My Leica Story [3]: The M Typ 240 (M240) + Review

[อัพเดท: 10/17/2013] เพิ่มเรื่องไฟล์ RAW และภาพเปรียบเทียบ
[อัพเดท: 10/18/2013] เพิ่มเรื่อง JPEG Processing Capability


ความเดิม:

กล่องที่ยังไม่ได้แกะของ Leica M Typ 240 (ซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกย่อๆ ว่า M240 นะ) วางอยู่ตรงหน้าผมแล้ว บอกตามตรงเลยว่าผมมี First Impression ที่ดีมากกับเจ้า M240 ตั้งแต่ผมเห็นกล่องล่ะครับ กล่องของ M240 มีรูปทรงเปลี่ยนไปจาก M8 และ M9 แบบเห็นได้ชัด ดูเล็กลง แต่ “Lean” ขึ้นอย่างรู้สึกได้ และเมื่อเปิดกล่องออกมายิ่งรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงในเชิงการออกแบบในทางที่ดีขึ้น การออกแบบการจัดเก็บต่างๆ ภายในกล่องถูกออกแบบในรูปแบบของลิ้นชัก แยกชัดเจนระหว่างตัวกล้อง อุปกรณ์ และสายไฟต่างๆ (แล้วในส่วนเก็บสายไฟ นี่เปิดมาเจอสายชาร์จในรถด้วยนี่รู้สึกฟินมาก เข้าใจผู้ใช้งานจริงๆ)


DSC_1178.jpg

The M

ผมค่อยๆ แกะดึงกล่องที่บรรจุตัวกล้อง ที่วางอยู่ที่ชั้นบนสุดภายในกล่องออกมา แล้วค่อยๆ เอาตัวกล้องออกจากพลาสติกที่ห่อมันเอาไว้ เอาเลนส์ 50mm f/1.4 Summilux ASPH ที่เอาไปด้วย เมาท์กับตัวกล้อง … ตั้งแต่ความรู้สึกแรกที่เอาเจ้า M240 ออกจากกล่อง มาถือในมือหลังจากเมาท์เลนส์ … ทุกความรู้สึกผมมันบอกล่ะครับว่า มันคือ ….

“The Best Digital M”

แต่มันจะเป็นยังงั้นจริงหรือเปล่า … เรื่องนี้ “ยาว” ครับ

ก่อนจะอ่านต่อ ต้องบอกไว้ก่อนว่า .. นี่ไม่ใช่ “รีวิว” ของ M240 นะครับ แต่เป็นการเขียนถึงความรู้สึกต่างๆ จากการใช้งานจริงของผู้ใช้คนหนึ่ง ถึงจะออกแนวรีวิวมากกว่าทั้งสองตอนที่ผ่านมาก็เถอะ … ถ้าไม่ชอบบทความอารมณ์ “เล่าเรื่องราว” ก็ข้ามไปนะครับ อย่ากดเข้าไปอ่านต่อ :-)


Disclaimer เกี่ยวกับรูปถ่าย: ทุกรูปที่ลงในบทความนี้ ไม่มีรูปไหนที่ “จบหลังกล้อง” ทุกรูปถ่ายเป็น RAW (ส่วนรูปไหนถ่ายเป็น JPEG จะบอกไว้ที่รูป) และมีการทำต่อใน Lightroom เพื่อให้เห็นผลจากการใช้งานจริงในแบบ Real-World Usage ไม่ใช่เน้นแบบ Lab-Test รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset: [Compilation] Leica M (Typ 240) ซึ่งสำหรับ Photoset บน Flickr นั้นจะมีการลงรูปเพิ่มเติมเรื่อยๆ ด้วยครับ



L1000064.jpg

หมาน้อยจะนอนๆ
เป็นครั้งแรกที่ใช้ ISO 2000 ได้กับ Leica M โดยไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น

External & Handling Changes: Small Things that Matter

แม้ว่าดูเผินๆ แล้วเจ้า M240 จะไม่มีความแตกต่างจาก M9 มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นตัวสีดำด้วยแล้วก็แทบจะเหมือนกันเปี๊ยบ จะว่าไปแล้ว หน้าตารวมๆ ของกล้องตระกูลนี้นี่เป็นอะไรที่ท้าทายกาลเวลามาก เพราะว่ามันแทบไม่เปลี่ยนเลยมาเนิ่นนานกาเล แต่ที่มันเจ๋งก็คือ มันกลับมีอะไรเปลี่ยนแปลงเยอะไปหมด (ยิ่งถ้าเทียบกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกจาก M8 เป็น M9 เป็น M-E หรือ M-Monochrom ด้วยแล้วล่ะก็ คราวนี้จัดว่า “จัดหนัก” เลยทีเดียว) แต่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนี่ “เนียน” และทำให้มัน “ดีขึ้น” มาก

เริ่มจากสิ่งแรกที่รู้สึกได้ตั้งแต่หยิบกล้องขึ้นมา ซึ่งก็คือเจ้า Thumb-Grip ด้านหลัง ที่อยู่พอดิบพอดีตรงที่นิ้วหัวแม่มือจะอยู่เวลาที่ถือกล้อง ทำให้เวลาจับกล้องและถือไปถือมา ตลอดจนการใช้งานทำได้ถนัดมากขึ้นเยอะ นิ่งขึ้นเยอะ ที่สำคัญมากก็คือเมื่อดูผ่านๆ เผินๆ แล้วมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมาก แทบไม่มีความแตกต่าง ไม่ยื่นออกมาจนเสียทรงหรือมีความชัดเจนอะไรมากนี่แหละ


L1000003.jpg

Flower-Like Decorative Structure
รูปแรก จากการเดินเล่นกับ M ครั้งแรก … หลังแกะกล่อง เวลายังไม่ได้ตั้งเลย

ที่เจ๋งก็คือ ด้านขวามือของเจ้า Thumb-Grip นี่ยังทำหน้าที่เป็น Command Dial เอาไว้เปลี่ยนค่าต่างๆ รวมถึงการชดเชยแสง (แต่จะต้องใช้งานร่วมกับปุ่มที่อยู่ด้านหน้า) อีกด้วย ซึ่งการวาง Thumb-Grip ไว้ตรงนี้ และการออกแบบให้เป็น Command Dial ที่แทบจะไม่ต้องห่วงว่าจะเผลอเลื่อนในการใช้งานจริง (เพราะว่านิ้วจะกดอยู่อีกด้านหนึ่งของ Thumb-Grip) นี่ผมถือว่าเป็นการออกแบบที่เจ๋งมากครับ ได้ทั้ง Form และ Function แทบทุกอย่าง

ก็เลยต้องพูดถึงเรื่องปุ่มด้านหน้าซะหน่อย … เอาของที่หายไปก่อน ที่หายไปอย่างชัดเจนก็คือ Frame-Line Selector ที่เมื่อก่อนเราจะเลื่อนตัวสับ (คล้ายๆ คันโยกเล็กๆ) สลับไปสลับมาระหว่าง Frame-Line ระยะต่างๆ ได้ ตอนนี้หายไปล่ะครับ แล้ว Frame-Line จะเลือกยังไง คำตอบก็คือ มันจะ Detect จากเลนส์เอาอย่างเดียว ….


Reality among Images

Reality among Images

แล้วอะไรหายไปอีก ถ้าเรามองดีๆ ตรงด้านหน้าจะเห็นว่าหน้าต่างเล็กๆ มันหายไปอันหนึ่ง ใช่ครับ สิ่งที่หายไปคือ Frame-Line Illumination Window ที่เอาไว้ฉาย Frame-Line ไปยัง Viewfinder ทำให้เหลือแค่ Rangefinder Window และ Viewfinder เท่านั้น (เลยได้จุดแดงใหญ่ขึ้นมาอีกนิดหน่อย)

แล้วมันจะแสดง Frame-Line ยังไงล่ะ? คำตอบก็คือ ใช้เทคโนโลยีเดียวกับ M9 Titanium ครับ คือ ใช้ LED ในการฉาย Frame-Line แทน ซึ่งเราจะได้ Frame-Line ที่สว่างพอเหมาะสมกับสถานการณ์และแสงภายนอกค่อนข้างมาก เห็นชัดเจนในทุกกรณี ไม่ต้องกลัวอะไรไปบัง Frame-Line Illumination Windows เหมือนก่อน แล้วก็คราวนี้เราเลือกได้ด้วยว่าอยากได้ Frame-Line สีอะไร ระหว่างสีแดง กับสีขาว (ผมว่าหลายคนก็ยังเลือกสีขาวเหมือนเดิมแหละ ส่วนผมก็แล้วแต่อารมณ์ บางอารมณ์อยากได้สีแดง)


L1000112.jpg

ไหว้พระ

ด้านหน้ามีปุ่มเล็กๆ เพิ่มเข้ามา ซึ่งปุ่มนี้ทำหน้าที่สองอย่างครับ คือ ปรับการชดเชยแสง (ใช้ร่วมกับ Command Dial ด้านหลัง) และ Focus Assisting ซึ่งจะเรียกฟังก์ชั่นการช่วย Focus ในโหมด Live View .. แต่ไว้ว่างกันทีหลังกับเรื่องนี้นะครับ อีกเรื่องก็คือ มุมบนของกล้องด้าน Viewfinder กลับไปเป็นแบบ M8 อีกครั้ง ไม่มีหยักลงมาเป็นลักษณะเล่นระดับเหมือน M9 (แต่ใจร้าย ไม่ใส่ Info Screen เล็กๆ กลับมาให้เหมือน M8)

เมื่อหันกล้องไปด้านหลัง … น้ำตาแทบร่วงครับ …. เพราะว่ามันคือจอ LCD ขนาด 3″ ที่ความละเอียด 920k จุด … เหมือนชาวบ้านเค้าซะที คนอื่นเค้าให้กันระดับนี้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งความละเอียดขนาดนี้พอจะเอาไปใช้ดูอย่างอื่นนอกจากการตรวจสอบองค์ประกอบภาพกับเข้าเมนูตั้งค่าได้ล่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการตรวจสอบโฟกัส เพราะว่าจอเก่าตั้งแต่ M8, M9 มันความละเอียดต่ำไป ขนาดเล็กไป และคุณภาพห่วยไป จนเอาไว้ทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากดูองค์ประกอบอย่างเดียว อย่างที่เคยเขียนไปแล้ว


L1000008.jpg

หมวยเที่ยวไทย

แล้วพอผมเห็นด้านหลังเนี่ยแหละ ทำให้ผมรู้สึกว่าผมคิดถูกล่ะ ที่เลือกสีเงิน มากกว่าสีดำ เพราะว่าสำหรับรุ่นบอดี้สีดำ จะมีสิ่งแปลกปลอมแบบขัดเจนก็คือ D-Pad และ Command Dial ที่เป็นสีเงิน แทนที่จะเป็นสีดำล้วน! ตรงนี้ไม่รู้คนออกแบบเอาอะไรคิด ทำไมทำออกมาแปลกปลอมแบบนี้ก็ไม่รู้ (แบบเดียวกับ X Vario เป๊ะเลย กล้องสีดำ และมี D-Pad สีเงิน)

เอาล่ะ ลองซะหน่อย …. หวังว่าแบตฯ จะมีอยู่บ้างนะ (จริงๆ แล้วมันก็ควรมีแหละ เผื่อลูกค้าจะตรวจสอบสินค้า ผู้ผลิตก็ควรจะชาร์จมาให้เพียงพอ) ว่าแล้วก็ลองเปิดฝาปิดด้านล่างดู


L1000210.jpg

ดอกบัวในแจกัน

เมื่อเปิดฝาปิดด้านล่างก็จะเห็นการเปลี่ยนไปเยอะทีเดียวครับ โดยเฉพาะภายใน ที่รู้สึก Solid ขึ้นมาก เรียบและมีรอยต่อต่างๆ น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด และที่สำคัญ มันเป็น “เหล็ก” ครับ ทำให้รู้สึกเลยว่านี่มันยังเป็น “ภายนอก” ของตัวกล้องอยู่นะ ยังไม่ใช่ภายในซะทีเดียว แต่มีฝาปิดด้านล่างอยู่เพื่อป้องกันการเข้าถึง SD Card และแบตฯ เฉยๆ ในขณะที่ M8/9 จะรู้สึกว่ามันเป็น “ภายใน” ของกล้องมากกว่าเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องดีมาก

แล้วก็ … เรื่องเล็กๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ก็คือ Tripod Mount ที่ตอนนี้เป็น In-Body แล้วครับ ซึ่งจะทำให้ขาตั้งมันยึดติดกับตัวกล้อง ไม่ใช่แค่ยึดติดกับ Base Plate เหมือนก่อน เจ๋งเลย ให้ความมั่นใจขึ้นอีกเยอะเวลาใช้ขาตั้ง!


L1000015.jpg

Lunchtime

ตรงฝาปิดด้านล่าง จะมีบริเวณที่เป็นยางอยู่ตรงกับ SD Card ด้วย ตอนแรกผมคิดว่ามันจะแงะออกได้เพื่อให้เราเข้าถึง SD Card ได้โดยไม่ต้องเปิดฝาล่างซะอีก แต่ที่ไหนได้ มันเป็นบริเวณที่ให้สัญญาณ Wi-Fi เข้าถึง SD Card ได้ ในกรณีที่เราใช้พวก Wi-Fi Card ครับ (เพราะว่ารู้ๆ กันอยู่ ว่าสัญญาณพวกนี้กับโลหะ นี่เป็นอะไรที่ไม่ค่อยถูกกันเท่าไหร่)

นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น หมุดที่ยึดฝาล่างไว้กับตัวกล้อง เป็นวงกลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แทนที่จะเป็นลิ่มเล็กๆ ยื่นออกมาเฉยๆ หรือว่าการออกแบบภายในของฝาล่างเอง ซึ่งต่างไปเล็กน้อย แต่รวมๆ แล้วเรื่องฝาล่างนี่ ได้ใจผมไปเต็มๆ ครับ เพราะว่ามันเจ๋งขึ้นเยอะ รู้สึกแน่นขึ้น ทนขึ้น ถาวรขึ้นแบบรู้สึกได้มากๆ


L1000037.jpg

Little Touch Matters

ผมใส่แบตฯ เข้าไป แล้วเปิดสวิทช์ ซึ่งอยู่ที่ตำแหน่งเดิมพอดี แต่รู้สึกว่ามันแน่นขึ้น ฝืดขึ้นอย่างรู้สึกได้ ซึ่งจริงๆ เป็นเรื่องดีนะ เพราะว่าตอนที่ใช้ M8/9 นี่เผลอไปสะกิดให้มันเปลี่ยนตำแหน่งง่ายๆ อยู่เรื่อย บ่อยครั้งเสียโอกาสได้รูปไปง่ายๆ เพราะว่าหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายดันกลายเป็นโหมด Self-Timer ไปซะแล้ว

ลองกดปุ่ม INFO ซึ่งอยู่บน Control Pad ด้านขวาเพื่อตรวจสอบแบตฯ ซะหน่อย น่าจะเหลือพอที่จะถ่ายทดสอบสบายๆ แต่เห็นเมนูที่ชัดเจน สีของจอที่ดีขึ้น และความสว่างของจอ ผมก็ฟินล่ะ จากนั้นก็ลองเข้าเมนูเพื่อดูค่าต่างๆ สักหน่อยว่าเป็นยังไงบ้าง (แต่ก็ยังอุตส่าห์ลืมตั้งวันที่ เวลา Timezone ดังนั้นหลายรูปใน Review นี้ เวลาจะเพี้ยนไปเยอะหน่อย) .. แต่เรื่องเมนูเดี๋ยวว่ากันทีหลัง เพราะว่าอันนี้เราพูดกันเรื่อง External & Handling Changes อยู่

ใส่เลนส์เรียบร้อย เปิดกล้องเรียบร้อย ตั้งค่าเรียบร้อย แบตฯ พอ … จะกดชัตเตอร์ทดสอบล่ะนะ……….


L1000111.jpg

พระร่วงโรจนฤทธิ์ วัดพระปฐมเจดีย์

The Shooting Experience & Impression as the “M Camera”

“เดี๋ยวก่อนค่ะพี่!!!!!!” น้องคนที่เอากล้องมาให้ลองยกมือห้ามแทบไม่ทัน พร้อมกับหยิบโทรศัพท์โทรหาพี่ชาย เหมือนจะถามว่าจะให้ลองได้หรือเปล่า … เออ ลืมไป ผมยังไม่ได้ตกลงจ่ายเงินน้องเขาเลยนี่หว่า -_-” ดังนั้นก็สมเหตุสมผลที่จะไม่ให้ลองก่อน เพราะถ้าผมไม่เอาขึ้นมา เขาก็ยังเอาไปขายต่อคนอื่นได้ง่ายๆ ว่ามัน “ของใหม่ 100% แค่แกะใส่แบตฯ เปิดเช็คกล้อง ยังไม่ได้ถ่ายเลย”

“พี่จะเอาเลยหรือเปล่าคะ” เป็นคำถามต่อมา ผมก็เลยหยิบเงินที่เตรียมมาให้คุณน้องกับคุณแม่ที่มาด้วยนับ ครบจำนวน สบายใจกันทั้งสองฝ่าย กดชัตเตอร์ล่ะนะ

“แช๊ะ”

อันนี้มีกรี๊ดครับ …​


L1000376.jpg

มีชูสองนิ้วกี่คนเนี่ย
Car-Free Day Event

เริ่มจากน้ำหนักชัตเตอร์ที่ใช่มาก และที่สำคัญ “เสียงชัตเตอร์เพราะมาก” หนักแน่น เงียบให้ได้ยิน (คือไม่ได้เงียบกริบเหมือนกับพวก Mirrorless หรือ Compact ใหม่ๆ ที่ใช้ชัตเตอร์อิเล็กทรอนิกส์) ให้ความมั่นใจกับการถ่ายรูปได้เยี่ยม แถม แถม แถม …. มันมีเสียงแค่นั้น ไม่มีเสียงการ Recock ชัตเตอร์ตามมาเหมือนกับ M8/9 อีกแล้ว!

พลิกกล้องกลับไปดูด้านหลังก็ได้ยิ้มต่อ เพราะ LCD 3″ ตัวใหม่ มันดีเทียบเท่ามาตรฐานกล้องรุ่นท็อปในตลาดล่ะ คุณภาพของภาพที่เห็นไม่แตกต่างจากจอของพวก Nikon D800 ที่ผมคุ้นเคยสักเท่าไหร่ สีสันของจอที่ถ่ายทอดมาเรียกว่าทำได้ดี (แต่แน่นอนว่าภาพที่เห็นตัดสินเรื่องสีไม่ได้นะ เช่นเดียวกับกล้องแทบทุกตัว เพราะว่ามันเป็น JPEG ที่สร้างจาก RAW Data และใช้ Embedded Profile) การทำงานในการ Playback นับว่ารวดเร็ว การซูมเข้าไปดูรูปโดยใช้ Command Dial ตอบสนองดีกว่าที่ผมคิดเอาไว้ …. บอกตามตรงว่าแค่เสียงชัตเตอร์กับจอหลัง นี่ก็ทำให้ Impression ของการถ่ายรูปเปลี่ยนไปล่ะครับ


L1000382.jpg

Storm is coming

ที่จะเกี่ยวข้องกับการถ่ายรูปจริงๆ แน่ๆ ก็คือเรื่องของปรับค่า ซึ่งนั่นหมายถึงเมนูและปุ่มควบคุมต่างๆ

เมนูของ Leica M240 ก็ยังคงเป็นเมนูแบบ Leica หมายถึงค่อนข้างจะเรียบง่าย มีอะไรให้ตั้งค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าธรรมชาติของกล้องครับ การที่ไม่มีฟังก์ชั่นพวก Auto Focus หลายต่อหลายแบบ หรือการวัดแสงพิสดารหลายแบบ รวมถึงการตั้งค่าให้กับปุ่มโน่นปุ่มนี่เหมือนกับพวกกล้อง DSLR หรือ Mirrorless อีกหลายต่อหลายตัว นี่ทำให้โดยธรรมชาติแล้วมันต้องการเมนูที่ซับซ้อนน้อยกว่ากันเยอะ

เมนูของ M240 ยังคงเป็นแบบนั้นครับ แต่ว่าเมื่อเทียบกับ M8/9 แล้วมัน “เยอะกว่า” และ “ยาวกว่า” อย่างเห็นได้ชัด เพราะว่า M240 มีความเป็นกล้องดิจิทัล หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเยอะเมื่อเทียบกับ M8/9 อย่างน้อยๆ ก็มีระบบการทำงานของ Live View ทำให้มันมีการตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานใหม่นี้เพิ่มขึ้นมา แต่มันก็ยังไม่เยอะนะ แล้วก็เข้าใจไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องอ่านคู่มือก็พอจะเดาได้ว่ามันหมายถึงอะไร มีงงๆ บ้างเป็นบางจุด


L1000475.jpg

พระพุทธรูปเรียงราย

แต่เพราะมันเยอะขึ้นและยาวขึ้นเนี่ยแหละ ทำให้ตอนเข้าเมนูเพื่อไปตั้งค่าต่างๆ ก็แอบอยากได้ระบบการเข้าเมนูแบบของ Fujifilm นะ ที่สามารถกดเปลี่ยนหน้าได้เลย แทนที่จะต้องกดขึ้น/ลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดหน้า แล้วต่ออีกหน้าแบบ M240 … ระบบแบบนี้กับเมนูสั้นๆ แบบ M8/9 ไม่มีปัญหาครับ แต่ M240 จะขัดใจนิดๆ ยิ่งถ้าเคยใช้ตัวอื่นที่กดเปลี่ยนหน้าได้เลยมาก่อน

แล้ว M240 ก็ยังใช้ระบบ Menu แยกระหว่างการตั้งค่าทั่วไป กับการตั้งค่า User Profile (Shooting Profile) เหมือนเดิม อันแรกเข้าถึงได้จากปุ่ม Menu ส่วนอันหลังเข้าถึงได้จากปุ่ม Set


L1000447.jpg

Dharma and Prayer Study in Temple

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ค่อนข้างจะงงจริงๆ แล้วก็ต้องใช้เวลาเพื่อสร้างความเคยชิน ก็คือปุ่ม INFO/OK และปุ่ม SET ที่ทำงานคล้ายกัน ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะต้องกดตัวไหนดี บางครั้งต้องกด OK บางครั้งต้องกด SET ต้องใช้งานสักพักหนึ่งจริงๆ ถึงจะเริ่มคุ้นว่าเมื่อไหร่จะต้องกดตัวไหน

เกี่ยวกับเมนูและการตั้งค่านี่มีอยู่ 2 อย่างที่ผมอภัยไม่ได้ (ฮ่าๆ) ก็คือ

  1. Default Image Quality ที่เลือกไว้เป็น JPEG แทนที่จะเป็น RAW กับกล้องระดับนี้ .. ซึ่งพอบวกกับข้อต่อไปแล้วหายนะครับ คือ
  2. Option ในการเข้าถึงการทำ Factory Reset หรือการรีเซ็ทค่าทั้งหมดของกล้องมันเข้าถึงง่ายเกินไปนิด คือมันอยู่ติดกับ Format SD Card เลย แล้วมันดันแทบจะมี User Interface เหมือนกันเปี๊ยบ

จนมีอยู่ครั้งหนี่งที่ผมไป Reset ค่าทุกอย่างโดยไม่ตั้งใจ (อ่านเมนูไม่ดีเท่าไหร่ คิดว่ากำลังฟอร์แมท SD Card) ทำให้วันนั้นทั้งวันผมถ่ายมาแต่ JPEG โดยไม่รู้ตัว คิดว่าถ่าย RAW อยู่ทั้งวัน (ก็เลยโพสท์ผลงานจากวันนั้นไว้ที่ Flickr แยกอัลบั้มไว้ซะเลย JPEG จากกล้องแบบไม่แตะต้อง ไม่แต่ง ไม่ทำอะไรทั้งนั้น: [Test] Leica M (240) Out-of-Camera-JPEG)


Onward Home

Onward Home (ถ่ายตอน 6​ โมงเย็น แต่เวลาโดน Reset T_T)
JPEG จากกล้อง AWB ไม่ได้แต่งอะไรเพิ่มเติมแม้แต่อย่างเดียว ..

แต่ครั้งนั้นทำให้ผมบอกได้ว่า Out-of-Camera-JPEG ของ M240 นี่ทำผมตกใจเลยแฮะ เพราะว่ามันดีกว่า M8/9 แบบชัดเจนมาก แล้วเนื้อไฟล์ยังดีพอที่จะเอาไปทำอะไรเล่นได้อีกพอสมควรเลย (ทำ Minor/Medium Adjustment ได้สบายๆ มีข้อมูลพอให้กู้ให้ขุดคืนมาได้) เรียกว่าถ้า AWB มันแม่นกว่านี้หน่อยนะ (ขอแค่แม่นพอกับ Nikon พอ ฮ่าๆ สงสัยฝันไป) ผมอาจจะเปลี่ยนใจกลับมาถ่าย JPEG เป็นหลัก ในวันที่ไม่คิดอะไรมากก็ได้นะ … เหมือนกับ D3s, D800 ที่ผมกล้าถ่าย JPEG เป็นหลัก นอกจากรูปที่แสงยากๆ หรือรายละเอียดในแสงจ้ากับเงาท่าทางจะเยอะเท่านั้นถึงจะถ่าย RAW

อย่ากระนั้นเลย ไหนๆ ก็ถ่าย JPEG มาแล้ว มาลองดึงข้อมูลเล่นๆ ดีกว่า ดูซิว่า JPEG จะยังเหลือข้อมูลในเราดึงเล่นแค่ไหน ดูจากรูปต่อไปนี้ได้เลยครับ (ผมไม่ได้ดึงสุดตบสุดนะ เอาแค่พอสวย ให้เห็นการใช้งานจริง)


M240 JPEG Highlight/Shadow

M240 JPEG Highlight/Shadow Recovery (Before & After)

สรุปได้สั้นๆ ว่าให้ผลไม่ต่างจาก JPEG จาก DSLR ทั่วไป (และ Mirrorless สมัยใหม่อีกหลายตัว) คือจริงๆ แล้วไฟล์ JPEG เดี๋ยวนี้มันดีจัดครับ มีข้อมูลเก็บอยู่เหลือเฟือ ไม่ได้ตัดข้อมูลทิ้งเกลี้ยงเหมือนก่อน อย่าว่าแหละครับ งานวิจัยไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ที่ปรับปรุงมันมาตลอดทำให้เป็นแบบนี้ … ก็แทบจะเหลือเรื่อง White Balance เรื่องเดียวน่ะแหละ ที่ JPEG ยังปรับหลังถ่ายแล้วลำบากมาก นอกนั้นคิดว่าไฟล์มีข้อมูลมากพอสำหรับการปรับเล็กน้อยทั่วไปพอควร

แล้วมันก็ทำให้ผมรู้อีกว่า M240 มีความอาร์ตตัวแม่อยู่นิดหน่อย คือ ถ่าย RAW กับถ่าย JPEG มันเก็บ EXIF เรื่องเลนส์ไม่เหมือนกัน! ถ้าเป็น RAW จะเก็บข้อมูลของเลนส์ที่ใช้ถ่ายว่าเลนส์อะไร (เพราะเข้าใจว่าจะต้องเอามาใช้อีกตอนที่ทำ RAW Processing เช่นทำ Lens Profile Correction) แต่พอเป็น JPEG ปุ๊บ ข้อมูลเลนส์หายไปทันที (ลองดูจากรูปข้างบนได้ครับ ผมเขียนโปรแกรมเพื่อแปะข้อมูลการถ่ายรูปด้านล่างชื่อผมเอง โดยใช้ข้อมูลในภาพ — จะเห็นว่ารูป JPEG จากกล้องจะไม่มีชื่อเลนส์อยู่ ก็เลยต้องแก้ EXIF ใส่ชื่อเลนส์คืนให้หลายรูปเลย)


L1000150.jpg

Group Reading (Literally)
เหล่าโปรแกรมเมอร์กำลังอ่านดราฟท์หนังสือเล่มใหม่ของผมอยู่

กลับมาเรื่องการใช้งานจริงอีกนิด

ฟังก์ชั่นหนึ่งที่ผมใช้งานบ่อยมากกับกล้องตัวอื่นๆ โดยเฉพาะพวก Fujifilm และ Nikon P7700 ก็คือการชดเชยแสง เพราะว่ามันมี Dial ด้านบนที่เอาไว้ชดเชยแสงโดยเฉพาะ และเราเห็นได้ง่ายเลยว่าตอนนี้กำลังชดเชยอยู่เท่าไหร่ ดังนั้นถ้าเราเรียนรู้นิสัยของ Meter กล้องไปสักพัก เวลาที่เราเห็นภาพข้างหน้า เราจะรู้เลยว่ากล้องจะวัดแสงออกมาอย่างไร และหมุนชดเชยแสงได้ง่ายมาก

และนี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกว่า Leica ทำได้ค่อนข้างแย่มาตลอด


L1000494.jpg

คนขายปลาหมึกย่างในตำนาน … ท่าย่างปลาหมึกเท่มาก

M240 น่าจะแก้ปัญหาน้ีได้ เพราะว่าให้ External Control มาโดยการใช้ปุ่ม Focus Assist/Exposure Compensation ด้านหน้า ร่วมกับ Command Dial ด้านหลัง แล้ว Viewfinder จะแสดงตัวเลขง่ายๆ บอกว่าขณะนี้ชดเชยแสงเท่าไหร่ ซึ่งทำให้เราต้องส่อง Viewfinder ตลอดเวลาที่ทำ แล้วเอาเข้าจริง การทำกดปุ่มด้านหน้าด้วยนิ้วชี้ และใช้นิ้วโป้งมือขวามุน Command Dial ด้านหลังไปพร้อมกันขณะที่ส่อง Viewfinder นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายเท่าไหร่นัก (จริงๆ แล้วเรียกว่ายากเลยก็ว่าได้นะ) ทำให้ผมค่อนข้างจะผิดหวังพอสมควรกับ Implementation นี้ของ M240 และพาลคิดถึง Exposure Compensation Dial แยกออกมาอีกตัวหนึ่งแบบเดียวกับ X100s, X-Pro1, P7700 … (ซึ่งบังเอิญว่า บน Top-Plate ของ M240 ก็มีพื้นที่ว่างมากพอให้วางได้พอเหมาะพอดีซะด้วย)

คนที่เป็น Purist หลายคนอาจจะบอกว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเราสามารถตั้งความไวชัตเตอร์ได้อยู่แล้ว และนั่นก็สามารถใช้แทน Exposure Compensation ได้อยู่แล้ว ถ้าอยากให้สว่างขึ้นก็ตั้งชัตเตอร์ให้นานขึ้นกว่าที่มันวัดได้ อะไรทำนองนี้ ซึ่งต้องบอกตรงๆ ว่า “ผมขอเห็นต่าง ด้วยความเคารพครับ” (ด้วยความเคารพจริงๆ นะ ไม่ใช่แบบที่นักการเมืองชอบพูดเวลาจะด่าแบบไม่เคารพกัน)


L1000961.jpg

สอบ โต๊ะติด แต่ไม่มีใครคิดทุจริต

เหตุผลง่ายๆ ก็คือ “การมีระบบ Metering” หรือระบบวัดแสงของกล้องครับ ซึ่งโดยปกติแล้วมันจะวัดแสงค่อนข้างแม่น ทำให้คนถ่ายรูปแทบไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้เท่าไหร่ เอาโฟกัสไปสนใจเรื่องที่ควรสนใจ เช่น องค์ประกอบ เรื่องที่ต้องการถ่ายทอด จังหวะของภาพ/เหตุการณ์ และระยะชัดตื้นชัดลึก อะไรทำนองนี้ดีกว่า ส่วนเรื่องแสงให้กล้องจัดการให้

ทีนี้กล้องแต่ละรุ่นจะมีนิสัยของการวัดแสงไม่เหมือนกัน บางตัวมีนิสัยชอบระเบิดแสงไว้ก่อน บางตัวมีนิสัยถ่ายมืดไว้ก่อน ก็ขึ้นกับวิธีวัดแสงและการคำนวนของกล้องแต่ละตัวด้วยว่าเราตั้งให้ใช้วิธีอะไร สำหรับกรณี M8/9 จะมีวิธีการวัดแสงแบบ Center-Weight หรือให้น้ำหนักกลางภาพเท่านั้น แต่ก็ยังต่างกันเลย เพราะว่าใช้ม่านวัดแสงคนละแบบกัน เป็นต้น


L1000350.jpg

ผมตั้งใจถ่ายพระแก้วมรกตจริงๆ นะครับ แต่ระบบ “Auto Focus” (มือ+ตา) มันพลาดไปหน่อย

พอเราใช้กล้องไปสักพัก เราจะเริ่มรู้นิสัยของระบบวัดแสงมันครับ ว่าภาพที่กำลังอยู่ตรงหน้าที่เรากำลังส่องอยู่นั้น มันจะวัดแสงให้เราแบบไหน โดยเฉพาะภาพถ่ายย้อนแสง ภาพถ่ายที่มีของสีเข้มเยอะๆ (เช่น คนผิวเข้มใส่เสื้อดำยืนอยู่หน้ากระดานดำ) หรือภาพที่มีของสีขาวเยอะๆ บางตัวก็ยังคงแม่นอยู่ แต่บางตัวจะเริ่มออกอาการ ทีนี้ถ้าเรารู้อาการพวกนี้เราจะปรับชดเชยแสงไว้ก่อนเลย และทำได้อย่างรวดเร็วถ้ามี Exposure Compensation Dial ด้านนอก โดยที่เราไม่ต้องรู้ล่วงหน้าว่าภาพนี้กล้องมันจะวัดแสงมาให้เราได้ความเร็วชัตเตอร์เท่าไหร่ แล้วไปหมุนปรับความเร็วชัตเตอร์อีกรอบ เหมือนกับการใช้การปรับความเร็วชัตเตอร์

ถ้าจะบอกว่า มันจะทำให้ซับซ้อนเกินไป เดี๋ยวจะไม่สวย ไม่เรียบง่ายสมกับที่เป็น Leica … ผมก็เห็นว่า Leica เองก็ออกแบบกล้องรุ่นอื่นในตระกูล X (ทั้ง X1, X2, X-Vario) โดยเอา Dial ไปวางไว้ตรงที่ว่างบน Top-Plate เหมือนกันนะ แต่มันเป็น Aperture Dial แทน (ซึ่งจริงๆ ผมเห็นว่าที่ๆ ดีที่สุดสำหรับการปรับรูรับแสงคือ “บนเลนส์”)


L1000219.jpg

ความแตกต่างที่ลงตัว

สำหรับการปรับ 3 ตัวแปรนี้ User Interface ที่ดีที่สุดในตอนนี้ยังเป็นของ Fujifilm อยู่ครับ อันนั้นมันเป๊ะจริงๆ ทั้งการปรับ Aperture บนเลนส์ การปรับ Shutter Speed และ Exposure Compensation บนตัวกล้อง

เหตุผลหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ Compensation Dial ไม่ถูกวางไว้ในตำแหน่งนั้นสำหรับ M ก็น่าจะเป็นการยึดการออกแบบที่ใช้มาตั้งแต่ยุคฟิล์ม จำกันได้ไหมครับว่าด้านบน Top-Plate มันมีตัวเลื่อนฟิล์มอยู่ ซึ่งมันจะใช้พื้นที่ Top-Plate ด้านขวาล่างเยอะพอควร และไม่สามารถที่จะวางอะไรลงไปได้อีก ทีนี้พอมายุคดิจิทัล ตัวเลื่อนฟิล์มถูกเอาออกไป (ทำให้ M8/9 ไม่มีที่วางนิ้วโป้งดีๆ) มันก็เลยดูโล่งๆ อย่างที่เห็น

แต่นี่เป็นข้อเสียแทบจะข้อเดียวที่ผมรู้สึกได้ ในการใช้งานจริงของ Leica M (Typ 240) ในฐานะ “Leica M” นอกนั้น “เป๊ะมาก”


L1000441.jpg

Purple Lotus, Pink Flowers

Welcome to the Present

ในฐานะ “กล้องดิจิทัล” แล้ว M240 เป็นอะไรที่พัฒนาจาก M8/9 มากจนแทบจะไม่มีอะไรเหมือนเดิมเลย ในรูปร่างภายนอกที่แทบจะเหมือนเดิม วิธีการใช้งานที่แทบจะเหมือนเดิม ความรู้สึกทุกอย่างที่แทบจะเหมือนเดิม (แต่มีดีขึ้นเล็กๆ น้อยๆ หลายๆ จุด ให้ยิ้มได้ตลอด) … ข้างในนี่ต้องบอกว่า แทบจะล้างบางใหม่หมด 100%

แทบอยากจะบอกว่า สำหรับ M8/9 นี่เหมือนกับว่า “จำใจใช้เทคโนโลยี แค่เพื่อให้ Leica M มันถ่ายรูปเป็นดิจิทัลได้” (M8 นี่พอจะเข้าใจ เพราะว่ามันปี 2006 แต่ M9 เนี่ย …..) แต่กับ M240 นี่เรียกว่า “จัดเต็ม” มาก ให้ความรู้สึกว่า Leica ยอมรับว่าเทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการทำให้กล้องมันสมบูรณ์ มากกว่าเป็นแค่ส่วนเสริมเหมือนก่อน

เริ่มจากเรื่องแรกก่อนเลย: Live View


L1000512.jpg

Temple Cat

หลายคนอาจจะรู้สึกแปลกๆ กับการที่ M240 มี Live View คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใช้ เกินความจำเป็น เป็นแค่ Marketing Gimmick หรืออะไรก็ตาม แต่มันก็เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ค่อยได้ว่าเริ่มมีคนที่คุ้นเคยกับการเห็นภาพหลังกล้องในขณะถ่ายรูปมากขึ้นเรื่อยๆ

ข้อดีที่สุดของ Live View ก็คือ

“มันใช้ภาพจาก Sensor โดยตรงในการแสดงผลให้เราเห็นภาพ”

ซึ่งมันหมายถึงว่า นั่นคือภาพที่เลนส์เห็นครับ ไม่ต้องเล็งจาก Frame Line ที่มีความคลาดเคลื่อนจากภาพที่จะได้จริง และนั่นหมายถึงว่าเราจะเห็นทุกอย่างตามที่เลนส์เห็นทั้งหมด โดยเฉพาะโฟกัสและระยะชัดลึก

จริงๆ แล้วผมไม่ค่อยใช้ Live View หลังกล้องเท่าไหร่นะ เมื่อไหร่ก็ตามที่มี Eye-Level Viewfinder ผมจะเลือกใช้มันมากกว่า Live View หลังกล้องเสมอ ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมเลือกใช้ Nikon V1 และ Fujifilm X100/100s, X-Pro1 มากกว่ากล้องรุ่นอื่นๆ … แต่ว่ามันก็เปลี่ยนๆ ไปบ้าง เพราะว่าจริงๆ แล้วมันก็มีความสะดวกของมันอยู่เหมือนกัน


L1000540.jpg

พระประธานวัดโพธิ์

แต่กับ M240 มันมีอะไรพิเศษอยู่หลายเรื่องครับ เดี๋ยวเราค่อยๆ ดูกันทีละเรื่อง

ถึงผมจะชอบ Eye-Level Viewfinder ที่เป็น Optical มาก และชอบการโฟกัสแบบภาพซ้อนของ Rangefinder มาก แต่ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่ามันมีภาพหลายแบบที่มันไม่ค่อยจะเอื้อให้เอาภาพมาซ้อนกันเท่าไหร่ เช่น ภาพที่ทุกอย่างมันดูเหมือนๆ กันไปหมด หาจุดแตกต่างยากในฉากยาก เช่นพื้นน้ำในทะเล ทุ่งหิมะ/น้ำแข็ง หรือทุ่งดอกไม้ที่ลวดลายมันเหมือนๆ กันไปหมด ถึงจะเอาภาพซ้อนกันได้ก็ไม่รู้ว่าจุดที่กำลังซ้อนกันอยู่มันใช่จุดเดียวกันหรือเปล่ากันแน่

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ภาพต่อไปนี้ล่ะครับ ถ่ายตอนที่รถติดไฟแดงอยู่ตรงแยกแห่งหนึ่ง อยากจะโฟกัสตรงดอกหญ้า ซึ่งถ้าเป็นระบบภาพซ้อนจะค่อนข้างลำบากหน่อยที่จะทำได้เร็วๆ แต่ถ้าเป็น Live View ล่ะก็จะทำได้เร็วและแม่นยำมากขึ้นเยอะ


L1000190.jpg

ดอกหญ้าริมทาง

ไม่ใช่แค่ Live View หลังกล้องเท่านั้นครับ M240 ยังสามารถเสียบ Electronic Viewfinder (EVF) เพิ่มเติมได้ด้วย ซึ่งตัว EVF นี้จะเป็นรุ่น Leica VF2 ซึ่งที่จริงแล้วเป็นตัวเดียวกับ Olympus VF2 (ทั้งสองตัวนี้ทำโดย Epson) เหมือนกันทุกประการยกเว้นรูปร่างที่ต่างกันเล็กน้อย และชื่อแบรนด์บนตัว VF เท่านั้น (แล้วก็ราคาที่ต่างกันเกือบเท่าตัว)

ผมลองเอาตัว EVF2 ของ Olympus มาติดกับ M240 ก็พบว่าใช้งานได้ดีระดับหนึ่ง แต่ยังไงๆ ซะผมก็ยังชอบ Optical Viewfinder มากกว่า (แต่ถ้า Leica เอา Olympus VF4 มา Rebrand ใหม่อีกรอบ แล้วก็อัพเดท Firmware ให้ M240 รองรับ ก็จะน่าสนใจขึ้นอีก เพราะความละเอียดและอัตราการอัพเดทภาพของ VF4 มันดีกว่า VF2 เอาเรื่องอยู่)


L1000189.jpg

Feedbacks on the Glass Wall

เอาเป็นว่าตอนนี้ผมเห็นว่า Optical Viewfinder ก็ยังเป็น Viewfinder ที่ดีกว่าเยอะนะ ถ้าจำเป็นต้องใช้ Live View จริงๆ ก็ใช้จอหลังเอา EVF แยกนี่คิดว่าไม่ได้จำเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้าอยากจะติดจริงๆ ก็ใช้ของ Olympus ได้ครับ … อ่อ ถ้ามี Leica X-Vario ก็ใช้ VF ตัวเดียวกันได้นะครับ เจ้าตัวนั้นยิ่งไม่มี Eye-Level Viewfinder อยู่ด้วย มีแต่ Live View หลังกล้อง

อีกเรื่องหนึ่งที่ Live View ให้เราได้ ก็คือการที่ทำให้เราสามารถใช้เลนส์ที่ไม่มีการทำงานกับ Rangefinder กับ Leica M ได้ผ่านทาง Adapter ซึ่งนั่นหมายความว่านอกจากเลนส์ Leica-M ซึ่งโคตรดี แต่โคตรแพง และเลนส์ Voigtlander ซึ่งพักหลังๆ คุณภาพตามราคา เรายังมีทางเลือกอื่นเพิ่มขึ้นมาอีกเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเลนส์ Leica-R ซึ่งราคาปล่อยมือสองถูกกว่า Leica-M เยอะมาก (อาจจะเพราะไม่ค่อยมีกล้องให้เล่นด้วยเท่าไหร่แล้ว กล้อง Leica-R ก็ไม่ทำดิจิทัลซะด้วย)


L1000454.jpg

เพดานโบสถ์

ผลพลอยได้ของมันคือ ทำให้ใช้เลนส์ระยะอื่นนอกจากระยะกลางๆ ถนัดขึ้นครับ เช่น เลนส์เทเลฯ และเลนส์มุมกว้าง ซึ่งสองแบบนี้เมื่อก่อนจะใช้บน M ยากมาก ในกรณีของเลนส์เทเลฯ ก็จะมี Frame-Line ที่เล็กมากอยู่ตรงกลาง Viewfinder ยิ่งระยะไกล Frame-Line ยิ่งเล็ก และถ้าระยะไกลเกิน Frame-Line ที่มีอยู่ ก็จะใช้ไม่ได้ … เอาจริงๆ นะ ผมอยากจะลองใช้เลนส์ Nikkor 105mm f/2 DC, 135mm f/2 DC กับ M240 สักครั้งเหมือนกัน ว่าเลนส์ตัวโปรดของผมจะเป็นไงบ้างกับ M240 (ต้องรอใครทำ Nikon Adapter สินะ)

ส่วนกรณีเลนส์มุมกว้างนี่เมื่อก่อนจะต้องพึ่งพา External Viewfinder อย่างเดียว (ไม่ก็ใช้มโนพาวเวอร์เอา) ซึ่ง External Viewfinder แต่ละตัวก็จะถูกออกแบบมาจำเพาะเจาะจงกับทางยาวโฟกัสใดทางยาวโฟกัสหนึ่ง ถ้าจะเปลี่ยนเลนส์ก็ต้องเปลี่ยน Viewfinder ทำให้นอกจากจะเปลี่ยนเลนส์ก็ต้องเปลี่ยน Finder อีก แล้ววิธีการถ่ายรูปก็จะต้องใช้ Built-in Viewfinder เพื่อโฟกัส แล้วใช้ External เพื่อ Compose จัดองค์ประกอบ วุ่นวายดี


L1000556.jpg

เดินไปกินไป

ความเจ๋งของการมี Live View ไม่ใช่แค่นั้นครับ อย่างที่ผมบอกว่าการที่มีมันมี Live View แปลว่า “มันใช้ภาพจาก Sensor โดยตรงในการแสดงผลให้เราเห็นภาพ” นั่นหมายถึงว่าตอนที่เราเห็นภาพนั้น เซ็นเซอร์รับภาพเข้ามาแล้ว ภาพเป็นข้อมูลดิจิทัลอยู่แล้ว ดังนั้นระบบประมวลผลภาพในกล้อง (ซึ่ง Leica M ใช้ระบบประมวลผล Maestro ตัวเดียวกับที่อยู่ใน Leica S — ซึ่งตัวนี้ Based-On “Milbeaut” ของ Fujitsu เช่นเดียวกับ EXPEED ของ Nikon) จึงสามารถเอาภาพนั้นไปทำอะไรบางอย่างได้เลยก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ Leica M จะมีระบบวัดแสงสมัยใหม่ นอกจาก Center-Weight ที่ใช้การวัดแสงที่ผ่านเลนส์ด้วยม่านวัดแสงอย่างเดียว ใช่ครับ รวมถึง Spot-Metering และ Evaluative/Matrix Metering ด้วย ซึ่ง Leica เรียกระบบ Matrix Metering ของตัวเองว่า Multi-Field Metering ซึ่งใช้การแบ่งภาพออกเป็น 24 ส่วน แล้วดูความสว่างที่วัดได้จากทั้ง 24 ส่วน เพื่อคำนวนความสว่างที่เหมาะที่สุดกับภาพที่เซ็นเซอร์กำลังเห็นอยู่


L1000011.jpg

A Garden Underwater — น้ำเริ่มท่วม
รูปนี้ถ่าย JPEG ครับ แต่เอามาทำต่อ

อ่านดูแล้ว ถึงจะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการวัดแสงไปข้างหน้าอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่น่าเทียบได้กับระบบวัดแสง 3D Color Matrix Evaluation ของ Nikon ที่ใช้ทั้งระยะห่างจากจุดต่างๆ ในภาพ และใช้การวิเคราะห์ละเอียดกว่านั้นเยอะ (เช่น D800 ใช้ 91,000 จุด) จากนั้นก็ทำการเปรียบเทียบตัวเลขที่วิเคราะห์ได้กับลักษณะภาพถ่ายจากฐานข้อมูลที่ฝังอยู่ในชิปด้วย (.. มันจะวัดแสงแม่นมากอย่างที่มันเป็นก็ไม่แปลกหรอก)

แต่เท่าที่ลองใช้ดู ผมพบว่าจริงๆ แล้วมันก็ทำงานได้ดีพอสมควรเลยนะ ถึงจะยังคงโดนสภาพแสงยากหลอกง่ายๆ อยู่ได้เหมือนกัน แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาไปข้างหน้าในเรื่องระบบวัดแสงล่ะครับ ถึงตรงนี้เรียกว่าพื้นฐานที่จำเป็นเรื่องเซ็นเซอร์และหน่วยประมวลผลมีอยู่แล้ว ถ้าจะพัฒนาต่อยอดไปในเรื่องการวิเคราะห์ลักษณะภาพและแสงที่ได้รับให้แม่นขึ้นไปอีก ก็เรียกว่าเป็นไปได้ล่ะ

แต่สำหรับตอนนี้ ผมคิดว่าระบบการวัดแสงแบบเดิมๆ แบบ Center-Weight ยังเป็นธรรมชาติกว่าสำหรับ Leica M ครับ ถ้าเราเรียนรู้นิสัยมันได้ และชดเชยแสงก่อนถ่าย … และถ่าย RAW เพราะจะยังมีข้อมูลให้เล่นเหลือเฟือ และนั่นคือประเด็นต่อไปครับ


L1000553.jpg

เก็บกล้อง

Image Quality & The CMOS Sensor

เรื่องที่คนพูดกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนจาก CCD Sensor ที่ใช้ใน Leica M8/9 และกล้อง Medium Format อีกหลายตัวรวมถึง Leica S มาเป็น CMOS Sensor แบบที่ใช้ในกล้องญี่ปุ่นทั่วไป เช่นพวก Nikon, Canon, Sony … ประเด็นที่พูดกันก็คือ “มันจะไม่ใช่ Leica อีกต่อไป” และ “จะไปเหมือนกับกล้องญี่ปุ่น” และนี่เป็นสาเหตุหลักแทบจะสาเหตุเดียว ที่ทำให้หลายคนปฏิเสธ M240 และอยู่กับ M9 ต่อไป

สิ่งที่หลายคนอาจจะลืมไป ก็คือว่าเมื่อนานมาแล้ว กล้องญี่ปุ่นแทบทุกตัว ก็ใช้ CCD เหมือนกัน (ผมก็เคยมีหลายตัว) และในยุคนั้นก็เป็นที่ยอมรับกันว่า CCD จะให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า และมี Noise ที่ต่ำกว่า CMOS แต่ CMOS จะประหยัดพลังงานกว่า … เอกสารหรือบทความที่ยังเขียนทำนองนี้ ก็ยังมีให้เห็นได้ทั่วไปตามเว็บต่างๆ


L1000136.jpg

แย่งกันรับเจ้าของ ใครแปะมือได้ก่อนชนะ!
ตัวอย่างรูป High ISO

ความจริง ณ วันนั้นก็คือ CCD เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องมานาน เทียบกับ CMOS ที่เทียบกันแล้วยังตั้งไข่อยู่ ยังไม่ Mature เท่าไหร่นัก ประสิทธิภาพหลายอย่างมันก็สู้กันไม่ได้เป็นธรรมดา ทั้งเรื่องคุณภาพของภาพ และเรื่อง Noise Performance ด้วย

แต่ความเป็นจริง ณ วันนี้ล่ะ? ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี CMOS ได้รับการพัฒนาขึ้นมาก จนตอนนี้เหตุการณ์แทบจะกลับตาลปัตรไปแล้วในบางเรื่อง เช่น Noise Performance เป็นต้น พวกกล้องที่ถ่าย Low-Light ดีๆ ที่เรารู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็น Nikon, Canon หรือตัวอื่นๆ อีกหลายต่อหลายตัว นี่ใช้ CMOS ทั้งนั้น

M240 ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Native ISO ที่ใช้ได้ถึง 3200 และดันได้ถึง 6400 ไม่น้อยหน้ากล้องตัวอื่นๆ เท่าไหร่แล้ว ยังมีเรื่องน่ายินดีมากๆ อีก ก็คือว่าพวก High ISO พวกนี้ มัน “ใช้งานได้จริง” ไม่ได้มีไว้ให้โฆษณาเล่นโก้ๆ ซะด้วยสิ


Singer in the Dark

Singer in the Dark
ISO 6400 (Pushed) — สภาพแสงจากที่จริงนี่ ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่คิดจะถ่ายรูปเด็ดขาด

เมื่อก่อนผมไม่ค่อยได้ใช้ M8/9 ถ่ายรูปเล่นในบ้าน เพราะแสงไม่เยอะเท่าไหร่ ถึงจะมีเลนส์ไวแสงก็เอาไม่ค่อยอยู่ ดังนั้นก็จะไปใช้พวก X-Pro1 หรือ X100s (ซึ่งต้องยอมรับว่า Fujifilm มีเทคโนโลยีเรื่อง High ISO ที่ดีที่สุดตัวหนึ่งในตลาดตอนนี้) มากกว่า แต่เวลาถ่ายหมาซนๆ ในที่มืดๆ ก็บอกได้เลยว่าระบบโฟกัสของ Fuji มันเอาไม่อยู่หรอก ก็มี D800 แหละที่ยังโฟกัสไหวในที่แสงน้อยขนาดนั้น แต่ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็ต้องบอกว่าเวลาแบบนั้น สถานการณ์แบบนั้น ระบบ Rangefinder เป็นอะไรที่แม่นที่สุด เพราะว่าถ้ามันมีจุดสังเกตให้เอาภาพมาซ้อนได้และตายังพอมองเห็นได้ การโฟกัสให้โดนง่ายๆ ไม่ใช่เรื่องยาก

สำหรับ M240 นี่อย่าว่าแต่ถ่ายรูปเล่นในบ้านตอนบ่ายๆ หรือตอนกลางคืนเลยครับ ขนาดร้านอาหารที่มืดๆ มองอะไรแทบไม่เห็น ที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงจะไม่คิดจะหยิบกล้องมาลองถ่ายด้วยซ้ำ ก็ยังดึงเอามาถ่ายรูปแบบหวังผลได้สบายๆ เพราะว่า “ISO สูงมันใช้ได้จริง”

อย่างเช่นรูปเมื่อกี้ (Singer in the Dark) กับรูปต่อไปนี้ (Entrepreneurs Dinner) นี่ที่จริงมืดมาก โคตรมืด…


L1000883.jpg

Entrepreneurs Dinner
Another ISO 6400 Pushed

โอเค เรื่องที่ปัจจุบัน CMOS ดีกว่า CCD ในเรื่อง Low-Light นี่เป็นอะไรที่น่าจะเป็นเรื่องที่รู้กันเป็นปกติแล้ว (แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า ลักษณะของ Noise ที่เกิดขึ้น CMOS จะดูเป็น Pattern มากกว่า ในขณะที่ CCD จะดู Random มากกว่า ซึ่งทำให้ CMOS ดู “ประดิษฐ์” หรือ Artificial มากกว่า CCD ที่เป็นธรรมชาติกว่า) … แต่คุณภาพของภาพที่ได้ล่ะ? จริงอยู่ที่มันก็ย่อมได้รับการพัฒนาขึ้นมาด้วยเช่นกัน แต่มันจะเป็นยังไงล่ะ เมื่อเทียบกับภาพจาก CCD Sensor ตัวเก่า? CMOS ตัวนี้มันจะญี่ปุ๊นญี่ปุ่นมั้ย?

เอาเรื่องที่เคลียร์ง่ายที่สุดก่อน ก็คือเรื่องที่ว่ามันจะ “ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นมั้ย” …. ความจริงง่ายๆ ก็คือ CMOS ที่ M240 ใช้นั้นเป็นของ CMOSIS ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์สัญชาติเบลเยี่ยมครับ ไม่ใช่ Sony Sensor หรือ Canon Sensor ตามที่อาจจะเคยเป็นข่าวมาก่อน (เหมือนผมจะเคยได้ยินข่าวลือแบบนี้นะ แต่ไม่คอนเฟิร์มละกัน ไม่ค้นด้วย)


L1000043.jpg

Let’s Take the Beat (หูฟังเพื่อนที่ บ.)

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งก็คือ CMOS Sensor ไม่ใช่ของใหม่สำหรับ Leica ครับ เพราะว่า Leica ก็ใช้มาตั้งนานแล้วกับกล้องตระกูล X (แต่ใช้ APS-C — จริงๆ ผมเคยแอบลุ้นว่าเจ้า “Mini-M” ที่ออกมากลายเป็น X Vario นี่จะเป็น X ตัวใหม่ที่เป็น Full Frame CMOS Sensor ตัวเดียวกับ M240 และให้เลนส์ Prime 35mm f/2 ไม่ก็ 50mm f/2 ด้วยนะ แต่ดันออกมาเป็น X Vario -_-“)

จริงๆ แล้วถ้า Sensor มันกำหนดคาร์แรคเตอร์สุดท้ายได้ขนาดนั้น ยักษ์ใหญ่อย่าง Nikon คงจะไม่ใช้ Sony Sensor ล่ะครับ เอาเข้าจริงมันมีเรื่องอื่นอีกเยอะที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่อง Color Profile และที่ผ่านมา Leica ก็ทำ Color Profile ให้กับพวกตระกูล X ให้ภาพมันออกมามีคาร์แรคเตอร์เฉพาะตัวได้เช่นกัน

แต่จริงๆ ประเด็นคือมันก็ยังอาจจะให้ภาพเหมือนกับกล้องที่ใช้ CMOS อื่นๆ ใช่ไหมล่ะ ถึงขนาดที่หลายคนอาจจะรู้สึกเลยว่ามัน “ไม่สวย” และ “ขาดมิติ” เมื่อเทียบกับภาพจาก CCD ตัวเดิม


L1003753.jpg

Color of the Rainy Day

ลองเอาภาพ RAW ที่ได้ M240 มาเทียบกับ M9 ใน Lightroom พบกับความจริงหลายอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันต่างกันครับ เริ่มจากเรื่องของ White Balance ก่อนละกัน

White Balance ของ M240 ในกรณีปกติแล้วจะค่อนข้าง “อุ่น” กว่า M9 อย่างรู้สึกได้ครับ ซึ่งถามว่าแก้ยากไหม ก็ไม่ยากนะ อันที่จริงแล้วผมไม่ค่อยจะไว้ใจ AWB ของ Leica M สักกะรุ่นอยู่แล้ว สำหรับ M240 ถือว่าทำได้ดีในกรณีทั่วๆ ไป ยิ่งออก Firmware 2.0.0.11 มาเพื่อปรับปรุงแล้วก็รู้สึกได้ว่าแม่นขึ้นอีกนิดหน่อย แต่ก็ยังอุ่นอยู่เยอะ อมเหลืองอยู่มาก แต่แก้ง่ายกว่าเดิม


L1000960.jpg

ไม้ล้มบนเกาะกลางถนน

ต่อมาก็เรื่องของ Dynamic Range ซึ่ง M240 มีมาให้มากกว่า M9 แล้วมันส่งผลยังไงล่ะ? พอ DR มันเยอะกว่า Contrast โดยธรรมชาติมันจะลดลงไปครับ แต่การไล่สีไล่แสงมันดีขึ้น เงาสว่างขึ้นและที่แสงจ้าเห็นรายละเอียดมากขึ้น นี่เอาแบบยังไม่ได้ขุดรายละเอียด (ดึง Shadow ตบ Highlight) นะครับ

ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันแบนขึ้นเมื่อเทียบกับ M9 และดูขาดมิติไปบ้าง แต่สำหรับผม ผมกลับชอบแบบนี้มากกว่าแฮะ เพราะว่าถ้ามันมีข้อมูลมี DR เยอะ การปรับ Contrast ให้สีมันโดดขึ้น มิติความเปรียบต่างแต่ละโทนมากขึ้น มันง่ายกว่าการทำภาพที่รายละเอียดของ DR น้อยให้มีรายละเอียดขึ้นมาครับ … (กรณีแรกทำไม่ยาก แต่กรณีหลังทำไม่ได้ แหะๆ)


L1000397.jpg

Another Classic Building

สุดท้ายก็เรื่อง Color Profile ของ RAW Converter ซึ่งมีผลมากกว่าที่หลายๆ คนคิดครับ Color Profile ที่เราเลือก จะเป็นตัวบอกว่าจะตีความข้อมูลใน RAW ให้ออกมาเป็นสีอะไร และตัวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ทำ Profile ตีความ “ข้อมูลดิบในไฟล์” อย่างไรและเห็นว่าจะต้องเป็นสีอะไรยังไงด้วย

เวลาเราถ่าย RAW กล้องจะฝัง Color Profile ไปกับไฟล์ด้วย (ซึ่งเรียกว่า Embedded Profile) ซึ่งเวลาเอาไปใช้กับ RAW Converter นี่อาจจะไม่ได้เรื่องเลยก็เป็นได้ครับ เช่น Embedded Profile ของ M8 นี่เรียกได้ว่า เพี้ยนกระจุยกระจาย ต้องใช้ Profile ของ Adobe Camera Raw (ACR) ซึ่งแต่ละเวอร์ชั่นก็ให้สีไม่เหมือนกันอีก หรือใช้ Adobe Standard ซึ่ง Adobe ทำมาให้เป็น Standard สำหรับกล้องแต่ละรุ่นที่ Lightroom รองรับการทำงาน (ถ้าใช้ตัวอื่น เช่น Aperture ก็ต้องรอคนทำโปรแกรมให้รองรับ ไม่งั้นก็จะต้องใช้ Embedded Profile)

กรณีของ M240 ทดสอบกับ Embedded Profile มีเพี้ยนครับ มันค่อนข้างจะหนัก Red Channel ไปหน่อย หลายรูปนี่ออกมาชมพู แดง มากกว่าที่มันเป็นจริงเยอะ พอเปลี่ยนไปเป็น Adobe Standard ก็ค่อนข้างตรงมากขึ้นเยอะ แล้วก็ยังมี Profile อื่นๆ ที่คนโน้นคนนี้ที่ไม่ชอบ Adobe Standard ทำเอาไว้ใช้เอง ก็ลองเพิ่มไปเองได้ ก็จะได้ภาพที่แตกต่างออกไป


L1000159.jpg

Lunch & Launch (App)

ภาพที่ได้จาก M240 นั้น “ต่าง” จาก M9 อย่างเห็นได้ รู้สึกได้จริงๆ น่ะแหละครับ แต่ไม่ได้แปลว่ามันดีกว่าหรือแย่กว่านะ แต่มัน “ต่าง”

ผมยังจำได้ดีถึงตอนที่ M9 ออกมาใหม่ๆ ตอนนั้นก็มีเสียงวิจารณ์ลักษณะแบบนี้เช่นกันครับ ว่าภาพที่ได้ไม่เหมือน M8 หลายต่อหลายคนก็ออกมาบอกว่า “ชอบภาพจาก M8 มากกว่า M9” หลายคนก็ออกมาบอกว่า “M9 ทำเสียคาร์แรคเตอร์ของ Leica” ไม่ได้แตกต่างอะไรจากตอนนี้เท่าไหร่นัก เพียงแต่ว่าตอนนั้นมันไม่ได้มี “จำเลย” ที่ค่อนข้างเป็น Usual Suspect ได้เท่ากับ CMOS Sensor ตัวใหม่นี้เท่านั้น

และเมื่อเวลาผ่านไป เราเห็นภาพจาก M9 มากขึ้นและมากขึ้น เราถ่ายรูปจาก M9 มากขึ้นและมากขึ้น …. ภาพที่มีลักษณะของ M9 ก็กลายเป็นคาร์แรคเตอร์ที่คุ้นเคยตา กลายเป็น Leica-Look แทนที่ภาพจาก M8 ไป


L1000600.jpg

พระปรางค์วัดอรุณฯ (วัดแจ้ง)

มันทำให้ผมนึกถึงสัจธรรมอย่างหนึ่ง ที่เพื่อนผมซึ่งเป็นนักออกแบบฟอนต์เคยสอนผมจริงๆ วันนั้นเราคุยกันว่า “ฟอนต์อะไรสวยที่สุด” ซึ่งผมได้รับคำตอบว่า

“You read best what you read most”

ฟอนต์ที่เราเห็นบ่อยที่สุด คุ้นเคยที่สุดน่ะแหละ สวยที่สุด …. วันหนึ่งเราจะคุ้นกับภาพจาก M240 เช่นเดียวกับที่เคยคุ้นกับ M9 ครับ

เรื่องนี้เป็นอะไรที่ผมค่อนข้างจะมองว่ามันก็มีมุมที่เข้าท่านะ ที่กล้องแต่ละตัวมันมีภาพที่ได้เป็นคาร์แรคเตอร์ของตัวเองดี ซึ่งเป็นเรื่องได้อย่างเสียอย่างตรงกันข้ามกับ Nikon ที่ไม่ว่าจะใช้รุ่นไหน EXPEED Engine มันจัดการให้ออกมาเหมือนๆ กันได้หมด (ความต่างเดียวที่มีเลย ก็คือคาร์แรคเตอร์จากเลนส์) ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นข้อดีสำหรับคนรับงาน ทำงาน ต้องมีบอดี้หลายตัว และแต่ละตัวต้องให้ผลลัพธ์ออกมาสีสันและอารมณ์เหมือนกัน

จะได้มีเหตุผลในการเก็บ M8 และ M9 ต่อไป ถึงจะมี M240 แล้วก็เถอะ เพราะว่ามันให้ลักษณะภาพต่างกันเนี่ยแหละ ต่างกันทั้ง 3 ตัวนะ ไม่ใช่ว่า M8/9 เหมือนกันและ M240 ต่างกับชาวบ้านเค้าแค่ตัวเดียว


L1000017.jpg

กระจกตรงข้าม
ถ่ายเป็น JPEG สีจากกล้อง และทำเป็นขาวดำใน Lightroom

RAW

อย่างที่บอกไว้เมื่อสักครู่นะครับ ว่าไฟล์ RAW ดิบๆ จาก M240 จะค่อนข้างจืดกว่า M9 ส่วนหนึ่งก็เพราะมันมี Dynamic Range ดีกว่ากันอยู่ค่อนข้างมาก ก็เลยแลกมากับการที่มันจะดูจืดๆ ไป ไม่มี Punch ไม่มี Pop ของสี และดูผ่านๆ อาจจะดูไม่ค่อยจะมี Micro-contrast เท่าไหร่เมื่อเทียบกับ M9 ที่คุ้นเคยกัน เพราะเจ้า M9 มันค่อนข้างจะ Contrast จัด สีจัดกว่า M240 เยอะอยู่

การเอามาทำต่อทีหลังก็เลยเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ส่วนมากรูปที่ได้มาจะต้องเอามาทำเพิ่มเติม ซึ่งไฟล์ RAW ของ Leica ยืดหยุ่นพอให้ทำอะไรเล่นได้เยอะแยะเสมอ เช่นกรณีรูปต่อนี้ผมเทียบให้ดูก่อนและหลังทำ ซึ่งก็ไม่ได้ทำอะไรมากมายนอกจากปรับสิ่งที่ช่วยเน้น Contrast ก็คือ Contrast, White, Black, Shadow, Highlight และเพิ่ม Micro-contrast ด้วยการเพิ่ม Clarity


simple_touch.jpg

Before (Left) & After (Right)

จะเห็นว่าภาพดูแบนน้อยลงอย่างรู้สึกได้

สำหรับกรณีค่อนข้าง Extreme ที่แสงยากๆ เช่นถ่ายย้อนแสง หน้ามืด หลังจ้า ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ไฟล์ RAW ของ M240 ก็ยังมีข้อมูลให้ขุดเล่นเหลือเฟือสำหรับการดึงรายละเอียดในเงามืด และรายละเอียดในที่แสงจ้า และก็ยังเป็นเรื่องปกติสำหรับเซ็นเซอร์ทั่วไปที่จะเก็บข้อมูลในที่มืดไว้ได้มากกว่าข้อมูลในที่จ้านิดหน่อย ดังนั้นหลายคนก็เลยตั้งกล้องชดเชยแสงทางลบไว้นิดหน่อยเป็นค่าโดยปริยาย (ตอนผมใช้ M8 นี่ผมตั้ง -2/3 EV ไว้เป็นปกติ)

รูปต่อไปนี้ถ่ายย้อนท้องฟ้าครับ จริงๆ แล้วอยากได้รายละเอียดของเจดีย์ แต่ไม่อยากให้ฟ้าหาย เนื่องจากกล้องมันวัดแสงแบบ Center-Weight ดังนั้นโอกาสฟ้าหายมีอยู่สูงเหมือนกัน ก็เลยชดเชยทางลบไว้นิดหน่อย ทำให้รูปมืด แล้วก็ค่อยมาขุดใน Lightroom โดยรูปนี้ผมตบ Highlight ลงสุด และขุด Shadow ขึ้นสุด จากนั้นคืน Contrast ให้กับรูปด้วยการปรับ Contrast, White, Black, Clarity และให้สีสดขึ้นอีกนิดหน่อยครับ


raw_hl_shadow.jpg

ได้ข้อสรุปว่า ไฟล์ RAW จาก M240 มีข้อมูลให้ขุดเล่นเหลือเฟือ จนความจำเป็นเรื่องการวัดแสงให้เป๊ะตั้งแต่ตอนถ่าย หรือตั้งชดเชยแสงตอนถ่าย ลดความจำเป็นลงไปบ้างครับ มาปรับชดเชยทีหลังได้พอสมควร แต่การวัดให้ดีที่สุดตอนถ่ายก็ช่วยให้มีโอกาสเก็บข้อมูลแสงได้สูงที่สุดอยู่ครับ

Black & White

เขียนรีวิว Leica M แล้วไม่พูดถึง Black & White แล้วรู้สึกเหมือนเป็นบาป ทั้งๆ ที่โดยส่วนตัวจริงๆ แล้วไม่ค่อยได้จะถ่ายขาวดำเท่าไหร่ แต่ก็เอาสักหน่อยละกัน ก็มันเป็นของคู่กันและ Leica ขึ้นชื่อมากมายกับการถ่ายภาพขาวดำ (ถึงขนาดออกกล้อง M-Monochrom ที่ถ่ายอย่างอื่นไม่ได้นอกจากขาวดำมา ในราคาที่แพงกว่า M240 ซะอีก … ยังไม่มีวาสนาจะได้แตะสักครั้งเลย)

จากลักษณะของเนื้อไฟล์แล้ว Leica M สามารถใช้เป็นกล้องขาวดำได้ดีครับ เพราะว่าไฟล์มี Dynamic Range ที่ดีมาก การไล่โทนสีและแสงต่างๆ ทำได้สวย รายละเอียดในโทนต่างๆ เยอะแยะเหลือเฟือ ประมาณว่าไม่ต้องทำอะไรมาก ถ้าถ่ายเป็น RAW มา ก็แค่เลื่อน Saturation Slider ลงให้ต่ำสุดก็แทบจะสวยแล้ว ลองดูรูปคุณตำรวจรูปต่อไปเป็นตัวอย่างเล็กน้อยครับ


L1000377.jpg

คุณตำรวจ
ถ่าย RAW และลด Saturation อย่างเดียว ไม่ได้ทำอย่างอื่น (แม้กระมั่ง Sharpen)

ถ้าเทียบกับ M-Monochrom (M-M) แล้วเป็นยังไง ผมต้องบอกตรงๆ ว่า “ไม่ทราบครับ” เพราะว่าผมยังไม่เคยมีวาสนาได้ลองเล่น M-M เลย แต่เท่าที่เห็นการเปรียบเทียบบนเน็ต ก็คงจะไม่ต่างกันมากสำหรับคนอย่างผม ที่ไม่ใช่ B&W Junkie หรือ B&W Lover อะไรมากมายนัก แค่ถ่ายขาวดำตามโอกาส และทำขาวดำตามลักษณะภาพเท่านั้น

ที่มันแพ้ M-M เห็นๆ ก็คือเรื่อง High ISO ครับ เพราะว่า M-M ใช้ได้ถึง ISO 10,000 (แต่ Native ISO คือ 320 ซึ่งทำให้ใช้เลนส์ไวแสงในที่แสงเยอะยากขึ้นไปอีก ต้องหา ND Filter มาใส่เพิ่ม) ในขณะที่ M240 มันได้แค่ 6400 เท่านั้น ต่างกันอยู่ประมาณ 1 Stop เห็นๆ

แต่ว่าจริงๆ แล้ว ISO 6400 ของ M240 นี่ถึงจะเป็น Pushed แล้ว แต่ก็ยังเอามา Push ต่อใน Lightroom ได้อีกนะ รูปต่อไปนี้ Push เพิ่มไปอีก 1 Stop :-)


L1000824.jpg

A Good Conversation

ทั้งนี้ผมยอมรับนะ ว่าภาพที่เห็นจาก M-M นี่สวยๆ ทั้งนั้น เห็นแล้วกิเลสจับ แต่นั่นน่าจะเป็นเพราะมันอยู่ในมือคนที่ถ่ายขาวดำเก่งมากกว่า (เช่นเดียวกับที่ผมเห็นภาพจาก M8 ตอนแรก … ลองย้อนอ่านได้จาก ตอนแรกของบทความนี้ (M8)

สำหรับผม M240 เป็นกล้องถ่ายภาพขาวดำที่ดีมากครับ และผมชอบภาพขาวดำที่ได้จากการ Process ไฟล์จาก M240 มากกว่า M9


L1000495.jpg

แม่ค้า (อยู่ใกล้ๆ กับพ่อค้าปลาหมึกในตำนานเมื่อกี้)

Video

ที่น่าจะเป็นเรื่องช็อคที่สุดสำหรับ Purist ก็คือ “M240 ถ่าย Video ได้” หลายคนก็คงจะอยากลองถ่าย Video ด้วยเลนส์ Leica ว่าจะออกมาเป็นแบบไหน แต่หลายคนก็ส่ายหน้า

เนื่องจากผมเป็นคนไม่ถ่ายคลิปด้วยกล้องถ่ายรูป (ขนาด V1 ผมยังไม่ถ่ายคลิปเลย ถ้าจะถ่ายก็ใช้ iPhone แหละ พอแล้ว) ก็เลยไม่ได้สนใจ ทำให้ไม่มีอะไรจะเขียนถึงครับ ยังไม่ได้ลอง และไม่คิดจะลองด้วย แต่เท่าที่อ่าน/ดูรีวิวจากเน็ต และลองดูคลิปที่เป็นผลลัพธ์ ก็บอกได้สั้นๆ ว่าค่อนข้างจะ Unimpressive ครับ ถ้าตั้งกล้องบนขาตั้งนิ่งๆ ถ่ายอะไรที่อยู่นิ่งๆ ในสภาพแวดล้อมปิด ก็ไปวัดไปวาได้ไม่ยาก แต่ถ้านอกจากนั้นเมื่อไหร่ก็จะเจอผลลัพธ์ประหลาดๆ เช่นพวก Rolling Shutter Effect หรือความไม่ต่อเนื่องอื่นๆ อะไรพวกนี้เยอะเหมือนกันครับ

แต่ผมยังไม่ได้ลองเองนะครับ เขียนแค่จากที่เห็นผลงานคนอื่นครับ


L1000110.jpg

กุหลาบไหว้พระ

แถม: Firmware 2.0.0.11

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเขียนถึงสักหน่อย ก็คือไม่กี่วันมานี้ Leica ออก Firmware รุ่นใหม่ให้กับ M240 ครับ นั่นก็คือรุ่น 2.0.0.11 ซึ่งมีการปรับปรุงหลายจุดทีเดียว แต่เรื่องใหญ่ก็คือ การปรับปรุง Auto White Balance ให้แม่นขึ้น (ซึ่งจะทำให้ Skin Tone สวยขึ้น และสีโดยทั่วไปดีขึ้น) การปรับปรุงคุณภาพของ Video (เพิ่งจะเขียนถึงเมื่อกี้ สงสัยอีกพักหนึ่งต้องดูใหม่) และปรับปรุงเรื่อง Color Shift ให้กับเลนส์ที่มี 6-bit Code นอกจากก็เป็นการปรับปรุงแก้บั๊กเล็กๆ น้อยๆ หลายจุดเหมือนกัน

ก็เลยขอลอง Auto White Balance กับ ​Skin Tone ให้ดูตรงนี้ซะหน่อย


Firmware 2.0.0.11 AWB, Skintone.

ทดสอบ Skin Tone, AWB ของ Firmware 2.0.0.11
Direct RAW Conversion

รูปนี้จบจากกล้องครับ ไม่มีการทำอะไรเพิ่มเติมทั้งสิ้น ถ่าย RAW และใช้ Lightroom Export เลย (และใช้ Color Profile เป็น Adobe Standard — ซึ่งเป็นค่า Default อยู่แล้ว) ความรู้สึกแรกคือ AWB แม่นขึ้นจริง และ Skin Tone สวยขึ้นจริง ซึ่งต้องชม Leica ที่ออก Firmware นี้มาครับ (มิน่า ดูจากเลขเวอร์ชั่นแล้วเป็น Major Update)

การออก Firmware แบบนี้ทำให้มีความหวังครับ ว่าหลายเรื่องที่ปรับปรุงได้ในระดับ Firmware จะได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมขึ้น (อาจจะไม่ถึงขนาด Fujifilm ที่ออก Firmware มาใหม่ทีไร เหมือนได้กล้องใหม่ทุกที) โดยเฉพาะเรื่องของ Auto White Balance ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว M240 ก็ยังไม่ได้ถือว่าแม่นมากมายเท่าไหร่นัก (ส่วนหนึ่งเพราะผมชินกับกล้องที่แม่นกว่านี้หลายตัว)


L1003691.jpg

เฮฮาเวลาพักเที่ยงของทีมงาน Code App

Conclusion & Epilogue

ก็จบตอนสุดท้าย สำหรับบทความชุด “My Leica Story: From M8 to M (Typ 240)” ลงตรงนี้นะครับ ยาวเลยทีเดียว ตั้งแต่บทความตอนแรกที่ผมเริ่มเล่น M8 ซึ่งเป็นการจับกล้อง Rangefinder ตัวแรกของผม เรื่องราวของการที่มันค่อยๆ เปลี่ยนผมจากคนถ่ายรูปไม่เป็นแต่เล่นกล้อง เล่นอุปกรณ์อย่างเดียว มาเป็นคนถ่ายรูป ที่บังเอิญมีความสุขกับการเล่นอุปกรณ์และการถ่ายรูป มาเป็นบทความตอนที่สองที่เกี่ยวกับ M9 และเรื่องราวเหตุการณ์โชคร้ายที่สุดท้ายโชคดี ที่ทำให้ผมได้เล่น M240 จนมาจบที่ “รีวิว” ของ M240 จากความรู้สึกจากการใช้งานจริงแบบละเอียดเท่าที่ผมจะทำได้

ในอนาคตอาจจะมีตอนต่อไปของบทความนี้ แต่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ครับ … หลังจากนี้ผมคงจะเขียนเรื่องลักษณะเรื่องเล่าจากภาพ เช่นเดียวกับเรื่อง “มุมกว้าง” หรือ “The Other Path, The Other Way” หรือ The Moonlight Sonata มากกว่า เพราะอันที่จริงถนัดเขียนแบบนั้นมากกว่ารีวิวกล้องหรืออุปกรณ์

ขอบคุณที่อ่านตลอดครับ และขอปิดบทความด้วยภาพจากบทความ “The Other Path, The Other Way” นะครับ


L1000777.jpg

Contrast in a Way (ป.ล. ภาพนี้มีคำใบ้สำคัญอยู่ในภาพ..)
แถวสาทร ตอนเลิกงาน