หนังสือ 30 เล่ม ที่จะอยู่กับผม (และเพิ่มอีก 10 เล่ม)

หลังจากกิจกรรม #IceBucketChallengeTH ผ่านไป ก็มีกิจกรรมลักษณะ Viral แบบเดียวกันมาเป็นดอกเห็ด หลายอันผมปล่อยผ่านไป ไม่สนใจ แต่มีอยู่อันหนึ่งที่คิดว่ามีประโยชน์มากๆ ก็คือ การบอกชื่อหนังสือที่จะอยู่กับตัวเองมา 10 เล่ม โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือที่ดีที่สุด หรือหนังสือที่สุดยอดอะไรทั้งนั้น แค่ชอบอะไรบางอย่าง และเป็นเล่มแรกๆ ที่โผล่มาในหัว หรืออะไรก็ตาม …..

ทีนี้ … มีคน Tag ชื่อผมต่อมา 3-4 คน ผมก็เลยขอ “โกง” ด้วยการบอกมากกว่า 10 เล่ม (เพราะว่าเอาจริงๆ ให้เลือก 10 เล่มจากหลายพันเล่ม นี่ยากเอาเรื่อง) และหนังสือเหล่านี้ เป็นหนังสือที่ผมถือว่า 1) “เปลี่ยนผม” ในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรู้ ความคิด ความเข้าใจโลก การมองเห็นโลก ฯลฯ หรือพูดอีกอย่างก็คือ “ทำให้ผมเป็นผมอยู่ทุกวันนี้” หรือ 2) มีความทรงจำพิเศษอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน โดยความทรงจำที่ว่านี้อาจจะเป็นความทรงจำส่วนตัวมากๆ คนอื่นไม่อินไม่อะไรทั้งนั้น ก็ได้


L1000013.jpg

บางเล่มผมจะใส่ Link ใน Amazon ให้นะครับ บางเล่มไม่มีใน Amazon (ก็แน่นอนแหละ) และผมขี้เกียจหาจาก Store ไทย

Continue reading

“Remember the Butterfly”

วันนี้ได้ฤกษ์อัพเดท เรื่องเล่าจากเรื่องจริง ‘คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย’ ที่เคยเขียนลงบล็อกนี้ไว้ทั้งหมด 8 ให้เป็นเวอร์ชั่นเดียวกับที่จะพิมพ์เป็นหนังสือของชำร่วยงานแต่งงาน หลังจากเรียบเรียงใหม่หลายต่อหลายอย่าง แม้ว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดจะเหมือนเดิม แต่ก็มีหลายอย่างที่ผมตั้งใจสื่อความรู้สึกออกมามากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตเท่านั้น แต่เป็นลำดับเหตุการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในใจผมและคุณเจ้าสาวด้วย



ตัวอย่างปกหนังสือของชำร่วย ออกแบบโดยคุณวีร์ (คู่หู dualGeek) และทีมงานที่ Conscious

หนังสือเล่มนี้จะมี Tagline ซึ่งแสดงถึงงานแต่งงานของเราทั้งสองคนว่าเป็นจุดสิ้นสุดของเรื่องราวความรักที่ถูกสร้างมา 18 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวใหม่ที่จะคงอยู่ตลอดกาล


‘The finale to a love story 18 years in the making
and the beginning of an everlasting one’

หนังสือเล่มนี้ และบทความที่เขียนลงบล็อก จึงเป็นบันทึกจากความทรงจำและความรู้สึกที่สำคัญทั้งหมด ที่ทำให้ผมมีมีน ที่ทำให้เรามีเรา ที่ทำให้การเดินผ่านเส้นทางชีวิตอย่างเดียวดายของผมมาถึงจุดสิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุข หรือเรื่องทุกข์ เรื่องดี หรือเรื่องร้าย รอยยิ้ม หรือน้ำตา เรื่องจริงของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกการเปลี่ยนแปลงของชีวิตและความรู้สึก ที่ทำให้วันนี้เปลี่ยนจากความฝันเป็นเรื่องจริงขึ้นมาได้

เส้นทางการเดินทางของเรา แบ่งเป็นช่วงๆ ตามกาลเวลา ดังนี้

ขอบคุณที่ติดตามอ่านมาตลอดนะครับ

ป.ล. สำหรับคนที่อยากได้เล่มฉบับพิมพ์ ผมคงจะพิมพ์เผื่อไว้จากงานแต่งไม่มากเท่าไหร่ แต่ถ้าไงก็บอกกันได้นะครับ

หนังสือ iPhone App: 3 บทใหม่ (ที่เคยคิดจะเอาใส่หนังสือเล่ม 2)

เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมได้เขียนหนังสือ “คู่มือเขียน iPhone App” ซึ่งออกมาในช่วงคาบลูกคาบดอก ระหว่างรอการเปลี่ยนแปลง จาก iOS 4 เป็น iOS 5 และ Xcode 4 เป็น Xcode 4.2 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับ “Major Change”

ใจจริงผมอยากจะเขียนให้อิงกับ iOS 5 และ Xcode 4.2 เป็นหลักตั้งแต่ต้น แต่ในขณะนั้นไม่มีใครบอกได้ว่าทั้งสองตัวนี้จะออกมาเมื่อไหร่ และด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง รวมถึงความต้องการของสำนักพิมพ์ ที่อยากจะออกสู่ตลาดเร็วๆ ในขณะที่ยังไม่มีเจ้าอื่นออกมา (ซึ่งผมเข้าใจเหตุผลนี้ และไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น) ทำให้เราตัดสินใจทำมันออกมาเป็น “iOS 4 และ Xcode 4” เพื่อให้ออกมาได้ก่อน และหลายคนได้เริ่มก่อน

และด้วยเหตุผลของ NDA ทำให้ผมไม่สามารถที่จะเขียนถึงรายละเอียดอะไรของ iOS 5 และ Xcode 4.2 ได้เลย

ทีนี้ปัญหาก็เลยเกิดขึ้น เมื่อ iOS 5 ออกมาแล้ว และ Xcode 4.2 ออกมาแล้ว (และไม่สามารถหา Xcode 4.0, 4.1 ได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะ Xcode ที่อยู่บน Mac App Store มันเป็น 4.2) ปัญหาง่ายๆ มันก็เลยเกิดขึ้น เพราะว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย อย่างที่ผมบอกไว้ ทั้งในระดับตัวภาษา Objective-C, iOS SDK และตัว Xcode เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Default Settings ทุกอย่างนั้นกำหนดให้ใช้ความสามารถใหม่โดยปริยาย

ผมได้เริ่มเขียนหนังสือ “เล่ม 2” ซึ่งวางเอาไว้เป็นเล่มต่อจากเล่มที่พิมพ์ไปแล้ว มาพักหนึ่ง และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เปลี่ยนไปเหล่านี้ แต่ผมขอตัดสินใจแสดงความรับผิดชอบที่ออกหนังสือมาเร็วไปหน่อย ทำให้หลายคนที่เริ่มต้นเขียน iOS แล้วเจอเครื่องมือใหม่มีปัญหา โดยเอาออกมาให้อ่านก่อนแบบฟรีๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้อ่านเล่มแรกของผมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้

สำหรับท่านที่ไม่สนใจจะศึกษาเพิ่มเติม หรืออยากจะทำตามหนังสือเล่มแรกอย่างเดียว ผมมีคำแนะนำว่า เวลาสร้างโปรเจคใหม่ ให้เลือก “ไม่ใช้ Storyboard” และ “ไม่ใช้ Automatic Reference Counting” เสมอครับ

ตอนนี้ผม “พับ” โครงการที่จะเขียนหนังสือเล่ม 2 ออกตีพิมพ์เรียบร้อยแล้วครับ แต่จะ “เขียนใหม่ทั้งหมด” เป็น iOS Development Series โดยไม่เหลือเยื่อใยกับของเดิม เป็นการเขียนใหม่ 100% ทั้งตัวอย่าง เนื้อหา เรียบเรียง โดยจะทำเป็น e-Book only และขายผ่านเว็บไซต์ของ Code App และอาจจะผ่าน App ซึ่งออกแบบมาเฉพาะสำหรับหนังสือเล่มนี้ เท่านั้น โดยมีเนื้อหาแบ่งเป็นหลายเล่ม ตั้งแต่เริ่มต้นเขียนโปรแกรมด้วย Objective-C เต็มๆ เล่มเลยทีเดียว

อดใจรอกันสักหน่อยนะครับ

ชี้แจง: “คู่มือเขียน iPhone App”

หนังสือเล่มแรกของผม “คู่มือเขียน iPhone App” ก็ได้ออกวางตลาดเรียบร้อยแล้ว ก็หวังว่าจะช่วยเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ สำหรับหลายๆ คนที่อยากจะหัดเขียนโปรแกรม หรือแอพ เพื่อใช้งาน iPhone, iPad, iPod touch กันได้บ้าง


iphoneapps.gif

หลังจากหนังสือเล่มนี้วางตลาดไปได้ไม่นาน ก็มี e-mail เข้ามาหาผม เพื่อขอ Code จากหนังสือเล่มนี้พอสมควร ซึ่งสิ่งที่ผมทำก็คือ ไม่ให้ Code ทันที แต่จะพยายามจะถามว่าติดปัญหาตรงไหน เพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหา พร้อมอธิบายเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้ เพราะว่าแต่ละคนอาจต้องการคำอธิบายที่แตกต่างกันตามธรรมชาติ ดังนั้นหากผมได้รู้ถึงปัญหาของแต่ละคน ว่าติดตรงไหน หรือว่าอ่านหนังสือตรงไหนไม่ละเอียด ก็จะช่วยอธิบายให้ตรงจุดได้

บางครั้งที่ผู้อ่านหลายท่าน พิมพ์โค้ดตามหนังสือ และเกิด Error หรือ Warning ขึ้นมา ทั้งๆ ที่พิมพ์ตามตรงเป๊ะทุกตัวอักษรแล้ว และเมื่อเกิดเรื่องเช่นนั้นขึ้น บางครั้งผู้อ่านบางท่าน อาจจะเริ่มทึกทักว่าหนังสือผมผิด หรือหนังสือผมลืมโน่นลืมนี่ ฯลฯ

ผมขอชี้แจงอะไรบางอย่างตรงนี้ครับ โดยอ้างอิงตัวอย่างจาก e-mail ที่ผมตอบผู้อ่านผมบางท่าน (ขอสงวนชื่อผู้อ่านนะครับ ว่าผมตอบใคร)

กรณีแรก ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 157

การวางตำแหน่งต่างๆ ต้องประมวลความรู้เองจากหน้า 121 ครับ ผมเขียนว่า

“ก่อนจะใช้งานสิ่งใดๆ ต้องประกาศสิ่งนั้นก่อน” ดังนั้น …. (พร้อมกับบอกวิธี)

เป็นความตั้งใจของผู้เขียน ที่ต้องการให้ผู้อ่านประมวลความรู้เอง จากสิ่งที่ทำไปแล้วในบทก่อนๆ

ลำดับ Code ที่ปรากฏในหนังสือ สะท้อนลำดับความคิดของผมครับ ไม่ได้สะท้อนลำดับของโค้ดในไฟล์
การที่ผมเขียน Code หนึ่งๆ ทีหลัง ไม่ได้แปลว่าจะต้องปรากฏภายหลังในไฟล์ครับ เราอาจต้อง
ใส่ Interface ของมันไปก่อนใน .h หรือว่าอาจจะต้องเขียน private interface เสียก่อน หรือว่าอาจจะใช้
วิธีการประกาศไว้ก่อน ก็ได้

กรณีที่สอง ผู้อ่านประสพปัญหาจากโค้ดในหน้า 78

Code ที่คุณเขียน และบอกว่ามีปัญหา อยู่ในหนังสือหน้า 78 นะครับ

ลองย้อนไปอ่านดูในหน้า 64 ครับ ตั้งแต่บรรทัดแรกเลย ว่าผมเขียนว่าอะไร และผมมีตัวอย่างให้ดูแล้วด้วย (เรื่อง @synthesize)
ซึ่งจะว่าไป ก็สืบมาตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนที่บอกไว้ตั้งแต่หน้า 59 :-)

เป็นความตั้งใจของผมครับ ที่ผู้อ่านจะต้อง “นำความรู้ที่อ่านผ่านไปแล้ว และเห็นตัวอย่างไปแล้ว มาประมวลใช้เอง”

ทีนี้คงจะไม่มีทางลืม @synthesize สิ่งที่กำหนด @property เลยสินะครับ ดีกว่าให้พิมพ์ตามๆ ไปอย่างไม่รู้เรื่องอะไร
เพราะว่ามีหลายคนที่เคยเจอมา อ่านหนังสือไม่ละเอียด ไม่คิด จะดูแต่ code อย่างเดียว และพิมพ์ตามอย่างเดียว
ถ้า code ทำงานได้หมด ไม่เจอปัญหาจากการอ่านไม่ละเอียดและไม่คิดเลย ก็จะ take everything for a grant
(ขออภัย นึกภาษาไทยไม่ออก … ประมาณว่า มองข้ามโน่นนี่ นึกว่าเป็นเรื่องเล็กๆ) ทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ในที่สุด

สิ่งที่คุณเจอ และการแก้ปัญหาของคุณ เป็นเจตนาของผมทีี่อยากให้เกิดขึ้นครับ

มาถูกทางแล้วครับ ยินดีด้วย

ดังนั้น เพื่อ Make Statement ให้ชัดเจนตรงนี้ ผมขอบอกอีกครั้งนะครับ (ซึ่งเป็นการเขียนซ้ำข้อความที่ผมเขียนไว้ในหน้า 14 ของหนังสือ ซึ่งหลายท่านอาจจะอ่านข้ามไปแบบไม่สนใจเท่าไหร่)

หนังสือเล่มนี้จะไม่มี “การรวมโค้ด” ของโปรแกรมเอาไว้ที่หน้าใดหน้าหนึ่ง ให้พิมพ์ตามหรือลอกเฉพาะส่วนของโค้ดได้ โดยไม่อ่านเนื้อหาและความคิดอันเป็นที่มาของโค้ด

นอกจากนี้ โค้ดหลายส่วนที่ซ้ำหรือคล้ายกับที่เคยผ่านมือกันมาแล้ว บางส่วนผู้อ่านจะต้องเขียนเพิ่มเติมเอง

ผมไม่ปฏิเสธครับ ว่าลักษณะการเขียนหนังสือของผมนั้น ได้รับอิทธิพลจากหนังสือต่างประเทศ ทั้งอเมริกาและญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก

ผมเชื่อว่า นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง ผมไม่ต้องการให้คนเขียนโปรแกรม หัดเขียนโปรแกรมอย่างฉาบฉวยและมักง่าย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ และที่สำคัญที่สุดคือ หัดเขียนโปรแกรมบนถนนที่ราบเรียบเกินไป ไม่พบปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องประมวลความรู้พื้นฐานมาแก้เลย

หลายต่อหลายคน หัดเขียนโปรแกรมตามตัวอย่าง คอมไพล์ผ่าน ทำงานได้ ตามตัวอย่างเป๊ะๆ ก็หลงระเริง คิดว่าเข้าใจแล้ว ทำได้แล้ว พอเขียนจริง ต่อให้เป็นโปรแกรมง่ายๆ ไม่ต้องยาก (แค่เปิดไฟล์ นับคำในไฟล์ว่ามีกี่คำ ที่ผมชอบใช้เวลาสอนหนังสือที่ ม.ศิลปากร) ก็เริ่มต้นไม่ถูก พอเขียนแล้วเจอปัญหาเล็กน้อย ก็ไปต่อไม่เป็น เจอข้อความจาก Compiler ก็กลัว ฯลฯ

ขอให้ค่อยๆ พยายามๆ ครับ อ่านหนังสือให้ละเอียด ใช้เวลากับมันให้มากสักนิด เพื่อรากฐานที่มั่นคง

หนังสือผม ไม่เขียนหลอกผู้อ่านไปวันๆ ว่าใครก็สามารถเป็นนักพัฒนาโปรแกรมสำหรับ iPhone ได้ อย่างแน่นอน การที่จะให้ทำตามแบบ Copy & Paste แบบไม่ต้องคิด และได้โปรแกรมที่เหมือนจะทำงานได้นั้น ไม่ใช่สิ่งที่ผมเห็นด้วย เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยและไม่ยั่งยืน ผมเชื่อว่า ไม่มีความรู้แบบฉาบฉวยแม้แต่บรรทัดเดียวในหนังสือเล่มนี้

และ … คาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่นนะครับ เพราะว่าเมื่อพื้นฐานของทุกคนแน่นแล้ว “เล่ม 2” จะเร็วกว่านี้ หนักกว่านี้ ยากกว่านี้ แน่นอน เพราะจะเป็นสิ่งที่ผมทิ้งท้ายไว้ในบทสุดท้าย (บทที่ 16) แต่ถ้าไม่มีสิ่งที่เป็นความรู้ “ระดับสูงขึ้นไป” เลยล่ะก็ การเขียน App หลายตัวสำหรับ AppStore ปัจจุบันนั้นทำไม่ได้แน่นอนครับ

Kinokuniya ที่ Central World, และ Historical Dynamics

คราวก่อนเขียนถึง Kinokuniya ที่ Siam Paragon ไปแล้ว พร้อมกับความตะลึงว่ามันมีหนังสือ popular science และหนังสือแนววิชาการหนักๆ หรือเข้าทำนอง hard-core text มากมาย …. ผมก็ได้มีเวลาแวะไป Kinokuniya ที่ Central World โซน Isetan ซึ่งเป็นสาขาที่ผมไปบ่อยที่สุด (เนื่องจากไปดู magazine ญี่ปุ่น)

ผมเคยเห็นหนังสือคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ของสำนักพิมพ์ Dover (ซึ่งได้ชื่อว่า หนังสือเนื้อหาดี คุณภาพเล่มห่วย ปกไม่สวย อ่านยาก แต่เจ๋ง และราคาถูกโคตร เทียบกับสำนักพิมพ์อื่น) วางขายอยู่บ้าง เล่มนึงก็ไม่แพงเท่าไหร่ ราคาประมาณ 600-1000 บาท ซึ่งนับว่าถูกมากสำหรับหนังสือที่มี content แบบนั้น

ผมแวะไปวันก่อน ก็ต้องตะลึง ว่ามันไปกองอยู่ในกองหนังสือที่ค่อนข้างเละเทะ มีป้ายแปะเอาไว้ว่า

“ลด 50-70%”

จะรอช้าไปทำไม ก็รีบรื้อกองสิครับ ก็เลยได้มาเกือบ 10 เล่ม ในราคาเล่มละ 200 บาทเท่านั้น (ของ Dover นะ ผมไม่ค่อยได้ดูหนังสืออื่นๆ) ถูกสุดๆ ที่ซื้อมาก็เช่น

  • Information Theory and Statistics
  • The Theory of Groups
  • Probability, Statistics and Truth

อะไรทำนองนี้ แต่ว่ามีเล่มหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจเป็นพิเศษ คือ


Historical Dynamics: Why States Rise and Fall

จะว่าไป ถ้าจะมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตผมไปมากมายมหาศาล ก็คือวันที่ผมเข้าไปนั่งฟัง lecture เรื่อง Chaos Theory ของอาจารย์ James B. Cole ที่ ม. Tsukuba น่ะแหละ แกสอนเรื่อง Dynamical system กับ Chaos แล้วเราก็เริ่มสงสัยว่าเรื่องนี้เป็ฯ metaphor ที่เอาไว้อธิบาย “ประวัติศาสตร์” ได้หรือเปล่า นั่นก็คือ ในทางหนึ่งประวัติศาสตร์เป็นบันทึกของโลก ซึ่งก็เป็น Dynamical system ที่เราอาจจะไม่มีวันหา model ที่ดีที่สุดของมันได้ เป็น Dynamical system ที่ compute ตัวเองอยู่ตลอดเวลา … แล้วการที่เหตุการณ์หนึ่งๆ ในประวัติศาสตร์ที่มันเกิดขึ้น มันส่งผลมากมายกับปัจจุบันที่เรารู้จักกัน นั่นคือ มันควรจะ sensitive กับ initial condition หรือว่าการเปลี่ยนแปลงหนึ่งๆ แม้ว่าจะเล็กแค่ไหน ก็จะกลายเป็น frozen accident หรือรอยแผลเป็นที่ไม่มีวันลบออกได้ของระบบ และผลที่เกิดจากมันก็จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา (เข้าทำนอง Butterfly Effect) …. ผมก็เลยเข้าไปคุยกับอาจารย์ Cole หลัง class และเนื่องจากคุยกันถูกคอดี แกเลยแนะนำให้ผมไปศึกษาเรื่อง Chaos Theory เพิ่มเติม และผมก็ไล่ไปเรื่อยๆ จากเรื่องนั้นน่ะแหละ จนถึงเรื่องของ Complex system theory, Computation theory, Information theory ฯลฯ และสุดท้าย Quantum computation ….. จะว่าไป เรื่องที่ผมรู้และสนใจ ส่วนมากจะมีจุดเริ่มมาจากจุดนั้นทั้งนั้นแหละ นี่แหละ Frozen accident ในชีวิตผม

เรื่องนั้นช่างมัน แต่ว่านี่ทำให้ผมหยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาจากกองโดยไม่ลังเล ราคามันก็แค่ 600 เท่านั้นเอง แบบนี้ไม่รีบซื้อไม่ได้แล้ว

จริงๆ ก็ยังมีหนังสือในกองนั้นที่อยากได้อยู่อีกหลายเล่ม ทั้งที่อยากจะอ่านจริงๆ หรือว่าอยากได้เพราะเก็บไว้ก่อนเถอะน่า อาจจะได้ใช้หรือว่าได้อ่านก็ได้ อะไรทำนองนั้น เพราะว่าราคาแบบนี้ กับหนังสือระดับนี้ หายากมากๆ

ใครผ่านก็ลองไปแวะดูกันนะครับ

หนังสือที่อยากได้ (Complex Systems) และ amazon.com

เมื่อวานนี้ Amazon ส่ง e-mail มาโฆษณาหนังสือ … เห็นเล่มนี้แล้วอยากได้มาก



Complex and Adaptive Dynamical Systems: A Primer โดย Claudius Gros มีกำหนดออกวันที่ 1 พย. ปีนี้ น่าจะเป็นของขวัญวันเกิดให้ตัวเองได้ดีเลยนะเนี่ย

มี description (เอามาจาก Amazon):

We are living in an ever more complex world, an epoch where human actions can accordingly acquire far-reaching potentialities. Complex and adaptive dynamical systems are ubiquitous in the world surrounding us and require us to adapt to new realities and the way of dealing with them.

This primer has been developed with the aim of conveying a wide range of “commons-sense” knowledge in the field of quantitative complex system science at an introductory level, providing an entry point to this both fascinating and vitally important subject.

The approach is modular and phenomenology driven. Examples of emerging phenomena of generic importance treated in this book are: – The small world phenomenon in social and scale-free networks; – Phase transitions and self-organized criticality in adaptive systems; – Life at the edge of chaos and coevolutionary avalanches resulting from the unfolding of all living; – The concept of living dynamical systems and emotional diffusive control within cognitive system theory.

Technical course prerequisites are a basic knowledge of ordinary and partial differential equations and of statistics. Each chapter comes with exercises and suggestions for further reading – solutions to the exercises are also provided.

อยากได้ชะมัด .. นี่ถ้ายังอยู่ญี่ปุ่นนี่คงจะสั่งไปแล้วนะเนี่ย..

นี่แหละ power ของการเก็บข้อมูล และการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้ ผมเคยซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Chaos Theory, Fractals, Complex Systems theory จาก Amazon ไว้หลายสิบเล่ม (นอกจากหนังสืออื่นๆ นะ ไว้วันหลังจะทำ reading list ให้) ไม่พอนะ ผมอาจจะมีพฤติกรรมการซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ Springer เยอะด้วย พอเอาข้อมูลนี้มาวิเคราะห์นะ ระบบ computer ที่ Amazon ก็เลยไม่ลังเล (computer มันลังเลเป็นที่ไหน) ในการที่จะส่ง e-mail มาบอกผมว่า มีหนังสือใหม่เล่มนี้นะ สนมั้ย

  • ถ้า Amazon ส่งโฆษณามามั่ว มีหนังสือใหม่อะไรก็ส่งมาหมด ผมก็คงสั่งโปรแกรม e-mail client ของผมให้ filter มันไปเป็น junk แบบถาวร
  • ถ้าส่งมาแบบ 50 mail มีดีซักอัน ผมก็คงจะ filter มันเข้าไปอยู่ใน mailbox ที่ไม่สำคัญ อยากอ่านก็อ่านอยากลบก็ลบ (แต่ไม่ใช่ junk) แล้วปกติก็จะลบมากกว่าอ่าน
  • ถ้ามันส่งมาแบบ 10 mail ผมคิดว่าเข้าท่าซัก 1 เนี่ยสิ ค่อยน่าสนหน่อย

อีกอย่าง ยิ่งผมซื้อเยอะเท่าไหร่ Amazon ก็ยิ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของผมได้ดีขึ้นเท่านั้น ยิ่งมีคนซื้อของจาก Amazon เยอะขึ้นเท่าไหร่ Amazon ก็ยิ่งวิเคราะห์พฤติกรรมของทุกคนโดยรวมได้ดีขึ้นเท่านั้น เพราะว่านอกจากจะวิเคราะห์แค่จากตัวผมเองแล้ว ก็ยังวิเคราะห์จากคนที่ซื้อของใกล้เคียงกับที่ผมซื้ออีกด้วย ว่าคนพวกนั้นซื้ออะไร ผมน่าจะสนใจตาม อะไรทำนองนี้

ซึ่งมันก็เป็น hit-and-miss

แต่ว่าทุกครั้งที่ผมซื้อ Amazon ก็ยิ่งมีโอกาสได้เงินจากผมมากขึ้นในอนาคต

การใช้ computer และทฤษฎีต่างๆ อย่างฉลาดในเชิงธุรกิจ บางทีมันเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ ในการขายของ ในการเชื่อมโยง ในการบริหารจัดการมากขึ้นอย่างมากมาย

แต่น่าเสียดาย (อีกล่ะ พักนี้มีแต่เรื่องน่าเสียดาย) ที่หลายๆ คนในบ้านเราที่ศึกษาทฤษฎี ไม่สามารถนำตรงนี้ไปใช้งานจริงได้เท่าไหร่ และไม่สามารถประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หรือไม่ได้เอาเสียเลย

ปล. ใครมีประสบการณ์สั่งหนังสือจาก Amazon พักหลังๆ ช่วยบอกหน่อยนะครับ ว่าดีมั้ย (การขนส่งและ delivery นะ) เพราะว่าเคยสั่งครั้งนึงเมื่อนานมาแล้วตอนกลับมาเยี่ยมบ้าน ตอนนั้น delivery ในบ้านเราห่วยสุดๆ…. เลยเข็ด

ร้าน Kinokuniya ที่ Siam Paragon

ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก แล้วก็ซื้อหนังสือเก็บไว้เยอะเหมือนกัน (เดือนๆ หมดหลายตังค์) ก็เลยเป็นขาประจำของร้านหนังสือหลายๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็น B2S (มักจะไปที่ Central ปิ่นเกล้ามากกว่าที่อื่น Central World ไปบ้าง), Asia Books (หลายสาขา โดยมากไปซื้อ magazines), ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ก็ไปเหมือนกัน แต่ว่าพักหลังๆ ไม่ค่อยได้ไปแล้ว

แต่ไม่ว่าที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยจะมีหนังสือแบบที่ผมชอบอ่านมากที่สุดเท่าไหร่นัก ….

  • หนังสือแนววิชาการหนักๆ สำหรับหลายสาขานี่อาจจะหาอ่านไม่ยากเท่าไหร่ที่ศูนย์หนังสือจุฬา แต่ว่าหนังสือวิชาการเกี่ยวกับ Computer/Computing Science นี่ไม่ค่อยจะมีเท่าไหร่หรอกนะ มันมีแต่หนังสือ Professional books ซะเป็นส่วนมาก (ก็เข้าใจว่านี่อาจจะเป็นความต้องการของตลาดบ้านเรา)
  • หนังสือ Popular science นี่หายากมาก ไม่ค่อยจะมีเลยแฮะ นานๆ จะเจอบ้างที่ Asia Books (Siam Discovery) หรือว่า B2S Central World และนี่คือสิ่งที่ผมคิดถึงที่สุดเวลาไปร้านหนังสือหลายๆ ที่ใน Tokyo อาจจะเรียกได้ว่าเมื่อก่อนผมหมดเงินไปกับการซื้ิอหนังสือแนวนี้อาจจะพอๆ กับหนังสือวิชาการหนักๆ เลยก็ได้มั้ง

ตัวอย่างหนังสือ Popular science ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คงจะเป็น Emperor’s New Mind ของ Roger Penrose, Chaos ของ James Gleick, Linked ของ Albert-Laszlo Barabasi, Ubiquity ของ Mark Buchanan แล้วก็ยังมีอีกหลายต่อหลายเล่มที่ถ้าจะเอามา list ไว้ในนี้หมดคงจะไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่

ที่ผมชอบหนังสือพวกนี้ก็เพราะว่า มันให้ความรู้เราพอประมาณ อาจจะไม่ค่อยลึกเท่าไหร่นักในแต่ละเรื่อง แต่ว่าให้เราเห็นคู่ไปกับความเป็นจริง สิ่งที่อยู่รอบตัว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เรารู้จักดีมากอยู่แล้ว สิ่งที่จับต้องได้ง่าย ฯลฯ หลายต่อหลายเล่มเป็นการเชื่อมโยงทฤษฎีต่างๆ นับสิบเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียว (เช่น Emperor’s New Mind) หรือว่าให้แนวคิดใหม่ๆ แบบที่ไม่ค่อยจะได้เท่าไหร่นัก

และถ้าเราสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ ขึ้นเมื่อไหร่ ค่อยไปหาอ่านเอาตามหนังสือทฤษฎีที่หนักขึ้น complete ขึ้น และเป็นวิชาการมากขึ้น

น่าเสียดายเหลือเกินที่หนังสือแนวนี้หาอ่านยากมากในบ้านเรา … และแล้ววันนี้ความฝันของผมก็เป็นจริง

หลังจากไม่ได้ไปที่ Siam Paragon นานมาก (แต่ว่าไปทีไรก็ไปไม่กี่ที่ ส่วนมากไปนั่งกินข้าวร้านข้างล่าง ไปซื้อ/ดูหนังสือที่ Kinokuniya ไปเดินเล่นใน iStudio แล้วก็ไปยืนเกาะกระจกน้ำลายยืดอยู่แถวๆ Showroom Mesarati) วันนี้้เบื่อโลกมากเลยเข้าไปดู และนี่คือสิ่งที่ผมเห็น


ว้าว ตู้หนังสือขนาด(ค่อนข้าง)ใหญ่ทั้งตู้ ที่มีแต่หนังสือ Applied Math (สำนักพิมพ์ Dover ที่มีหนังสือ classic ราคาถูกค่อนข้างเยอะ เล่มไม่กี่ร้อย) หนังสือ Physics และแน่นอน หนังสือ Popular Science หลายสิบเล่ม!

ก็เลยตบกลับมาบ้านอีกเกือบ 10 เล่ม มีหลายเล่มที่น่าสนใจ เช่น I am a Strange Loop ของ Douglas Hofstadter (คนเขียน Godel, Escher, Bach หนังสือที่ผมชอบที่สุดตลอดกาล), The Age of Spiritual Machines ของ Rayn Kurzwell, Why Things Bite Back ของ Edward Tenner, The Equation that Couldn’t be Solved ของ Mario Livio, และสุดท้าย Meta Math! The Quest for Omega ของ (ทายซิใคร) Gregory Chaitin!!!! (บิดาของ Algorithmic Information Theory)

แล้วก็เดินเลยเข้าไปหน่อย เจอหนังสือวิชาการหนักๆ ของทาง Computer Science ด้วยแฮะ!! (ไม่ใช่หนังสือ Professional Books ที่ขายกันเกลื่อนหิ้งหนังสือที่เขียนว่า “Computer Science” ทั่วไป แม้แต่ศูนย์หนังสือจุฬา) เลยซื้อ Fundamentals of Natural Computing: Basic Concepts, Algorithms, and Application ติดมือกลับมาเล่มนึง จริงๆ อยากได้อีกหลายเล่มแต่ว่าสงสารบัญชีธนาคารของตัวเอง …. เล่มนี้ก็ดีนะ คิดว่าจะเอามาเป็นหนังสือ Introduction ของคนที่อยากจะเข้า lab วิจัยเลย เพราะว่านอกจากจะมีเรื่อง Evolutionary Computation แล้วยังมีพวก Swarm Intelligence, Fractals Geometry, Artificial Life, DNA Computing, Quantum Computing ด้วย

เฮ้อ … เมืองไทยเจริญขึ้นเยอะเลยแฮะ (ถ้าคิดจากวัตถุที่เรามีในประเทศนะ … หนังสือคือวัตถุประเภทหนึ่ง) แต่ว่าคนบ้านเราจะเจริญตามด้วยหรือเปล่าน้อ หรือว่าเจริญลงก็ไม่รู้แฮะ (ไม่รู้ว่าตอนนี้คนไทยอ่านหนังสือกันเฉลี่ยแล้วปีละเท่าไหร่แล้ว .. ตัวเลขสุดท้ายที่ได้ยินนี่น้อยจนน่าใจหาย … หนังสือใน lab เราก็ซื้อมาเต็มตู้ เด็กๆ ที่ทำงานด้วยก็ไม่ค่อยจะอ่าน ไม่เคยอ่าน ไม่ค่อยจะสัมผัส ถึงจะบังคับ ถึงจะพยายามแนะนำให้อ่าน ถึงจะฯลฯ แล้วก็เถอะนะ)

ไม่เป็นไรน่า …. ก็ยังมีเรื่องให้ใจชื้นน่ะแหละ

คณิตศาสตร์มัธยม

ก่อนอื่นเลย คงต้องเกริ่นก่อนว่าตอนนี้ที่กลุ่มวิจัยของผม (SIGMA Research Lab) มีการจัด seminar ทุกเย็นวันศุกร์ ใครสนใจเชิญด้วยความเต็มใจ แต่ว่าต้องมาที่ ม. ศิลปากร ทับแก้ว นะ โดยหลักการก็ให้พวกนักศึกษา+ตัวเองด้วย อ่าน paper/หนังสือ/บทความ/web แล้วก็เอามาวิเคราะห์ให้ฟังกันถ้วนๆ หน้า แล้วก็มี work progress สำหรับงานวิจัย/โปรเจคต่างๆ ที่ดำเนินอยู่

ทีนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาเนี่ย มีเรื่องที่โดยส่วนตัวแล้วไม่ค่อยจะพอใจเท่าไหร่นะ คือพวกน้องๆ ส่วนมากเวลาอ่านหนังสือ อ่าน paper แล้วเจออะไรที่เป็น math ก็จะ “เลี่ยง” ด้วยการพูดแค่ว่า “สำหรับเรื่องนี้มีสูตรดังนี้” แล้วก็ผ่านไป พอเวลาถามรายละเอียดในสูตรที่ว่านั่น ก็ไม่เข้าใจ ตอบไม่ได้ เราก็ไม่ได้ถามอะไรมากมายล่ะนะ ก็แค่ถามตรงๆ ในสมการคณิตศาสตร์ หรือว่าโมเดลทางคณิตศาสตร์ทั้งหลายนั่นน่ะแหละ ว่ามันอธิบายอะไร มันพูดถึงอะไร

ไอ้ที่ทำให้ฟิวส์ขาด ก็คือ เราถามเรื่องเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ (Relation) และฟังค์ชัน (Function) ว่ามันรับ parameter อย่างไรและ return ค่ายังไง เขียนออกมาเป็นคณิตศาสตร์ได้หรือไม่ input ถ้ามันมีหลายๆ ตัว มันจะต้องอยู่ในรูปไหน มันจะ take มาจาก space ที่มีคุณสมบัติยังไง

พูดง่ายๆ ผมต้องการ “ผลคูณ cartesian” เช่น F: R x N -> N หรือว่า G: R x R -> R หรือว่าแม้แต่ H: A x B x C -> D ถ้าเขียนโปรแกรมกันเป็นก็คงจะทำนองว่า N F(R r, N n) แล้วก็ R G(R r1, R r2) ตามลำดับละนะ

ที่ shock เลยก็คือ เฮ้ย ทำไมมัน ไม่มีใครรู้จักผลคูณคาร์ทีเชียนวะ ผมจำได้ว่าสมัยผมเรียน มันอยู่ใน ม. 4 เทอม 1 เลยนะ ไอ้เรื่องพวกนี้ แล้วก็ไม่ใช่แค่นี้นะ ตั้งแต่ผมมาสอนที่นี่ ผมต้องทวนคณิตศาสตร์ระดับมัธยมให้ “นักศึกษาปริญญาตรี” ปี 3 ปี 4 ฟังกันบ่อยมาก แล้วพวกก็ชอบบอกว่า ผมถามยาก ถามลึก ถามเรื่อง advanced … แหม ถามว่า Logarithm คืออะไร หรือว่ามันสัมพันธ์กับ Exponential ตรงไหน เนี่ย มันยากมากเลยหรือยังไง

อ่อ ไม่พอ ยังมีน้อง ป.โท คนหนึ่งที่มา present ปาวๆ และพูดถึง Mixed Integer Nonlinear Programming แล้วก็ตอบ/อธิบายไม่ได้ว่า Linear Programming คืออะไร (สมัยผมเรียน มันอยู่ ม. 5 นะ ถ้าจำไม่ผิด) ซึ่งมันง่ายกว่า Nonlinear เยอะ แต่ว่าก็แนวๆ เดียวกัน (concept แบบหยาบๆ นะ)

เรื่องนั้นช่างมัน ผมก็เลยควักเงิน 2 พัน ให้นักศึกษาใน lab “ไปซื้อหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ หลักสูตรปัจจุบัน ตั้งแต่ ม. 1-6 มาทุกเล่ม” แล้วก็ภายใน “สิ้นปี” ทุกคนใน lab ต้องทำข้อสอบ entrance ให้ได้เกิน 50 คะแนน! (โหดมาก…)

วันนี้มาถึง lab เห็นหนังสือพวกนี้กองอยู่ เลยเอามานั่งอ่าน … อ่านแล้วตกใจมาก

คณิตศาสตร์ ม. 1 มีพูดถึง Palindrome มีพูดถึง Fibonacci มีพูดถึงการหาจำนวนเฉพาะ (Prime number) ด้วยวิธีการ Sieve of Eratosthenes ม. 2 มีการเรียนเรื่อง Golden Ratio …. พอ ม. ปลายก็มีเรียนเรื่อง Graph Theory

ผมอยากจะบอกว่า ใจหาย นะ และรู้สึกสองจิตสองใจมาก ความรู้สึกตีกันอย่างบอกไม่ถูก ขอแยกประเด็นละกัน

  • + หนังสือระดับมัธยมต้น ทำได้ดีมากๆ เน้นการ “คำนวณ” ที่ “น้อยลง” เยอะ เพราะว่าปัจจุบันสิ่งที่ผมเห็นเกี่ยวกับความเข้าใจของคนทั่วไปคือ มีมุมมองที่ค่อนข้างผิด ว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาคำนวณ ว่าด้วยการคิดเลข ฯลฯ อะไรทำนองนั้น แต่ว่าไม่ค่อยจะคิดว่ามันเป็นมุมมองอีกมุมหนึ่ง เป็นภาษาอีกภาษาหนึ่ง ที่เอาไว้พูดถึงสิ่งต่างๆ อะไรก็ได้ ทั้งรอบตัวที่เป็นจริง ทั้งในจินตนาการ ตลอดจนความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านั้น หนังสือระดับ ม. ต้นนี่ เอาคณิตศาสตร์ออกมาสู่โลกจริงๆ ในฐานะสิ่งใกล้ตัวได้ดีมากเลย อันนี้ยกให้สองนิ้ว
  • แต่ว่าปัญหาคือ คนสอนจะสอนยากขึ้นหรือเปล่า มีคนที่ “เก่งพอ” จะสอนสิ่งที่เป็น abstract มากๆ อย่างคณิตศาสตร์ ให้เด็กเข้าใจว่ามันคืออะไรได้สักกี่คนเชียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคนสอน และการวัดผลของบ้านเรา ยังคงเน้นไปที่การท่องสูตรมาแทนตัวเลข คำนวณหาผลลัพธ์ออกมาแต่เพียงอย่างเดียว และคนสอนเคยแต่เรียนกันมาด้วยวิธีนี้เสียเป็นส่วนมาก
  • และถ้าเป็นอย่างนั้น มันจะเหมือนกับยิ่งยัดเยียดความรู้พวกนี้ให้เด็กเร็วเกินไป โดยปราศจากความเข้าใจที่แท้จริง หรือเปล่า น่าเสียดายแทนเด็กๆ ที่ได้เรียนเรื่องดีๆ มากมาย เพียงเพื่อที่จะลืมมัน สอบผ่านไปแล้วก็ wipe out memory ออกไปเสียแล้ว (เพราะว่าผมถาม นศ. ปีสูงๆ ถึงวิชาปีต่ำๆ ก็ไม่มีใครรู้เรื่อง ถามความรู้ ม.ต้น ม.ปลาย ก็ตายไปกับ cell สมองหมดแล้ว)
  • + ยังไงก็แล้วแต่ ผมก็ยังมีความรู้สึกว่า เมืองไทยเจริญขึ้นเยอะ นะ …. ถ้าเราสร้างความเข้าใจว่าเรียนไปทำไม ให้มันดีกว่านี้ ไม่ใช่เพื่อสอบผ่านไปยังระดับถัดไป ไม่ใช่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพื่อ ฯลฯ หลายอย่างที่ทำให้สุดท้ายเราก็มานั่งบอกตัวเองว่า “เรียนไปก็ไม่ได้ใช้” น้องๆ ที่เรียนเรื่องพวกนี้จะรู้บ้างหรือเปล่านะ ว่าสิ่งที่อยู่ในหนังสือของพวกเค้าเนี่ย ประโยชน์มันมากมายมหาศาลขนาดไหน ในการนำไปใช้จริงในโลกปัจจุบัน และเป็นต้นทุนทางปัญญาในการนำไปต่อยอด หรือว่าอย่างน้อยที่สุดก็เป็นสิ่งที่ทำให้เค้าแตกต่างจากคนอื่นในการเรียนระดับสูง มี head-start มากมาย

ผมคงจะขอใช้เวลาอ่านและย่อยหนังสือเรียนระดับ ม. ต้น+ปลาย ที่เพิ่งจะให้เด็กๆ ซื้อมาอีกสักวัน-สองวันล่ะครับ แต่ว่าเห็นแล้วค่อนข้างจะปลื้มพอสมควร ก็หวังว่าพอน้องๆ ใน lab และบรรดา advisee ของผมทั้งหลาย พอได้อ่านหนังสือพวกนี้แล้ว คงจะมาอ่านหนังสือในตู้หนังสือผม (ที่เป็นคณิตศาสตร์ซะเยอะ หรือว่าถึงจะเป็นหนังสืออื่น เช่น Economics, Biology, Computing Science ของผมมันก็มี model ทางคณิตศาสตร์และภาษาคณิตศาสตร์เต็มพรืดอยู่ดี) ได้มากขึ้นนะ …