** อาจจะมี spoiler นะ ถึงหนังมันจะออกจากโรงไปแล้ว แล้วก็หมดกระแสแล้วก็เถอะ **
Long overdue มากสำหรับ review หนังเรื่องนี้ หลังจากที่ผมคิดว่าจะเขียนตั้งแต่ไปดูมาใหม่ๆ แล้ว มันจะได้สดกว่า แต่ว่าพอดีมีเรื่องยุ่งๆ มากมายมหาศาลพร้อมกับปัญหาร้อยแปด ก็เลยไม่ได้เขียนสักที แต่ว่าไหนๆ ก็เขียนแล้ว ก็อย่าเสียเวลาไปมากกว่านี้จะดีกว่าเนอะ อ่อ แล้วบอกไว้ก่อนนะ เรื่องนี้ผมขอไม่ review มันในฐานะของภาพยนต์มากมายนักเหมือนที่ผม review เรื่องอื่นๆ นะ แต่ว่าผมขอเน้นไปที่การตีความมันมากกว่า เพราะว่าถ้าจะให้ผม review แบบหนังล่ะก็ คงจะบอกได้ว่า ภาคนี้อาจจะดูไม่สนุกเท่าภาคก่อนๆ หรอกนะ ด้วยอะไรหลายๆ อย่าง แต่ว่ามันมีอะไรหลายอย่างมากกว่านั้นเยอะครับ
โดยรวมแล้ว theme หลักของหนังเรื่องนี้มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
- พัฒนาการของคำว่า “อำนาจ” หรือ “พลัง” ต่อจากสองภาคแรก
- เรื่องการตัดสินใจ การเลือก choice
- การลุกขึ้นมายืนใหม่หลังจากล้ม การลุกขึ้นมาเป็นตัวตนหลังจากเหลว
1. พัฒนาการของพลัง/อำนาจ
ในหัวข้อนี้นั้น หลังจากที่สองภาคแรกทำได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการเริ่มต้นจาก With great power comes great responsibility และต่อด้วย Intelligence is not a privilege … ซึ่งเป็นข้อความที่เตือนใจเรื่องการมีอำนาจหรือพลังวิเศษเหนือคนอื่น ว่าในการที่เราจะมีอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม จะยิ่งใหญ่หรือว่าจะเล็กน้อย เราก็ต้องมีความรับผิดชอบที่จะใช้มัน ต้องมีสำนึกและรู้ชั่วรู้ดี (ทั้งหมดนี้ ผมถือว่าคือความหมายของคำว่า responsibility นะ มันเป็นอะไรมากกว่า ความรับผิดชอบ) และยิ่งเป็นสิ่งที่มีพลังมากเท่าไหร่ ความรับผิดชอบที่จะต้องมี ก็ต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย และในขณะเดียวกันพลังนั้นๆ ไม่ได้เป็นเครื่องมือเพื่อนำมาซึ่งสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์เหนือคนอื่น หากแต่เราต้องใช้มันเพื่อส่วนรวมเป็นหลัก เช่น
- เทคโนโลยีหลายอย่างถูกนำมาใช้ในการสร้างเครื่องอำนวยความสะดวก เครื่องมือช่วยเหลือมนุษย์ชาติมากมาย แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีเดียวกัน มักจะนำมาซึ่งอาวุธทำลายล้างที่ร้ายแรงกว่าเดิม
- เทคโนโลยีในการตกแต่งรูป ที่ทำให้หลายคนสวยขึ้นมาได้ในรูปถ่าย ก็กลายมาเป็นเครื่องมือทำร้ายคนได้เช่นเดียวกัน
- อินเตอร์เน็ท เปิดโอกาสการทำธุรกิจใหม่ๆ การแลกเปลี่ยนข้อมูล การฯลฯ แต่ว่าในขณะเดียวกัน มันคือแหล่งก่ออาชญากรรมขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน
- ฯลฯ
ซึ่งทุกอย่างจะเห็นได้ว่าเป็นดาบสองคม ที่คมแรกคมเท่าไหร่ อีกคมมันจะคมมากขึ้นเป็นเงาตามเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้มันต่างกันก็คือ คน ที่เป็นผู้ใช้งานพลังอำนาจเหล่านั้น ซึ่งนอกจากที่จะต้องมีสำนึกและรับผิดชอบรู้ชั่วรู้ดีแล้ว ยังต้องใช้มันเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิง the greater good อีกด้วย … แต่ว่าก็เช่นเดียวกับตัวอย่างข้างบนน่ะแหละ อีกนานเท่าไหร่ล่ะ ก่อนที่ความสามารถนั้นๆ จะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด เพื่อตัวเอง?
ซึ่งนั่นคือตัวตนของ Spiderman ในภาคนี้อย่างสมบูรณ์
ก่อนที่จะไปต่อ เราต้องไม่ลืมว่า Spiderman เป็นฮีโร่ที่ต่างจาก Batman และ Superman นะครับ จะว่าไปแล้วเค้าใกล้เคียงกับพวก X-men มากกว่า นั่นคือ เค้าไม่ได้เป็นฮีโร่โดยทางเลือกของตัวเอง แต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เค้าไม่ได้เลือก และจะว่าไปแล้วไม่มีสิทธิ์เลือก เช่นเดียวกับที่คนเราเลือกเกิดไม่ได้
แต่ว่าอย่างไรก็ตาม Spiderman ก็ได้พลังอำนาจมาในมือ และในตอนแรกสุดนั้นเค้าก็คงต้องการที่จะใช้มันเพื่อประโยชน์ของทุกคน แต่ว่าจะมีบ้างไหม ที่บางทีเราจะรู้สึกว่า ชีวิตเรา สิ่งที่เราทำ มันกำลังทรยศหักหลังเรา และเมื่อเป็นเช่นนั้น เราจะเลือกใช้อำนาจนั้นเพื่อตัวเราเองบ้างหรือเปล่า หรือว่าง่ายกว่านั้นคือ
จะนานเท่าไหร่กัน ก่อนที่เราจะแพ้พลังของอำนาจนั้นๆ เอง และใช้มันเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
และนั่นนำไปสู่ประเด็นที่ 2 ของเรื่องอย่างเนียนมากๆ
2. ว่าด้วย “ทางเลือก”
สิ่งที่ผมไม่ค่อยชอบในภาคนี้เทียบกับ Spiderman ภาคก่อนๆ ก็คือ มันไม่มีการเอาคำพูดคมๆ ไปยัดในเนื้อเรื่องอย่างเนียนๆ แต่ดันเอาไปไว้ตอนท้าย ทำให้มันเหมือนกับคำพูดปิดเรื่องมากกว่า อีกอย่าง เนื่องจากมันเหมือนกับเล่าเรื่องโดยมีปีเตอร์เป็น narrator มันทำให้คำพูดที่ว่าเนี่ย ยาวเกินไป เกินกว่าที่จะ quote มันได้แบบแม่นๆ เหมือนกับภาคก่อนๆ
ยังไงก็เถอะ มันเป็นบทสรุปของหลายๆ อย่างในเรื่องได้ดี ว่าชีวิตคนเรา ยังไงก็สามารถเลือกได้เสมอ
มีคำพูดของนักวิทยาศาสตร์หรือว่าใครสักคนนะ ที่ผมจำไม่ได้จริงๆ ว่าเป็นใคร บอกเอาไว้ว่า เมื่อเรามองกลับไปดูชีวิตเราทั้งหมด หลายคนจะเห็นภาพความหลัง หลายคนจะเห็นโน่นเห็นนี่ ที่เค้าอยากจะจำและไม่อยากจะจำ หลายคนเห็นสิ่งที่เคยทำ หรือว่าความฝันที่ไม่เป็นจริง ฯลฯ แต่ว่าสำหรับเค้าแล้ว เค้าเห็น
Sequence of Choices.
พอลองมาคิดแบบนี้ดูบ้าง เออ จริงแฮะ ชีวิตเราตัดสินใจตลอดเวลา ทั้งตัดสินใจทำ ไม่ทำ หรือว่าตัดสินใจที่จะไม่ตัดสินใจ … ทุกอย่างที่หล่อหลอมขึ้นมาเป็นชีวิตเราตอนนี้ มันก็ขึ้นกับ choice ที่เราเลือก ทางเดินที่เราเดิน ในเวลาเก่าๆ ในอดีตทั้งนั้นแหละ จะดีจะร้ายจะเรื่องอะไรก็ตาม มันก็เป็น choice ที่ทำให้เรามานั่งตรงนี้วันนี้ มีชีวิตแบบนี้วันนี้ ทุกอย่างที่เรามองเห็น ไม่ว่าจะเป็นภาพในอดีตหรือว่าอะไรก็แล้วแต่ มันเป็น sequence of choices จริงๆ
ใน Spiderman ภาคนี้ก็มีเรื่องแบบนี้ให้เห็นค่อนข้างชัดเจน มีการฉายภาพ flashback ถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น การตัดสินใจกระทำ/ไม่กระทำสิ่งต่างๆ ของตัวละครแต่ละตัวค่อนข้างจะมาก แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเด็นมันก็ยังเป็น ทางเลือก ที่คนเราจะมีเสมอ ไม่ว่าเราจะรู้สึกตัวหรือไม่ก็ตาม ทุกอย่างคือการ make choice ทั้งสิ้น
สำหรับบางทีเราอาจจะเจอสถานการณ์ที่เราคิด/รู้สึกว่า เราไม่มีทางเลือก แต่ว่าจริงๆ แล้วการที่เราต้องเจอเหตุการณ์แบบนั้น ก็เพราะว่า choice ที่เราเลือกมาก่อนหน้านั้น ไม่ใช่หรือ?
ตัวอย่างเช่น นักศึกษา (อีกล่ะ .. ชอบจริงๆ เรื่องนี้) บอกว่าไม่อยากจะลงวิชาบังคับบางวิชา แต่ว่าไม่มีทางเลือก . แต่ว่านั่นเป็นเพราะว่าเราเลือกมาเรียนสาขานั้นๆ ไม่ใช่หรือ? หรือว่าบางคนอาจจะยังบอกว่า ไม่ได้อยากจะเลือกเสียหน่อย พ่อแม่บังคับให้เรียนต่างหาก ก็ยังเป็นเรื่องของ choice บางตัวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นอยู่ดี
แต่ว่ายังไงก็แล้วแต่ ต่อให้มันเป็นแบบนี้ตั้งแต่เกิดเลยก็เถอะ (แอบ check อายุนะ มันชื่อเพลง Nuvo) … หลังจากนั้น เราก็ยังมี choice อยู่ดี ว่าเราจะทำยังไงกับสิ่งที่ชีวิตมันเสนอให้เราหรือว่าบังคับให้เราต้องรับมันแบบนี้
ในความมืดย่อมมีแสงสว่าง และในแสงสว่างย่อมมีความมืด
ฉันใดก็ฉันนั้น จริงๆ แล้วเรายังคงมี choice อยู่เสมอ มันอาจจะแฝงตัวอยู่ลึกๆ ภายในสถานการณ์ที่เราคิดว่าเราไม่มีทางเลือกหรือว่าเราไม่ได้เลือก หรือว่าเราเป็นแบบนี้เพราะไม่มีทางเลือก ฯลฯ
หลายคนต้องทำงานที่ตัวเองเลือกไม่ได้ ไม่มีทางเลือก หลายคนอยากจะเป็นศิลปินแต่ว่าต้องไปทำธุรกิจอย่างอื่นที่ตัวเองไม่ชอบและไม่ถนัดและไม่มีใจ หลายคนอยากจะเป็นนักประวัติศาสตร์หรือว่านักโบราณคดีแต่ว่าต้องไปเรียนทางด้านอื่น หลายคนอยากและฝันอยากจะเป็นโน่นเป็นนี่แต่ว่าจังหวะชีวิตมันไปอีกทางหนึ่ง ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอ
แต่ว่า ถ้าเรามองหา choice ในสถานการณ์เหล่านั้นล่ะ เส้นทางชีวิตอย่างที่มันเป็น อาจจะบรรจบสิ่งที่เราอยากให้มันเป็นได้สักวันหนึ่งล่ะน่า ถึงบางทีมันก็เหมือนจะหลงทางออกทะเลออกไปบ้างก็เถอะนะ ก็เหมือนกับ Spiderman ภาคนี้น่ะแหละ
เขียนมาถึงตรงนี้แล้วนึกถึงที่แมรี เจน วัตสัน พูดกับปีเตอร์ พาร์คเกอร์ แล้วขนลุกแฮะ … บางทีนี่อาจจะเป็น killer message ของภาคนี้ก็ได้นะ
เธอเป็นใครกัน
นั่นสินะ … แล้วก็ตอนจบที่ปีเตอร์พูดถึงแฮรี
He chose to be the best of himself
อืมมมม …. นั่นสินะ ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็แล้วแต่ เราก็ยัง เลือกที่จะเป็นตัวเอง ให้ดีที่สุดได้ทั้งนั้นนี่นา
3. การลุกขึ้นมาเป็นตัวตนหลังจากเหลว
มีซักครั้งมั้ย ที่เราทำอะไรผิดพลาด ล้มเหลว ล้มแล้วล้มอีก จนบางทีเรารู้สึกเหมือนว่าตัวเองทำอะไรก็ผิดไปหมด หรือว่าบางที (ต่อจากหัวข้อที่แล้ว) โดนสถานการณ์ที่เราไม่ได้เป็นคนเลือกและรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถควบคุมอะไรได้ มันบีบเสียจนรู้สึกว่าไม่เหลือความเป็นตัวเองอีกแล้ว …. ก็คงมีบ้างแหละนะ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็ตาม … ซึ่งนี่คือประเด็นที่สื่อออกมาได้แบบ visual และ portray ให้อารมณ์ได้เยี่ยมที่สุดในเรื่อง Spiderman 3 เลยทีเดียว
ครับ .. ผมกำลังพูดถึง Sandman หรือมนุษย์ทราย ตัวร้ายตัวหนึ่งในภาคนี้ และฉากที่กำเนิด Sandman
ไม่ว่าจะเป็นภาพที่เค้าต้องถูกไล่ล่าจากตำรวจกับสิ่งที่เค้าได้ทำลงไปอย่างไม่ตั้งใจ การที่พลาดตกลงไปในบ่อทดสอบการย่อยสลายโมเลกุล แล้วโดน demolecularize จนกลายเป็นทราย
นั่นคือภาพลักษณ์ของ การสูญเสียตัวตน เพราะว่าการบีบคั้นของสถานการณ์ จากคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ยี่หระว่าเค้ากำลังทำอะไรกับชีวิตเรา ขอเพียงให้เค้าได้ทำอย่างที่เค้าต้องการเป็นพอ ซึ่งบางทีการที่เราเจอเช่นนั้นก็เป็นเรื่องบังเอิญและเป็นจังหวะของชีวิต … ทำให้ตัวตนของเรา (ใช้ชีวิตจริงจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ความตั้งใจ อุดมการณ์ ฯลฯ ตัวตนในเชิงนั้น)
ฉากที่ผมเห็นแล้วขนลุกที่สุด คือฉากที่เม็ดทรายค่อยๆ วิ่งกลับมารวมตัวกันเป็นรูปร่าง ซึ่งตอนแรกก็ยังไม่ค่อยเป็นรูปร่างเท่าไหร่ แต่ว่าเมื่อความทรงจำของเม็ดทรายเหล่านั้น ได้มองเห็นจี้ห้อยคอที่มีรูปลูกสาวของ Flint Marco อยู่ ก็พยายามคว้าจี้นั้น แต่ว่าไม่สามารถที่จะคว้ามาได้ .. เม็ดทรายแตกสลายไปอีก พร้อมกับใบหน้าที่กำลังจะท้อแท้ต่อชะตากรรมของสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นมนุษย์ทราย
ถ้าเม็ดทรายที่กำลังจะมารวมตัวกันเป็นรูปเป็นร่างนั้น ยอมแพ้ต่อทุกอย่าง เค้าก็คงจะกลายเป็นเพีียงแค่ฝุ่นทรายในสายลม รอให้ทุกอย่างถูกพัดกระจัดกระจาย หายไป สลายไปตามกาลเวลาอย่างไม่มีวันกลับคืนมาได้อีกครั้ง
แต่ว่านี่ไม่… เม็ดทรายรวมตัวกันเป็นรูปทรง รูปร่างที่แน่นอนขึ้น เหมือนเดิมมากขึ้น และ Flint Marco ก็กลับมาอีกครั้ง ในฐานะของ Sandman ที่มีพลังอำนาจอะไรบางอย่างเช่นกัน และเค้าก็เลือกที่จะใช้อำนาจนั้นไปในทางเดิมที่เค้าต้องการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดิม นั่นคือ ช่วยลูกสาว ด้วยการปล้นหาเงิน
ประเด็นก็คือ บางครั้งที่เราสูญเสียความเป็นตัวเอง เสียความตั้งใจ เสียอะไรก็แล้วแต่ … เราก็ยังคงมีทางกลับมาได้ ตราบใดก็ตามที่เรายังจะ make choice ที่จะ be the best of yourself อยู่ ซึ่งบางทีมันก็ต้องอาศัยความพยายามปะติดปะเศษเสี้ยวเล็กน้อยของทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยสร้างเคยมีไว้ เพื่อกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง แต่บางครั้ง กำลังจะไปได้ กลับมาได้อยู่แล้วเชียว กลับต้องพักสลายล้มลงไปอีกครั้ง ….
Visual ในหนังเรื่องนี้ทำได้น่าขนลุกจริงๆ แฮะ น้ำตาจะไหลเอาเสียด้วย … เพราะว่า Sandman ต้องล้มแล้วล้มอีก โดนลมพัดแล้วพัดอีก แต่ว่าด้วยอะไรล่ะที่ทำให้เค้ากลับมาอีกครั้ง?
ความมุ่งมั่นที่จะเป็นตัวเอง
แล้วอะไรล่ะ ที่เป็นนิยามของ ตัวเอง? อืมม มาถึงตรงนี้ผมคงจะต้องนอกเรื่องสักหน่อยแล้ว อยากจะถามอะไรอย่างว่า เรานิยามตัวเองด้วยคำว่า ตัวเอง เพียวๆ ได้หรือ? หรือว่าเพียงแค่เราจะทำให้เราเป็นอย่างที่เป็นในวันนี้ มีความคิดแบบนี้ได้หรือ? …. ผมชอบปรัชญาของคำว่า Ubuntu นะ (ใช่ Ubuntu Linux น่ะแหละ) ที่ว่า
เราเป็นเรา เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกคน ที่อยู่รอบตัวเรา
สีขาวเป็นสีขาวไม่ได้สินะ ถ้าไม่มีสีอื่นทุกสีที่ไม่ใช่สีขาว ถ้าไม่มีสงครามหรือความขัดแย้ง เราก็คงไม่เข้าใจคำว่าสันติภาพสินะ ถ้าไม่มีทุกอย่างรอบตัวเรา สถานการณ์ทุกอย่าง คนทุกคน สิ่งทุกสิ่ง ที่ก่อให้เกิด sequence of choices ที่เราต้อง make ในชีวิต … เราก็คงไม่ใช่ตัวเราสินะ
อืมมม แต่ว่านิยามแบบนั้นมันก็คงจะกว้างไปนิด เอาให้มันแคบลงมาหน่อยจะดีมั้ย … ในภาพยนต์ ตอนที่ Sandman จะกลับมาเป็นตัวเองได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งนั้นสิ่งเดียวคืออะไรล่ะ
ความรู้สึกต่อสิ่งที่เราผูกพันด้วย และความผูกพันนั้นๆ อุดมการณ์และความตั้งใจต่อสิ่งนั้นๆ คือสิ่งที่เป็นตัวเรา
นี่คือสิ่งที่ผมสรุปได้ ไม่ว่าสิ่งที่เราผูกพันนั้น จะเป็นคน เป็นความตั้งใจ หรือว่าเป็นอะไรก็แล้วแต่ก็ตามเถอะ ถ้างั้นเขียนใหม่เอาไหม
ความมุ่งมั่นตั้งใจ อุดมการณ์ที่เรามีต่อสิ่งที่เรารู้สึกผูกพักและมีความผูกพันด้วยอย่างยิ่ง
นั่นแหละ คือสิ่งที่ทำให้เรากลับมาได้ ไม่ว่าเราจะล้มลงไปกี่ครั้งก็ตาม
ซึ่งในหนังเรื่องนี้ ก็เห็นมีการเล่นกับ การกลับมาเป็นตัวเอง เพื่อสิ่งที่ตัวเองรักและผูกพัน มากมาย นอกจาก Flint Marco แล้วก็ยังมีตัว Spiderman เอง แล้วก็แฮรี ที่กลับมาขโมยซีนในตอนจบอีกด้วย ถึงแม้บางครั้งในการที่จะกลับมาเป็นตัวของตัวเองได้นั้น เราจะต้องต่อสู้กับตัวเองก็เถอะ
ซึ่งนี่ทำให้ผมมองว่า ฉากที่ Spiderman ขึ้นไปบนยอดโบสถ์ เพื่อต่อสู้กับตัวเอง ถอดชุดสีดำของตัวเองออก นั้นเป็นฉาก Climax battle ของภาคนี้เลย ซึ่งก็ทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว
อืมมม ตีความกันไปพอหอมปากหอมคอนะ หรือว่าเยอะเกินไป แต่ว่าเอาเป็นว่าผมขอจบรีวิวเรื่อง Spiderman 3 ไว้แค่นี้
ดูหนัง นอกจากดูเพื่อสนุก เพื่อบันเทิง เพื่อหลีกหนีจากสิ่งที่เป็นในชีวิตจริงได้ชั่วครู่ชั่วคราว ก็อย่าลืมเอามันกลับมาคิดกับชีวิตจริงนะครับ …บางทีเวลาท้อๆ เวลาที่เราล้ม เวลาที่เราเหนื่อยใจ เราอาจจะมีกำลังใจกลับมาเป็นตัวเองอีกครั้งก็ได้
IMDB Rating: 6.8/10 (ณ ขณะที่เขียน จาก 67,469 votes)
My Rating: 8.5/10
สรุปจบ: ถ้าจะดูเอาสนุกเข้าว่า เอามันส์เข้าว่า และมีข้อคิดให้คิดได้พอสมควร และขายความเป็น Superhero สุดๆ ภาคนี้ทำสู้ภาค 2 ไม่ได้แบบกรรมการไล่ลงจากเวที แต่ว่าถ้ามองในแง่ที่กว้างขึ้น ว่าเป็นการพยายามขายปรัชญาบางอย่างของชีวิต ประเด็นเดิมที่ลึกกว่าเดิม และ subtle กับจิตใจมากกว่าเดิม ขายความเป็น Peter Parker ที่เป็นคนธรรมดา ที่ได้พลังอำนาจอะไรบางอย่างมาและสุดท้ายต้องมาต่อสู้กับมัน เพื่อให้เป็น Superhero อีกครั้ง …. ผมชอบภาคนี้มากที่สุด