iOS หรือ Android?

เร็วๆ นี้ผมไปบรรยายเรื่อง Mobile Application Development ให้กับแลบ MSCIM ซึ่งก็มีคำถามน่าสนใจ ว่าจะทำบน iOS หรือ Android ดี

ส่วนหนึ่งก็มาจากความเห็นส่วนตัวของผมเอง ว่าอย่าไปสนใจข้อมูลเชิงการตลาด หรือสถิติทั้งหลาย ว่าใครขายดีกว่ากัน แพลตฟอร์มไหนโตเร็วกว่ากัน มากมายนัก อย่าไปสนใจ commom sense เบื้องต้นจะบอกให้เราพัฒนาโปรแกรมสำหรับแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้มากกว่า แต่ให้คิดพัฒนาบนแพลตฟอร์มที่เราเป็นผู้ใช้ซะเอง นั่นคือ ถ้าเรายังไม่มี ก็เริ่มต้นด้วยการให้เรามีก่อน หรือว่าหาทางทำให้ตัวเองเป็น user ก่อน

มันก็เลยมีคำถามน่าสนใจตามมาว่า “งั้นจะซื้อ iOS หรือ Android แพลตฟอร์มดี?” เพื่อให้ตัวเองได้เริ่มต้นเป็น “ผู้ใช้” และ “เพื่อทำความคุ้นเคยกับแพลตฟอร์มสำหรับพัฒนา app ต่อ” ได้

ผมมีข้อคิดแบบนี้ก็แล้วกัน

  • เขียน app ลง iOS จริงๆ มันต้องทำบน Mac ด้วย ดังนั้นถ้าไม่มี Mac หรือไม่ได้วางแผนจะซื้อ Mac ภาษีสำหรับการคิดจะซื้อ iOS แพลตฟอร์มมาเพื่อพัฒนาโปรแกรม ก็ลดน้อยลงไปด้วย (แต่ใช้ VMWare ก็ได้นะ แต่ผมเองก็ไม่เคยใช้ Xcode บน OS X บน VMWare สำหรับการพัฒนาลงเครื่องเหมือนกัน)
  • เช่นเดียวกัน (แต่ตรงกันข้าม) เท่าที่ผมทราบนะ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับพัฒนา Android บน Mac มันค่อนข้างจะสู้แพลตฟอร์มอื่น (เช่น Windows) ไม่ได้นะ
  • จะเอา app ลงเครื่องจริง สำหรับ iOS ต้องเสียตังค์ $99 ให้กับ Apple นะ นอกจากมหาวิทยาลัยจะมีคอร์สสอน iOS Development และ register กับ Apple (ไม่มีค่าใช้จ่าย) ก็จะให้ น.ศ. เอา app ลงเครื่องได้ แต่ขายไม่ได้ ถ้าจะขาย ก็ต้องเสียเงินเอง
  • ผมไม่มีข้อมูลเรื่องนี้สำหรับ Android
  • iOS vs Android ถ้ามองในมุมมองนักพัฒนาแล้ว มันมีข้อดีข้อเสียต่างกันนะ ในแง่ของ Hardware Diversity แล้ว iOS เหนือกว่าเยอะ เพราะว่ามันแทบไม่มี diversity … ซึ่งสำหรับนักพัฒนาที่ต้องเขียนโปรแกรม support อะไรต่ออะไรแล้ว diversity เยอะเป็นเรื่องไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ แค่ iPhone 3Gs กับ iPhone 4 ที่มีความละเอียดหน้าจอต่างกัน ต้องเตรียมภาพ 2 resolution ไหนละจะ iPad อีก แค่นี้ก็รำคาญแย่แล้ว
  • แต่สุดท้าย มันต้องเริ่มด้วยการเป็น “ผู้ใช้” ก่อน แล้วจะเริ่มจากการใช้อะไรดี?
  • ข้อแนะนำง่ายๆ คือ หน้าด้านไปยืนเล่นเรื่อยๆ ว่าชอบอะไรมากกว่ากัน ต่อให้มันดีแค่ไหน ถ้าใช้แล้วไม่ชอบ มันก็แค่นั้นแหละ ความชอบมันวัดแทนกันไม่ได้เสียด้วยสิ ไปยืนเล่นเลย ถ้าร้านเริ่มมองหน้า ก็เปลี่ยนร้าน
  • ลองใช้โปรแกรมพื้นฐานทั้งหลายทั้งแหล่ โทรเข้าโทรออกทำไง ดูปฏิทินทำไง เล่นเน็ตทำไง download โปรแกรมเพิ่มทำไง พอใจความเร็วมั้ย ฯลฯ เอาแค่นี้แหละ ลองสัก 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะรู้แล้ว ว่าชอบอะไร
  • อย่าลืมเรื่อง form factor ด้วยนะ เอาให้เหมาะมือ เอาให้ถือสบาย เพราะว่ายังไงเราก็ต้อง “ถือ” มันเวลาใช้งาน หยิบขึ้นมา ถือไว้นิ่งๆ สัก 5 นาทีเป็นอย่างน้อย ถ้ารำคาญ ก็ไม่ต้องเอา จากนั้นลองเอานิ้วโป้งลูบให้ทั่วหน้าจอ ถ้ามีส่วนไหนลูบไม่ถึง หรือว่าฝืนมือ ก็ไม่ต้องเอา เพราะว่านี่คือการใช้งานพื้นฐาน ว่างั้น
  • อย่าลืมคิดถึงเรื่องคุณภาพของ app ไว้ด้วยนะ จิตใต้สำนึกของผมมันบอกว่า iOS app บน AppStore จะมีคุณภาพ “โดยเฉลี่ย” และมีความ consistency ในเรื่องการใช้งานมากกว่า Android app บน Market ด้วยเหตุผลเรื่อง “ความเปิด” ของการให้นำ app ขึ้น store ดังนั้นมองจากมุมของ “คนที่ต้องเรียนรู้ลักษณะของ app” (ย้ำนะ จากมุมนี้เท่านั้น ไม่ใช่จากมุมมองของ consumer ทั่วไป) แล้ว iOS มีภาษีดีกว่ามาก
  • อย่ารอรุ่นใหม่มากนัก เพราะว่าต้องรอต่อไปเรื่อยๆ เล่นก่อนก็ได้เรียนรู้ก่อน

ประมาณนี้แหละ หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะครับ

ป.ล. บรรยายโคตรสนุก สนุกมากๆ

Update 1: ที่สำคัญนะครับ อย่ามัวแต่เถียงกัน หรือก่อสงครามว่าอะไรดีกว่ากัน มือถือที่ดีที่สุด คือมือถือที่เราชอบที่สุด ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด อย่าเอา spec มาเถียงกัน อย่าฉะกันว่าไอ้นั่นไม่มีนี่ ไอ้นี่ไม่มีนั่น ตัวเองคิดว่าอะไรดี ก็ไม่ต้องไปบอกให้คนที่ไม่เห็นด้วยเขาเห็นด้วย ถึงจะเถียงชนะ คุณก็ไม่ได้เงินหรือว่าเครดิตอะไรจากทั้ง Apple ทั้ง Google อยู่ดี ทำประโยชน์อะไรให้ชาวโลกก็ไม่ได้ เสียเวลาเปล่าๆ เอาเวลาทำแบบนั้น ไปนั่งหัดเล่น หัดเขียน app ดีกว่า อาจจะได้เงินใช้บ้าง ได้ทำประโยชน์จริงๆ ให้คนที่อยากใช้ app เราบ้าง

ครู

หากจะมีอาชีพไหนที่ทำให้ผมเป็นผมในช่วงเวลา 25 ปีที่ผ่านมา คงไม่พ้น “ครู”

ตั้งแต่เด็ก ผมจำความรู้สึกที่ว่า “ครู” เป็นเหมือนแม่คนที่สอง ในสมัยเรียนอนุบาล เป็นเหมือนพี่สาวที่น่ารัก ในสมัยเรียนประถม เป็น “คนแปลกหน้า” คนแรกๆ ที่รู้จักอย่างจริงจังในชีวิต และต้องใช้เวลาอยู่ด้วยวันหนึ่งๆ หลายชั่วโมง เพราะครูเหล่านี้เป็นครูประจำชั้น

ในวันเวลาเหล่านั้น ไม่มีคำว่ากวดวิชา ไม่มีสอบแข่งขันอย่างเอาเป็นเอาตาย ผมจำไม่ได้ว่าได้เรียนวิชาการอะไรบ้างกับครูเหล่านั้น แต่ผมจำได้ว่า

  • ครูสดศรี คุณแม่คนที่สอง นั่งคุยเล่นด้วย เวลาที่ผมไม่ยอมนอนกลางวันในชั้นอนุบาล ตอนที่คนอื่นหลับกันหมด (ด้วยความที่ตัวเองเป็นคน hyper พอสมควร นอนยาก … จนถึงทุกวันนี้) คอยเรียกเวลาที่คุณแม่มารับกลับบ้าน ในตอนที่ผมกำลังเล่นกับเพื่อนๆ อยู่ เข้าใจเราเวลาที่เราทำอะไรแปลกประหลาดกว่าเพื่อนๆ
  • ครูสุกานดา บางทีก็เรียกครูหมวย เจ๊หมวย พี่สาวคนสวย ชอบมานั่งคุยกับแม่ที่บ้านบ่อยๆ มีอะไรก็เอามาฝากที่บ้านประจำ เป็นคนที่ปกป้องผมเสมอเวลาที่ผม “พูดเร็ว” และเป็นคนที่ให้ผม “present” บนเวทีครั้งแรกในชีวิต (เล่านิทานบนเวที คนฟังเยอะแยะ ในงานอะไรสักอย่าง) … ถ้าพี่หมวยไม่จับไปเล่านิทานวันนั้น อาจไม่มี Petdo Talkshow, Ignite Thailand และการพูดสาธารณะนับครั้งไม่ถ้วนของผมในทุกวันนี้ก็ได้ (เออ ถึงแกจะชื่อเล่นชื่อหมวย แต่ว่าตาโต ผมน้ำตาล ยังกะลูกครึ่งฝรั่ง)
  • ครูกอบลาภ บางครั้งก็เรียกแกป้ากอบ ครูผู้ดูแลคณะสนามจันทร์ที่วชิราวุธ 4 ปีที่อยู่หอนั้น มีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย สิ่งที่จำครูกอบได้ ไม่ใช่ว่าแกเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ หรือว่าเป็นอาจารย์ภาษาอังกฤษ แต่ว่าจำแกได้ที่แกจับไปยืนทำโทษที่ระเบียงเพราะไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ชื่อเล่นปัจจุบัน (เดฟ) ก็ครูกอบเนี่ยแหละเป็นคนเริ่มเรียก (จากความเข้าใจผิด) ยังจำได้กับที่แกบอกว่า “หัดทำอะไรนอกหนังสือบ้างก็ดีนะ” ตอนที่สอบภาษาอังกฤษ
  • ครูกิตติพันธุ์ หรือครูหม่อม เพราะว่าแกเป็นหม่อมหลวง ….. ตอนที่เรียนกับแก คิดว่าครูอะไรวะ ดุฉิบหาย ใครพูดมากเกินไป แกเอาผงบรเพ็ดดีดใส่ลิ้นหมด แต่ว่าผมโดนผงบรเพ็ดเพราะว่า “พูดน้อยไป” น่ะ มีแบบนี้ซะอีก
  • ครูโฉมศรี … ป้าโฉมจอมโหด เคยต้องยืนเรียนหน้าชั้นทั้งเทอม เพราะว่าเขาเรียนวิชาแกสายไปห้านาที แกบอกว่า “ถ้าอยากมาสาย ก็ยืนเรียนหน้าห้องละกัน” ถือหนังสือเรียน 7 เล่มยืนเรียนหน้าชั้น (ห้ามวางบนพื้นด้วย ต้องถือไว้) เป็นชั่วโมงๆ ตั้งเป็นเทอม

ช่วงสั้นๆ ที่ไปเรียนอเมริกา ก็จำได้ว่า

  • Mrs. Leonard ที่ Francis C. Hammond Jr. High School คนที่สอน Algebra ตอนนั้น เชื่อมั้ยว่า ทุกวันนี้ถึงผมจะจบ Applied Math (Informatics) ผมก็ยังใช้ตัวอย่างการสอนเรื่อง “สมการ” ของแก เล่าให้เด็กทุกรุ่นทุกกลุ่มทุกชั้นปีที่ผมได้สอน อยู่เลย ยังจำได้เลยที่แกบอกว่า “ถึงจะคำนวนได้ แต่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร เอาไปใช้อะไร มันไม่เคยมีประโยชน์”
  • Mrs. Smith ที่พาไปเรียนประวัติศาสตร์ Civil War ที่สนามรบ Manesses … บอกตรงๆ ว่าไม่เคยเรียนวิชาประวัติศาสตร์สนุกขนาดวันนั้นมาก่อน ปกติเรียนที่เมืองไทยเคยแต่ต้องจินตนาการเอาเองว่าไอ้โน่นไอ้นี่มันเป็นยังไง ไม่เคยเรียนแบบ on-site แบบตอนนั้นเลย สนุกมาก
  • Mr. Kent ที่สอนวิทยาศาสตร์ ด้วยการให้เล่น ให้เล่า และคิดโน่นคิดนี่อย่างสนุกสนาน จำได้ว่าเคยถาม-ตอบกับแกไฟแลบในห้องเรียน สนุกมาก สนุกมากๆ และเพื่อนชอบกัน เป็นคลาสวิทยาศาสตร์ที่สนุกที่สุดในชีวิต

น่าแปลก ว่าในช่วงหลังจากผมกลับมาจากอเมริกา แล้วมาเรียนเมืองไทย ที่สาธิตวิทยาลัยครูเทพสตรี (ในขณะนั้น) ผมกลับจำใครไม่ได้เลย มันเป็นความทรงจำที่เลือนลางมาก มากกว่าครูสองคนสมัยเรียนอนุบาลกับประถมเสียอีก (มีความทรงจำในด้านลบกับอะไรหลายๆ อย่างบ้าง ที่ยังคงชัดเจนอยู่ ขอไม่นึกถึงมันดีกว่า)

ตอนที่ไปเรียนกวดวิชาตามที่โน่นที่นี่ ผมนึกออกอยู่ 2 คน

  • อ.ธวัชชัย ชัยสวัสดิ์ แกเป็นคนที่สอน Physics ได้แปลกที่สุดในบรรดาพวกกวดวิชาด้วยกัน คือไม่สอนทำโจทย์ ไม่สอนสูตร ไม่เอาเรื่อง Ent’ มาเป็นตัวตั้งเท่าไหร่ ถ้าจะไปเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว จะงงว่าแกสอนอะไรของแก ไม่รู้เรื่อง สอนไม่ดี และด่าชาวบ้าน (กวดวิชาอื่นๆ) ที่สอนสูตรลัด หรือสอนความเข้าใจที่ผิดเป็นประจำ … แต่ว่าแกนี่แหละ เป็นต้นแบบของการสอนของผมทุกวันนี้ สอนไม่เน้นเอาไปสอบ แต่สอนเอาพื้นเอาฐานให้เข้าใจ ใช้งานได้ … ที่ไปเรียนเน้นด้าน Computational Physics ส่วนหนึ่งก็มีผลมาจากแกนี่แหละ
  • พี่เจี๋ย JIA …. ผมไม่รู้ว่าไปสนิทกับแกได้ยังไงว่ะ แต่แกเรียกผมว่า “หนุ่มหน้าไทย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะว่าบรรดาเพื่อนๆ ที่สนิทกันตอนไปเรียน JIA นี่ตี๋ หมวย ทั้งนั้น สิ่งที่ผมได้จากพี่เจี๋ย ไม่ใช่เคล็ดวิชาการทำโจทย์สารพัดเหมือนที่หลายๆ คนได้นะ แต่เป็นบทเรียนสำคัญมากที่วันหนึ่งแกพูดขึ้นมาในคลาส คือ เรื่องการเป็นลูกจ้างและผู้ประกอบการ สมการเส้นตรง ที่เริ่มต้นด้วยจุดตัดแกน Y และมีความชันคงที่ ก็เหมือนลูกจ้าง และผู้ประกอบการที่เป็น parabola ที่เริ่มต้นจาก 0 และต้อง “ดิ่งลง” ก่อน นั่นคือ จุดยอดของกราฟที่อยู่ต่ำกว่าแกน Y คือมีพิกัดเป็น (+, -) ในกรณีที่ X เป็นเวลา และ Y เป็นเงิน … ผมยังคงเห็นภาพนั้น ตอนที่พี่แกสอนเรื่องนี้ อยู่ติดตาถึงทุกวันนี้ที่เป็นผู้ประกอบการเอง … ส่วนเรื่องอื่นๆ เทคนิคทั้งหลายที่พี่สอนน่ะเหรอ ขอโทษนะพี่ ผมจำไม่ได้ว่ะ และนึกไม่ออกด้วยว่าได้ใช้จริงๆ หรือเปล่า แต่นี่แหละ ที่ได้ใช้จริง และสำคัญมาก

    อ่อ พี่เจี๋ยไปส่งขึ้นเครื่องตอนไปญี่ปุ่นครั้งแรก (หลังจากได้ทุน) ด้วยนะ

ส่วนตอนที่เรียนญี่ปุ่น ก็คงมีแค่สองคนน่ะแหละ

  • Dong-Sheng Cai รู้จักกับแกตั้งแต่ตอนปีหนึ่ง แกสอน lecture หนึ่งในวิชา Information Literarcy วันนึงบังเอิญเจอกับแกบนรถบัสกลับจาก Tokyo ไป Tsukuba แกถามว่า “เขียนโปรแกรมเก่งหรือเปล่า” ไอ้เราก็ไม่รู้จะตอบยังไง (แกคงเห็นเราซื้อหนังสือ Programming เยอะ) ก็เลยแนะนำให้ไปสัมภาษณ์งานเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้ช่วยวิจัยที่ RWCP … ถ้าไม่มีแกก็ไม่มีวันนี้เหมือนกัน (ยังจำการบ้านแกได้เลย ให้หา “ตอนสุดท้ายของโดราเอมอน” แล้วมา debate กันเรื่องความเชื่อถือได้ของข้อมูลบนเน็ต สนุกดี) … ไม่พอ แกเป็นคนที่ผม “เลียนแบบพฤติกรรม” มากที่สุดในเวลาถามนักศึกษาใน seminar หรือว่าเวลาที่ น.ศ. present งานต่างๆ .. เรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบมาเลย

    ไม่พอ แกยังเป็นคนที่พูดประโยคที่ผมบอก น.ศ. ต่อตลอดเวลาว่า “คิดว่าอ่านหนังสือจนทำได้เหมือนหนังสือ หรือว่าท่องได้เหมือนหนังสือ แล้วคิดว่าเข้าใจงั้นเหรอ เข้าใจผิดแล้ว ต้องลงมือทำตามนั้น และต่างจากนั้น เล่นกับมันให้ได้ก่อน ถึงจะเรียกได้ว่าเริ่มจะเข้าใจ” และ “ถ้าแค่อาจารย์คนเดียว ยังไม่มีปัญญาเถียงหรือเอาชนะเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง วันหนึ่งจะไปเถียงกับคนทั้งโลกได้ยังไง” และสำคัญที่สุด ที่แกสอนด้วยการกระทำตลอดเวลา “เรื่องที่ไม่รู้เรื่อง รู้จักแค่ผิวเผิน รู้จักแค่ชื่อ อย่าทำตัวเหมือนรู้ อย่าพูดให้หลุดออกจากปาก ทุกคำที่พูด ทุกคำบนสไลด์ ต้องอธิบายได้หมด”

  • James Bradford Cole ไม่พูดถึงคนนี้คงไม่ได้ lecture แกในวิชา Chaos and Complex System Theory เป็นสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมที่สุด เรื่องวิชาความรู้น่ะเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเรื่องความสนใจในวิชาการลึกๆ นี่มาจากแกนี่แหละ เป็นคนที่ใช้เวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่นด้วยเยอะที่สุด แทบจะทุกเช้า ทุกเย็น เป็นคนที่สอนให้ผมเข้าใจ (จากการกระทำ) ว่า “การเป็นผู้ไม่รู้” มันเป็นยังไง เพราะว่าเจมส์เป็นคนที่ “ไม่รู้” ตลอดเวลา และต้องการความช่วยเหลือจากเราในเรื่องที่แกไม่รู้ พอๆ กับคนอื่นอีกหลายคน (เนื่องจากแกเป็นนักฟิสิกส์ และเขียนโปรแกรมไม่เก่งมากนัก) และยินดีที่จะมีคนช่วยแก ไม่ใช่คนที่ “รู้ทุกเรื่อง แตะต้องไม่ได้”

    เจมส์เป็น “เพื่อนคุยและเพื่อนคิด” ที่ดีที่สุดของผมคนหนึ่ง (นอกจาก Peter และ Hirokawa) ในช่วงเวลา 3 ปีสุดท้ายในญี่ปุ่น

ความทรงจำเหล่านี้ มันไม่ใช่ความทรงจำเรื่องวิชาการ หรือวิชาความรู้อะไรเลย ตรงกันข้าม มันเป็นสิ่งที่ทำให้ “ผมเป็นผม” ได้ถึงวันนี้ พวกคนที่สอนวิชาการ เน้นวิชาการ เอาไปสอบ เอาไป ฯลฯ น่ะเหรอ แปลกแฮะ ผมจำไม่ได้อ่ะ อาจเป็นเพราะว่าผมมีครูที่สอนให้ผมมีพฤติกรรมการศึกษาและหาประสบการณ์ที่ดี สอนให้ผมเป็นผม คนที่ศึกษาวิชาการต่างๆ และหาประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ เอาเองได้ดีกว่ามีคนสอนเป็นไหนๆ ก็ได้มั้ง

น่าเสียดาย น่าเสียดาย น่าเสียดาย ที่ระบบการศึกษาบ้านเรามันพังพินาศ เราคิดแต่ว่าเด็กต้องรู้วิชาการ วิชาการ วิชาการ แข่งขันกันด้วยการสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย คนคิดวิชาการทั้งหลายพยายามยัดเยียดความรู้ต่างๆ ให้เด็กตั้งแต่เด็กเกินไป พ่อแม่เห็นลูกเป็นถ้วยรางวัลมากขึ้น กวดวิชาเน้นผลลัพธ์ทางการสอบมีมากขึ้นและมากขึ้น

คำว่า “ครู” หายไป กลายเป็น “อาจารย์” … เป็นผู้รู้ (โดยตำแหน่งอาชีพ) ที่เถียงไม่ได้ ต้องเคารพเชื่อฟัง (เพียงเพราะตำแหน่งอาชีพ) มากขึ้น สอนแต่วิชาการ เอาแต่ความรู้ทางวิชาการ ถึงอาจารย์หลายคนจะเรียกตัวเองจนติดปากว่า “ครู” ก็เถอะ ด้วยความเคารพ ผมคิดเช่นนั้นไม่ได้เลย

“ครู” ที่เป็นแม่คนที่สอง เป็นพี่สาวแสนน่ารัก เป็นเพื่อนคุยเพื่อนคิด เป็นคนสอนและบ่มปรัชญาชีวิต …. กำลังเป็นสิ่งที่จางหายไปจากสังคม เลือนหายไปจากระบบการศึกษา และกำลังจะเป็นแค่ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งที่ผ่านไป

แปลหนังสือ/เขียนหนังสือ

ตอนนี้มีงานหนึ่งที่ผมกำลังทำอยู่ และไม่เสร็จง่ายๆ ก็คืองานบรรณาธิการหนังสือแปลเล่มหนึ่ง ที่จริงๆ แล้วก็ล่าช้ากว่ากำหนดมาพักหนึ่งแล้ว ก็บอกตามตรงว่า งานนี้ยากกว่าที่ผมคิดไว้ตอนแรกมากเลยทีเดียว และได้คติที่อยากจะเขียนลงไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ เผื่อจะมีประโยชน์กับนักเขียน/นักแปล/บรรณาธิการ/สำนักพิมพ์ ในอนาตต

ด้วยจรรยาบรรณ ผมขอสงวนชื่อทั้งหมด ทั้งหนังสือ ผู้แปล และสำนักพิมพ์เอาไว้นะครับ

ผมพบว่าผู้แปลหนังสือ “แปลไม่รู้เรื่อง” เป็นอย่างมาก ซึ่งขอสรุปเป็นเรื่องๆ อย่างคร่าวๆ ดังนี้

  • ใช้ภาษายากเกินความจำเป็นมาก หนังสือต้นฉบับเขียนด้วยภาษาอังกฤษพื้นๆ พื้นมากๆ เรียกได้ว่าเหมือนกับภาษาพูดธรรมดา แต่ว่าทำไมเวลาแปลแล้ว กลายเป็นภาษาไทยที่ไม่ธรรมดามาก ต้องปีนบันไดอ่าน ขึ้นไปสามสี่ชั้นก็ยังอ่านไม่รู้เรื่อง (แล้วจะปีนทำบ้าอะไร) ต้องแปลไทยเป็นไทย เรียบเรียงใหม่ในหัวตั้งหลายต่อหลายครั้ง
  • อิงกับตัวหนังสือ/ตัวอักษรมากไป จนสื่อเจตนา “ผิด” จากภาษาอังกฤษอย่างมาก แบบไม่น่าให้อภัย ถ้าดูทีละคำในประโยคว่าแปลว่าอะไร ก็อาจจะแปลถูกต้อง แต่ว่าถ้าดูพร้อมกันทั้งประโยค และยิ่งทั้งย่อหน้า ทั้งหน้า จะเห็นได้ว่าผิดแบบชัดเจน
  • เน้นภาษาสวย (อีกครั้ง) แต่อ่านแล้วไม่อินเลย ส่อให้เห็นชัดเจนว่าผู้แปลเป็นนักภาษา แต่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญความชำนาญอะไรเลยในเรื่องที่เค้ากำลังแปลอยู่ (พูดง่ายๆ ว่าไม่มี Domain Knowledge ในเรื่องนั้นๆ เลย)
  • โครงสร้างทุกอย่างที่ออกมา เป็น “ภาษาอังกฤษ” มากกว่าเป็นภาษาไทย มันขัดธรรมชาติของภาษาเรา ผิดจริตหลายอย่างมาก (แต่ว่าถ้าแปลกลับเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะเข้าท่ากว่า) เช่น มีการใช้ “-” แสดงประโยคขยาย/เสริม ในระหว่างประโยค ซึ่งภาษาเราไม่ใช้กัน เป็นต้น

สิ่งที่ผมอยากจะฝาก อยากจะเขียนถึง ไม่ใช่การด่าว่าใคร แต่อยากจะเอาความจริงที่ตัวเองพบมา ทั้งจากประสบการณ์เขียน แปล และบรรณาธิการหลายต่อหลายอย่าง ฝากให้คนที่มาอ่าน Blog ผมดังนี้

  • งานแปลหนังสือ จริงๆ แล้วมันคือ “งานเขียนหนังสือ” โดยอาศัยเค้าโครง โครงสร้าง การเรียงลำดับเนื้อเรื่อง จากหนังสือเล่มอื่นที่มีอยู่แล้วเท่านั้นเอง
  • ดังนั้นมันจะดีกว่า ถ้าเราคิดว่า ก่อนอื่น เราต้องการคนแปลหนังสือ แบบเดียวกับที่เราต้องการคนเขียนหนังสือ นั่นคือ ไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ แต่เป็นคนที่มี Domain Knowledge ในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาไทยได้ดีเป็นหลัก และพอจะอ่านภาษาต่างประเทศ (ภาษาต้นทาง) ออก เท่านั้นเอง
  • ทำไมน่ะหรือ เพราะว่าการแปลที่ดี ไม่ใช่แปลตัวอักษรออกมาให้ครบทุกตัว ทุกคำพูด ทุกบรรทัด ให้เหมือนต้นฉบับทุกวรรคทุกตอน แต่ว่าต้องเป็นการสื่อสาร “วิญญาณ” ของมันออกมาในอีกภาษาหนึ่งต่างหาก ดังนั้นหากผู้แปลไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อะไรเลย พูดง่ายๆ ว่า “ไม่อิน” กับเรื่องที่ตัวเองแปล มันจะออกมาแย่มาก เพราะว่านักภาษาหลายคน (จากประสบการณ์ที่พบ) มีแนวโน้มจะแต่งภาษาให้สละสลวย มากกว่าสื่อวิญญาณของมันให้ได้อย่างดิบๆ ตรงไปตรงมา
  • อย่าคิดว่า “ก็ให้นักภาษาแปลก่อน จะได้แปลถูกหลักภาษา แล้วค่อยให้คนมี Domain Knowledge แก้ไขทีหลัง” ให้คิดกลับกันว่า “ให้คนมี Domain Knowledge เขียนจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศก่อน แล้วค่อยให้นักภาษาเกลาทีหลัง” จะดีกว่ามาก

“เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” ยังคงใช้ได้เสมอกับกรณีเช่นนี้ หลายคนกลัวกับการ “เสียคำบางคำ” หรือว่า “เสียความถูกต้องของประโยคบางประโยค” ไป ก็จะพยายามมากมายก่ายกอง เพื่อรักษาตรงนี้เอาไว้ แต่ว่าลงเอยด้วยหนังสือทั้งเล่มที่มันอ่านไม่รู้เรื่อง ผิดเจตนารมณ์ดั้งเดิมของผู้แต่งหนังสือ ไม่สามารถสื่อวิญญาณของมันออกมาได้ … และที่สำคัญ เมื่อมองไม่ภาพรวม ภาษาที่แปลถูกต้องเป็นคำๆ นั้น รวมกันแล้วอาจไม่ใช่เนื้อความที่ถูกต้องก็ได้

ปิดท้ายละกัน ผมเจอประโยคนี้ “It takes all you’ve got to keep safe” …. ซึ่งในบริบทของเนื้อหาส่วนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้น มันหมายถึงว่า “เราต้องทำทุกวิถีทางให้รอดจากอันตรายทั้งหลายแหล่” ….​ ดันไปแปลว่า “มันจะเอาทุกอย่างที่เราได้มา ไปเก็บไว้ในตู้เซฟ”

สุดตรีนมากครัฟ

2011 Resolution

ผ่านมาจะ 2 อาทิตย์อยู่แล้ว เขียนมันซะหน่อย … ไว้เป็นเครื่องเตือนใจ

ทุกปีที่ผ่านมา ก็เขียนมันทุกปี ย้อนกลับไปดู ก็พบว่าทำได้น้อยกว่าที่คิดไว้ทุกปี ปีนี้จะ back-to-basic ล่ะ เอาแค่เท่าที่ทำได้ และคิดว่าจะทำได้จริงๆ

  1. ลด-ละ-เลิก การเล่น twitter … ถ้าอยากรู้ว่าทำไม ลองอ่านที่ผมเขียนเรื่อง Tron Legacy และเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ ร้อยแปด
  2. กลับมาเขียน blog อย่าง active มากกว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
  3. เลิกทำสิ่งที่มันไม่ใช่ตัวเองซะ ไม่ว่าจะยังไงก็เถอะ ชีวิตมันสั้น ไอ้พวกงานบริหารอะไรเนี่ย ลาออกมันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ และอยู่ภายใต้สัญญาลูกผู้ชายที่ได้ให้ไว้กับใครบางคน
  4. กลับมาเป็นตัวของตัวเอง 100% … เลิกทุกสิ่งที่ทุกอย่างที่มันฝืนตัวเอง ไม่ว่าจะฝืนมากฝืนน้อย ไร้สาระและเสียเวลา … ลองมา 6 ปีเต็ม ไม่เวิร์กหรอก สังคมยอมรับ แล้วไง รับตัวเองไม่ได้โว้ย .. ช่วงหลังมีบางครั้งที่เผยความเป็นตัวเองแบบ “ดิบ” มาบ้าง ก็พบว่าคนที่รับได้ก็มี คนที่ชอบก็มี “ไม่น้อยเสียด้วย”
  5. ทุ่มเทเรี่ยวแรงการทำงานทั้งหมดที่มี ให้กับ “โปรเจคสุดท้ายในชีวิต”
  6. นอกนั้น หนังสือ iOS Development เล่มแรกต้องเสร็จ และถ้าฟลุ๊ค อาจจะมีเล่มสอง
  7. เขียน app, สอนเขียน app, เขียนหนังสือสอนเขียน app, ถ่ายรูป … ชีวิตเหลือแค่นี้ จะมีความสุขมาก

ไม่ขออะไรมากกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะข้อ 3,4,5 “ต้องทำให้ได้”

The Flying Ducthman

ในหนังเรื่อง Pirates of Caribbean มีเรือลำหนึ่งที่ผมชอบมาก ยิ่งกว่า The Black Pearl นั่นคือ The Flying Dutchman ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าผมเคยได้ยินตำนานของเรือลำนี้มาตั้งแต่เด็กๆ

ยอมรับว่าในตอนแรกที่ผมดูเรื่องนี้ ผมไม่ได้คิดอะไรมากเลย กับการออกแบบ The Flying Ducthman และลูกเรือ ออกจะผิดหวังเสียด้วยซ้ำ ที่ออกแบบมาเป็นสัตว์ประหลาดที่ผสมคนกับสัตว์ทะเล มากกว่าที่จะเป็น “เรือผี” แบบ The Black Pearl ในภาคแรก (อาจจะด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่าไม่อยากจะออกแบบซ้ำ)

แต่ว่ายิ่งเวลาผ่านไป ผมมีโอกาสดูหนังเรื่องนี้ใหม่ทั้งสามภาคแบบรวดเดียวอีกรอบ และมีโอกาสนั่งคิดอีกครั้ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนไปมาก จากการทำงานบริหารหน่วยงานราชการ (ศูนย์คอมพิวเตอร์ ม.ศิลปากร) มาสองปีเต็มๆ …. ก็เห็นอะไรบางอย่าง ที่ “เฮ้ย เจ๋งว่ะ”

  • ก่อนอื่นขอเล่าว่า ผมมักจะเปรียบเทียบการทำงาน กับการเดินเรือในมหาสมุทรอยู่แล้ว
  • เรือทุกลำที่เดินทางในมหาสมุทร ย่อมต้องมีเป้าหมาย ไม่เช่นนั้นจะหลงทาง เรือหลายลำมีเป้าหมายที่เรียบง่าย เช่น เดินทางจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง และ Flying Dutchman ก็เช่นเดียวกัน
  • Flying Dutchman เป็นเรือที่ “เคย” มีเป้าหมาย และเป้าหมายที่ว่านั้น คือ การส่งวิญญาณจากภพหนึ่ง ไปยังอีกภพหนึ่ง
  • แต่สิ่งที่เราเห็นในภาพยนต์นั้น Flying Dutchman คือ “องค์กรที่ไร้เป้าหมาย” ซึ่งอาจจะเกิดจากเหตุผลอะไรก็แล้วแต่
  • ทีนี้พอเป็นองค์กรไร้เป้าหมาย ผลเป็นอย่างไร ผลคือ “การเสื่อมสลายขององค์กร” องค์กรที่ไม่ได้รับการดูแล เหลียวแล มีสภาพกลืนไปกับสภาพแวดล้อมอะไรก็ได้ที่มันเป็นอยู่ กลายเป็นแหล่งหา “ผลประโยชน์” ของลูกเรือในองค์กร ที่อ้างองค์กรเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง กลายเป็นแหล่งพักพิง “ถาวร” ของบรรดาลูกเรือ
  • การล่าผลประโยชน์ในคราบขององค์กรมันช่างน่าสะพรึงกลัวนัก หลายคนอยู่ไปนานๆ เข้า ก็ปรับตัว “ฝัง” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ไร้เป้าหมาย ล่องลอยอยู่ในทะเลเรื่อยๆ ลืมตัวตนของตัวเอง ลืมว่าตัวเองเคยเป็นใคร ตัวเองเคยอยากทำอะไร ตัวเองต้องการอะไร ตัวเอง ฯลฯ อะไร จนวันหนึ่งความเป็นตัวเองก็สูญสิ้นไป กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการหาผลประโยชน์ในคราบของ “องค์กร” อย่างสนิท
  • อย่างหนึ่งที่ผมโคตรชอบเลยว่ะ ก็คือ Flying Dutchman ไม่สามารถเทียบฝั่งได้ ถ้าโดยทั่วไปแล้ว เรามักเทียบฝั่งเป็นเป้าหมาย และการ “ถึงฝั่ง” คือ การไปถึงเป้าหมาย ก็จะพบว่า องค์กรแบบ Flying Dutchman รวมถึงคนในองค์กร ไม่มีวันนั้นแน่นอน
  • การเปลี่ยนกัปตันเรือ (= การเปลี่ยนผู้บริหาร) อาจจะนำมาซึ่ง “เป้าหมาย” ให้กับองค์กร (เหมือนที่ลูกเรือคนหนึ่งบอกว่า “เรือลำนี้มีเป้าหมายอีกครั้ง”)
  • ซึ่งเมื่อองค์กรมีเป้าหมาย เราอาจจะได้เห็นความเป็นตัวเองของลูกเรือแต่ละคนอีกครั้ง เป็นลูกเรือที่ช่วยกันเพื่อให้องค์กรไปสู่เป้าหมาย (และตัวเองก็ไปถึงเป้าหมายร่วมกับองค์กร) โดยยังคงเป็นตัวเองอย่างชัดเจน ไม่เหมือนกับสมัยที่ยังไร้เป้าหมาย ที่ “เหมือนจะทำงาน” แต่ว่าไปไม่ถึงไหน หาประโยชน์อะไรบางอย่างไปวันๆ
  • แต่ว่าไอ้พวกองค์กรไร้เป้าหมายพวกนี้อ่ะนะ ว่าไป ก็ชอบเป็นมาเฟียน่านน้ำ ใช่มั้ยล่ะ ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่ เป็นที่หวาดกลัวของบรรดานักเดินเรือที่มีเป้าหมายทั้งหลาย

ตัดกลับมาที่องค์กรของเราๆ ทั้งหลายนะครับ ลองถามเล่นๆ ว่า “องค์กรของเรามีเป้าหมายหรือเปล่า” ไม่ใช่เป้าหมายเชิงผลประโยชน์ หรือว่าการหาผลประโยชน์นะครับ ไอ้พวกนั้นเซ็ตง่าย และถ้าเซ็ตเป็นเป้าหมายหลักเมื่อไหร่ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Flying Ducthman ตั้งแต่ต้น (คือเป็นเรือที่เกิดมาเป็น Flying Dutchman เลย)

หากองค์กรของเรามีเป้าหมายไม่ชัดเจน วัดไม่ได้ว่าไปถึงไหนหรือเปล่า เราสังเกตดีๆ ว่ามันจะเป็นเหมือนกับ Flying Dutchman น่ะแหละ คือเป็นแหล่งรวมคนที่ต้องการประโยชน์ในคราบองค์กร ที่อาศัยองค์กรเป็นแหล่งฝังตัวอย่างเหนียวแน่น สับสนระหว่างผลประโยชน์ตัวเอง พวกตัวเอง และผลประโยชน์ขององค์กร ฯลฯ

อย่างหนึ่งที่ต้องระวัง ในองค์กรหลายองค์กร มีการพูดถึง “หน้าที่” ก่อน “เป้าหมาย” ซึ่งผมบอกได้เลยว่า “งี่เง่า” ครับ บนเรือ Flying Dutchman มีลูกเรือทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย แต่พาองค์กรไปไหนกัน? เพราะว่า Flying Dutchman ในฐานะขององค์กรมันไม่ได้มีเป้าหมายอะไร (ใน timeline ของหนัง) พูดอีกแบบคือ มันกลายเป็นเครื่องมือในการทำอะไรก็ไม่รู้ของใครบางคน (หรือของกลุ่มบุคคล) ผิดวัตถุประสงค์ขององค์กรที่ตั้งมาตั้งแต่ต้น

ในองค์กรที่มีแต่ “หน้าที่” แต่ไม่มี “เป้าหมาย” ความอันตรายของมันก็คือ ทุกคนจะคิดว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” แต่ว่ามันอาจจะ pointless ไม่ได้พาอะไรไปไหนเลย ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย นอกจากภาพลวงตาว่าตัวเองกำลัง “ทำงาน” อย่างหนักหนา ตาม “หน้าที่” ที่ได้กำหนดไว้แล้ว

ที่น่ากลัวคือ หลายองค์กรมี “หน้าที่” แต่กลับไม่มี “เป้าหมาย” จริงจัง มีเพียง “เป้าหมาย” ที่ลอยไปลอยมา เอาไว้พูดติดปากให้เท่ๆ เก๋ไก๋ เวลามีใครถามเท่านั้นเอง .. ก็มักจะลงเอยด้วยการอ้าง “หน้าที่” นั้นแหละ มาทำลายความเจริญหรือความคืบหน้าอันควรจะเป็น “เป้าหมาย” ขององค์กรตามที่มันถูกตั้งมาแต่ต้น อย่างแน่เสียดาย

update 1 : มีอะไรเพิ่มเติมนิดหน่อย … สังเกตมั้ยว่ากัปตันเรือจะต้องเริ่มด้วย “ให้หัวใจกับเรือ” … ครับ ถ้าไม่สามารถให้ “ใจ” กับองค์กรได้แล้ว อย่าริไปเป็นกัปตันเรือลำไหนเด็ดขาด มีเวิร์กหรอก

Nikon P7000: On the Trip Review

ตามสัญญาเมื่อสายันต์ (จากตอน Nikon P7000 Review) ว่าจะเขียนรีวิวกล้องตัวนี้แบบ On the Trip ตามการใช้งานจริง เดี๋ยวจะทิ้งช่วงนานเกินไป เขียนซะหน่อย


DSCN0655.jpg

ขวดน้ำหวาน

เมื่อปีใหม่ที่ผ่านมา ผมได้ขึ้นไปเที่ยวเหนืออีกครั้ง โดยมีเป้าหมายเป็นแม่ฮ่องสอน (เช่นเดียวกับเมื่อปีก่อน) ตามประสาคนกรุงไขว่คว้าความหนาวบ้าง ออกต่างจังหวัดไปที่ๆ ธรรมชาติยังเป็นธรรมชาติบ้าง โดยครั้งนี้ผมได้เอาเจ้า Nikon P7000 ไปด้วย ในฐานะ “กล้องสำรอง” และ “กล้องเดินเที่ยว” เมื่อผมไม่ต้องการที่จะใช้ Nikon D3s (ซึ่งเป็นกล้องซีเรียส ใช้เมื่อหวังผลภาพ) หรือ Leica M8 (ที่ผมชอบใช้เวลาเดินเล่นในเมืองหรือหมู่บ้าน)


DSCN0639.jpg

อุ้มบาตร

จากการใช้งานจริงผมพบว่าโดยทั่วไปแล้ว P7000 ตอบสนองการใช้งานได้ค่อนข้างดี ทำให้หลายๆ ครั้ง ผมไม่ได้หยิบเอากล้องหลักออกจากกระเป๋าด้วยซ้ำไป และทริปนี้ก็ได้ confirm ถึงสิ่งที่ผมเขียนไว้ใน Review ก่อนหน้านี้หลายเรื่อง


เรื่องแรกคือเรื่องระยะซูม ซึ่งเทียบเท่ากับ 28-200mm บน 35mm format ซึ่งใช้งานได้ค่อนข้างสะดวก และภาพที่ได้จากระยะปลายซูมก็ถือว่าดีทีเดียว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ รูปรังผึ้งขนาดใหญ่ ที่เกาะอยู่บนพระพุทธรูปนอนกลางแจ้ง ซึ่งจากจุดที่ผมยืนอยู่นั้น มองเห็นไม่ถนัดว่าคืออะไร และตำแหน่งที่ผมยืนนั้นเป็นตำแหน่งย้อนแสง แต่ระบบวัดแสงของกล้องก็ยังทำงานได้ดีทีเดียว (ก็เล่นจัดองค์ประกอบแบบนี้นี่นะ ถ้าลองเห็นฟ้าก็มืดแน่นอน)


DSCN0635.jpg

รังผึ้งบนพระพุทธรูป

Dynamic Range จากไฟล์ JPEG ที่ได้ ก็ถือว่าค่อนข้างดี และยังคงเก็บรายละเอียดในเงาได้มากพอสมควร เช่นรูปต่อไปนี้ ถือว่าแสงค่อนข้างยากพอสมควร เนื่องจากเป็นช่วงที่แดดแรง ทำให้ Contrast ของแสงค่อนข้างมาก ในส่วนที่จ้าและส่วนที่มืด ซึ่งรูปนี้ผมดึงส่วนที่มืดขึ้นมา (ด้านซ้ายของรูป ซึ่งรูปที่ได้มานั้นมืดมากทีเดียว) และพยายามตบส่วนที่เป็นแสงจ้าลงไป


DSCN0715.jpg

ปางอุ๋ง

ดูกันอีกรูป สำหรับ Dynamic Range ของภาพ JPEG จากกล้อง (ซึ่งแน่นอนว่าผ่านการดึงและตบมาแล้ว)


DSCN0649.jpg

ดูแล้วนึกถึง Chronicle of Narnia ยังไงไม่รู้แฮะ

อย่างที่บอกไว้ในรีวิวก่อน ว่าสาเหตุหลักอันหนึ่งที่ทำให้ผมเลือก P7000 ก็คือ “Nikon Color” ที่ผมคุ้นเคยจากกล้องใหญ่ ภาพจาก P7000 ก็ให้ผมแบบนั้นน่ะแหละ ดูจากหลังกล้องแล้วความรู้สึกมัน “ใช่” กว่าตอนดูรูปจาก LX3 เยอะมาก ยิ่งถ้าตั้ง Vivid ไว้นะ จัดได้ใจ ทั้งความอิ่มของสี และคอนทราสต์


DSCN0798.jpg

ดอกไม้สีแดง


DSCN0678.jpg

ดอกบัวบานริมนา … บัวเหล่าที่หนึ่งมีอยู่ได้ในทุกที่

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของเลนส์ช่วงซูมยาวๆ กับกล้องคอมแพคเซนเซอร์เล็ก ก็คือ มันยังพอจะโยนฉากหลังให้เบลอเล่นได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ ถึง f ช่วงปลายซูม มันจะ 5.6 ก็เถอะ ถ้าเลือกฉากหลังไกลๆ และซูมให้ของที่อยากถ่ายมันเต็มๆ ก็พอจะช่วยได้บ้าง (แต่แน่นอนว่าอย่าเอาไปเทียบกับ DSLR นะ เทียบไม่ได้หรอก)


DSCN0663.jpg

กระบอกส่งน้ำ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันเหมือนชาวบ้านเค้าน่ะ ดูเป็นมิตรกว่าพวกถือ DSLR เยอะ ถึงตอนนี้ใครๆ ก็ถือ DSLR กันเต็มไปหมดก็เถอะ เวลาหยิบมาถ่ายรูปชาวบ้านมันก็ยังดูเกะกะและไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ หลายคนก็บ่ายเบี่ยง หลายคนชี้นิ้วมาทำเหมือนกับจะโดนยิงหรือว่าจับผิด หรือว่าอะไรสักอย่าง ฯลฯ แต่ว่าพอหยิบคอมแพคมาถ่าย นี่เป็นมิตรกว่ากันเยอะ กล้องพวกนี้จริงๆ เอาไว้ถ่ายพวกชีวิตทั่วไปเวลาไปเที่ยวนี่ดีนักแล


DSCN0754.jpg

แม่ค้าสาวน้อยที่ปางอุ๋ง

สรุปว่า ผมค่อนข้างพอใจกับมันแฮะ มากกว่าที่คิดไว้ตอนแรก (หรือว่าผมหวังน้อยอยู่แล้วกับคอมแพคของ Nikon ก็ไม่รู้เหมือนกัน) กล้องคอมแพคเดี๋ยวนี้ดีขึ้นมาก จนเรียกได้ว่าไม่ต้องเอา DSLR ก็พอจะได้แล้ว (แต่ว่า DSLR มันก็ถูกลงมามาก จนไม่ต้องซื้อคอมแพคก็ได้แล้วเหมือนกันนะ — ก็แล้วแต่ความต้องการใช้งานแล้วล่ะ)


DSCN0732.jpg

รอแสงยามเช้า

ใช่ๆๆ ลืมไปเรื่อง คือเรื่อง Battery .. ต้องขอบคุณ Nikon ที่กลับมามีสติอีกครั้ง หลังจากทำอะไรบ้าๆ กับ P6000 เยอะมากมาย เช่น มีที่เสียบสาย LAN .. แต่ที่บ้าที่สุดของ P6000 คือ “การชาร์จแบต” จะชาร์จกับกล้องโดยตรง ซึ่งเสี่ยงมากมีการทำตก หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ และมีข้อเสียมากมาย (นึกถึงเวลามีแบต 2 ก้อน เราจะไม่สามารถชาร์จแบตก้อนหนึ่ง และใส่อีกก้อนหนึ่งเพื่อถ่ายรูปไปก่อนได้) … P7000 ใช้ “ที่ชาร์จแยก” ครับ ค่อยยังชั่ว และแบตก็ใช้ได้ค่อนข้างทนดีทีเดียวครับ (อย่าเอาไปเทียบกับพวก DSLR นะ) แต่ว่าทำไมก็ไม่รู้ ก็ยังไม่แสดงสถานะของแบตตลอดเวลาอยู่ดี แสดงเอาอีตอนกำลังจะหมดอีกล่ะ แบบนี้คนใช้งานค่อนข้างจะพารานอยด์นะ เพราะว่าแยกไม่ออกเลยว่า แบตเกือบเต็ม หรือว่าเกือบจะเกือบหมด (ถ้าเกือบหมดถึงจะแสดงสถานะ)


DSCN0797.jpg

Raft rowing

ไหนๆ ก็พูดเทียบกับ P6000 แล้ว ก็บอกซะหน่อยว่า Nikon มีสติขึ้นมาเยอะครับ กลับมาทำกล้องให้เป็นกล้องอีกครั้ง หลังจาก P6000 นั้น เน้นการใส่ของเล่น ใส่เทคโนโลยี เสียจนความสามารถในการเป็นกล้องถ่ายรูปของมันไม่ได้รับการเหลียวแลสักเท่าไหร่ หลายต่อหลายอย่างก็ไม่รู้จะใส่มาทำอะไร (รวมถึง GPS ที่อาจจะมีประโยชน์นะ แต่ว่ากินแบตมากมาย) ตัวนี้ No-Nonsense กว่าเยอะมาก


DSCN0823.jpg

เทือกเขาริมชายแดนไทย-พม่า (เส้นแม่สะเรียง-แม่สอด)

สุดท้ายนะครับ ขอหน่อย … ไปเที่ยวที่ไหน ผมต้องเห็นภาพพวกนี้เสียชินตา ทั้งๆ ที่ถังขยะก็อยู่ไม่ห่างจากตรงนั้นมากเท่าไหร่เลย


DSCN0782.jpg

เช่นเดียวกัน …. มีคนเที่ยวที่ไหน มีไอ้พวกนี้ที่นั่น ให้ได้งี้สิ


DSCN0781.jpg

รูปนี้ห่างจากถังขยะ (ที่ยังว่างๆ อยู่) ไม่เกิน 15 เมตร


DSCN0647.jpg

ยัดกันเข้าไป หมกกันเข้าไป

ไว้วันนึงเถอะ จะเอารูปถ่ายขยะที่ถูกขยะทิ้งไว้แบบนี้ มาจัดแสดงสักที่ ถ่ายไว้ได้เยอะมากแล้ว

Tron Legacy

เพิ่งออกจากโรงหนังหมาดๆ เลย กับเรื่องที่หลายคนรอมานาน และผมกะว่าจะดัดนิสัยตัวเอง ให้กลับมาเป็น “พอดูหนังจบ ก็ blog ทันที” อีกครั้ง เหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต ก็เลยเขียนซะหน่อย

เรื่อง Tron ภาคแรก เป็นหนังที่ผมชอบมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมดูเรื่องนี้มานานพอดูแล้ว (ประมาณ 10 ปี) แต่ว่าผมไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายนักกับภาคนี้ ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง เช่น

  1. ผมยังไม่เคยชอบหนังแนว Remake หรือว่าภาคต่อ ที่ขาดหายไปจากภาคก่อนๆ นานสักเรื่อง (Star Wars ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ผมเคยเขียน Review EP1 ไว้แบบเสียหายมากมาย แต่ว่า EP2, EP3 นี่ผมถือว่ามันเป็นภาคต่อจาก EP1 นะ)
  2. Plot เรื่อง ที่ต่อให้วางต่อจากภาคเก่ายังไง ก็เดากันได้หมด ยิ่งดู Trailer ด้วยแล้ว ยิ่งเดาได้ไม่ยากเลย ไม่พ้นพวก Artificial Life แหงๆ … ยิ่งถ้าเคยดู The Matrix, 13th Floor ด้วยแล้วนี่ ยิ่งเดาโคตรไม่ยาก ว่ามันไม่มีอะไรแหวกแนวไปจากนี้แน่นอน
  3. จุดขายอย่างหนึ่งของภาคเก่า คือ Visual ทั้งหลายแหล่ แต่ว่าภาคนี้จะทำให้มัน Revolution ขนาดภาคเก่า เทียบกับหนังเรื่องอื่นๆ ในตลาดหรืออุตสาหกรรมตอนนี้ บอกได้เลยว่า “ยากส์”
  4. เพืิ่อนสนิทมิตรสหาย คอเดียวกันทั้งหลาย ไม่ค่อยจะชอบเท่าไหร่

แต่ว่าผมกลับเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึก “ผมชอบมันว่ะ” ทำไมน่ะเหรอ

อาจจะเป็นเพราะผมโตขึ้น (แก่ขึ้น) มั้ง เลยเห็นอะไรต่างๆ ไปเยอะ ยิ่งมีความคาดหวังแบบ 4 ข้อด้านบนด้วยแล้ว ยิ่งไม่ได้คิดจะดูเพื่ออรรถรสแบบดูหนัง คือ ดู Visual ดูเนื้อเรื่องให้สนุกตื่นเต้น/อินไปกับเนื้อเรื่อง/รอเซอร์ไพรส์แบบหักหลังคนดู/ฯลฯ ดูการแสดง อะไรพวกนี้ แต่ว่าผมเข้าไปดูเพื่อหา “Hidden Message” หรือว่าข้อความซ่อนเร้นต่างๆ ที่ผมสามารถตีความได้ (โดยผู้สร้างหนังจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) จะสังเกตว่าพักหลังๆ ผมรีวิวหนังออกแนวตีความเยอะมาก ตั้งแต่ Spider Man, X-Men แล้ว (ที่ยังไม่ได้เขียน แต่เล่าให้น้องๆ ที่ทำงานด้วยฟัง มีอีกเยอะ) ที่ไปออก MCOT.NET เรื่อง Avatar ก็เช่นกัน

แล้วเรื่องนี้มันเป็นยังไง? … เอาเป็นข้อๆ เลยละกันนะ อ่านง่ายดี มีไม่เยอะหรอก แต่ “แรง” … และสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดู อาจจะมี Spoiler นะ แต่ไม่ตั้งใจจะ Spoil หรอก ถ้ากลัวก็หยุดอ่านมันซะตรงนี้ละกัน

  • ในภาพใหญ่ที่สุด นี่เป็นเรื่องของ Digital World และ Physical World โดยสิ่งที่อยู่ในโลก Digital นั้น เป็น “โปรแกรม” ทั้งหมด
  • เราต้อง “โหลด” ตัวเองเข้าสู่โลก Digital … แล้วเราโหลดอะไร? เราโหลด Data ของเรา ความทรงจำของเรา เรื่องราวต่างๆ ของเรา เข้าไปในโลก Digital เรื่องนี้สังเกตได้จาก Symbol หลักของเรื่องเลย ว่าเมื่อพระเอก (Sam) เข้าไปในโลก Digital แล้ว สิ่งแรกที่โดนทำก็คือ สวมชุดที่เป็น Data Suit และมี Disk เก็บความทรงจำอยู่ นั่นคือ ตัวตนของเราในโลก Digital ก็คือ Data และความทรงจำของเรา ที่เราโหลดมันขึ้นไปน่ะแหละ (นึกถึงพวก Facebook, Hi5 อะไรพวกนี้แล้วจะนึกออก)
  • พวกเราหลายต่อหลายคน ยินดี “หันหลัง” ให้กับชีวิตของพวกเราเอง และเลือกที่จะ “หมกมุ่น” อยู่กับโลก Digital ที่เราสร้างมันขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น Social Network หรือว่ากลุ่มเพื่อน หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ เราคิดเราฝัน ว่านี่คือโลกที่เราฝันใฝ่ และจะสร้างมันให้เป็นแบบนั้นแบบนี้
  • แต่ว่าหลายครั้งเราก็ลืมไปว่า ชีวิตของเราจริงๆ มันอยู่ข้างนอก เราอาจกลายเป็นคนอื่นสำหรับคนใกล้ตัวเรา
  • และนั่นคือสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อ “ตัวตน Digital” (ในเรื่องคือ Clu) มีอิทธิพลเหนือชีวิตเรา กลายมาเป็นตัวเราแทนเรา และทำให้เราไม่สามารถกลับออกมาได้อีก .. สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา กลายเป็นศัตรูกับชีวิตจริงของเราไปซะงั้น
  • น่าคิด ว่าการที่ Clu เป็นตัวการในการดึง Sam (หรือคนอื่นที่ได้รับเพจ) ให้เข้ามาในโลก Digital ก็เหมือนกับเวลาที่ตัวตนในโลก Digital ของเรา มีอิทธิพลเหนือเราเมื่อไหร่ เราก็มักจะชวนเพื่อนคนโน้นคนนี้ เข้ามาในโลกเดียวกับเราด้วย … เช่น ติด Twitter ก็ชวนคนอื่นมามี Twitter ด้วยกันหมด .. ไปๆ มาๆ ขนาดนั่งอยู่ใกล้ๆ กันแท้ๆ แทนที่จะคุยกัน ดัน Tweet, WhatsApp, อะไรก็ช่าง คุยกัน
  • น่าสนใจ ที่กุญแจที่ใช้ในการออกจากโลก Digital ก็คือ Disk ที่เก็บความจำนั่นเอง … ใช่สิ ลองนึกถึงว่า มันมีอะไรบ้าง ที่เราใส่เข้าไปในโลกออนไลน์ไม่ได้ เรามีความทรงจำ มีสังคม มีอะไรนอกโลกออนไลน์บ้างมั้ย …. สิ่งเหล่านี้แหละ คือสิ่งที่จะทำให้เราออกมาจากโลก Digital ที่เราสร้างขึ้นได้(บ้าง)
  • แล้วทำไม Clu ต้องการออกมาข้างนอก? บางคนตัวตนในโลก Digital ดีจัดมั้ง ก็เลยอยากจะให้ตัวตนแบบนั้นของตัวเอง พร้อมทั้ง “กองทัพ” (ถ้าภาษา Twitter คงเรียกว่า “Followers” หรือว่าภาษาแขวะกัน ก็ “สาวก”) ที่ตัวเองสร้างขึ้น ออกมาในโลกความเป็นจริงด้วย
  • หลายคนนะ ที่เป็นเซเลปในโลก Digital แต่ว่าเป็น Looser ในโลกความเป็นจริงนอกสังคมออนไลน์ ลองดูสิว่า Kevin Flynn และ Clu คือใคร รอบๆ ตัวเรา ซึ่งถ้า Clu พร้อมกองทัพของเขาออกมาได้ นี่จาก Looser จะกลายเป็นเซเลปจริงๆ ได้เลยนะ
  • วิธีสร้างกองทัพก็ไม่ยาก แค่ Re-program ใหม่เท่านั้นเอง ซึ่งถ้าเราทำอะไรกับตัวตนในโลก Digital ได้ มันจะส่งผลถึงตัวตนในโลกความเป็นจริงด้วยน่ะสิ (ดูสิ ถ้าเราก่อดราม่าสร้างเรื่องด่าใครที่แรงพอจะเป็นกระแส ตัวจริงเค้ากระเทือนมั้ย หรือว่าถ้าเราสร้างภาพในโลกออนไลน์พอ พวกสาวกก็มองเราดี โดยไม่สนใจตัวจริงเรา ใช่มั้ย)
  • (ขำๆ นะ) แต่ว่าตัวตนในโลก Digital ของเรานี่ เราจะหยุดอายุเอาไว้ที่เมื่อไหร่ก็ได้นะ (เช่น คน 35 จะบอกว่า 18 ก็ย่อมได้) ฮ่าๆ
  • (ขำๆ ต่อ) เรื่องดีๆ จากเรื่องนี้ก็มีเหมือนกันนะ คือ พระเอก (Sam) พบรักในโลก Digital นะ แถมลากออกมาเป็นคู่ในชีวิตจริงได้ซะด้วย .. จริงๆ ก็มีหลายคู่นะ ที่พบรักกันในโลกออนไลน์ แต่ว่าคีย์มันคือ “ต้องออกมาสู่โลกจริง”
  • เรื่องนี้เอาไป Mix กับข้อความแรงๆ จาก Avatar และ Inception แล้วสยองพิลึก เพราะว่าสองเรื่องนั้นข้อความแรงๆ ของมันคือ “เราจะเลือกโลกจริงจากสิ่งที่เราคิดว่าจริง” ซึ่งไอ้ความ “จริง” นั้นนิยามง่ายๆ คือ มันให้เราได้อย่างที่เราต้องการ .. ถ้าในโลก Digital นั้น เราได้เป็นสิ่งที่เราอยากจะเป็นมากกว่า (เช่นเป็นจุดสนใจ) เราก็จะเลือกว่ามัน “จริง” ไปโดยปริยาย .. นั่นคือ Clu ของเราก็จะแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยปริยาย
  • (ต่อ) ดังนั้น อย่าทำร้ายคนในโลกความเป็นจริง จนเค้าต้องหนีไปพึ่งโลกออนไลน์หรือโลก Digital มากขึ้นๆ จะดีที่สุด
  • ฉากจบ เป็นอะไรที่สะเทือนใจผมมากเอาเรื่อง (ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่มีอะไรเลย) เมื่อ Sam ได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนโลกความเป็นจริงด้วยกำลังที่เขาทำได้ (ขึ้นมาจัดการ ENCOM) ไม่ใช่แค่ใช้ความสามารถป่วน ด่า แขวะ ชาวบ้านชาวช่องไปเรื่อยๆ (ป่วนการออก OS ใหม่ พร้อมข้อความเสียดสี ฯลฯ) ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีกำลัง (เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) …. นี่แหละคือสิ่งที่ผมอยากเห็นในบ้านเมืองเรา คือ การลุกขึ้นมาเปลี่ยนโลกความเป็นจริง แค่ในขอบเขตที่เราเปลี่ยนมันได้ และไม่ต้องไปป่วนสิ่งที่คนอื่นทำ “ถ้าเราไม่ชอบมัน ก็เข้ามาทำเอง ไม่ใช่ด่าและหวังว่าคนอื่นจะทำอย่างใจเรา”
  • (นอกเรื่อง) อีกอย่าง หนังเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงสมัยทำวิจัยเรื่อง Artificilal Life (Cellular Automata, Artificial Evolution, AVIDA ฯลฯ) สมัยเรียนที่ญี่ปุ่นมากๆ …..

ผมดูเรื่องนี้จบ แล้วรู้สึกอยากจะเลิกเล่น Social Network ทุกอย่างที่เล่นอยู่ตอนนี้ไปเลยทีเดียว หรืออย่างน้อยๆ ก็ต้องไม่อยู่ในอิทธิพลของมันขนาดนี้ จากที่เราคิดตอนแรกๆ แค่ “เอาไว้เป็นช่องทางในการติดต่อ” แต่ว่าไปๆ มาๆ มันกลับกลายเป็นตัวตนของเรามากขึ้นๆ เรื่อยๆ

มองรอบๆ ตัว เวลาไปไหนมาไหน ผมเห็นแต่คนหยิบมือถือขึ้นมาแชท ขึ้นมาทวีต ขึ้นมาเฟสบุ๊ค … ราวกับถูกโหลดเข้าไปอยู่ในโลก Digital แล้ว ไม่สนใจคนรอบๆ ตัว ในโลก Physical เท่าไหร่ (นึกถึงโฆษณาของ Dtac ขึ้นมาตะหงิดๆ) …….

ผมคงต้อง “ถอยจากตรงนี้สักก้าวหนึ่ง” เสียที

โดยรวมแล้ว ถ้าดูเป็นหนังก็คงไม่มีอะไรมาก เดาเรื่องทั้งหมดได้ตั้งแต่ต้นจนจบ การแสดงงั้นๆ กราฟิกส์ก็ไม่ได้อลังการขนาดจะ Revolution อะไร ที่ดีหน่อยคงจะเป็น OST (กดซื้อจาก iTunes Store ไปเรียบร้อย) ที่ชอบอยู่บ้างก็ไอ้พวก Visual ที่มัน Nostalgia ทั้งหลาย เช่นเพลง 8-bit ภาพโบราณๆ ฯลฯ แต่ว่าถ้าเอาสิ่งที่คิดได้จากการได้ดูเข้ามาประกอบด้วย ผมต้องบอกว่า

“ผมชอบเรื่องนี้ว่ะ”

หมายเหตุ ระหว่างเขียนเหมือนๆ จะมีอะไรอีกสักอย่างในหัว … แต่ว่านึกไม่ออกแล้ว ถ้านึกออกจะอัพเดทมันอีกที

อัพเดท #1: นึกออกล่ะ …ฉากที่ Sam พยายามอธิบายเรื่องพระอาทิตย์ขึ้น….

มันมีหลายเรื่องแค่ไหนนะ ที่เรา take for a grant มากๆ จากความเคยชินทั้งหลายที่เรามีอยู่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องสุดวิเศษและน่ามหัศจรรย์ กะอีแค่สิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน จนเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ เช่น พระอาทิตย์ขึ้น แสงตอนพลบค่ำ ดาวตก ทะเลหมอก ฯลฯ …. เราจะอธิบายพวกนี้ให้ “คอมพิวเตอร์โปรแกรม” ที่ต้องการเหตุต้องการผล ทำอะไรตามกฏตามเกณฑ์ เถรตรง รู้เรื่องได้อย่างไร

ถอยออกมาสักนิด อย่าพยายาม “สร้าง” อะไรมากมายจนเกินไป จนลืมที่จะเรียนรู้ที่จะเห็น ที่จะยินดี ชื่นชม และมีความสุขกับสิ่งต่างๆ ที่เป็นอยู่รอบๆ ตัวเรา

ผมเชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้ว จักรวาลและธรรมชาติมันเป็นคอมพิวเตอร์นะ (ลองศึกษาพวก quantum computation ก็ได้นะ) ดังนั้นโลก Digital ก็เหมือนกับเรากำลังทำตัวเป็นพระเจ้า สร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเองอีกที (computation theory อนุญาตให้มี universal turing machine (UTM) ใน UTM ได้) …. อย่าหมกมุ่น หลงไหลกับสิ่งเหล่านี้มากไป จนลืมดูสิ่งที่พระเจ้าได้ให้กับเราไว้แล้วซะล่ะ

Nikon P7000 Review

และแล้ว ก็ถึงเวลาซื้อกล้องคอมแพคใหม่ หลังจากที่ใช้ Panasonic LX3 มา 2 ปี ซึ่งถึงจะเป็นกล้องที่รักมาก และคิดว่าภาพที่ได้ถือว่าสุดยอดจากคอมแพคยุคเดียวกันก็เถอะ ตัว LX3 เองก็มีข้อเสียหลายอย่างพอควร ที่ทำให้ไม่เหมาะกับการถือเดินเที่ยว เช่น ฝาครอบเลนส์ (แก้ได้ไม่ยาก) ระยะซูมที่จำกัด (เทียบเท่า 24-60mm เอง ซึ่งอันนี้แก้ไม่ได้) และภาพ JPEG ที่ “ไม่สวย” กับความชอบของผม

สำหรับการซื้อในครั้งนี้ ตัวเลือกก็ยังคงเดิมๆ คือ Panasonic LX5, Canon G12, Nikon P7000 ซึ่งแต่ละตัวก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไปทั้งนั้น แต่ว่าสุดท้ายหวยก็ไปออกที่ Nikon P7000 ด้วยเหตุผลดังนี้

  • ช่วงซูม 28-200mm ซึ่งมากที่สุดใน 3 ตัว (แต่ว่ามาเสียตรง Wide ที่แคบกว่า 24mm ของ LX5)
  • ผมคุ้นเคยกับ “สี” ของ JPEG จากกล้อง Nikon (และยังทำใจให้ชอบสี JPEG ของ Panasonic ไม่ได้)
  • ผมคุ้นเคยกับ UI ของ Nikon ถึงว่าเจ้า P7000 มันจะทำออกมาโคตรจะ Canon ก็เถอะ (อีปุ่ม Av/Tv นี่ … เอ่อ…)
  • ชอบรูปทรงมันอ่ะ เหมือนกับ Epson R-D1 ดี
  • พอจะ “ทำใจ” กับความอืด หนืด ของมันได้ (Nikon นี่ Performance ด้านนี้ห่วยที่สุดแล้วในบรรดา 3 ตัวนี้)
  • ไปลองเล่นที่ร้านแล้วค่อนข้าง OK กับมัน อันนี้สำคัญกว่าที่หลายคนคิดนะ เลือกบนกระดาษ อ่านบนเน็ต สู้ไปลองเล่นเองที่ร้านไม่ได้หรอก

เป็นธรรมเนียม ก็ขอรีวิวสั้นๆ พร้อมด้วยรูปไม่กี่รูปก็แล้วกันนะครับ เอาแบบว่า ถ่ายทั่วๆ ไปกับชีวิตประจำวันนี่แหละ ก่อนที่จะไป “รีวิวออนทริป” ว่าเป็นไงมั่ง :-)

เทียบกับ Nikon P6000 รุ่นก่อนหน้ามันแล้ว ต้องบอกว่าทุกอย่างทำได้ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพ ความเร็วในการตอบสนอง และเรื่องเทคนิคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงซูม รูรับแสงที่กว้างขึ้น (นิดหน่อย)


DSCN0235.jpg

บันไดเลื่อน Central World

เรื่อง Handling ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากอีกเรื่องหนึ่ง ถือว่าทำได้ดีขึ้นจาก P6000 และดีกว่า LX3 อย่างเห็นได้ชัด แต่ว่าทั้งนี้ผมยังไม่ได้ลองจับ LX5 นะ ว่าเป็นไง Grip ของ P7000 จับถนัดมือมาก ทั้งวัสดุและขนาด เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจได้อย่างหนึ่งเลย ไม่เอาสายคล้องคอก็ไม่เป็นไร คิดว่าถือเดินไปเดินมาได้ค่อนข้างสะดวก


DSCN0275.jpg

ไฟท้ายรถ

พูดถึงสายคล้องคอ P7000 ให้สายคล้องคอที่ “ใหญ่” เอาเรื่องสำหรับกล้องคอมแพค น่าจะเอาไปคล้องพวก m4/3 แบบ GF1, EP1 มากกว่า แต่ว่าคิดไปคิดมา เออ ขนาดของ P7000 ก็ใหญ่อยู่นี่หว่า ไม่ได้เล็กกว่าพวกนั้นเท่าไหร่ แต่ว่ามันก็ทำให้ยัดกระเป๋าลำบากขึ้น และการออกแบบตำแหน่งคล้องสาย จะไปกวนการเข้าถึงช่องโน่นช่องนี่นิดหน่อย ทำให้จับลำบากขึ้นนิดๆ ยังคิดอยู่ว่า มันจะมีใครทำสายคล้องกับที่คล้องสายได้เจ๋งแบบ Leica มั้ย ชอบสายคล้องและที่คล้องสายของ Leica M8 มาก เจ๋ง มั่นคง ใส่ง่าย และเหมาะสม


DSCN0347.jpg

เคยเป็นดังดวงตา ที่หมดค่าเมื่อเวลาผ่านไป

เรื่องคุณภาพของภาพ เป็นจุดสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือก P7000 มากกว่า LX5 และ G12 ครับ ไม่ใช่ว่าเพราะมัน “ดีกว่า” นะครับ แต่เพราะว่ามัน “ไม่แพ้กัน” ครับ ในขณะที่รุ่นก่อนหน้ามัน P6000, G11, LX3 นี่ ถือว่า P6000 แย่กว่าตัวอื่นๆ แบบเห็นได้ สัมผัสได้ พอมารุ่นนี้ คุณภาพเชิงเทคนิคมันไม่แพ้กว่า (คือ ไม่มี Noise แบบเห็นได้ชัดตั้งแต่ base ISO และความคม ชัด ของภาพ อะไรทำนองนั้น) ก็เลยตัดสินใจได้แบบไม่คิดมาก


DSCN0436.jpg

พลบค่ำ ริมทะเลบางแสน

เพราะว่าผมชอบ “Nikon Color” (ถ้ามันมีคำนี้นะ … แต่ว่าเห็นคนพูดกันเรื่อง Olympus Color, Panasonic Color, Leica Color คือ แต่ละยี่ห้อมันจะมี character เฉพาะของมันน่ะ เหมือนกับฟิล์มเมื่อก่อน ว่า Velvia เป็นไง อะไรทำนองนี้) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ส่วนจะชอบเพราะว่าความเคยชิน หรืออะไรก็แล้วแต่ผมเถอะ


DSCN0560.jpg

พลุวันพ่อ

ทำไมชอบน่ะเหรอ อาจจะเพราะความเคยชินมาจากกล้องใหญ่ครับ ที่ตัวเองใช้ Nikon DSLR มาตลอด เลยชินกับ Hue, Contrast, Saturation อะไรพวกนี้ของ Nikon มันอยู่แล้ว และผมเป็นพวกขี้เกียจนั่งทำรูปหรือ Post Processing พอสมควร … คือ ทำนะ ไม่ใช่ไม่ทำ ไอ้ที่โพสท์ๆ ใน Blog นี้ก็ทำทุกรูปน่ะแหละ แต่ว่าผมปรับแค่พื้นๆ ฐานๆ อ่ะ คือ Crop, Contrast, Vibrancy, Saturation, Exposure อะไรทำนองนี้ จะให้ถ่าย RAW แล้วมาปรับ Hue, White Balance, Temperature, Tint หรือว่าปรับ Saturation, Luminance ไล่ทีละสีเลยนี่ผมไม่ทำอ่ะ ซึ่งไอ้พวกนี้ ถ้า Hue มัน shift ไปในทางที่เราไม่ชอบตั้งแต่แรกแล้วมันปรับคืนยากพอควร ยิ่งไม่ได้ถ่าย RAW ด้วย


DSCN0462.jpg

Paint ตา

ดังนั้น ไอ้ที่เค้าบอกว่า P7000 ถ่าย RAW แล้วต้อง “รอ” จริงๆ ก็เลยไม่เข้าประเด็นกับผมโดยปริยายมากๆ ก็ผมไม่ถ่าย RAW อ่ะ ซื้อมาถ่าย JPEG เท่านั้น ใครจะบอกว่าผมใช้กล้องไม่คุ้ม ไม่โปร ถ้าให้คุ้มให้โปร ต้องถ่าย RAW ก็เรื่องของเขา ผมไม่ก่อดราม่าด้วย .. ผมจะถ่าย RAW เฉพาะที่แสงยากๆ หรือไม่มั่นใจว่า processing engine ในกล้องมันจะจัดการได้ หรือเห็นว่ามี detail ที่จะซ่อนในเงาในแสงเกินไป แล้วต้องการดึงคืนเท่านั้น … นอกนั้น ผมมั่นใจว่า JPEG engine เดี๋ยวนี้เอาอยู่ (กล้องหลายตัว เช่น Leica M8 ผมต้อง “จำใจถ่าย RAW” เพราะว่ารับ JPEG engine มันไม่ได้)

หมายเหตุ: ผมเคยเขียนเรื่อง RAW vs JPEG ไว้ใน blog นี้เมื่อนานมาแล้ว


DSCN0162.jpg

ขวดไวน์

แต่ว่า P7000 มันก็มีข้อเสียใหญ่ๆ อยู่ 2 ข้อนะ เท่าที่ใช้มา ก็คือ Exposure metering (การวัดแสง) และ “Focusing Error” ซึ่งเค้าพูดถึงกันเกลื่อนเน็ต


DSCN0364.jpg

โบกรถ

เอาเรื่อง Exposure metering ก่อนละกัน ปกติผมจะใช้ Evalutive Matrix metering อยู่แล้ว นอกจากจะจำเป็นต้องวัดเฉพาะจุดจริงๆ เพราะว่าเดี๋ยวนี้ Matrix มันฉลาดมาก เรียกว่า 90% ของสถานการณ์ มันไม่พลาดหรอก แต่ผมพบว่าภาพจาก P7000 มันติด overexpose นิดๆ จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ (อาจจะเป็นเรื่องเดียวกับ D7000 ที่ตั้ง Gamma ไว้สว่างมาก และ Contrast ที่จัด และ metering ไม่ตบ highlight หรือแสงจ้า ลงเท่าไหร่ เลยทำให้รู้สึกว่าภาพมัน over-expose)


DSCN0105.jpg

ควันรถ

ก็เลยเป็นปัญหา เพราะจากประสบการณ์แล้ว ภาพ underexpose แก้ง่ายกว่า overexpose … รายละเอียดที่ถูกซ่อนในเงาดึงขึ้นง่ายกว่า รายละเอียดที่หายไปในแสงจ้า แต่ว่ากับ P7000 นี่ค่อนข้างสบายครับ เพราะว่ามี dial สำหรับปรับ Exposure compensation หรือว่าการชดเชยแสง ในที่ๆ เข้าถึงง่ายที่สุด … (คือ ปกติแล้วนิ้วผมจะคาดหวังว่ามันจะเจอ command dial แถวๆ นั้นอ่ะ ดันเป็น dial นี้แทน) ก็แล้วแต่สถานการณ์นะ ปกติผมต้องตั้ง -1/3 stop ถึง -2/3 stop ไว้


DSCN0706.jpg

กระเป๋าชาวเขา

ส่วนเรื่อง Focusing Error นี่จะเจอเวลาที่ซูมช่วงยาวๆ (เกือบสุด เช่น 200mm) และโฟกัสใกล้ๆ คือ ต้องการเน้น Subject จะเจอเลนส์โฟกัสไม่ได้ และจะต้อง Initialize เลนส์ใหม่ ซึ่งตอนแรกๆ ยอมรับว่าค่อนข้างจะหงุดหงิดกับเรื่องนี้พอสมควร แต่ว่าหลังจากเรียนรู้พฤติกรรมของมันแล้ว ว่ามันจะเกิดขึ้นในเวลาไหน ก็ไม่เจอมันอีกเท่าไหร่ ก็ได้แต่หวังว่าวันหนึ่ง Firmware จะออกมาแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ


DSCN1034.jpg

เขียว….

ขอจบ Review สั้นๆ (จริงๆ ก็ไม่สั้นเท่าไหร่นี่หว่า) นี้ไว้เท่านี้ … บอกได้สั้นๆ ว่า Happy มากพอควรเลยกับ Nikon P7000 เทียบกับความรู้สึกตอนที่ใช้ LX3 แล้วรู้สึกดีกว่า ถึงหลายๆ ครั้งจะคิดถึง f/2 และ 24mm ก็เถอะ แต่ว่า High ISO ของ P7000 มันก็ดีขึ้นเยอะพอควร ก็เลยคิดว่า เออ ช่างมันเถอะ ไม่ได้คิดอะไรมากอยู่แล้ว คิดเรื่องความสะดวกโดยรวม เรื่องสีที่ชอบ และไม่ต้องปรับมากดีกว่า

สุดท้ายจริงๆ ขอหน่อยเถอะ อดไม่ได้ (นอกเรื่องด้วย) … ชอบคำนี้นะ “เมืองไทยใครๆ ก็รัก” แต่ว่าทำไมต้องมีรูปรัฐมนตรีแบบนี้ด้วยฟะ เฮ้อ เด่นที่สุดในป้ายเลยนะนั่น


DSCN0023.jpg

เมืองไทย ใครๆ ก็รัก … แต่ทำไมต้องทำป้ายแบบนี้ฟะ

และขอปิดท้าย (จริงๆ) ด้วยรูปจากที่ไปเที่ยวเหนือ (สำหรับ Blog ถัดไป “P7000: Review on the Trip”) สักรูปนะ


DSCN0678.jpg

ดอกบัวบานริมนา … บัวเหล่าที่หนึ่งมีอยู่ได้ในทุกที่