ทำภาพ High Dynamic Range เทียม (#2)

คราวนี้ลอง RAW ของ D3 (NEF บ้าง) ด้วยเทคนิคเดียวกัน ขั้นตอนเดียวกัน

  1. ภาพต้นฉบับ ลองสังเกตบริเวณที่แสงจ้า (ภายนอกหน้าต่าง) และบริเวณที่เป็นมืด (ขอบหน้าต่าง, ข้างตูสีแดง, ผนังใต้หน้าต่าง ฯลฯ) นะครับ

    nef_hdr_001.jpg

  2. ภาพ +1, +2 EV จะเห็นบริเวณที่มืดชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_002.jpg

    nef_hdr_003.jpg

  3. ภาพ -1, -2 EV จะเห็นบริเวณนอกหน้าต่างชัดเจนขึ้น

    nef_hdr_004.jpg

    nef_hdr_005.jpg

  4. ภาพที่ทำ HDR เทียมเรียบร้อยแล้ว ลองเทียบกับภาพต้นฉบับดูครับ

    nef_hdr_006.jpg

คิดว่าเทคนิคนี้คงจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ คนนะครับ ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ได้ดีกับกรณีที่ต้องการจะถ่ายฟ้าให้ฟ้าสวยๆ และยังคงรายละเอียดอื่นๆ ในส่วนอื่นๆ ไว้ไม่ให้มืดไปด้วยครับ

ทำภาพ High Dynamic Range เทียมแบบขำๆ

สำหรับคนถ่ายรูป คงจะรู้จักภาพแบบ High Dynamic Range (HDR) แน่ๆ โดยหลักการคร่าวๆ แล้ว HDR จะมีจากแนวความคิดที่ว่า “มันมีอะไรเสมอ ในที่แสงจ้า และที่มืด” และความจริงที่ว่า เซนเซอร์รับภาพ และหน่วยประมวลผลภาพของกล้องดิจิทัล ไม่สามารถเห็นช่วงของแสงได้กว้างเท่ากับที่ตาเราเห็น

ลองนึกดูเล่นๆ นะครับ เวลาเรามองไปที่หน้าต่างที่เปิดอยู่ เราจะเห็นวิวทิวทัศน์ข้างนอก ได้พร้อมกับเห็นรายละเอียดของขอบหน้าต่าง (หรือลายของผ้าม่าน) ได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าเราถ่ายรูปล่ะ เรามักจะเห็นว่า ถ้าเราต้องการให้เห็นวิวข้างนอก ขอบหน้าต่างและม่านจะมืด แต่ถ้าเราต้องการให้เห็นขอบหน้าต่างชัด วิวข้างนอกก็จะสว่างไปจนมองไม่เห็นอะไร

เลยเป็นที่มาของเทคนิคการทำ HDR ครับ โดยปกติการทำ HDR เราจะต้องถ่ายภาพเดียวกัน ที่หลายๆ exposure เป็นลำดับ (เช่นถ่าย 5 ภาพ ต่างกันภาพละ 1 EV ซึ่งจะได้ที่ -2 EV, -1 EV, 0 EV, 1 EV, 2 EV) เพราะในขณะที่ -EV จะทำให้ภาพมืด แต่ก็จะรักษารายละเอียดในส่วนที่สว่างของภาพไว้ได้ ซึ่งตรงข้ามกับ +EV ที่จะทำให้เห็นรายละเอียดในส่วนที่มืดชัดขึ้น ซึ่งการถ่ายลักษณธนี้เราเรียกว่า exposure bracketing

ทีนี้ ถ้าเราไม่ได้ถ่าย exposure bracketing เอาไว้ล่ะครับ ทำอย่างไรดี? ซึ่งเราก็ยังคงโชคดีอยู่บ้าง ถ้าเราถ่าย RAW เอาไว้ เพราะว่า RAW จะเก็บข้อมูลของเรื่องแสงที่เซนเซอร์บันทึกไว้ได้ เอาไว้พอสมควร ซึ่งทำให้เรายังพอจะปรับ exposure value เพื่อดึงเอารายละเอียดในส่วนที่มืดและสว่างกลับมาได้บ้าง ก็เลยเป็นที่มาของ “HDR เทียม” ที่เราจะคุยกันในวันนี้ครับ

ปกติผมไม่เคยได้ลองเทคนิคพวกนี้หรอกนะ เพราะว่าไม่ได้ถ่าย RAW จนกระทั่งมาเล่น Leica M8 ซึ่งมี JPEG engine ที่ห่วยมากๆ จนต้องถ่าย RAW แบบไม่มีทางเลือก (และ RAW ของ M8 ก็ใช่ว่าจะดีนะครับ .. นอกจากเป็น DNG แล้วผมยังหาข้อดีของ M8 RAW ไม่ค่อยจะได้เลย และ M8 ยังมี DR ที่งั้นๆ เทียบกับกล้องอีกลายๆ ตัวอีกด้วย … แต่ไม่ขอพูดถึงมากล่ะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นรีวิว M8 ไป)

ลองทำตามนี้ครับ

  1. หา RAW มาสักภาพหนึี่ง สมมติว่าเป็นภาพด้านล่างนี้ละกัน จะเห็นว่ารายละเอียดตรงเหล็กขึงสะพาน (สีเหลือง) มืดไป ในขณะที่รายละเอียดบนเมฆบางส่วนก็หายไป (ขาวจ๋อง)

    test_fake_hdr_005.jpg

  2. จากนั้นปรับ exposure value ให้ไปทาง + EV เพื่อดึงเอารายละเอียดในที่มืดคืนมา ในตัวอย่างนี้ผมดึงไป +1 EV, +2 EV ตามลำดับ

    test_fake_hdr_001.jpg

    test_fake_hdr_002.jpg

  3. จากนั้นทำอย่างเดียวกัน ไปทาง – EV เพื่อดึงเอารายละเอียดบนเมฆกลับมาบ้าง ซึ่งผมทำเท่ากันคือ -1 EV, -2 EV

    test_fake_hdr_003.jpg

    test_fake_hdr_004.jpg

  4. จากนั้นก็ให้เอาโปรแกรมที่ทำพวก HDR (เช่น Photomatix Pro) มารวมกัน และทำ Tone Mapping (วิธีการใช้โปรแกรมพวกนี้ผมไม่ขอพูดถึง เพราะหาได้ทั่วไป …. และผมเองก็ “เล่นไม่เป็น” ด้วย) ซึ่งผลที่ได้จะเป็นแบบนี้

    test_fake_hdr_001_2_3_4_5_tonemapped.jpg

ก็ … ถึงจะสู้ทำ HDR แท้ไม่ได้ แต่ว่าก็ยังดีกว่าทำไม่ได้ล่ะนะ … ภาพนี้ถ่ายขณะรถติดบนสะพานพระราม 8 คงไม่มีเวลาจะตั้งขาตั้งและถ่าย bracket แบบจริงๆ จังๆ ล่ะครับ

แต่ว่ายังงั้นยังงี้ … กล้อง DSLR หลายตัวในปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีฉลาดๆ มากมาย (เช่น Automatic/Adaptive High Dynamic Range ในชื่อต่างๆ กัน .. เช่น Active D-Lighting ของ Nikon เป็นต้น) และเซนเซอร์ที่ดี มี DR กว้างเอาเรื่อง … ดังนั้น ถ้าเมื่อไหร่ที่ผมใช้ D3 ถ่ายทั่วไป ผมก็ยังถ่าย JPEG เหมือนเดิมน่ะแหละ

Review: X-Men Triology

ก่อนที่จะเขียนรีวิว X-Men Origins: Wolverine ขอเอารีวิวของไตรภาคแรกของ X-Men มาโพสท์ใหม่นะครับ ซึ่งจริงๆ เป็นรีวิวที่เขียนไว้นานแล้ว และโพสท์ไว้นานแล้ว ใน Blog ในเว็บไซต์ที่ภาควิชา ซึ่งไม่ได้อัพเดทมานานมากแล้ว (และปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นเว็บที่ตายไปแล้วด้วยซ้ำไป)

รีวิวนี้ถูกโพสท์ไว้ที่ http://www.cp.su.ac.th/~rawitat/weblog/files/x_men.html เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2006 ซึ่งนานโขแล้ว … เอาเป็นว่าผมขอเอามาโพสท์ไว้อีกครั้งที่นี่ โดยไม่แก้ไขเนื้อความใดๆ ทั้งสิ้น ก็แล้วกันนะครับ

***อาจจะ spoil นะ ใจไม่ด้านพออย่าอ่านต่อ อย่าหาว่าไม่เตือนด้วย***

ไม่ได้เขียน review หรือว่าวิเคราะห์วิจารณ์หนังนานแล้ว แต่ว่าเรื่องนี้อดไม่ได้จริงๆ เพราะว่ามันตีความสวยๆ ได้เยอะเลย ตั้งแต่เริ่มภาคแรกน่ะแหละ อีกอย่าง บอกไว้ก่อนว่าผมไม่ได้สนใจความ “เหมือน” ในเนื้อเรื่องระหว่างหนังกับการ์ตูน หรือว่าการเพิ่ม/ลด/เปลี่ยนบทบาทตัวละครบางตัวนะ

ผมอยากจะมองในแง่การตีความเชิงปรัชญากับชีวิตมากกว่า

ผมอยากจะมองแค่ว่า ถ้าบรรดา X-Men หรือว่าพวกมนุษย์กลายพันธุ์ เป็นคนธรรมดาที่แตกต่างไปจากคนทั่วๆ ไป คนที่ไม่ใช่ mainstream คนที่คิดแตกต่าง ทำแตกต่าง มีแนวคิดและความสามารถที่แตกต่างออกไปจากคนทั่วไปล่ะ …. สิ่งที่คนพวกนี้พบจากสังคมก็มักจะเป็นสิ่งเดียวกันน่ะแหละ คือ ความกลัว ที่มักจะแฝงอยู่ในรูปของความโน่นความนี่

หลายคนอาจจะมองคนที่แตกต่างเหล่านี้ ว่าเป็นผู้มีปัญหาทางจิต มีปัญหาในการเข้าสังคม มีปัญหาเพราะว่าไม่เหมือนคนหมู่มาก ฯลฯ และพยายามแก้ ด้วยการบังคับ (โดยการใช้กฏของสังคม) ให้พวกที่แตกต่างเหล่านี้เป็นไปตามคนหมู่มาก อ้างโน่นอ้างนี่ และสุดท้ายก็อ้างประชาธิปไตย (เหมือนในหนัง X-3 น่ะแหละ ที่มีการเอาตรงนี้มาแดกดันเล่นด้วย) …. แต่ว่าคนทั่วไปมันเข้าใจประชาธิปไตยซะที่ไหนเล่า ว่ามันต่างจากพวกมากลากไปตรงไหน

ผมมองว่าบรรดามนุษย์กลายพันธุ์ทั้งหลายนี่ เป็น exaggerated version ของคนธรรมดาๆ ที่มีความสามารถพิเศษอะไรบางอย่างน่ะแหละ ลองแทนความสามารถทางร่างกายด้วยคำว่า จิตใจ สิ เช่น คนที่มีใจแบบความสามารถของ Wolverine ก็เป็นพวกใจแข็งเป็นเหล็ก กล้าหักกล้าทะลวงกล้าแหก รักษาอาการบาดเจ็บทางจิตใจ (อาการท้อแท้ ฯลฯ) ได้เร็ว .. คนที่มีใจแบบ Iceman ก็เป็นพวกที่ทำให้ทุกคนใจเย็นลงได้ หรือว่าเย็นใจได้เมื่ออยู่ใกล้ๆ ผมว่าจริงๆ ลองแปลๆ ตีความเล่นๆ แบบนี้ก็เข้าท่าดีเหมือนกัน

ที่ผมชอบที่สุด (แต่ว่าหลายคนอาจจะไม่ชอบไปด้วย) ในเรื่อง X-3 ก็คือ Angel ที่หลายคนบอกว่า ไม่เห็นมีบทอะไรเลย ออกมาเท่ห์แค่ไม่กี่ฉาก พลังพิเศษอะไรก็ไม่มี นอกจากบินได้

แต่ว่า Angel เป็นสัญลักษณ์ของคำว่า อิสรภาพ ซึ่งอาจหมายถึงคนที่มีใจรักอิสะเสรีด้วย คนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่มีอะไรพิเศษนี่แหละ คนพวกนี้เป็นคนที่น่าสงสารที่สุดในสังคมที่พวกเราๆ สร้างมันขึ้นมา ผมเชื่อว่า คนเราทุกคน เกิดมาพร้อมกับสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกเด็ดทิ้งไปโดยระบบโลกที่พวกเราสร้างมันขึ้นมาเอง … นั่นก็คือ ปีกแห่งเสรีภาพ (Wings of Freedom)

ใน X-3 ภาพของ Angel จะเป็นการโบยบินบนท้องฟ้า ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา เราใช้แทนสัญลักษณ์ของการมีอิสรภาพ และ Angel ก็คือคนที่จะถูก รักษา เป็นคนแรกของเรื่อง นั่นก็คือ การเด็ดปีก หรือทำลายเสรีภาพทิ้งนั่นเอง

คนที่มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ที่ถูกระบบของโลกเรา อ้างความเป็นคนหมู่มาก อ้างความเหมือนความเท่าเทียม ไม่ให้ความสำคัญหรือแม้แต่ยอมรับความต่าง … ทำลายลงไป … คนที่บทจะดีก็ดีใจหาย บทจะร้ายก็ร้ายน่ากลัว มีพลังมหาศาลที่สามารถเอาไปใช้สร้างสรรค์ทุกอย่างได้ หรือว่าจะทำลายอะไรก็ได้ อย่าง Phoenix … ก็มีหลายคนในความเป็นจริง แต่ว่าน่าเสียดายที่คนพวกนี้หลายคนต้องจบชีวิตตัวเอง หรือไม่ก็ดำเนินชีวิตไปในทางเลวร้ายทำลายล้าง เพราะว่าเมื่อทำดี หรือพยายามทำดี แล้วต้องอยู่ภายใต้กรอบมากไป เหมือนกับถูกกักขัง และไม่ได้รับการยอมรับในความสามารถตัวเองอย่างแท้จริง .. หรือว่าคนที่เป็นอย่างมนุษย์กลายคนพันธุ์คนอื่นๆ

ผมไม่ค่อยเชื่อหรอก ที่มีคนบอกว่า ความต้องการพื้นฐานทางจิตใจของคนเรา คือ ความรัก ผมว่ามันคือ การยอมรับ ในทางที่ตัวเองเป็น และการยอมรับและยินดี ในสิ่งที่ตัวเองทำ จากความปรารถนาและเจตนาที่ดีอย่างจริงใจ ต่างหากล่ะ

อยากจะ quote อะไรบางอย่างจากหนังแฮะ แต่ว่าไม่รู้จะ quote อะไรดี ก็เอานี่ละกัน

“Do we look like we need your help (cure)?”

และพบกันในรีวิว X-Men Origins: Wolverine เร็วๆ นี้ครับ …. (ไม่ได้เขียนรีวิวหนังมานานมาก สนิมเกาะหมดแล้ว)