่มีตอนนี้ แล้วก็เลนส์ตัวนี้ก็จัดว่าโคตรเจ๋ง เรียกว่าคู่เซ็นเซอร์กับเลนส์นี่ช่วยกันเก็บรายละเอียดของภาพที่จะถ่ายได้แบบไม่ต้องห่วงต้องกังวลอะไร ดังนั้นก็เหลือแค่ผลจากระบบประมวลผลภาพล่ะว่าจะเป็นยังไง สำหรับ P7700 นั้น หน่วยประมวลผลภาพคือ EXPEED C2 (คนละตัวกับ EXPEED 2 นะ)

ถ้าจะมีเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ค่อยห่วงเท่าไหร่กับกล้อง Nikon ก็คือเรื่องระบบประมวลผลภาพเนี่ยแหละ อาจจะเป็นเพราะว่าผมคุ้นเคยกับผลลัพธ์ของพวกมันจากที่ใช้ในกล้องใหญ่ของ Nikon ที่ไม่เคยทำให้ผมผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บรายละเอียดของสีสัน การถ่ายทอด Dynamic Range การจัดการกับ Noise ในภาพ การจัดการกับความต่างแสงเยอะๆ และแน่นอน การแปลงภาพเป็น JPEG


DSCN0757.jpg

ตะเกียงไฟฟ้า

ภาพที่ได้จาก P7700 ให้สีสันสวย คอนทราสท์ดี DR ดีมาก (สำหรับคอมแพคนะครับ อย่าคิดเอาไปเทียบกับ DR ที่ได้จากเซ็นเซอร์ใหญ่กว่านี้เชียว) แม้ว่าจะเป็น JPEG ก็ยังเก็บรายละเอียดให้ใช้ได้อย่างค่อนเพียงพอสำหรับทำไฟล์ต่อได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าถ่ายเป็น RAW มานะ ทำไฟล์แบบค่อนข้างโหด ค่อนข้างเล่นแบบมือหนักได้เลย เนื้อไฟล์ยืดหยุ่นพอ ข้อมูลในไฟล์เหลือเฟือ (อีกครั้ง: แน่นอนว่าสู้เซ็นเซอร์ใหญ่กว่าไม่ได้โดยธรรมชาติ)

สำหรับเรื่อง Noise และการใช้ High ISO นั้น เซ็นเซอร์ 1/1.7″ ก็ยังคงเป็นเซ็นเซอร์ 1/1.7″ วันยังค่ำครับ ยังไงๆ ก็มีให้เห็น แต่ตอนนี้ดีกว่าเดิมเยอะแล้ว อย่างน้อยๆ ที่ Base ISO (80) นี่เกลี้ยงเกลา ไม่มีโผล่มาให้เจอ ที่ ISO ต่ำก็ยังสะอาด การใช้งานถึง ISO 400 ทำได้สบายๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรเลย


DSCN0841.jpg

ไฟในแก้ว — ISO 400

สำหรับ ISO สูงกว่า 400 ก็ยังใช้งานได้สบายๆ นะ ที่ผ่านมาในรีวิวนี้ก็เห็นรูปจาก ISO สูงกว่านั้นไปแล้ว 2 รูป คือ รูปแรกที่ผมอาบน้ำให้หมา นั่น ISO 1000 แล้วก็รูปดอกหญ้าริมทาง รอพระอาทิตย์ขึ้น นั่น ISO 800 จะเห็นว่าในการใช้งานระดับนี้ ระดับคนทั่วๆ ไปถ่ายรูปเล่น โพสท์ลงเว็บบ้าง อัดรูปขนาดไม่ใหญ่บ้าง เรียกได้ว่าไม่น่าเกลียดเลย แล้วถ้าจำเป็นจริงๆ ผมใช้ ISO ถึง 1600 บ่อยๆ เหมือนกัน แต่ก็ต้องทำใจว่ารายละเอียดหายเพราะ Noise กันบ้างนะ กับ ISO ระดับนั้น เพราะว่าถึงจุดนั้น Noise จะโผล่มาชัดๆ แล้วล่ะ


DSCN0085.jpg

ที่พักบนดอยแม่สลอง — ISO 1600

เอาเป็นว่า เรื่อง Image Quality ไม่ใช่เรื่องที่ต้องห่วงอะไรเลยกับ P7700 สู้กับตัวอื่น และใช้แทนกล้องใหญ่ในวันสบายๆ สถานการณ์ไม่ Demanding มากนัก ไม่ต้องการรีดรายละเอียดของทุกสิ่งทุกอย่างให้ได้ทุกหยดมากนัก ได้สบายมาก

Firmware

P7700 ก็เหมือนกับกล้องดิจิทัลทั่วไป ที่มี Firmware ออกมาอัพเดทความสามารถเป็นระยะๆ แต่เท่าที่ผ่านมา ทั้งเวอร์ชั่น 1.1 และ 1.2 ยังไม่มีอะไรที่เรียกว่า เป็นการเพิ่มความสามารถหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเลย มีแต่แก้ปัญหานี่นั่นโน่นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งตัวผมเองยังไม่เคยเจอปัญหาเหล่านั้น ก็เลยยังไม่ได้อัพเดทแต่อย่างใด ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงไม่สามารถบอกได้ว่าทั้ง 1.1 และ 1.2 ได้ทำให้อะไรมันดีขึ้นหรือเปล่า (ผมยังมีความสุขดีกับ Firmware 1.0)

จริงๆ ก็ยังแอบหวังเล็กๆ น้อยๆ ว่าวันหนึ่งมันจะมี Firmware 1.3 หรืออาจจะ 2.0 มาพร้อมกับคำว่า Improve Menu Performance หรือ Improve Whatever Performance อยู่นะ แต่คงจะเป็นความหวังที่ลมจัด เพราะว่าที่ผ่านมา Nikon ไม่ค่อยจะออก Firmware แบบนั้นเท่าไหร่ (ไม่เหมือนกับ Fujifilm)


DSCN1956.jpg

Keeping the Beach Clean

อื่นๆ จิปาถะ

ก็เหลือแต่เรื่องเล็กเรื่องน้อยล่ะนะครับ เริ่มจากแบตเตอรี่ ที่ใช้ถ่ายได้ประมาณ 330 รูป ซึ่งผมก็ไม่เคยนับจริงอ่ะนะ ว่าจริงๆ แล้วมันใช้ได้ขนาดนั้นหรือเปล่า แต่การที่มันใช้แบตฯ รุ่นเดียวกับ ​P7000 ทำให้ผมไม่ต้องซื้อแบตฯ สำรองใหม่ ก็สบายขึ้นหน่อย แล้วก็ต้องชมเรื่องตัวแสดงสถานะของแบตฯ ว่าทำได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับ P7000

ส่วนเรื่องการที่มันไม่มี Optical Viewfinder เหมือนกับ P7000 ถามว่าอึดอัดมั้ย ไม่เลยครับ กลับกันด้วยซ้ำ เพราะว่า Viewfinder ใน P7000 มันห่วยเกินไป เล็กเกินไป จนไม่รู้สึกว่าจะมีประโยชน์อะไรตรงไหนเลย แต่ P7800 ก็ใส่ Viewfinder กลับเข้ามาให้อีกครั้ง แต่เป็น Electronic ซึ่งผมยังไม่เคยลองดูด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นไงบ้าง บอกได้คร่าวๆ ว่าถ้าทำออกมาระดับเดียวกับ Nikon V1 ก็เรียกได้ว่าแจ่ม และคิดว่าทำให้น่าใช้ขึ้นอีกพอสมควร


DSCN0340.jpg

Ordinary Landscape

Conclusion

ก็จบลงอีกรีวิวหนึ่งครับ สำหรับกล้องคอมแพคตัวที่ผมใช้เป็นหลักอยู่ ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ ว่าเป็นยังไง ก็บอกได้ง่ายๆ ว่าใช้แทนกล้องใหญ่ได้สบายในสถานการณ์ทั่วไป ยิ่งถ้าแสงดีๆ แดดดีๆ และไม่ต้องการรีดเค้นรายละเอียดของที่แสงจ้า (ที่ยังไงๆ มันก็หายง่าย) เท่าไหร่ นี่เรียกว่าดีเลยล่ะ ส่วนในกรณีที่ต้องรีด ไฟล์ RAW ก็ยังมีข้อมูลให้รีดเหลือเฟือ แล้วปัจจัยต่างๆ ในฐานะกล้อง ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ เลนส์ และตัวประมวลผลภาพ เรียกได้ว่าสอบผ่านสบายๆ และไม่ใช่ผ่านธรรมดาๆ นะครับ ผ่านแบบแจ่มๆ เลยด้วย

แต่ตอนนี้ทางเลือกสำหรับกล้องคอมแพคมันก็มีหลากหลายพอควร ในตลาดที่กำลังจะตายเพราะความเจ๋งของกล้องในโทรศัพท์มือถือสมัยนี้ ที่มันใช้งาน Daily Snap หรือ Trip Snap แทนกล้องจริงๆ กันได้หมดแล้ว ดังนั้นก็ลองไปจับ ไปเล่นดูเองจะดีที่สุดครับ ของที่มันเหมาะมือผม อาจจะไม่เหมาะเลยกับคุณก็ได้


DSCN2124.jpg

Memory in the Rain

กล้องทุกตัวเดี๋ยวนี้ มันดีเพียงพอหมดแหละครับ กล้องที่ดีที่สุด ก็คือตัวที่เราใช้แล้ว จับแล้ว มีความสุข เอาออกไปถ่ายภาพได้แบบมีความสุข รูปร่างหน้าตาเห็นแล้วมีความสุข ฯลฯ หยิบตัวไหนก็ได้ทั้งนั้น แล้วก็ออกไปมองหาความสวยงามของโลกรอบๆ ตัวเรา ที่เราโชคดีพอที่บังเอิญได้เห็นมัน เก็บมันเอาไว้ตลอดกาลในภาพถ่ายสักใบ ที่เรามองกี่ครั้งก็ทำให้นึกถึงความสุขตอนที่ได้เห็นมันดีกว่าครับ