ปัญหา ความเคยชิน “ก๊อปโค๊ดมาแก้” #2

สืบเนื่องจาก entry ที่แล้ว

ทำไมรู้สึกว่านับวันยิ่งเจอกรณีที่ confirm ความรู้สึกแย่ๆ กับเรื่องนี้ก็ไม่รู้ … แล้วคนที่ทำให้เราต้องมาหงุดหงิดกับเรื่องแบบนี้ก็นะ ทำไมถึงไม่พัฒนาอะไรเลยก็ไม่รู้

แต่วันนี้หายหงุดหงิดแล้วล่ะ ปลงแทนดีกว่า ….. ว่าแล้วก็ไปถ่ายรูปเล่นดีกว่า ผ่อนคลาย คลายเครียดกันดีกว่า

อ่อ ถ้าน้องๆ เข้าใจ แล้วมานั่งคิดอะไรกับมันหน่อย นั่งวางแผน นั่งคิดและวาดความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เอาเรื่องพื้นฐานทั้งหมดให้มันเวิร์คก่อน แล้วค่อยมานั่งดูเรื่องเทคนิคว่าจะเอาอะไรมาใช้ แล้วค่อยๆ เอามาประกอบร่าง มันจะง่ายมาก เรียกว่าไม่นานก็จะเรียบร้อย

แต่ว่าถ้าทำกลับกัน คือ ไปทำตามเทคนิคเฉพาะเรื่องก่อน แล้วค่อยพยายามแก้ไขพื้นฐานให้รองรับสิ่งที่ตัวเองต้องการทีหลัง มันจะยากกว่ากันมาก … แต่ว่ามันจะเหมือนกับว่า “ได้ผลเร็ว” เพราะว่าสิ่งที่ทำให้ได้ผลเฉพาะอย่าง และเห็นผลเฉพาะอย่างเนี่ย มันคือเรื่องเทคนิค

แต่นั่นก็เลยทำให้ทุกอย่างยากขึ้น และคุณต้องแก้ไข Model พื้่นฐานของระบบ ในลักษณะ Hack หรือ Workaround มากขึ้น และถึงจุดหนึ่งมันจะยิ่งทำให้ทุกอย่างมันซับซ้อนมากขึ้น และการนำเอาเทคนิคอื่นๆ เข้ามาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อื่นๆ ในงาน มันจะยากขึ้น และพบปัญหามากขึ้น และจุดนี้เองที่น้องๆ มักจะเริ่มเจอปัญหาชัดๆ และมักบอกว่า

เอาไอ้นี่มาใช้แล้วมีปัญหาครับ/ค่ะ

ซึ่งจริงๆ ปัญหาที่แท้จริงคือ พวกน้องไม่ได้เริ่มจากพื้นฐานตั้งแต่แรกน่ะครับ คือ ไม่ได้วางหรือคิดระบบตั้งแต่พื้นฐาน พอจะทำอะไรก็เลยยากไปหมด และมีปัญหาโผล่มาได้ทุกที่ เพราะว่ามันเป็นการทำโปรเจคจาก “นอกเข้าใน” ไม่ใช่การพัฒนาจาก “แก่น” ของระบบเลย

ดังนั้นนะครับ น้องๆ ช่วยดูพื้นฐานให้ดีนะครับ สิ่งที่ผมเห็นน้องๆ แทบทุกคนพลาดง่ายๆ ก็คือ การที่มองข้ามพื้นฐาน ไม่ให้เวลาและความสำคัญกับมัน แต่ว่าข้ามไปที่เทคนิคเลยเนี่ยแหละครับ