25 พฤศจิกายน … วันที่มีความหมายที่สุดในชีวิต

วันมหาธีรราชเจ้า วันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ 6 “เสด็จพ่อ” ของ “ลูกวชิราวุธ” ทุกคน

ในฐานะของลูกวชิราวุธคนหนึ่ง … ผมผูกพันกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับพระองค์ท่านอย่างมาก ผมตั้งใจมาเป็นอาจารย์ เป็นนักการศึกษา ส่วนหนึ่งก็เพราะอุดมการณ์ ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นลูกวชิราวุธ ดังที่ปรากฏชัดในเพลงประจำโรงเรียน

พระทรงมุ่งบำรุงการศึกษา เพื่อพสกถ้วนหน้าสโมสร สมบูรณ์พูนพิทยาวราภรณ์ ธำรงธรรมบวรวิเศษไกร

เฉกเช่นเดียวกันที่ เหตุผลหนึ่ง ที่ผมเลือกมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เพื่ออยู่ใกล้กับพระราชวังสนามจันทร์ (ซึ่งเป็นชื่อคณะผม ตอนที่ผมเข้าไปเรียนวชิราวุธด้วย)

ลูกวชิราวุธทุกคน ถือว่าโชคดีเป็นอย่างยิ่ง ที่มีคำสั่งสอนของพ่อ เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นเข็มทิศของชีวิต ที่อยู่ในใจลูกวชิราวุธทุกคนตลอดไป

เจ้าเหล่านี้ ข้าถือเหมือนลูกของข้า ส่วนตัวเจ้า เจ้าก็ต้องรู้สึกว่าข้าเป็นพ่อเจ้า ธรรมดาพ่อกับลูก พ่อย่อมอยากให้ลูกดีเสมอ ถ้าลูกประพฤติตัวดีสมใจพ่อ พ่อก็มีใจยินดี ถ้าลูกเหลวไหลประพฤติแต่ความเสื่อมเสีย พ่อก็โทมนัส ลูกคนใดที่ประพฤติตนเลวทรามต่ำช้า เป็นเหตุให้พ่อได้ความโทมนัส ลูกคนนั้นเป็นลูกเนรคุณพ่อ

และ

ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุกๆครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้

ข้าอยากได้ยุวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี

แม้แต่วันที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ก็ยังนึกถึงคำพูดของพระองค์ท่านเสมอ

I would return to Siam more Siamese than when I left it.

ซึ่งท่าน ม.ล. ปิ่น ได้นำความนั้นมาแต่งเป็นคำประพันธ์ว่า

พระมหาธีรราชประกาศไว้
ที่อังกฤษสมัยทรงศึกษา
ว่าเมื่อใดได้เสด็จกลับพารา
จะเป็นไทยยิ่งกว่าเมื่อมาเยือน

ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่คอยเตือนสติผมอยู่ตลอดเวลาที่ร่ำเรียนต่างประเทศ และผมอยากจะให้น้องๆ เพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ต่างประเทศ ที่กำลังจะไป … และที่ได้สำเร็จการศึกษากลับมาแล้ว ระลึกไว้ว่า เราต้องเป็นไทย ให้ยิ่งกว่าวันที่เราจากบ้านเกิดไป

ผมหวังเสมอ ตั้งแต่ยังเด็ก ตั้งแต่วันที่ก้าวเท้าเข้าไปในวชิราวุธ วันที่ก้าวเท้าออกมายังโลกภายนอก … ว่าจะเป็นลูกคนหนึ่ง ที่ทำให้พ่อมีใจยินดี ที่จะไม่เป็นตำราเรียนที่เดินได้ และในวันที่ผมไปเรียนต่างประเทศ ผมจะต้องกลับมาเป็นไทยยิ่งกว่าวันที่จากไป

เป็นลูกวชิราวุธคนหนึ่ง ที่อยากให้พ่อได้ภูมิใจ … เช่นเดียวกับที่ลูกๆ ทุกคน ภูมิใจที่ได้เป็น “ลูกวชิราวุธ”

ปล. เพื่อนๆ รุ่น OV70 ครับ …. เว็บใหม่ของรุ่นกำลังทำอยู่นะครับ แล้วก็ … ปีหน้ามาวางพวงมาลากันเยอะๆ หน่อยนะครับ

Panasonic Lumix LX3 Review #1

หลังจากไม่ได้เขียน blog มานานพอสมควร (ครึ่งเดือนได้ล่ะมั้ง) ก็ขอเขียนต่อเรื่องเดิมก็แล้วกัน ก็คือ เรื่องกล้องติดตัว ตัวใหม่ Panasonic Lumix LX3 ซึ่งถือได้ว่าเป็น serious compact ที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ คน (เป็นคำถามที่เห็นได้ตามบอร์ดทั่วไป ว่าจะเอา LX3, P6000, G10 หรือว่า GX200 ดี) และก็คิดว่าคงจะมีหลายอัน ก็เลยแปะป้าย #1 เอาไว้ก่อน (จริงๆ อาจจะมีแค่อันเดียวก็ได้)

แต่บอกไว้อีกอย่าง ผมจะขอรีวิวในลักษณะเล่าการใช้งานให้ฟังนะครับ ถ้าอยากจะอ่านรีวิวแบบละเอียดและเป็นเชิงเทคนิคมากๆ หรือว่าที่วิเคราะห์กันละเอียดสุดๆ เทียบๆ กับตัวอื่นๆ ด้วย ก็อ่านจากเว็บอื่นดีกว่าครับ (dpreview ก็ได้ครับ ที่ไหนก็ได้ เขียนกันเยอะแยะ)

เอาเรื่องที่ขัดใจก่อน ก็ยังคงยืนยันจากรีวิวก่อนหน้านี้ของผม ที่ว่ามีเรื่องขัดใจไม่กี่เรื่องคือ

  • ฝาปิดเลนส์ … นี่มันสมัยไหนกันแล้วล่ะคุณเอ๋ย ขนาด G10 ยังทำฝาเลื่อนอัตโนมัติเลย
  • command dial ที่เลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งง่ายไปหน่อย
  • ตัวเลื่อนปรับ aspect ratio ที่ขัดใจผมจริงๆ (เพราะว่าผมถ่าย 3:2 เป็นหลัก และดันอยู่ตรงกลาง ผิดหลัก Fitt’s law ในการใช้งานของผม แต่ว่าถ้าคุณถ่าย 16:9 หรือว่า 4:3 เป็นหลักก็ไม่เป็นไร)
  • autofocus บางทีจะพลาดแบบไม่น่าพลาด โดยเฉพาะกรณีถ่ายคน มันไปชัดข้างหลังอย่างไม่น่าให้อภัย ทั้งๆ ที่ถ่ายก็โฟกัสที่หน้าดีหรอกนะ แต่ว่าทำไมมันไปชัดด้านหลังก็ไม่รู้ และผมท่าทางจะไม่ใช่คนเดียวที่เจอปัญหานี้ เคยอ่านในเว็บเมืองนอก มีคนเจอปัญหานี้เหมือนกัน

ส่วนเรื่องลักษณะการใช้งานทั่วไปๆ ของผม และ impression ของมันนอกเหนือจากนี้คือ

  • ทำได้ดีพอสมควร ในเรื่อง noise (ตามคาด) ถึงจะไม่ดีเท่า DSLR แน่ๆ แต่ว่าก็ดีกว่าที่ผมหวังไว้อยู่หน่อย ยิ่งมีเลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง (f/2) ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ใช้งานในที่แสงค่อนข้างน้อยได้พอสมควร (แต่ว่าไม่มีอะไรสู้ D700 กับ 50mm 1.4 ที่ ISO 3200 ได้หรอก — ขนาด ISO 6400 ยังไม่น่าเกลียดเลย ตัวนั้นน่ะ)
  • ค่อนข้าง “ทน” พอสมควร ทดสอบแล้วด้วยการทำตกจากโต๊ะความสูงกว่าเมตร (ใส่กระเป๋าไว้แล้วไม่ได้รูดซิบ …​น้องเกดสุดที่รักก็เลยทดสอบความทนทานให้ ด้วยความซุ่มซ่ามส่วนตัว) ก็ไม่เป็นอะไร มีรอยเล็กๆ น้อยๆ ที่ตัวกล้องเท่านั้น (แต่ว่าก็คงจะขึ้นกับมุมในการตกด้วย)
  • film mode หลายอันมีให้งงเล่นมากมาย ตอนแรกๆ ผมจะใช้ standard เป็นหลัก แต่ว่าไปๆ มาๆ ก็ลองเล่นอย่างอื่นบ้าง พบว่า nostalgic ให้อารมณ์ฟิล์มเก่าๆ ได้พอสมควร และเป็นโหมดที่ถ่ายคนสวยที่สุด ส่วน vibrant ก็เข้ม ฉูดฉาด สมชื่อโหมด ส่วน dynamic ไม่เคยใช้ smooth เหมือนจะดีเวลาถ่ายคน แต่ว่าสู้ nostalgic ไม่ได้ลองดูหน่อย ถ่ายภายในร้าน Cafe dot com ใต้ตึกวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ ม.เกษตร ครับ อันนี้โหมด vibrant

    P1000520.jpg

    ส่วนอันนี้ที่เดียวกันเป๊ะ แต่ว่าเป็น nostalgic ครับ … เป็นไง ฟิล์มเก่าๆ ดีมั้ย

    P1000522.jpg

  • ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้นิดๆ หน่อยๆ เพราะว่าได้เลนส์ที่รูรับแสงกว้าง ถึงแม้ว่าขนาดของเซนเซอร์จะเล็กก็เถอะ แต่ว่าก็ยังใหญ่กว่ากล้อง compact ทั่วๆ ไปพอควร ก็เลยยิ่งทำให้ถ่ายหน้าชัดหลังเบลอได้ง่าย เมื่อเทียบกับกล้อง compact ทั่วๆ ไป ยิ่งซูมออกนิดหน่อย จะยิ่งช่วยได้ภาพนี้ถ่ายคนโดยใช้โหมด nostalgic นายแบบคือ อ.ยศวี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ครับ ถ่ายที่ 9.3mm สำหรับเซนเซอร์ตัวนี้ ซึ่งเทียบเท่า 44mm บน 35mm ถ่ายที่ f/2.5 (กว้างสุดสำหรับทางยาวโฟกัสนี้ — สำหรับกว้างที่สุดสำหรับเลนส์คือ f/2 ที่เทียบเท่า 24mm)

    P1000510.jpg

  • แต่ว่าไปๆ มาๆ สิ่งที่ผมใช้กล้องตัวนี้ทำมากที่สุดคือ “ถ่ายขาวดำ” (B&W) โดยใช้โหมด Dynamic B&W ให้ความเป็นขาวดำที่สวยมากๆ สุดยอดมากๆ เลยถ่ายแต่โหมดนี้เป็นหลักเลย ให้ดูสองรูป จากโหมดนี้ครับ ทั้งสองภาพเป็นภาพตอนที่ผมไปดูงานศูนย์คอมพิวเตอร์ ที่วิทยาเขตเพชรบุรี โดยนายแบบหลักทั้งสองภาพ คือ พี่ฉลอง จากศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากรครับ

    P1000686.jpg

    P1000666.jpg

ค่อนข้างจะพอใจมากๆ กับกล้องตัวนี้ ทำให้ถ่ายรูปสนุกขึ้นอีกเยอะ โดยเฉพาะรูปขาว-ดำ จริงๆ อยากจะถ่ายขาว-ดำมานานแล้ว.. แต่ว่ากล้องที่มีอยู่ แม้แต่ D700 มันถ่ายขาว-ดำ “จากกล้อง” ไม่ค่อยจะถูกใจเท่าไหร่ และผมเป็นคนที่ไม่ชอบทำ post-process เท่าไหร่ด้วย ยิ่งต้องมาทำทุกรูปก็ไม่ไหว ก็มาเจอตัวนี้แหละครับ ที่ถ่ายขาว-ดำจากกล้องได้โดนใจมากๆ เลยตั้งไว้ถ่ายแต่โหมดนี้เลย แล้วเวลาอยากจะถ่ายคนที่ไม่ใช่ขาวดำ ก็สลับไปใช้ nostalgic เอา

P1000606.jpg

ป.ล. อ่านต่อตอน 2 ที่นี่: Panasonic Lumix LX3 Review #2