พฤติกรรมฝังราก จากการศึกษา

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2009 ผมเคยเขียนบทความไว้ที่นี่เรื่อง ลอกกุญแจ ได้คะแนนเต็ม และมีข้อความสำคัญว่า

ตราบใดก็ตามที่คนทำการบ้านได้ทุกข้อ ถูกทุกข้อ แต่ทำด้วยการลอกกุญแจ ลอกคีย์ ได้คะแนนมากกว่าคนที่ตั้งใจทำเอง เดินชนกับการบ้านเอง พยายามแก้ปัญหาเอง ถูกบ้างผิดบ้าง ทำเสร็จบ้างไม่เสร็จบ้าง … ตราบนั้น ประเทศไทยก็ไม่มีวันเจริญ (ไม่ก็ ตราบนั้นประเทศไทยก็ได้แค่นี้)

วันนี้จะขอพูดเรื่อง “การศึกษา” เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่แก่นแท้ที่สำคัญ มันขยายผลไปเป็นอะไรก็ได้ที่คุณผู้อ่านจะเปรียบเทียบและตีความได้ และเราต้องไม่ลืมว่าการศึกษา คือสิ่งที่สร้างพฤติกรรมฝังรากได้มากที่สุด รองจากพฤติกรรมของคนในครอบครัว

ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้ฟังผู้ปกครองบังคับเด็กทำการบ้าน ซึ่งจริงๆ แล้วผมไม่มีปัญหาอะไรมากมายเท่าไหร่กับการบังคับให้ทำการบ้าน เพราะมันก็เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่ต้องปลูกฝัง ถึงลึกๆ ในใจจะคิดค้านว่า “ไม่เห็นต้องทำให้มันเป็นเรื่องที่ทำลายความรู้สึกเด็กขนาดนั้นเลย ให้เขาทำด้วยทัศนคติที่ดีหน่อยก็ไม่ได้” ก็เถอะ

แต่ที่มันกัดความรู้สึกของผม ก็คือการเห็นภาพที่เด็กกำลังจะเขียนอะไรสักอย่างลงในสมุด ยังเขียนไม่ทันเสร็จเลย ก็โดนตวาดด้วยเสียงดังว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ เขียนนี่ๆๆๆ ลงไป” “แน๊ะ ยังจะเขียนแบบเดิมอีก” และอีกหลายอย่าง

ผมไม่รู้หรอก ว่าต้องเอาความถูกต้องอะไรหนักหนา ทั้งๆ ที่การบ้านไม่ได้มีไว้ให้ทำให้ได้ “ผล” ที่ถูกต้อง แต่ต้องทำให้ได้มี “กระบวนการทำการบ้าน” ที่ถูกต้อง มากกว่า เด็กอาจจะถูกสอนมาผิดจากโรงเรียน ทำให้สิ่งที่เด็กเขียน กับผู้ปกครองคิดว่าถูก ไม่ตรงกันก็ได้ นั่นก็คือ เด็กก็ไม่รู้หรอกว่าที่ทำลงไปน่ะ อะไรมันถูกอะไรมันไม่ถูก แต่ถ้าทำด้วยเหตุผลอะไรบางอย่าง ไม่ใช่ทำด้วยความไม่มีเหตุผล ก็น่าจะเพียงพอแล้ว ผู้ปกครองน่าจะคุยกับเด็กมากกว่า ว่าทำไมถึงตอบแบบนี้ ทำไมถึงคิดแบบนี้ ฯลฯ ไม่ใช่จะชี้นิ้วเอาสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องอย่างเดียว

ทำไมน่ะหรือ ลองดูพวกเราๆ สิ หลายอย่างที่เราทำๆ อยู่ทุกวันนี้ ที่เราคิดว่าเราทำถูก จริงๆ แล้วมันจะถูกหรือเปล่าเราก็ไม่รู้หรอก เพียงแต่เราทำด้วยเหตุผลบางอย่างเราถึงเชื่อว่าถูก ก็เหมือนกันกับเด็กน่ะแหละ ถ้าผู้ปกครองคนนั้นยังพูดไม่จบ แล้วผมไปยืนตวาดเค้าบ้างว่า “ผิด” “บอกแล้วไม่ฟัง” “นี่ คุยกับลูกแบบนี้ๆๆๆๆ” นี่จะเป็นยังไงนะ เพราะจากสายตาผม เค้าก็ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมือนกัน … ก็เหมือนกับสิ่งที่เค้าทำกับเด็กคนนั้นน่ะแหละ

…………………………..

ทั้งบ้าน ทั้งโรงเรียน มีแต่ความคิดความคาดหวังและดูที่ผลลัพธ์อย่างเดียว จะคาดคั้นเอาผลลัพธ์ที่ “ถูก” โดยไม่สนใจวิธีการ ไม่สนใจทัศนคติ ไม่สนใจเหตุอันเป็นที่มา … ผมเชื่อว่าสำหรับพ่อแม่หลายคน ถ้าลูกลอกข้อสอบ/การบ้านเพื่อน/หนังสือกุญแจแล้วได้คะแนนดี ก็ดีใจด้วยซ้ำไป เอาไปอวดเพื่อนอวดฝูงด้วยซ้ำไป

สิ่งที่เกิดขึ้นตลอด “กระบวนการสร้างคน ผ่านการศึกษา” ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ถึงมหาวิทยาลัย เป็นเวลาเกือบ 20 ปี มันหล่อหลอมให้ “ผลลัพธ์” ซึ่งก็คือ “คน” ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น มีความฉาบฉวย เน้นไปที่การได้ผลอย่างเร่งด่วน คิดอะไรแค่เฉพาะหน้า ลงมือทำไม่เป็น และไม่ยินดีลงมือทำ รับความเสี่ยงในการลงมือทำและจะไม่ได้ผลที่ต้องการไม่ได้ หาความช่วยเหลือมากกว่าให้ความช่วยเหลือ เห็นแก่ตัว คิดเอาแต่ได้ คิดแต่สบาย อยากได้อะไรต้องมีคนทำไว้ให้อยู่ก่อนแล้ว แค่หาแล้วเอามาเป็นของตัวเอง

…………………………………………………

ผมพูดเสมอว่า “ผมไม่โทษนักศึกษาหรอก คนเหล่านี้เป็นผลผลิตที่สมบูรณ์ ของสังคมการศึกษาที่ล้มเหลว”

การสอบโปรเจคจบของนักศึกษาปีสี่ ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นานนี้ สะท้อนภาพนี้ได้ชัดเจนพอสมควร

น้องๆ ปีนี้ คือนักศึกษาที่ผมสอนวิชา Programming Platforms and Environment ไปเมื่อสองปีก่อน ซึ่งในปีนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ผมให้โจทย์ที่ต้องเขียนโปรแกรมบ้าง น้องๆ ส่วนมากจะ “รอเพื่อน” จนกระทั่งมีใครสักคนทำได้ แล้วลอกมันส่งกันเกือบยกชั้น .. น้องๆ ส่วนมากจะ “ไม่สามารถอธิบาย” แต่ละบรรทัด/แต่ละส่วนของโปรแกรมได้ ว่ามันคืออะไร มันมีไปทำไม ถ้าถามผลการทำงานของโปรแกรมอย่างฉาบฉวย จะตอบได้ แต่อย่าถามนะ ว่าไอ้บรรทัดนี้ มันมีไว้ทำไม มันทำงานเมื่อไหร่ อย่างไร มันทำแบบอื่นได้มั้ย มันเอาไปใช้ทำอะไรได้บ้าง จะเงียบ ตาย ทันที … น้องๆ แทบทุกคนจะ “ทำการบ้านเฉพาะข้อง่ายๆ” ที่คำตอบมันชัดหรือหาได้ง่าย

สอนก็แล้ว ให้ตกก็แล้ว ว่าก็แล้ว ฯลฯ

สองปีผ่านไป หลายคนก็ทำโปรเจคจบ เกิดอะไรขึ้นหรือ? ก็เหมือนกับข้อความข้างบนนี้น่ะแหละครับ เพียงแต่เปลี่ยนจาก “การบ้าน” เป็น “โปรเจค” เท่านั้นเอง อะไรที่เคยหยิบจากเน็ตได้อย่างฉาบฉวย เอามารันแล้วได้ผลที่ต้องการ มาส่งเป็นการบ้าน ไม่ได้คิด ไม่ได้เขียน ไม่ได้ทำความเข้าใจอะไรเลย เมื่อก่อนเป็นยังไง เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น เลือกทำแต่เฉพาะงานส่วนง่ายๆ ที่คำตอบมันหาได้ง่ายๆ ฉันใดก็ฉันนั้น ถ้ามีอะไรที่คล้ายเพื่อน ก็จะลอกเพื่อน โดยตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย ฉันใด ก็ฉันนั้น

……………………………………..……………………………

ถ้านักศึกษากลุ่มนี้ยังจำได้ ผมเคยเขียน “บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน” ลงใน “ข้อสอบปลายภาค” และ ณ วันนี้ ผมขอเขียนมันอีกครั้งหนึ่งที่นี่

____ บทเรียนสุดท้าย ที่ผมไม่มีโอกาสสอนคุณในห้องเรียน ______

อาจารย์ที่ผมเคารพมากท่านหนึ่ง (Prof. Brian Harvey; University of California at Berkeley) เคยพูดเอาไว้ว่า เหตุผลที่ นักศึกษาควรศึกษาทุกอย่างเอง หัดทําอะไรเอง ชนกับปัญหาเอง วิเคราะห์การแก้ปัญหาเอง ไม่ลอก ไม่ถามหาความช่วยเหลือ ก่อนเวลาอันควร ไม่ควรเขียนโปรแกรมให้กัน หรือคิดวิธีการแก้ปัญหาให้กัน ไม่ใช่เพราะเรื่องจรรยาบรรณ เรื่องชื่อเสียง ไม่ว่า จะของตัวเองหรือสถาบัน เรื่องฝีมือการทํางาน ฯลฯ หรือเรื่องอะไรก็ตามที่มันอุดมคติ แต่เพราะ “พฤติกรรมอะไรก็ตาม ที่คุณสร้างให้ตัวเอง สมัยเรียน มันจะเป็นพฤติกรรมที่ฝังรากลึก แก้ไม่ได้ ตอนที่คุณไปทํางาน”

มันเหมือนกับการเขียนโปรแกรมให้ตัวเอง คอมไพล์ … แล้วไปเห็นผลการรันในตอนทํางานจริง

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่อ้างว่า ไปเที่ยว กิจกรรม ฯลฯ ในคืนวันอาทิตย์ จนไม่สามารถมาทํางานได้ในวันจันทร์ เพราะนั่น เป็นวันทํางาน คุณก็ต้องรับผิดชอบมันในฐานะวันทํางาน

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดอะไรเลย รอแต่ให้หัวหน้างานป้อน/สั่ง พนักงานที่ไม่สนใจคิดวิเคราะห์ถึงปัญหา หรือ พนักงานที่ไม่สนใจงานตัวเอง ทํางานให้มันผ่านๆ ไป และไม่คิดรีวิวงานตัวเองจากสัปดาห์ก่อน หรือพนักงานที่มีสมุดจดงาน เอาไว้แค่เปิดดูเวลาที่โดนเจ้านายถาม

ผมไม่อยากเห็น พนักงานที่ไม่คิดเอาสิ่งที่ตัวเองเห็น จากเรื่องรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะเป็นนิยาย ภาพยนต์ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯมาเป็นข้อคิดที่ดีในการทํางานพนักงานที่มองไม่เห็นว่าทุกอย่างมันเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกันอยา่งไรมันเกี่ยวขอ้ง เกี่ยวพันกันอย่างไร

ไม่ว่าคุณจะทํางานไอทีหรือไม่กต็ามพฤติกรรมเหล่าน้ีจะติดตัวคุณไป

ดังน้ันผมหวังว่าจะไม่ได้ยินคําพูดของคุณที่ว่า“จบแล้วผม/หนูจะไม่ทํางานด้านนี้ดังนั้นให้ผม/หนูผ่านเถอะครับ/ค่ะ” อีก

ผมอยากเคารพคุณทุกคน ในฐานะ “นักศึกษา” ในวันนี้ และ “เพื่อนร่วมวงการ” ในอนาคต

ขอบคุณครับ

… และคุณคงเข้าใจแล้วว่า วิชานั้น ที่ผมบอกว่า มหาวิทยาลัย การศึกษา และครอบครัว มันก็เป็น Programming Platform และ Environment ที่มันโปรแกรมพฤติกรรมฝังรากให้กับพวกคุณ ที่มันแก้ไม่ได้ ถ้าพวกคุณไม่พยายามคิดจะทำอะไรบางอย่างกับมันบ้าง มันแปลว่าอะไร … เพราะสิ่งไหนที่มันเป็นในวันนั้น วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น

The App Must Go On (แปลงจาก The Show Must Go On)

อารมณ์พาไป เลยแปลงเพลง The Show Must Go On จากอารมณ์โปรแกรมเมอร์ซะหน่อย

Empty projects – what are we coding for
Abandoned usages – I guess we didn’t know who it’s for
On an on, does anybody know what we are looking for

Another feature, another API
Behind the curtain, in the source code files
Thousands of lines, does anybody want to write it anymore

The app must go on
The app must go on
Inside my code is breaking
The bugs appear so freaking
But my brain still works on

Whatever happens, I can’t leave it all to chance
Another query, another failed access
On an on, does anybody know what we are coding for

Algorithm isn’t working, I must feel chiller now
I’ll soon be doing a cutting-corner now
Outside the deadline is approaching
But inside there’re bugs aching to be free

The app must go on
The app must go on
Inside my code is breaking
The bugs appear so freaking
But my brain still works on

A little bug is like the wings of butterflies
Single line can crash the app and die
I can’t cry – my friends

The app must go on
The app must go on
I’ll code it with a grin
I’m never giving in
On – with the code –

I’ll top the bill, I’ll overkill
I have to find the will to carry on
On with the –
On with the code –
The app must go on.

ท่าทางจะต้องเก็บไว้ร้องใน Karaoke บ้างซะแล้ว

หนังสือ iPhone App: 3 บทใหม่ (ที่เคยคิดจะเอาใส่หนังสือเล่ม 2)

เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมได้เขียนหนังสือ “คู่มือเขียน iPhone App” ซึ่งออกมาในช่วงคาบลูกคาบดอก ระหว่างรอการเปลี่ยนแปลง จาก iOS 4 เป็น iOS 5 และ Xcode 4 เป็น Xcode 4.2 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ “Major Change”

ใจจริงผมอยากจะเขียนให้อิงกับ iOS 5 และ Xcode 4.2 เป็นหลักตั้งแต่ต้น แต่ในขณะนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าทั้งสองตัวนี้จะออกมาเมื่อไหร่ และด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง รวมถึงความต้องการของสำนักพิมพ์ ที่อยากจะออกสู่ตลาดเร็วๆ ในขณะที่ยังไม่มีเจ้าอื่นออกมา (ซึ่งผมเข้าใจเหตุผลนี้ และไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น) ทำให้เราตัดสินใจทำมันออกมาเป็น “iOS 4 และ Xcode 4” เพื่อให้ออกมาได้ก่อน และหลายคนได้เริ่มก่อน

และด้วยเหตุผลของ NDA ทำให้ผมไม่สามารถที่จะเขียนถึงรายละเอียดอะไรของ iOS 5 และ Xcode 4.2 ได้เลย

ทีนี้ปัญหาก็เลยเกิดขึ้น เมื่อ iOS 5 ออกมาแล้ว และ Xcode 4.2 ออกมาแล้ว (และไม่สามารถหา Xcode 4.0, 4.1 ได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะ Xcode ที่อยู่บน Mac App Store มันเป็น 4.2) ปัญหาง่ายๆ มันก็เลยเกิดขึ้น เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างที่ผมบอกไว้ ทั้งในระดับตัวภาษา Objective-C, iOS SDK และตัว Xcode เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Default Settings ทุกอย่างนั้นกำหนดให้ใช้ความสามารถใหม่โดยปริยาย

ผมได้เริ่มเขียนหนังสือ “เล่ม 2” ซึ่งวางเอาไว้เป็นเล่มต่อจากเล่มที่พิมพ์ไปแล้ว มาพักหนึ่ง และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ แต่ผมขอตัดสินใจแสดงความรับผิดชอบที่ออกหนังสือมาเร็วไปหน่อย ทำให้หลายคนที่เริ่มต้นเขียน iOS แล้วเจอเครื่องมือใหม่มีปัญหา โดยเอาออกมาให้อ่านก่อนแบบฟรีๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านเล่มแรกของผมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้

สำหรับท่านที่ไม่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม หรืออยากจะทำตามหนังสือเล่มแรกอย่างเดียว ผมมีคำแนะนำว่า เวลาสร้างโปรเจคใหม่ ให้เลือก “ไม่ใช้ Storyboard” และ “ไม่ใช้ Automatic Reference Counting” เสมอครับ

ตอนนี้ผม “พับ” โครงการที่จะเขียนหนังสือเล่ม 2 ออกตีพิมพ์เรียบร้อยแล้วครับ แต่จะ “เขียนใหม่ทั้งหมด” เป็น iOS Development Series โดยไม่เหลือเยื่อใยกับของเดิม เป็นการเขียนใหม่ 100% ทั้งตัวอย่าง เนื้อหา เรียบเรียง โดยจะทำเป็น e-Book only และขายผ่านเว็บไซต์ของ Code App และอาจจะผ่าน App ซึ่งออกแบบมาเฉพาะสำหรับหนังสือเล่มนี้ เท่านั้น โดยมีเนื้อหาแบ่งเป็นหลายเล่ม ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนโปรแกรมด้วย Objective-C เต็มๆ เล่มเลยทีเดียว

อดใจรอกันสักหน่อยนะครับ

สองวันกับ Nikon V1

เพิ่งได้ของเล่นใหม่มาปลอบใจตัวเองหลังน้ำลด เพราะว่า Fujifilm X100 ที่เคยเขียนรีวิวไว้ที่นี่ เกิดเปียกน้ำ จากการที่วางไว้บนพื้นรถ และน้ำเข้ารถตอนหนีน้ำ แล้วก็ยังไม่ได้ส่งซ่อม GF1 ก็โดนขโมยไปเรียบร้อย แต่คิดว่าต้องมีกล้องตัวเล็กๆ คุณภาพดีหน่อยไว้พาไปไหนมาไหนง่ายๆ ….. ก็หาเรื่องเสียเงินเล่นอีก ว่างั้นเถอะ … และคราวนี้ก็มาถึงคราวของ Nikon V1 น้องใหม่ของค่าย Nikon ที่ผมใช้ D-SLR อยู่

ตอนท้ายรีวิวของ X100 ผมเขียนทิ้งท้ายไว้ว่า

ลึกๆ แล้ว ผมก็ยังหวังว่าจะได้เห็น Nikon SP กลับมาเกิดใหม่เป็นกล้องคอมแพคเซนเซอร์ใหญ่ แบบ X100 สักวัน

ฝันนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ลองดูกันเลยครับ

หมายเหตุเกี่ยวกับรูป: ทุกรูปที่เห็นในนี้ เป็น Out-Of-Camera JPEG (นอกจากรูปที่ผมลองดึงเพื่อลอง Dynamic Range) ใช้โหมด Standard บ้าง Vivid บ้าง และเพิ่ม Sharpen ในกล้อง เพราะค่า Default มันต่ำไป ใช้ Auto White Balance ทุกรูป โดยมีปรับไปทางสีเย็นบ้างเป็นบางรูป (ปรับในกล้อง) และตั้ง Auto ISO ไว้ ถ่ายโหมด A, S, P แล้วแต่กรณี ทุกรูปย่อโดย Lightroom ซึ่งจะติด Sharpen เพิ่มมาอีกนิด … รูปทั้งหมดสามารถดูรูปใหญ่ได้ที่ Flickr ซึ่งผมลงไว้ที่ Photoset นี้ [Review] 2 Days with Nikon V1 ซึ่งตอนนี้มีรูปเท่ากับที่ลงในบทความนี้ แต่อาจจะเพิ่มในอนาคต (ซึ่งจะลงใน Flickr แต่ไม่เอามาลงเพิ่มในบทความนี้แล้ว)


DSC_0032.jpg

เจ้าไอโฟน (V1, 10-30, 19.6mm, 1/30s, f/5.6, ISO 450)

Nikon V1 (และ J1 ด้วย) เป็นกล้องที่ผมเชื่อว่า “คนเล่นกล้อง” หลายคนดู spec แล้วส่ายหัว เบือนหน้า เพราะว่ามันเป็นกล้องที่ “ขนาดเซนเซอร์ใหญ่ไม่จริง” คือ เล็กกว่า Micro 4/3 เสียอีก เรียกได้ว่าขนาดของเซนเซอร์ของ Nikon 1 ทั้งสองตัว จะอยู่ตรงกลางระหว่าง M4/3 และเซนเซอร์กล้องคอมแพคขนาดใหญ่ (พวก LX5, P7000 อะไรพวกนี้) พอดีเป๊ะ

แล้วถ้าเซนเซอร์มันเล็ก แล้วมันมีข้อเสียอะไรล่ะ? ที่เห็นง่ายๆ ก็ 2 ข้อเต็มๆ ครับ คือ

  • การถ่ายภาพในที่แสงน้อย ซึ่งเรื่องนี้ผมเคยทำ Pencast ไปแล้วครั้งหนึี่ง ลองย้อนดูได้ที่ Pencast: Digital Camera Image Sensor 101 …. แต่เรื่องการใช้งานในที่แสงน้อยนี่ผมไว้ใจ Nikon นะ เพราะผมเคยตาค้างมาแล้วกับ D3s แล้วก็จะว่าไป P7000 ก็ไม่ได้น่าเกลียดเลย
  • เรื่อง Shallow-Depth-of-Field (DoF) หรือการถ่ายชัดตื้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดเชิงฟิสิกส์แบบเดียวกัน ที่ว่ายิ่งเซนเซอร์เล็ก ก็ยิ่งถ่ายชัดตื้นยาก (เหตุผลอยู่นอกเหนือขอบเขตของรีวิวนี้ ถ้าสนใจวันหลังจะทำ Pencast ไม่ก็เขียนบทความให้อีกครั้ง วันนี้ขอบายก่อน)

แค่นี้ หลายคนก็ยี้แล้ว โดยไม่ต้องสนใจการใช้งานจริงแต่อย่างใด … แต่เมื่อผมลองใช้งานจริงแล้ว ผมคิดยังไงกับมันล่ะ?


DSC_0110.jpg

แมวมอง (V1, 30-110, 110mm, 1/30s, f/5.6, ISO 2800 — ยังพอดูได้)

รูปร่างและขนาด

ถึง V1 จะเป็นกล้องเซนเซอร์เล็ก แต่รูปร่าง ขนาด น้ำหนัก มันไม่ได้เล็กกว่าพวกตระกูลคอมแพคเปลี่ยนเลนส์ได้ทั้งหลายเลยนะ ยิ่งเทียบกับพวกตัวหลังๆ ที่พยายามทำให้ตัวกล้องมันเล็กๆ เช่นพวก NEX หรือ GF3 แล้วมันใหญ่กว่าด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้เมื่อดูบนกระดาษแล้ว ต้องบอกว่ามันน่าสนใจน้อยกว่าตัวอื่น แต่ว่าเมื่อลองใช้จริงๆ แล้ว ต้องบอกว่า “ผมชอบมันว่ะ” เพราะ

  • ขนาดและน้ำหนักมันกำลังเหมาะกับมือพอดี ถ้าเล็กกว่านี้หรือบางกว่านี้ ผมคงจะถือมันลำบาก
  • “เลนส์” … เนื่องจากมันเป็นคอมแพคเปลี่ยนเลนส์ได้ ดังนั้นมีแต่บอดี้เปล่าๆ คงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่แน่ แต่เมื่อใส่กับเลนส์แล้วมันจะบาลานซ์กันได้ดีแค่ไหน (ลองนึกถึง NEX กับเลนส์ 18-55 Kit ซึ่งผมลองจับดูแล้วรู้สึกว่ามันอยู่บนปากเหวของคำว่าบาลานซ์แล้ว ถ้าเป็นเลนส์ระยะไกลกว่านั้นคงรู้สึกมากกว่านั้นแน่ๆ หรือว่าจะลองนึกภาพ E-P, GF ใส่กับ Panasonic 45-200 ก็ได้ จะเห็นว่ามันไม่บาลานซ์เอาซะเลย นั่นแหละ ผมถึงแทบไม่เคยใช้ GF1 กับ 45-200 เลย)

ที่เคยมีการสัมภาษณ์ใครสักคน (ผมจำไม่ได้ ขออภัย) ว่า Nikon คิดเรื่องพวกนี้ “ทั้งระบบ” ไม่ใช่แค่เรื่องของเซนเซอร์ หรือขนาดตัวกล้อง เท่านั้น ท่าจะจริงแฮะ (แต่ว่าพอลองดูเลนส์ครอบจักรวาลอย่าง 10-110 แล้ว … เออ ตัวใหญ่อลังการเหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะหลุดบาลานซ์ขนาดไหน)


DSC_0086.jpg
วาล์วน้ำหลังตึก (V1, 30-110, 74.3mm, 1/60s, f/5.0, ISO 200)

เลนส์

ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องเลนส์แล้ว ก็ขอเขียนถึงเรื่องนี้หน่อยก็แล้วกัน

V1 ชุดที่ผมได้มา เป็นชุด Dual Lens ซึ่งจะมีเลนส์ 2 ตัว คือ 10-30mm, f/3.5-5.6 (ระยะประมาณ 27-80mm) และ 30-110mm, f/3.8-5.6 (ประมาณ 80-300) ซึ่งครอบคลุมการใช้งานประมาณ 90% ที่ผมใช้ จะติดหน่อยก็ตรงที่หลายครั้งยังรู้สึกว่าเทียบเท่า 27mm มันแคบไปหน่อย (ตามประสาคนติด 24-70 และมี 14-24) ทำให้รู้สึกอยากได้อะไรที่มันกว้างกว่านี้ไว้สักตัวเหมือนกัน เช่น 6-13mm (ประมาณ 16-35) แต่คงจะตามมาทีหลัง เพราะว่าตอน M4/3 ออกใหม่ๆ ก็มีแต่ Prime, Normal Zoom กับ Tele เหมือนกัน แล้วก็มี 7-14 เป็น Ultra-Wide Zoom ออกมาทีหลัง


DSC_0670.jpg

สถานีสุดท้าย …​ ก่อนการเดินทางนิจนิรันดร์ (V1, 10-30, 10mm, 1/320s, f/7.1, ISO 100)

ทั้งสองตัวก็ทำงานได้ค่อนข้างดีนะ ผมยังไม่ได้ลองเอาภาพมาส่อง 100% ดูกลางภาพ ดูขอบ ดูอะไรเท่าไหร่ (ซึ่งปกติก็ไม่ค่อยได้ทำอยู่แล้ว) เอาเป็นว่าทั้งสองตัวนี้ใช้งานได้กำลังสบาย ขนาดและน้ำหนักกำลังดี ทำงานไวและเงียบ ก็คงจะพอแล้วมั้ง


DSC_0104.jpg

กองใบไม้ร่วงบนพื้น (V1, 30-110, 110mm, 1/250s, f/6.3, ISO 280)

สิ่งที่ผมรู้สึก “ชอบมาก” กับเลนส์ของ Nikon 1 ก็คือ “Telephoto Zoom ระยะ 80-300 ที่ตัวเล็กมาก” เวลาใส่กับกล้องแล้วไม่รู้สึกว่ามันไม่เข้ากัน หรือหน้าทิ่มแต่อย่างใด และทำให้เวลาเอาไปถ่ายคน มันดูเป็นมิตรมากขึ้นเยอะด้วย (ไม่รู้สึกเหมือนกำลังโดน “ซูม” ถ่าย) แบบนี้เวลาใช้งานคงมีความสุขขึ้นเป็นกองเลย

เรื่องเลนส์มีอีก 3 อย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ การออกแบบ การ Focus และ Hood

เรื่องการออกแบบก่อน การออกแบบเลนส์ทั้งสองตัวนี้จะต่างจากเลนส์ตัวอื่นๆ ของระบบ D-SLR ของ Nikon ที่เมื่อเมาท์เข้ากับกล้องแล้วใช้งานได้เลย สำหรับเลนส์ของ Nikon 1 ทั้งสองตัวนี้ก่อนจะใช้งานจะต้องทำการ “เปิดเลนส์” เสียก่อน ซึ่งก็คือการเลื่อนออกจากตำแหน่ง Lock เลนส์ ซึ่งเมื่อเลนส์อยู่ในตำแหน่ง Lock จะทำให้เลนส์มีขนาดเล็กลงอีกนิดหน่อย (อารมณ์ Collapsible Design น่ะแหละ) และเมื่อเลื่อนเปิดเลนส์แล้ว ถ้ากล้องปิดอยู่ก็จะทำการเปิดกล้องให้อย่างอัตโนมัติด้วย ซึ่งไปๆ มาๆ ผมก็คุ้นเคยกับการเปิดกล้องจากเลนส์มากกว่าจากปุ่มเปิด/ปิดบนตัวกล้องเสียอีก และการเปิดเลนส์นี้ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วพอสมควร


DSC_0499.jpg

แอบมอง (V1, 30-110, 74.3mm, 1/100s, f/5.6, ISO 200)

เรื่องการโฟกัส ก็ต้องยอมรับว่า “ไวและเงียบ” ทั้งสองตัว (ผมยังไม่ได้ลอง 10-110 และ 10/2.8) แต่มาตายเอาตรง Manual Focus เนี่ยแหละ คือ มันมีบางจังหวะที่ผมอยากจะปรับโฟกัสเองแบบด่วนๆ แต่ว่าเลนส์นี้มันดันไม่มีวงแหวนปรับโฟกัสบนตัวเลนส์เลยน่ะสิ ต้องปรับผ่านกล้อง (กดปุ่ม หมุนวงแหวนด้านหลัง ทำนองนั้น) ก็เลยรู้สึกว่า “อย่าดีกว่า ช่างมัน” หัดเรียนรู้นิสัย Auto-Focus ของมันให้ชินๆ จะดีกว่า


DSC_0106.jpg
ล้มในอ้อมกอด (V1, 30-110, 51.2mm, 1/125s, f/5.0, ISO 200)

สุดท้ายก็เรื่อง Hood ซึ่งจริงๆ ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเลนส์โดยตรงหรอก … แต่ในกล่อง V1 มันมีมาให้แต่ HB-N103 สำหรับ 30-110 แต่ไม่ยักกะมี HB-N101 สำหรับ 10-30 มาให้ด้วย ตอนแรกผมคิดว่าผมเผลอทำตกหรือเอาไปวางไว้ไหน โทรไปถามที่ร้านก็ได้คำตอบว่า ไม่มีให้ (เหมือนกันทุกกล่อง) …. อันนี้พูดไม่ออก เพราะว่า Lens Hood นี่สำคัญมากเลยถ่ายรูปย้อนแสง มันช่วยเรื่อง Contrast เรื่องอะไรพวกนี้เยอะเลย ตอนนี้ก็เลยต้องยกมือป้องแสงเอา ลำบากเปล่าๆ ก็คงต้องรอใครเอาเข้ามาขาย ไม่งั้นก็ต้องสั่งจาก e-Bay อีกแล้ว

สุดท้าย … บ่นนิดหน่อย ที่ไม่มี Fast Prime (2.8 กับ Prime นี่ผมถือว่า “ไม่ Fast” แล้วนะ) สำหรับระยะ Normal หรือ Wide-Normal เลย 10mm เทียบเท่า 28mm นี่ ผมว่าใช้ยากไปหน่อย … ได้อิทธิพลมาจาก NEX มากไปหรือเปล่าไม่รู้ .. ถ้ามีประมาณ 18/1.8 (เทียบเท่า 50mm) จะน่าสนใจมาก แถมเลขด้วยซะด้วยนะ


DSC_0144.jpg
Lonely Chair (V1, 30-110, 110mm, 1/250s, f/6.3, ISO 180)

ก็คงต้องรอ Adapter ที่จะทำให้พวกเลนส์ AF-S จาก D-SLR มันใช้ได้นะ คิดๆ ดู 50/1.8 ก็ตัวไม่ใหญ่เท่าไหร่ เอามาใส่นี่ได้ระยะ 135 เลยทีเดียว (แถมได้ DoF เทียบเท่ากับ 135mm เปิดที่ประมาณ f/4.8 ซึ่งก็แคบพอดู ไม่น่าเกลียดเท่าไหร่เลย)

การใช้งาน

เท่าที่ลองใช้งานดู เห็นได้ชัดเจนว่า V1 ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับพวกนักเล่นกล้อง ที่ชอบควบคุม ชอบเล่น DoF ชอบปรับค่าโน่นนี่ อะไรพวกนี้เลย แต่มันถูกสร้างมาสำหรับคนที่ต้องการยกกล้องขึ้นมาถ่าย ถ่าย ถ่าย แล้วก็ถ่าย ซะมากกว่า พูดง่ายๆ ว่าพวกชอบ D-SLR อาจจะหงุดหงิด จะปรับอะไรก็ต้องเข้าเมนู แต่ก็ยังดีนะที่เมนูมันไม่ซับซ้อนเท่าไหร่ ตรงไปตรงมา ง่ายพอควร ปรับไม่กี่ครั้งก็ชินแล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหน ไม่ต้องอะไรมาก ขนาดการจะปรับ PASM ยังต้องเข้าเมนูเลย … แต่ว่าพวกที่เคยใช้คอมแพคตัวเล็กๆ (ที่ไม่ใช่พวก Advanced) มาก่อนจะรู้สึกเฉยๆ


DSC_0156.jpg
ถ่ายรูปวาด (V1, 30-110, 89.9mm, 1/10s, f/5.6, ISO 3200 — ก็ยังพอรับได้)

ถ้าใครเคยใช้กล้องคอมแพคของ Nikon มาก่อน ก็คาดหวังได้ไม่ยากว่ามันจะมีอะไรให้ปรับได้บ้าง นอกจาก PASM แล้วก็มีพวก Picture Control, Auto ISO, Vibration Reduction, อะไรพวกนี้น่ะแหละ แต่ที่ผมผิดหวังมากที่สุดก็คือ การตั้ง Auto ISO นี่เราไม่สามารถกำหนด “ความไวชัตเตอร์ต่ำสุด” ได้เลย นั่นคือ กล้องมันจะเลือก ISO ให้เราเองตามใจมัน โดยที่เราไม่สามารถควบคุมอะไรเลย อันนี้เป็นผลเชิงลบอย่างมากสำหรับผม เพราะว่าโดยปกติแล้วผมจะชอบตั้งความไวชัตเตอร์ต่ำสุดไว้เหมาะกับประเภทภาพที่จะถ่าย เช่น ถ้ารู้ว่าจะไปที่ๆ ต้องถ่ายคนเยอะหน่อย ก็จะตั้งความไวไว้สูงหน่อย (อย่างน้อย 1/125s) ถ้าลดลงต่ำกว่านี้เมื่อไหร่ เตะ ISO ขึ้นได้เลย ยอม ..​ แต่ว่าตัวนี้นี่ ไม่มีการตั้งพวกนี้เด็ดขาด ก็เลยต้องเลี่ยงไปใช้โหมด Shutter-Priority แทนอย่างเลี่ยงไม่ได้ (ปกติผมจะใช้โหมด Aperture-Priority และตั้ง Auto-ISO พร้อมกำหนด Shutter-Speed ต่ำสุดเอาไว้)


DSC_0120.jpg
สงบ (V1, 30-110, 71.6mm, 1/15s, f/5.6, ISO 800)

อ่อ แล้วก็ทุก Option จะแทบไม่มีปรับละเอียดนะ เช่น Active D-Lighting จะมีแค่ On/Off ไม่มีรายละเอียดแต่อย่างใด

ที่ผม “ไม่ชอบเลย” กับการใช้งาน V1 ก็คือ ปุ่มเลือกรูปแบบการถ่าย (ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ) มันอยู่ใกล้ตำแหน่งวางนิ้วมือ และแม่เจ้าประคุณก็เปลี่ยนง่ายซะเหลือเกิน ไปแตะๆ หน่อยก็เปลี่ยนซะแล้ว ยกกล้องขึ้นมากดชัตเตอร์ คิดว่าจะถ่ายภาพนิ่ง กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวซะงั้น ใครออกแบบตรงนี้สมควรโดนด่าจริงๆ …. แล้ว Dial ก็มีไม่เต็มวง แบบนี้จะช่วยเอา PASM มาใส่ไว้ตรงนี้หน่อยก็ไม่ได้ (เหมือนพวก D-SLR ที่ยังมี PASM อยู่ปนกับ Scene-Mode เลย)


DSC_0486.jpg
นางรำ (V1, 30-110, 110mm, 1/500s, f/6.3, ISO 100)

สรุปว่า ถึงมันจะตั้งค่านี่นั่นโน่นได้บ้าง แต่อย่างคิดและคาดหวังว่าจะตั้งโน่นตั้งนี่ได้ง่ายและปรับโน่นนี่ได้บ่อยๆ เหมือนกับ D-SLR (ยิ่งผมใช้ D3s ด้วย ยิ่งไปกันใหญ่ ตัวนี้แต่งได้ยิ่งกว่าได้ซะอีก) ลองคิดว่ามันให้เราปรับๆ เป็นค่าตั้งต้นไว้ แล้วก็ลืมๆ มันไปซะว่าปรับได้ แล้วก็ถ่ายอย่างเดียวจะดีกว่า แบบนั้นมีความสุขกว่าเยอะ ถ้าไปถ่ายรูปแต่มัวแต่ปรับกล้อง หลายคนอาจจะไม่มีความสุขเท่าไหร่ (สำหรับผมก็แล้วแต่อารมณ์)

แต่ Auto Focus มันไวจริงๆ นะ ;-) แล้วก็ถ้าเลือกใช้ Electronic Shutter ล่ะก็ เงียบเป็นเป่าสาก ไม่มีเสียงใดๆ ทั้งสิ้น และเนื่องจากเลนส์ Tele ระยะไกล (เทียบเท่า 80-300) มันตัวเล็กมาก มาก มาก ดังนั้นมันเป็นกล้อง Sniper ชั้นดีชัดๆ .. โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใช้ J1 ที่สีสันเป็นมิตร ไม่เป็นภัยนะ ยิ่งดูโอเคเข้าไปอีก


DSC_0380.jpg
เณรกระซิบ (V1, 30-110, 110mm, 1/200s, f/7.1, ISO 100)

ภาพที่ได้

หลายคนคงสนใจตรงนี้ที่สุด (หลายคนเลิกสนใจตั้งแต่ spec แล้ว)


DSC_0236.jpg
หลับปุ๋ย (V1, 30-110, 53.1mm, 1/15s, f/5.0, ISO 900)

จากข้อจำกัดของเซนเซอร์อย่างที่รู้กันดี ทำให้ผมบอกได้ว่า ถ้าเราคาดหวังคุณภาพระดับ D-SLR ละก็ ผิดหวังแน่นอน ก็แหงล่ะ ขนาดเซนเซอร์มันใกล้เคียงกับคอมแพคมากกว่า D-SLR นี่นา แต่มันทำได้ขนาดไหนล่ะ?

จากการใช้งานจริงๆ ผมพบว่ามันทำได้ดีกว่าที่ผมคาดไว้ … โดยความคาดหวังของผมคือ “P7000 ที่ถ่าย ISO สูงดีกว่า P7000 อยู่ 1 Stop และมี DoF ที่ตื้นกว่า P7000 ที่ความยาวโฟกัสเทียบเท่ากันในระบบ 35mm อยู่ 1 Stop เช่นเดียวกัน” พูดง่ายๆ ว่า P7000 ใช้ ISO 1000 ได้ผลเป็นไง หมอนี่ต้องใช้ ISO 2000 ได้ผลประมาณนั้น และ P7000 ที่ทางยาวโฟกัสเทียบเท่า 140mm เปิด f/5.6 ได้ผลยังไง หมอนี่ที่เทียบเท่า 140mm เปิด f/8 ต้องได้ผลประมาณนั้น


DSC_0454.jpg
เล่นลม (V1, 30-110, 110mm, 1/1250s, f/8, ISO 100)

เริ่มจากเรื่อง ISO สูงกันก่อน โดยหลังจากถ่ายรูปใช้ Auto ISO โดยใช้เพดานบนสำหรับ ISO คือ 3200 ผมพบว่าผมรับ ISO สูงของกล้องตัวนี้ได้สบาย ถ้าจะเอาแค่โพสท์ภาพลงเว็บ หรือว่าใช้ภาพทั่วๆ ไป ไม่ได้พิมพ์อะไรใหญ่มาก ไม่ได้โพสท์ Crop 100% ลงเว็บ ผมว่ามันใช้งานได้สบายๆ ถึง ISO 3200 นะ ปกติภาพลงเว็บก็ไม่ค่อยจะเกินกรอบขนาด 800×800 กันอยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าเมื่อดูที่ 100% ก็จะเห็น Noise มาเพียบ และรายละเอียดหายไปบ้าง แต่สำหรับการใช้งานของผมกับกล้องตัวนี้ ก็ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว และผมเชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายของกล้องตัวนี้ก็คงไม่มีปัญหาเช่นกัน


DSC_0248.jpg
เงาสะท้อนในกระจก (V1, 30-110, 110mm, 1/125s, f/5.6, ISO 500)

ถัดมาก็เป็นเรื่องสีสันของภาพ …. และนี่คงจะเป็นคำตอบสำหรับสิ่งที่ผมค้นหามานานเสียที เพราะว่ามัน “น่าจะ” ให้สีได้ “Nikon” อย่างที่ผมคุ้นเคยมากพอสมควร แต่ว่าจะเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะผมยังมีความรู้สึกนิดๆ ว่ามันต่างจากภาพจาก D3s ที่ผมคุ้นเคยอยู่หน่อย อาจจะเพราะว่า Auto White Balance มันให้ผลต่างกันก็เป็นได้ อันนี้เป็นความรู้สึกล้วนๆ เพราะว่ายังไม่ได้ลองเอา D3s มาถ่ายภาพเดียวกันเทียบดู แต่สำหรับ Auto White Balance นี่เราสามารถปรับแต่งค่าของมันใน 2 แกน (Temp และ Tint) ได้ไม่ยาก ก็ลองๆ ปรับเอาตามที่ชอบ เช่น ผมรู้สึกว่าภาพมัน “อุ่น” เกินไป ก็ไปปรับ Auto White Balance ให้มัน “เย็น” ลง 1 ช่อง เป็นต้น .. แต่สรุปว่า สีสวยครับ เขียวเป็นเขียว ฟ้าเป็นฟ้า ดูเป็นธรรมชาติ อาจจะติดอุ่นนิดๆ


DSC_0306.jpg
ประจันหน้า (V1, 30-110, 71.6mm, 1/125s, f/4.8, ISO 160)

ถัดมาก็เรื่อง “ชัดตื้น” ที่หลายคนฟันธงว่า “ไม่ได้” ตั้งแต่เห็น spec ของเซนเซอร์ (และเลนส์ที่ออกมา ไม่ใช่ Fast Tele-Prime) ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำชัดตื้นขึ้นกับปัจจัยไม่กี่อย่าง คือ ระยะห่างสัมพัทธ์ระหว่างวัตถุ ฉากหลัง และตัวรับแสง ซึ่งพอเป็นเซนเซอร์ขนาดเล็ก ก็ต้องใช้เลนส์กว้าง และ Crop ตรงกลางมาใช้งาน (ที่เรียกว่า Crop factor ว่ากี่เท่าๆ น่ะแหละ กรณีของ APS-C คือ 1.5 M4/3 คือ 2 และ Nikon 1 คือ 2.7) ทีนี้พอเป็นเลนส์กว้าง จะให้ระยะห่างสัมพัทธ์มันได้มากพอที่จะทำชัดตื้น ก็ใช้วิธีง่ายๆ คือ อยู่ใกล้วัตถุที่จะถ่ายให้มากที่สุด จ่อได้ยิ่งดี ใช้รูรับแสงกว้างที่สุด และเลือกฉากหลังที่อยู่ไกลที่สุด และถ้าเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัสยาว จะช่วยได้มากขึ้น

จะเห็นว่า ถ้าเรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ก็เล่นชัดตื้นได้ไม่ยากไม่เย็นอะไรเท่าไหร่


DSC_0730.jpg
ผลิใบ (V1, 30-110, 110mm, 1/400s, f/5.6, ISO 100)

แต่พอมาถ่ายคน ก็ยากขึ้นไปอีกนิด ที่จะให้หลังมันละลายหายไปเลย เพราะข้อจำกัดทางฟิสิกส์ทั้งหมดที่มีน่ะแหละ


DSC_0360.jpg
คุณพ่อ (V1, 30-110, 110mm, 1/200s, f/6.3, ISO 400)

จะเห็นว่าฉากหลังที่ไกลหน่อย เบลอจะไม่กวนใจกวนสายตาก็จริง แต่ตรงต้นไม้เนี่ยสิ “รก” มาก … และที่สำคัญ เจ้าเลนส์ 30-110 นี่ไม่ใช่เลนส์ที่ Bokeh สวยแต่อย่างใดเลย ลักษณะแย่ๆ ของ Bokeh เห็นชัดเจนมาก ไม่ว่าจะเป็นพวก Double-Line หรือพวกขอบหนานุ่มยัดไส้กรอก ดังนั้นยิ่งต้องเลือกฉากหลังดีๆ เพราะว่าถ้ามันไกลไม่พอแล้ว มันจะรกจนบางทีรู้สึกว่า “แล้วจะเบลอทำไมวะ ยิ่งเบลอยิ่งรำคาญ”

แต่เนื่องจากมันเป็นกล้องเซนเซอร์เล็ก ที่ทำ “ชัดตื้น” ยาก … ดังนั้นมันจึงทำ “ชัดลึก” ง่าย ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนก็ต้องการแบบนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ผมคิดว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายของกล้องตระกูลนี้ ซึ่งก็คือ ผู้ทั่วไปที่อยากถ่ายรูปคนในครอบครัว งานปาร์ตี้ ใช้ถ่ายแบบ Snap เวลาไปเที่ยวเป็นที่ระลึก ฯลฯ


DSC_0513.jpg
เศร้ากันถ้วนหน้า (V1, 10-30, 16.3mm, 1/50s, f/5.6, ISO 400)

ผมเคยถ่ายรูปเวลาไปเที่ยวให้กับคนในกลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้ด้วย D3s แล้วฉากหลังมันเบลอนิดหน่อย ด้วยธรรมชาติของกล้อง Full-Frame ถึงจะเปิดถึง f/8 ก็ยังมีปัญหา … คนในภาพบอกผมว่า “ภาพเสีย เพราะมันมีส่วนเบลอ” นี่แหละคือ “กลุ่มเป้าหมาย” ก็ลองคิดดูขำๆ เล่นๆ ว่ารูปที่ต้องการชัดทั้งรูปแบบข้างบนนี้ ถ้าใช้ Full-Frame ถ่าย จะต้องเปิดรูรับแสงเท่าไหร่


DSC_0638.jpg
ดอกไม้ช่อสุดท้าย (V1, 10-30, 30mm, 1/125s, f/5.6, ISO 110)

เรื่อง Dynamic Range เป็นอะไรที่ผมยังไม่ได้ลองแบบจริงจัง ว่ากล้องตัวนี้เก็บรายละเอียดในเงาและในจุดจ้าได้ดีแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีถ่าย JPEG (คนอ่าน blog นี้จะทราบว่าผมถ่าย JPEG เป็นหลัก และถ่าย RAW เมื่อจำเป็นจริงๆ คือต้องตั้งใจจะเก็บ RAW เพราะจะเอาไปทำอะไรบางอย่างจริงๆ เท่านั้น) แต่เท่าที่ลองเล่นๆ ดู ก็พบว่ายังดึงโน่นตบนี่ได้บ้าง อาจจะไม่ได้ดีขนาดกล้องอีกหลายตัว ซึ่งก็แน่นอนตามธรรมชาติของเซนเซอร์ ลองดูตัวอย่าง 2 รูปต่อไป


DSC_0398-before.jpg
JPEG จากกล้อง (V1, 10-30, 30mm, 1/320s, f/5.6, ISO 100)

ลองทำรูปนี้ง่ายๆ ด้วยการดึง Shadow ตบ Highlight และปรับโน่นนี่นั่นนิดหน่อยแบบลวกๆ ใน Lightroom 3 ก็จะเห็นว่าหลายอย่างยังอยู่


DSC_0398-after.jpg
ลองปรับ Highlight, Shadow ง่ายๆ ใน LR3

ส่งท้าย

สรุปง่ายๆ เรื่องรูปและการใช้งาน ว่าให้คิดว่ามันเป็น “กล้องเซนเซอร์เล็ก ที่เซนเซอร์ใหญ่กว่าปกติ และเปลี่ยนเลนส์ได้” ดีกว่าจะมองว่ามันเป็น “กล้องเซนเซอร์ใหญ่ ที่ขนาดเล็ก และเปลี่ยนเลนส์ได้” อย่างที่หลายคนได้เคยมองมัน คือให้คิดว่ามันเป็น P7000 ที่เซนเซอร์ใหญ่กว่า P7000 และประสิทธิภาพการทำงานน้องๆ D-SLR ดีกว่าจะคิดว่ามันเป็น D-SLR ขนาดย่อส่วน


DSC_0726.jpg
ใบไม้ในสวน (V1, 30-110, 110mm, 1/250s, f/5.6, ISO 200)

เป็นรีวิวที่ตอนแรกตั้งใจจะเขียนสั้นๆ แต่ไปๆ มาๆ ก็เขียนยาวอีกจนได้ และเป็นรีวิวที่มาจากการใช้งานจริงจังวันเดียว (และใช้เล่นๆ ถ่ายในบ้านอีกวัน) ดังนั้นหลายอย่างก็ยังไม่ได้ลอง เช่นพวก Motion ทั้งหลายทั้งแหล่ (จริงๆ อยากลองเล่นมากเลย) ก็เลยขาดเรื่องพวกนี้ไป .. ถามว่าผมพอใจกับมันมั้ย ก็ถ้าเรายอมรับมันในอย่างที่มันเป็น ที่ผมเขียนเมื่อกี้นี้ มากกว่าไปยัดเยียดให้มันเป็นในสิ่งที่มันไม่ได้เป็น จะดีที่สุด เราก็จะมีความสุขกับมันอย่างที่มันเป็น และเราจะเห็นตัวเราสะท้อนในสิ่งที่มันเป็นมากขึ้น


DSC_0679.jpg
แม้ร่างตน เขาก็เอา ไปเผาไฟ (V1, 30-110, 30mm, 1/1600s, f/4.0, ISO 100)

ไว้ F-Mount Adapter ออกมาเมื่อไหร่ ผมคงจะกลับมาเขียนถึงตัวนี้อีกครั้ง ว่าเป็นอย่างไรบ้าง สำหรับตอนนี้คงต้องจบแค่นี้ก่อนครับ


DSC_0656.jpg
ลาก่อนครับ คุณยาย (V1, 10-30, 15.7mm, 1/500s, f/5.6, ISO 100)

[ประกาศ] iOS SDK 5 & Xcode 4.2 Training

ทีมงาน Code App จัด Training สำหรับ iOS 5 SDK & Xcode 4.2 ครับ จัดเต็ม 4 วัน 17, 18, 24, 25 ธันวาคม รายละเอียดดูได้จากเว็บไซต์ของ Code App ครับ

พัฒนา iOS Application ด้วย iOS 5 SDK & Xcode 4.2

หลังจากนี้จะมี Training ระดับ intermediate และ advanced แบบเจาะเฉพาะเรื่องมาเรื่อยๆ ครับ เช่น Data Persistent & Core Data, Web Services, Core Image, Social Network Applications เรื่องละ 1-2 วัน คอยติดตามนะครับ แต่สำหรับแต่ละเรื่องพวกนี้จะไม่ลงพื้นฐานแล้ว จะเจาะเข้าเรื่องเลย เพราะว่าผมไม่อยากทำ Training แบบกว้างๆ เรื่อยๆ แต่ไม่ได้อะไรแบบลงลึกเท่าไหร่

สำหรับคอร์สนี้ ลงทะเบียนได้ในลิงค์ข้างบนครับ

คุณยายครับ หลับให้สบายนะ

6 ธันวาคม 2554 … วันที่คุณยายได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ตั้งแต่ผมเด็กๆ “คุณยาย” เป็นความทรงจำแรกๆ ที่ผมมี เพราะเป็นคนที่เลี้ยงผมมาตั้งแต่เด็ก เป็นคนที่อยู่กับผมมากที่สุด ….. คุณยายรักหลานคนนี้และทุกคนมาก เป็นคนเดียวในครอบครัวของผมที่ผมจำได้ ว่าไม่เคยเถียงหรือไม่เคยทะเลาะอะไรกันเลย …. เวลาทะเลาะกับใคร เวลาอยากร้องไห้แต่ไม่รู้จะร้องกับใครดี ก็มีคุณยายอยู่เสมอ … จำได้ว่าชอบกินข้าวจี่ใส่ไข่ที่คุณยายทำให้กินมาก กินที่ไหนก็ไม่เหมือนที่คุณยายทำให้กิน แต่ปีหลังๆ ไม่ได้กินแล้ว เพราะคุณยายไม่แข็งแรง


DSC_6090.jpg

ถึงผมจะเป็นหลานคนที่ตอนเด็กๆ อยู่กับยายมากกว่าคนอื่นๆ แต่พอโตขึ้นมากลับได้อยู่กับยายน้อยกว่าคนอื่นๆ เพราะไปเรียนโรงเรียนประจำ แล้วก็ไปเรียนเมืองนอก พอกลับมาก็มาทำงานไกลบ้าน แล้วก็ไม่ค่อยได้กลับบ้านกลับช่องเท่าไหร่ ….

ตอนนี้จะพูดอะไร จะนึกอะไรออก ก็สายไปหมดแล้ว ผมคงไม่เสียดายอะไรกับสิ่งที่ไม่ได้ทำ เพราะก็เชื่อว่าตัวเองทำดีที่สุดเท่าที่เวลาที่มีอยู่ กับทุกเรื่องทุกอย่างที่ต้องทำ จะเอื้อให้สามารถทำได้แล้ว

แต่ผมเชื่ออะไรบางอย่าง ว่าถึงช่วงหลายเดือนสุดท้าย คุณยายจะป่วยหนัก เหมือนไม่รับรู้ไม่รู้สึกอะไรอีกแล้ว แต่ผมเชื่อว่าแกยังห่วงลูกห่วงหลานทุกคน แกทนรอจนผมกลับเข้ามาอยู่บ้านได้แล้ว น้ำแห้งแล้ว และเดินทางได้แล้ว … ทันทีที่ผมกลับเข้ามาบ้านได้ และบ้านเริ่มลงตัว คุณยายคงหมดห่วง


DSC_5968.jpg

ประกอบกับการที่คุณยายรักในหลวงมาก … อุตส่ารอให้ผ่านวันที่ 5 ธันวาคมไปเสียก่อน เพราะพอผ่านวันเฉลิมฯ ไปไม่กี่นาที คุณยายก็จากไปสงบ

Blog นี้ผมคงไม่เขียนอะไรมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ผมเขียนไม่ได้ ตัวอักษรหรือข้อความอะไรพวกนี้มันแทนความรู้สึกไม่ได้เลยแม้แต่เสี้ยวเดียว อีกอย่างผมคงไม่สามารถเขียนอะไรทั้งน้ำตาไปมากนัก จะพิมพ์ข้อความอะไร น้ำตามันก็ไหลทุกครั้งที่ขยับมือ

ผมแค่อยากบอกว่า … คุณยายครับ หลับให้สบายนะครับ ไม่ต้องห่วงหลาน หลานทุกคนของคุณยายดูแลตัวเองได้


DSC_7517.jpg

ผมอาจจะไม่ได้พาคุณยายไปเที่ยวที่คุณยายอยากไป แต่ผมเชื่อว่าคุณยายไม่ได้อยากเห็นที่เหล่านั้น เท่ากับการเห็นคนในครอบครัวรักกัน ไม่ทะเลาะกัน มีความสุข อยู่กันเป็นครอบครัว เพราะทุกที่ที่คุณยายอยากเห็น อยากไปเที่ยว วันนี้คุณยายคงได้เห็นแล้ว แต่ภาพของครอบครัวแบบนั้น และภาพของหลานๆ ทุกคนที่เล่นกัน มีความสุขด้วยกัน เหมือนตอนยังเด็กๆ ยังเป็นอะไรที่ “พวกเรา” ที่ยังอยู่ ต้องทำให้ยายได้เห็นต่อไป

นั่นสินะ … ผมเข้าใจอะไรบางอย่างผิดไป … เพราะคุณยายรักหลานทุกคนมาก แต่หลานยายทุกคนกระจัดกระจายไปอยู่คนละที่คนละทาง บางคนอยู่เมืองนอกและคงไม่กลับด้วยซ้ำ … ดังนั้นผมควรจะบอกว่า …

6 ธันวาคม 2554 … วันที่คุณยายได้อยู่กับหลานๆ ทุกคนพร้อมๆ กันได้ในทุกที่ ไม่ว่าหลานยายแต่ละคนจะอยู่ที่ไหน ไม่มีข้อจำกัดของเวลา ร่างกาย และสังขารมาเป็นกำแพงกั้น


DSC_5974.jpg

คุณยายเหนื่อยมาเยอะแล้วครับ หลับให้สบายนะครับ คุณยายจะไม่ต้องเหนื่อยอะไรอีกแล้ว คุณยายได้ตื่นแล้ว จากฝันที่เรียกว่า “ชีวิต”