จากอดีต สู่อนาคต (ไม่ใช่แบบที่คิดนะ…)

มนุษย์เรา จะมองเห็นแต่อดีตโดยธรรมชาติ

เพราะเรามองเห็นแต่แสงที่สะท้อนออกจากวัตถุเท่านั้น แสงก็ต้องการการเดินทางเหมือนทุกอย่าง กว่าจะสะท้อนเข้าตาเรา กว่าสมองจะประมวลผล มันอาจจะเป็นเวลาที่รวดเร็วเหลือเกินในการรับรู้ถึงกาลเวลาของเรา แต่มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่นานมากในช่วงเวลาของอนุภาคเล็กๆ

บนท้องฟ้าที่ชวนฝันตอนกลางคืน เราเห็นดาวสวยงามมากมาย แต่ที่จริงแล้วดาวเหล่านั้นหลายดวงก็ดับแสงลงไปนานมากแล้ว เพียงแต่แสงสุดท้ายของมันยังเดินทางมาไม่ถึงเราเท่านั้น เราจึงเห็นแต่อดีตอันจรัสแสงของพวกมันอยู่แบบนี้ หาใช่ปัจจุบันของพวกมันไม่

แล้วอนาคตล่ะ?

หลายคนบอกว่าอนาคตต้องใช้ใจมอง ต้องจินตนาการ แต่เราจินตนาการยังไงล่ะ?

โดยปกติแล้วจากการทำงานของสมองคนเรา จะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างไว้โดยไม่มีใครเข้าใจว่าสมองจำอย่างไร สมองมีระบบฐานข้อมูล การ Indexing การทำ Memcache การ Query การทำ Hashing การ Search การ Sort อย่างไร เรารู้แต่ว่าสมองส่วนหนึ่งจะทำงานเหล่านี้เองอย่างอัตโนมัติเมื่อมันอยากจะทำ (เราสั่งมันไม่ค่อยได้ด้วยนะ) … จากนั้นสมองอีกส่วนหนึ่งก็ค่อยเอาสิ่งที่ได้คืนมาเนี่ยแหละ มาผสมผสาน เรียบเรียง ออกมาใหม่ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอ ไม่เคยมีมาก่อนก็เป็นได้

แต่ลองคิดดีๆ จะพบความน่ากลัวง่ายๆ อยู่อย่างหนึ่ง ว่าแม้แต่จินตนาการไปยังอนาคตที่ไม่เคยไป ก็ยังหนีเงาของอดีตไม่เคยพ้น ก็ยังเป็นการผสมผสานกันของภาพอดีต ที่สมองส่วนหนึ่งโยนขึ้นมาให้โดยไม่รู้ว่ามันจะโยนอะไรขึ้นมา

ลองดูภาพนี้จากการนำเสนอในงาน ThinkCamp ครั้งล่าสุดของผม


ThinkCamp.004.jpg

ความทุกข์ของคนเรา มันมีอยู่แค่นี้แหละครับ: อดีต และ อนาคต ส่วนปัจจุบันคือความว่างเปล่าทั้งสิ้น

อดีต เราทุกข์กับความเสียใจ ความเสียดาย ความผิดหวัง ความผิดพลาด ฯลฯ ส่วนอนาคตที่เป็นเงาของอดีตผสมผสานกันนั้น เราจะทุกข์กับอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ “กลัวเงาอดีต” ที่มันตามหลอกตามหลอน กลัวที่จะเป็นอย่างที่อดีตเป็น กลัวที่ความเสียใจ ความเสียดาย ความผิดหวัง ความผิดพลาด ฯลฯ เหล่านั้นมันจะเกิดขึ้นซ้ำกับเราอีก

แล้วจะทำอย่างไรดีกับอนาคต?

มันมีคำคมๆ อยู่เยอะแยะมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ผมคงไม่พูดถึงพวกมันมากนัก เพราะคำคมส่วนมากจะมีไว้ให้โลกสวย มีไว้สนองนี้ดทางความคิด ที่รู้แล้วต้องบอกว่า “แล้วไง” ซะมากกว่า …. ยกเว้นไว้อันหนึ่ง …

“Don’t worry about what anybody else is going to do… The best way to predict the future is to invent it.
— Alan Kay

อนาคต ฝันถึงไม่ได้หรอกครับ เพราะมันจะเป็นเพียงแค่เงาอดีต ผสมผสานกับความอยาก ความกลัว ฯลฯ ในใจเราเท่านั้นเอง

อย่าคิดว่าอยากได้ประเทศไทยแบบไหน อย่าคิดว่าอยากได้ตัวเองแบบไหน อย่าคิดว่าชีวิตแต่งงานจะเป็นยังไง อยู่ด้วยกันแล้วจะเป็นยังไง ฯลฯ เพราะเราจะโดนหลอกหลอนด้วยความอยาก ผสมผสานมันไปกับความกลัว อยากเป็นอย่างคนอื่น กลัวไม่เป็นอย่างคนอื่น กลัวสิ่งที่เคยเกิดขึ้นที่อื่นเกิดกับเรา กลัวสิ่งที่เคยเกิดกับเราเกิดซ้ำอีก ถ้ามันไม่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ล่ะ ถ้ามันเกิดอะไรแบบนี้ล่ะ ฯลฯ

จากที่ผมเห็นและเจอมา … อนาคตที่เกิดจากเงาหลอนของอดีต มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราวาดมันด้วยความกลัวจากอดีต จากความอยากในอดีต (ไม่ว่าจะอดีตของเราหรือของคนอื่น) เท่านั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่สุด (ผมเอาตัวอย่างนี้มาจากละครเรื่อง 365 วันแห่งรัก): เรากลัวจะถูกทิ้ง เรากลัวว่าอีกคนจะรำคาญเรา …. จนกระทั่งเราทำอะไรลงไปรู้มั้ย เรากลัวเค้ารำคาญ เลยไม่คุยอะไรกับเค้าเลยสักนิด แต่เมื่อเห็นเค้าไม่สนใจอะไรเราแค่เพียงบางอย่าง เราก็จะถามทันทีว่าไม่รักเราแล้วเหรอ ไม่สนใจเราแล้วใช่มั้ย … ลองคิดดูขำๆ นะครับ จะกลายเป็นว่าเรื่องเดียวที่คุยกันคือ ถามว่าไม่รักแล้วใช่มั้ย ไม่สนใจแล้วใช่มั้ย ทำอะไรก็นอยหมด … สุดท้ายก็เกิดรำคาญขึ้นจริง และก็เลิกกันจริง …. กลายเป็นการสนองสมมติฐานเบื้องลึกในใจเรา ว่า “เห็นมั้ย ว่าแล้วว่าต้องเป็นแบบนี้” และกลายเป็นอดีตเพื่อหลอกหลอนอนาคตต่อไป

เรากลัวแต่เราจะไม่เจริญ จนเราไม่เจริญ เราเอาแต่กลัวว่าเราจะไม่เก่ง ทำอะไรไม่เป็น จะตกงาน จนกระทั่งเราไม่เก่ง ทำอะไรไม่เป็น และตกงาน เรากลัวเหงา เรากลัวต้องอยู่คนเดียว เรากลัวผิดหวังในความรัก จนเราเลือก เลือก เลือก และกลัว กลัว กลัว จนเราต้องอยู่คนเดียวจริงๆ ฯลฯ ก็เป็นตัวอย่างในเรื่องนี้ได้ทั้งนั้นถ้าอยากจะหยิบยกมา

กลับมามองที่โลกกลมๆ แป้นๆ ใบนี้สักนิด … กับคำถามที่ผมใช้บ่อยที่สุด


ThinkCamp.006.jpg

ใครคิดใครฝัน ว่าโลกมันจะมาเป็นแบบนี้กันบ้าง? ผมเชื่อว่าคนนับร้อยนับพัน ที่ช่วยกันเปลี่ยนช่วยกันหมุนมันจนมาเป็นแบบที่เราอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้คิดไม่ได้มี Master Plan อะไรมากมายเลย ว่าโลกมันจะมาเป็นแบบนี้ … แต่ผมเชื่อว่าคนเหล่านั้น “ทำ” โดยไม่ได้คิดว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไรมากมาย

มันมีเส้นทางมากมายในการไปข้างหน้า แต่ถ้าจะมัวแต่นั่งคิดนั่งแพลนว่าจะไปไหน ไปแล้วทำอะไรอย่างไร แล้วจะให้ได้ตามนั้น โดยที่ไม่เคยก้าวขาออกไปสักที ก็จะไม่ได้ไปไหนเลยแม้แต่ที่เดียว

ในบางเซนส์ การแค่ตั้งเป้าคร่าวๆ ว่าจะไปไหน แล้วก้มหน้าเดินมันไปทีละก้าว ทีละก้าว นานๆ ทีก็เหลือบมองเป้าสักที มันยังพาเราไปไหนสักที่หนึ่ง ซึ่งสุดท้ายอาจจะลงเอยในที่ๆ เราไม่ได้คิดไม่ได้ฝันไม่ได้อยากจะไปในตอนแรก แต่เราอยากอยู่กับมัน ระหว่างการเดินทางในเส้นทางชีวิตของเราก็ได้ … แต่เราจะไม่มีวันพบมัน ถ้าเราไม่เดินสักที

ผมชอบสุภาษิตจีนโบราณนะ ที่ว่าการเดินทางไกลแสนลี้ มันเริ่มจากก้าวเพียงก้าวเดียว … แต่ผมจะต่อให้มันครบสมบูรณ์ขึ้นก็แล้วกัน ว่า


ThinkCamp.007.jpg

ครับ มันไม่มีทางเลือกอื่น นอกจาก “เดินซะที” และ “ไปทีละก้าว” …. ใครจะไปรู้ เราอาจพบทางแยกในก้าวที่พัน เราพบสวรรค์ในก้าวที่หมื่น โดยไม่ต้องไปถึงแสนถึงล้านก็เป็นได้

สรุปปิดท้ายครับ: วิธีหลุดพ้นจากความกลัว จากเงาของอดีตที่ ก็คือ ตัดสินใจกับปัจจุบันเสียที ก้าวเดินซะ แล้วเดินไปข้างหน้าทีละก้าว อย่ารอให้อนาคตที่เรากลัวมาถึง แต่เดินไปหาอนาคตที่เราสร้าง (ไม่ใช่แค่อยากได้) ทีละก้าวเอง

[update 01/04/2555]: วันนี้ไปโพสท์อะไรลง facebook นิดหน่อย คิดว่าเกี่ยวๆ กันนิดหน่อย ก็เลยขอ update ตรงนี้ด้วย

ความฝันบางอย่าง มันไม่มีวันเป็นจริง
แผลเป็นในใจบางอย่าง มันก็ไม่มีวันเยียวยา
ต่อให้เวลาผ่านไปเท่าไหร่ ก็เท่านั้น
ตราบใดก็ตามที่เรายังเอาฝันมาสร้างเป็นมีด
เพื่อไปกรีดรอยแผลเป็นตัวเอง

ว่าด้วย “ข้อสอบ O-NET”

ช่วงนี้ของปีทีไร จะมีเรื่องเฮฮาที่ทำให้จิตตกอยู่ทุกปี ก็คือเรื่องของ “ข้อสอบ O-NET” ซึ่งแต่ละปีจะมีโจทย์ ตัวเลือก และเฉลย ที่โคตรจะปวดตับ

ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบเรื่องนักกีฬาทีมชาติ (ที่ใส่ชื่อจริง นามสกุลจริง ในข้อสอบ) ที่ให้เจ้าตัวมาทำเองก็ไม่ได้คะแนน เพราะเลือกไม่ตรงกับเฉลย (ซึ่งเป็นคนอื่น) ข้อสอบที่มันถูกหมดทุกข้อ แล้วไม่รู้จะตอบข้อไหน หรือข้อสอบที่ถ้าตอบตามความจริงแล้วมันไม่มีทางได้คะแนนชัวร์ๆ แต่ถ้าตอบแบบสร้างภาพการเป็นคนดีตามอุดมคติของใครบางคน (แถวบ้านเรียก “ตอแหล”) แล้วอาจได้คะแนน ฯลฯ

ผมนั่งสงสารเด็ก และสมเพชข้อสอบอยู่ทุกปี บางครั้งคิดด้วยซ้ำไปว่า “ไอ้เด็กที่มันได้คะแนนสูงๆ นี่มันเป็นคนแบบไหน?” จนวันหนึ่งผมมานั่งคิดๆ ดู แล้วก็พบกับความจริงอันน่าเศร้าใจข้อเล็กๆ

ข้อสอบ แท้จริงแล้วมันคืออะไร? มันก็เป็นแค่ “เครื่องมือวัด” เหมือนกับไม้บรรทัด ที่ไม่ได้บอกเลยด้วยซ้ำว่าใครเก่งไม่เก่ง ใครโง่ใครฉลาด ใครดีใครเลว … มันบอกแค่ว่า “ใครเหมาะกับระบบที่สุด” ระบบเป็นเช่นไร ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะออกข้อสอบแบบนั้นเพื่อคัดคนที่เหมาะสมกับระบบที่สุด เข้าไปหล่อเลี้ยงรักษาระบบให้คงอยู่ไปเรื่อยๆ ….​ (ลองนั่งนึกภาพหนังเรื่อง The Matrix ผ่านตาสักรอบนะ)

ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้สร้าง ข้อสอบย่อมวัดการสร้าง ถ้าระบบนั้นๆ เป็นระบบของผู้รับ/ผู้เสพ ข้อสอบย่อมวัดการรับ/จำ/เสพ เป็นต้น

แล้วบ้านเราล่ะ? … จากประสบการณ์ทำงานในบ้านเราของผม ผมสรุปได้อย่างหนึ่งว่า

คนที่จะได้ดีใน “ระบบ” ของบ้านเรานั้น ไม่ใช่คนเก่ง ไม่ใช่ผู้สร้าง ไม่ใช่คนมีความคิด ไม่ใช่ ฯลฯ อะไรที่คนวาดอุดมคติเอาไว้เลย แต่ต้องเป็น “คนที่คิดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ พูดเหมือนผู้ใหญ่/คนมีอำนาจ” แบบเป๊ะๆ ไม่ว่ามันจะต่างจากความจริงของตัวเอง ความคิดตัวเอง สิ่งที่เป็นตัวเองแค่ไหนก็ตาม

(ผมเน้นว่า “ระบบ” นะ พวกที่ต่อสู้กับ The Matrix ไปสร้าง Zion เองในบ้านเราแล้วได้ดี ก็มีถมเถนะ)

ลองดูข้อสอบข้อเด็ดของ O-NET ปีนี้นะครับ … พวกเล่นถามว่า

ถ้ามีอารมณ์ทางเพศ จะต้องทำอย่างไร และมีตัวเลือกคือ
ก. ชวนเพื่อนไปเตะบอล
ข. ปรึกษาครอบครัว
ค. พยายามนอนให้หลับ
ง. ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ
จ. ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง

แล้วเฉลยก็คือ “ปรึกษาครอบครัว”

ฟังดูดีนะครับ อุดมคติและหลอกตัวเองไปวันๆ ดีมาก ที่ผมอยากจะถามก็คือ ถ้าเด็กไม่มีครอบครัวให้ปรึกษา หรือถ้าสภาพครอบครัวนั้นไม่เคยฟังลูก พ่อแม่ไม่เคยเข้าใจลูก พ่อแม่ไม่เคยฟังลูกเลย ทำอะไรก็ผิดหมด ฯลฯ อะไรแบบนี้ แล้ว “เด็กจะอยากปรึกษาครอบครัวมั้ย?” และยิ่งกว่านั้น “ครอบครัวแบบนี้ เป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้มั้ย?” และ “ปรึกษาไปแล้วได้อะไร(วะ)?”

แล้วตัวเลือกที่มันเป็น “ธรรมชาติ” แบบ “ช่วยตัวเอง” มันหายไปไหนเหรอครับ และมันทำให้ใครเดือดร้อนหรือ? ผมก็อยากทราบนะ ว่าบรรดาคนที่ได้ดิบได้ดีทั้งหลายในประเทศชาติตอนนี้น่ะ ตอนที่เกิดอารมณ์สมัยวัยรุ่น “ปรึกษาพ่อแม่” หรือ “ช่วยตัวเอง”? แต่มันไม่ตรงกับคุณธรรมจริยธรรมอันดีงามอันสูงส่งแบบหลอกตัวเองของผู้ใหญ่บางคนที่หน้าบาง ทำเป็นรับไม่ได้ ใช่มั้่ยล่ะ?

กลับมาเรื่องเดิมครับ …. เด็กที่ตอบข้อนี้ว่า “ปรึกษาครอบครัว” แล้วได้คะแนน ทำแบบนั้นจริงหรือไม่? หรือแค่ “ได้คะแนนเพราะคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจ” โดยบังเอิญเท่านั้น? … ระบบเรามันกรองคนที่บังเอิญคิดตรงกับผู้ใหญ่/ผู้มีอำนาจให้เข้าไปได้ดีในระบบเป็นจำนวนมากครับ และไม่ใช่แค่เฉพาะข้อสอบ O-NET เท่านั้นนะครับ ยังมีระบบวัดผล/ข้อสอบอีกหลายตัวที่เข้าอีหรอบนี้ ก็เหมือนกับระบบการให้รางวัลคนในองค์กร หรืออะไรทั้งหลายทั้งแหล่ ที่ต้องเป็นแบบ “ใช่ครับท่าน ยอดเยี่ยมครับ เห็นด้วยครับ” อะไรแบบนี้ตลอดเวลาน่ะแหละ

คิดแล้วเศร้า ปลง …. ว่าแล้ว Morpheus อย่างผม ก็ก้มหน้าก้มตาค้นหา Neo ออกจาก The Matrix ต่อไป

[อัพเดท 03/03/2012]: มีคนบอกผมว่า “อาจารย์ครับ ผิดแล้ว เค้าเฉลยจริงๆ ว่าไปเตะบอลครับ ส่วนที่เฉลยว่าไปปรึกษาพ่อแม่ นี่เป็นคำเฉลยของอดีตผู้อำนวยการหน่วยงานที่ออกข้อสอบครับ ไม่ใช่คนปัจจุบัน” …

ฉิบหายครับ ยิ่งไปกันใหญ่ แบบนี้ยิ่งแสดงให้เห็นประเด็นของโพสท์นี้มากขึ้นมหาศาลครับ เพราะว่าผู้ใหญ่สองคนคิดไม่ตรงกัน เด็กคนที่ถูกระบบคัดก็คือ “คนที่คิดตรงกับคนที่มีอำนาจในปัจจุบัน” บัดซบมาก