คนแรกของหัวใจ คนสุดท้ายที่รอคอย #8: “Remember the Butterfly”

เรื่องเล่า ที่เรียบเรียงจากเรื่องจริงของผม และว่าที่เจ้าสาว คุณวัชรพรรณ โล่ห์ทองคำ ตอนจบ

อัพเดทล่าสุดเมื่อ 10 กันยายน 2555

ความเดิม

บทส่งท้าย: รำลึกถึงผีเสื้อน้อย (Remember the Butterfly)

“คิดว่าคนเรา ถ้าเป็นคู่กันแล้ว จะแคล้วกันได้มั้ย”

คำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเองมาตลอด วันแล้ววันเล่า ปีแล้วปีเล่าในชีวิต นับจากที่ผมได้ยินคำพูดสุดท้ายของมีน สมัยที่ผมจีบเธอตอนเรียนมหาวิทยาลัย เสียงของเธอยังคงก้องอยู่ในหู ประโยคที่ตามหลอกหลอนผม

“ไม่ต้องคุย ไม่ต้องมาเจอกันอีกแล้วนะ”

มันทำให้ผมกับมีนไม่ได้ติดต่อกัน ไม่ได้คุยกันเหมือนเก่า แต่ผมก็ยังคิดถึงมีนอยู่เสมอ ไม่เคยลืมเธอได้เลยสักนิด และยิ่งมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตผมเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งนึกถึงมีนมากขึ้น พร้อมกับคำถามในใจตลอดเวลาว่า

“ถ้าวันนั้น…… ผม……”

เหตุการณ์ครั้งนั้นมันส่งผลกับชีวิตเราสองคนมากมายเหลือเกิน การพูดไม่ระวังปากของผมเพียงครั้งเดียว และการพูดเพราะความเสียใจของมีนเพียงครั้งเดียว ทำให้ทุกอย่างมันไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้ว ผมคงทำเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิตลงไป และชีวิตคงจะไม่มีวันให้อภัยผม ..

ในช่วงที่ผมได้แต่นั่งคิดถึงมีน แต่ไม่กล้าติดต่อไป ไม่กล้าทำอะไรมากมายกว่านั่งคิดถึงมีนและเห็นภาพมีนตลอดเวลาที่เปลือกตามันปิดลง เช้าวันหนึ่ง ในต้นเดือนพฤษภาคม 2544 ขณะนั้นผมเรียนอยู่ปี 3 ผมเดินเข้าไปนั่งฟังบรรยายวิชา Mathematical Foundations of Computational Science โดยอาจารย์ James B. Cole ผู้ซึี่งภายหลังกลายมาเป็นทั้งอาจารย์ที่ปรึกษา พี่ชาย เพื่อนสนิท และพ่อคนที่ 2 ของชีวิต

ช่วงนั้น … ผมค่อนข้างจะหมดอาลัยตายอยากกับชีวิตพอสมควร ผมทำทุกอย่างแค่ผ่านมันไปวันๆ ไม่ได้สนใจอะไรกับการเรียนวิชาเรียนต่างๆ หรือการทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์พาร์ทไทม์ให้กับบริษัทต่างๆ และสถาบันวิจัยบางแห่งที่ผมทำอยู่มากมายนัก ผมยังคงมองคณิตศาสตร์กับโลกความเป็นจริงแบ่งแยกกันอยู่ค่อนข้างมาก และไม่รู้จะเรียนมันไปทำไมด้วยซ้ำไป แต่การบรรยายครั้งนั้นมันก็เปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผม เมื่ออาจารย์ผมพูดถึงเรื่องระบบที่เปลี่ยนแปลง (Dynamical System) ทฤษฎีเคออส (Chaos Theory) ผลแห่งการกระพือปีกของผีเสื้อ (Butterfly Effect) และวังวนประหลาดของการเดินทางของระบบ (Strange Attractor)

(ชื่อเหล่านี้ ผมบัญญัติขึ้นมาเองสำหรับหนังสือเล่มนี้ ตามความชอบ ความพอใจ และความเข้าใจที่มันสะท้อนโลกใบนี้ให้กับผม ไม่ใช่ชื่อเฉพาะที่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่สามารถใช้อ้างอิงได้)

ตอนแรกผมก็ฟังผ่านๆ ไป ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก จนกระทั่ง

“เหตุการณ์เล็กน้อย จะส่งผลถึงการเดินทางของระบบที่เป็นแบบเคออสอย่างมหาศาล และตลอดกาล”

ภาพของเหตุการณ์เล็กๆ แค่เพียงวินาทีเดียว ของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง และรอยยิ้มของเธอ บนทางเดินตรงระเบียงวันนั้น ปรากฏชัดเจนขึ้นในความคิดผมทันที

“หากระบบที่เปลี่ยนแปลง (Dynamical System) ใดๆ ก็ตามเป็นระบบแบบเคออส (Chaotic System) แล้วการเปลี่ยนแปลงแม้เพียงน้อยนิดในค่าตั้งต้นของอะไรบางอย่าง ก็จะส่งผลต่อเส้นทางของระบบนั้นๆ อย่างมหาศาล เรียกได้ว่าเมื่อเวลาผ่านไปมากพอที่จะทำให้ผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ชัดเจนขึ้น มันอาจจะเปลี่ยนทุกอย่างจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดูเหมือนกับเกิดขึ้นแบบสุ่ม ไม่มีเหตุมีผลและโผล่มาเฉยๆ จริงๆ แล้วไล่ย้อนดีๆ มันเป็นผลที่เกิดจากเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่อาจจะฝังลึกอยู่ไกลในกาลเวลา ไม่มีอะไรเป็นเรื่องบังเอิญแม้แต่อย่างเดียวในโลกนี้ ต่อให้เมื่อเราดูผลของระบบที่เหมือนกับมั่วยังไง ก็ยังมีเหตุผลกลไกอะไรบางอย่างซ่อนอยู่เสมอ”

ผมหลับตาลง ภาพเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในชีวิตผมไหลผ่านตาอย่างรวดเร็วและชัดเจนทุกรายละเอียดราวกับทุกอย่างเพิ่งเกิดขึ้น ผมมานั่งอยู่ตรงนี้ได้เพราะอะไร ที่ผมต้องคิด ต้องเห็นภาพเหล่านี้ตลอดเวลาเพราะอะไร …. เหตุการณ์ทุกอย่างที่มันนิยามชีวิตผมขึ้นมาจนเป็นตัวตนของผมเอง มันมาจากรอยยิ้มครั้งนั้น ….

“ผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกในบราซิล จะทำให้เกิดพายุทอร์นาโดในเท็กซัสหรือเปล่า”

อาจารย์พูดถึงประโยคคลาสสิคของทฤษฎีเคออส ที่เราเรียกว่า “Butterfly Effect” ซึ่งในขณะนั้น คำตอบของผมคือ “ใช่” เพราะมันชัดเจนเหลือเกิน ชัดเจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ ผมเริ่มอยากรู้มากขึ้น ว่าแล้วระบบเหล่านี้มันจะลงเอยเช่นไร ด้วยความหวังอะไรบางอย่างลึกๆ .. แต่แล้วอาจารย์ก็บอกมาง่ายๆ โดยที่ผมไม่ต้องถามว่า

“เราไม่สามารถคาดการณ์หรือคาดเดาอะไรที่เป็นระยะยาวกับระบบที่เป็นเคออสได้เลย”

ผมนั่งถอนหายใจเล็กน้อย

“แต่เส้นทางการเดินทางของระบบเหล่านี้ มักจะมีวังวนประหลาด (Strange Attractor) ที่คอยดึงดูดเส้นทางการเดินของมันเข้าไปสู่กรอบอะไรบางอย่าง ที่เมื่อเข้าไปแล้วไม่มีวันหลุดไปไหน ถึงมันจะไม่เคยซ้ำ ไม่เคยทับเส้นเดิม คาดเดาไม่ได้เหมือนเดิมว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบของเรื่องนั้นๆ เสมอ และถ้าระบบนั้นๆ มันมีวังวนแบบนี้ล่ะก็ เรื่องที่น่าประหลาดก็คือ ไม่ว่าเราจะตั้งต้นยังไง มันก็จะถูกดูดเข้ามาอยู่ในกรอบนั้นๆ อยู่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในค่าตั้งต้น ก็ยังมีผลมหาศาล เพราะเส้นทางของระบบวังวันนั้นก็ยังไม่เหมือนกันเลย ขึ้นกับค่าตั้งต้น)”



Lorenz Attractor หรือที่รู้จักกันอีกชื่อว่า “Butterfly Attractor”
เส้นทางเดินของระบบนี้ จะไม่ออกจากกรอบของรูปผีเสื้อนี้เด็ดขาด;
ภาพจาก Wikipedia

หลังจากจบการบรรยาย ผมรีบเดินไปหาอาจารย์ผมที่หน้าชั้นเรียน

“ผมอยากรู้อะไรบางเรื่องนะ”

พร้อมกับเดินไปที่กระดานดำ

“คิดว่าความคิดกับความทรงจำของคนเรา มันเป็นระบบที่มีวังวนประหลาดที่ว่านั่นหรือเปล่า”

ผมพูดพร้อมกับเขียนสมการอะไรบางอย่างลงไปในกระดานดำ แล้วคุยกับอาจารย์ไปเรื่อยๆ

“ไม่ว่าผมจะคิดอะไร ผมจะเห็นอะไร จะตั้งต้นจากอะไร สุดท้ายแล้วทำไมผมต้องคิดถึงเรื่องอะไรบางเรื่องอยู่ตลอดเวลาด้วย ถึงแม้ผมจะไม่คิดถึงมัน สุดท้ายความทรงจำบางอย่างก็ถูกดึงขึ้นมาให้เห็นทุกที ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม และเมื่อผมเริ่มคิดเรื่องนี้เมื่อไหร่ ความคิดทั้งหมดของผม ก็วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ อยู่แค่เรื่องเดียว ไม่หลุดไปไหนทุกครั้ง”

อาจารย์ผมมองด้วยสีหน้าประหลาดใจ พร้อมกับพูดว่า

“น่าสนใจมาก ผมไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย .. น่าสนุกแฮะ”

เราเสียเวลากับการยืนเถียงกันหน้ากระดานอีกหลายสิบนาที กับสมการเต็มกระดาน ก่อนที่ผมจะถามคำถามใหญ่ๆ กับอาจารย์ผมว่า

“โอเค มันชัดว่าชีวิตคนเรามันเป็นระบบที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ผมก็คิดว่ามันเป็นระบบแบบเคออสซะด้วย แล้วมันจะมี วังวนประหลาดหรือเปล่าล่ะ” ….

ผมถอนหายใจยาวๆ ก่อนที่จะถามว่า

“แล้วมันจะอธิบายเรื่องของ ‘รักแรกพบ’ ได้มั้ย ความคิด ความรู้สึกทุกอย่างของชีวิตเรากับคนๆ หนึ่ง ถูกกำหนดโดยค่าตั้งต้นของวินาทีแรกที่เจอกัน ไม่เท่านั้นนะ การที่เราเจอคนๆ นั้นในวันนั้น กลายมาเป็นค่าตั้งต้นให้กับชีวิตเรา ที่ทุกอย่างในชีวิตมันถูกกำหนดโดยการเจอกันครั้งนั้น แล้วมันจะมีวังวนอะไรบางอย่างให้ต้องคิดถึงคนๆ นั้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเริ่มต้นคิดเรื่องอะไร แล้วการเดินทางของชีวิตเองล่ะ มันจะมีวังวนอะไรแบบนี้ได้บ้างมั้ย” ….

อาจารย์ผมไม่ตอบ เพียงแต่บอกว่า

“น่าสนุกมาก ทำไมไม่ลองเล่นเรื่องพวกนี้หนักๆ แล้วมาเล่าให้ผมฟังบ้างล่ะ แล้วไม่ต้องมาวิชานี้แล้วนะ นายได้ A”

อาจารย์ผมทิ้งท้ายไว้ให้ พร้อมขยิบตาครั้งหนึ่งว่า

“อย่าลืมนะ พื้นฐานของระบบพวกนี้ทั้งหมดคือ x[t+1] = f(x[t]) ;-)”

เพื่อหาคำตอบขอคำถามเหล่านี้ ผมเปลี่ยนไปเป็นคนละคนในเรื่องวิชาการ ผมเริ่มบ้าคณิตศาสตร์ เริ่มบ้าแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของอะไรต่ออะไรหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องการทำงานของสมองและความทรงจำของคน ผมเริ่มบ้า Computation Theory เผื่ออะไรก็ตามที่ผมรู้หรือเข้าใจในคอมพิวเตอร์จะทำให้ผมเข้าใจชีวิตตัวเองขึ้นมาบ้าง หนังสือวิชาการแทบทั้งหมดของชั้นหนังสือผม ถูกซื้อหลังจากวันนั้น เหตุการณ์วันนั้น วิชานั้น คลาสนั้น มันคงเป็นผีเสื้อตัวเล็กๆ กระพือปีกด้วยกระมัง …. แต่มันก็เป็นการกระพือปีกในระบบที่สภาพอากาศมันได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ

ผีเสื้อตัวหนึ่ง กระพือปีกเบาๆ ครั้งเดียว ที่เปลี่ยนสภาพอากาศไปตลอดกาล ….

ใช่สินะ รอยยิ้มครั้งนั้นในวันนั้น ที่ผมจำฝังใจไม่มีวันลืมแม้กระทั่งวันนี้ที่ผมกำลังนั่งเขียนบรรทัดนี้อยู่ รอยยิ้มที่เป็นจุดเริ่มของทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมทำได้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมเข้าใจ ความเป็นตัวตนของผมทุกอย่างใน 18 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน เรื่องเขียน/พัฒนาโปรแกรม และเรื่องความรู้เชิงลึกทางวิชาการ มันแทบจะถูกกำหนดไว้ด้วยเหตุการณ์ตั้งต้นเพียงเหตุการณ์เดียว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะดูเหมือนกับไม่เกี่ยวข้องไม่มีเหตุไม่มีผลไม่มีที่มาที่ไปอะไร แท้จริงแล้วมันต้องมีกลไกอะไรบางอย่างที่เรามองไม่เห็น ไม่เข้าใจ อยู่เบื้องล่างเสมอ จากการรกระทำทั้งหมดที่ต่อจุดทั้งหมดเข้าด้วยกัน ที่เชื่อมอดีตมายังปัจจุบัน และจะเชื่อมปัจจุบันไปเป็นอนาคต

แต่นั่นก็คือสิ่งที่ผมรู้มานานก่อนหน้านี้แล้วทั้งนั้น

แต่ก็เพิ่งจะวันนี้เอง … ที่ผมได้คำตอบที่ผมต้องการ คำตอบที่ผมถามหามานาน ตั้งแต่วันที่ผมถามอาจารย์ผมวันนั้น ที่เรายืนคุยกันหน้ากระดาน และตลอด 4 ปีเต็มๆ ที่ผมคุยกับอาจารย์ผมแทบจะเรื่องเดียวมาตลอด และตลอดมาหลังจากนั้น ที่ผมถามหาความจริงของเส้นทางของระบบที่ผมเรียกว่าชีวิตของผมเอง แต่ผมไม่เคยให้คำตอบตัวเองได้ชัดเจน นอกจากความหวังลมๆ แล้งๆ เท่านั้น

สิ่งที่ผมเพิ่งจะเข้าใจก็คือ … เรื่องวังวนประหลาดของชีวิต ที่ผมถามหามาตลอดว่ามันจะมีหรือไม่ …..

ก่อนหน้าที่ผมและมีนจะได้เจอกัน ชีวิตเราสองคนก็เหมือนกับเส้นทางของระบบที่ยังไม่ถูกชักนำเข้ามาในวังวน มันก็ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราได้เจอกัน วันนั้นที่มีนยิ้มให้ผม ที่มันกลายเป็นผีเสื้อกระพือปีกเบาๆ หลังจากนั้น ไม่ว่าเราสองคนจะทำอะไรก็ตาม ในส่วนลึกๆ แล้วชีวิตเราสองคนจะมีอีกคนอยู่เสมอ ไม่สามารถเดินออกไปจากเส้นกรอบของวังวนตัวนี้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราสองคน สุดท้ายก็เหมือนกับว่าเราสองคนต่างรอกันมาเสมอ ที่คนแรกของหัวใจ จะได้เป็นคนสุดท้ายของชีวิต

คำถามที่ผมอยากรู้วันนั้น …… ณ วันที่ผมถามอาจารย์ผม แต่ผมไม่ได้ถามไปตรงๆ ก็คือ

“คิดว่าเส้นทางชีวิตของเราไม่ว่าจะเดินกันไปยังไง จะเกิดอะไรขึ้นยังไง มันจะอยู่ในกรอบของการเดินอะไรบางอย่างได้มั้ย ไม่ว่าคนที่เป็นรักแรกพบ ที่เจอกันวันนั้น จะมีวันได้เจอกันอีกมั้ย จะลงเอยเป็นยังไง”

หรือตรงกว่านั้นก็คือ

“คิดว่าคนเรา ถ้าเป็นคู่กันแล้ว จะแคล้วกันได้มั้ย”

วันนี้ … ผมได้คำตอบนั้นแล้ว อย่างชัดเจนที่สุด …….. ตั้งแต่เมื่อเราเจอกัน จนถึงวันนี้ ที่เรากำลังจะได้อยู่ด้วยกันตลอดไป

“ใช่ครับ คู่กันแล้ว ไม่แคล้วกัน”

คำพูดสุดท้ายของอาจารย์ผมในวันนั้น

“อย่าลืมนะ พื้นฐานของระบบพวกนี้ทั้งหมดคือ x[t+1] = f(x[t]) ;-)”

มันหมายถึง

“อย่าลืมนะ อนาคต เป็นผลจากอย่างเดียวเท่านั้น คือ เราตัดสินใจทำอะไรกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน และเราจะเห็นผลของมันเมื่อเวลาผ่านไป”

ไม่ใช่แค่เพียงโชคชะตา ที่ทำให้เราทั้งสองคนมีวันนี้ ชีวิตของเรา มีเพียงเราเป็นผู้กำหนดเท่านั้น ขอเพียงแต่เราตัดสินใจทำ และเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ ว่ามันจะพาเราไปไหนสักแห่ง ทุกอย่างเป็นเพียงผลจากสิ่งนี้ทั้งสิ้น ดังนั้นทำอะไรทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อให้กาลเวลาทำหน้าที่ของมันในการเชื่อมปัจจุบันไปสู่อนาคต และให้ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านกาลเวลาไปด้วยกัน เพื่อให้เราเห็นผลจากสิ่งที่เราทำ


————————————————————————–

“Does the flap of a butterfly’s wings in Brazil set off a tornado in Texas?”
— Philip Merilees

การกระพือปีกของผีเสื้อน้อยๆ ตัวหนึ่ง สักที่หนึ่งในโลก จะทำให้เกิดพายุใหญ่ในอีกที่หนึ่งไหมนะ … ถ้าตามสามัญสำนึกพื้นฐานของเราแล้ว คงจะไม่เป็นแบบนั้น เพราะผีเสื้อนับล้านตัวก็กระพือปีกอยู่ทุกวี่วัน แต่ไม่ค่อยจะเห็นมีพายุใหญ่เกิดขึ้นเท่าไหร่เลย

แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า โมเลกุลของอากาศรอบๆ ปีกผีเสื้อนั้น ได้รับผลกระทบจากการกระพือปีกนั้นๆ ไปแล้วอย่างเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผลของมันจะส่งผลถึงอนาคตของสภาพอากาศตลอดกาล และหากเราไล่ย้อนรอยของเหตุการณ์ทางสภาพอากาศ กลับไปถึงต้นตอของการสั่นสะเทือนเล็กๆ ของโมเลกุลได้ … เราอาจจะเห็นว่าการกระพือปีกของผีเสื้อบางครั้ง ก็ส่งผลให้เกิดพายุใหญ่ หรือปัดเป่าให้เกิดฟ้าสวยใสหลังพายุใหญ่ได้จริงๆ

ผีเสื้อตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง กระพือปีกเบาๆ เมื่อ 18 ปีก่อน …….. กับรอยยิ้มที่ผมไม่มีวันลืม


————————————————————————–

มีนครับ .. ผมอยากจะบอกคุณเบาๆ ตรงนี้ว่า

“ชื่อของผมในภาษาไทยมันแปลว่า ‘ผู้ให้แสงสว่าง’ แต่ผมกลับไม่เคยให้แสงสว่างอะไรกับตัวเองได้เลย และต้องรอแสงสว่างของชีวิตตัวเองมานานแสนนาน ขอบคุณนะครับ ที่เป็นผู้ให้แสงสว่างกับชีวิตคนๆ นี้ให้มีความหมายขึ้นมา”

มีนครับ .. และผมอยากจะบอกคุณดังๆ ตรงนี้สักครั้งว่า

“คุณเป็นยิ่งกว่าทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตผมที่ผ่านมา ตั้งแต่คุณเข้ามาในชีวิตผมเมื่อ 18 ปีก่อน โลกของผมก็เปลี่ยนจากโลกที่เคยว่างเปล่า กลายเป็นโลกที่มีความหมาย เหมือนกับคำพ้องเสียงของชื่อคุณในภาษาอังกฤษ (Mean ที่แปลว่า
‘ความหมาย’) รอยยิ้มเพียงครั้งเดียวของคุณ คุณทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมีความหมายในตัวของมันเอง และคุณคือความหมายของทุกสิ่งทุกอย่าง … แม้แต่ ‘ตัวผมเอง’ ถ้าชื่อคุณแปลว่าความหมาย คุณก็คือความหมายของชีวิตผมครับ”

มีนครับ … สุดท้ายที่ตรงนี้ ผมขอบอกคุณดังๆ กับสิ่งที่ผมบอกตัวเองมาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยม แต่ครั้งนี้ผมจะบอกให้คุณได้ยิน และให้ทุกคนได้อ่าน ได้รับรู้

“สักวัน … ผมจะดีพอสำหรับมีนครับ”

…จบบริบูรณ์…


ขอบคุณ …

  • มีนที่รัก ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเป็นทุกอย่างที่ผมเป็นในวันนี้ และที่คุณให้โอกาสผมเป็นทุกอย่างของชีวิต ด้วยเวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตเราสองคน
  • ครอบครัวทั้งสองครอบครัว ที่ไฟเขียวให้เราได้แต่งงานกัน และดีใจกับเราทั้งคู่
  • เพื่อนๆ ทุกคน ที่คอยสนับสนุน และดีใจกับเราสองคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนจากสมัยไหน จากสังคมไหน ของช่วงไหนในชีวิตเราทั้งสองคนก็ตาม
  • เพื่อนๆ สี่สาว ที่ไปเที่ยวเกาหลีด้วยกัน คุณนก คุณดาว คุณพีท น้องแจง ที่แอบเชียร์และช่วยลุ้นตลอดทริป
  • คุณนก เป็นกรณีพิเศษมากๆ ที่สมัคร Facebook ให้มีน ไม่งั้นเราคงไม่ได้เจอกัน แล้วยังมาช่วยเป็นพิธีกรงานแต่งงานให้ด้วย
  • คุณวีร์ และทีมงาน Conscious สำหรับการออกแบบทุกอย่าง ตั้งแต่การ์ดแต่งงาน การออกแบบหน้าปกและภายในหนังสือ “Remember the Butterfly” ซึ่งก็คือเป็นเวอร์ชั่นที่พิมพ์เป็นหนังสือของเรื่องราวที่ลงบนเว็บนี้
  • น้องเก้า น้องฟอร์ด ที่ช่วยถ่ายรูป Pre-Wedding ให้ตั้งหลายอัลบั้ม แล้วก็ยังมาช่วยเป็นช่างภาพและพิธีกรในงานแต่งงานด้วย
  • iHearBand: วงดนตรีงานแต่งงาน ที่จัดคิวมาเล่นให้ (เป็นวงเดียวกับที่เคยเล่นให้กับงาน Talkshow ผมด้วยนะ)
  • เจ้า KOSY โปรแกรมสุดที่รัก ที่ช่วยค้นหามีนมาตลอดสิบปีที่ผ่านมา อย่างไม่เคยเหน็ดเหนื่อยอะไรเลย
  • ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกสิ่งที่เราทำ ที่ทำให้เรามีกันและกันได้ในวันนี้

“ต้นทุน/มูลค่า” ที่แท้จริงของ “ซอฟต์แวร์”

ผมว่าจะไม่เขียนเรื่องนี้แล้วเชียว แต่นับวันมันยิ่งมีแต่ดราม่า นับวันมันยิ่งมีแต่ความคิดประหลาดๆ ซึ่งทำให้ผมต้องมาเขียนเรื่องนี้จนได้

เราคงจะเคยชินกันมามากเกินไป กับการที่ซอฟต์แวร์ต้องเป็น “ของฟรี” หรือ “ของแถม” กับการซื้อฮาร์ดแวร์ จากเมื่อก่อนที่เราซื้อคอมพิวเตอร์กันจากแหล่งประกอบคอมทั้งหลาย เราก็มักจะให้ผู้ประกอบลงซอฟต์แวร์แถมให้เยอะๆ ซึ่งก็เป็นซอฟต์แวร์เถื่อนเกือบทั้งนั้น

ผมว่าคนบ้านเรามันประหลาดแท้ ผมเคยได้ยินความฝันเฟื่องมาเยอะว่าเราอยากจะมีนักพัฒนาที่ประสบความสำเร็จระดับโลก อยากมี Bill Gates เมืองไทย อะไรประมาณนั้น และเรามักจะรู้สึกหน้าใหญ่ใจโตเสมอ เวลาที่ยืดว่า “คนไทยเก่ง” เมื่อเด็กเราได้รางวัลเหรียญทองโอลิมปิคหรืออะไรก็ตาม

แต่มันไปไหนกันหมดล่ะ? จริงๆ เรื่องนี้ผมเคยเขียนเปรยๆ ไปนิดหน่อยในบทความเก่าๆ เรื่องคอมเมนท์เพิ่มเติมถึงบทสัมภาษณ์ผมที่ลงกรุงเทพธุรกิจ และที่ผมไปออกรายการแบไต๋ไฮเทค ว่ามันมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้สังคมอื่นๆ เค้าเจริญเหนือเราได้ ทั้งๆ ที่วัดกันตัวต่อตัว คนที่เก่งที่สุดของเราก็ไม่ได้แย่อะไรกว่าใครเค้าเลย (ซึ่งผมก็เข้าใจว่ามันไม่ได้วัดกันแค่คนที่เก่งที่สุด แต่มันต้องวัดกันทั้ง community)

การที่เราไปไหนไม่ได้ เพราะว่าเรา “ตีค่าของซอฟต์แวร์ต่ำเกินไป” ย้ำอีกครั้งนะครับ เราตีค่ามันต่ำเกินไปมาก ที่ๆ เค้าเจริญเค้ารู้กันมานานแล้ว อย่างที่ Steve Jobs เคยพูดเสมอว่า “It’s Software, Stupid” น่ะแหละ สิ่งที่สำคัญทีสุดในคอมพิวเตอร์ คือ “ซอฟต์แวร์” ครับ ไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ หรือคอนเทนท์ (Content) อย่างที่หลายคนเข้าใจ ถ้าซอฟต์แวร์อ่อนซะอย่างเดียว ฮาร์ดแวร์จะดีแค่ไหน มันก็ด้อยไปด้วย ถ้าซอฟต์แวร์ห่วยซะอย่างเดียว ต่อให้เตรียมคอนเทนท์ดีแค่ไหน มันก็กากทั้งนั้น เพราะการใช้งานคอนเทนท์มันก็ต้องผ่านซอฟต์แวร์ (แต่ที่เราพูดถึงคอนเทนท์โดดๆ ได้ ก็เพราะว่าสำหรับมีเดียหลายๆ อย่าง มันมักมีซอฟต์แวร์ดีๆ อยู่แล้ว ทำให้มองถึงคอนเทนท์ดีๆ ได้ แต่ถ้าต้องการพัฒนาคอนเทนท์เฉพาะทาง เช่น Interactive Learning ทั้งหลาย ไม่มีซอฟต์แวร์ดีๆ มันก็ทำไม่ได้

อะไรบ้างที่มันตามมา? ผมเห็นความพยายามในการหา “ของเถื่อน/ของโจร” (ผมใช้คำว่า “ของเถื่อน/ของโจร” นะ ไม่ใช่คำว่า “ของฟรี”) ของคนหลายคนแล้วผมเศร้าใจนะ แล้วพวกนี้ก็มักจะมีแต่ความเห็นแก่ตัวเต็มไปหมด ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ มั้ยล่ะ

  • บางคนต้องการทำร้านขายหนังสือออนไลน์ ขายเพลงออนไลน์ ขายนี่นั่นโน่นออนไลน์ แล้วกลัวแทบเป็นแทบตายกับการที่คนอื่นจะมาก๊อปปี้ของๆ ตัวเอง แต่ขอโทษนะ ดันถามหา crack, serial โปรแกรม เอา iPhone ไปลงโปรแกรมตามมาบุญครอง
  • มันเคยมีคนอยากให้ผมพัฒนาซอฟต์แวร์บน iPhone ให้นะ แล้วก็กลัวเหลือเกินว่าคนอื่นจะ crack ไปใช้ แล้ววันหนึ่งเขามาถามผมว่าจะเอาโปรแกรมไปทดสอบบนเครื่องพวกเขาได้มั้ย ผมบอกวิธีการไปว่าต้องทำแบบนี้นั้นโน้นก่อน เค้าบอกว่า “เครื่องพวกผม jailbreak ทั้งบริษัท” พอถามไปถามมา ก็หากันแต่ของเถื่อนจากมาบุญครอง แถมจ่ายเงินอีกตะหากนะนั่นน่ะ
  • ช่างภาพหลายคนนะ จะเป็นจะตายเวลารูปถูกคนเอาไปใช้ แต่ขอโทษนะ ถ้ากูใช้ Photoshop/Lightroom เถื่อนได้ กูเก่ง กูฉลาด กูไม่โง่เสียเงิน
  • อาจารย์มหาลัยหลายคน เด็กลอก paper ด่าเด็กแทบเป็นแทบตาย บอกว่าจะไม่ให้จบ แต่ท่านก็ขโมยโปรแกรมชาวบ้านเค้าใช้ เจอหน้ากันทีไรถามหาแต่วิธีใช้โปรแกรมแบบไม่ต้องจ่ายเงิน ทำได้มั้ย หา serial ให้หน่อย crack ให้หน่อย
  • คนที่ปล้นมาให้คนอื่น ก็ชอบบอกว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน เราไม่ช่วยกันใครจะช่วยเรา เราก็ต้องเอามาแบ่งปันกันใช้”

ไอ้อันสุดท้ายนี่แหละ ที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดที่สุด ว่าทำไมมันถึงมีความคิดที่เห็นแก่ตัวกันได้มากมายขนาดนี้ … บางครั้งผมถึงกับตั้งคำถามว่า “จะเป็นอย่างไร ถ้าคนหมู่มาก เห็นแก่ตัว” ..​ “จะเป็นอย่างไร ถ้าการโหวต การลงความเห็นของคนหมู่มาก มันมาจากรากฐานความเห็นแก่ตัวของแต่ละคน ..” มันจะทำให้เกิดเรื่อง “รวมหัวกันปล้น” อะไรสักอย่าง แล้วยังคงเหมือนเป็นความชอบธรรม ได้ไหมล่ะ?

มุมมองที่ว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” นี่พูดลอยๆ มันก็ถูกนะครับ ไม่ได้ผิดอะไร แต่อะไรคือ “ช่วยกัน” ล่ะ? เราอ้างคำนี้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จากความเห็นแก่ตัวกันหรือเปล่า? ผมเชื่อว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยหลายต่อหลายคนถูกทำให้รู้สึกว่าการคิดราคาค่าซอฟต์แวร์กับคนไทยด้วยกันเอง เป็นบาปมหันต์ กันมาแล้วทั้งนั้น

เขียนโปรแกรมขาย ราคาแค่ 30 บาทต่อดาวน์โหลด โดนด่าสาดเสียเทเสียว่าไม่ช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน เขียนโปรแกรมแจกฟรี แต่แปะโฆษณาที่มีรายได้แค่เดือนละร้อยสองร้อย โดนด่าเป็นหมูเป็นหมา ว่าอย่ามาเรียกตัวเองว่าไทยเลยนะ ทำไมไม่ช่วยกัน หรือรับจ้างพัฒนาโปรแกรม ก็โดนกดราคาเข้าเนื้อแล้วเข้าเนื้ออีก กำไรไม่ต้องคิดกันเลยครับ แค่คิดให้เท่าทุน ก็เลวแล้ว

ถ้า 30 บาทที่จะจ่ายให้นักพัฒนา มันเยอะแยะมากมายมหาศาลมากนักล่ะก็ ลองคิดอะไรกันดูเล่นๆ มั้ยครับ ว่าเดือนๆ นึงเราเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ที่มันพอๆ กัน

  • เคยให้เงินทิปเด็กเสิร์ฟกันเดือนละกี่บาทครับ? บางคนเงินทอนไม่เก็บกันทีละสิบกว่าบาท ป๋ามากครับ จ่ายได้ไม่ยาก (ยิ่งเด็กเสิร์ฟสวยนี่ยิ่งยัดแบงค์ยี่สิบลงไปด้วยไม่ยากเลย) ทำแบบนี้ทุกมื้อเป็นเงินเท่าไหร่ อย่าบอกนะครับ ว่าเด็กเสิร์ฟฐานะยากจน ทำงานหนักต้องนี่นั่นโน่น แล้วโปรแกรมเมอร์ล่ะครับ เราไม่ได้ทำงานเหรอ เรารวยนักเหรอ เด็กเสิร์ฟมีเงินเดือน แต่เราหลายคนไม่มีเงินเดือนแบบประจำ ก็มีแค่เงินจากการรับจ้างทำงาน กับเงินจากการกดซื้อโปรแกรมทีละ 30 บาทเท่านั้นนะครับ อย่าลืมข้อนี้ไป การมีคอมใช้ก็ไม่ได้แปลว่ารวยนะ มันก็สิ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของพวกเราน่ะแหละ
  • หนักกว่านั้นครับ เคยโชว์ป๋าด้วยการให้เงินขอทานเวลาเดินข้ามสะพานลอยกับแฟนมั้ยล่ะ? ลองคิดๆ ดูซิ ว่าเท่าไหร่ ถ้าทำเลดีๆ หน่อย รายได้ต่อเดือนอาจจะมากกว่าโปรแกรมเมอร์บ้านเราโดยเฉลี่ยซะอีกนะครับ
  • แย่กว่านั้นหน่อย เราเคยให้เงินคนที่ “หาของโจรมาขาย” กันเท่าไหร่กันเหรอครับ ลง app ที่ขโมยมาครั้งละ 500 บาท ได้ app เต็มเครื่อง ที่เราก็ไม่ได้ใช้หรอก ใช้จริงๆ จังๆ ก็อาจจะแค่ 7-8 ตัว ถ้าจ่ายให้นักพัฒนาตรงๆ ก็ไม่ต่างอะไรกันมากมายนักหรอก

[ป.ล. ผมไม่ได้บอกว่าอาชีพเหล่านี้สบาย หรือรายได้สูงนะครับ ทุกอาชีพมันก็มีความยากลำบากของมันเหมือนกันหมด มีงานต้องทำ มีต้นทุน มีอะไรเหมือนกันหมด ความลำบากแต่ละอาชีพ อย่าเอามาเทียบกันโดยเด็ดขาด]

แล้วไอ้ข้อสุดท้ายนี่มันต่างกันตรงไหนล่ะ?

หลายคนคิดง่ายๆ ตื้นๆ แค่ “เงินออกจากกระเป๋าเราเท่ากัน ให้ได้มากที่สุดดีกว่า ไม่เข้ากระเป๋านักพัฒนาเลยก็ช่างมันประไร” แต่ลองมองถัดไปสักนิดนะ นักพัฒนาได้เงินไปแล้วเอาไปทำอะไรเหรอครับ ก็ต้องเอาไปศึกษานี่นั่นโน่นเพิ่มขึ้น เอาไปเพิ่มทรัพยากรในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคน ความรู้ หรือเครื่องที่พอจะทำงานได้ดีขึ้น หรือจ้างคนมาเป็น customer service คอยตอบคำถามผู้ใช้ ฯลฯ อย่าคิดว่าเอาไปซื้อเรือยอร์ชซื้อรถสปอร์ตแบบไร้สาระกันทุกคนสิครับ (จริงๆ ถ้ามีเงินไว้ละลายเล่นเมื่อไหร่ หลายคนอาจจะทำงั้นนะ แต่โปรแกรมเมอร์แทบจะ 100% ของบ้านเรา ไปไม่ถึงจุดนั้นเด็ดขาด แค่ไม่อยู่ในภาวะเดือนชนเดือน ก็หรูพอควรแล้ว)

ผมก็เห็นว่าคนไทยควรช่วยกันนะ แต่เราอยากได้อะไรล่ะ? เราอยากได้สังคมนักพัฒนาที่เก่งๆ กันหรือเปล่า เราอยากได้คนไทยที่เก่งไม่น้อยหน้าใครในโลกบ้างไหม? … ไปๆ มาๆ ผมเชื่อว่า “เราไม่อยากได้มันหรอก” ทำไมน่ะเหรอ ก็เพราะคนไทยมันไม่ช่วยกันเองไงล่ะครับ แล้วเราจะได้นักพัฒนาเก่งๆ สังคมนักพัฒนาเก่งๆ แบบที่เราฝันมาจากไหน (หรือว่าผมฝันไปคนเดียววะ)

ทีนี้เราจะเห็น “ค่า” จริงๆ ของซอฟต์แวร์ล่ะครับ … cost จริงๆ ที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายก็คือ วงการที่นักพัฒนาถีบตัวเองไม่ขึ้น scale ตัวเองไม่ได้ สร้างทรัพยากรในการรองรับงานที่ใหญ่ขึ้น มี demanding สูงขึ้นไม่ได้ เพราะทุกอย่างต้องใช้เงิน ใช้ใจและมาม่าอย่างเดียวไม่ได้ (ขนาดมาม่ายังต้องซื้อเลย) ซึ่งยิ่งจะทำให้เราเสียศักยภาพในการแข่งขันในภาพรวมมากขึ้นๆ ทุกวัน

คุณภาพของสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่อง IT อย่างซอฟต์แวร์ นับวันเรายิ่งจะล้าหลัง … เรากดราคาฮาร์ดแวร์สู้จีนไม่มีทางได้ เราจะพัฒนาอะไรล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ซอฟต์แวร์กับคอนเทนท์ (ซึ่งมักต้องการซอฟต์แวร์เป็นตัวขับเคลื่อน)

ยิ่งเมื่อต้องแข่งขันกันตัดราคาเพื่อรักษาความอยู่รอด ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะพวกเราเองก็มีต้นทุนที่มันกดไม่ลง นอกจากลดคุณภาพของงาน นั่นหมายถึงว่า งานที่เราจะทำให้คนว่าจ้าง โดยเฉลี่ยแล้วมีความเป็นไปได้ที่คุณภาพของงาน (เมื่อเทียบกับระดับสากล) จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายมาก ที่ว่านอกจากเราจะถีบตัวเองไม่เคยขึ้นแล้ว ยังถอยหลังลงคลอง ซึ่งสาเหตุหลักมันมาจากการที่เราจะต้องรีบปิดงานหนึ่ง เพื่อไปรับอีกงานหนึ่ง หาเงินมาหมุนกันแบบเดือนชนเดือนอีกด้วย

ถ้าโปรแกรมเมอร์ยังต้องวิ่งหางานแบบเดือนชนเดือน จะเอาเวลาที่ไหนไปพัฒนาตัวเองล่ะครับ? ผลที่ได้ก็คือ ความรู้ความสามารถเท่าเดิม เท่าเดิม และเท่าเดิม ในขณะที่โลกมันก็ขยับไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา ทุกคนมักจะพูดได้ลอยๆ อย่างไม่รับผิดชอบว่า เป็นหน้าที่ของโปรแกรมเมอร์และคนในวงการนี้ ที่จะต้องศึกษาทุกอย่างตลอดเวลาเพราะว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว แต่จะเอาเวลาที่ไหนไปศึกษาล่ะครับ มันไม่ใช่ของที่เรียนรู้กันได้ข้ามวันข้ามคืนสักหน่อย

นักพัฒนา มันก็คนเหมือนๆ กับทุกคนน่ะแหละครับ ต้องกินข้าว ต้องมีชีวิต ต้องจ่ายค่าเช่า ต้องเลี้ยงครอบครัว ต้องแบกภาระของครอบครัว ถูกครอบครัวฝากความหวัง ฯลฯ เหมือนกับพวกคุณทุกคนน่ะแหละครับ

ผมอยากจะตะโกนดังๆ ตรงนี้เหลือเกินครับ

นักพัฒนาไทย มันไประดับโลกไม่ได้หรอก ไม่ใช่เพราะมันไม่เก่ง แต่เพราะคนไทยด้วยกันเองไม่ช่วยกันสนับสนุน ปากบอกอยากได้คนเก่ง อยากให้คนไทยไม่แพ้ใครในโลก แต่ก็ปล่อยให้มันตายไป ใจไม่ช่วยสร้าง

มันไปไหนไม่ได้หรอกครับ เพราะวุฒิภาวะ (maturity) และทัศนคติ (mindset) ของ “สังคมผู้ใช้” ของเราไปไม่ถึง ไม่สนับสนุนให้พวกเราไปได้ ไม่ยอมให้ไป และต้องการให้นักพัฒนามันตายกันหมด

ถ้าจะอ้างว่า “เป็นคนไทยต้องช่วยกัน” … ผมก็อยากจะกราบทุกท่านตรงนี้ ว่าท่านพูดได้โดนใจผมเหลือเกิน

แล้วพวกเราล่ะ … ไม่ใช่ “คนไทย” กระนั้นหรือ? แล้วทำไมท่านไม่ช่วยเราบ้าง?

นี่แหละครับ คือ “ต้นทุนที่แท้จริงของซอฟต์แวร์” ที่เราไม่เคยอยากจะจ่ายมัน … มันเป็นอะไรมากกว่าเงินทอง แต่มันเป็นศักยภาพการแข่งขันโดยรวมของประเทศ ที่นับวันยิ่งจะเสียไป … โดยที่เราไม่เคยคิดจะแคร์อะไรกับมันเลยด้วยซ้ำ และยิ่งเหยียบย่ำให้มันแย่ลงทุกวัน ก่อนจะช่วยด้วยปากด้วยการซ้ำเติม ว่าบ้านไหนเมืองไหนเค้าไปถึงไหนกันแล้ว

มันเป็น The price we all have to pay … สิ่งที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายด้วยกัน

ด้วยความเคารพ
รวิทัต ภู่หลำ, ศิลปินซอฟต์แวร์ นักเขียน และอาจารย์มหาวิทยาลัย


[อัพเดท 10/07/2555] ป.ล. ผมเขียนเรื่องนี้ ตั้งใจเพื่อเป็น wake up call ด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นจะแรงหน่อย และผมต้องการชี้ให้เห็นภาพที่มันใหญ่ขึ้นอีกนิดหน่อย ของอุตสาหกรรม IT ว่ามันเป็นเรื่องของพวกเราหลายต่อหลายคน รวมถึงผู้บริโภคด้วย มากกว่าแค่นักพัฒนา

นาฬิกาปลุก มันต้องดังหน่อย ต้องแรงหน่อย ไม่งั้นคงจะหลับกันต่อไป แล้วมันก็จะกลับมาเดินปกติต่อไป จนถึงเวลาที่จะต้องปลุกอีกครั้ง

ก่อนที่มันจะกลายเป็นนาฬิกาตาย … เมื่อถ่านมันหมดไฟ และใจมันหมดลาน