ว่าจะเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนฝรั่งเศสแข่งนัดสุดท้ายแล้ว แต่ยังไม่ได้เขียนสักที ขอเขียนสักหน่อย ไหนๆ ช่วงนี้ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศอัฟริกาใต้ ก็ใกล้จะถึงจุดไคลแมกส์แล้ว พร้อมกับหน้าตา 4 ทีมสุดท้าย คือ อุรุกวัย เยอรมัน สเปน และเนเธอแลนด์ ส่วนทีมที่ตกรอบไปแล้ว ก็นอกจากนี้ทั้งหมด รวมถึงทีมเต็ง ไม่ว่าจะด้วยชื่อชั้นของประเทศ หรือผู้เล่น อย่างบราซิล ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี
ผมไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ฟุตบอล หรือการทำงานของผู้จัดการทีมคนไหนในฟุตบอลโลกนะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนก็ทำเท่าที่เค้าจะทำได้แล้ว แต่ผมอยากจะมองมัน แล้วนำกลับมามองสะท้อนข้อคิด ข้อสังเกต ลงไปที่การทำงานสักหน่อย โดยผมอยากจะมองในลักษณะของ System Thinking ซึ่ง The Whole is greater than sum of its part โดยก่อนอื่นผมขอเอาทวีตที่ผมทวีตในสัปดาห์ก่อนมาใส่ตรงนี้ก่อนละกันนะครับ ใส่แบบไม่ดัดแปลงใดๆ ไม่เพิ่มไม่ลด และตามลำดับการทวีตครับ
- ฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่ดีของการมี 11 parts ที่สุดยอด แต่ whole (team) ที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยปัญหาภายใน และไร้ซึ่ง team spirit
- องค์กรทั้งหลายดูไว้ และคิดให้ดี ว่าเหมือนกับองค์กรท่านหรือเปล่า ที่มีแต่อยากได้สุดยอดบุคลากร แต่อย่างอื่นๆ เหมือนทีมชาติฝรั่งเศส
- อย่าแก้ปัญหาที่เกิดจากการไร้ระบบการเล่น ไร้การประสานงาน ไร้ทีมสปิริต ด้วยการเอาผู้เล่นเก่งๆ เข้าทีม
- เพราะเค้าจะเก่งแค่ไหน ทำได้อย่างมากก็แค่ประคองทีม แบกทีมไว้บนบ่า ใช้ความสามารถได้ไม่เต็มที่ มีแต่ปัญหา และสุดท้ายเค้าก็ไป
- ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหลัง จะเสียคนเพราะกองกลางเกียร์ว่าง ปล่อยให้หลุดมาทุกอย่าง วิ่งสะกัดแค่ไหน ก็ไม่อยู่ ขึ้นไปทำประตู เพื่อนด่า
- ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองกลาง วิ่งพล่านเชื่อมเกม แต่คนอื่นๆ ไม่สนใจ ก็แค่ยืนๆ ตำแหน่งตัวเองไป จ่ายบอลไม่วิ่ง ถวายบอลให้ไม่ยิง ก็แย่
- ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นกองหน้า จะเอาบอลจากไหนมายิง เพราะไม่มีคนส่งให้ ไม่มีคนทำเกม ลงมาล้วงบอลเอง เหนื่อย
- ถ้าผู้เล่นคนนั้นเป็นประตู รับรองว่ารับเละ ตะโกนสั่งกองหลังก็เฉย แถมเป็นแพะรับบาปที่ง่ายที่สุด ไม่เสียคนก็ดีแล้ว
ลักษณะผู้เล่นแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเก่งในการเป็นกองหน้าตัวจบสกอร์ ซึ่งโดยลักษณะแล้วไม่ควรต้องลงมาล้วงลูกเองตั้งแต่ในแดนตัวเอง เพื่อทำเกม บางคนเป็นตัวเชื่อมเกม ระหว่างกองหลังกับกองหน้า บางคนเป็นตัวจ่าย มี Killer Pass สวยๆ ทีเดียวหลุดไปถึงประตู บางคนเป็นปีกที่มีความเร็วสูง ซิกแซกได้ทุกช่อง ก่อนจะเปิดให้กองหน้าจบสกอร์
ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของ 1 ทีม ไม่ใช่ผลงานของ 11 ผู้เล่น”
มาดูอีกตัวอย่างหนึ่ง
- อาร์เจนติน่า เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ ในการมี 11 parts ที่ดีมาก และทีมที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง
- การไม่เลือกตัวผู้เล่นบางตัวเข้ามาในทีม เพื่อให้เป็น 11 parts ที่สุดยอด อาจเป็นผลบวกกับทีมของอาร์เจนติน่า เนื่องจากการมี part บาง part อยู่ใน whole มันทำให้ whole เสีย เพราะว่ามันเป็น incompatible parts เป็น part ที่ทำให้ whole เสีย กลายเป็น part หรือ sub-whole หลายๆ ส่วนอย่างสมบูรณ์
- อาร์เจนติน่า มีทีมสปิริตที่ดีมาก (จากที่เห็น และรับข่าวสารมา)
- แต่ …. แต่ …. อาร์เจนติน่าเป็นทีมที่ไร้ซึ่งระบบการเล่น ระบบการทำงานประสานกันอย่างชัดเจน เป็นทีมที่เล่นด้วยความสามารถเฉพาะตัวของผู้เล่นไม่กี่คน ที่ต้องแบกรับภาระของการพาทีมไปข้างหน้า และคนที่ยิ่งเก่ง ยิ่งต้องแบกภาระหนัก เป็นธรรมดา ซึ่งในกรณีของอาร์เจนติน่านี้ก็คือ Lionel Messi ที่ค่อนข้างจะแบกทีมไว้ทั้งทีม
มันพูดง่ายนะ ว่าแพ้ก็แพ้ทั้งทีม ชนะก็ชนะทั้งทีม เล่นเพื่อทีม แต่วิธีการเล่นก็ยังเล่นกันแบบส่วนตั๊วส่วนตัว การประสานงานแบบเป็นรูปธรรมไม่ค่อยมี มีแต่ลุยกันไปเอง จ่ายให้คนอื่นเฉพาะเวลาที่ตัวเองตัน และไม่ค่อยไปช่วยกันเล่นต่อ ให้อีกคนไปตายเอาดาบหน้าเอง
ในกรณีที่โจทย์ง่ายพอ (นั่นคือทีมที่ค่อนข้างห่างชั้นกับอาร์เจนติน่า) การเล่นแบบนี้จะใช้ได้ผลค่อนข้างจะโอเคในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เนื่องจากผู้เล่นแต่ละคนเก่งมาก ดังนั้นก็จะหาทางเอาตัวรอดเองไปได้เรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่าง Messi ที่หลายทีเอาตัวรอดได้อย่างไม่น่าเชื่อ แต่ถ้าโจทย์มันยากขึ้นมา จะเจอปัญหาทางตันหลายอย่าง ซึ่งวิธีการแบบนี้จะลำบากขึ้นมา ถึงจะมีโอกาสยิง โอกาสจบสกอร์ ก็ไม่ใช่ว่ามันจะมาเรื่อยๆ เหมือนกับมีระบบสายพานผลิตโอกาส โดยเฉพาะในกรณีโดนกดดัน ยิ่งความกดดันยิ่งสูง ยิ่งกรณีใกล้ล้มเหลว จะเห็นข้อเสียของทีมที่เล่นแบบชายเดี่ยว 11 คน ที่ “เล่นเพื่อทีม ด้วยวิธีการของตัวเอง” มากขึ้น
ซึ่งเห็นได้ชัดในนัดที่เจอกันเยอรมัน เมื่ออาร์เจนติน่าเสียประตูก่อน และเสียประตูเร็ว ทำให้อาร์เจนติน่าต้องอยู่ในภาวะกดดันที่ว่านี้ และการทำลายอาร์เจนติน่าด้วยวิธีง่ายๆ คือ “การไม่ให้ Messi เล่นบอลได้” พอกำลังจะทำอะไร ก็เข้าไปกวนเข้าไป กวนเข้าไป ให้หันหลังให้กับประตู (Goal; เป้าหมาย) ซะ ก็หมดเรื่อง ต่อให้เก่งเหนือมนุษย์แค่ไหน ก็ทำอะไรไม่ได้มาก ยิ่งคนที่มารุม เป็นคนที่ “รุมตามแผน ตามกระบวนการ และมีวินัยในการรุม” ด้วยแล้ว ยิ่งไปใหญ่ เมื่อผู้เล่นได้บอล การส่งบอลขึ้นหน้าแต่ละครั้ง เป็นการส่งให้ผู้เล่นแต่ละคน ซึ่งแม้ความสามารถเฉพาะตัว และจินตนาการในการเล่น จะสูง ก็เหมือนส่งไปเจอทางตัน และไม่ลงท้ายที่เป้าหมาย (Goal; ประตู)
อย่างน้อยกรณีของอาร์เจนติน่า ก็ยังดีกว่ากรณีของฝรั่งเศส ที่ความเชื่อมั่นกันเองในทีมมีสูงกว่า ผู้เล่นทุกคนเชื่อใน Maradona และ Messi และเล่นเพื่อทีม ดังนั้นผลมันก็เลยออกมาดีระดับหนึ่ง แผนการเล่นเดียวของอาร์เจนติน่าที่ผมเห็น คือ จ่ายบอลให้อีกคน ด้วยความเชื่อว่าเค้าจะเอาตัวรอดได้ และบรรลุเป้าหมายได้ โดยที่ไอ้ “อีกคน” ที่ว่าเนี่ย มักจะเป็นคนที่พิสูจน์แล้วว่า “เก่งที่สุดในโลก” คนหนึ่ง …. ดังนั้นกรณีที่คนอื่นไม่อยากให้ทีมนี้ประสบความสำเร็จ ก็ง่ายครับ หาทางขวางคนเหล่านี้ให้ได้ เป็นอันจบ
ข้อคิดแรงๆ ที่ได้จากเรื่องนี้ทั้งหมดก็คือ กระบวนการทำงาน การซักซ้อมความเข้าใจในกระบวนการ การเล่นตามกระบวนการ และการมีวินัยในกระบวนการ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ยิ่งเมื่อได้ผู้เล่นที่ดีมาก มาเล่นในกระบวนการที่สุดยอด จะเอาชนะคู่แข่ง ที่มีผู้เล่นระดับสุดยอด แต่ไร้ซึ่งกระบวนการได้ไม่ยาก แม้ว่าสุดยอดผู่เล่นเหล่านั้น จะเล่นเพื่อผลของทีมก็ตาม มันสู้ทีมที่สร้างระบบเพื่อผลสำเร็จสูงสุดตั้งแต่ต้นไม่ได้หรอก
ประเด็นคือ “ฟุตบอลเป็นเกมของทีม ไม่ใช่แม้แต่ 11 ผู้เล่นที่เล่นเพื่อทีม แต่เล่นตามใจ” ครับ
ทีมจากเอเซียหลายทีม เข้าข่ายนี้ครับ คือ มีระบบทีมที่ดี มีวินัยที่ดีในการเล่นตามกระบวนการ ตามระบบที่สร้างและวางไว้ ดังนั้นถึงความสามารถเฉพาะตัวจะสู้ไม่ได้ แต่ทีมทั้งทีมมันสู้ได้ สูสี แพ้ชนะไม่น่าเกลียด
วันนี้พอแค่นี้ก่อน จบบอลโลกจะเขียนต่อนะครับ
ฝากไว้ครับ ลองอ่านประเด็นที่เกี่ยวข้องใน Positive Thinking in Petsitive World ด้วยนะครับ