ลูกค้าคือพระเจ้า (จากมุมมองของ​ “การศึกษา”)

ได้ยินกันมานาน ได้ยินกันมากมาย ใครๆ ก็พูดกันว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” (ถึงบางคนจะพูดเพี้ยนนิดๆ ว่าลูกข้าคือพระเจ้าก็เถอะนะ) หลายต่อหลายคนชอบนำคำนี้มาอ้างและใช้เป็นประกาศิตเวลาต้องการอะไร ว่าลูกค้าถูกเสมอ ต้องการอะไรต้องทำให้เสมอ ยิ่งในยุคของอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่นปัจจุบัน

เรื่องนี้รู้กันดีอยู่แล้ว แล้วผมจะเขียนทำไม?

ผมอยากจะมองเรื่องนี้ในด้าน “การศึกษา” เท่านั้นครับ ด้านอื่น เรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องที่ตัวเองมี authority อะไรด้วยเลย ผมขอไม่มองก็แล้วกัน

ผมถามคำถามนี้มานาน ว่า “ถ้า” ข้อความว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ไม่ผิด และใช้ได้กับวงการศึกษา “แล้ว” ลูกค้าของสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย “คือใคร”?

คำตอบที่ต่างกันในจุดนี้ จะทำให้ทุกอย่างต่างกันราวฟ้ากับเหวแน่นอน และผมมีคำตอบให้เลือก 2 คำตอบ คือ

  1. ผู้เข้ามาเรียน หรือผู้ที่กำลังจะเข้ามาเรียน
  2. สังคมที่อยู่รอบตัวสถาบันการศึกษา หรือสังคมที่ใหญ่กว่านั้น เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่ประเทศชาติ

แน่นอนว่า ในความเป็นจริง เราต้องคำนึงถึงตัวเลือก 2 ตัวนี้ควบคู่กัน แต่ว่าอะไรล่ะ ที่เป็น “ตัวเลือกหลัก” ที่สำคัญกว่าอีกตัวหนึ่ง?

ถ้าเราเลือกข้อ 1. ซึ่งเป็นมุมมองที่เรียกได้ว่า “มุมมองสาธารณะ” ที่มาจากแนวคิดง่ายๆ ที่เป็นปลายเหตุว่า “ใครจ่ายเงิน คนนั้นคือลูกค้า” แล้วล่ะก็ เราจะมองเห็น “หลักสูตร” (รวมถึงโครงการอบรม หลักสูตรระยะสั้นต่างๆ) เป็นโปรดักท์ และบรรดาผู้เข้าเรียนก็จะจ่ายเงินมาเพื่อซื้อโปรดักท์นั้นๆ และทางผู้สร้างโปรดักท์ (สถาบันการศึกษา) ก็จะ PR โปรดักท์ตัวนี้แบบขายฝันกันไป มีวิชาเป็นสิบเป็นร้อย ที่ใส่ในหลักสูตรเพื่อให้ดูน่าเรียน แต่ไม่มีการเรียนการสอน รวมถึงการสร้างภาพขายฝันว่าเมื่อเข้ามาเรียนแล้ว ผ่านหลักสูตรไปแล้ว จะทำงานอะไรได้บ้าง ฯลฯ

ถ้าเราเลือกข้อ 2. จากมุมมองที่ว่า “ใครได้รับประโยชน์/บริการ คนนั้นคือลูกค้า” จะต่างกันมาก เพราะถ้าลูกค้าของสถาบันการศึกษาคือ “สังคม” โดยที่สังคมเป็นผู้จ่ายสิ่งที่แพงกว่าเงิน นั่นคือ ศักยภาพในการพัฒนาโดยรวมของสังคมและสังคมที่ใหญ่ขึ้นไปอีก แล้วล่ะก็โปรดักท์ของสถาบันการศึกษาก็คือ คนที่สร้างขึ้นมา งานวิชาการ งานต้นแบบ งานวิจัย งานให้คำปรึกษา ต่างๆ ที่สร้างขึ้นมา และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในสังคม (ไม่ใช่แค่ทำเอาผลงานตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ ที่ชอบมีการวัดผล) ซึ่งในปัจจุบันแม้ว่าจะการพูดถึงแนวคิดลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถูกสื่อสารอย่างชัดเจน และไม่ใช่มุมมองที่แชร์ร่วมกันในหลายสถาบันการศึกษา และผู้เข้ารับการศึกษาแน่นอน

แต่ถ้าเราเลือกข้อ 2. แล้ว “ผู้ที่จ่ายเงินเข้ามาเรียน” ล่ะ? ไม่ใช่ลูกค้ากระนั้นหรือ?

อันที่จริงแล้ว มันมีคนอีกจำพวกหนึ่งครับ ที่ต้องจ่ายเงินเหมือนกัน นั่นคือ “ผู้สร้าง” หรือ “ผู้ประกอบการ” ที่ต้องจ่ายเงินให้กับต้นทุนในการสร้างโปรดักท์ เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากลงทุนแล้ว ยังต้องลงแรง ทางแรงกายแรงใจแรงสมอง ในการสร้างโปรดักท์จริงๆ อีกด้วย (ลงทุนอย่างเดียว สร้างไม่ได้) แล้วในกรณีนี้ ผมอยากมองว่า ผู้เข้ารับการศึกษานั้น “จ่ายเงิน” เพื่อ “ลงทุน” และต้องลงแรงทั้งหลายทั้งปวง อัดหลับอดนอนศึกษา ทดลองทำงานทดลองสร้างสารพัด ในการ “สร้างตัวเอง ให้เป็นโปรดักท์” ครับ เป็นโปรดักท์เพื่ออะไร เพื่อช่วยกันตอบโจทย์ข้อ 2. น่ะแหละ เพื่อสังคมรอบตัว เพื่ออุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อที่จะให้สังคมเล็กๆ รอบตัวนั้นๆ หรืออุตสาหกรรมนั้นๆ ช่วยกันสร้างประเทศชาติต่อไป

ทุกวันนี้ ในวันที่การศึกษากลายเป็นธุรกิจอย่างเต็มตัว ผู้เข้ามาเรียน (สังเกตว่าตั้งแต่ต้น ผมใช้คำนี้ แทนคำว่า “นักเรียน” หรือ “นักศึกษา”) มีทัศนคติว่าตัวเองเป็น “ลูกค้า” มากขึ้นทุกวัน เพราะว่าพวกเขาคือผู้จ่ายเงิน จ่ายแล้วต้องได้อย่างที่ตัวเองอยากจะได้ จ่ายแล้วจะเรียกร้องเอาอะไรก็ได้ ด้วยความที่ว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”

แต่น้อยคนนักที่จะมองว่าตัวเองเป็นผู้สร้าง เป็นนักลงทุน เป็นผู้ประกอบการ และต้องลงแรงอีกมากมาย สร้างตัวเองให้เป็นโปรดักท์ เพื่อให้ผู้รับประโยชน์ หรือ “ลูกค้า” ของตัวเอง ซึ่งก็คือ “สังคม” ได้อะไรบ้าง ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ….. ครับ “ลูกค้าคือพระเจ้า” เช่นเดียวกัน แต่สำหรับผม อะไรก็ตามที่เป็น “การศึกษา” ลูกค้า ไม่ใช่ผู้เข้าเรียน ผู้เข้ารับการอบรม คนซื้อหนังสือ ฯลฯ ที่จ่ายเงินผมครับ

ไม่ผิดครับ “ลูกค้าคือพระเจ้า”

ป.ล. คงได้มีโอกาสเขียนเรื่อง Consumer & Creator หรือ “ผู้เสพ & ผู้สร้าง” ที่ผมพูดถึงบ่อยๆ ในทุกการบรรยาย ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือบรรยายสาธารณะ และเขียนถึงในบางส่วนใน Facebook ในโอกาสถัดไป

ชี้แจง: “คู่มือเขียน iPhone App”

หนังสือเล่มแรกของผม “คู่มือเขียน iPhone App” ก็ได้ออกวางตลาดเรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่าจะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ สำหรับหลายๆ คนที่อยากจะหัดเขียนโปรแกรม หรือแอพ เพื่อใช้งาน iPhone, iPad, iPod touch กันได้บ้าง


iphoneapps.gif

หลังจากหนังสือเล่มนี้วางตลาดไปได้ไม่นาน ก็มี e-mail เข้ามาหาผม เพื่อขอ Code จากหนังสือเล่มนี้พอสมควร ซึ่งสิ่งที่ผมทำก็คือ ไม่ให้ Code ทันที แต่จะพยายามจะถามว่าติดปัญหาตรงไหน เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ เพราะว่าแต่ละคนอาจต้องการคำอธิบายที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผมได้รู้ถึงปัญหาของแต่ละคน ว่าติดตรงไหน หรือว่าอ่านหนังสือตรงไหนไม่ละเอียด ก็จะช่วยอธิบายให้ตรงจุดได้

บางครั้งที่ผู้อ่านหลายท่าน พิมพ์โค้ดตามหนังสือ และเกิด Error หรือ Warning ขึ้นมา ทั้งๆ ที่พิมพ์ตามตรงเป๊ะทุกตัวอักษรแล้ว และเมื่อเกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น บางครั้งผู้อ่านบางท่าน อาจจะเริ่มทึกทักว่าหนังสือผมผิด หรือหนังสือผมลืมโน่นลืมนี่ ฯลฯ

ผมขอชี้แจงอะไรบางอย่างตรงนี้ครับ โดยอ้างอิงตัวอย่างจาก e-mail ที่ผมตอบผู้อ่านผมบางท่าน (ขอสงวนชื่อผู้อ่านนะครับ ว่าผมตอบใคร)

กรณีแรก ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 157

การวางตำแหน่งต่างๆ ต้องประมวลความรู้เองจากหน้า 121 ครับ ผมเขียนว่า

“ก่อนจะใช้งานสิ่งใดๆ ต้องประกาศสิ่งนั้นก่อน” ดังนั้น …. (พร้อมกับบอกวิธี)

เป็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่ต้องการให้ผู้อ่านประมวลความรู้เอง จากสิ่งที่ทำไปแล้วในบทก่อนๆ

ลำดับ Code ที่ปรากฏในหนังสือ สะท้อนลำดับความคิดของผมครับ ไม่ได้สะท้อนลำดับของโค้ดในไฟล์
การที่ผมเขียน Code หนึ่งๆ ทีหลัง ไม่ได้แปลว่าจะต้องปรากฏภายหลังในไฟล์ครับ เราอาจต้อง
ใส่ Interface ของมันไปก่อนใน .h หรือว่าอาจจะต้องเขียน private interface เสียก่อน หรือว่าอาจจะใช้
วิธีการประกาศไว้ก่อน ก็ได้

กรณีที่สอง ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 78

Code ที่คุณเขียน และบอกว่ามีปัญหา อยู่ในหนังสือหน้า 78 นะครับ

ลองย้อนไปอ่านดูในหน้า 64 ครับ ตั้งแต่บรรทัดแรกเลย ว่าผมเขียนว่าอะไร และผมมีตัวอย่างให้ดูแล้วด้วย (เรื่อง @synthesize)
ซึ่งจะว่าไป ก็สืบมาตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนที่บอกไว้ตั้งแต่หน้า 59 :-)

เป็นความตั้งใจของผมครับ ที่ผู้อ่านจะต้อง “นำความรู้ที่อ่านผ่านไปแล้ว และเห็นตัวอย่างไปแล้ว มาประมวลใช้เอง”

ทีนี้คงจะไม่มีทางลืม @synthesize สิ่งที่กำหนด @property เลยสินะครับ ดีกว่าให้พิมพ์ตามๆ ไปอย่างไม่รู้เรื่องอะไร
เพราะว่ามีหลายคนที่เคยเจอมา อ่านหนังสือไม่ละเอียด ไม่คิด จะดูแต่ code อย่างเดียว และพิมพ์ตามอย่างเดียว
ถ้า code ทำงานได้หมด ไม่เจอปัญหาจากการอ่านไม่ละเอียดและไม่คิดเลย ก็จะ take everything for a grant
(ขออภัย นึกภาษาไทยไม่ออก … ประมาณว่า มองข้ามโน่นนี่ นึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ) ทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ในที่สุด

สิ่งที่คุณเจอ และการแก้ปัญหาของคุณ เป็นเจตนาของผมทีี่อยากให้เกิดขึ้นครับ

มาถูกทางแล้วครับ ยินดีด้วย

ดังนั้น เพื่อ Make Statement ให้ชัดเจนตรงนี้ ผมขอบอกอีกครั้งนะครับ (ซึ่งเป็นการเขียนซ้ำข้อความที่ผมเขียนไว้ในหน้า 14 ของหนังสือ ซึ่งหลายท่านอาจจะอ่านข้ามไปแบบไม่สนใจเท่าไหร่)

หนังสือเล่มนี้จะไม่มี “การรวมโค้ด” ของโปรแกรมเอาไว้ที่หน้าใดหน้าหนึ่ง ให้พิมพ์ตามหรือลอกเฉพาะส่วนของโค้ดได้ โดยไม่อ่านเนื้อหาและความคิดอันเป็นที่มาของโค้ด

นอกจากนี้ โค้ดหลายส่วนที่ซ้ำหรือคล้ายกับที่เคยผ่านมือกันมาแล้ว บางส่วนผู้อ่านจะต้องเขียนเพิ่มเติมเอง

ผมไม่ปฏิเสธครับ ว่าลักษณะการเขียนหนังสือของผมนั้น ได้รับอิทธิพลจากหนังสือต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก

ผมเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ผมไม่ต้องการให้คนเขียนโปรแกรม หัดเขียนโปรแกรมอย่างฉาบฉวยและมักง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และที่สำคัญที่สุดคือ หัดเขียนโปรแกรมบนถนนที่ราบเรียบเกินไป ไม่พบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องประมวลความรู้พื้นฐานมาแก้เลย

หลายต่อหลายคน หัดเขียนโปรแกรมตามตัวอย่าง คอมไพล์ผ่าน ทำงานได้ ตามตัวอย่างเป๊ะๆ ก็หลงระเริง คิดว่าเข้าใจแล้ว ทำได้แล้ว พอเขียนจริง ต่อให้เป็นโปรแกรมง่ายๆ ไม่ต้องยาก (แค่เปิดไฟล์ นับคำในไฟล์ว่ามีกี่คำ ที่ผมชอบใช้เวลาสอนหนังสือที่ ม.ศิลปากร) ก็เริ่มต้นไม่ถูก พอเขียนแล้วเจอปัญหาเล็กน้อย ก็ไปต่อไม่เป็น เจอข้อความจาก Compiler ก็กลัว ฯลฯ

ขอให้ค่อยๆ พยายามๆ ครับ อ่านหนังสือให้ละเอียด ใช้เวลากับมันให้มากสักนิด เพื่อรากฐานที่มั่นคง

หนังสือผม ไม่เขียนหลอกผู้อ่านไปวันๆ ว่าใครก็สามารถเป็นนักพัฒนาโปรแกรมสำหรับ iPhone ได้ อย่างแน่นอน การที่จะให้ทำตามแบบ Copy & Paste แบบไม่ต้องคิด และได้โปรแกรมที่เหมือนจะทำงานได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผมเห็นด้วย เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยและไม่ยั่งยืน ผมเชื่อว่า ไม่มีความรู้แบบฉาบฉวยแม้แต่บรรทัดเดียวในหนังสือเล่มนี้

และ … คาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นนะครับ เพราะว่าเมื่อพื้นฐานของทุกคนแน่นแล้ว “เล่ม 2” จะเร็วกว่านี้ หนักกว่านี้ ยากกว่านี้ แน่นอน เพราะจะเป็นสิ่งที่ผมทิ้งท้ายไว้ในบทสุดท้าย (บทที่ 16) แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นความรู้ “ระดับสูงขึ้นไป” เลยล่ะก็ การเขียน App หลายตัวสำหรับ AppStore ปัจจุบันนั้นทำไม่ได้แน่นอนครับ