เรื่องเล่า ของ “เสาสองต้น”

คุณแม่ผมเคยเล่าให้ฟังเมื่อนานมาแล้ว กับเรื่องของ “เสาสอนต้น ที่คำวิหาร”

ถ้าเสาสองต้นนี้อยู่ใกล้กันเกินไปไม่มีช่องว่าง วิหารก็พังจากข้างๆ เวลามีอะไรมากระทบจากภายนอก แม้จะเพียงสายลมที่อาจจะแรงหน่อยพัดผ่าน หรือนกตัวเล็กๆ บินมาเกาะชายคา จนมันเสียความสมดุล และเสาทั้งสองก็จะต้องเหนือยกับการรักษาสมดุลกับหลังคาวิหารที่อาจจะเอียงไปเอียงมา จากอะไรก็ตามที่มากระทบ

ตรงกันข้าม ถ้ามันอยู่ห่างกันเกินไป วิหารก็พังลงมาจากตรงกลาง น้ำหนักของหลังคาที่รองรับไว้ จะมากเกินไป เกินกว่าช่องว่างตรงกลางที่เกิดจากเสาสองเสาที่ห่างกันนั้นจะรองรับไว้ได้

วิหารจะตั้งตระหง่าน ท้าทายการเปลี่ยนแปลงของการเวลาได้ ก็ต่อเมื่อเสาสองต้นที่ค้ำวิหาร ไม่อยู่ใกล้กันเกินไป จนพิงกันให้เป็นเหตุให้วิหารไม่มีความสมดุลและเสถียร ไม่ห่างกันเกินไปจนเกิดช่องว่างมหาศาลตรงกลางจนแบกรับน้ำหนักที่กดลงมาในใจกลางไม่ได้

….. ชีวิตของคนสองคน ก็เหมือนกับเสาสองต้นที่ค้ำวิหาร ….

กระจกหน้าต่างแค่บานเดียว … ที่ไร้การเหลียวแล

เรื่อง “เล็กๆ น้อยๆ” ที่ส่งผลใหญ่โตระยะยาว หรือที่เรียกว่า Butterfly Effect อันโด่งดังจาก Chaos Theory นั้น มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะมากมาย และหนึ่งตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงกว้างก็คือ “ทฤษฎีกระจกหน้าต่างแตก”

เรื่องมันมีอยู่ว่า ย่านที่อยู่อาศัย อาคารต่างๆ จากที่สวยงามเป็นระเบียบเรียบร้อย กลายเป็นที่รกร้างไร้การเหลียวแลได้อย่างไร .. คำตอบง่ายๆ มันมีอยู่แค่ว่า “กระจกหน้าต่างแตกหนึ่งบาน ที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมซ่อม”

คำอธิบายก็ไม่ยาก ไม่มีอะไรซับซ้อน ก็แค่กระจกหน้าที่แตก แต่ไม่ได้รับการเหลียวแลนั้น เป็นการส่งสัญญาณ และทำให้เกิดความรู้สึก “ไม่มีคนสนใจ ไม่มีคนเหลียวแล” ให้กับคนที่ผ่านไปผ่านมา และคนที่อยู่อาศัย และก็อาจจะมีบางคนที่ผ่านไปผ่านมา ปาหินให้มันแตกมากขึ้น ทำให้สัญญาณนั้นชัดเจนรุนแรงมากขึ้นทุกที

จากกระจกบานหนึ่งไปอีกบานหนึ่ง จากบ้านหนึ่งก็จะลามไปอีกบ้านหนึ่ง จนมากขึ้นๆ เหมือนกับมะเร็งที่ลุกลามในอวัยวะ ที่หากปล่อยไว้จนลุกลาม ก็ยากจะรักษาเยียวยาได้

เรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือ little bits ที่ส่งผลใหญ่โตในระยะยาว เพราะผลของมันจะลามจากเรื่องหนึ่งไปยังอีกเรื่องหนึ่ง มากขึ้นๆ ทุกที

เรื่องนี้สอนอะไรเราบ้าง?

เยอะแยะครับ ที่ผมเคยเห็นมาในชีวิตผม ที่เป็น “กระจกบานนั้น” ที่แตกเล็กน้อย แต่เราเลือกที่จะไม่ดูแลมันแต่เนิ่นๆ หรือดูแลมันให้ดีพอ จนสุดท้ายกลายเป็นเซลล์มะร็งที่กัดกินทำลายสิ่งที่มันอยู่

  • พฤติกรรมที่ไม่ดีเล็กน้อยในที่ทำงาน เช่น มีพนักงานบางคนเล่น chat ทั้งวัน (ไม่ใช่แค่เท่าที่เหมาะสม) ก็เป็นกระจกบานหนึ่ง ที่สุดท้ายจะมีคนทำตาม และคนที่อยากทำงานก็จะรู้สึก irritated และอาจจะรำคาญจนเลิกทำงานไป
  • คนไม่สนใจเรียนคนหนึ่งในห้อง อาจจะนั่งหลับ (แบบตั้งใจหลับ ไม่ใช่นั่งเฉยๆ ฟังเพลินๆ แล้วเคลิ้ม) หรือตั้งใจป่วนห้องเรียน ที่ไม่ได้รับการดูแลให้เหมาะสม (เช่น ให้ออกไปข้างนอก) ก็เป็นกระจกบานหนึ่ง เช่นเดียวกัน
  • โค้ดห่วยๆ ในไฟล์แค่ไฟล์เดียว ในโปรเจคแอพ ที่ไม่ได้รับการดูแล ไม่รีบ refactor ไม่รีบจัดการ ก็จะทำให้ความห่วยมันกระจายไป ปะผุไป และดึงดูดโค้ดห่วยๆ มามากขึ้น กระจายไปหลายไฟล์มากขึ้น จนมันไม่สามารถดูแลได้
  • เรื่องระหว่างคน ที่ไม่ปรับเข้าหากันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่คุยกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แล้วปล่อยให้มันลุกลามใหญ่โต จนคุยกันยากขึ้นเรื่อยๆ มองหน้ากันยากขึ้นเรื่อยๆ จาก ego เรื่องเล็กๆ แค่เรื่องเดียว
  • ยังคงเป็นเรื่องระหว่างคน ที่การไม่คุยกันในเรื่องเล็กน้อยบางเรื่อง ส่งผลไปยังการไม่คุยกันในเรื่องอื่นๆ .. และกลายเป็นความห่างเหิน จนไม่อาจเยียวยาได้ ในที่สุด
  • ปัญหาสังคมต่างๆ นานา มากมายที่เข้าประเด็นนี้แบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการโบกรถเมล์นอกป้าย ขึ้นลงรถเมล์ตรงไหนก็ได้ การแซงคิวเข้าห้องน้ำ การแย่งกันซื้อของ มักจะเกิดจากพฤติกรรมเล็กน้อย ที่ไม่ได้รับการดูแลและปล่อยให้มันฝังรากลงไป ฯลฯ

ก็ใช่สิ … มันก็แค่กระจกบานเดียว จะไปมีผลอะไรมากมาย

แต่เชื่อผมสิ ว่า a little bit goes a long way … ผีเสื้อกระพือปีกในอเมริกา อาจส่งผลให้เกิดพายุถล่มญี่ปุ่นก็ได้ … ถ้าผลของมันมีโอกาสกระทบต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ